เรียกไว้ว่าในตอนนี้ใครหลายๆ คนคงมีฮาร์ดดิสก์พกพา หรือ External Harddisk ใช้งานกันอย่างแน่นอน ด้วยการโอนถ่ายไฟล์ที่ขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสำรองไฟล์ระบบ, เพลง, เกม หรือเอกสารอื่นๆ รวมไปถึงไฟล์ภาพยนตร์ที่ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันต้องชมเป็นระดับ DVD ขึ้นไปอยู่แล้ว ส่งผลให้ความนิยมในการใช้งาน External Harddisk ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งราคาก็ยังไม่แพงเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญยังมาพร้อมการเชื่อมต่อ USB 3.0 ที่เป็นมาตรฐานความเร็วใหม่ สนนราคาของ External Harddisk ขนาด 2.5 นิ้วระดับความจุที่ 500GB ก็จะอยู่ประมาณ 2,000 บาท และความจุ 1TB ก็มีราคาไม่ถึง 3,000 บาท? ส่วนความจุ 2TB ก็มีราคาเพียง 5,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง
แต่ในบทความรีวิวนี้เราจะมาชมของแปลกใหม่ กับ External Harddisk ขนาด 2.5 นิ้ว รุ่นแรกของโลก ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่อแบบคู่ทั้ง USB 3.0 และ Thunderbolt (หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Light Peak) อย่าง Buffalo MiniStation Thunderbolt ซึ่งในส่วนของตัวรีวิวจะเป็นรุ่นความจุ 1TB ที่โดยส่วนตัวแล้วทางผู้เขียนได้ซื้อมาใช้งานเอง ด้วยเหตุที่ราคามันอยู่ในช่วงโปรโมชั่นจากปกติ ราคาตัวนี้จะอยู่ที่ 10,990 บาท แต่ลดลงมาเหลือเพียง 5,990 บาทเท่านั้น (เอาจริงๆ ก็ถือว่ายังแพงกว่า External Harddisk ปกติอยู่ดี ) ประกอบกับความอยากรู้ว่าพอร์ต Thunderbolt จะช่วยได้แค่ไหนในการใช้งานจริงๆ บนฮาร์ดดิสก์ภายในแบบจานแม่เหล็ก ก็เลยถือโอกาสนำมาเขียนรีวิวในเพื่อนๆ ได้ชมกันเสียเลย
สำหรับแบรนด์ Buffalo เชื่อได้ว่าหลายคนคงรู้จักกันอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักก็แนะนำกันเล็กน้อย ที่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์จากญี่ปุ่นที่ผลิตในส่วนของอุปกรณ์เสริมต่อพ่วงต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น External Harddisk ทั้งขนาด 2.5 นิ้ว/ 3.5 นิ้ว, External Optical Drive และอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบ Network ต่างๆ ที่เรียกได้ว่าในเรื่องของคุณภาพและชื่อชั้นได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวก่อนหน้านี้ได้ใช้งาน External Optical Drive และ Card Reader ของทาง Buffalo อยู่แล้ว
