ลำโพง หรือ Speaker?นั้น เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญ ซึ่งจะมอบความบันเทิงประเภทเสียงให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลง รับชมภาพยนตร์ หรือเล่นเกมนั้น จะต้องมีอุปกรณ์ชนิดนี้อยู่ด้วยเสมอ แต่ลำโพงก็มีหลายรุ่นมากมาย แล้วจะเลือกอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบให้ครับ
รู้จักกับลำโพง – ลำโพงมีกี่ชนิด
สำหรับลำโพงที่ใช้ต่อกับคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปนั้น จะแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ 4 ชนิด ดังนี้
1. ลำโพงมัลติมีเดียสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไป : เป็นลำโพงธรรมดาที่มีแค่ลำโพงซ้าย-ขวา 2 ข้าง ซึ่งจะมีแจ๊คเสียบสีเขียวแบบ 3.5 ไว้เสียบเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ใช้งานได้ทันที ซึ่งในรุ่นที่ดีๆ หน่อยจะมีเครื่องขยายเสียง (Amplifier) ในตัว ซึ่งจะให้เสียงที่ดีกว่าแบบปกติ เพราะซาวด์การ์ดจะส่งสัญญาณที่ยังไม่ถูกขยายมา ให้ตัวลำโพงทำหน้าที่นี้แทน จึงไม่ถูกเสียงรบกวนจากอุปกรณ์อื่นๆ (Noise) ภายใน PC ติดมาด้วย
2. ชุดลำโพงพร้อมซับวูฟเฟอร์ : เป็นลำโพงแบบ 3 จุด หรือที่เรียกว่า 2.1 channel โดยจะแบ่งเป็น ลำโพงแยกซ้าย-ขวา 2 ข้าง และลำโพงเสียงทุ้ม หรือ ซับวูฟเฟอร์ (Subwoofer) เพิ่มอีก 1 ตัว เพิ่มเสียงทุ้มให้กระหึ่มขึ้น โดยคนที่ชอบเล่นเกม หรือหนังแอคชั่น คงจะคุ้นเคยดีกับเสียงระเบิดบรึ้มที่ดังสนั่นหวั่นไหว ตัวซับวูฟเฟอร์ก็จะช่วยขึ้นเน้นในเสียงเหล่านี้ โดยชุดลำโพงชนิดนี้ กำลังเป็นที่นิยม เพราะราคาถูก เสียงดี ใช้เนื้อที่จัดวางไม่มาก เหมาะสำหรับงานทุกประเภท เช่น ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ เล่นเกม ฯลฯ
3. ชุดลำโพงมัลติมีเดียแบบดิจิตอล : เป็นชุดลำโพงที่รับสัญญาณเสียงแบบดิจิตอลจากพอร์ต USB มาขยายเสียงที่ตัวของลำโพงโดยตรง ซึ่งข้อดีของลำโพงชนิดนี้ นอกจากจะได้สใญญาณเสียงที่ปราศจากเสียงรบกวนใดๆ แล้ว ยังสามารถปรับสัญญาณเสียงจากซอร์ฟแวร์ของตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง เช่น เสียงดัง-เบา, แหลม-ทุ้ม และแยกแชนเนลหรือถอดรหัสต่างๆ อย่าง Dolby ที่ตัวลำโพงเองได้เลยเช่นกัน
4. ชุดลำโพงระบบเสียงรอบทิศทาง : เป็นชุดลำโพงที่ประกอบด้วยลำโพง 5-8 จุด เช่น ลำโพงระบบ 4.1 CH, 5.1 CH, 6.1 CH และ 7.1 CHประกอบด้วยตัวลำโพงที่วางรอบทิศทาง ทั้งด้านหน้าและข้างหลังของผู้รับฟัง และซับวูฟเฟอร์อีก 1 จุด สำหรับลำโพงชนิดนี้ก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทอีกนั้นคือลำโพงแบบมีตัวถอดรหัส กับ ลำโพงแบบไม่มีตัวถอดรหัส ซึ่งลำโพงแบบมีตัวถอดรหัสจะรองรับสัญญาณเสียงได้หลายแบบกว่า ให้การแยกสัญญาณเสียงที่ดีกว่า เหมาะที่จะทำโฮมเธียเตอร์ขนาดย่อมๆ ไว้ที่บ้านได้เลยทีเดียว
การเลือกซื้อลำโพง
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกซื้อลำโพงนั้น มีดังต่อไปนี้
