Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

รีวิว ASUS ROG Strix Scar 17 SE G733CX เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแรงสุดในโลก!! ฟีเจอร์ล้นตัวกับราคา 124,990 บาท

ASUS ROG Strix Scar 17 SE แรงสุด ทรงพลังสุดในโลกจนพีซีมีอายกันบ้าง!

rogstrixscar17se cover

ASUS ROG Strix Scar 17 SE ต้องถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นที่แรงสุดของ ASUS ที่มีให้เกมเมอร์ได้เลือกซื้อเอาไว้เล่นเกม ณ ปี 2022 นี้ ซึ่งตัวเครื่องมีขนาดใหญ่กว่า ASUS ROG Strix Scar 15 ซึ่งมีรีวิวให้รับชมไปก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงสเปคทรงพลังที่สุด ทาง ASUS ก็ประเคนฟีเจอร์สุดยอดต่างๆ เข้ามามากมายให้สมกับความเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธง ไม่ว่าจะซีพียูและการ์ดจอระดับท็อปจาก Intel และ NVIDIA และระบายความร้อนโดยโลหะเหลว Liquid Metal ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับทาง Thermal Grizzly Conductonaut Extreme กับฮีตไปป์อีก 6 เส้น ช่วยลดความร้อนและอุณหภูมิได้ดีกว่าระบบระบายความร้อนทั่วไปถึง 14 องศาเซลเซียส เมื่อผสานกับพัดลมระบายความร้อน Arc Flow Fans แบบ 84 ใบพัด ระบายออกช่องระบายความร้อน 4 ช่องทั้งด้านข้างและหลังทำให้ตัวเครื่องเย็นตลอดเวลาที่เล่นเกมหรือทำงานหนักและมีฟีเจอร์ 0dB Ambient cooling ที่ถ้าหากซีพียูมีอุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส พัดลมก็จะไม่หมุนสร้างเสียงรบกวนเวลาใช้งานอีกด้วย

Advertisement

เมื่อชุดระบายความร้อนมีประสิทธิภาพสูงเช่นนี้ ก็ทำให้ ASUS ROG Strix Scar 17 SE สามารถปรับแต่งค่าวัตต์ไฟฟ้าเข้าตัวซีพียูได้ด้วย นั่นคือ หากเปิดใช้งาน Turbo Mode ค่าวัตต์รวมจะอยู่ที่ 230 วัตต์ แชร์เป็นซีพียู 55 วัตต์ และจีพียู 175 วัตต์ หากปรับแต่งเองใน Manual Mode ก็สามารถดันค่าวัตต์ของซีพียูไป 65 วัตต์ และจีพียู 175 วัตต์ ทำให้ค่าวัตต์รวมเป็น 240 วัตต์พอดี รีดประสิทธิภาพสูงสุดของตัวเครื่องออกมาได้โดยไม่มีปัญหาต่อการใช้งานอย่างแน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้จะคุมการทำงานด้วยชิป MUX Switch ซึ่งจะเซ็ตให้ตัวชิปทำงานตามปกติหรือปรับแต่งเองให้ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ได้ เช่นกัน และทาง ASUS ก็อัพเกรด RAM เป็น DDR5 กับ M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 อัพเกรดเพิ่มความจุเป็น 2TB ทั้ง 2 ช่องและตั้งค่าเป็น RAID 0 เร่งประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ทรงพลังที่สุดในโลก ณ ปี 2022 ได้อย่างเต็มปาก

ASUS ROG Strix Scar 17 SE

นอกจากสเปคตัวเครื่องจัดเต็มระดับนี้แล้ว หน้าจอของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ก็ให้มาแบบไม่กั๊กเลย ด้วยหน้าจอขนาด 17.3 นิ้ว ความละเอียด WQHD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz กับ Response Time 3ms เรียกว่าตอบสนองเร็วทันใจและต่อเนื่อง ไม่มีอาการภาพขาดด้วยฟีเจอร์ AdaptiveSync และให้สีสันสวยสดใจเพราะเป็นหน้าจอ Dolby Vision HDR อีกด้วย ซึ่งเหมาะกับความบันเทิงทุกรูปแบบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะทำงานหรือเล่นเกมก็ดีสุดๆ จับคู่กับชุดลำโพง 4 ตัว เสริมระบบ Smart Amp Technology เอาไว้ครบเครื่อง ทำให้ได้ลำโพง Dolby Atmos และได้รับการรับรองเสียงระดับ Hi-Res Audio อีกด้วย

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02661

ด้านความสวยงามถือว่าสมค่าตัว 124,990 บาท อย่างที่สุด ทั้งไฟคีย์บอร์ด 4-Zone RGB, แถบไฟ RGB กรอบหน้าเครื่อง “Surrounded Light Bar”, ไฟ RGB โลโก้ ROG ที่ฝาหลังตัวเครื่องแบบใหม่ล่าสุด “Aura Glow” และยังถอดเปลี่ยนขอบสันเหนือตัวเครื่องอย่าง Armor Cap ได้ถึง 3 แบบ และยิ่งไปกว่านั้น จุดเด่นซึ่งซ่อนอยู่ในดีไซน์ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE นั่นคือ “Cipher” หรือการเข้ารหัสโดยซ่อนไว้ในลวดลายรหัสลับเอาไว้บนฝาหลังเครื่อง ซึ่งถ้าไม่ส่องด้วยไฟฉาย UV ในกล่องก็จะไม่เห็นอย่างแน่นอน และนั่นคือรหัสลับสำหรับเล่นเกม Scar Runner ธีม Cyberpunk จากทาง ASUS ซึ่งผู้เล่นที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะได้รับรางวัลหลากหลายแบบ ซึ่งมูลค่าสูงสุดก็จะมี ASUS ROG Strix Scar 17 SE อีกด้วย เรียกว่าถึงจะใช้บอดี้แบบเดิมแต่ก็ยังสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน จัดว่ายอดเยี่ยมอย่างไม่น่าสงสัยเลย

ยิ่งไปกว่านั้น จุดเด่นเฉพาะไม่มีใครเหมือน คือ ชิป Keystone II กุญแจเปิดใช้งานฟังก์ชั่นพิเศษของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จัดเป็นฟีเจอร์ลูกเล่นน่าสนใจ ทำให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มี 2 บุคลิคในตัวเดียว ซึ่งเจ้าของเครื่องสามารถเซ็ตได้ว่าจะให้ทำงานแบบไหน เช่น หากต่อ Keystone II เอาไว้ก็อยู่ในโหมดเกมมิ่งรีดประสิทธิภาพออกมาสุดตัว หรือถอดออกมาเก็บไว้ก็กลายเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คโหมดประหยัดพลังงาน ใช้ทำงานออฟฟิศทั่วไปได้สบายๆ ก็ได้ เรียกว่าน่าสนใจและมีโหมดการตั้งค่าหลากหลายแบบให้เลือกใช้งานได้ด้วย

NBS Verdicts

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02657

หากเกมเมอร์คนไหนไม่อยากนั่งประกอบเกมมิ่งพีซีให้เสียเวลา มีงบประมาณหลักแสนบาทเอาไว้ลงกับคอมพิวเตอร์ดีๆ สักเครื่อง ASUS ROG Strix Scar 17 SE คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นที่ดีสุด น่าใช้ที่สุด ณ ปี 2022 นี้แล้ว ด้วยความแรงของมันก็ถือว่าสุดยอดที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย จะใช้เล่นเกมฟอร์มยักษ์หน้าจอ 4K UHD ปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดทุกอย่างก็ยังรีดเฟรมเรทได้สูงและเอาไปทำงานหนักๆ อย่างเขียนแบบ AutoCAD หรือทำโมเดล 3D CG ก็ใช้ได้ ไม่ต้องคิดเรื่องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ไปอีกหลายปี และถ้าสเปคเดิมจากโรงงานยังไม่พอใจก็เปิดฝาอัพเกรดเพิ่มได้อีกด้วย

