หนึ่งในชื่อสายตระกูลเครื่องโน๊ตบุ๊คที่เรารู้จักกันมาช้านานเป็นอย่างดี นั่นก็คือ ThinkPad ที่ยังคงสืบสายลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าจะกำเนิดเกิดก่อมาตั้งแต่สมัย IBM จนทุกวันนี้ตกมาอยู่ในมือของ Lenovo แล้วก็ตาม แต่มันก็ยังคงเป็นสายตระกูลเครื่องสุดทรหดสำหรับมืออาชีพเหมือนเฉกเช่นวันวานไม่เปลี่ยนแปร
วันนี้เราจะนำเอาแนวความคิดต่างๆในการออกแบบตัวเครื่องสำหรับ ThinkPad ที่ล่าสุดนี้มีคอนเซ็ปท์แบบ Rethinkink หรือการคิดใหม่ให้แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น ข้อมูลทั้งหมดบอกกล่าวแนวความคิดอันละเมียดละเอียดอ่อนของขั้นตอนการผลิตเครื่องตระกูลนี้ให้เราได้รู้กัน และเครื่องที่เราจะพูดถึงเป็นหลัก ที่ใช้หลักการออกแบบคิดใหม่นี้ ก็คือ ThinkPad T431s Ultrabook ที่ตัวเครื่องยังคงความเป็น ThinkPad อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่องสีดำด้านสุดขรึม จนอาจไม่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในเลย
แต่เมื่อมองลงไปที่รายละเอียดตัวเครื่องดีๆ จะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดูทันสมัยมากขึ้น เพราะ ThinkPad รุ่นก่อนๆนั้น มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้ากับผู้ใช้งานรุ่นใหม่เหมือนอย่างปัจจุบันเลย แต่มาถึงเครื่องรุ่นนี้ ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของเครื่องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นถอดเอาขอเกี่ยวล็อคปิดหน้าจอออกไป และขอบกันกระแทก ในขณะที่ด้านในก็ขจัดเอาปุ่มต่างๆที่ดูรกรุงรังออกไป ด้านแผงแทร็คแพ็ดก็มีขนาดกว้างและใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไฟส่องสว่างคีย์บอร์ดที่ยื่นออกมาที่ด้านบนตัวเครื่อง ก็ถูกแทนทีด้วยคีย์บอร์ดแบบ backlit ที่มีไฟอยู่ใต้ปุ่มเลย ส่วนหน้าจอ LCD ก็มีการใช้แบบขอบบางที่สุดที่เคยเห็นมาในซีรีส์ T นี้เลย นี่อาจะเป็นรสนิยมใหม่สำหรับเครื่องโน๊ตบุ๊คของ Lenovo ที่กำลังจะใช้ใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายอย่างมาก สำหรับเครื่องโน๊ตบุ๊คที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมายาวนาน และมีแฟนที่ภักดีต่อรูปลักษณ์การออกแบบที่ว่านี้พอสมควร แต่ยังไงก็ตาม สินค้าก็คงต้องมีการพัฒนาแต่มันต้องมาในความพอดี เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เปลี่ยนแปลงอะไรจากเดิมมากจนเกินไป นั่นก็เท่ากับว่าอาจสูญเสียลูกค้ากลุ่มที่ชื่นชอบในความเป็น ThinkPad ไป แต่ถ้าเปลี่ยนน้อยเกินไป นั่นก็อาจจะกลายเป็นเครื่องที่มีเสนห์และไม่มีใครสนใจหรือต้องการ
และไม่ใช่แค่ Lenovo จะทำการคิดเอาเองทั้งหมด ถึงความเหมาะสมในการออกแบบตัวเครื่องใหม่นี้ แต่ได้มีการเก็บข้อมูลโดยส่งเครื่องต้นแบบออกไปให้กับผู้ใช้งานจริงทั่วโลก หลากหลายประเทศและวัฒนธรรม จากนั้นก็เก็บกระแสตอบรับจากผู้ใช้งานรายต่างๆกลับมา ซึ่งกินระยะเวลาทั้งหมดถึงกว่า 18 เดือน แล้วนำเอามาเป็นข้อมูลในการปรับแต่งแก้ไขตัวเครื่องให้ลงตัวที่สุด ก่อนผลิตตัวจริงออกมา
แนวทางและแผนการพัฒนาจากฝ่ายวิจัยของ Lenovo นั้น บอกว่าเครื่องสายตระกูล ThinkPad นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการจับนำเอามาปรับแต่งใหม่ ด้วยแนวความคิดที่คำนึงถึงการใช้จริงและความต้องการต่างๆของผู้ใช้งานในแต่ละกลุ่ม โดยต้องทำความเข้าใจถึงผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน และอุปนิสัยในการใช้งานด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก ดังนั้นจึงสำคัญที่จะต้องทำการเก็บข้อมูลลักษณะการใช้งานนี้ กับกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย ในหลายประเทศ อเมริกา, จีน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อินเดีย, เม็กซิโก, รัสเซีย, บราซิล และญี่ปุ่น และไม่ใช่แค่การจ้างหาผู้มาทดลองใช้งาน แล้วกรอกแบบสอบถาม แต่ต้องเป็นการเห็นการใช้งานจริงๆของผู้ใช้งานเหล่านั้นเลย นอกจากนั้นกลุ่มที่มาทำการใช้งานเครื่องนี้ ก็จะมีผู้ที่เป็นแฟนของ ThinkPad อยู่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะจริงๆแล้ว การที่ให้กลุ่มที่ไม่ได้เป็นแฟนใช้งานแล้วรู้สึกดีหรือชื่นชอบ นั่นจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ใครก็ตาม จะตัดสินใจเลือกที่จะใช้เครื่อง ThinkPad เป็นเครื่องที่ใช้งานหลักของเค้า
นอกจากนั้น เรื่องรูปลักษณ์ของตัวเครื่องก็เป็นอีกสิ่งที่ Lenovo สนใจ และได้ทำการเก็บข้อมูล อย่างเช่นสีของเครื่อง ที่ก็มีแนวความคิดจะทำเป็นสีอื่น มากกว่าที่จะเป็นแค่สีดำอย่างเดียว แต่คำตอบที่ได้ คือชื่นชอบสีสดสวยของมัน แต่ไม่ยักจะอยากที่มีเครื่องสีแบบนั้นเอาไว้ใช้งานเป็นของตัวเอง ซึ่งเกิดกับผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่ ส่วนด้านวัสดุ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิดถึง เพราะผู้คนส่วนใหญ่นั้น ชอบอะไรที่สวยหรู ดูดีมีสไตล์ อย่างเช่นการทำฝาหลังเป็นสีดำเงา แต่กับมืออาชีพที่ใช้งานเครื่องในการทำงานจริงนั้น ชอบอะไรที่ดูมีคลาสอย่างเช่นสีดำด้าน ที่พร้อมๆกับปกป้องการเป็นรอยนิ้วมือบนตัวเครื่องไปด้วยมากกว่า
เทคโนโลยียังคงพัฒนาเสมอ และมากกว่าที่เคยเป็น ผู้ผลิตใหญ่ๆหลายราย พยายามทำวิจัยกับผู้ใช้งาน ถึงลักษณะการใช้งานจริงๆมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไป เน้นถึงการใช้งานจริงที่มากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นฟีเจอร์เรียกความสนใจ แต่สุดท้ายกลับใช้งานจริงได้ไม่ดีเท่าที่ควร และนี่คือแนวที่ Lenovo กำลังใช้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยเฉพาะกับตระกูลเก่าแก่อย่าง ThinkPad
ที่มา: engadget