ไมโครซอฟท์ เผยผลการศึกษาประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุ 8 ใน 10 ของคอมพิวเตอร์
ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยติดมัลแวร์ การตรวจสอบพบคอมพิวเตอร์แบรนด์ดังต่างได้รับผลกระทบ
ไมโครซอฟท์ เปิดเผยรายละเอียดการศึกษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ที่ได้ดำเนินการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ยี่ห้อต่างๆ ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งซอฟต์แวร์และดีวีดีปลอมจากประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ระบุร้อยละ 70 ของดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์และร้อยละ 84 ของฮาร์ดไดรฟ์ที่ตรวจสอบพบติดมัลแวร์ที่เป็นอันตราย ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการติดมัลแวร์โดยเฉลี่ยของทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 69
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการติดมัลแวร์ของซอฟต์แวร์แสดงผลอย่างมีนัยยะสำคัญ โดย ในประเทศฟิลิปปินส์ ในกลุ่มตัวอย่างพบจำนวนมัลแวร์ต่ำที่สุดที่ร้อยละ 42 อย่างไรก็ดี ทุก 2 ใน 5 คอมพิวเตอร์และดีวีดีที่ตรวจสอบพบว่าติดมัลแวร์ ส่วนประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่พบการติดมัลแวร์สูงสุด โดยจากดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ร้อยละ 66 ส่วนฮาร์ดไดรฟ์พบที่ร้อยละ 92
ผลการศึกษายังพบว่าทุกเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 3 เครื่อง (หรือร้อยละ 33) ที่ตรวจสอบในประเทศไทย ฮาร์ดไดรฟ์ได้ถูกเปลี่ยนเป็นฮาร์ดไดรฟ์ปลอม ซึ่งค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอัตราการที่ฮาร์ดไดรฟ์ถูกเปลี่ยนอยู่ที่ร้อยละ 28 จากกลุ่มตัวอย่างคอมพิวเตอร์พีซีที่ตรวจสอบ การศึกษาดังกล่าวดำเนินการโดยทีมตรวจสอบความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ (Microsoft Forensics Team) โดยเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2555 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยได้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์พีซีและดีวีดีจำนวนทั้งสิ้น 282 รายการ
ซอฟต์แวร์ที่ติดมัลแวร์ เพิ่มความเสี่ยงในการใช้งานและการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
นายวิพูล สันต์ ผู้อำนวยการฝ่าย Genuine Software Initiative ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไมโครซอฟท์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า ?ระบบปฏิบัติการที่ติดมัลแวร์อาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์และข้อมูลส่วนตัวของคุณ เช่น ข้อมูลผู้ติดต่อ หรือข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากเหล่าแฮกเกอร์หรืออาชญากร ผู้บริโภคควรได้รับประสบการณ์การใช้งานจากแบรนด์ชื่อดัง ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่มีปัญหาขัดข้องหรือมีความไม่สมบูรณ์ในทางใดทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟท์จึงมุ่งมั่นให้ความรู้กับผู้ค้าปลีก ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ของแท้?