แต่แม้เครื่องนี้จะสุดยอดแค่ไหน ก็ยังมีจุดสังเกตเล็กน้อยๆ อยู่บ้าง ไม่ว่าจะไม่มีกล้อง Webcam ติดตั้งมาให้ หากประชุมออนไลน์หรือ Livestream เกมก็ต้องมีกล้องแยกอย่าง ROG Eye เอาไว้สักตัวไม่ก็ต้องใช้กล้องสมาร์ทโฟนแทน และตัวเครื่องเองก็ใส่ฟีเจอร์ต่างๆ มาแบบจัดเต็มที่สุด ทำให้น้ำหนักเครื่องมากถึง 3 กิโลกรัม รวมปลั๊กเฉพาะของตัวเครื่องก็อยู่ที่ 4 กิโลกรัมทีเดียว จำเป็นต้องพึ่งกระเป๋าเป้ใบใหญ่พิเศษหรือใช้กระเป๋าล้อเลื่อนไปเลยหากไม่อยากให้น้ำหนักทำให้ปวดคอบ่าไหล่ ยิ่งไปกว่านั้น คือ หากจะเปิดฝาอัพเกรดต้องระวังสายแพของ Surrounded Light Bar เพราะตัวสายค่อนข้างสั้น ถ้ารีบดึงเปิดออกมาอาจจะทำให้สายแพขาดเสียหายได้ และควรสังเกตฝั่งเข้าสายแพให้ดี เนื่องจากตัวสายแพเส้นฝั่งซ้ายมือจะหลุดได้ค่อนข้างง่าย

ข้อดีของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE
  1. ดีไซน์ตัวเครื่องถึงจะแชร์กับตระกูล ROG Strix ก็ตาม แต่ก็สวยแตกต่างด้วยไฟ RGB ที่จุดต่างๆ ได้แก่ Aura Glow, Surrounded Light Bar, 4-Zone RGB Keyboard และลวดลาย Cipher แบบพิเศษเพื่อใช้เล่นเกม Scar Runner
  2. งานประกอบสวยแข็งแรง เปลี่ยน Armor Cap ให้เข้ากับสไตล์ของผู้ใช้ได้ง่ายๆ
  3. มีชิป Keystone II ใช้ปรับโปรไฟล์ใช้งานได้ตามการตั้งค่าของเจ้าของเครื่อง
  4. ประสิทธิภาพตัวเครื่องสูงไร้ที่ติ ติดตั้ง Intel Core i9-12950HX กับ NVIDIA GeForce RTX 3080 Ti รุ่นที่ดีสุดของทั้งสองค่ายมาให้
  5. ปรับแต่งค่าวัตต์ของซีพียูจาก 55 เป็น 65 วัตต์ เพื่อรีดประสิทธิภาพเครื่องเพิ่มได้
  6. มี MUX Switch สำหรับปรับแต่งโหมดการทำงานได้ตามความเหมาะสม ใช้งานสะดวก
  7. ติดตั้งระบบระบายความร้อน Liquid Metal ที่พัฒนาร่วมกับ Thermal Grizzly มาให้ ระบายความร้อนได้ยอดเยี่ยม เมื่อไม่ได้ใช้งานหนักเสียงก็เบาไม่รบกวนตอนทำงาน
  8. อัพเกรด RAM ได้ 64GB DDR5 กับ M.2 NVMe SSD ได้ช่องละ 2TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 
  9. หน้าจอขนาด 17.3 นิ้ว ความละเอียด WQHD ค่า Refresh Rate 240Hz และขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 เป็นจอ Dolby Vision HDR เหมาะสมทั้งทำงานและเล่นเกม
  10. ลำโพง 4 ตัว พร้อมชิป Smart Amp รองรับเสียงแบบ Dolby Atmos ได้รับการรับรอง Hi-Res Audio มาให้ คุณภาพเสียงดีน่าประทับใจ
  11. รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E กับ Bluetooth 5.2 ในตัว เชื่อมต่อได้เสถียรดีมาก
  12. ปรับแต่ง Macro Hot Key ได้ 5 ปุ่ม เซ็ตได้ตามความสะดวกทั้งทำงานและเล่นเกม
  13. ได้ประกันตัวเครื่อง ASUS Exclusive Care ดูแลยาวนาน 3 ปี On-Site Service ทั้งในและต่างประเทศ พร้อม Perfect Warranty 1 ปี
ข้อสังเกตของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE
  1. ตัวเครื่องหนักและใหญ่ ควรใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คสำหรับตัวเครื่องขนาด 17.3 นิ้วโดยเฉพาะ
  2. ไม่มีกล้อง Webcam ติดตั้งมาให้ ถ้าต้องการไลฟ์สตรีมเกมจะต้องต่อกล้องแยกหรือใช้สมาร์ทโฟนแทน
  3. สายแพ Surrounded Light Bar ค่อนข้างสั้น ควรระวังตอนเปิดฝาอัพเกรดเครื่อง

รีวิว ASUS ROG Strix Scar 17 SE

Specification

strixscar smol

สเปคของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ต้องถือว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสเปคแรงสุดเท่าที่ ASUS เปิดตัวมาในปี 2022 นี้ก็คงจะไม่ผิดนัก เนื่องจากทางบริษัทเลือกซีพียู, จีพียู, แรม, M.2 NVMe SSD รุ่นใหม่ที่สุดมาติดตั้งให้ในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้พร้อมฟีเจอร์ต่างๆ อีกมากมาย โดยมีสเปคดังนี้

สเปคของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE
  • CPU : Intel Core i9-12950HX แบบ 16 คอร์ (8P+8E) 20 เธรด ความเร็ว 3.6-5.0GHz
  • GPU : NVIDIA GeForce RTX 3080 Ti แรม 16GB GDDR6 ค่า TGP 175W
  • SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 1TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 รองรับการอัพเกรดได้แบบ 2TB x 2 
  • RAM : 32GB DDR5 บัส 4800MHz อัพเกรดได้สูงสุด 64GB
  • Display : 17.3 นิ้ว ความละเอียด WQHD (2560×1440) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz, Response Time 3ms, รองรับขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3, Adaptive-Sync, รองรับ Dolby Vision HDR
  • Ports : Thunderbolt 4 x 1 รองรับ DisplayPort, USB-C 3.2 Gen 2 รองรับการต่อหน้าจอแยก DisplayPort / ชาร์จแบบ Power Delivery / G-SYNC, USB-A 3.2 Gen 1 x 2, HDMI 2.1 x 1, LAN x 1, Audio combo x 1
  • Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
  • Webcam : 720p HD Camera 
  • Software : Windows 11 Home
  • Weight : 3 กิโลกรัม
  • Price : 124,990 บาท

Hardware & Design

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02655

ดีไซน์ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะแชร์กันในซีรี่ส์ ROG Strix แต่ถูกดัดแปลงบอดี้บางส่วนให้ล้ำสมัย ได้ธีม Cyberpunk อารมณ์เหมือนไซบอร์กไปในตัว ซึ่งหากมองหน้าตรงจะเห็นว่านี่คือเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในตระกูล ROG Strix แต่เพิ่มรายละเอียดในส่วนต่างๆ เข้ามา เช่น บอดี้เครื่องแบบทูโทน เป็นพลาสติกซอฟท์ทัชฝั่งซ้ายและคาดเส้นสีขาวสกรีนโลโก้ ROG ไว้คั่นบอดี้ใสสีควันบุหรี่จนมองเห็นชิ้นส่วนภายในตัวเครื่องเอาไว้ พร้อมสกรีนตัวอักษรต่างๆ ของ ASUS ROG Strix เอาไว้ครบถ้วน ให้ความเท่มีเอกลักษณ์

