เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา Intel ได้จัดงานเสวนาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบบรรยากาศสบายๆ ในประเด็นเรื่องของ CPU รุ่นใหม่อย่าง Intel Core Generation 3 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Intel Ivy Bridge ซึ่งมีการเชิญสื่อมวลชนในสายไอทีรวมไปถึงบล็อกเกอร์หลายๆ ท่าน ก็แน่นอนว่า Notebookspec ของเราก็ได้ไปร่วมงานพร้อมเก็บข้อมูลมาฝากทุกๆ ท่านเช่นเคย โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากคุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการIntel ประเทศไทยมาร่วมพูดคุยให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามกันอย่างเต็มที่ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่มีการพูดคุยกันในงานก็มีตามนี้
บรรยากาศภายในงานครับ อบอุ่นกันมากๆ
คุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ Intel ประเทศไทยครับผม
โดยเราจะขอเน้นข้อมูลในฝั่งของ CPU Intel Ivy Bridge สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพานะครับ ซึ่งล่าสุดเท่าที่มีเผยรายชื่อมาก็ตามนี้
- Intel Core i7-3920XM จะมาเป็นตระกูล Extreme
- Intel Core i7-3820QM, i7-3720QM, i7-3612QM, i7-3610QM
ส่วน Core i5 และ Core i3 ยังไม่มีการเปิดตัวออกมา โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งในระยะแรกนี้เราจะเห็นแต่ Core i7 ที่มี quad-core ออกมาก่อน พอหลังจากต้นเดือนหน้าเป็นต้นไปถึงจะเริ่มมี Intel Ivy Bridge แบบ dual-core ตามมาในภายหลัง ส่วนด้านของประสิทธิภาพการประมวลผล ตัว Intel Ivy Bridge จะแรงขึ้นกว่า Sandy Bridge ราวๆ 5-10% เท่านั้น แต่จะเน้นไปในด้านอื่น เช่น GPU และเทคโนโลยีภายในมากกว่า เพราะจะเป็นการปูทางไปสู่ Intel Haswell ในปีหน้า ที่จะพลิกโฉม CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งตอนนั้น Intel รับรองว่าจะดีกว่าที่แล้วมาเป็นอย่างมาก ทั้งพลังการประมวลผลและการใช้พลังงานที่ดีขึ้น
และอีกประเด็นที่หลายๆ ท่านสนใจก็คือเรื่องของสติ๊กเกอร์ Intel ที่ได้รับการยืนยันแล้วครับว่า Intel จะใช้สติ๊กเกอร์และโลโก้แบบเดิม แต่จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มว่า CPU ในเครื่องนี้เป็น Intel Ivy Bridge นะ
ฝั่งของชิปเซ็ตนั้น ก็จะมาพร้อมกับชิปเซ็ตใหม่อย่าง Intel 7 Series ที่มีโค้ดเนมว่า Panther Point ซึ่งมีไฮไลท์ได้แก่
- Intel Rapid Storage Technology 11 ที่ช่วยจัดการระบบการทำงานของอุปกรณ์เก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- รองรับ USB 3.0 ในตัว
- ต่อจอได้พร้อมกัน 3 จอ
- Intel Small Business Advantage จะเป็นระบบช่วยให้งานของธุรกิจเล็กๆ สามารถทำได้ดีขึ้่น ง่ายขึ้น ตัวอย่างงานก็เช่น การ backup และ restore ข้อมูล
- รองรับ Thunderbolt
