จากการตรวจสอบของหน่วยงาน Information Commissioner’s Office (ICO) พบว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี เป็นจำนวนกว่า 1.4 ล้านคน (ข้อมูลจากปี 2020) ใช้งานแอป TikTok และเผยแพร่คลิปวิดีโอของเด็กโดยไม่รับอนุญาตจากผู้ปกครอง แม้ทางแอป TikTok เองจะพยายามทุ่มทุนอย่างมากมายเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ 100% แต่โชคดีที่ครั้งนี้ได้รับสิทธิ์ปรับลดค่าปรับลงมาจาก 27 ล้านปอนด์เหลือ 12.7 ล้านปอนด์ หากตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 530 ล้านบาท
ความน่ากังวลไม่ได้มีเพียงการที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีโพสต์คลิปลงเท่านั้น แต่ทาง TikTok สามารถนำข้อมูลของเด็กๆ ไปใช้ในการเข้าถึงโฆษณาต่างๆ ที่อาจจะไม่เหมาะสมได้ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวก็มีการอ้างอิงมาจากคำพูดของ Louise Devine บอกกับสำนักข่าว BBC ว่าแม้ตัวเธอจะอนุญาตให้ลูกวัย 10 ขวบเล่น TikTok เพื่อเข้าสังคม ทำให้เธอได้รู้ได้เห็นความเคลื่นไหวของลูก แต่ที่น่ากังวลจริงๆ คือการที่เธอไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกของเธอกำลังดูอะไรอยู่
Prof. Sonia Livingstone ผู้วิจัยเกี่ยวกับสิทธิดิจิทัลของเด็กและประสบการณ์ที่ London School of Economics and Political Science ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า เหตุการณ์ที่ ICO ดำเนินการเรียกค่าปรับจาก TikTok นี้เป็นเรื่องที่ดีนะ โดยตัวเขาเองก็หวังว่า TikTok จะทบทวนแนวทางปฏิบัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้เคารพความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของเด็กๆ ในเชิงรุกในอนาคต ส่วนทาง TikTok เองก็กล่าวว่าทางบริษัทนั้นมีการจ้างพนักงานมาดูแลเรื่องนี้กว่า 40,000 คนตลอดเวลาอยู่แล้ว
ปัญหาที่ TikTok ต้องเผชิญ
TikTok ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ค่าปรับและมีเวลา 28 วันในการดำเนินการ หากประสบความสำเร็จ ICO จะสามารถลดจำนวนเงินงวดสุดท้ายได้ ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลมีเวลาสูงสุด 16 สัปดาห์ นับตั้งแต่ออกหนังสือแจ้งค่าปรับจนถึงการตัดสินขั้นสุดท้าย และค่าปรับที่ได้รับจาก ICO จะกลับไปที่กระทรวงการคลังของอังกฤษ
แต่อาจมีข้อกังวลเพิ่มเติมสำหรับ TikTok เนื่องจากกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของอังกฤษซึ่งจะอนุมัติให้ผ่านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบอายุที่เข้มงวดในโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น
ส่วนในเรื่องของค่าปรับก็มีหลายๆ บริษํทมองว่าค่าปรับ 12.7 ล้านปอนด์เป็นจำนวนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท ByteDance บริษัทแม่ของ TikTokที่มากถึง 64 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีของจีนในปี 2022
ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งาน ไม่เกี่ยวว่าผู้ใช้งานจะอายุเท่าไร ที่ผ่านมาก็มีข่าวการรั่วไหลของข้อมูลออกมาจนทำให้หลายๆ ประเทศตะวันตกใช้มาตรการต่อต้าน TikTok เนื่องจากกลัวว่าข้อมูลของผู้ใช้จะถูกแชร์กับรัฐบาลจีน และตอนนี้แอปนี้ถูกแบนแล้วในแคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ไต้หวัน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และพนักงานที่ทำงานในคณะกรรมาธิการยุโรป
แม้ว่าทาง Shou Zi Chew หัวหน้าของ TikTok จะถูกวิจารณ์ในสภาคองเกรสเรื่องความปลอดภัย และพยายามสร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติว่าข้อมูลของผู้ใช้นั้นปลอดภัย
ที่มา: BBC News