จะเห็นว่าขอบบนเหนือคีย์บอร์ดจะมีไฟแสดงสถานะการทำงานของตัวเครื่องติดเอาไว้ ทำให้เห็นสถานะการทำงานชัดเจน พอพับหน้าจอปิดลงมาก็จะเห็นผ่านทางช่องกรอบระหว่างตัวเครื่องและหน้าจอที่ตัดเว้นเอาไว้ด้วย ส่วนก้านขาบานพับหน้าจอจะเป็นก้านโลหะแข็งแรงกางหน้าจอได้ด้วยนิ้วมือนิ้วเดียวและไม่เกิดอาการโยกยวบเลยแม้แต่นิดเดียว และจุดน่าสนใจของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะมีไฟ RGB ติดอยู่ตรงขอบใต้หน้าจอฝั่งขวาที่ตัดเว้นบอดี้ตัวเครื่องเอาไว้ สามารถปรับเอฟเฟคไฟไปได้ตามที่เราตั้งค่าอีกด้วย

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02615

ความแข็งแรงของขาบานพับหน้าจอจะให้ตัวได้ดีพอควร สามารถกางหน้าจอได้กว้างมากราว 120 องศา จะวางบนพื้นโต๊ะหรือที่วางโน๊ตบุ๊คก็กางหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่ายๆ แต่เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดใหญ่และหนักพอควร ดังนั้นถ้าใครจะวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คควรหารุ่นที่แข็งแรงและออกแบบมาเพื่อโน๊ตบุ๊คขนาดใหญ่โดยเฉพาะจะดีที่สุด

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02607

ฝาหลังของตัวเครื่อง หากมองเผินๆ ก็จะเห็นว่ามันไม่ต่างกับ ASUS ROG Strix รุ่นอื่นๆ แต่จริงๆ แล้ว ASUS ROG Strix Scar 17 SE มีลูกเล่นซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะไฟ RGB ตรงโลโก้ ROG ในชื่อเฉพาะว่า Aura Glow, เพลตตัวเครื่องลาย ROG “Armor Cap” ซึ่งถอดเปลี่ยนยได้ 3 ลายด้วยกัน ได้แก่ สีดำล้วน Prismatic Black, สีเงินใส Stealth Silver, ดำใส Translucent Speckled Black ซึ่งติดอยู่ด้านข้างบอดี้ตัวเครื่องซึ่งถูกออกแบบเป็นช่องลมเข้า

ส่วนสำคัญนั่นคือดีไซน์ Cipher ลวดลายเส้นแบบพิเศษ ซึ่งถ้าถูกแสงไฟตามปกติจะเห็นเป็นเส้นสีดำเทาตามปกติเท่านั้น แต่หากใช้ไฟฉาย UV ซึ่ง ASUS แถมมาให้ในกล่องส่องใส่พาร์ทส่วนนี้จะเห็นเป็นลวดลายสีน้ำเงินและเขียวสว่างชัดขึ้นมา ซึ่งเป็นการเข้ารหัสลับที่ใช้ในเกม Scar Runner ซึ่งผู้เล่นที่ทำคะแนนได้สูงสุดจะได้รับของรางวัลจากทางบริษัทไปด้วย

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02664

ดังนั้นสรุปแล้ว นอกจาก ASUS ROG Strix Scar 17 SE และอแดปเตอร์ของตัวเครื่อง จะมีของแถมใส่มาให้ในกล่องคือ Armor Cap x 3 ชิ้น (ติดอยู่กับตัวเครื่อง 1 ชิ้น), ไฟฉาย UV พร้อมถ่านไฟฉาย 1 ก้อน, ชิป Keystone II พร้อมสายห้อยเนื้อยางแบบพวงกุญแจอีก 1 ชุด ซึ่ง Keystone II จะสื่อสารกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ผ่านทาง NFC แล้วเปลี่ยนโปรไฟล์ตัวเครื่องได้ทั้งหมด 2 แบบ ผู้ใช้สามารถเซ็ตโปรไฟล์และฟีเจอร์ได้ในโปรแกรม Armoury Crate 

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02584

ด้านใต้ตัวเครื่องจะแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ช่องลมเข้าสำหรับดึงอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อน กินพื้นที่ไปราว 65% ของพื้นที่ทั้งหมดและครึ่งล่างเป็นบอดี้ตัวเครื่องผิวเรียบพร้อมช่องลำโพงอีก 2 ช่องด้วยกัน และสังเกตว่าทาง ASUS จะติดแถบยางป้องกันด้านใต้ตัวเครื่องแบบพิเศษเอาไว้ 3 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่เส้นเล็กสลักคำว่า “For Those Who Dare” ตรงมุมซ้ายบน และครึ่งฝั่งขวาเป็นช่องเนื้อยางทั้งหมด มีคำว่า “Back On Top” อยู่ด้านบนและขอบล่างสลักตัวเลข 18-15-07 06/06, Republic Of Gamers เอาไว้ด้วย

สำหรับชุดตัวเลขนี้เป็น Easter Egg ของทาง ASUS โดยวิธีถอดรหัสจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 18-15-07 เป็นลำดับของตัวอักษรในภาษาอังกฤษ เมื่อนำมาเรียงตามลำดับทั้ง 26 ตัว แล้วแกะเป็นตัวอักษร 3 ตัว จะได้คำว่า R-O-G และเลข 06/06 คือ เดือนและปีที่ ASUS ก่อตั้งแผนก Republic Of Gamers “ROG” ขึ้นมา นับว่า ASUS ใส่ใจรายละเอียดการออกแบบและใส่รหัสลับต่างๆ ซ่อนเอาไว้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เยอะพอควร

Screen & Speaker

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02623

หน้าจอขนาด 17.3 นิ้ว ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะมีความละเอียดหน้าจอให้เลือกทั้งหมด 2 สเปค แบ่งเป็นความละเอียด WQHD (2560×1440) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz, Response Time 3ms, รองรับขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3, Adaptive-Sync, รองรับ Dolby Vision HDR ซึ่งเป็นรุ่นจำหน่ายในประเทศไทย อีกสเปคจะลดความละเอียดเหลือ Full HD (1920×1080) พาเนลIPS ค่า Refresh Rate 360Hz และ Response Time 3ms รองรับ Adaptive-Sync และเป็นจอ Dolby Vision เหมือนกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าทาง ASUS เลือกจอ WQHD มาขายเช่นนี้เป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากความละเอียดหน้าจอและสเปคของตัวเครื่องสมกันกำลังดี ได้ค่า Refresh Rate และความละเอียดสูงพร้อมๆ กัน

display data

ส่วนผู้ใช้คนไหนที่ต้องการปรับค่า Refresh Rate หน้าจอระหว่าง 60 และ 240Hz ให้เข้ามาที่ System > Display > Advanced display แล้วเลือกที่แถบ Choose a refresh rate จะเลือกเปลี่ยนความลื่นไหลของหน้าจอได้ โดยผู้เขียนแนะนำว่าถ้านั่งทำงานตามปกติก็เปลี่ยนเป็น 60Hz เพื่อประหยัดแบตเตอรี่ แล้วเปลี่ยนเป็น 240Hz ตอนเล่นเกมจะดีที่สุด

ส่วนขอบเขตสีหน้าจอเมื่อ Calibrate ด้วย Calibrite รวมทั้งเซ็ตโปรไฟล์สีด้วย DisplayCal 3 จะเห็นว่า Gamut coverage ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE กว้างระดับ 99.7% sRGB, 83.3% AdobeRGB และ 98.7% DCI-P3 ส่วน Gamut Volume สูงมากระดับ 145.2% sRGB, 100% AdobeRGB และ 102.9% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ย 0.17 เท่านั้น ถือว่าเที่ยงตรงสุดๆ และความสว่างหน้าจอ (Luminance) สูงถึง 327.16 cd/m2 ทีเดียว ถือว่าทาง ASUS เลือกใช้พาเนลหน้าจอคุณภาพสูง ทำให้ดูหนังและเล่นเกมได้อย่างเต็มอรรถรสหรือจะเอาไปทำงานเช่นพรู้ฟสีงานอาร์ตเวิร์คก็ทำได้สบายๆ

