ความฝันของใครหลายคน ที่อยากจะสามารถชาร์จไฟเติมพลังงานให้กับมือถือสมาร์ทโฟนได้ แบบไร้สาย โดยที่ไม่ต้องค่อยพึ่งพาหาเต้าเสียบปลั๊กไฟให้วุ่นวายนั้น แน่นอนว่าใครๆก็อยากให้มันเป็นความจริงโดยไว แม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีแท่นชาร์จแบบที่ไม่ต้องเสียบเข้ากับตัวเครื่อง เพียงแค่วางเครื่องเอาไว้บนแท่นเท่านั้น แต่มันก็ไม่ได้แตกต่างกับการเอาเครื่องไปเสียบแท่นแบบเดิมสักเท่าไหร่นัก ซึ่งสำหรับในส่วนของอุปกรณ์อย่างโน๊ตบุ๊คยังไม่มีการชาร์จไฟแบบไร้สายออกมานะครับ แต่เชื่อได้ว่าในอนาคตนั้นมีมาให้เราได้ใช้งานอย่างแน่นอน
อย่างที่เราได้เคยรายงานกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าเทคโนโลยีการชาร์จพลังงานไฟฟ้านั้น จริงๆสามารถทำได้แล้ว แต่ว่ายังคงไม่สามารถส่งพลังงานได้แรงพอที่จะทำการชาร์จให้รวดเร็วเท่ากับที่เราใช้งานแบบสายอยู่ในปัจจุบัน และก็ยังมีในเรื่องของระยะห่างระหว่างตัวจ่ายและตัวรับที่ยังทำระยะได้ไม่มากนัก ซึ่งก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม จนสามารถเทียบเท่ากับการชาร์จแบบสายปกติได้ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เสร็จสมบูรณ์ในอนาคต
ส่วนใครที่สงสัยว่าหลักการทำงานของการชาร์จแบบไร้สายนั้น ทำได้อย่างไร จริงๆแล้วก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย หลักการก็คือที่อุปกรณ์สำหรับจ่ายไฟและตัวรับนั้น จะมีขดลวดนำไฟฟ้าอยู่ทั้งสองฝั่ง เมื่ออุปกรณ์ภาคจ่ายนั่นเริ่มทำการส่งกระแสไฟออกไป ก็จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบคลื่นพลังงานไฟฟ้าเหมือนที่เราใช้กันอยู่ในการรับส่งข้อมูลไร้สายต่างๆในปัจจุบัน และเมื่อภาครับได้รับคลื่นดังกล่าวที่ว่านี้ ก็จะแปลงไปเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับตัวเครื่องนั่นเอง หลายคนสงสัยว่า แล้วเทคโนโลยีอย่างชิป near field communication หรือ NFC หรืออาจจะเป็นเทคโนโลยีอย่าง WiFi ล่ะ สามารถนำเอามาใช้ในการชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้มั้ย คำตอบก็คือในทางทฤษฎีแล้วสามารถทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว และเมื่อตัวมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานในการชาร์จพลังไฟฟ้า นั่นก็จะมีเรื่องของกำลังไฟ และระยะทางที่สามารถรับได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สิ่งที่ต้องรู้เอาไว้สำหรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟแบบไร้สายนี้ก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพลังงานไป มันก็จะมีสูญเสียพลังงานระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เป็นการเสียพลังงานไปเปล่าๆ แต่มันยังส่งผลถึงระยะเวลาในการชาร์จไฟที่ต้องใช้เวลามากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามคงต้องดูกันว่าอุปกรณ์อย่างโน๊ตบุ๊คนั้น จะมีการใช้เทคโนโลยีชาร์จไฟไร้สายเมื่อไหร่กัน ?
ที่มา: ExtremeTech