ในประเด็นของ Thunderbolt นั้น จะมาในช่วงหลังจากเปิดตัว Intel Core i5 และ Intel Ivy Bridge แบบ dual-core ในช่วงต้นเดือนหน้าครับ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าเครื่องทุกเครื่องจะสามารถใช้งาน Thunderbolt ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตเครื่องอีกอยู่ดีว่าจะใส่มาให้ด้วยหรือไม่
(จากในภาพ Intel Ivy Bridge จะเป็นสีน้ำเงินเข้ม และคะแนนยิ่งมากยิ่งดีกว่า)
ใน Intel Ivy Bridge นี้ จุดที่เป็นจุดเด่นที่สุดจะเป็นระบบกราฟิกในตัวที่มีชื่อว่า Intel HD Graphics 4000 ที่เราๆ ท่านๆ อาจจะพอเห็นประสิทธิภาพกันไปบ้างแล้วบางส่วน แต่มันจะไม่ได้มีแค่ตัวเดียวครับ เพราะยังจะมี Intel HD Graphics 2500 ออกมาอีกในช่วงต้นเดือนหน้า ซึ่งจะมาพร้อมกับ CPU แบบ dual-core (แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นรุ่นไหนบ้าง) ซึ่งเจ้า Intel HD Graphics 4000 นี้ Intel ตั้งใจจะให้เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของวงการกราฟิกใน CPU ของตนเลยทีเดียว และมันจะกลายเป็นรากฐานการพัฒนาต่อไปยัง Intel Haswell ที่จะมาในปีหน้าด้วย
ส่วนในภาพด้านบนนั้นเป็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ Intel HD Graphics 4000 ใน Intel Core i7-3820QM กับ Intel HD Graphics 3000 ใน Intel Core i7-2860QM ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นตัวท็อปๆ ของซีรี่ย์ จะเห็นได้ว่าพลังในการประมวลผลของ Intel HD Graphics 4000 เหนือกว่ารุ่นเก่าอยู่มากพอตัวทีเดียว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากชุดคำสั่ง QuickSync ในตัว GPU ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิม ทำให้มีความเร็วในการจัดการไฟล์มีเดียได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
จากผลการทดสอบด้านบนก็จะเห็นได้ว่า Intel HD Graphics 4000 มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นเก่าๆ อย่างเห็นได้ชัด โดย Intel ตั้งใจจะให้ตัว GPU มีความสามารถในการเล่นเกมได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ไม่กลายเป็นข้อจำกัดอีกต่อไปว่าการ์ดจอออนบอร์ดไม่สามารถเล่นเกมได้
นอกจากนี้ยังมีข่าวจาก Valve มาอีกด้วยว่า เกม DOTA 2 ที่หลายๆ คนรอคอย จะเปิดตัวบนการ์ดจอ Intel HD Graphics 4000 แน่นอน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นต้นเดือนหน้าหรือเปล่า เพราะไม่ได้บอกว่าเปิดตัวพร้อมกันนะ แต่ที่แน่ๆ
ใครที่ซื้อเครื่องที่มีการ์ดจอ Intel HD Graphics 4000 รับรองได้เลยว่าสามารถเล่น DOTA 2 ได้แน่นอน
ส่วนอีกเรื่องที่ Intel โฟกัสในปีนี้ก็คือกลุ่มของ Ultrabook ซึ่งในเฟสสองนี้จะมาพร้อมกับ Intel Ivy Bridge ซึ่งมีการพัฒนามากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น
- ประสิทธิภาพในการประมวลผล
- ประสิทธิภาพของระบบกราฟิก
- ใช้งานแบตได้ยาวนานขึ้น
- เครื่องบางลง
- เปิดเครื่องได้เร็วขึ้น โดยในสไลด์ถึงขั้นบอกว่าจะเปิดใช้งาน Facebook ได้ภายใน 1 วินาที !!
- สามารถสั่งงานด้วยเสียงและระบบการโบกมือ (แบบเดียวกับ Gesture Control ใน Sony VAIO)
- เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูล
โดยภาพรวมของ Ultrabook นั้น แน่นอนว่าราคาจะถูกลงกว่าในปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากมี Ultrabook ที่ใช้ Intel Ivy Bridge ลงสู่ท้องตลาดแล้ว และจะมากลายเป็นคอมพิวเตอร์พกพาในแบบที่เข้าถึงผู้ใชได้มากยิ่งขึ้นเนื่องด้วยกลไกราคาที่ดันให้ราคาเครื่องถูกลง และอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้ Ultrabook มีราคาถูกลงก็คือจะเริ่มมีการใช้วัสดุของตัวเครื่องเป็นประเภทอื่น จากที่ในปัจจุบันเป็นโลหะ ต่อไปเราอาจจะได้เห็น Ultrabook ที่ใช้วัสดุเป็นไฟเบอร์กลาสหรือพลาสติกมากขึ้นครับ
ซึ่ง Intel ได้วางไว้ว่า Ultrabook จะต้องตอบสนองต่อประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ได้ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านของ Responsive ที่นอกจากเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการตอบสนองของระบบแล้ว ยังรวมไปถึงส่วนสัมผัสและการใช้งานเครื่องอีกด้วย
โดยสิ่งที่เราจะได้เห็นจาก Ultrabook ในช่วงปลายไตรมาสที่สามถึงไตรมาสที่สี่ของปีนี้ก็คือ Ultrabook ที่มาพร้อมกับจอสัมผัส และอีกแนวคิดที่จะใช้ในการผลิต Ultrabook ก็คือการทำให้จอสามารถถอดออกมาเพื่อใช้เป็นแท็บเล็ตได้ หรืออาจจะเป็นแบบที่สามารถหมุนจอพลิกกลับมาด้านหลังได้ (อย่าง Lenovo IdeaPad Yoga)
ภาพข้างบนเป็นการนำเสนอว่าสิ่งที่ Ultrabook จะต้องทำได้โดยพื้นฐานซึ่งจะอยู่ใต้เส้นสีดำยาวในแนวนอน ส่วนเหนือเส้นขึ้นไปนั้น เป็นสิ่งที่ Ultrabook ควรจะทำได้ในปีนี้ นั่นคือระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ควรจะมากกว่า 8 ชั่วโมง และอีกข้อหนึ่งที่ Intel ย้ำและให้ความสำคัญมากๆ ก็คือเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่าง Intel Anti-Theft Technology
โดยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลนั้น Intel จะยกให้เป็นเรื่องที่ Intel โฟกัสมากที่สุดในเฟสที่สองของ Ultrabook (ช่วงหลังจากนี้เป็นต้นไป) ซึ่งในชิปเซ็ตของ Intel Ivy Bridge จะมาพร้อมกับเทคโนโลยี Intel Anti-Theft ที่ช่วยปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่องให้ยังคงอยู่ครบถ้วน แม้ว่าจะเครื่องจะโดนขโมยก็มั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญจะไม่สูญหายแน่นอน
โดยตัวของ Intel Anti-Theft นั้นมีคุณสมบัติและการทำงานได้แก่
- ในขณะนี้ยังใช้งานได้เฉพาะบน Windows 7 เท่านั้น และแน่นอนว่ารองรับ Windows 8 ด้วย ส่วน OS อื่นๆ เช่น OS X, Linux นั้นยังไม่แน่ชัดว่าจะรองรับหรือไม่
- ผู้ใช้สามารถสร้าง drive ลับสำหรับเก็บข้อมูลสำคัญได้ในเครื่อง ซึ่งการจะเข้าใช้งาน drive นี้ จะต้องใส่รหัสผ่านทุกครั้ง และคนอื่นนอกจากผู้ใช้จะมองไม่เห็น drive นี้ เพราะต้องใส่รหัสผ่านจึงจะมองเห็น drive ได้ เรียกได้ว่าใส่รหัสล็อกไว้ 2 ชั้นเลยทีเดียว
- แม้จะเปลี่ยนนำ HDD/SSD ออกไปใส่เครื่องอื่นก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใน drive ลับได้ และข้อมูลจะยังคงอยู่ตลอดไปแม้จะสามารถ format HDD/SSD ได้ก็ตาม แต่จะถูกซ่อนไว้