ด้านลำโพง 4 ตัวพร้อมชิป Smart Amp นับว่าเป็นลำโพงโน๊ตบุ๊คที่ดีไม่แพ้ใครอีกชุดหนึ่ง ซึ่งความดังเมื่อวัดด้วยเครื่องวัดเดซิเบลจะได้ความดังราว 83dB ซึ่งถือว่าดังมาก และถ้าเปิดเสียงดังสุดต้องถือว่าเนื้อเสียงมีคุณภาพดี ตอนดูหนังจะได้ความมีมิติและรู้สึกได้เลยว่าเสียงมีทิศทางจากฝั่งใดสู่ฝั่งใดด้วยลำโพงแบบ Dolby Atmos และเนื้อเสียงตอนฟังเพลงจะได้สเตจค่อนข้างกว้างและเหมาะกับเสียงสไตล์เพลงร็อคกับเพลง R&B เป็นพิเศษ เนื่องจากเนื้อเสียงมีความทุ้มในตัวอยู่ระดับหนึ่ง ส่วนการเล่นเกมเรียกว่าแบ่งทิศทางเสียงได้ดี รู้ทิศทางศัตรูชัดเจนและได้อารมณ์เป็นพิเศษในช่วง Gun Fight ในเกม FPS ก็ถือว่าทำได้ดีมีน้ำหนักพอควร

ส่วนคนชอบเพลงแนวป็อบแจ๊สก็จัดว่าฟังได้เพราะพอควร แต่เนื้อเสียงจะเจือขุ่นอ่อนๆ ไม่ได้ใสเป็นแก้วคาดว่าเพราะลำโพงนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ดังนั้นเสียงก็จะได้โทนแบบเอื้อเบสและหนักทางเกมมิ่งมากกว่า 

Keyboard & Touchpad

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02637

คีย์บอร์ดของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Full-Size พร้อมไฟ RGB แบบ 4-Zone ปรับเปลี่ยนสีสันของไฟได้ตามรสนิยมของผู้ใช้ในโปรแกรม Armoury Crate มีเอฟเฟคให้เลือกมากมาย และถ้าใครไม่อยากได้แสงไฟก็สามารถกดปิดไฟทิ้งได้โดยปุ่มลัดตรง F1-F12 ด้วย นอกจากนี้ส่วนเหนือคีย์บอร์ดจะมีบรรทัดพิเศษติดตั้งปุ่มมาโครไว้ 5 ปุ่ม สามารถเซ็ตได้ว่าจะให้ปุ่มเหล่านี้ทำงานอย่างไร แยกได้ตามโปรไฟล์อีกด้วย

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02638

สำหรับ Function Hotkey ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะมีแยกอยู่หลายโซนและมีฟังก์ชั่นติดตั้งมาให้ครบถ้วนทีเดียว โดยมีฟังก์ชั่นดังนี้

  • F1 – ปิดเสียงลำโพง
  • F2-F3 – ลดหรือเพิ่มแสงไฟ RGB คีย์บอร์ด
  • F4 – Aura Sync ปรับเอฟเฟคไฟคีย์บอร์ด
  • F5 – ปรับโปรไฟล์การทำงานของตัวเครื่อง แยกเป็น Silent, Performance, Turbo
  • F6 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool 
  • F7-F8 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F9 – ปุ่ม Project เซ็ตการทำงาหน้าจอหลักและเสริม
  • F10 – ปิดหรือเปิดการทำงานทัชแพด
  • F11 – สั่งเครื่องเข้า Sleep Mode
  • F12 – เปิด Airplane Mode
  • M1-M2 – ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • M3 – ปิดไมโครโฟน
  • M4 – ปรับโปรไฟล์การทำงานของตัวเครื่องเหมือน F5
  • M5 – เรียกโปรแกรม Armoury Crate ขึ้นมาใช้งาน

ด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน แม้เซ็ตปุ่ม M1-M5 เหนือแถว F1-F12 จะมีคำสั่งพื้นฐานซ้ำกันอยู่บ้างแต่ก็สามารถปรับแต่งให้เข้ากับสไตล์การใช้งานได้สะดวก และถือว่าทาง ASUS ก็ Mapping คำสั่งต่างๆ เอาไว้ให้ค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว ไม่ว่าจะปุ่มเรียกโปรแกรม Armoury Crate, เปลี่ยนไฟ RGB ของคีย์บอร์ด, เปลี่ยนโหมดการทำงานของตัวเครื่องก็มี แต่ให้ดีกว่านี้ผู้เขียนเสนอว่าถ้า ASUS เพิ่มคีย์ลัดเปลี่ยนค่า Refresh Rate ของตัวเครื่องเข้ามาให้ในเซ็ตคีย์ลัดเหล่านี้จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ผู้ใช้จะได้สลับโหมดการใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02644

ด้านคีย์ลัดอื่นๆ ของทาง ASUS ก็เซ็ตมาให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะปุ่มลูกศรที่ซ้อนคำสั่ง Page Up, Page Down, Home, End เอาไว้, Function Key สำหรับคนทำงานเหนือชุด Numpad หรือแม้แต่คีย์ลัดเรียกเครื่องคิดเลขตรงปุ่ม Enter ก็มีให้ใช้งาน ยิ่งไปกว่านั้นคีย์บอร์ดก็มีคำสั่ง Windows Lock ติดมาให้ เพียงแค่กด Fn+Windows เพื่อล็อคไม่ให้ปุ่ม Windows ทำงานเมื่อมือเผลอไปโดนตอนเล่นเกมอยู่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นคีย์ลัดที่เหมาะสมกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมากๆ 

ส่วนทัชแพดของตัวเครื่องจะมีขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ตรงที่พักข้อมือของตัวเครื่อง ดีไซน์แบบซ่อนปุ่มคลิกซ้ายและขวาและสังเกตว่าขนาดจะกว้างทีเดียว โดยอยู่ตั้งแต่ครึ่งปุ่ม Alt ซ้ายลากยาวไปจนถึงหัวปุ่ม Ctrl ฝั่งขวามือทีเดียว ตัวแป้นรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนเช่นกัน แต่จุดสังเกตคือตัวคลิกของแป้นทัชแพดจะค่อนข้างอ่อนทีเดียว ทำให้กะน้ำหนักมือได้ยากอยู่บ้าง ต้องอาศัยการปรับตัวระดับหนึ่ง

Connector / Thin & Weight

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02610

พอร์ตของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะติดตั้งเอาไว้ทั้งหมด 2 ด้าน คือซ้ายและด้านหลังเครื่อง ส่วนฝั่งขวามือจะเป็นช่องใส่ชิป Keystone II เพียงช่องเดียวเท่านั้น ส่วนพอร์ตด้านอื่นจะมีดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 1 x 2 ช่องและ Audio combo x 1
  • ด้านหลังจากซ้ายมือ – Thunderbolt 4 x 1 รองรับ DisplayPort, USB-C 3.2 Gen 2 รองรับการเชื่อมต่อหน้าจอแบบ DisplayPort รองรับ NVIDIA G-SYNC ในตัวและชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ด้วย, HDMI 2.1, LAN RJ45 x 1, ช่องอแดปเตอร์
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 

จะเห็นว่าพอร์ตของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ติดตั้งมาครบถ้วน ไม่ว่าจะ USB-A 3.2 สำหรับต่ออุปกรณ์เช่นเมาส์และคีย์บอร์ด ด้านของ Thunderbolt 4 ก็รองรับการเชื่อมต่อหน้าจอแยกเช่นเดียวกับ USB-C 3.2 Gen 2 ซึ่งฟังก์ชั่นติดตั้งมาครบถ้วนมาก ทั้งชาร์จแบตเตอรี่และต่อหน้าจอแยกได้ รวมทั้งรองรับ G-SYNC อีกด้วย ดังนั้นถ้าใครต้องการต่อหน้าจอแยกก็ต่อเพิ่มได้ถึง 3 หน้าจอ ได้แก่ USB-C ทั้ง 2 ช่องและ HDMI อีกช่อง โดยเฉพาะ HDMI 2.1 จะต่อหน้าจอความละเอียดสูงระดับ 8K ได้สบายๆ ดังนั้นถ้าใครต่อจอเกมมิ่ง 4K 120Hz ก็ต่อได้ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