แพ็คเกจภายนอกของ Buffalo Ministation Thunderbolt มาในกล่องทรงมาตฐาน เน้นสีพื้นเป็นสีขาวเรียบๆ ตัดด้วยแดง ตามสไตล์ของ Buffalo ที่แล้วดูสวยงามสะดุดตาดีทีเดียว โดยหน้ากล่องมุมบนมีระบุขนาดความจุอย่างชัดเจนว่า 1TB (มีสองรุ่นด้วยกัน อีกรุ่นจะเป็นความจุ 500GB)? พร้อมด้วยรายละเอียดความสามารถต่างๆ ที่สำคัญ นอกจากนี้ด้านหลังของกล่องยังได้มีบอกถึงความเร็วที่ทำได้ด้วยเชื่อมต่อผ่านทาง Thunderbolt ที่ 105MB/s ซึ่งในส่วนของการทดสอบคงต้องไปดูกันอีกทีว่าทำได้ขนาดไหน
ภายในกล่องจะประกอบไปด้วยตัว External Harddisk และสายเชื่อมต่อสีขาวจำนวน 2 เส้นที่เป็น USB 3.0, Thunderbolt รวมไปถึงคู่มือเล็กๆ (ไม่ได้ถ่ายมาด้วย)
ในส่วนของมิติของ Buffalo Ministation Thunderbolt จะอยู่ที่ 80.5 x 130 x 22.5 มิลลิเมตร และมีน้ำหนัก 260 กรัม ซึ่งจะว่าไปแล้วหลายๆ คนอาจจะนึกภาพไม่ออก ก็เลยนำมาเทียบกับ External Harddisk แบบปกติดู
พบว่า Buffalo Ministation Thunderbolt มีขนาดความยาวเทียบเท่ากับ External Harddisk แบบประกอบของ Smart Drive แต่ยาวกว่า External Harddisk ของทาง WD My Passport พอสมควร อีกทั้งความหนาของ Buffalo Ministation Thunderbolt ยังจัดได้ว่ามีความหนาพอตัวเลยทีเดียว เมื่อจับเทียบกับ External Harddisk แบบปกติ นอกจากนี้น้ำหนักก็ถือว่าหนักกว่าเล็กน้อยอีกด้วย สรุปคือ Buffalo Ministation Thunderbolt มีความใหญ่ หนา และหนักกว่า External Harddisk ปกติ
ดีไซน์โดยรวมของ Buffalo MiniStation Thunderbolt จัดได้ว่ามีความสวยงามหรูหราแบบเรียบๆ (ภาพด้านบนเป็นการนำมาเทียบกับ iPhone 5 และ Magic Mouse) วัสดุหลักๆ จะเป็นอะลูมิเมียน ซึ่งมีพื้นผิวคล้ายกับ MacBook แต่จะมีความันวาวมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งด้านบนก็จะเป็นพลาสติกสีขาวแบบด้านที่มีผิวสัมผัสแบบซอฟต์ทัชในความรู้สึกจับถือและกระชับมือ ทำให้ไม่หลุดร่วงได้ง่ายๆ
ส่วนด้านข้างของ Buffalo MiniStation Thunderbolt ไม่มีอะไรพิเศษเป็นเพียงอะลูมิเนียมเรียบๆ เท่านั้น แต่ก็จะมีด้านหนึ่งที่มีการสกรีนโลโก้แบรนด์ Buffalo เอาไว้
เมื่อทำการเชื่อมต่อใช้งานทั้งในส่วนของ Thunderbolt และ USB 3.0 จะมีไฟสถานะการอ่านเขียนของ Buffalo MiniStation Thunderbolt โดยจะเป็นไฟสีขาวติดขึ้นมาที่ขอบด้านล่าง พร้อมกับกระพริบอย่างช้าๆ เสมือนกับเป็นจังหวะของการหายใจ เรียกได้ว่าถ้าใครใช้ MacBook Pro ก็จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะคล้ายกับสถานะไฟบนตัวเครื่องเมื่อเวลาเรา Sleep เอามากๆ?
