หลายๆคนคงจะเคยได้ยินคำว่า เฟรมเรต หรือที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Framerate กันมาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนก็เอาไปใช้บอกว่าเกม xxx เล่นบนเครื่อง yyy ได้เฟรมเรตประมาณ zz แน่ะ ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจก็จะงงครับ ว่ามันบ่งบอกถึงความแรงได้อย่างไร ประกอบกับมีเพื่อนสมาชิก N4G เราสงสัยกันอีกด้วยว่ามันหมายถึงอะไร และใช้ทำอะไรได้ ดังนั้นบทความนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อไขข้อสงสัยนั่นเองครับ เราไปเริ่มดูกันเลยดีกว่า
เฟรมเรตคืออะไร ?
ก่อนอื่นต้องขอยกคำภาษาอังกฤษมานะครับ นั่นคือ Framerate ตัวของคำนี้เมื่อแยกออกมาแล้วแปลทีละคำก็จะได้ความหมายว่า อัตราความเร็วของเฟรมภาพ ซึ่งเฟรมภาพก็คือภาพภาพหนึ่งครับ เพราะการเคลื่อนไหวของวิดีโอหรือวัตถุที่เคลื่อนไหวมันก็เกิดมาจากภาพหลายๆภาพมาเรียงซ้อนต่อกันนั่นเอง ถ้านึกไม่ออกลองดูในคลิปด้านล่างนี้ครับ
ก็จะเห็นได้ว่าการที่จะเกิดภาพเคลื่อนไหว ก็ต้องมาจากภาพนิ่ง ซึ่งภาพแต่ละภาพก็คือเฟรม ส่วนคำว่า เรต นั้นก็แปลว่าอัตรา และถ้าสังเกตในวิดีโอก็จะมีคำว่า fps อยู่ คำนี้ก็น่อมาจาก Frame per second แปลเป็นไทยก็คือจำนวนเฟรมต่อวินาที ซึ่งก็คือหน่วยของเฟรมเรตนั่นเอง
ซึ่งถ้าดูดีๆจะเห็นความสัมพันธ์อย่างหนึ่งคือ ยิ่งเฟรมเรตมากการเคลื่อนไหวก็ยิ่งไหลลื่นขึ้น แต่ถ้าเฟรมเรตน้อยการเคลื่อนไหวก็จะดูข้ามๆ ดูแล้วกระตุก
สาเหตุมันเกิดจากอะไรล่ะ ?
ก็มาจากหน่วยของเฟรมเรตนั่นเองครับ ?จำนวนเฟรมต่อวินาที? ยิ่งในหนึ่งวินาทียิ่งมีภาพมาก ก็จะยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวดูไหลลื่น เพราะการที่มีจำนวนภาพใน 1 วินาทีมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สามารถแสดงความละเอียดในการเคลื่อนที่จากจุดต่อจุดของแต่ละตำแหน่งได้มากขึ้น การเคลื่อนไหวจึงดูไหลลื่นไม่สะดุดตาครับ กลับกันถ้าเฟรมเรตน้อยๆ แล้วมีความจำเป็นที่ต้องแสดงผลภาพเคลื่อนไหว ก็แน่นอนที่จะต้องใช้ระยะเวลามากกว่ากรณีที่เฟรมเรตสสูงกว่า ตัวอย่างเช่น
ถ้าภาพเคลื่อนไหวที่จะแสดงผลมีจำนวน 10 เฟรม แล้วมีคอมที่แสดงผลได้ที่เฟรมเรตต่างกันดังนี้
- เครื่องแรก แสดงผลได้ 5 fps
- เครื่องที่สองแสดงผลได้ 2 fps
แน่นอนว่าเครื่องแรกจะใช้เวลาแค่ 2 วินาทีเท่านั้นก็สามารถแสดงได้จนจบแล้ว แต่ในเครื่องที่สองกลับต้องใช้เวลาถึง 5 วินาทีจึงจะแสดงได้ครับ ดังในรูปด้านล่างนี้ ที่ฝั่งซ้ายใช้เวลาแค่ 2 วินาที (2 ช่อง) ก็แสดงได้ครบ 10 เฟรม (วินาทีละ 5 เฟรม) แต่ทางฝั่งขวาต้องใช้เวลานานกว่าอย่างเห็นได้ชัด (การแสดงนั้นเรียงจากภาพซ้ายไปขวา เมื่อครบ 1 วินาทีก็ลงมาที่ช่องถัดไปนะครับ)
คราวนี้ก็คงเห็นชัดเจนเลยนะครับว่าเฟรมเรตสูงกว่ามันดีกว่าอย่างไร
แล้วเกี่ยวอย่างไรกับความแรงของเครื่อง ?
