การเล่นในส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้ด้อยสีสันไปกว่ากัน เพราะทั้งภารกิจของร้านค้า, การตามหาขนนก, เก็บธงแห่งบอร์เจีย, ตะลุยในเขาวงกตลึกลับ, เปิดแผนที่จากจุดสูง, ตามล่าความทรงจำแฝงของ Subject 16 ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ , การหาหีบสมบัติ จนถึงภารกิจเสริมของสมาคมอื่นๆ (ทหารรับจ้าง, ขุนโจร, นางโลม และชาวบ้าน) และนักประดิษฐ์สหายเก่า Leonardo DaVinci ก็จะประดังเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย และเชื่อว่าเวลาส่วนทั้งหลายจะหมดไปกับการไล่ตามเก็บภารกิจย่อยเหล่านี้จนครบถ้วนด้วยความสนุกสนาน หรือแม้แต่ระบบอินเตอร์เฟซของ Animus ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ และมาพร้อมกับโหมด Virtual Training ด้วยเงื่อนไขและเป้าหมายที่ท้าทายไม่เลว มันหลากหลายจนแทบจะกลายเป็นมหกรรมสวนสวรรค์หรรษาวาไรตี้ของ ACBH นั้น ช่างมากมายจนไม่มีช่วงเวลาใดที่น่าเบื่อหรือผู้เล่นถูกปล่อยให้เคว้งคว้างว่างเปล่าโดยไม่มีอะไรจะทำ
แต่ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่อาจทำให้ Ezio เผชิญหน้าแต่เพียงลำพัง เพราะหนึ่งในลูกเล่นสำคัญที่เสริมเข้ามาในภาคนี้ คือการเกณฑ์สมาชิก ?มือสังหารหน้าใหม่? อันเกิดจากการปลดปล่อยพื้นที่จากอำนาจของหอคอยให้เข้ามาอยู่ในสังกัด ซึ่งจะเรียกใช้ได้ทุกเวลาที่ต้องการและตอนที่ขีดพลังถึงระดับ นอกเหนือจากนั้นยังสามารถส่งพวกเขาให้ไปทำภารกิจในพื้นที่ต่างๆ เพื่อแลกกับเงินว่าจ้างและค่าประสบการณ์ที่ใช้ยกระดับของพวกเขาให้สูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสความสำเร็จต่อภารกิจและการรอดชีวิตจากคมดาบของกองทหารสันตะปาปาที่ทวีทั้งปริมาณ กลยุทธ์ และความแข็งแกร่งจากภาคที่แล้วขึ้นเป็นเท่าตัว และแม้ว่า Ezio จะมาพร้อมกับท่วงท่าและอาวุธใหม่ๆ แต่จากความยากที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การเลือกใช้มือสังหารเข้าต่อกรกับศัตรูในแต่ละครั้ง เป็นตัวเลือกที่จะช่วยลดความยุ่งยากพร้อมสร้างความหลากหลายสนุกสนานในแต่ละการปะทะได้เป็นอย่างดี (และการได้เห็นพวกเขาทะยานจากจุดสูงพร้อมเสียงวิหคกรีดอากาศก่อนพุ่งเข้าเสียบเป้าหมายในจุดตายก็เป็นอะไรที่อลังการและสะใจไม่น้อย)
อนึ่ง ถ้าจะมีองค์ประกอบไหนที่สมควรถูกกล่าวถึงใน ACBH แล้วนั้น คงหนีไม่พ้นโหมดผู้เล่นหลายคนที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงมาโดยตลอด โดยผู้เล่นจะได้รับบทสมาชิกของกลุ่มเทมพลาร์ที่เข้ารับการฝึกฝนด้วยเครื่อง Animus ผ่านการสวมความทรงจำของสุดยอดมือสังหารในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งในแต่ละรอบผู้เล่นจะได้รับเป้าหมาย และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าถึงเป้าหมายนั้นๆ ก่อนดับลมหายใจของพวกมันในตอนท้าย ในทางกลับกัน เขาก็จะตกอยู่ในสถานะ ?ถูกล่า? จากผู้เล่นอีกคนไปในคราวเดียวกัน และแต้มจากการเล่นในแต่ละครั้งที่แปรผันตามเทคนิคก็จะถูกสะสมเพื่อใช้ปลดล็อกความ สามารถเฉพาะของแต่ละตัวละครและความสามารถพิเศษอื่นๆ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรูปแบบการเล่นหลายคนที่ใหม่สด (มันเคยถูกใช้ใน The Ship เกมล่าฆ่าบนเรือสำราญ อันเป็น Mod ของ HL2 เมื่อหลายปีก่อน) แต่แต่เป็นสไตล์การนำเสนอที่เหมาะสม เพราะภายใต้สังเวียนแมวจับหนูเช่นนี้เอง ที่สถานะของผู้เล่นจะทวีความคลุมเคลือกลายเป็นความกดดัน จนนำไปสู่วินาทีสังหารชั่วเสี้ยววินาทีชี้ตายที่บรรดาเทคนิคการสังหารจากโหมดเล่นเดี่ยวจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งตัวละครที่เลือกใช้ได้อย่างอิสระ อีกทั้งโหมดอื่นๆ ที่มีเองก็น่าสนใจ แม้จะยังติดขัดเรื่องแผนที่ที่มีจำนวนไม่มาก แต่โหมดผู้เล่นหลายคนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็ยังเป็นส่วนเสริมที่สนุกมากๆ
