MSI Creator Z16 โน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ที่ทั้งสเปคและองค์ประกอบคุ้มค่าไม่แพ้ใคร
โน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์อย่าง MSI Creator Z16 นั้น แม้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่ราคาค่อนข้างสูง แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ได้มาจากการจ่ายเงินซื้อโน๊ตบุ๊คราคา 76,990 บาทมาใช้นั้น ถือว่าคุ้มค่าด้วยสเปคที่เอื้อกับการทำงานหลายอย่างทั้งหน้าจอ True Pixel ที่เป็น Golden Ratio อัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำหรือแม้แต่ไดรเวอร์ NVIDIA Studio ซึ่งเป็นไดรเวอร์แบบที่ NVIDIA Optimize ให้ทำงานกับโปรแกรมสายครีเอทีฟต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและเสถียรกว่าไดรเวอร์ทั่วไปของ NVIDIA อีกด้วย
ส่วนของการทำงานเรียกว่าแรงหายห่วง เพราะ MSI ให้สเปคมาแบบไม่กั๊กระดับเทียบชั้นกับโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์จากคู่แข่งได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ สามารถเรนเดอร์วิดีโอความละเอียดสูงระดับ 4K หรือใช้ Adobe Photoshop ที่ซ้อนงานกันหลายเลเยอร์ได้สบายๆ ด้วยซีพียูเริ่มต้นมาก็เป็น Intel Core i7-11800H กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 และแรม 32GB ที่เรียกว่าให้มาเพียงพอต่อการทำงานกราฟฟิคต่างๆ ได้เป็นอย่างดีไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ ดีไซน์ตัวเครื่องก็ให้ความพรีเมี่ยมหรูหราเพราะเป็นบอดี้อลูมิเนียม CNC ปัดเงา ตัวเครื่องแข็งแรงงานประกอบแน่น คงเอกลักษณ์ของ MSI อย่างคีย์บอร์ดไฟ RGB ที่หลายคนชื่นชอบและลำโพงที่จูนเสียงด้วย Dynaudio พร้อมซอฟท์แวร์จาก Nahimic ซึ่งเรียกว่าครีเอเตอร์ไม่ว่าจะสายอาร์ตเวิร์คหรือทำเพลง โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
NBS Verdict
ถ้าใครเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์, ฝ่ายศิลป์ประจำออฟฟิศ หรือแม้แต่คนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับงานศิลป์และสีสันต่างๆ แต่กำลังหาโน๊ตบุ๊คที่จัดการงานเหล่านี้ได้ดีอยู่สักเครื่อง MSI Creator Z16 เครื่องนี้ถือเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ที่ดีอีกรุ่นซึ่งไม่ควรมองข้าม เพราะสเปคที่เรียกว่าให้มาแบบจัดเต็มพร้อมทำงานได้ทันที ออกแบบอัตราส่วนหน้าจอเป็น 16:10 ซึ่งเป็น Golden Ratio ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำ ไว้ใจตอนทำงานอาร์ตต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้เรื่องดีไซน์และฟีเจอร์เสริม ก็เรียกว่าให้มาแบบไม่กั๊ก เช่นระบบสแกนใบหน้าและนิ้วมือเพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของตัวผู้ใช้เอง, หน้าจอสัมผัสที่ใช้แตะเลือกสิ่งต่างๆ บนหน้าจอได้ง่าย ให้ลำโพงปรับจูนเสียงด้วย Dynaudio มีซอฟท์แวร์ปรับเสียง Nahimic ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน และเอกลักษณ์ประจำโน๊ตบุ๊คของ MSI หลายๆ รุ่น อย่างคีย์บอร์ดพร้อมไฟ RGB ให้ความสวยงาม ปรับแสงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามจุดสังเกตที่ต้องเตรียมใจอยู่บ้าง คือเมื่อเปิดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาใช้แล้วพัดลมระบายความร้อนจะทำงานแทบจะทันทีและมีเสียงพัดลมชัดเจน และที่ตัวเครื่องจะไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอโดยตรงอย่าง HDMI หรือ mini DisplayPort ดังนั้นถ้าใครต้องการต่อหน้าจอเสริมเอาไว้ใช้งานด้วย แนะนำให้หาสายเชื่อมต่อหน้าจอหรือ USB-C Multiport adapter มาต่อกับพอร์ต Thunderbolt 4 ด้วยจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้