แต่ที่น่าเสียดายอยู่บ้างแต่ก็พอรับได้ คือไม่มีช่อง MicroSD Card Reader ติดตั้งมาให้ ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังต่อผ่าน USB-C Multiport Adapter หรืออุปกรณ์เสริมแบบอื่นๆ แทน เพราะถ้าติดตั้งมาให้ช่างกล้องหรือทีมวิดีโอสามารถโอนวิดีโอหรือภาพถ่ายมาทำงานได้ทันที แต่ก็ยังพอมีตัวช่วยอื่นๆ อยู่ไม่ได้เป็นประเด็นนัก

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02619

ด้านพอร์ตพิเศษสำหรับใส่ชิป Keystone II ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะเชื่อมต่อกับตัวชิปผ่านทาง NFC เท่านั้น ช่วยให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มีลูกเล่นมากยิ่งขึ้นและเปลี่ยนโปรไฟล์ตอนใช้งานได้ทั้งตอนต่อและไม่ต่อชิปตัวนี้เอาไว้กับตัวเครื่อง โดยฟังก์ชั่นที่เซ็ตในโปรแกรม Armoury Crate จะมีคำสั่งดังนี้

  • ฟังก์ชั่นพื้นฐานของ Keystone II
    • Shadow Drive – ฟังก์ชั่นไดรฟ์พิเศษสำหรับใส่ข้อมูลส่วนตัวซึ่งไม่อยากเผยให้คนอื่นเห็นหรือใช้งานร่วม ถ้าถอด Keystone II ออก ตัวเครื่องจะซ่อนไดรฟ์ให้โดยอัตโนมัติและเรียกกลับมาให้ใช้งานเมื่อต่อไดรฟ์กลับมาในเครื่อง
    • Redeem เกมส์ต่างๆ ได้
    • เซฟแบ็คอัพงานต่างๆ ในเครื่องขึ้นสู่ระบบ Cloud ที่ใช้งานอยู่
  • ฟังก์ชั่นพิเศษของ Keystone II (เลือกได้ 1 คำสั่งเท่านั้น)
    • Stealth – โหมดซ่อนตัวโดยออกจากระบบของตัวเครื่อง (Sign out)
    • HyperFan Mode Switch – ปรับโหมดการทำงานของพัดลม เช่น ตั้งเป็นโหมดพัดลมทำงานเต็มที่เพื่อเล่นเกมก็ได้
    • Log-Out Windows – ออกจากระบบ Windows เมื่อถอดออกจากเครื่อง
    • Launch an app/game – เมื่อต่อเข้ากับตัวเครื่องแล้วเรียกโปรแกรมหรือเกมที่ต้องการเล่นขึ้นมาในทันที
    • Account Login / Restore Account Config – เข้าสู่ระบบ, คืนการตั้งค่า Account ของตัวเครื่อง

จะเห็นว่าชิป Keystone II เป็นชิปตัวเด่นใจความอีกรุ่นของทาง ASUS เลยทีเดียว ซึ่งถ้าใครอยากใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เอาไว้ทำงานเครื่องเดียว ก็ใช้ชิปตัวนี้เป็นตัวตั้งค่าปรับเปลี่ยนโปรไฟล์ตอนใช้งานได้เลย เรียกว่าสะดวกและได้ความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้นแน่นอน

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02581

น้ำหนักของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลต้องถือว่ามีน้ำหนักมากทีเดียว เฉพาะตัวเครื่องหนัก 2.94 กิโลกรัม พอรวมกับอแดปเตอร์น้ำหนัก 1.05 กิโลกรัมแล้ว จะหนักถึง 4 กิโลกรัมพอดีไม่มีเศษเลย ซึ่งน้ำหนักระดับนี้หากไม่ใช้กระเป๋าโน๊ตบุ๊คไซซ์ 17.3 นิ้วก็จะใส่ไม่ได้อย่างแน่นอน แม้จะพอใส่ในกระเป๋าขนาด 15.6 นิ้วได้บ้างแต่ก็ต้องฝืนใส่และเอียงตัวเครื่องเล็กน้อยให้รูดซิปได้ ไม่อย่างนั้นก็ควรหากระเป๋าล้อลากสักใบมาใช้งานก็เป็นทางออกที่ดี

Inside & Upgrade

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02588

หากต้องการอัพเกรด ASUS ROG Strix Scar 17 SE ก็สามารถเปิดฝาอัพเกรดได้ง่ายๆ เพียงแค่ขันน็อตแบบแฉก Philip Head จำนวน 11 ดอกแล้วเอาการ์ดแข็งไล่ตามกรอบตัวเครื่องส่วนบนได้เลย โดยผู้เขียนแนะนำให้ไล่จากขอบด้านบนของตัวเครื่องไล่มาตามขอบซ้ายขวาแล้วเว้นโซนพื้นที่ Surrounded Light Bar เอาไว้เป็นจุดสุดท้าย เนื่องจากขอบเครื่องส่วนนี้จะมีสายแพต่ออยู่ 2 เส้น ถ้าเปิดโดยไม่ระวังสายแพอาจจะขาดหรือเกิดความเสียหายได้

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02591

ด้านในตัวเครื่องจะมีจุดให้อัพเกรดทั้งหมด 2 ส่วน คือ M.2 NVMe SSD ที่เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ติดตั้งมาให้จากโรงงาน 1TB x 1 ช่อง เหลือช่องว่างอยู่ 1 ช่อง อัพเกรดได้สูงสุดช่องละ 2TB และสามารถทำ RAID 0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกด้วย แรมเป็น SO-DIMM ทั้งสองช่อง ติดตั้งมาให้ 32GB (16GB x 2) DDR5 บัส 4800MHz รองรับการอัพเกรดสูงสุดช่องละ 32GB สูงสุด 64GB ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแรม 32GB DDR5 จากโรงงานมีความจุเยอะเพียงพอใช้ทั้งทำงานและเล่นเกมอย่างแน่นอน ยกเว้นว่าใครทำงานกราฟฟิคหรือทำงาน 3D CG หนักๆ ค่อยอัพเกรดในภายหลัง

Performance & Software

cpu 3

สเปคของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE นั้นรวมของดีที่สุดที่มี ณ ปี 2022 มาให้เต็มที่ ไม่ว่าจะซีพียู Intel Core i9-12950HX แบบ 16 คอร์ (8P+8E) 20 เธรด ความเร็ว 3.6-5.0GHz เป็นซีพียูสถาปัตยกรรม Intel Alder Lake Mobile ที่ดีสุด ณ ตอนนี้ ค่า TDP อยู่ที่ 55 วัตต์ มีฟังก์ชั่น Dynamic Boost เพิ่มค่าวัตต์ของซีพียูไป 65 วัตต์ เพื่อเร่งประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นอีก

สำหรับตัว Intel Core i9-12950HX ถือว่าเป็นซีพียูโน๊ตบุ๊ครุ่นที่กำลังประมวลผลสูงไม่แพ้ซีพียูเดสก์ท็อปรุ่นใกล้เคียงกันเลย ดังนั้นถ้านำมาทำงานหรือเล่นเกมก็คาดหวังประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย

ram3

แรมในเครื่องมีความจุ 32GB (16GB x 2) DDR5 บัส 4800MHz ชิปแรมผลิตโดย Micron Technology หากใช้เล่นเกมและตัดต่อคลิปวิดีโอก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่ถ้าใครอยากอัพเกรดก็เพิ่มแรมได้มากสุดถึง 64GB DDR5 ทีเดียว ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าถ้าเล่นเกมและตัดต่อคลิปเป็นหลัก แรม 32GB เดิมๆ จากโรงงานก็ตอบโจทย์อย่างแน่นอน ยกเว้นคนที่ทำโมเดล 3D หรือเขียนแบบ AutoCAD อาจจะอัพเกรดแรมเพิ่มก็ดีเช่นกัน