แต่ภายใต้ความตระการตาทั้งหลาย ACBH ก็ยังมาพร้อมกับข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่อาจมองข้าม ทั้งในส่วนของกราฟิกที่แม้จะสวยงามอลังการ แต่ก็เริ่มมีริ้วรอยของอายุการใช้งานที่ชัดเจน หรือในส่วนของเนื้อหาหลักที่ค่อนข้างสั้น (สามารถเล่นจบได้ในเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น) และขาดความเข้มข้น เป็นเอกภาพต่อเนื่องที่เคยมีมาในภาคก่อนๆ จากการที่ตัวเกมอุดมด้วยภารกิจเสริมที่ถล่มเข้ามาไม่ขาดสาย ความยากระดับพระกาฬของภาคนี้ก็สมควรที่จะต้องกล่าวถึง เพราะในแต่ละฉาก (หรือ Synchronize Memory) จะมีเงื่อนไขพิเศษเพื่อการจบที่สมบูรณ์ และการตะลุยเพื่อบรรลุเงื่อนไขเหล่านั้น หลายครั้งมันโหดอำมหิตเกินขอบเขตของความสนุกและท้าทาย และด้วยความยากที่แม้แต่มือฉมังอาจจะกระอักเลือดจนตายนี้เองที่ทำให้ภาคนี้ไม่เหมาะสำหรับมือใหม่ของซีรีส์เท่าใดนัก
เหนือสิ่งอื่นใด โหมดผู้เล่นหลายคน แม้จะสร้างสรรค์และเล่นได้สนุก แต่การเลือกใช้วิธีเชื่อมต่อผู้เล่นแบบ peer2peer ก็ยังคงขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ ทั้งการเข้าร่วมเล่นที่ยากเหลือจะรับ การถูกถีบออกจากเกมโดยกะทันหัน และอาการกระตุกที่ก่อกวนช่วงเวลาความสนุกเสียจนราบ ส่วนที่เหลือก็เป็นบั๊กของพฤติกรรมของ AI ที่บกพร่องเล็กน้อยจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์ไปแล้ว
สุดท้าย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกสิ่งที่ปรากฏในเกมนี้คือผลงานที่ได้รับการขัดเกลาใส่ใจเพื่อเป้าหมายอันคือความสนุกระดับสูงสุดให้เหลือล้ำยิ่งกว่าภาคก่อนหน้า มันเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย แก้ไขส่วนที่เสีย ตอกย้ำข้อดีดั้งเดิม และเพิ่มองค์ประกอบใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม ผสมจนได้รสที่กลมกล่อม แต่จากข้อเสียจุกจิกประปราย และความเข้มข้นของเนื้อหาที่ถูกลดทอนจากความละอันพันละน้อยจนกลายเป็นมหกรรมวาไรตี้เช่นนี้ มันก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ว่า สำหรับ Ezio Auditore แล้วนั้น นี่คงจะวีรกรรมสุดท้ายแห่งยอดรักนักฆ่า ผู้ไต่ขอบผาทะยานไปสู่การนำเสนอและการเล่นที่ดีที่สุดที่ซีรีส์ Assassin?s Creed จะสามารถไปถึงได้อย่างสวยงามในขอบเขตข้อจำกัดของยุคสมัยนี้แล้วล่ะครับ
เรื่อง: สุกฤษฏิ์ ?บ้าเกม? บูรณสรรค์
(Assassin?s Creed: Brotherhood) คือบทสรุปอันงดงามของซีรีส์ ที่แปรสภาพจากโปรเจ็กต์อันคลุมเครือของการรีดรายได้ในชิ้นงานที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล และโพล่งออกมาท่ามกลางการประชุมผู้ผลิต แน่นอน?มันสดใหม่ มีชีวิตชีวา และเป็นในทุกๆ นิยามยกเว้นสิ่งเหล่านั้นที่กล่าวไป และเป็นหนึ่งในเกมยอดเยี่ยมประจำปี 2010 ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยแม้แต่น้อย
ข้อดี: สภาพแวดล้อมเปิดกว้าง สวยงามและเต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์, ภารกิจเสริมมากมายหลากสไตล์ ไม่ปล่อยให้ผู้เล่นเคว้งคว้างหรืออยู่นิ่งๆ ได้นาน, โหมดผู้เล่นหลายคนที่ยอดเยี่ยมทั้งการเล่น สไตล์การนำเสนอ, เพลงประกอบกับเสียงพากย์ยอดเยี่ยม
ข้อเสีย: เอนจิ้นกราฟิกเริ่มแสดงอายุการใช้งานเด่นชัดขึ้น, ปัญหาด้านการเชื่อมต่อของโหมดผู้เล่นหลายคน, เนื้อหาหลักที่ยังไม่ถึงขั้นและขาดความเป็นเอกภาพ
สรุป: ผลงานที่ไต่สู่ศักยภาพสูงสุดของซีรีส์เท่าที่สามารถทำได้ในข้อจำกัดของยุคสมัย ครบถ้วนสมบูรณ์แบบประหนึ่งการปิดฉากที่สวยงามของ Ezio Auditore ท่ามกลางเสียงปรบมือและการทำ Standing Ovation จากผู้ชมจนกึกก้องเกรียงไกร
ขอขอบคุณ :: นิตยสาร FuterGamer
www.fgmag.in.th