ตั้งแต่ในรุ่น XPS 13 ที่มาพร้อม “Infinity Edge” ที่ให้จอแสดงผลที่บางจนเกือบไร้ขอบเข้ามาสู่ตลาด ก็ทำให้โน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ ขึ้นแท่นโน๊ตบุ๊คยอดเยี่ยมจากในหลายๆ ค่ายทดสอบ ซึ่งน่าจะเป็นที่ถูกใจสำหรับคนที่ชอบอัลตร้าบุ๊ก นอกจากนี้ยังมีไดรเวอร์และการออกแบบ BIOS สำหรับการทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ XPS 13 ถูกจัดว่าเป็นอัลตร้าบุ๊กที่มีทรงประสิทธิภาพสำหรับมืออาชีพในราคาที่ไม่แรงเกินไปนัก
และเช่นเดียวกับ XPS 15 ที่เป็นซีรีส์ใหม่ล่าสุด มีขนาดใหญ่กว่าในรุ่น XPS 13 และมาพร้อมหน้าจอ 15.6 นิ้ว โดยในรุ่น XPS 15 9550 ยังมาพร้อมซีพียู Skylake ในแบบ Quad core และกราฟฟิกจากทาง nVIDIA ในรุ่น GeForce GTX 960M อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่ายังให้ความแตกต่างจากในรุ่น 13.3 นิ้วและรุ่นรองลงมาค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับหน้าจอที่ใหญ่กว่า โดยในรุ่นล่าสุดนี้ จะเป็น XPS 15 9550 ในเวอร์ชั่น 2016 ซึ่งมาพร้อม BIOS และไดรเวอร์ใหม่ล่าสุด และมีการปรับปรุงบางส่วนให้ต่างจากในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้
การออกแบบ
บอดี้ผลิตขึ้นด้วยอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ มีความหนาประมาณ 17mm จากบริเวณด้านหลังเครื่อง ส่วนด้านหน้าจะเหลือเพียง 11mm เท่านั้นเอง สำหรับ XPS 15 จะเป็นรุ่นที่มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบาที่สุดในรุ่น
ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นอลูมิเนียมเคลือบอะโนไดซ์สีเงิน ดูกลมกลืนไปทั้งตัว พร้อมด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ที่ได้รับการเคลือบอย่างดี ให้มีสัมผัสที่นุ่มนวล และสบายในการวางมือในระหว่างการพิมพ์ ไม่กระด้างเมื่อเทียบกับพลาสติกหรืออลูมิเนียมของโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น การเคลือบจะมีข้อเสียตรงที่เป็นรอยจากคราบเหงื่อนิ้วมือได้ง่ายกว่า และต้องใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ เพื่อทำความสะอาด
ด้วยบานพับที่แข็งแรง ไม่บิดตัวง่ายและหน้าจอที่แข็งแรง สามารถเปิดได้กว้างถึง 135 องศา สร้างขึ้นมาให้มีความทนทาน เมื่อสัมผัสหน้าจอ มันแน่นขนาดที่ต้องใช้สองมือในการเปิด ซึ่งถ้าคุณเคยเปิดใช้งานโน๊ตบุ๊คด้วยมือเดียวมาก่อน อาจจะมีรำคาญเล็กน้อยกับความแน่นของฝาปิดบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ แต่ก็คาดว่าน่าจะเบาลง เมื่อใช้งานไปนานๆ โดยภาพรวมต้องถือว่า XPS 15 9550 นี้มีความแข็งแกร่งในด้านของโครงสร้างมากทีเดียว
หน้าจอแสดงผล
สำหรับหน้าจอแสดงผลที่ให้คุณภาพในระดับ UDH หรือ 4K ที่เป็นพาแนล IGZO บนรูปแบบ “Infinity Display” ทำให้หน้าจอดูเล็กและบางลงอย่างมาก และด้วยผลจากหน้าจอที่เล็กลงสุดๆ นี้ ทำให้จอ 15.6 นิ้ว ดูน่าประทับใจ และให้คุณภาพที่ดูดีกว่าใน XPS 13 เนื่องจากขนาดหน้าจอ อัตราส่วน ซึ่งทาง Dell ได้แจ้งถึงการสนับสนุนเรื่องสี Adobe RGB 100% กับจอแสดงผลรุ่นนี้ ในขณะที่ในรุ่นที่ไม่ได้เป็นทัชสกรีนจะทำได้เพียง 72% เท่านั้น โดยในรุ่น UHD ใช้จอแสดงผลที่คมชัดด้วย LQ156D1JX01 ให้อัตราส่วน 1000 : 1 และความสว่างระดับ 330nits แม้จะยังไม่ได้มีการทดสอบด้วย Spyder เพื่อวัดหน้าจออย่างชัดเจน แต่ก็บอกได้ถึงคุณภาพจอ UHD IGZO 4K จะทำให้หลายคนตื่นเต้น เพราะสีสันที่สดใสและสมจริงอย่างมาก แม้จะปรับความสว่างให้สูงขค้น แต่ก็ไม่ได้มีอาการสีเพี้ยนบนหน้าจอ 4K นี้ แต่เราจะพอสังเกตได้บนจอแบบ FHD