จากการศึกษา ไมโครซอฟท์ พบว่ามีมัลแวร์และการติดไวรัสที่แตกต่างกันถึง 1,131 สายพันธุ์ในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงโทรจันตัวฉกาจ อย่าง ?ซุส? (Zeus) ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงมาก ซุส เป็นโทรจันที่ขโมยรหัสผ่านโดยอาศัยการดักจับและบันทึกการพิมพ์บนแป้นพิมพ์ หรือ ที่เรียกว่า?keylogging? และกลไกอื่นๆ เพื่อติดตามกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้ โดยโทรจันตัวนี้จะดักจับและบันทึกการพิมพ์บนแป้นพิมพ์ หรือ keyloggers จะบันทึกทุกจังหวะการพิมพ์ของผู้ใช้งานเพื่อทำการขโมยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งรวมไปถึงชื่อบัญชีผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน โดยอาชญากรจะนำข้อมูลในส่วนนี้ ไปขโมยความเป็นตัวตนของเหยื่อ และเข้าใช้งานบัญชีส่วนตัว
นายเอียน กาย กิลลาร์ด รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ?การใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดโทรจันเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะการทำธุรกรรมด้านการธนาคารแบบออนไลน์ โดยพวกแฮกเกอร์สามารถใช้ข้อมูลที่เจาะเข้าไปได้เพื่อถอนเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า และทำการซื้อสินค้าออนไลน์โดยใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ ซึ่งอาชญากรรมไซเบอร์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับคอมพิวเตอร์ทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงคอมพิวเตอร์พีซี (วินโดวส์ และอื่นๆ) และบนแพลตฟอร์มมือถือ
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการติดไวรัสและโทรจันที่เป็นอันตรายดังกล่าว เราขอแนะนำให้ลูกค้ามีความระมัดระวังและนำมาตรการเพื่อความปลอดภัยมาใช้ ตามที่ธนาคารของเราได้ระบุไว้ในโปรแกรม ?Be SAFE online? และเลือกใช้เฉพาะซอฟต์แวร์ที่เป็นของแท้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงสนับสนุนไมโครซอฟท์ที่มีความมุ่งมั่นและพยายามอย่างดียิ่งในการให้ความรู้แก่ลูกค้า และองค์กรธุรกิจอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ซอฟต์แวร์แท้เท่านั้น? จากข้อมูลในรายงาน RSA 2012 Cybercrime Trends Report ระบุว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้ ซุส ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกแล้วคิดเป็นมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
คอมพิวเตอร์พีซีแบรนด์ดังต่างได้รับผลกระทบ
ข้อมูลจากทีมงานตรวจสอบความปลอดภัย (Security Forensics) ของไมโครซอฟท์ยังได้ระบุอีกว่า พบ วินโดวส์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีมัลแวร์ฝังอยู่แพร่ขยายไปยังคอมพิวเตอร์พีซีที่เป็นที่รู้จักหลายแบรนด์ ไมโครซอฟท์เชื่อว่ารูปภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือมัลแวร์ไม่ได้มาจากหรือติดตั้งโดยผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีโดยตรง หากแต่ถูกติดตั้งโดยบุคคลที่สามหรือบริษัทในซัพพลายเชนหรือช่องทางการค้าปลายทาง เพื่อมาแทนที่ระบบปฏิบัติการของแท้ที่ไม่ได้ติดตั้งมาจากผู้ผลิตติดตั้งแต่แรก อัตราการติดมัลแวร์ของแต่ละแบรนด์มีตั้งแต่ขั้นต่ำที่ร้อยละ 33 ไปจนถึงขั้นสูงถึงร้อยละ 88
นายวิพูล สันต์ กล่าวเสริมว่า ?หลายคนคิดว่าการซื้อคอมพิวเตอร์พีซีที่มีแบรนด์จะสามารถรับประกันได้ว่าได้รับการปกป้องจากซอฟต์แวร์ที่แฝงไว้ด้วยไวรัสหรือโทรจันที่เป็นอันตรายได้ แต่ผู้บริโภคควรระลึกว่า หากตนเองไม่สามารถระบุว่าคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาได้ถูกส่งมาพร้อมกับซอฟต์แวร์วินโดวส์ของแท้หรือไม่ พวกเข้าก็เปิดประตูรับความเสี่ยงได้เช่นกัน?
พันตำรวจเอก ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ?เราให้ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการให้ความรู้กับประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตรวจจับและลงโทษการซื้อขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อปกป้องตนเองจากอาชญากรรมไซเบอร์ ผู้บริโภคจะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะซื้อคอมพิวเตอร์พีซีจากที่ใด จากผลการศึกษานี้ พบว่ามีผู้ค้าปลีกที่ไม่ซื่อสัตย์บางรายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำหน่ายคอมพิวเตอร์แบรนด์ดัง ให้กับผู้บริโภค พร้อมกับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และติดแฝงไว้ด้วยไวรัสหรือโทรจัน ควรระลึกไว้เสมอว่าหากคุณไม่ทราบที่มาที่แน่ชัดของสินค้าไอทีที่ซื้อแล้ว คุณก็ไม่มีทางทราบว่าจะมีอันตรายอะไรแอบแฝงมาบ้าง?