- ผู้ใช้สามารถสั่งล็อกการใช้งานเครื่องได้จากทุกที่ผ่านทางการใช้งานบนเว็บไซต์ของ Intel
- การล็อกเครื่องจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือแบบออนไลน์ที่ผู้ใช้สั่งงานผ่านเว็บ และแบบออฟไลน์ที่เครื่องจะล็อกตัวเองอัตโนมัติถ้าไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเมื่อถึงระยะเวลาที่ผู้ใช้ตั้งไว้ (อย่างต่ำสุด 3 วัน) แต่ถ้าผู้เก็บเครื่องไป ไม่ได้ใช้เครื่องในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเลย เครื่องก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ เพียงแค่ไม่สามารถเข้าถึง drive ลับที่เข้ารหัสไว้ได้ถ้าไม่รู้รหัสผ่าน
หน้าตาของเครื่องที่ถูกล็อกด้วยระบบ Intel Anti-Theft ซึ่งจะมีตัวเลือกให้กรอกรหัสผ่านเพื่อใช้งานเครื่องได้ รวมไปถึงมีการแสดงข้อความที่ผู้ใช้ตั้งค่าไว้ได้ด้วย อย่างในตัวอย่างก็เป็นการบอกว่าถ้าพบเครื่อง ก็ให้ติดต่อกลับมาที่อีเมลของเจ้าของเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าต่างๆ ได้จากในหน้าเว็บไซต์ครับ
ส่วนถ้าขโมยต้องการจะลง OS ใหม่ หรือแม้กระทั่งจะแฟลช BIOS ใหม่ ระบบล็อกนี้ก็จะยังคงอยู่ เพราะเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง HDD/SSD และชิปเซ็ตเลย เนื่องจากเจ้าระบบ Intel Anti-Theft นี้จะถูกฝังอยู่ในชิปเซ็ตครับ แม้ว่าถ้าเจ้าขโมยมีความสามารถในการเปลี่ยนชิปเซ็ตได้อีก ก็ยังไม่สามารถใช้งานเครื่องได้เช่นกัน เพราะระบบจะสามารถปลดล็อกได้ก็ต่อเมื่อชิปเซ็ตและ HDD/SSD ที่เข้ารหัสไว้ทั้งคู่กลับมาทำงานร่วมกันเท่านั้น
หน้าตาของส่วนการตั้งค่าการทำงานของ Intel Anti-Theft บนเว็บครับ ที่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าข้อความที่ต้องการแจ้งไว้บนหน้าจอเมื่อเครื่องถูกล็อกได้ รวมไปถึงระยะเวลาที่ต้องการให้เครื่องล็อกอัตโนมัติ (แบบออฟไลน์) ได้ด้วย
แต่ทั้งนี้ Intel Anti-Theft จะไม่ได้เปิดให้ใช้งานฟรี เพราะผู้ใช้ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องซื้อแพ็คเกจสำหรับใช้งาน Intel Anti-Theft ด้วย สนนราคาที่ 990 บาทต่อปี ผ่านร้านค้าตัวแทน ได้แก่ Ingram Micro, Synnex และ WPG นะครับ โดยเจ้าระบบ Intel Anti-Theft นี้ ถ้าผู้ใช้ซื้อแล้วใช้งานกับเครื่อง A ไปแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนคอมใหม่ไปเป็นเครื่อง B ผู้ใช้ก็สามารถโอนสิทธิ์การใช้งานมายังเครื่อง B ผ่านทางเว็บได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกคำถามที่มีการถามขึ้นมาอย่างน่าสนใจ นั่นคือถ้าระยะเวลาการใช้งานครบ 1 ปีแล้ว ระบบจะทำงานต่ออย่างไร จะปกป้องข้อมูลต่อไปหรือไม่ ??
ในประเด็นนี้ก็หายห่วงได้เลยครับ เพราะว่าตัว drive ลับที่เก็บข้อมูลไว้ก็จะยังคงเป็นความลับอยู่ ยังคงเข้ารหัสอยู่เช่นเดิม เพียงแต่จะไม่มีเซอร์วิสต่างๆ ที่ใช้งานผ่านทางเว็บอีกแล้ว เช่นการสั่งล็อกจากทางไกลในแบบออนไลน์ เรียกง่ายๆ ว่าไม่สามารถล็อกอินเข้าระบบบนเว็บได้อีกแล้วก็ได้ครับ ถ้าอยากจะใช้ก็ต้องซื้อต่อนั่นเอง
ปิดท้ายด้วย ASUS Zenbook ที่ข้างในเป็น Intel Ivy Bridge แล้วกันนะ อยากบอกว่าดีไซน์เปลี่ยนนิดหน่อยด้วยล่ะ