ส่วนของการอัพเกรดเรียกว่าทำได้ยากมากรุ่นหนึ่ง เนื่องจากตัวเครื่องประกอบมาดีและแน่นหนาซึ่งเป็นเรื่องดี แต่สำหรับคนที่ต้องการอัพเกรดเพิ่มแรมหรือ SSD ให้เป็นรุ่นใหม่ก็จะทำได้ยากมาก ควรยกไปให้ทางศูนย์บริการจัดการให้จะดีที่สุด
จุดเด่นของ MSI Creator Z16
- ซีพียู Intel Core i7-11800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ประสิทธิภาพสูงพร้อมใช้ทำงานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ ได้ดี
- สเปคโดยรวมถือว่าคุ้มค่าตัว ได้แรม 32GB, M.2 NVMe SSD 1TB มาให้ ไม่ต้องอัพเกรดก็ได้
- ไดรเวอร์ของการ์ดจอเป็น NVIDIA Studio ที่ปรับแต่งมาพิเศษเพื่อใช้ทำงานโดยเฉพาะ
- หน้าจอสัมผัสใช้พาเนลคุณภาพสูงมาก ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB, 90% DCI-P3, Delta-E <2 ตรงตามที่ทาง MSI เคลมประสิทธิภาพเอาไว้จริง อัตราส่วนจอ 16:10 เป็น Golden Ratio เหมาะกับการทำงานด้านครีเอเตอร์
- ติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ 2 ช่อง พร้อใช้โอนไฟล์, ต่อหน้าจอแยกหรือแม้แต่ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่อง
- บอดี้ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม CNC ทั้งตัว ทั้งแข็งแรงและสวยงามหรูหราเสริมบุคลิคผู้ใช้
- ลำโพงที่ปรับจูนเสียงด้วย Dynaudio ให้เสียงที่ดี ฟังเพลงได้หลากหลายแนว เบสกำลังน่าฟังไม่ล้นจนเกินไป
- มีระบบรักษาความปลอดภัยมาให้ครบครันทั้งระบบสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้ดี
- มีขาพลาสติกติดไว้ขอบล่างหน้าจอด้านหลัง ช่วยยกตัวเครื่องขึ้นเล็กน้อยให้พิมพ์งานสะดวกและเพิ่มระยะห่างให้มีช่องดึงอากาศเข้ามาระบายความร้อนได้ดีขึ้น
- คีย์บอร์ดวางปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ เอาไว้ให้ใช้งานครบถ้วน รวมทั้งแยกปุ่มที่เอื้อการทำงานแยกเอาไว้ให้เป็นพิเศษ รวมทั้งกดสลับเป็นปุ่ม F1-F12 ได้ด้วยปุ่ม Function Lock ด้วย
- ออกแบบวางโซนชุดระบายความร้อนได้ดี โดยจัดโซนเอาไว้เหนือชุดคีย์บอร์ดไม่ซ่อนใต้คีย์บอร์ดแล้ว ความร้อนเลยไม่รบกวนตอนทำงาน
ข้อสังเกตของ MSI Creator Z16
- การแกะตัวเครื่องมาอัพเกรดทำได้ยาก ไม่ควรทำเองและควรยกไปให้ศูนย์บริการช่วยจัดการ
- ไม่มีพอร์ต HDMI ติดตั้งมาให้ ถ้าต้องการต่อหน้าจอแยกต้องเอา USB-C Multiport adapter มาต่อ Thunderbolt 4 แล้วต่อหน้าจอแยกแทน
รีวิว MSI Creator Z16
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
MSI Creator Z16 นั้น ถือเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์จากทาง MSI ที่นอกจากตัวเครื่องจะดูพรีเมี่ยมแล้ว ยังให้ฟีเจอร์ดีๆ มาอีกหลายอย่างไม่ว่าจะรองรับการสแกนใบหน้าและนิ้วมือเพื่อปลดล็อคเครื่อง, ลำโพงปรับจูนเสียงด้วย Dynaudio และมีซอฟท์แวร์ Nahimic เอาไว้ปรับแต่งเสียงให้เข้ากับรสนิยมและรูปแบบการใช้งานได้และคีย์บอร์ดก็มีไฟ RGB บนคีย์บอร์ดอีกด้วย เรียกว่าถึงจะเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ก็ตาม แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของ MSI เอาไว้อย่างครบถ้วน