การ์ดจอแยกเป็นรุ่น NVIDIA GeForce RTX 3080 Ti มีแรม 16GB GDDR6 มีประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่ง CUDA Cores ในตัวการ์ดจอจะมีอยู่ 7,424 คอร์ มีมากกว่า NVIDIA GeForce RTX 3080 ที่มี 6,144 คอร์ ถึง 1,280 คอร์ด้วยกัน ดังนั้นในแง่การทำงานกราฟฟิค 3D CG หรือตัดต่อวิดีโอก็ใช้งานได้ดีอย่างแน่นอน ด้านค่า TGP เมื่อเช็คใน System Information แล้วอยู่ที่ 175 วัตต์ รองรับ DirectX 12 และชุดคำสั่งต่างๆ ครบถ้วน ได้แก่ OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX ดังนั้นการ์ดจอนี้เมื่อติดตั้งมาใน ASUS ROG Strix Scar 17 SE นอกจากเล่นเกมได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังสามารถเรนเดอร์วิดีโอหรือโมเดล 3D ต่างๆ ได้ดีแน่นอน

devicemgr 3

ส่วนของพาร์ทภายในเครื่อง เมื่อเช็คผ่านทาง Device Manager จะเห็นว่าทาง ASUS เลือกแต่พาร์ทคุณภาพดีมาติดตั้งให้ ได้แก่ การ์ด Wi-Fi รุ่น Intel Wi-Fi 6E AX211 มีแบนด์วิธคลื่น 160MHz ซึ่งถือว่ากว้างทีเดียว รวมทั้งการ์ด LAN เป็นรุ่น Realtek Gaming 2.5GbE ทำให้ดูหนังฟังเพลงหรือเล่นเกมออนไลน์บนอินเตอร์เน็ตได้อย่างต่อเนื่องและเสถียร และมีชิป TPM 2.0 ติดตั้งมาให้เพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูลภายในเครื่องและเป็นชิปสำคัญของ Windows 11 อีกด้วย

ssd 4

M.2 NVMe SSD ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็น Samsung MZVL21T0HCLR-00B00 หรือ Samsung PM9A1 รหัส OEM ของ Samsung 980 PRO 1TB รุ่นยอดนิยมซึ่งผู้ผลิตหลายเจ้านิยมนำมาติดตั้งในโน๊ตบุ๊คใช้ SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 โดยสเปคหน้าเว็บไซต์ของ Samsung คือ ตัว SSD เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 มีความเร็ว Sequential Read 7,000MB/s และ Sequential Write 5,100MB/s เมื่อทดสอบด้วย AS SSD Benchmark แล้ว ได้ผลคือ Sequential Read 5,143.3MB/s และ Sequential Write 4,289.36MB/s จัดว่าทำงานได้ดีโหลดโปรแกรมต่างๆ และเกมได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องความเร็วหรืออยากทำ RAID 0 ก็ไม่จำเป็นต้องอัพเกรดก็ได้

ในทางกลับกัน หากใครอยากอัพเกรด M.2 NVMe SSD ให้ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้นอาจจะเปลี่ยนมาใช้ Samsung 980 PRO, WD Black SN850, Kingston KC3000 หรือจะ Kingston FURY Renegade ก็จัดเป็น M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หากใครมีรุ่นนอกเหนือจากนี้ก็เลือกมาเติมให้ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เครื่องนี้ก็ได้ 

ด้านการทำงาน 3D CG เมื่อทดสอบการเรนเดอร์งานด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 แล้ว จะเห็นว่าคะแนน OpenGL ที่เน้นทดสอบการเรนเดอร์ของการ์ดจอนั้นทำได้ 216.53 fps และคะแนน CPU เองก็จัดว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน ซึ่งอยู่ที่ 3,038 cb หากเทียบแล้วต้องถือว่ากำลังประมวลผล 3D CG นั้นสูงพอใช้ทำงานตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพหรือแม้แต่ทำโมเดล 3D CG ได้สบายๆ ยิ่งกำลังประมวลผลของ CPU ก็ยิ่งน่าประทับใจ เมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R20 แล้ว จะเห็นว่าคะแนน CPU อยู่ที่ 7,485 pts จึงสรุปได้ว่าซีพียู Intel Core i9-12950HX ใน ASUS ROG Strix Scar 17 SE ใช้รันงานกราฟฟิคหนักๆ ได้อย่างไหลลื่นแน่นอน จะนำไปทำงานด้านครีเอเตอร์ก็ดีไม่น้อยหน้ารุ่นไหนเลย

3dmark 2

ในเมื่อ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวท็อปของทางบริษัทแล้ว ผลการทดสอบด้วย 3DMark Time Spy ก็ทำคะแนนได้ดี ทะลุหลักหมื่นคะแนนได้โดยไม่ยากเย็น โดยได้คะแนนรวมไป 12,339 คะแนน แยกเป็นคะแนน CPU score 11,880 คะแนน ส่วน Graphics score 12,424 คะแนนด้วยกัน เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จึงสามารถรันเกมฟอร์มยักษ์ความละเอียดระดับ QHD~UHD ได้แน่นอนและได้เฟรมเรทต่อเนื่องเป็นอย่างมาก

pcmark10 2

ด้านการทำงาน ASUS ROG Strix Scar 17 SE ก็สามารถทำงานได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กับโน๊ตบุ๊คเครื่องไหนๆ อย่างแน่นอน โดยคะแนนที่ได้จากโปรแกรมจำลองการทำงานออฟฟิศอย่าง PCMark 10 อยู่ที่ 7,208 คะแนน จัดว่าได้คะแนนสูงระดับหัวแถวไม่แพ้กับโน๊ตบุ๊คตัวท็อปรุ่นอื่นๆ อย่างแน่นอน แต่สังเกตในหมวดคะแนนแยกย่อย จะเห็นว่าการทดสอบ Digital Content Creation จะทำคะแนนได้สูงนำหมวดการใช้งานเอกสารทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ก็สรุปได้ว่าเป็นผลจากซีพียู Intel Core i9-12950HX, NVIDIA GeForce RTX 3080 Ti และแรมอีก 32GB DDR5 บัส 4800MHz เป็นตัวส่งเสริมนั่นเอง ดังนั้นนอกจากเล่นเกมซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแล้ว มันก็สามารถรันงาน 3D เช่น เรนเดอร์และปั้นโมเดล 3 มิติต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นเลย 

rog

เมื่อนำไปทดสอบเล่นเกม จะเห็นว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์โดยปรับกราฟฟิคระดับสูงสุดได้สบายๆ ไม่ว่าจะ Resident Evil Village, Death Stranding, Horizon Zero Dawn และ GTA V ก็ไม่มีปัญหา และสังเกตว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของเกมที่ยกตัวอย่างมาจะได้เฉลี่ยเกิน 100 fps ทั้งหมด ด้วยความละเอียดหน้าจอระดับ Full HD ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าต่อให้เล่นเกมบนหน้าจอระดับ QHD ซึ่งเป็นความละเอียดหน้าจอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็ยังรีดเฟรมเรทได้สูงไม่แพ้กันอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะที่ผู้เขียนประทับใจเองเป็นพิเศษ คือ ตอนทดสอบเล่น Red Dead Redemption 2 ซึ่งเป็นเกมกินสเปคตัวเครื่องเป็นพิเศษอยู่แล้ว หากเครื่องไม่แรงจริงก็อาจจะเกิดอาการเฟรมเรทตกได้ง่ายๆ โดยในการทดสอบครั้งนี้ผู้เขียนปรับกราฟฟิคไปที่ Favor Quality ระดับสูงสุดแล้วทดลองเล่นดู ก็ยังได้ภาพที่ไหลลื่นทุกฉาก ไม่ว่าจะตอนยิงต่อสู้บนหลังม้า, โยนระเบิดหรือจะวิ่งเข้าออกตัวอาคารและหลบกระสุนไปมา ASUS ROG Strix Scar 17 SE ก็ยังรีดเฟรมเรทเฉลี่ยได้สูง โดยได้เฟรมเรทเฉลี่ย 86 fps โดยไม่ยากเย็นและไม่เกิดอาการกระตุกให้เห็นเลย ดังนั้นสรุปง่ายๆ ได้ทันทีว่าเกมเมอร์เจ้าของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์แบบปรับกราฟฟิคสูงสุดทุกอย่างบนหน้าจอความละเอียดสูงของตัวเครื่องหรือต่อหน้าจอแยกก็ได้ตามต้องการ ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จะทรงพลังพร้อมเล่นได้ทุกเกมไปอีก 4-5 ปีอย่างแน่นอน

