ปี 2015 นี้ถือได้ว่าแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) นั้นมีราคาลดลงมาค่อนข้างเยอะพอสมควรจริงๆ ครับ หากผมจำไม่ผิดแล้วเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมานั้นผมกำเงิน 3,500 บาทไปซื้อ SSD ยี่ห้อหนึ่งได้ขนาดความจุมา 120 GB และความเร็วอยู่ในระดับทั่วไป มาในปีนี้นั้นผมสามารถใช้เงินเท่าเดิมในการซื้อ SSD ที่มาพร้อมกับขนาดความจุ 240 GB แถมความเร็วในการใช้งานมากกว่าเดิมได้แล้ว ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นไปตามกลไกของตลาดครับเพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมานี้ราคาของ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) ก็ลดลงเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์กันไว้ครับว่าราคาของ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) จะห่างจากฮาร์ดดิสที่ประมาณ 3.95 บาท/gigabyte ภายในปี 2017 นี้ โดยสาเหตุโดยตรงที่ราคาของSSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) ลดลงเรื่อยๆ จนเข้าใกล้กับราคาของฮาร์ดดิสนั้นก็เนื่องมาจากการเติบโตของการใช้งานแหล่งข้อมูลแบบ SSD บนโน๊ตบุ๊คโดยตรงครับ ตลอดปี 2015 นั้นมีรายงานว่าผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คเลือกใช้แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD กับโน๊ตบุ๊คของตนมากถึง 24% – 25% (อ้างอิงจากรายงานของ DRAMeXchange แผนกหนึ่งของบริษัทวิจัยการตลาดอย่าง TrendForce)
Alan Chen ผู้จัดการอาวุโสของ DRAMeXchange ได้บอกครับว่าพวกเขานั้นคาดการณ์ไว้ว่าในปีหน้านี้(2016) แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD จะถูกนำไปใช้งานบนโน๊ตบุ๊คเพิ่มขึ้นเป็น 31% และภายในปี 2017 นั้นการใช้งานแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD บนโน๊ตบุ๊คจะสูงขึ้นกลายเป็น 41% เลยทีเดียวครับ และด้วยเหตุผลที่ SSD มีความนิยมในการใช้งานมากขึ้นนั้นทาง DRAMeXchange บอกว่ามันจะช่วยทำให้ราคาของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) ลดลงมากกว่าที่คาดไว้ประจำปีนี้(เพราะตลอด 4 ไตรมาสของปี 2015 ที่ผ่านมานี้ราคาของ SSD ก็ลดลงกว่า 10% แล้วครับ)
Chan ได้บอกว่าในช่วงที่ผ่านมานั้นผู้ผลิต PC ที่มีชื่อเสียงและร้านค้าปลีกได้มีการอั้น(กักตุน) แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ของพวกเขาไว้เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านมานั้นยอดจำหน่ายของโน๊ตบุ๊คไม่ค่อยจะเป็นไปตามคาดสักเท่าไรครับ อย่างไรก็ตามแต่แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ขนาดความจุ 256 GB นั้นจะเริ่มมีราคาลดต่ำลงเข้าใกล้ฮาร์ดดิสระดับที่จำหน่ายกันหลักๆ ในตลาดในช่วงปี 2016 ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน และโน๊ตบุ๊คในส่วนที่เน้นตลาดผู้ใช้ระดับธุระกิจก็จะมีการนำเอาแหล่งข้อมูลแบบ SSD มาใช้มากขึ้นทำให้จำนวนของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ในตลาดมียอดจำหน่ายที่สูงขึ้น
ส่วนต่างของราคาของ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) กับฮาร์ดดิสที่จำหน่ายทั่วไป(คิดราคาต่อ gigabyte)