สำหรับการเชื่อมต่อ Buffalo MiniStation Thunderbolt ไปยังตัวเครื่อง เราสามารถเลือกการเชื่อมต่อได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสมมุติว่าเราต่อ Thunderbolt อยู่ก่อนหน้า จากนั้นมาต่อด้วย USB 3.0 ทั้งๆ ที่ต่อ Thunderbolt เครื่ิองก็จะใช้งาน Thunderbolt ต่อไป ในกรณีที่ใช้งาน USB 3.0 อยู่แล้ว แล้วนำ Thunderbolt มาต่อทีหลัง เครื่องก็จะใช้งาน USB 3.0 อยู่ดีเช่นกัน ฉะนั้นในการเชื่อมต่อก็แนะนำว่า ควรจะเชื่อมต่อพอร์ตที่เราต้องการใช้งานเท่านั้น จะบอกว่าต่อไป 2 พอร์ตพร้อมๆ กันก็ไม่ได้ช่วยให้เร็วขึ้นแต่อย่างใด (ฮา)
อีกทั้งยังมีข้อสังเกตุเล็กน้อยเวลาที่เราเชื่อมต่อเป็น Thunderbolt ซึ่งก็จะพบว่าตัวขั้วสายจะมีความร้อนแผ่ออกมานิดหน่อย คาดว่าความร้อนนี้มาจากการที่ตัวที่ชิบคอนโทรลเลอร์ภายในตัวงานอยู่ แตกต่างจาก USB 3.0 ที่ไม่มีความร้อนใดๆ เกิดขึ้นที่ตัวขั้วสายเลย
ซึ่งสำหรับการทำงานของตัว Buffalo MiniStation Thunderbolt จากการทดสอบ มีความเร็วในการอ่าน-เขียน ข้อมูลได้รวดเร็วดีมากๆ โดยผลการทดสอบผ่านพอร์ตแบบ USB 3.0 และ Thunderbolt ด้วยโปรแกรม Disk Speed Test ใน OS X ก็พบว่าความเร็วในการอ่าน – เขียนข้อมูล (Read – Write) ของ USB 3.0 สามารถทำได้ถึง 107 MB/s – 108MB/s เลยทีเดียว ส่วน Thunderbolt สามารถทำได้ 109 MB/s – 109MB/s ที่โดยส่วนตัวนั้นถือได้ว่ามีความใกล้เคียงกันหรือพูดง่ายๆ ก็คือแทบไม่แตกต่างกันนั่นเอง
* External Harddisk ที่เชื่อมต่อด้วยรูปแบบต่างๆ ความเร็วเฉลี่ย Read – Write จะอยู่ที่ประมาณ :
- USB 3.0 : 100 MB/s – 80 MB/s
- USB 2.0 : ?33MB/s – 28MB/s
- Firewire 800 : 60MB/s – 55MB/s
- eSATA : 60MB/s – 50MB/s
นอกจากนี้ยังได้ทดลองใช้งานจริงด้วยการคัดลอกข้อมูลขนาด 4.7GB (1 แผ่น DVD) จากฮาร์ดดิสก์ SSD ในตัวเครื่องไปยัง Buffalo MiniStation Thunderbolt ซึ่งก็ใช้เวลาไปประมาณ 43 วินาทีเท่านั้นเอง รวมไปถึงได้ทดลองคัดลอกไฟล์ขนาด 90GB ก็ใช้เวลาไปเพียงประมาณ 16 นาที (เขียนที่ประมาณ 100MB/s ขึ้นตลอด) ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อแบบ USB 3.0 และ Thunderbolt
สุดท้ายกับการทดลองโปรเซสไฟล์ภาพด้วยโปรแกรม Aperture ใน MacBook Pro Retina 15 กับไฟล์จากกล้อง Canon EOS 5D Mark II แบบไฟล์ RAW และ JPEG ผ่านทางการเชื่อมต่อด้วย Thunderbolt และ USB 3.0 ก็แทบจะไม่มีความรู้สึกว่าแตกต่างกันเท่าใดนัก แต่โดยส่วนตัวนั้นเหมือนกับว่า Thunderbolt จะมีความลื่นไหลกว่าเล็กน้อย (เล็กน้อยมากๆ) เรียกได้ว่าถ้าไม่มีการเปรียบเทียบกันก็คงไม่เห็นผลอะไร