1. รูปแบบการใช้งาน : หากแค่นำไปฟังเพลงทั่วไปยามพิมพ์งาน ก็อาจจะเลือกใช้แค่ลำโพงมัลติมีเดียทั่วๆ ไป ที่ใช้งานง่าย ราคาถูก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์ เล่นเกม และฟังเพลงคุณภาพแบบ Lostless แล้วก็อาจจะเลือกเป็นลำโพงคุณภาพดีขึ้นมาอย่าง ชุดลำโพงแบบซับวูฟเฟอร์ หรือชุดลำโพงระบบเสียงรอบทิศทาง
2. สถานที่จัดวาง : หากบ้านเรามีเนื้อที่ไม่มาก หรืออยู่หอพัก การเลือกลำโพงระบบเสียงรอบทิศทางก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก แถมการเดินสายเพื่อวางลำโพงในแต่ละจุดอาจเกิดอุปสรรคจากสิ่งของที่กีดขวาง และลำโพงอาจอยู่ชิดกับผนังหรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม นอกจากจะทำให้เสียงไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว ยังบั่นทอนอายุขัยของลำโพงลงอีกด้วย
3. งบประมาณ : แน่นอนที่สุดกับข้อนี้ครับ สำหรับลำโพงชุดที่ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า ย่อมมีราคาแพงกว่าลำโพงมัลติมีเดียทั่วๆ ไป ก็ควรดูงบในกระเป๋า และเลือกซื้อลำโพงโดยไม่ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อนครับ
4. ระแวกใกล้เคียง : เสียงที่ดังเกินไปอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านระแวกใกล้เคียง ยิ่งถ้าอยู่ในหอพักแล้วอาจจะถึงขั้นเชิญออกจากที่อยู่อาศัยได้
ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับลำโพง
ระบบเสียง Mono : ระบบเสียงแบบ 1 Channel เสียงที่ออกมาจะไม่มีมิติ ไม่มีมโนภาพ คือทุกเสียงราบเรียบเท่ากันหมด ไม่สามารถระบุต้นตอของเสียงนั้นว่ามาจากที่ใด
ระบบเสียง Stereo : ระบบเสียงแบบ 2 Channel มักมาในรูปของลำโพงแยกซ้าย-ขวา ข้อดีของ Stereo คือจะมีมิติของเสียง เช่น เราอาจจะได้ยินเสียงของนักร้องอยู่ตรงกลาง เสียงกลองอยู่ซ้าย เสียงกีตาร์อยู่ขวา ทำให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น
ระบบเสียง Dolby : ระบบเสียงที่มีที่มาจากบริษัท DOLBY LABORATORIES Inc. โดยมีการพัฒนาให้เสียงที่ออกมามีความคมชัด ไร้เสียงรบกวน และมีมิติจากระบบ Surround รอบทิศทาง ตรงตามต้นฉบับ เป็นมาตรฐานเสียงที่ใช้กันทั่วไปตามโรงภาพยนตร์
กำลังขับ หรือกำลังขยายของลำโพง : คือความสามารถของลำโพงว่าสามารถสร้างเสียงได้สูงสุดเท่าไหร่ โดยมักใช้ค่ามาตรฐานระบบ RMS ในการคำนวน มีหน่วยเป็นวัตต์ (Watt) โดยยิ่งมีวัตต์มาก ก็จะให้เสียงที่ดังกระหึ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับผู้ที่กำลังเลือกซื้อลำโพงครับ ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจ ก็ควรที่จะให้พนักงานขายเปิดลองฟังดูเสียก่อน เพราะในแต่ละคนก็ชื่นชอบในน้ำเสียงที่แตกต่างกันออกไป บางคนชอบเสียงนุ่มๆ บางคนชอบเบสหนักๆ ก็เลือกสรรกันตามใจชอบครับ และเมื่อได้ลำโพงที่ถูกใจมาใช้งานแล้ว ก็ไม่ควรปรับเสียงให้ดังเกินไป เพื่อสุขภาพทางด้านการรับฟังของผู้ใช้งานนั่นเองครับ