จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนเลยครับว่าในระบบปฎิบัติการ Android นั้นมีแอปพลิเคชันสำหรับการจัดการการโทรเข้าเยอะมาก แถมบางแอปพลิเคชันนั้นก็มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่างการแจ้งให้ผู้ใช้รู้ได้ว่าเบอร์นั้นเป็นเบอร์โทรของใครถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำการบันทึกเบอร์นั้นไว้ในเครื่องของคุณก็ตาม(อย่างเช่นแอปพลิเคชัน Whoscall ของ Gogolook Co., Ltd.)
แอปพลิเคชัน “Hello” ของทาง Facebook เองก็ทำงานในลักษณะคล้ายๆ กันครับ ซึ่งนั่นก็คือการเข้ามาแทนที่แอปพลิเคชัน Phone ของคุณแล้วจะคอยทำการแจ้งให้คุณได้รู้ได้ว่าเบอร์ที่คุณไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องนั้นเป็นเบอร์ของใคร รวมไปถึงเบอร์ที่คุณโทรออก “Hello” ก็สามารถที่จะแสดงได้เช่นเดียวกันโดยฐานข้อมูลนั้นก็จะมาจาก Facebook เองนี่แหละครับ
ตอนนี้นั้นแอปพลิเคชัน “Hello” ได้ทำการเปิดใช้งานในรูปแบบ public testing เฉพาะในประเทศ US, Brazil และ Nigeria และยังรองรับแค่เฉพาะกับระบบปฎิบัติการ Android ครับ(ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบปฎิบัติการ iOS นั้นไม่เปิดให้นักพัฒนาได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่จะใช้ API ในส่วนของการโทรผ่านเครือข่ายปกติได้นั่นเองครับ)
ข้อมูลที่จะนำมาแสดงนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้จะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของเบอร์โทรศัพท์ในโปรไฟล์ Facebook ไว้อย่างไรครับ ถ้าคุณตั้งค่าเป็น Public หรือสาธารณะ แอปพลิเคชัน Hello ก็จะสามารถที่ทำการดึงข้อมูลโปรไฟล์ของคุณมาโชว์บนตัวแอปพลิเคชันได้ครับ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้าหากคุณต้องการความเป็นส่วนตัวก็คงไม่อยากให้ใครรู้เบอร์โทรของคุณจริงไหมครับ
ที่ Facebook สามารถทำเช่นนี้ได้ตามเทคนิคแล้วก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัวแต่อย่างใดครับ เนื่องจากว่าการที่จะให้แอปพลิเคชัน Hello โชว์โปรไฟล์ของคุณได้หรือไม่นั้นอยู่ที่การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของคุณโดยเฉพาะครับ ดังนั้นแล้วถ้าถามว่า Facebook มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนี้ได้หรือไม่ตอบได้เลยครับว่า Facebook มีสิทธิ์ตรงนี้เต็มๆ เลยครับ
ก่อนหน้าที่ทาง Facebook จะปล่อยให้แอปพลิเคชัน Hello นี้ออกมาให้ผู้ใช้ได้ใช้งานกันแบบ public testing นั้นทาง Facebook ก็ได้มีการทดสอบภายในก่อนโดย ณ ตอนนั้นได้มีการทดสอบกันภายใต้ชื่อรหัสโครงการว่า “Phone” ครับ โดยข้อมูลนี้ก็เผยออกมาจากทาง Android Police เมื่อเดือนที่ผ่านมาครับ
สาเหตุของการพัฒนาแอปพลิเคชัน Hello นั้นทาง Andrea Vaccari ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ Hello ก็ได้บอกเอาไว้ครับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นแต่ละปีในสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้บริการการโทรผ่านเครือข่ายมากกว่าหนึ่งพันล้านครั้ง ทว่าต่อให้เวลาล่วงมานานเท่าไรการโทรผ่านระบบเครือข่ายนั้นก็ยังไม่มีการเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้งานให้แก่ผู้ใช้สักครั้งเดียวครับ
คลิปแสดงรูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชัน “Hello”
ต้นกำเนิดของแอปพลิเคชัน “Hello”
สำหรับแอปพลิเคชัน Hello นั้นได้มีการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่เมื่อช่วงปีที่แล้วครับ โดยทีมพัฒนานั้นก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นผู้พัฒนาในทีมที่พัฒนาแอปพลิเคชัน Facebook Messenger โดยมี Vaccari เป็นผู้นำในโครงการนี้ ซึ่งความคิดของแอปพลิเคชัน Hello ก็ไม่ได้มาจากไหนแต่มาจาก Vaccari นี่เองครับ(Vaccari มีชื่อเสียงมาจากแอปพลิเคชันชื่อ Nearby Friends ที่มีทีมพัฒนาเล็กๆ เท่านั้น)
เมื่อ 2 – 3 เดือนก่อนนี้ทาง Vaccari นำเอาแอปพลิเคชัน Hello ไปให้ Mark Zuckerberg ได้ดู Zuckerberg ถึงกับชื่นชอบในตัวแอปพลิเคชันนี้มากครับ แถม Zuckerberg ยังได้สนับสนุนในการสร้างแอปพลิเคชันนี้เป็นอย่างดีรวมไปถึงหัวหน้าทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน Facebook Messenger อย่าง David Marcus และลูกทีมก็ให้การสนับสนุน Vaccari อย่างเต็มที่ในการพัฒนาเช่นเดียวกันครับ
แนวคิดของแอปพลิเคชัน Hello นั้นเกิดมาจากความคิดเชิงบวกครับ ในที่นี้ทาง Vaccari ได้กล่าวเอาไว้ว่าหากคุณมีสายเข้าแต่คุณไม่ได้บันทึกเอาไว้ว่าเบอร์นั้นเป็นของใคร คุณอาจจะเลือกไม่รับสายเบอร์นั้นไปทั้งๆ ที่เบอร์นั้นเป็นเบอร์ของคนที่คุณรู้จักหรืออาจจะเป็นเบอร์คู่ค้าทางธุรกิจซึ่งนั่นอาจจะทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ไปได้ครับ
แต่ถ้าคุณรู้ว่าเบอร์นั้นเป็นเบอร์ของใครจากแอปพลิเคชัน Hello นี้คุณก็สามารถที่จะเลือกได้ครับว่าจะรับสายเข้านั้นรึเปล่า ซึ่งนี่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากครับ นอกไปจากนั้น Vaccri ยังได้บอกอีกครับว่าบางคนที่คุณไม่ได้บันทึกเบอร์เอาไว้อาจจะโทรเข้ามาหาคุณทั้งวันทั้งคืนทำให้คุณเกิดความรำคาญขึ้นมาได้ ดังนั้น Hello จึงเพิ่มความสะดวกในการบล๊อคเบอร์นั้นไม่ให้คุณเกิดความรำคาญได้อีกด้วยเป็นต้นครับ เรียกได้ว่าตัวคุณก็จะสามารถกลับมาควบคุมสายโทรศัพท์เข้าและออกได้ตามที่ต้องการเลยครับ
ฟีเจอร์เด็ดๆ ของ “Hello”