คล้ายกับหน้าจอทัชสกรีนส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างจะเป็นแบบเงาวาว และค่อนข้างสะท้อนแสง โดยมีกระจก Corning Gorilla glass ที่มาช่วยในการปกป้องหน้าจอในแบบ 4K แต่การใช้งานนอกอาคาร อาจจะต้องปรับค่าความสว่างหน้าจอให้สูงขึ้น เฉลี่ยประมาณที่ 60% เพื่อให้ชัดเจนขึ้น และถ้าใครที่คิดจะต้องออกไปใช้ทำงานนอกบ้านอย่างจริงจัง อาจจะหาที่ป้องกันหน้าจอหรือฟิลม์ เพื่อให้ใช้ในบริเวณที่มีแสงมากๆ ได้
คีย์บอร์ดและทัชแพด
สำหรับคีย์บอร์ดมีขนาดที่เล็กลงใน XPS 15 แต่ก็เพื่อสนองในด้านเทคนิคอื่นๆ ของระบบ เนื่องจาก XPS 15 อยู่ในรูปแบบบอดี้ขนาดเล็ก จึงทำให้ใครที่คาดว่าจะใหญ่กว่า XPS 13 อีกระดับหนึ่ง ด้วยปุ่มที่มีระยะกดประมาณ 1.3mm และน่าจะให้ประสบการณ์ที่ดีสำหรับคนที่ชอบการเดินทาง เนื่องจากช่วยให้การกดปุ่มผิดพลาดลดน้อยลง และปุ่มยังเป็นแบบเรืองแสง มีให้ปรับความสว่างได้ 2 ระดับ
ทัชแพดออกแบบมาได้ดี มีขนาดที่กว้างและได้การปรับปรุงจาก XPS 13 แต่ก็ไม่ใหญ่เกินไป จนรบกวนการพิมพ์ โดยทัชแพดเป็นแบบที่เคลือบวัสดุมาให้นุ่มนวล ใช้เทคโนโลยี Synaptics แต่การใช้ไดรเวอร์ที่ไมโครซอฟท์ ก็ทำให้การปรับแต่งนั้นถูกจำกัด โดยสิ่งที่จะทำได้ก็คือ การตั้งค่าความแม่นยำของทัชแพดในแบบพื้นฐาน โดยทำหน้าที่เป็นแบบ Clickpad แบบไม่มีปุ่ม ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชั่นพื้นฐานทั่วไป แต่ก็ถือว่าเป็นแทร็คแพดที่ดี เหมาะกับการใช้งานร่วมกับวินโดวส์ได้อย่างลงตัว
ฮาร์ดแวร์กับการอัพเกรด
Dell XPS 15 นี้ มาพร้อมซีพียู Quad core ที่มีให้เลือกทั้ง Core i5 และ Core i7 พร้อมกราฟฟิกการ์ด nVIDIA GeForce GTX 960m และแรม 16GB DDR4 รวมถึงระบบจัดเก็บข้อมูล Samsung NVME SSD ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่ตอบโจทย์การใช้งานต่างๆ ภายในบ้านได้อย่างสบายและผู้ใช้ในระดับเพาเวอร์ยูสเซอร์อีกด้วย
เพียงแต่ในการทำงานของ COre i5-6300HQ จะต่างไปจาก Core i7-6700HQ อยู่บ้างในเรื่องที่ไม่ได้มีการทำงานในแบบ Hyper-Threading ทำให้มีประสิทธิภาพที่น้อยกว่า แต่ก็เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดอุณหภูมิและใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานยิ่งขึ้น ถ้าคุณใช้ Hyper Threading ในทุกๆ วัน แนะนำให้ใช้ Core i7 แต่ถ้าต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง แบบพักเครื่องน้อย ทำงานรุ่นที่เป็น Core i5 ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า
นอกจากนี้ในเรื่องของการเล่นเกม GPU ที่มีมาให้สามารถตอบการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางเลือกที่ทาง Dell เสนอมาให้เป็น GeForce GTX 960M ที่มาพร้อมแรม 2GB แต่ชิปที่ติดตั้งมานี้ แม้จะต่างจากชิป 960 ปกติ แต่ก็สามารถรันเกมบนความละเอียดได้ที่ 1080p และคุณสามารถเล่นบนเฟรมเรตที่สูงถึง 60fps จากการตั้งค่า medium/high ที่ความละเอียด 1080p อีกด้วย
ในการทดสอบ 3D Benchmark โดย Dell XPS 15 นี้ สามารถทำคะแนนไปได้ถึง 5814 คะแนนบน 3DMark 2011 และ 3950 สำหรับ 3DMark 2013 Fire Strike และเมื่อโอเวอร์คล็อก GPU ก็สามารถขึ้นไปแตะที่ 4250 คะแนนได้ไม่ยาก