สรุปปิดท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับการรีวิวของ External Harddisk อย่าง Buffalo MiniStation Thunderbolt ที่มีความพิเศษในเรื่องของพอร์ต Thunderbolt ที่เพิ่มเข้ามา นอกเหนือจาก USB 3.0 ปกติ ที่ External Harddisk ทั่วๆ ไป ใครๆ เขาก็มีกัน ที่แน่นอนในเรื่องของดีไซน์การออกแบบถือได้ว่ามีความเรียบหรูและโดดเด่น ยิ่งใครใช้คู่กับ MacBook, iMac ยิ่งดูเข้ากันไปใหญ่ แต่สำหรับในเรื่องของความเร็วในการเขียน-อ่านข้อมูลก็ต้องขอบอกว่า แทบไม่แตกต่างกันเลยทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อ Thunderbolt และ USB 3.0 ที่ถึงแม้ว่า Thunderbolt จะเร็วกว่าเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆ) เมื่อทำการทดสอบด้วยโปรแกรม หรือในการทำงานผ่านตัว Buffalo MiniStation Thunderbolt ด้วย Thunderbolt จะมีความลื่นไหลกว่า USB 3.0 นิดหน่อย ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากคอขวดที่ตัวฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กภายในเอง ที่ถึงแม้ว่าตามทฤษฎีแล้ว Thunderbolt จะเร็วกว่า USB 3.0 แต่นั่นถ้าจะให้เห็นผลคงต้องใช้ฮาร์ดดิสก์ที่เป็นแบบ SSD แทนที่เข้าไป หรือจะใช้ฮาร์ดดิสก์ระบบ RAID ถึงจะเห็นความต่างในเรื่องของความเร็วมากกว่านี้ รวมไปถึง?Buffalo MiniStation Thunderbolt ไม่สามารถใช้พอร์ต?Thunderbolt ใน Windows ได้ ใช้ได้แต่กับ USB 3.0 เท่านั้นนะครับ ฉะนั้นสำหรับคนที่ใช้ Windows ก็ลืมๆ ตัวนี้ไปได้เลย
โดยถ้าเทียบกับค่าตัวของ External Harddisk ลูกนี้ ที่มีราคาสูงกว่า External Harddisk ปกติถึงเท่าตัว (ในความจุที่เท่ากัน) ก็ต้องพูดกันตามตรงเลยว่า Buffalo MiniStation Thunderbolt 1TB ไม่มีความคุ้มค่าเท่าไหร่นัก (ถึงแม้ว่าราคาจะลดมาจาก 10,990 บาท มาเป็น 5,990 บาท)?ที่ถึงแม้ว่าเวลาเชื่อมต่อด้วย USB 3.0 จะเร็วกว่า External Harddisk ทั่วไปก็ตามที?ซึ่งโดยส่วนตัวที่ซื้อมานั้นก็ต้องการที่จะใช้ใส่ Library ของโปรแกรม Aperture เป็นหลัก เพื่อโปรเซสไฟล์ภาพโดยตรงจากฮาร์ดดิสก์ ประกอบกับพอร์ต Thunderbolt ที่มีใน MacBook Pro Retina 15 จำนวน 2 พอร์ต ไม่ค่อยได้ใช้งานอะไร และเห็นว่า External Harddisk ตัวนี้มีดีไซน์ที่สวยงามตามความต้องการ และสุดท้ายคือนำมาเขียนรีวิวให้เพื่อนๆ ได้รับชมกัน (รู้ซึ้งกันเลยทีเดียว)
ดูแล้วคนที่จะซื้อ Buffalo MiniStation Thunderbolt มาใช้ น่าจะเหมาะกับคนที่ใช้ MacBook รุ่นใหม่ๆ ที่มีพอร์ต Thunderbolt อยู่แล้ว ด้วยการที่เวลาใช้งานเชื่อมต่อจะได้ไม่ต้องไปแย่งพอร์ต USB 3.0 ที่มีมาให้จำนวน 2 ช่อง รวมไปถึงต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อสูงสุด ที่สำคัญก็คืองบประมาณในการซื้อต้องสูงซะหน่อย (หรืออาจจะไม่หน่อย) เพราะว่าค่าตัวจัดได้ว่าซื้อ External Harddisk ที่เป็น USB 3.0 ความจุ 1TB ได้ 2 ตัว หรือ ความจุ 2TB ได้ 1 ตัวแบบสบายๆ ทีเดียวครับ