main 2

ส่วนของการปรับตั้งค่าตัวเครื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยน MUX Switch, เซ็ตมาโครให้แต่ละปุ่มบนคีย์บอร์ด, เปลี่ยนโปรไฟล์ตัวเครื่อง, ตั้งค่าวอลเปเปอร์ AURA Sync ก็สามารถเซ็ตตั้งค่าในโปรแกรมนี้ได้ทันที ซึ่งเคล็ดลับหนึ่งจากผู้เขียนขอแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเกมเมอร์ที่อยากรีดประสิทธิภาพของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ให้เต็มที่ เพียงแค่ปรับโหมด MUX Switch เป็น Discrete GPU หรือบังคับใช้การ์ดจอแยกอย่างเดียวจะทำให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เล่นเกมได้ดีกว่าเดิมสูงสุด 43% เลยทีเดียว แต่ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้เปิดโหมดนี้ก็ต่อเมื่อเสียบอแดปเตอร์ติดกับตัวเครื่องเท่านั้น หากใช้การ์ดจอแยกกับแบตเตอรี่จะทำให้ใช้งานได้ไม่นาน และเมื่อแบตเตอรี่หมดจนต้องชาร์จจาก 0% ขึ้นมาใหม่ อาจจะทำให้เซลแบตเตอรี่เสื่อมได้เร็วขึ้นด้วย

Battery & Heat & Noise

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02601

แบตเตอรี่ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะมีขนาดใหญ่ วางแนวขวางเกือบสุดขอบตัวเครื่อง โดยติดกับลำโพงฝั่งขวามือและฝั่งซ้ายจะเว้นพื้นที่ไว้ให้เล็กน้อยให้ M.2 NVMe SSD อีกตัวหนึ่ง เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลีเมอร์ มีความจุ 90Wh แยกเป็น Typical Capacity 5,845mAh และ Rated Capacity ที่ 5,675mAh จัดว่ามีความจุเยอะพอใช้งานได้นานระดับหนึ่ง

batt 1

ส่วนการทดสอบระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ด้วย BatteryMon ตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ คือ ปิดไฟ RGB ทุกส่วนของตัวเครื่อง, ลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, เปิดเสียงลำโพง 10% แล้วเปลี่ยนโหมดใน Armoury Crate เป็น Silent ส่วน Windows เป็น Battery Saver แล้วใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาที ก่อนจะได้ผลว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE สามารถใช้งานด้วยแบตเตอรี่ในเครื่องได้ 5 ชั่วโมงกับ 8 นาทีด้วยกัน

ในส่วนนี้ผู้เขียนมั่นใจว่าผู้ใช้หลายคนอาจจะติดใจว่าทำไมได้แบตเตอรี่ 90Wh แล้วทั้งที เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็น่าจะใช้งานได้เกินหรือเท่ากับ 7 ชั่วโมง ก็ต้องขออธิบายว่ามันมีปัจจัยหลายส่วนทีเดียว ไม่ว่าจะซีพียูรหัส HX ซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดจาก Intel เองก็ไม่ได้เน้นเรื่องประหยัดพลังงานอยู่แล้ว แต่เน้นประสิทธิภาพการประมวลผลต้องได้ดีที่สุด เรียกว่าได้อย่างก็ต้องยอมแลกอะไรสักอย่างไป ดังนั้นเมื่อใช้งานได้นาน 5 ชั่วโมงเช่นนี้ก็ไม่น่าแปลกอะไรนัก แต่วิธีการให้เจ้าของเครื่องสามารถใช้ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เครื่องนี้ตอนพกไปใช้งานนอกสถานที่ได้นานสุด คือ ต้องมีปลั๊ก GaN กำลังไฟ 100 วัตต์ขึ้นไปติดกระเป๋าคู่กับสาย USB-C ที่เป็น Thunderbolt อยู่เสมอ เวลาทำงานหรือเข้าเลคเชอร์ไประยะหนึ่งแล้วแบตเตอรี่เริ่มลดต่ำลงก็ต่อชาร์จผ่าน USB-C ได้ทันที พอตอนนั่งโต๊ะทำงานหรือเล่นเกมก็ใช้อแดปเตอร์ของเครื่องชาร์จและจ่ายพลังงานให้รีดประสิทธิภาพให้เต็มที่ก็ได้

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02592

ด้านระบบระบายความร้อน Vapor Chamber ซึ่งทาง ASUS ร่วมพัฒนากับทาง Thermal Grizzly เป็นระบบระบายความร้อนแบบ Liquid Metal หรือใช้โลหะเหลวเป็นตัวนำความร้อนออกมาที่ฮีตไปป์ 6 เส้นแล้วเป่าออกที่พัดลมระบายความร้อน Arc Flow Fans แบบ 84 ใบพัด ระบายออกช่องระบายความร้อน 4 ช่อง แยกเป็นด้านข้างและหลังเครื่องด้วยกัน ซึ่งข้อดีที่ทาง ASUS เคลมไว้ คือ ชุดระบายความร้อนใน ASUS ROG Strix Scar 17 SE จะลดอุณหภูมิในเครื่องไปได้สูงสุด 14 องศาเซลเซียสทีเดียว และมีระบบ 0dB Ambient Cooling หากอุณหภูมิของซีพียูไม่เกิน 60 องศา พัดลมจะไม่หมุนให้เกิดเสียงและใช้พลังงานมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

hwmonitor 1

โดยอุณหภูมิในตัวเครื่องเมื่อวัดด้วย CPUID HWMonitor ระหว่างที่กำลังเล่นเกม จะเห็นว่าอุณหภูมิตัวเครื่องอยู่ระหว่าง 52~100 องศา เฉลี่ย 62 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นเป็นอุณหภูมิของซีพียูและการ์ดจอภายในชุดระบายความร้อน Vapor Chamber และตัวโปรแกรม HWMonitor วัดได้ ซึ่งผู้เขียนมั่นใจว่าผู้อ่านหลายคนคาดหวังให้เครื่องนี้ระบายความร้อนได้ดีและเย็นกว่านี้ก็ตาม แต่ขอให้มองในมุมว่า Intel Core i9-12950HX เป็นซีพียูโน๊ตบุ๊คที่ประสิทธิภาพการทำงานเทียบชั้นเครื่อง Desktop แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีจำกัดเช่นนี้ การจำกัดอุณหภูมิให้ได้ระดับนี้ก็ถือว่าเย็นที่สุดเท่าที่ระบบ Vapor Chamber ทำได้แล้ว

ในทางกลับกันตอนใช้งานจริงนั้นกลับไม่เจอปัญหาเรื่องความร้อนจากตัวเครื่องรบกวนตอนเล่นเกมเลยแม้แต่นิดเดียวไม่ว่าจะแผ่ความร้อนขึ้นมาหรือว่าเกิดอาการร้อนระอุบนบอดี้ตัวเครื่องก็ตาม อาจนับเป็นข้อดีที่ทางบริษัทเอาระบบระบายความร้อนที่ดีสุด ณ ตอนนี้มาติดตั้งใน ASUS ROG Strix Scar 17 SE ก็ได้ ดังนั้นเกมเมอร์ที่ต้องการเล่นเกมแล้ววางมือบนแป้นคีย์บอร์ด ไม่ต่อคีย์บอร์ดแยกเพื่อเล่นเกมก็ทำได้ ไม่มีปัญหา ไม่เกิดปัญหา Throttle Down จากความร้อนมารบกวนและเล่นเกมต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงอย่างแน่นอน