ส่วนของการอัพพเกรดอุปกรณ์ต่างๆ ใน XPS 15 นี้ ไม่ว่าจะเป็น SSD, RAM หรือ WLAN ผู้ใช้สามารถอัพเกรดได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ หลังจากที่ไขน็อต T5 จำนวน 10 ตัวรอบๆ กรอบที่อยู่ด้านใต้เครื่องเท่านั้น ก็สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมเองได้ เช่นเดียวกับแรมที่เลือกแบบแถวละ 16GB มาติดตั้งได้บน DIMM ทำให้แรมรวมของระบบติดตั้งได้ถึง 32GB เลยทีเดียว นี่เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้
อุณหภูมิและเสียงรบกวน
เสียงที่ได้จากการทำงานบนเครื่องวัดอยู่ที่ประมาณ 31dB จากการเปิดเครื่องและอยู่ในโหมดปกติ แต่เมื่อเริ่มทำงานและเข้าสู่การโหลดอย่างหนักหน่วงด้วย Prime95 + Furmark ก็ขึ้นมาแตะอยู่ที่ 45dB แต่นี่เป็นการใช้โปรแกรมทดสอบ เพราะโดยปกติก็จะไม่ค่อยมีการทำงานที่หนักหน่วงเช่นนี้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นระบบก็จะยังคงทำงานได้ดี ซึ่งเสียงระดับนี้ถือว่าไม่มากสำหรับโน๊ตบุ๊คและไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
ที่น่าสนใจก็คือ XPS 15 มาพร้อมพัดลมแบบคู่ เช่นเดียวกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค จึงทำให้การจัดการความร้อนภายในได้ดีกว่า โดยจากการวัดอุณหภูมิบริเวณคีย์บอร์ดด้านบนและพื้นอลูมิเนียมด้านล่าง ในระหว่างการโหลดระบบอย่างหนัก ก็มีความร้อนพอให้สัมผัสได้ ซึ่งในโหมด idle ของซีพียูอยู่ที่ประมาณ 32 องศาเซลเซียส เมื่อเล่นเกมจะขึ้นไปที่ 71 องศาเซลเซียส และ GPU อยู่ที่ 76 องศาเซลเซียส จะเห็นได้ว่าไม่ร้อนเท่าไรเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะซีพียู Skylake มีดายที่เล็กและค่าการใช้พลังงานที่ต่ำนั่นเอง
ระยะการใช้งานแบตเตอรี่
Dell โฆษณาว่าในรุ่น FHD จะใช้งานได้ที่ประมาณ 17 ชั่วโมง และ 10 ชั่วโมงสำหรับ UHD โดยในรุ่นที่จำหน่าย UHD จะมาพร้อมแบต 6-cell ซึ่งจากการใช้งานทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 6-7 ชั่งโมง ในกานทำงานบนซอฟต์แวร์ปกติ เช่นการพิมพ์งานเอกสารและการท่องเว็บ โดยการทดสอบโหมด idle บนความสว่างหน้าจอ 40% จะใช้พลังงานประมาณ 10W ส่วนการใช้งานซอฟต์แวร์ทั่วไปอยู่ที่ 12-14W ส่วนการทำงานหนักๆ เช่นการทดสอบ CPU Benchmark จะใช้ประมาณ 30W พูดได้เลยว่าเป็นเรื่องธรรมดา เท่าที่ดูก็เหมาะกับการใช้งานพื้นฐานในแต่ละวันได้สบายๆ และใช้งานท่องเว็บหรือทำเอกสารได้นานยิ่งขึ้น แต่ไม่รวมถึงการตัดต่อวีดีโอที่อาจจะใช้พลังงานมากกว่าปกติ
เรื่องของสนนราคา XPS 15 เวลานี้ตั้งไว้ที่ 999USD หรือประมาณ 35,000 บาท สำหรับในรุ่น Core i3 โดยไม่ได้มีการ์ดจอแยกแต่อย่างใด ส่วนรุ่นที่แพงสุดมาพร้อม SSD 1TB และแรม 32GB อยู่ที่ราคา 2900USD หรือประมาณ 101,500 บาท แต่รุ่นที่อยู่กลางๆ ยังไม่มีให้เห็นชัดเจน ซึ่งถ้าคุณต้องการอายุแบตเตอรี่ให้ใช้งานต่อวันได้นานขึ้น และไม่ได้ชอบหน้าจอแบบทัชสกรีน โมเดลที่เป็น Core i5 หรือ Core i7 ที่เป็นแบบ FHD และแบต 6-cell น่าจะเหมาะสมกับคุณมากที่สุด
จุดเด่น
- มีให้เลือกหน้าจอ FHD และแบบ 4K
- ขอบจอบางมาก และให้มุมมองกว้าง มีรุ่นทัชสกรีน
- ซีพียูเป็นแบบ HQ ที่ให้ประสิทธิภาพสูง
- รองรับการอัพเกรดได้ง่าย
ข้อสังเกต
- วัสดุที่เคลือบอาจทำให่เป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย
- ฝาปิดค่อนข้างแน่น
ที่มา : ultrabookreview