สเปคตัวเครื่องติดตั้งซีพียู Intel Core i7-11800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.3-4.6 GHz เป็น Intel รุ่นที่ 11 สถาปัตยกรรม Tiger Lake ประสิทธิภาพสูงพร้อมใช้ทำงานหนักได้สบายๆ จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6 Max-Q และใช้ไดรเวอร์ NVIDIA Studio มี SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 1TB ติดตั้ง Windows 10 Home มาให้ใช้งานพร้อมแรม 32GB DDR4 บัส 3200 MHz รองรับการอัพเกรดได้สูงสุด 64GB ส่วนหน้าจอ True Pixel ขอบเขตสีกว้างเป็นจอสัมผัสขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด QHD+ (2560×1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 120 Hz ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายรองรับ Wi-Fi 6E และ Bluetooth 5.2 ด้วย เรียกว่าใส่ฟีเจอร์สำคัญสำหรับการทำงานมาแบบครบเครื่องเลยทีเดียว
Hardware & Design
ด้านดีไซน์ตัวเครื่องของ MSI Creator Z16 นั้น จะเป็นดีไซน์เครื่องแบบเรียบง่าย บอดี้เป็นอลูมิเนียม CNC ทั้งเครื่อง ให้สัมผัสหรูหราและแข็งแรง และโทนสีตัวเครื่องเป็นโทนสีเงินกับกรอบหน้าจอสีดำดูสวยและขรึมไปในตัว แต่ถึงจะเป็นโน๊ตบุ๊คขนาด 16 นิ้ว ก็ไม่มี Numpad ติดตั้งมาให้ โดยทาง MSI ดีไซน์ให้เป็นแบบ Tenkeyless ตรงกลางเว้นขอบซ้ายขวาของเครื่องเท่านั้น
ส่วนขอบตัวเครื่อตามมุมต่างๆ จะปัดเงาเอาไว้เรียบร้อย ดีไซน์แบบซ่อนขาฐานจอเอาไว้ โดยออกแบบให้ติดอยู่ที่ขอบเครื่องฝั่งซ้ายและขวา และถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าการดีไซน์ขาฐานจอเอาไว้แบบนี้จะทำให้ผู้ใช้กางหน้าจอได้กว้างกว่าแบบอื่นๆ ด้วย
ส่วนฐานขอบหน้าจอด้านหลังมุมซ้ายและขวาจะมีชิ้นพลาสติกสำหรับยกตัวเครื่องติดตั้งมาให้ เมื่อกางแล้วจะช่วยยันตัวเครื่องให้ฐานเครื่องด้านล่างตรงโซนคีย์บอร์ดยกตัวขึ้นเล็กน้อย ช่วยเปิดช่องว่างให้โน๊ตบุ๊คดึงอากาศเข้าไประบายความร้อนได้ดีขึ้น และแป้นคีย์บอร์ดจะเฉียงขึ้นนิดหน่อยทำให้พิมพ์งานได้สะดวกกว่าแบบราบเป็นระนาบเดียวกับตัวเครื่อง
ส่วนฝาหลังตัวเครื่องจะเป็นแบบเรียบๆ คือมีโลโก้มังกรของ MSI ติดเอาไว้ตรงกลางค่อนบนของฝาหลังอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนรายละเอียดการออกแบบส่วนอื่นๆ จะมีเรื่องการเว้าขอบเครื่องส่วนใต้ Touchpad เข้าไปเล็กน้อยให้ผู้ใช้เอานิ้วเดียวเกี่ยวเพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาได้เลย ซึ่งจากที่ทดลองใช้นิ้วเกี่ยวเปิดดูพบว่าสามารถกางหน้าจอด้วยนิ้วเดียวได้ และบาลานซ์เครื่องจัดมาได้ค่อนข้างดีทำให้ตัวเครื่องไม่กระดกตามหน้าจอมา ถือว่าตัวเครื่องวางบาลานซ์ได้ดีรุ่นหนึ่ง
ด้านของขอบตัวเครื่องโซนขอบข้างของคีย์บอร์ดจะออกแบบให้เป็นมุมเฉียงลงให้ดีไซน์โฉบเฉี่ยว หลักๆ แล้วเพื่อให้ปุ่มคีย์บอร์ดหลบกระจกหน้าจอตอนพับหน้าจอลงมานั่นเอง และติดตั้งปุ่มสแกนลายนิ้วมือไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งขวาใต้ปุ่มลูกศร เจ้าของเครื่องสามารถสแกนนิ้วเอาไว้กับระบบ Windows Hello แล้วใช้ปลดล็อคเครื่องได้เลย
ส่วนด้านใต้เครื่องจะเป็นฝาดีไซน์เรียบ มีขอบยางติดเอาไว้ 4 มุมของตัวเครื่องเพื่อกันบอดี้สัมผัสกับพื้นโต๊ะโดยตรงและมีช่องลมเข้าแบบเจาะรูถี่อยู่ส่วนขอบบนของตัวเครื่อง ซึ่งในโซนนั้นจะเป็นชุดพัดลมโบลว์เวอร์และท่อฮีตไปป์นั่นเอง ซึ่งเมื่อดึงลมเข้ามาแล้วจะระบายความร้อนออกที่ขอบข้างตัวเครื่องทั้งด้านซ้ายขวาและขอบบนที่ซ่อนอยู่เหนือคีย์บอร์ด
ส่วนการกางหน้าจอนั้น เมื่อขาบานพับหน้าจอเป็นแบบปลายขอบเครื่องที่ไม่โดนขอบด้านหลังเครื่องขวางเอาไว้ ทำให้กางหน้าจอได้ถึง 180 องศาจนราบไปกับพื้นเลย และมีปุ่ม Function ที่เอาไว้พลิกภาพบนหน้าจอกลับให้เพื่อนที่นั่งตรงข้ามมองเห็นได้สะดวกและเอาไปวางบนที่วางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาได้สะดวกกว่าโน๊ตบุ๊คแบบทั่วๆ ไปมาก แต่อย่างไรก็ตามแนะนำให้หาที่วางโน๊ตบุ๊คที่ออกแบบมารองรับน้ำหนักเครื่องได้ระดับ 17.3 นิ้ว เอาไว้ด้วย จะได้รับน้ำหนักตัวเครื่องได้ดีด้วย
