เป็นเวลากว่า 3 ปีได้แล้วครับที่ทาง Valve ได้ทำการพัฒนา SteamOS จากฐานของระบบปฎิบัติการ Linux เพื่อที่จะใช้งานกับ “Steam Boxes” สำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะออกมา นอกเหนือไปจากที่จะใช้งานกับ “Steam Boxes” ผู้ใช้ยังมีทางเลือกที่จะสามารถทำการลง SteamOS บนเครื่อง PC ของตัวเองได้อีกต่างหาก ซึ่งทาง Valve มั่นใจเป็นอย่างยิ่งกับ SteamOS นี้เนื่องจากว่าได้ทำการพัฒนาขึ้นมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ ไม่นานมานี้ทาง Valve ได้ทำการปล่อย SteamOS ออกมาให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้งานกันทาง Ars จึงได้จับมาทำการทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับระบบปฎิบัติการอย่าง Windows 10 ดูครับ
อย่างไรก็ตามแต่ก่อนหน้านี้ในปี 2012 ทาง Valve ได้เผยเอาไว้ว่า SteamOS นั้นจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นเกมที่ใช้เอนจิน OpenGL-powered Linux port อย่างเช่นเกม Left 4 Dead 2 ได้สูงมากโดยสามารถที่จะรันได้ที่ 315 FPS เลยทีเดียว(เทียบกับ Direct3D-based Windows ที่รันได้สูงสุดที่ 270.6 FPS และ OpenGL-based Windows ที่รันได้ที่ 303 FPS)
ทว่าจากที่ Kyle Orland ได้คุยกับนักพัฒนาเกมภายใต้ SteamOS ผ่านทาง Linux’s drivers และ OpenGL tools นั้นพบว่า SteamOS ไม่สามารถที่จะทำการรันเกมได้มีประสิทธิภาพมากกว่าบน Windows โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมที่ถูกพัฒนาโดยใช้ DirectX มาในตอนเริ่มต้นครับ ดังนั้นแล้วการทดสอบนี้น่าจะพอทำให้เราเห็นได้ครับว่าสรุปแล้วระหว่างคำกล่าวของ Valve กับนักพัฒนารายอื่นๆ นั้นคำกล่าวของใครจะจริงกว่ากันครับ
สำหรับสเป็คเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทาง Orland จาก Ars ใช้ในการทดสอบรันเกมมีดังต่อไปนี้ครับ
ผลการทดสอบด้วยโปรแกรม Geekbench 3 เพื่อดูประสิทธิภาพของหน่วยประมวผลและหน่วยความจำ
ในการทดสอบนั้นจะใช้วิธีการ DUAL-BOOT และจากสเป็คทางด้านบนนั้นจะเห้นได้ว่าไม่ค่อยจะสูงมากเท่าไรนัก(อย่างน้อยก็ไม่เท่ากัยสเป็คของ Steam Machine ที่เริ่มให้มีการ pre-order แต่ราคานั้นแสนแพง) เริ่มต้นการทดสอบนั้นทาง Orland ได้ทดสอบด้วยโปรแกรม Benchmark ครอบจักรวาลที่มีในทุกระบบอย่าง Geekbench 3 จะเป็นอย่างไรนั้นไปชมกันได้เลยครับ
ภาพผลการทดสอบ Geekbench 3 : Single Core สำหรับทดสอบ CPU
ภาพผลการทดสอบ Geekbench 3 : Multi-Core สำหรับทดสอบ CPU
จากรูปภาพผลการทดสอบนั้นจะเห็นได้ครับว่า SteamOS 2.0 นั้นมีคะแนนการทดสอบต่ำกว่าการทดสอบบน Windows 10 ในทุกๆ ด้าน แต่ความแตกต่างนั้นก็ไม่ได้มากแบบเห็นได้ชัดเว้นแต่ในส่วนของการทดสอบ Floating Point ที่จะเห้นได้ชัดเจนเลยครับว่า Windows 10 นั้นสามารถที่จะทำได้ดีกว่า
ผลการทดสอบด้วยการเล่นเกมจริงเพื่อดูประสิทธิภาพโดยรวมในการเล่นเกม
