ด้วยความสามารถในการผลิตสมาร์ทโฟนที่มีสเปคสูงแต่ทว่ากลับทำให้ราคาถูกแบบเหลือเชื่อได้นั้นทำให้ Xiaomi มีอัตราการเติบโตที่เร็วมากครับ เพราะเพียงแค่เปิดวางขายแค่ในเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลก(อย่างเป็นทางการ) เท่านั้น ประมาณ 3 ปีทาง Xiaomi ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนที่มียอดการขายสมาร์ทโฟนอยู่ใน Top 5 ได้ไปอย่างง่ายดาย(ได้อันดับที่ 3) ด้วยยอดการจำหน่ายสมาร์ทโฟนกว่า 60 ล้านเครื่องเมื่อปีที่ผ่านมานั้นก็ทำให้ Xiaomi ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตที่สามารถขายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดในตลาดประเทศจีนแทน Samsung ไปอย่างง่ายดาย สำหรับสมาร์ทโฟนระดับเรือธงอย่างซีรีส์ Mi นั้นก็มีราคาอยู่ที่ประมาณ $300 หรือประมาณ 9,900 บาทมาโดยตลอด พึ่งจะมี Mi Note Pro ที่เปิดตัวออกมาด้วยราคามากกว่า $500 หรือประมาณ 16,500 บาทเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่สมาร์ทโฟนระดับกลางถึงล่างนั้นก็มีราคาอยู่ที่ประมาณ $150 หรือประมาณ 4,950 บาทเท่านั้น
หากเอาราคาไปเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนเรือธงของคู่แข่งแล้วเราจะพบว่า Apple นั้นมีราคาสูงมากอยู่ที่เฉลี่ยแล้วประมาณ $1,000 หรือประมาณ 33,000 บาท ส่วนสมาร์ทโฟนเรือธงของเจ้าของยอดขายอันดับหนึ่งอย่าง Samsung อย่าง Galaxy S และ Galaxy Note นั้นก็มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ $750 หรือประมาณ 24,750 บาท ด้วยความแตกต่างนี้เองครับทำให้น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าเพราะเหตุใด Xiaomi จึงสามารถที่จะขายสมาร์ทโฟนทั้งในระดับเรือธงและระดับกลางถึงล่างได้ในราคาที่ถูกกว่าผู้ผลิตรายอื่นมากนัก ทั้งๆ ที่สเปคก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร โดยจริงๆ แล้วมีหลายทฤษฎีเลยทีเดียวครับที่ได้ถูกยกมาอธิบายสาเหตุของการขายสมาร์ทโฟนได้ในราคาต่ำนี้ของทาง Xiaomi ตัวอย่างเช่น Xiaomi ยอมขายราคาเครื่องสมาร์ทโฟนเท่าทุนแต่ไปเก็บเงินจากบริการอื่นๆ มากกว่าเป็นต้น
เพื่อเป็นการหาข้อมูลว่าทำไม Xiaomi จึงสามารถที่จะขายสมาร์ทโฟนได้ในราคาถูกเช่นนี้ทาง TechCrunch จึงได้ทำการสัมภาษณ์ Hugo Barra ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานสำหรับกิจการระดับนานาชาติของบริษัท Xiaomi เพื่อที่จะไขข้อสงสัยครับ โดยทาง Barra ได้บอกว่าสาเหตุที่ทำให้ Xiaomi สามารถที่จะทำการขายสมาร์ทโฟนได้ในราคาถูกนั้นก็เนื่องมาจากว่าทางบริษัทมีการรวมกันของผลงานที่มีลักษณะที่เป็นขนาดเล็กและระยะเวลาในการขายสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นของทางบริษัทนั้นก็ยาวนานมากกว่าทั่วไปครับ โดยถึงแม้ว่าจะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกมาแต่ทางบริษัทก็ยังมีการขายสมาร์ทโฟนรุ่นเก่าอยู่เช่นเดิมในราคาที่ถูกลงจากเดิมในครั้งเปิดตัว