Screen & Speaker
ด้านหน้าจอ True Pixel ขนาด 16 นิ้วของ MSI Creator Z16 เครื่องนี้เป็นหน้าจอสัมผัสความละเอียด QHD+ (2560×1600) ค่า Refresh Rate 120 Hz ดีไซน์ให้ขอบหน้าจอบางทั้งขอบบนและด้านข้างทั้งสองฝั่ง ติดตั้งกล้อง Webcam และกล้อง IR Camera สำหรับสแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้ด้วย
ด้านหน้าจอ True Pixel นี้ทาง MSI เคลมเอาไว้ว่าเป็นหน้าจอขอบเขตสีกว้าง มีค่าความแม่นยำสีหรือ Delta-E <2 ซึ่งถือว่าเป็นขอบเขตสีที่แม่นยำพร้อมใช้ทำงานกราฟฟิคและสีสันต่างๆ ได้สบายๆ รวมทั้งเป็นหน้าจอโน๊ตบุ๊คที่มีการตั้งค่าสีมาแล้วโดยได้รับการการันตี calman Verified มาด้วย
ด้านขอบเขตและความแม่นยำสีของ MSI Creator Z16 เมื่อทดสอบด้วย Spyder5Elite ที่ใช้ Calibrate และทดสอบความแม่นยำสีบนหน้าจอแล้ว หน้าจอนี้มีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB, 88% AdobeRGB และ 90% DCI-P3 ซึ่งถือว่าเป็นขอบเขตสีที่กว้างสมฐานะที่เป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ ส่วนความสว่างของหน้าจอได้ราว 313 nits เมื่อเปิดความสว่าง 100%
ส่วนความสว่างบนหน้าจอ เมื่อแบ่งพื้นที่บนหน้าจอเป็น 9 ช่องเท่ากันแล้ว จะเห็นว่าหน้าจอของ MSI Creator Z16 เครื่องนี้จะมีความสว่างไล่เลี่ยกันทั้งหมด เมื่อวัดแล้วแทบทุกช่องบนหน้าจอจะมีอัตราความสว่างลดลง 0-8% เท่านั้น ซึ่งถือว่าสว่างเพียงพอจะใช้แต่งภาพหรือทำงานอาร์ตเวิร์คได้สบายๆ จะมีแค่มุมล่างขวาของหน้าจอเท่านั้นที่ความสว่างลดลง 11% ซึ่งถ้าแต่งสีทำภาพก็เว้นพื้นที่ส่วนนั้นบนหน้าจอก็พอ และเมื่อวัดความแม่นยำสีแล้วได้ค่าเฉลี่ยเพียง 0.66 ซึ่งถือว่าหน้าจอ True Pixel นี้สมกับที่ทาง MSI ทำการเคลมความแม่นยำของสีเอาไว้
ส่วนคะแนนโดยสรุปแล้ว หน้าจอของ MSI Creator Z16 เครื่องนี้ได้คะแนนรวม 4 จาก 5 คะแนนเต็ม ซึ่งถือว่าทำคะแนนได้ดี โดดยส่วนที่ได้คะแนนเต็ม 5 จะเป็นส่วนของ Gamut (ขอบเขตสี) และ Contrast ลดหลั่นลงมาเป็น Color Uniformity และ Color Accuracy ที่ได้ 4.5 คะแนนทั้งคู่ ซึ่งถ้าคะแนนที่วัดได้ออกมาทางนี้ ต้องถือว่าหน้าจอนี้เหมาะกับการทำงานอาร์ตเวิร์คต่างๆ หรือทำภาพถ่ายเป็นอย่างมาก
ด้านของลำโพงที่ติดตั้งมาให้จะอยู่ 3 จุดด้วยกัน คือขอบล่างมุมซ้ายและขวาใต้เครื่องอย่างละ 1 ตัวและโซนเหนือคีย์บอร์ดอีหนึ่งแผงด้วยกัน โดยเป็นลำโพงที่จูนเสียงด้วย Dynaudio พร้อมซอฟท์แวร์ Nahimic สำหรับปรับแต่งโทนเสียงให้เข้ากับการใช้งานของเรา เมื่อทดลองเปิดเพลงฟังหลายๆ แนวแล้ว ต้องถือว่าบุคลิคลำโพงของ MSI Creator Z16 จะเป็นลำโพงแบบเปิดได้หลายแนว เน้นเรื่องเสียงใสเป็นหลักและมีเบสกำลังดี ไม่อ้วนไม่ล้นและมีเบสพอเป็นลูกเล็กๆ
ถ้าแนวเพลงที่เหมาะกับเครื่องนี้ ถือว่าฟังได้หลายแนวทั้งป็อป, ร็อค, หรือแม้แต่แจ๊สก็ได้ เพราะว่าลำโพงเน้นออกทางเสียงใส ส่วน EDM นั้นเนื่องจากลำโพงให้เบสเป็นลูกนิดๆ เลยฟังแนว House และ Trap ได้กำลังดีเช่นกัน
ส่วนของซอฟท์แวร์ปรับเสียงจาก Nahimic นั้น สามารถปรับแต่งได้ละเอียด เลือกประเภทของสื่อที่ใช้อยู่ได้ ไม่ว่าจะฟังเพลง, ดูหนัง, เล่นเกมหรือประชุมออนไลน์อยู่ก็เลือกปรับแต่งให้เข้ากับการใช้งานในส่วนนี้ได้เลย
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ MSI Creator Z16 ตัวนี้จะเป็นแบบ Tenkeyless แบบตัด Numpad ทิ้งไป ระยะกดเป็นแบบ Low Profile หรือปุ่มเตี้ยที่ใช้แรงกดเล็กน้อยเท่านั้น โดยเลย์เอ้าท์จะเป็นแบบเดียวกับ MSI Modern 14 ซึ่งผู้เขียนได้ทำรีวิวไปก่อนหน้านี้แล้ว เรียกว่าหยิบยืมดีไซน์มาใช้แต่อัพเกรดเรื่องไฟบนคีย์บอร์ดจากไฟสีขาวอย่างเดียวเป็นไฟ RGB พร้อมปุ่ม Function สำหรับเพิ่มลดความสว่างได้ โดยไฟจะเรืองที่ขอบและลอดตัวอักษรขึ้นมา
ตัวปุ่มบนคีย์บอร์ดจะแยกปุ่มสำคัญออกเป็นปุ่มเฉพาะปุ่มหนึ่งเลย ส่วนปุ่มลูกศรจะถูกรวมเอาไว้กับชุดปุ่มคีย์บอร์ดอยู่ที่มุมล่างขวา มีปุ่ม Power พร้อมไฟ LED แสดงสถานะเครื่องที่มุมบนขวามือ ส่วนปุ่ม Fn จะติดอยู่มุมล่างขวามือแบบหั่นครึ่งปุ่มรวมกับ Ctrl ขวา
ส่วนสัมผัสการพิมพ์ถือว่าเหมือนกับคีย์บอร์ดแบบ Low Profile หลายๆ รุ่นที่ระยะกดจะตื้นใช้แรงพิมพ์ค่อนข้างน้อย ต่างจากคีย์บอร์ดที่ MSI พัฒนาร่วมกับ SteelSeries แล้วติดตั้งมาในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในค่าย ซึ่งสัมผัสตอนพิมพ์ของปุ่มคีย์บอร์ดรุ่นเกมมิ่งจะแข็งและดีดสู้นิ้วกว่านิดหน่อย เทียบแล้วถือว่าไล่เลี่ยกับน้ำหนักและระยะกดของ MSI Modern 14 อยู่พอสมควร แต่ให้สัมผัสที่แน่นกว่า
ส่วนของปุ่ม Function ที่ติดตั้งมาให้ตรงแถบ F1-F12 ถ้ากดลงไปตรงๆ จะเป็นปุ่ม Function Key ที่เซ็ตค่าเอาไว้ ถ้าจะกด F1-F12 ต้องกด Fn ค้างเอาไว้ก่อนถึงใช้ได้ ส่วนถ้าใครอยากใช้ F1-F12 ตามปกติแล้วกด Fn ค้างไว้ก่อนถึงจะใช้คำสั่ง Function ให้กด Fn+Esc เพื่อเปิดฟังก์ชั่น Function Lock โดยแต่ละปุ่มนั้นทาง MSI ตั้งค่ามาดังนี้
- F1-F3 – ปิดเสียงและเพิ่มลดเสียงบ
- F4 – ปิดการทำงานของ Touchpad
- F5 – เปิดหรือปิดการทำงานของไมโครโฟนบนตัวเครื่อง
- F6 – เปิดหรือปิด Webcam ให้ทำงาน
- F7 – ปุ่มเปลี่ยนโหมดการทำงานของตัวเครื่อง กดแล้วจะทำงานแบบ Toggle เปลี่ยนได้ 4 โหมด
- F8 – ปุ่มปรับความสว่างไฟ RGB ของคีย์บอร์ด
- F9-F10 – เพิ่มลดความสว่างของหน้าจอ
- F11 – ปุ่ม Project เอาไว้ตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริม
- F12 – ปุ่มกลับภาพหน้าจอกลับ 360 องศา แนะนำให้กดเมื่อกางเครื่องเป็นแนวราบแล้วกลับภาพบนหน้าจอให้เพื่อนดู
และถัดไปที่ปุ่ม Prtsc หรือปุ่ม Print Screen ถ้ากดคู่กับปุ่ม Fn จะเรียกแอพฯ Snipping Tool สำหรับแคปภาพหน้าจอของ Windows 10 ขึ้นมาให้ใช้ ซึ่งถือเป็นการตั้งค่า Function บนคีย์บอร์ดที่เอื้อกับการทำงานได้ดีแบบหนึ่ง
ส่วนของทัชแพดที่ติดตั้งเอาไว้ขอบล่างของตัวเครื่องจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวกว้าง เดินขอบด้วยเส้นสีเงินซ่อนปุ่มคลิกซ้ายขวาเอาไว้ ส่วนการทำงานถือว่าตอบสนองได้ดีตามปกติและรองรับ Gesture Control ของ Windows 10 เช่นกัน ซึ่งแป้นทัชแพดนี้สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาใดๆ และใช้แก้ขัดเวลาไม่ได้พกเมาส์ไปด้วยได้เลย
Connector / Thin & Weight
พอร์ตของ MSI Creator Z16 เครื่องนี้จะติดตั้งเอาไว้ที่ขอบข้างเครื่องทั้งสองฝั่งโดยแบ่งปริมาณพอร์ตเอาไว้สมดุลย์กัน โดยซ้ายและขวาจะมี USB-A 3.2 Gen2 และ Thunderbolt 4 อย่างละช่อง แต่จะมีพอร์ตเฉพาะของแต่ละฝั่งอยู่ เช่นฝั่งซ้ายจะมีช่องหูฟัง 3.5 มม. และฝั่งขวามือเป็น Micro SD Card Reader เหนือส่วนพอร์ตขึ้นไปจะเป็นช่องระบายความร้อนทั้งคู่
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จะไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอแยกอย่าง HDMI หรือ Mini DisplayPort เลย ถ้าใครจำเป็นต้องต่อหน้าจอแยกทำงานหลายหน้าจอควรหาสาย USB-C to DisplayPort หรือ USB-C Multiport adapter มาต่อพ่วงออกจาก Thunderbolt 4 ด้วย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดที่คนที่ต้องการซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้งานต้องเตรียมตัวด้วย
ส่วนความหนาของตัวเครื่องเมื่อวัดด้วยเวอร์เนียดิจิตอลแล้ว จะหนาเพียง 17 มม. ตลอดทั้งด้านหน้าและหลังเครื่อง ซึ่งถ้าเทียบในหมู่โน๊ตบุ๊คขนาด 15.6-16 นิ้ว ต้องถือว่าเครื่องนี้ทั้งบางและพกพาสะดวก ใส่กระเป๋าโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วได้เลยโดยตัวเครื่องไม่ล้นออกมานอกกระเป๋าอีกด้วย และต้องถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ที่เครื่องบางเบาดีเครื่องหนึ่ง
น้ำหนักเฉพาะเครื่องหนัก 2.17 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับที่ MSI น้ำหนัก 2.2 กิโลกรัมเอาไว้ที่หน้าสเปค ส่วนอแดปเตอร์หนัก 568 กรัม รวมทั้งหมดแล้วหนัก 2.74 กิโลกรัม ถือว่าน้ำหนักนั้นไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6-16 นิ้ว ดีไซน์เครื่องบางเบาหลายๆ รุ่น จะพกเครื่องไปพรีเซนต์งานก็ได้หรือจะตั้งโต๊ะเป็น Desktop Replacement ก็ได้ ทดแทนการประกอบหรือซื้อพีซีสเปคแรงเอามาทำงานครีเอทีฟได้สบายๆ
Performance & Software
สเปคของ MSI Creator Z16 เครื่องนี้ให้สเปคระดับพร้อมใช้ทำงานครีเอเตอร์ได้สบายๆ ซีพียูเป็น Intel Core i7-11800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.3-4.6 GHz เป็นซีพียู Intel รุ่นที่ 11 สถาปัตยกรรม Tiger Lake ประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานกับซอฟท์แวร์ที่กินทรัพยากรตัวเครื่องหนักๆ ได้เป็นอย่างดี รองรับชุดคำสั่งสำคัญๆ อย่างครบถ้วนอีกด้วย ดังนั้นถ้าใครเอาไปรันงานตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพก็สามารถใช้งานได้สบายๆ แน่นอน
ส่วนแรมที่ติดตั้งมาในเครื่องมีความจุ 32GB DDR4 บัส 3200 MHz เป็นแบบ 16GB x 2 แถว โดยเป็นแรมของ SK Hynix และถ้าแรมที่ให้มาไม่พอใช้งานก็อัพเกรดได้มากสุดที่ 64GB แต่ผู้เขียนขอแนะนำว่าให้เอาไปให้ทางร้านหรือศูนย์บริการเป็นผู้อัพเกรดให้จะดีกว่า เนื่องจากฝาหลังของตัวเครื่องปิดมาแข็งแรงมากและแกะได้ค่อนข้างยาก ถ้าฝืนแกะอาจจะทำให้บอดี้เกิดความเสียหายได้
การ์ดจอในเครื่องเป็น NVIDIA GeForce RTX 3060 Max-Q แรม 6GB GDDR6 ที่เป็นการ์ดจอแบบ Max-Q ที่ประสิทธิภาพดีและเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นหลัก แต่จากการทดสอบจริงแล้วก็ถือว่าใช้เล่นเกมและทำงานต่างๆ ได้ดี โดยตัวการ์ดจอรองรับฟีเจอร์สำคัญต่างๆ ครบถ้วนทั้ง CUDA Cores, DirectCompute, Ray Tracing, Vulkan, Intel Resizable BAR อย่างครบถ้วนด้วย สามารถใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดีไม่มีปัญหา
เมื่อเช็คชิ้นส่วนภายในเครื่องผ่านทาง Device Manager แล้ว เครื่องนี้จะใช้ SSD แบบ M.2 NVMe แบบ OEM จาก Samsung รุ่น PM9A1 ความจุ 1TB และ Wi-Fi รุ่น Killer Wi-Fi 6E AX1675x 160MHz ที่รองรับ MU-MIMO และ OFDMA ด้วย ถือว่าเป็นการ์ด Wi-Fi ระดับเดียวกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันเลย ดังนั้นเรื่องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจัดว่าหายห่วงแน่นอน
จากหน้าสเปคของ Samsung PM9A1 นั้น M.2 NVMe ตัวนี้เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 ได้ ทำให้รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่า M.2 NVMe หลายๆ รุ่นในตลาดที่เป็น PCIe 3.0 และความเร็ว Sequential Read สูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ 7,000 MB/s และ Sequential Write 5,100 MB/s ถ้าเทียบหน้าสเปคแล้วก็นับเป็นตัว OEM ของ Samsung 980 Pro ที่เป็นรุ่นขายแยกเพื่ออัพเกรดเครื่องนั่นเอง
ส่วนการทดสอบด้วยโปรแกรม AS SSD เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการอ่านเขียนของ SSD ในเครื่องว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดย Sequential Read อยู่ที่ 4,159 MB/s และ Sequential Write 3,837 MB/s ซึ่งจัดว่าทำงานได้ดีและรันโปรแกรมใหญ่ๆ ให้พร้อมทำงานได้เร็วอย่างแน่นอน ซึ่งจากการทดสอบเรนเดอร์วิดีโอและใช้โปรแกรมหนักๆ แล้ว ก็ถือว่า M.2 NVMe SSD ตัวนี้ทำงานได้น่าประทับใจไม่ต้องกังวลเรื่องประสิทธิภาพเลย
ส่วน Wi-Fi รุ่น Killer Wi-Fi 6E AX1675x 160MHz ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด รองรับ MU-MIMO และ OFDMA เมื่อต่อ Wi-Fi 5GHz และเทสความเร็วด้วย Ookla แล้ว ได้ความเร็ว Download 538.73 Mbps และ Upload 489.24 Mbps และจากการทดลองเปิดเว็บไซต์, โหลดไฟล์และเกมขนาดใหญ่ ถือว่าตัวชิป Wi-Fi นี้สามารถจับสัญญาณได้เสถียร เร็ว และต่อเนื่องดีทีเดียว
เมื่อทดสอบการเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 แล้ว ได้คะแนน OpenGL แล้วได้ 177.95 fps และคะแนน CPU 1,370 cb ซึ่งประสิทธิภาพนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ทำงานกราฟฟิคต่างๆ ได้สบายๆ อย่างแน่นอน โดยสังเกตที่ OpenGL ที่เป็นการจำลองการเรนเดอร์โมเดล 3 มิติให้เห็นแบบ Real-time แล้ว ถือว่าทำได้เร็วและลื่นไหลทีเดียว
ส่วนของ CINEBENCH R20 ที่โฟกัสประสิทธิภาพของซีพียูอย่างเดียวแล้วได้คะแนน CPU 3317 pts เมื่อเทียบแล้วถือว่าซีพียูแรงระดับเดียวกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่น สามารถรับงานหนักๆ ได้สบาย
ส่วนผลการ Benchmark ด้วย Affinity ที่เป็นโปรแกรมตัดต่อแต่งภาพแบบ Adobe Photoshop ว่าใช้แต่งภาพได้ไหลลื่นหรือไม่ ได้ผลคะแนน Vector (Single CPU) ที่ทดสอบว่าซีพียูคอร์เดียวสามารถใช้ไฟล์ Vector ได้ดีระดับไหน ก็ได้คะแนน 402 คะแนน และ Vector (Multi CPU) ทำได้ 2,188 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับแต่งและตัดต่อภาพได้ดีแน่นอน
ด้านของการ์ดจอ คะแนน Raster (Single GPU) โดยทดสอบกับ NVIDIA GeForce RTX 3060 ในเครื่องแล้วได้ 4,665 คะแนน และ Raster (Multi GPU) ที่ทดสอบการทำงานร่วมกันระหว่างการ์ดจอออนบอร์ด Intel UHD Graphics และ GeForce RTX 3060 แล้ว ได้ 4,992 คะแนน ถ้าเทียบแล้วถือว่าประสานงานกันได้ดี สมกับเป็นโน๊ตบุ๊คเพื่อครีเอเตอร์ที่น่าใช้รุ่นหนึ่ง
พอนำไปทดสอบเรนเดอร์ด้วย Adobe Premier Pro โดย Source File เป็น 4K โดยคลิปยาว 21 นาที เมื่อเรนเดอร์แล้ว MSI Creator Z16 เครื่องนี้ใช้เวลาราว 5 นาทีเท่านั้น ถือว่าเรนเดอร์คลิปความละเอียดสูงให้เสร็จได้เร็วทีเดียว ถ้าใครเป็นสายทำคอนเทนต์แบบวิดีโอก็สามารถใช้เครื่องนี้เรนเดอร์วิดีโอได้เลย
ส่วนการทดสอบโปรแกรม 3DMark Time Spy เพื่อทดสอบการเรนเดอร์และเล่นเกมว่า MSI Creator Z16 เครื่องนี้สามารถเล่นเกมได้ดีหรือไม่ ซึ่งคะแนนรวมนั้นได้ระดับ 6,129 คะแนน แยกเป็น Graphics score 5,858 คะแนน ส่วนคะแนนซีพียูถือว่าสูงทีเดียวที่ 8,315 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงระดับเล่นเกม AAA ความละเอียด Full HD – QHD แบบปรับกราฟฟิคสูงได้สบายๆ แน่นอน
ส่วนของ PCMark 10 ที่ทดสอบการใช้งานออฟฟิศต่างๆ ทั้งการทำงานเอกสาร, เข้าออกเว็บไซต์และการประชุมออนไลน์รวมทั้งการตัดต่อแต่งภาพแล้ว แม้คะแนนรวมอาจจะเกิดบั๊กจน 0 คะแนนก็ตาม แต่ถ้าดูแยกส่วนกันจะเห็นว่าคะแนนหลัก (Essential) อย่างการเปิดโปรแกรม, เปิดเว็บ ประชุมออนไลน์ทำได้ 8,944 คะแนน ได้ Productivity อยู่ 9,092 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ระดับสูงมาก ซึ่งถ้าเฉลี่ยคะแนนออกมาแล้ว ผู้เขียนคาดว่าอาจจะทำได้ราว 5-6 พันคะแนนได้สบายๆ ซึ่งถ้าถามว่า MSI Creator Z16 เครื่องนี้ใช้ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ก็ตอบได้เลยว่าทำได้ดีอย่างแน่นอนไม่ต้องห่วง