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าราคาของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในทางกลับกันแล้วราคาจำหน่ายของฮาร์ดดิสธรรมดานั้นตั้งแต่ในปี 2012 – 2015 แถบจะไม่ลดลงเลยครับ คิดราคาต่อ gigabyte แล้วฮาร์ดดิสธรรมดาทั่วไปนั้นมีอัตราการลดลงเพียง 0.36 บาทต่อปีเท่านั้น โดยในปี 2012 อยู่ที่ 3.23 บาท/gigabyte ส่วนในปี 2015 อยู่ที่ 2.15 บาท/gigabyte และจะคงราคาเท่าปี 2015 ไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2017 เลยครับ(หมายความว่าในช่วงนี้ไปจนถึงปี 2017 คุณจะพบว่าฮาร์ดดิสแบบธรรมดาขนาดความจุ 1 TB นั้นมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 2,150 บาทหรืออาจจะหาได้ถูกกว่านี้เล็กน้อยผ่านช่องทางออนไลน์)
หมายเหตุ – แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ในปี 2012 จะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 35,500 บาท/1 TB ส่วนในปี 2015 นั้นลดลงมาเหลือที่ประมาณ 14,000 บาท/1 TB
Chan ได้กล่าวเสริมอีกว่าในปี 2016 นั้นราคาของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD จะลดลงอีก 8.63 บาท/gigabyte และในปี 2017 คาดว่าจะลดลงอีก 6.11 บาท/gigabyte ทำให้ราคาจำหน่ายของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ในช่วงปี 2017 ที่จะถึงนี้จะอยู่ในช่วง 6,120 บาท/1 TB เท่านั้น
ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมานั้น SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) มียอดส่งออก(รวมถึงตลาดจำหน่ายแหล่งเก็บข้อมูล SSD แบบแยกต่างหากไม่ได้รวมกับโน๊ตบุ๊ค) มียอดสูงถึง 21.6 ล้านหน่วยเลยครับ อ้างอิงจากทาง DRAMeXchange พบว่าในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมานั้นยอดส่งออกโน๊ตบุ๊ครวมทั้งหมดทั่วโลกอยู่ที่ 43.3 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสที่ 2 เนื่องด้วยในไตรมาสที่ 3 นั้นมีเทศกาลค่อนข้างที่จะเยอะทำให้มีกำลังซื้อจากผู้ใช้มากขึ้นครับ
Chan บอกต่อว่าหากมองในส่วนตลาดขายปลีกแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD แล้วพบว่าช่องทางการจำหน่ายดังกล่าวนี้จะพยายามสต๊อก(กักตุน) แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ไม่เอาออกมาจำหน่ายมากเท่ากับในส่วนของตลาดโน๊ตบุ๊คเนื่องจากว่าช่องทางการจำหน่ายดังกล่าวนี้คาดเอาไว้ว่าราคาของ NAND flash จะอัตราการลดลงของราคาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หากมองในส่วนของยอดส่งออกของตลาดค้าปลีกทำหรับหน่วยความจำแบบ SSD ในไตรมาสที่ผ่านมานั้นถือว่าน่าผิดหวังครับ(เมื่อเทียบว่าไตรมาสที่ 3 น่าจะจำหน่ายได้มาก) เพราะยอดจำหน่ายนั้นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในไตรมาสที่ 4 นั้นถือว่าเป็นไตรมาสที่เป็นจุดสูงสุดของฤดูการค้าขายก็ว่าได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดในสหรัฐอเมริกาและโซนยุโรปเนื่องจากมีเทศกาลที่คนนิยมให้ของขวัญกันเยอะมาก Chan เน้นว่าในขณะที่ยอดจำหน่ายของ MacBook จากทาง Apple น่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและการลงวางจำหน่ายของโน๊ตบุ๊คจากผู้ผลิตรายอื่นที่ใช้หน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Skylake ของทาง Intel อย่างเป็นทางการ
ดังนั้นแล้วในไตรมาสที่ 4 นี้นั้นอัตราการส่งออกของโน๊ตบุ๊คจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของแต่ละผู้ผลิตด้วยครับ(คงไม่ได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากนัก) ทั้งนี้ทาง DRAMeXchange คาดการณ์เอาไว้ว่าอัตราการเปลี่ยนไปใช้แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD บนโน๊ตบุ๊คในไตรมาสนี้น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 28% ครับ
เนื่องด้วยการลดลงของราคา NAND flash อย่างต่อเนื่องแถมเข้าไปด้วยการกำหนดราคาแบบเชิงรุกของผู้ผลิตแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD นั้นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นครับว่าเรื่องของราคาที่ลดลงนั้นน่าจะยังคงไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด และร้านค้าปลีกที่จำหน่ายแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ในตลาดก็จะเปลี่ยนรูปแบบแนวทางในการจำหน่ายให้เหมาะสมกับฤดูของการจับจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้ รวมๆ แล้วอัตราการส่งออกแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD(สำหรับผู้บริโภคทั่วไป) น่าจะมีการเติบโตขึ้นจาก 4% ไปเป็น 6% ครับ
อ้างอิงจากทาง DRAMeXchange นั้นพบว่าผู้ผลิตหน่วยความจำแบบ NAND flash ที่ใช้งานบนแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD นั้นมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเพิ่มยอดส่วนแบ่งในตลาดของตัวเองไม่ว่าจะเป็น Samsung, Toshiba, SK Hynix, Intel และ Micron ซึ่งทุกบริษัทนั้นต่างก็จะยังคงดำเนินแนวทางในการบุกตลาดเชิงรุกด้วยยุทธวิธีกดราคา NAND flash ให้ต่ำลงเรื่อยๆ เป็นผลให้แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD มีราคาลดลงตามจนถึงช่วงกลางปี 2016 เลยครับ
เทคโนโลยีการผลิต NAND Flash แบบ Bit Cost Scaling (BiCS) 3D vertical NAND design ของทาง Toshiba และ SanDisk
ใช่ว่าผู้ผลิต NAND Flash จะเจาะตลาดด้วยการกดราคาแค่เพียงอย่างเดียวครับ เพราะแต่ละบริษัทนั้นก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีของ NAND Flash อยู่ตลอดเวลา โดยแต่ละบริษัทนั้นเน้นเทคโนโลยีการพัฒนา NAND Flash ร่วมกับกลยุทธในการบุกตลาดดังต่อไปนี้ครับ
- Samsung ยังคงใช้เทคโนโลยี 3D triple level cell (TLC) SSD และ DRAM-less SSDs โดยจะใช้ข้อดีในเรื่องของราคาถูกแต่ประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วยในการแย่งส่วนแบ่งในตลาด
- Sandisk ตามหลัง Samsung มาติดๆ ในส่วนของการใช้ของดีราคาถูกโดยจะเน้นการผลิตด้วยเทคโนโลยี TLC-SS และผลิตภัณฑ์ DRAM-less ซึ่งเริ่มทำการผลิตเพื่อส่งออกตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาแล้ว
- บริษัทผู้ผลิต SSD อื่นๆ จะเริ่มทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่กระบวนการผลิต 15 nm และ 16nm-based multi-level cell (MLC) flash เพื่อทำการต่อสู้ในเรื่องของราคาของหน่วยความจำแบบ NAND Flash
ทาง Chan ได้กล่าวปิดท้ายเอาไว้ครับว่าเราจะได้เริ่มเห็นการแข่งแข่งเรื่องราคาในตลาด NAND Flash อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงกลางปี 2016 โดยส่วนใหญ่แล้วที่ราคาของแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD ลดลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้เราๆ ท่านๆ สามารถเข้าถึงได้นั้นก็เพราะการที่บริษัทผู้ผลิต NAND Flash แต่ละรายพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ความจุของ NAND Flash เพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งในตลาดได้นั่นเองครับ
ที่มา : computerworld