User Experience

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02662

หากยกยอดเรื่องอุณหภูมิที่หลายคนอาจจะกังวล, แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน 5 ชั่วโมง และน้ำหนักเครื่อง 4 กิโลกรัมไปแล้ว ผู้เขียนกล่าวได้เต็มปากว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นที่แรงที่สุดในโลก ณ ปี 2022 นี้ได้อย่างเต็มปาก เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับ Desktop Replacement ได้อย่างแท้จริง กำลังการประมวลผลของมันสามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์, ทำงาน 3D CG ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ไม่แพ้พีซีสเปคแรงๆ สักเครื่องอย่างแน่นอน ดังนั้นนอกจากเล่นเกมแล้วก็ยังเอาไปทำงานตัดต่อวิดีโอและงานกราฟฟิคหนักๆ ได้อย่างดีไม่มีปัญหาเลย

จากการใช้งานจริงยอมรับว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ทรงพลังมาก หลังจากทดสอบเล่นเกมที่ความละเอียด 1080p เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ของทางเว็บไซต์แล้ว ผู้เขียนเองก็ลองเล่นเกมเดียวกับที่ทดสอบแต่ปรับความละเอียดหน้าจอเป็นระดับ QHD แทน ก็เรียกว่าได้ประสบการณ์ความไหลลื่น เล่นเกมได้สนุกไม่ต่างกับหน้าจอ 1080p เลยแม้แต่น้อย ทว่าจุดที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม คือ ได้ภาพที่คมชัดกว่า สีสันสวยเข้มยิ่งขึ้นด้วยจอ Dolby Vision HDR และลำโพง Dolby Atmos ที่ได้อารมณ์ยิ่งกว่าเดิม ยิ่งใครชอบเล่นเกมแนว FPS ก็น่าจะชอบลำโพงนี้เพราะมันแยกทิศทางเสียงได้ดีและชัดเจนมากหรือจะต่อหูฟังเพื่อเล่นเกมก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน หากเป็นผู้เขียนเอง อาจจะอัพเกรดแค่ M.2 NVMe SSD ให้มีความจุเป็น 2TB ทั้งสองช่องก็เพียงพอแล้ว เพราะว่าแรม 32GB DDR5 บัส 4800MHz ในตัวถือว่าประสิทธิภาพสูงพอใช้งานตั้งแต่เล่นเกมไปจนตัดต่อวิดีโอก็ยังได้สบายๆ ยกเว้นว่าใช้งานต่อไปอีก 2-3 ปี เกมกินสเปคมากขึ้นแล้วแรม 16GB กลายเป็นมาตรฐานสเปคขั้นต่ำเมื่อไหร่ ค่อยคิดเรื่องการอัพเกรดก็ได้เช่นกัน

ดังนั้นถ้าใครพร้อมจ่ายเงินเรือนแสนบาทเพื่อเกมมิ่งพีซีดีๆ สักเครื่องแต่ไม่อยากประกอบคอมพิวเตอร์ให้ลำบากและเสียเวลา ไม่ถนัดงานซ่อมงานประกอบตอนคอมพิวเตอร์มีปัญหาล่ะก็ หันมาซื้อ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ไปต่อหน้าจอแยกแล้วเล่นเกมแทนก็ได้ไม่ต้องเสียเวลาประกอบเกมมิ่งพีซีเลย และยังได้รับการรับประกันต่อเนื่องนานถึง 3 ปีเต็มๆ ทั้งในประเทศแบบ On-site service และยังเข้าศูนย์ได้ 57 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีประกัน ASUS Perfect Care อีก 1 ปีแรก คอยดูแลค่าอะไหล่อีก 80% เมื่อเกิดความเสียหายอีกด้วย

Conclusion & Award

ASUS ROG Strix Scar 17 SE DSC02663

ถ้าให้จำกัดความแล้ว ก็ต้องถือว่า ASUS ROG Strix Scar 17 SE เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นที่ทรงพลังที่สุด แรงที่สุด เหมาะจะใช้ทั้งทำงานและเล่นเกมและเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับ Desktop Replacement ได้โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ยิ่งถ้าใครอยู่คอนโดมิเนียมมีพื้นที่จำกัดแต่อยากเสพย์ความสุขของการเล่นเกมฟอร์มยักษ์ ปรับกราฟฟิคสูงสุดให้ได้สัมผัสความ Next-Gen อย่างเต็มที่ ก็หันมาหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เลย เพราะมันกินพื้นที่มากสุดเท่าโน๊ตบุ๊คเครื่องใหญ่ๆ เครื่องเดียว แล้วต่อหน้าจอแยกความละเอียดระดับ QHD ค่า Refresh Rate สูงๆ เชื่อว่าเกมเมอร์จะต้องมีความสุขและหลงรักมันอย่างแน่นอน

นอกจากเกมเมอร์แล้ว คนทำงานตัดต่อวิดีโอ, ทำโมเดล 3D, ใช้งาน AutoCAD หรืองานครีเอเตอร์ต่างๆ ก็เหมาะกับ ASUS ROG Strix Scar 17 SE เครื่องนี้เช่นกัน เพราะได้ Intel Core i9-12950HX กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3080 Ti พ่วงแรม 32GB DDR5 บัส 4800MHz เข้าไปด้วย ทำให้เรนเดอร์งานและโปรเจคใหญ่ๆ เสร็จได้อย่างรวดเร็วและพกเครื่องไปพรีเซนต์งานกับลูกค้าได้สบายๆ ดังนั้นโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จึงไม่จำกัดอยู่ในกรอบของความเป็นเกมมิ่งอย่างเดียวแน่นอน

award

award new performance

Best Performance

ในแง่ประสิทธิภาพของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE สามารถพูดได้เต็มปากว่ามันทรงพลังอย่างไม่มีคู่แข่งหรือคู่ต่อกร สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์หรือทำงานหนักๆ ได้สบายๆ ไม่มีปัญหาและยังอัพเกรดเพิ่ม SSD, RAM ได้อีกและรองรับ RAID 0 อีกด้วย จึงคู่ควรกับรางวัล Best Performance เป็นที่สุด

award new Gaming

Best Gaming

รางวัล Best Gaming ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE ได้จากสเปคตัวเครื่องที่แรงจบไม่ต้องอัพเกรดก็ยังได้ เมื่อจับคู่กับหน้าจอ 17.3 นิ้ว ความละเอียด QHD ค่า Refresh Rate สูงและเป็นจอ Dolby Vision ทำให้ได้อรรถรสตอนเล่นเกมยอดเยี่ยม ต่อหน้าจอแยกก็ยิ่งได้อรรถรสยิ่งกว่าเดิม และมั่นใจว่าสเปคนี้สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์ได้อีก 3-4 ปีเป็นอย่างต่ำๆ แน่นอน

NBS award 7 Design

best design

รางวัล Best Design ของ ASUS ROG Strix Scar 17 SE มาจากการพลิกดีไซน์เดิมของตระกูล ROG Strix ให้แตกต่างด้วยองค์ประกอบหลากหลาย ไม่ว่าจะ  Armor Cap, Surrounded Light Bar, Aura Glow, Cipher เป็นลูกเล่นการดีไซน์ซึ่งแตกต่างไม่เหมือนรุ่นอื่นในตระกูลนี้อย่างแน่นอน

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว MSI

MSI Stealth A16 AI+ ครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คเล่นเกมได้ ดีไซน์เรียบหรูและแรงด้วยพลัง AMD Ryzen AI ทำได้ทุกงานเล็กใหญ่!! นอกจาก MSI Titan กับ MSI Raider สองพี่น้องตัวแรงขวัญใจเกมเมอร์แล้ว ฝั่งครีเอเตอร์หน้าตาเรียบหรูซ่อนความแรงก็มี MSI Stealth A16 AI+ ให้ครีเอเตอร์หาซื้อเอาไว้ทำงานกราฟิคตั้งแต่แต่งภาพและตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงก็ได้ ปั้นโมเดล...

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก