ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้วยังจำได้ว่า USB Flash Drive หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ?แฟลชไดรฟ์? หรือ ?ทัมป์ไดรฟ์? นั้นมีราคาแพงมากเรียกว่า 128MB (หน่วยไม่ผิด) ราคาพันกว่าบาท แต่พอมาถึงปัจจุบัน แฟลชไดรฟ์มีราคาถูกลงอย่างมาก ความจุ 2GB นั้นแทบจะแจกกันฟรีๆ อยู่แล้ว ในขณะที่คุณสามารถหาซื้อความจุ 4GB ได้ด้วยเงินไม่ถึงร้อยบาท!!!
อย่างที่หลายๆ คนทราบกันว่าหน่วยความจำแบบแฟลชนั้นมีอยู่หลายเกรด (ดูพวก SD Card เป็นตัวอย่าง) หลายระดับราคา แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้แคร์แต่อย่างใด รู้เพียงแค่ว่ามันสามารถเก็บข้อมูลในเราได้ก็เพียงพออยู่แล้ว ทุกอย่างจึงมุ่งไปที่ความจุเป็นหลัก และนั่นก็เป็นสิ่งที่เราจะมาดูกันในวันนี้ว่าแฟลชไดรฟ์ถูกๆ ที่อยู่ในท้องตลาดนั้นมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรบ้าง
ความจุ 8GB ราคาไม่เกิน 150 บาท
โจทย์ของเรามุ่งไปที่แฟลชไดรฟ์แบบทั่วไปที่แช่งขันกันอย่างดุเดือด คือเป็นแฟลชไดรฟ์ที่เน้นความจุเป็นหลัก และไม่ได้มีฟังก์ชันพิเศษอะไรมากมายนัก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานทั่วไป ซื้อแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ต้องการเพื่อนำไปเก็บข้อมูลจริงๆ โดยความจุที่เราตั้งเป็นเงื่อนไขคือ 8GB ซึ่งน่าจะเหมาะ เพราะราคานั้นเหลือเพียงร้อยกว่าบาทเท่านั้น เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
ADATA DashDrive C008
เริ่มต้นกันที่ตัวแรกกับ ADATA ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่โด่งดังในเรื่องของหน่วยความจำทั้งส่วนของแฟลชไดรฟ์ ฮาร์ดดิสก์พกพา รวมไปถึงแรมด้วย โดย DashDrive นี้เป็นรุ่นธรรมดา ออกมาแบบไดรฟ์มาเป็นแบบสไลด์เข้า-ออก เพื่อเก็บหัวต่อ USB เอาไว้ซึ่งมีประโยชน์มากทีเดียว
ด้านสเปกนั้นมีความจุ 8GB โดยไม่ได้ระบุความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูล บอกแค่รองรับ USB 2.0 และระบบปฏิบัติการต่างๆ ครบทุกตัว นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ที่คุณสามารถไปดาวน์โหลดเพิ่มได้อีกคือ OStoGo สำหรับแปลงแผ่นติดตั้งวินโดวส์ใส่แฟลชไดรฟ์ไปใช้เก๋ๆ ได้สะดวกดี (ใช้ฟรีแวร์ตัวอื่นก็ได้) และอีกตัวหนึ่งคือ USBtoGo เป็นซอฟต์แวร์สำหรับ Sync ข้อมูลต่างๆ โดยทั้งสองตัวต้องดาวน์โหลดเพิ่มเอง สนนราคาค่าตัว 140 บาทเท่านั้นเอง
Apacer AH326
อีกหนึ่งแบรนด์ที่มีสินค้าด้านหน่วยความจำออกมามากมายไม่แพ้กัน และได้รับความนิยมจากผู้ใช้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลุ่มของแฟลชไดรฟ์ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ โดย AH326 นั้นจะเป็นแฟลชไดรฟ์ความจุ 8GB เช่นเดียวกัน ใช้การสไลด์เข้าออกเช่นเดียวกัน รูปแบบคล้ายๆ ของ ADATA เลย
ส่วนสเปกนั้นจะรองรับ USB 2.0 และระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน และไม่มีการระบุความเร็วในการอ่าน-เขียนมาให้ด้วย ส่วนซอฟต์แวร์นั้นจะมี ACE หรือ Apacer Compression Explorer ซึ่งเป็นยูทิลิตี้ที่ใช้จัดการไฟล์ในแฟลชไดรฟ์ โดยสามารถเข้ารหัสไฟล์ที่เป็นความลับ หรือบีบอัดไฟล์เพื่อให้แฟลชไดรฟ์มีความจุในการเก็บข้อมูลได้มากขึ้นมาให้ สนนราคาอยู่ที่ 145 บาท ? แพงขึ้นนิดนึง
