แน่นอนว่ายุคสมัยนี้ เป็นยุคของ E-Commerce แล้ว และถ้าถามว่าบ้านเรานั้น เว็บไซต์ E-Commerce ไหนที่เป็นเบอร์ต้นล่ะก็ มาดูข้อมูลสถิติกันได้เลย โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ จะรวมเอาเว็บไซต์ยอดนิยม 10 อันดับแรก ซึ่งจะเป็นเว็บที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของเรา และมีการจัดการระบบต่างๆจากในประเทศ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา จาก SimilarWeb แม้ว่าจะเป็นการวัดผลที่ไม่ได้วัดครบถ้วนกันแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ตามแบบแผน แต่ก็พอจะทำให้เราได้เห็นถึงร้านค้าปลีกต่างๆ ว่าต้องดึงตัวเองให้เด่นขึ้นมากจากคู่แข่งถึงจะชนะได้ในตลาดนี้
จำนวนการเข้าเยี่ยมชมหน้าเว็บในเดือนมกราคม 2015
- Lazada (20,100,100)
- WeloveShopping (6,200,000)
- Tarad (3,900,000)
- Zalora (2,300,000)
- Ensogo (1,600,000)
- Cdiscount (1,200,000)
- J.I.B. (1,200,000)
- Central.co.th (790,000)
- iTrueMart (780,000)
- Munkong Gadget (680,000)
สำหรับชื่อนอกที่คุ้นหูอย่าง Lazada และ Zalora เข้ามาสู่ตลาดเมืองไทยโดย Rocket Internet จากเยอรมันนี ซึ่งตอนนี้ Lazada มีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วน Zalora เองก็ขึ้นมาที่ 238 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ
ส่วนทางด้านของ Weloveshopping ก็เป็นบริการของไทยเอง ที่บริหารโดย True Corp เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่ของวงการ Telecommunications นั่นเอง
Tarad นั้นเคยเป็นของไทยมาก่อน แต่ก็โดนซื้อไปโดย Rakuten จากญี่ปุ่น ที่มีรายได้กว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2014
Cdiscount เป็นของ Cnova บริษัทผู้นำ Ecommerce ระดับโลก มีผู้ใช้งานต่อเนื่องกว่า 13.6 ล้านคนทั่วโลก
Central.co.th เป็นของ Central Group เครือบริษัทจากตระกูลที่รวยที่สุดของไทยเรานั่นเอง
Ensogo ถูกซื้อโดย LivingSocial และล่าสุดก็ไปอยู่ภายใต้ iBuy แล้ว
ที่สำคัญยังมีร้านคอมพิวเตอร์ไอทีชื่อดังอย่าง J.I.B. ติดอยู่หนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งผู้คนที่อยู่ในวงการไอทีรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
เมื่อย้อนกลับมาดูกันสักหน่อย Lazada นั้นถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่เจ้าแรก เปรียบเสมือนกับเป็น Amazon ของแถบละแวกตลาดโซนนี้เลย ตามมาด้วย Ensogo ที่เป็นลักษณะของ Groupon เจ้าแรก ส่วน Tarad นั่น เป็นเว็บไซต์ e-commerce เจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งรายชื่อ 10 เจ้าหลักที่เห็น ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ตลาดประเทศไทยยังคงเป็นที่สนใจสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่เปิดตัว แต่ก็มักจะได้ยึดหัวหาดจากเจ้าแรกที่เข้ามาทำก่อนเสมอ
ส่วนเทรนด์ที่กำลังมาแรงของไทยในตอนนี้ก็คือร้านค้าที่ขายทุกสิ่งอย่าง โดย 7 ชื่อที่เห็นนั้น ก็จะนำเสนอขายสินค้าทุกประเภทเลย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านความงามต่าง ไปจนถึงกระทั่งข้าวของที่ต้องใช้ภายในบ้าน มากกว่าที่จะมาเน้นหนักไปที่การขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง จะมีก็เฉพาะ Zalora ที่เน้นไปที่สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า, J.I.B เน้นไปที่คอมพิวเตอร์ไอที และ Munkong Gadgets ที่เน้นขายหูฟัง
แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขเรื่องผู้เข้าชมเว็บไซต์จะไม่ใช่การวัดผลอะไรที่ถูกต้องมากนัก เพราะมันไม่ได้สื่อถึงตัวเลขรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นตามแต่อย่างใด แต่นี่ก็เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคหลายคนเลือกใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลสินค้าต่างๆ และเหล่าการตลาดของแต่ละแบรนด์หรือบริษัท ก็ควรที่ต้องรู้ถึงสื่อทุกอย่าง ที่มีคนเข้าดู และนำเอาแบรนด์หรือสินค้าตัวเอง ไปแปะเอาไว้ให้ได้เห็น
ที่มา: Tech in Asia