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นครับว่า Hello นั้นจะเข้ามาทำงานแทนแอปพลิเคชัน Phone ของสมาร์ทโฟนระบบปฎิบัติการ Android แต่ทว่าคุณเองก็สามารถที่จะทำการเลือกได้เช่นเดียวกันครับว่าจะให้ Hello นั้นทำงานแบบเต็มตัวหรือเฉพาะเวลาที่มีสายเข้าเท่านั้น โดยก่อนการใช้งานนั้นคุณจะต้องทำการ log in เข้าสู่ Facebook ก่อนแล้วก็ให้สิทธิ์ตัวแอปพลิเคชัน Hello ในการเข้าถึงรายชื่อโทรศัพท์ในเครื่องคุณครับ สำหรับฟีเจอร์ต่างๆ ของ Hello นั้นมีดังต่อไปนี้ครับ
Synced Phone Book
ฟีเจอร์แรกสุดก็คือการซิงค์รายชื่อโทรศัพท์ของเครื่องคุณกับฐานข้อมูลของ Facebook ครับ(ผ่านการให้อนุญาต) โดยตัวแอปพลิเคชัน Hello นั้นจะทำการอัพเดทข้อมูลผู้ที่มีเบอร์โทรอยู่ในเครื่องคุณเช่น ภาพของผู้ใช้เบอร์นั้นๆ เป็นต้น ฯลฯ เข้าไปซึ่งฟีเจอร์นี้ถือว่าดีมากเลยทีเดียวครับ
Caller ID
ฟีเจอร์นี้ตัวแอปพลิเคชันจะทำการแสดงข้อมูลของเบอร์ที่โทรเข้าโดยซิงค์ข้อมูลกับฐานข้อมูลของ Facebook ครับ ถ้าผู้ใช้เบอร์นั้นเพิ่มเบอร์ไว้ในโปรไฟล์ Facebook และตั้งต่าความเป็นส่วนตัวไว้เป็น “Everyone” คุณก็จะสามารถเห็นรูปและข้อมูลโปรไฟล์ของเบอร์นั้นๆ ได้ทันที หรือถ้าตั้งเป็น “Friends Of Friends” ไว้แล้วคุณเป็นเพื่อนของเพื่อนกับเบอร์นั้นตัวแอปพลิเคชัน Hello ก็จะสามารถดึงข้อมูลมาให้คุณดูได้ด้วยเช่นเดียวกันครับ
ในกรณีที่เจ้าของเบอร์นั้นได้แชร์ข้อมูลอื่นๆ อย่างเช่น city, home town, employer, job title, education, website, หรือวันเกิดไว้ คุณเองก็จะสามารถมองเห็นข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้เช่นเดียวกันครับ โดยตัวข้อมูลนั้นจะขึ้นโชว์ในรูปแบบการ์ดที่คุณสามารถเลื่อนไปเลื่อนมาเวลาที่เบอร์นั้นโทรเข้าเครื่องของคุณได้ครับ
ถ้าคุณใช้แอปพลิเคชัน Hello แทนแอปพลิเคชัน Contact ไปเลย เวลาที่คุณไม่ได้ทำการโทรคุณก็ยังสามารถที่จะดูข้อมูลของเบอร์ที่คุณทำการบันทึกไว้บนเครื่องของคุณได้ด้วยครับ เรียกว่าสะดวกมากเลยทีเดียวครับ
Free VOIP Calls
อีกหนึ่งฟีเจอร์เด็ดที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากแอปพลิเคชัน Facebook Messenger โดยเฉพาะก็คือการโทรฟรีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ VOIP Calls ครับ โดยในกรณีนี้นั้นไม่จำเป็นว่าเบอร์ที่คุณทำการรับนั้นจะมีแอปพลิเคชัน Hello ติดตั้งอยู่หรือไม่แต่ถ้าบนเครื่องนั้นมีแอปพลิเคชัน Facebook Messenger ติดตั้งอยู่คุณก็สามารถที่จะพบการ์ดในการใช้งาน VOIP Calls ได้เช่นเดียวกันครับ
อย่างไรก็ตามแต่ฟีเจอร์นี้ในบ้านเราอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะว่าการใช้งานข้อมูลผ่านเครือข่ายบ้านเรานั้นไม่ค่อยจะเร็วเท่าไร โดยน่าจะเป็นผลดีกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการกระจายตัวของ Wi-Fi ฟรีมากกว่าและประเทศที่มีค่าโทรปกติผ่านเครือข่ายที่มีราคาแพงครับ(อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาเป็นต้น)
ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ของปี 2015 ที่ผ่านมา Zuckerberg ได้เคยเปิดเผยข้อมูลออกมาว่ามีผู้ใช้งานถึงกว่า 10 % ที่ทำการโทรแบบ VOIP Calls ผ่านทางแอปพลิเคชัน Facebook Messenger ครับ ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของ VOIP Calls นี้จะไม่ได้มากเท่าไรนักแต่เชื่อว่าหากระบบเครือข่ายดีมากขึ้นกว่านี้รับรองเราได้เห็นคนใช้ VOIP Calls กันมากขึ้นแน่นอนครับ
Business Search
ต่อกันด้วยฟีเจอร์การค้นหาอัจฉริยะที่คุณสามารถจะทำได้ผ่านทางแถบค้นหาที่อยู่ทางด้านบนของแอปพลิเคชัน Hello เพื่อที่จะค้นหาเบอร์โทรหรือชื่อที่คุณเคยทำการบันทึกไว้ได้แล้ว เจ้าแถบค้นหาตัวนี้ยังสามารถที่จะทำการค้นหาข้อมูลของบริษัท ร้านค้าต่างๆ(ทางด้านธุรกิจ) ได้ด้วยเช่นเดียวกันครับ
โดยในการค้นหานั้นคุณก็จะได้ข้อมูลในรูปแบบของการ์ดธุรกิจที่มีทั้งที่ตั้ง, เบอร์โทร ฯลฯ ของบริษัทนั้นๆ ฟีเจอร์นี้น่าจะช่วยให้ความสะดวกกับคุณมากขึ้นเวลาที่ต้องการหาเบอร์ร้านค้าเวลาที่ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ครับ ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นหากคุณต้องการสั่งพิซซ่า คุณก็เพียงแค่พิมพ์คำว่าพิซซ่าในแถบค้นหานั้นตัวแอปพลิเคชัน Hello ก็จะนำข้อมูลในฐานข้อมูลมาเผยให้คุณดูครับ
Call Blocking
ท้ายสุดกับฟีเจอร์ที่เด็ดที่สุดและก็เป็นฟีเจอร์ที่ทาง Hello พยายามจะทำการชูประเด็นด้วยเช่นเดียวกันก็คือการบล๊อคเบอร์โทรเข้าที่ไม่มีข้อมูลหรือเบอร์ที่ไม่พึงประสงค์ครับ นอกไปจากที่คุณจะทำการบล๊อคเบอร์นั้นๆ ได้เองแล้ว หากว่าในฐานข้อมูลของทาง Facebook มีผู้บล๊อคเบอร์นั้นๆ มากพอ(ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเบอร์ที่คนไม่ชอบอย่างเบอร์ขายประกัน) แอปพลิเคชัน Hello ก็ฉลาดมากพอที่จะทำการบล๊อคเบอร์นั้นให้คุณได้ทันทีโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องสั่งงานแต่อย่างไรครับ
การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวที่คุณสามารถเลือกได้เอง
สิ่งหนึ่งที่แอปพลิเคชัน Hello อาจจะมีปัญหาก็คือการให้ข้อมูลของคุณแก่คนที่คุณไม่ต้องการให้ทราบครับ ทว่าปัญหานี้ก็สามารถที่จะทำการแก้ไขได้โดยง่ายด้วยการเข้าไปปรับตั้งค่าการแชร์ข้อมูลของคุณทั้งหมด โดยอาจจะปรับเป็น “Friends Of Friends” ซึ่งจะช่วยให้มีเฉพาะผู้ที่เป็นเพื่อนของคุณกับเพื่อนของเพื่อนคุณเท่านั้นที่มองเห็นข้อมูลของคุณบนแอปพลิเคชัน Hello ครับ
แต่ก็อย่างที่บอกไปในตอนต้นนะครับว่าแอปพลิเคชัน Hello นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวของการใช้งาน Facebook แต่อย่างใด ดังนั้นแล้วการป้องกันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วครับว่าจะต้องการแชร์ข้อมูลให้คนมากน้อยแค่ไหนเข้าถึงได้ ถ้าคุณเป็นคนสบายๆ ไม่อะไรมากก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปปรับแต่งข้อมูลส่วนนี้แต่อย่างใดครับ