Kingston DataTraveler 101 G2
ชื่อนี้ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเป็นแบรด์ชื่อดังด้านหน่วยความจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแรมหรือแฟลชไดรฟ์ (ของปลอมก็เยอะตามไปด้วย) โดย DataTraveler 101 G2 เป็นแฟลชไดรฟ์ระดับเบสิค คือเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปจริงๆ มีการออกแบบให้ฝาสามารถหมุนเปิดเพื่อใช้งานได้ แต่ไม่มีตัวล็อกตำแหน่งฝา เวลาปิดฝาแล้วเก็บ ฝามักจะเลื่อนออกจากตำแหน่งที่ปิดหัว USB ทำให้ปกป้องอะไรไม่ค่อยได้เท่านั้น
สเปกนั้นเช่นเดียวกับแฟลชไดรฟ์ที่พูดมาแล้วคือความจุ 8GB รองรับ USB 2.0 และระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้ถ้วนหน้า ส่วนซอฟต์แวร์นั้นไม่มีอะไรติดมาให้เลย แต่สนนราคา 150 บาท แพงที่สุดในบรรดาแฟลชไดรฟ์ที่เรานำมาทดสอบเลย
Sandisk Cruze Blade
ตัวสุดท้ายที่เราเลือกมาคือ Sandisk ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ทำแรม แต่ทำพวกการ์ดแฟลชเมมโมรี่ต่างๆ มากมาย และได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ดี โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเร็วทุกรุ่นเพราะมันก็ต้องดูเกรด ดูราคาด้วย และตัว Cruze Blade นี้ก็เป็นแฟลชไดรฟ์รุ่นธรรมดาที่เน้นการออกแบบให้มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด เล็กที่สุดในรุ่นที่เรานำมาทดสอบ และเรียบง่ายเพราะไม่มีฝาปิด ตัวเรือนทำจากพลาสติกรวมถึงหัว USB ด้วย ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่น แต่ก็แข็งแรงดีไม่มีปัญหา
สเปกนั้นเหมือนกับทุกแบรนด์ โดยยังคงไม่ระบุความเร็วในการอ่าน-เขียนเหมือนเดิม แต่จะมี SanDisk SecureAccess เป็นซอฟต์แวร์เข้ารหัสที่ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลในตัวไดรฟ์มาให้ด้วย สนนราคาอยู่ที่ 140 บาท
ข้อสังเกตุคือแฟลชไดรฟ์หรือการ์ดหน่วยความจำที่ไม่ใช่รุ่นที่ออกแบบให้ประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ จะไม่มีการระบุความเร็วในการอ่าน-เขียนเอาไว้ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจและเปรียบเทียบกันได้ยากทั้งการเปรียบเทียบระหว่างแบรนด์เอง และการเปรียบเทียบระหว่างรุ่นในแบรนด์เดียวกันด้วย
ทดสอบประสิทธิภาพ
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานนั้นเราจะทำบนคอมพิวเตอร์ผ่านทางพอร์ต USB 3.0 เนื่องจากเครื่องที่ใช้เป็น USB 3.0 ทุกพอร์ต โดยตัวไดรฟ์ทุกจะรองรับเพียงแค่ USB 2.0 เท่ากันหมดนะครับ
HD Tune?เป็นการทดสอบข้อมูลทั่วไปของตัวไดรฟ์ โดยสามารถบอกได้ถึงความเร็วในการทำงานได้ชัดเจนทีเดียว
ADATA DashDrive C008
Apacer AH326
Kingston DataTraveler 101 G2
Sandisk Cruze Blade
ผลทดสอบในภาพรวม
ในการทดสอบนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าประสิทธิภาพจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ADATA และ Apecer จะมีประสิทธิภาพใกล้ๆ กันอยู่ราวๆ 17.x MB/s ในขณะที่ Kingston และ Sandisk นั้นจะเกาะกลุ่มอยู่ที่ 21.5 MB/s ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทั้งสองตัวมีประสิทธิภาพในการถ่ายโอนข้อมูลที่สูงกว่า?ส่วนของ Access Time นั้น แม้ว่าตัวกราฟจะดูต่างกันมาก แต่จริงๆ แทบจะไม่เห็นผลแตกต่างกันเลยเพราะใกล้เคียงกันมาก