เปรียบง่ายๆว่า ถ้าเราต้องการเงินเดือนมากขึ้น เราก็ต้องทำงานให้มากขึ้นใช่เหรือเปล่าครับ ก็เช่นกันกับคอม คือถ้าเรายิ่งต้องการจำนวนเฟรมเรตที่มากขึ้น คอมเราโดยเฉพาะการ์ดจอก็ต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของการ์ดจอก็ยิ่งต้องสูงขี้นด้วย เพื่อให้สามารถแสดงผลได้ในเฟรมเรตที่มากขึ้น ดังนั้น เฟรมเรตจึงเป็นตัวชี้ประสิทธิภาพของการ์ดจอได้ดีตัวหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งสามารถขยายความได้คือ
ถ้าลองไปดูในการ์ดจอรุ่นล่างๆ ที่มีพลังในการประมวลผลน้อย ก็จะทำให้ GPU สามารถสร้างภาพขึ้นมาได้ช้า ส่งผลให้เฟรมเรตนั้นน้อยไปด้วย แต่ถ้าการ์ดจอแรง สามารถประมวลผลได้ไว ก็จะทำให้สร้างภาพขึ้นมาได้ไว ส่งผลให้เฟรมเรตสูงและเพียงพอต่อการทำให้ภาพไหลลื่นครับ
เฟรมเรตเท่าไรถึงจะเรียกได้ว่าภาพไหลลื่น ?
อันนี้ตามจริงก็ขึ้นอยู่กับสายตาของแต่ละคนครับ แต่ถ้าจะยึดตามหลักการเลยมันก็มีอยู่นั่นคือ สายตาของคนเราจะมองเห็นภาพได้ที่ราวๆ 24 fps ถ้าเกินกว่านั้นก็จะมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น วิดีโอ (ส่วนทีวีในบ้านเราที่ใช้ระบบ PAL นั้น มีเฟรมเรตอยู่ที่ 25 fps นะครับ) ซึ่งในวงการเกมจะยึดที่ 30 fps จึงจะถือว่าภาพลื่นในระดับหนึ่ง ถ้ายิ่งสูงกว่านั้นก็ยิ่งดีครับ ส่วนในภาพยนตร์ที่มีความคมชัดระดับ HD (720p) จะใช้เฟรมเรตที่ 60 fps จึงจะถือว่าลื่น ทำให้สมัยนี้เรายึดเฟรมเรตที่ 60 fps กันเลยทีเดียว
ซึ่งทั้งนี้จอที่จะใช้แสดงผลก็ต้องรองรับที่ความละเอียดในการแสดงผลภาพต่อวินาทีด้วย ซึ่งในจอจะไม่ใช้หน่วยเป็น fps นะครับ แต่จะใช้เป็น Hz แทน แต่เราก็แทบไม่ต้องกังวลกันเลย เพราะจอโน๊ตบุ๊คในสมัยนี้รองรับการแสดงผลภาพเคลื่อนไหวที่มีเฟรมเรตสูงๆได้อย่างสบาย แต่ถ้าจะนำมาใช้เล่นเกมหรือหนัง 3D ละก็ จำเป็นจะต้องหาจอที่เป็นแบบ 120 Hz นะครับ เพราะมันต้องใช้การสร้างภาพขึ้นมาสองชุด ชุดละ 60 fps แสดงผลพร้อมกันแต่แยกชั้นในการแสดงผลอะไรประมาณนั้น
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเกมที่เราเล่นอยู่ตอนนั้นมีเฟรมเรตเท่าไร ?
อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ แต่ต้องใช้โปรแกรมเสริมนิดหน่อย นั่นคือโปรแกรม Fraps ที่เมื่อติดตั้งแล้ว มันจะทำการตรวจสอบและเปิดทำงานให้เองเมื่อเล่นเกม โดยเลขเฟรมเรตในขณะนั้นๆจะแสดงขึ้นมาเป็นเลขสีเหลืองตรงมุมจอ
ดังในภาพนี้ที่มีตัวเลขสีเหลืองๆอยู่ตรงมุมจอด้านซ้ายบนครับ นั่นคือเลขเฟรมเรตจากโปรแกรม Fraps นั่นเอง
ทำไมเฟรมเรตมันล็อกไว้ที่ 60 ตลอดล่ะ ?
ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากฟังก์ชัน V-sync ครับ ซึ่งมันเป็นฟังก์ชันในการรักษาความสม่ำเสมอในการแสดงผลภาพ โดยมันจะมีผลก็เมื่อกรณีที่จอและการ์ดจอมีความสามารถในการแสดงผลภาพที่ไม่เท่ากัน อาจะเกิดอาการภาพกระพริบหรือภาพแตก (มักจะเกิดกับการ์ดจอแรงๆ) เมื่อเปิดแล้วก็จะไปบังคับให้การ์ดจอแสดงผลภาพตามอัตราการแสดงผลได้ของจอ (Refresh rate) ส่งผลให้ภาพไม่กระพริบ
ซึ่งมันก็มีผลดีคือช่วยทำให้ภาพคงที่อยู่ตลอดเวลา แถมการ์ดจอไม่ทำงานหนักเกินไป แต่ถ้าอยากจะรีดพลังของการ์ดจอออกมาเต็มๆ ก็ต้องปิดเจ้า V-sync ไปนะครับ ส่วนใหญ่ก็จะมีให้ปรับอยู่ใน option ของแต่ละเกมอยู่แล้ว แต่ถ้าการ์ดจอใครไม่แรง แนะนำว่าปิดไปก็ได้ครับ
ทำยังไงให้เฟรมเรตมันเพิ่ม ตอนนี้มันต่ำเหลือเกิน
วิธีที่จะทำให้เฟรมเรตเพิ่มขึ้นมีสองหนทางหลักๆ นั่นคือ
- ใช้กำลังเงินซื้อการ์ดจอมาเปลี่ยนใหม่ให้แรงขึ้น : วิธีนี้คงใช้กับโน๊ตบุ๊คยากไปซักหน่อยครับ เพราะการ์ดจอในเครื่องส่วนใหญ่จะถอดเปลี่ยนไม่ได้
- ตั้งค่าความละเอียดในการแสดงผลของเกมให้ลดลง
ซึ่งเมื่อลดความละเอียดไป การประมวลผลต่อภาพก็จะลดลง ส่งผลผลิดภาพได้เร็วขึ้น เฟรมเรตก็สูงขึ้นด้วย ส่วนการปรับแต่งนั้น สามารถเข้าไปศึกษาได้จากบทความนี้ครับ
[Tip] ค่า Setting ต่าง ๆ ในเกมที่มีผลต่อภาพอย่างไรบ้าง ??
ก็จบไปละนะครับสำหรับเรื่องของเฟรมเรตที่มีผลต่อการเล่นเกม ก็หวังว่าเพื่อนๆคงจะได้รู้จักกับมันมากขึ้น ถ้าใครมีข้อสงสัยอย่างไรก็โพสสอบถามไว้ได้นะครับ เผื่อทางทีมงานจะเกิดไอเดีย ผุดเป็นบทความมาให้เพื่อนได้อ่านกันอีก ^^