Facebook จะหาทางสร้างรายได้จากแอปพลิเคชัน Hello หรือไม่
คำตอบของคำถามนี้ทาง Vacarri ได้บอกเอาไว้ครับว่า ณ เวลานี้ทาง Facebook เองยังไม่ได้คิดที่จะสร้างรายได้จากแอปพลิเคชัน Hello แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตนั้นก็มีโอกาสที่เป็นไปได้เหมือนกันครับที่ทาง Facebook จะสร้างรายได้จากแอปพลิเคชัน Hello นี้ โดยส่วนสำคัญที่จะทำให้ Facebook สามารถสร้างรายได้ได้ก็คือฟีเจอร์ business search นี่แหละครับ
วิธีการนั้นก็ไม่มีอะไรเลยครับคล้ายๆ กับหลักการโฆษณาที่ Facebook ใช้บนแอปพลิเคชันอื่นๆ ของ Facebook อย่างหน้าเว็บเพจของ Facebook เองอยู่แล้วโดยในหน้าเว็บเพจของ Facebook นั้นคุณจะเห็นโฆษณาต่างๆ ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ทาง Facebook โพสโฆษณานั้นลงไป(News Feed ads) ให้ผู้ใช้ได้เห็นครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรูปแบบทางด้านการโฆษณาออนไลน์อย่างหนึ่งที่เราเห็นกันมาอย่างเนิ่นนานครับ
หมายเหตุ – การโฆษณาผ่านทาง News Feed ads ของ Facebook ในปี 2014 ที่ผ่านมานั้นมีมูลค่าสูงถึง $3.59 billion หรือประมาณ 1.18 แสนล้านบาทเลยทีเดียวครับ
Hello จะประสบความสำเร็จหรือไม่
ถ้ามองกันในแง่ของแอปพลิเคชันที่ทาง Facebook ออกมาสำหรับระบบปฎิบัติการ Android แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว Hello ไม่ใช่แอปพลิเคชันแรกที่ Facebook ออกมาให้เฉพาะกับระบบปฎิบัติการ Android ครับเพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เราจะได้พบกับ Launcher อย่าง Facebook Home ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าไรนักครับ(ประมาณเมื่อ 2 ปีที่แล้ว)
อย่างไรก็ตามแต่ครับโชคดีที่ทาง Vaccri นั้นได้บอกเอาไว้ว่าทีมงานของพวกเขานั้นได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของ Facebook Home และนำมาปรับปรุงในการสร้างแอปพลิเคชัน Hello นี้ โดยแอปพลิเคชัน Hello นี้น่าจะให้ประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างไปจากเดิมมาก(อย่างเห็นได้ชัด) จาก Facebook Home ครับ
ด้วยความง่ายของตัวแอปพลิเคชันเองและหลักการทำงานรวมไปถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่กล่าวไปในข้างต้นคาดว่าแอปพลิเคชัน Hello นั้นไม่น่าจะพลาดจากการประสบความสำเร็จได้ครับ แถมลักษณะการใช้งานของแอปพลิเคชัน Hello นั้นก็น่าจะดึงดูดให้ผู้ใช้นำมาใช้งานแทนแอปพลิเคชัน Phone บนระบบปฎิบัติการ Android ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตามแต่ในบ้านเราจะได้ใช้แอปพลิเคชันนี้ไหมนั้นคงต้องรอดูผลตอบรับในประเทศ US, Brazil และ Nigeria เป็นหลักครับ ถ้าการใช้งานออกมาได้ผลตามเป้าที่ทาง Facebook ตั้งใจไว้คาดว่าไม่นานมากเท่าไรนักบ้านเราก็คงจะได้ใช้แอปพลิเคชัน Hello กันครับ
ที่มา : techcrunch