SiSoft Sandra 2014
เป็นการทดสอบความเร็วในการอ่านเขียนรูปแบบต่างๆ โดยเราใช้การทดสอบแบบ File System Bandwidth ที่แสดงความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลของตัวไดรฟ์ค่อนข้างชัดเจน
Sandisk ยังคงโชว์ผลงานได้ดีอยู่ในการทดสอบ SiSoft Sandra นี้ ในขณะที่ Apacer เองก็ตีตื่นขึ้นมาเทียบชั้นได้อย่างไม่ยาก ปล่อยให้ Kingstion ตกไปอยู่ที่สามในแบบเฉือนไปไม่มาก ส่วน ADATA ยังคงเสมอต้น เสมอปลาย
จุดสำคัญคงอยู่ที่เรื่องของความเร็วในการเขียนข้อมูล ซึ่งงานนี้โดยเฉลี่ยแล้วทำออกมาได้ใกล้ๆ กัน จะมี Sandisk ที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด และตามด้วย Apacer ในขณะที่ Kingston และ ADATA นั้นพอๆ กันอยู่ แต่เมื่อเทียบอันตราส่วนระหว่างความเร็วในการอ่านกับเขียนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าแฟลชไดรฟ์เหล่านี้มีความเร็วในการเขียนข้อมูลที่ต่ำมากพอๆ กันหมดเลย
TeraCopy
การทดสอบถ่ายโอนข้อมูลจริงๆ โดยใช้ไฟล์ข้อมูลทดสอบขนาด 1GB จำนวน 3 ไฟล์ และใช้โปรแกรม TeraCopy ในการจับเวลา ทั้งการถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องสู่แฟลชไดรฟ์และการถ่ายโอนจากแฟลชไดรฟ์กลับมาที่เครื่อง
ในการทดสอบทั้งหมด ผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับส่วนนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นการทดสอบจากการใช้งานจริงๆ คือการก็อปปี้ไฟล์จริง แล้วจับเวลา ซึ่งผลที่ได้นั้นค่อนข้างเป็นไปตามการทดสอบของ HD Tune แต่แรก เราจะเห็น 2 กลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนระหว่างคู่ Sandisk และ Kingston กับคู่ของ ADATA และ Apacer?ในการใช้งานถ่ายโอนข้อมูลจริงจะเห็นว่า Sandisk ทำผลงานได้ดีกว่า (ตัวเลขเวลาน้อยยิ่งดี) โดยเฉพาะในส่วนของ PC >> Drive หรือการเขียนข้อมูลนั่นเอง
บทสรุป
แน่นอนว่าผู้ชนะในครั้งนี้คือ Sandisk อย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องผลการทดสอบโดยรวม นั้นดีกว่าตัวอื่นๆ อยู่พอสมควร ในขณะที่รองลงมาตกเป็นของ Kingston ที่อยู่ในกลุ่มใกล้ๆ กัน แม้ว่าบางการทดสอบจะแอบหลุดไปเยอะ ส่วน Apacer นั้นโดดเด่นบางการทดสอบ แต่โดยภาพรวมแล้วยังสู้ Kingston ไม่ได้ และสุดท้ายคือ ADATA ที่ชัดเจนว่าได้ผลการทดสอบต่ำสุด
เมื่อนำเรื่องราคาเข้ามาพิจารณาประกอบแล้วจะพบว่า Sandisk ที่มีราคาถูกที่สุดก็ยังทำให้คุ้มค่ามากขึ้นไปอีก ในขณะที่ Kingston ที่แพงสุดนั้นก็ทำผลงานได้ดี แต่มันก็แค่ 10 บาทเองนะครับ จะว่าไปประสิทธิภาพในการใช้งานจริง หากต้องการใช้งานทั่วไปก็คงไม่ต่างกัน ซึ่งการใช้งานที่จะต่างกันแบบรู้สึกได้คงเป็นการถ่ายโอนไฟล์ขนาดใหญ่ลงไปบนแฟลชไดรฟ์มากกว่าเพราะให้ประสิทธิภาพต่างกันครึ่งต่อครึ่งเลย แต่ในการใช้งานจริงก็คงไม่ได้ทำบ่อยนัก
สิ่งที่หนึ่งที่อยากให้สังเกตุสำหรับแฟลชไดรฟ์เหล่านี้คือการออกแบบมาให้เน้นใช้งานทั่วไปที่หนักไปทางด้านอ่านข้อมูล ดังนั้นความเร็วในการอ่านจึงสูง ปกปิดความเร็วในการเขียนข้อมูลที่ต่ำเอาไว้โดยที่ผู้ใช้แทบไม่รู้สึกหากจะเอามาใช้แค่เซฟไฟล์เอกสารขนาดไม่กี่เมกะไบต์ แต่ถ้าต้องถ่ายโอนไฟล์ขนาดใหญ่จริงๆ ก็คงต้องเลือกรุ่นที่ให้ความเร็วสูงๆ มาใช้กันล่ะครับ
by.?Toffee Latte