Barra อธิบายว่าโดยปกติแล้วผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะถูกวางขายบนชั้นอยู่นาน 18 ถึง 24 เดือน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปสักพักหลังจากที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ออกมาทางบริษัทจะทำการลดราคาผลิตภัณฑ์ 3 ถึง 4 ครั้งในช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ วางขายครับ ตัวอย่างเช่น Mi และ Mi2 ซึ่งทั้งคู่นั้นแทบจะเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกันก็ถูกวางขายมายาวนานถึง 26 เดือนแล้ว ส่วน Redmi 1 ที่เปิดตัวในครั้งเลือกเมื่อเดือนกันยายน 2013 นั้นก็ถูกวางขายถึง 16 เดือนก่อนที่จะมีการเปิดตัวรุ่นสืบทอดอย่าง Redmi 2 ด้วยการที่ผลิตภัณฑ์แต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีช่วงเวลาในการวางจำหน่ายที่ยาวนานนี้เองทำให้ทาง Xiaomi สามารถที่จะทำการรักษาข้อตกลงของทางบริษัทกับซัพพลายเออร์ที่เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าไรซัพพลายเออร์ก็จะลดราคาให้ ซึ่งเป็นผลทำให้ Xiaomi เองก็สามารถที่จะทำการลดราคาของผลิตภัณฑ์ลงตามไปด้วยได้ครับ
Barra ได้อธิบายต่อว่าโดยส่วนใหญ่แล้วส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ของทาง Xiaomi นั้นจะยังคงเป็นเช่นเดิมถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรุ่นใหม่ ดังนั้นในแง่ของห่วงโซ่อุปทานและการจัดหาส่วนประกอบนั้นทาง Xiaomi ก็ยังคงอยู่ในข้อตกลงเดิม อย่างเช่นองค์ประกอบของ Redmi 2 นั้นก็จะมีส่วนที่คล้ายกันกับ Redmi 1 ซึ่งทำให้ทาง Xiaomi ยังคงอยู่ในสัญญาเดิมกับทางซัพพลายเออร์ครับ และนั่นทำให้ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรทาง Xiaomi เองก็ได้รับส่วนลดจากซัพพลายเออร์ที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนนั้นกลายเป็นลดลงๆ ในขณะที่กำไรได้มากขึ้น ดังนั้นแล้วข้อสำคัญเลยจริงๆ ก็คือการที่มีผลงานที่เล็กมากๆ เข้าไว้จึงเป็นจุดสำคัญทางดานกลยุทธ์ที่ Xiaomi ใช้ครับ และนั่นก็เป็นเหตุผลทำให้ทาง Xiaomi จะมีผลิตภัณฑ์ต่อปีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นด้วยครับ
อย่างไรก็ตาม Barra ก็บอกครับว่ากลยุทธ์ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่การที่จะทำให้ผลิตภัณฑๆ หนึ่งนั้นสามารถทำการวางขายเป็นระยะเวลานานได้ 2 – 3 ปีนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่การลดราคาเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ขายผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้ ด้วยเหตุนี้เองทาง Xiaomi จึงให้ความสำคัญในการอัพเดทซอฟต์แวร์, มีชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมและให้บริการทางด้านอื่นๆ กับผู้บริโภคยาวนานกว่าบริษัทอื่นๆ ใดในโลกนี้ครับ Barra อธิบายว่ายิ่ง Xiaomi มุ่งเน้นไปที่ผลงานของผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าไรนั่นก็ทำให้บริษัทสามารถที่จะทำการตัดค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็นลงไปได้ครับ
จริงๆ แล้วยังมีปัจจัยประกอบอื่นๆ อีกครับที่ทำให้ทาง Xiaomi สามารถที่จะทำการขายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่ต่ำเช่นการมีโรงงานหลักอยู่ในประเทศจีนซึ่งมีค่าแรงถูก หรือแม้แต่กระทั่งการให้บริการออนไลน์ทางด้านต่างๆ ที่บริษัททำ แต่เรื่องของการจัดการส่วนประกอบและห่วงโซ่อุปทานกับคู่ค้าถือเป็นปัจจัยหลักของทาง Xiaomi ที่ทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ในระดับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งครับ
ที่มา : techcrunch