อย่างไรก็ตามแต่ผลการทดสอบจากโปรแกรม Benchmark นั้นอาจจะไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการเล่นเกมจริงให้เรารู้กันเท่าไรครับ ทาง Orland จึงได้ทำการทดสอบการเล่นเกมด้วย ซึ่งเกมที่ถูกนำมาใช้ในการทดสอบนั้นประกอบไปด้วย Middle-Earth: Shadow of Mordor และ Metro: Last Light Redux ซึ่งทั้ง 2 เกมนี้เป็นเกมเก่าในช่วงกลางปี 2014 ที่ผ่านมา โดยการทดสอบนั้นจะใช้ความละเอียดเดียวกันและปรับระดับการแสดงผลตั้งแต่ Low ไปจนถึง Ultra ครับ จะเป็นอย่างไรนั้นไปชมกันได้เลยครับ
ภาพผลการทดสอบเกม Middle-Earth: Shadow of Mordor
เริ่มต้นที่เกมแรกกับ Middle-Earth: Shadow of Mordor นั้นจะเห็นได้ชัดเจนเลยครับว่าประสิทธิภาพของระหว่าง 2 ระบบปฎิบัติการนั้นต่างกันพอสมควร โดยความแตกต่างจะอยู่ในช่วง 21% – 58% ครับ ที่น่าสนใจก็คือที่การปรับความละเอียดของการแสดงภาพแบบ Ultra นั้นระบบปฎิบัติการ Windows 10 ยังคงสามารถที่จะแสดงผลด้วยอัตร frame rate เฉลี่ย 34.5 FPS ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณยังสามารถเล่นเกมได้อย่างปกติ(โดยอาจจะมีบางฉากที่กระตุกบ้าง) แต่กับ SteamOS 2.0 นั้น frame rate เฉลี่ยตกไปอยู่ที่ 14.6 FPS ซึ่งที่ระดับนี้เล่นไปกระตุกไปแน่นอนครับ
ภาพผลการทดสอบเกม Metro: Last Light Redux
สำหรับเกม Metro: Last Light Redux นั้นผลการทดสอบก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันครับ โดยถึงจะต่างกันไม่มากเท่าไรนักแต่ก็ถือว่ายังมีความต่างอยู่พอสมควร ทั้งนี้เกม Middle-Earth: Shadow of Mordor และ Metro: Last Light Redux นั้นเป็นเกมที่ถูกพอร์ทมาโดยบริษัทที่สามารถไว้ใจได้ แต่ก็ยังคงทำให้เราเห็นได้ครับว่าการพอร์ทเกมจากระบบปฎิบัติการ Windows มาสู่ SteamOS ที่ใช้ Linux เป็นฐานหลักผ่านทางเอนจิน OpenGL นั้นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอย่างที่ Valve ตั้งใจไว้(เพราะโดยปกติแล้วบริษัทผลิตเกมใหญ่ๆ น่าจะชินกับการพัฒนาเกมสำหรับระบบปฎิบัติการ Windows มากกว่า)
หากเปรียบเทียบแค่เฉพาะบริษัทผลิตเกมที่ไม่ใช่ Valve ซึ่งเป็นผู้พัฒนา SteamOS เองแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นการเปรียบเทียบแบบเอียงไปหน่อยครับ ดังนั้นทาง Orland จึงได้นำเกมของทาง Valve ที่ใช้เอนจิน Source ของทาง Valve เองอย่างเกม Portal, Team Fortress 2, Left 4 Dead 2 และ DOTA 2 มาทำการเปรียบเทียบด้วยเพื่อความเป็นธรรมกับ Valve ผลจะเป็นอย่างไรนั้นไปชมภาพทางด้านล่างนี้ได้เลยครับ
ภาพผลการทดสอบเกมที่ใช้ เอนจิน Source และพัฒนาโดย Valve เอง
จากภาพนั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับว่าเกม Portal, Team Fortress 2 และ DOTA 2 นั้นยังคงมีผลการทดสอบไปในทิศทางเดียวกันกับเกมจากผู้พัฒนารายอื่นคือเมื่อรันบนระบบปฎิบัติการ Windows 10 จะมี frame rate ทิ้งห่างเวลารันบน SteamOS 2.0 มาก จะมีก็แค่เพียงเกม Left 4 Dead 2 เกมเดียวเท่านั้นที่ผลการทดสอบไม่ได้ต่างกันมากเท่าไรนัก(แค่ก็ขัดกับสิ่งที่ Valve เคยประกาศเอาไว้เมื่อปี 2012 ทว่าต้องไม่ลืมด้วยว่าตอนปี 2012 นั้นระบบปฎิบัติการ Windows ที่ใช้ทดสอบเป็น Windows 7 ครับ)
วิเคราะห์ผล
ทั้งนี้ทั้งนั้นหากจะว่าไปแล้วการทดสอบแค่ 6 เกมดังกล่าวทางด้านบนนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดมากครับ และถ้าหากจะว่าไปแล้วเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาบนการให้ความสำคัญของระบบปฎิบัติการใดระบบปฎิบัติการหนึ่งเป็นสำคัญก็น่าจะให้ผลการทดสอบบนระบบปฎิบัติการนั้นๆ ได้ดีกว่าระบบปฎิบัติการที่ตัวเกมถูกพอร์ทไปให้ใช้ทีหลัง(ดังจะเห็นได้จากเกมคอนโซลบางเกมที่รันบนเครื่องคอนโซลแล้วดูดีสุดๆ แต่พอพอร์ทมาให้เล่นบนคอมพิวเตอร์ PC แล้วคุณภาพเหมือนกับคนละเกม)
จากการทดสอบนี้จะเห็นได้ว่าเครื่องที่ใช้ในการทดสอบนั้นก็ยังคงเป็นสเป็ครุ่นเก่าอยู่ ซึ่งถ้าหากเราใช้เครื่องที่มาพร้อมกับฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่กว่านี้และทดสอบด้วยเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเอนจินอย่าง Microsoft DirectX 12 หรือมาตรฐาน OpenGL Vulkan โดยตรงน่าจะทำให้เราได้เห็นประสิทธิภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากกว่านี้(ซึ่งอาจจะทำให้การรันบนทั้ง 2 ระบบปฎิบัติการที่นำมาทดสอบนี้สามารถทำคะแนนได้ใกล้เคียงกันได้)
ถ้าถามตอนนี้ว่า SteamOS 2.0 นั้นเป็นระบบปฎิบัติการที่เหมาะสมกับการเล่นเกมแล้วหรือยัง คงตอบยากครับเพราะคุณต้องดูส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย สิ่งหนึ่งที่อยากให้คิดถึงมากที่สุดเลยก็คือหากคุณคิดจะลงทุนซื้อ Steam Machine ที่มีราคาแสนแพงมาทำการเล่นเกมเหมือนกับเครื่องเกมคอนโซล(ตามที่ Valve ตั้งความหวังไว้) อาจจะยังไม่เหมาะสมสักเท่าไรนัก ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว Steam บน Windows นั้นมีเกมที่จำหน่ายมากกว่าเกมที่จำหน่ายบน SteamOS เยอะมากโดยเฉพาะเกมระดับดังๆ AAA
คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยครับว่าเกมระดับ AAA นั้นจะมีการพอร์ทไปลง SteamOS ด้วยหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น SteamOS และ Steam Machine ก็ยังเป็นของใหม่ในวงการมากๆ ซึ่งคุณอาจจะต้องให้เวลานักพัฒนาสักพักใหญ่ๆ ในการที่จะรีดประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาได้เต็มที่ครับ แต่ ณ เวลานี้นั้นแทนที่คุณจะจ่ายเงินมากๆ เพื่อซื้อ Steam Machine มาสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ ขอแนะนำให้คุณเอาเงินจำนวนนั้นไปอัพเกรดคอมพิวเตอร์ PC ของคุณดูจะคุ้มค่ากว่ากันเยอะเลยครับ
ที่มา : arstechnica