ส่วนของการทดลองเล่นเกมแล้วปรับความละเอียดหน้าจอลงมาที่ระดับ 1080p ให้เท่ากับการทดสอบเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ของทางเว็บไซต์และปรับกราฟฟิคในเกมระดับสูงสุดแล้ว สังเกตว่าเฟรมเรทของแต่ละเกมที่นำมาทดสอบนั้นได้ค่าเฉลี่ยที่ระดับ 60 fps ขึ้นไปทั้งหมด และผู้เขียนคาดว่าถ้าปรับความละเอียดหน้าจอเป็น QHD+ ล่ะก็ MSI Creator Z16 เครื่องนี้ก็ยังเล่นเกมได้ดีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการทดสอบเกมนั้นเพื่อให้อ้างอิงและให้ผู้อ่านเห็นประสิทธิภาพของตัวเครื่องอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นว่าเครื่องนี้นอกจากเล่นเกมได้ก็ทำงานดีอย่างแน่นอน
ส่วนความรู้สึกตอนเล่นเกม แม้จะปรับสุดทุกเกมก็ต้องถือว่าสามารถเล่นได้ไหลลื่นและรักษาอุณหภูมิตัวเครื่องได้ค่อนข้างดี มือซ้ายแค่อยู่ระดับอุ่นๆ เท่านั้น และไม่มีอาการเฟรมกระตุกหรือลดเลย ส่วนของ Resident Evil Village เอง ผู้เขียนเปิดกราฟฟิคทั้งหมดในเกมแล้วตั้งกราฟฟิครวมเอาไว้ที่ระดับ High (1GB) แล้ว ตัวเกมก็สามารถเล่นได้อย่างไหลลื่น การพังฉากและการเคลื่อนไหวของตัวละครไม่มีการหน่วงหรือเฟรมตกเลย ถ้าใครทำงานสายกราฟฟิคแล้วอยากเล่นเกมหลังเลิกงานบ้าง ก็ติดตั้งเกมที่อยากเล่นลง MSI Creator Z16 เครื่องนี้แล้วเล่นได้เลย
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ใน MSI Creator Z16 เครื่องนี้จะมีความจุ 88Wh ซึ่งถือว่ามีความจุสูงทีเดียว เมื่อทดสอบระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยเปิดความสว่างต่ำสุด ปิดไฟ RGB คีย์บอร์ดและเปิดเสียงเพียง 10% แล้วใช้ Microsoft Edge เปิดดูคลิปยาว 30 นาทีแล้ว สามารถใช้งานได้นานถึง 6 ชั่วโมง เกาะกลุ่มกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นที่มีการ์ดจอแยกติดตั้งมาให้ ดังนั้นถ้าพกเครื่องไปใช้งานนอกสถานที่ ไปประชุมงานหรือพรีเซนต์งานกับลูกค้าก็พกเครื่องไปได้ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าจะต้องนั่งทำงานนานสักหน่อย จะเตรียมปลั๊กติดกระเป๋าไว้ก็ดีเช่นกัน
ด้านของอุณหภูมิตัวเครื่องเมื่อทดสอบเปิดโปรแกรม Benchmark แล้วเช็คด้วย HWMONITOR แล้ว อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ราว 49 องศา สูงสุดไปถึง 98 องศาและเฉลี่ยที่ราว 55 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอุณหภูมิตัวเครื่องนั้นค่อนข้างสูง แต่โดยรวมเวลาใช้งานจริงต้องถือว่าทาง MSI ออกแบบตัวเครื่องได้ค่อนข้างดี เพราะแม้อุณหภูมิจะสูงตามที่โชว์ให้เห็นในโปรแกรมก็ตาม แต่ช่องระบายความร้อนรวมทั้งชุดพัดลมกับฮีตซิ้งค์ถูกเลื่อนเอาไปติดตั้งไว้โซนเหนือคีย์บอร์ด เวลารันโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ ก็จะรู้สึกแค่ว่าเครื่องอุ่นขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ร้อนจนรบกวนมือของเราอย่างแน่นอน
ส่วนใครที่เป็นห่วงว่าอุณหภูมิในเครื่องถ้าสูงระดับนี้จะมีปัญหาต่อชิ้นส่วนภายในเครื่องล่ะก็ แนะนำให้วางเครื่องเอาไว้บนแท่นวางโน๊ตบุ๊คให้เครื่องดึงลมเข้าไประบายความร้อนที่พัดลมโบลวเวอร์ในเครื่องได้ดีขึ้นก็ช่วยได้มากแล้ว
ส่วนช่องระบายความร้อนนั้นจะติดตั้งเอาไว้ 3 โซนด้วยกัน คือเหนือคีย์บอร์ดเป็นช่องใหญ่กับเล็กรวมกันและด้านข้างซ้ายเป็นช่องใหญ่กับช่องเล็กฝั่งขวามือ และสังเกตว่าช่องด้านข้างเครื่องนั้นจะเว้าตัวเครื่องเข้ามาอีกเล็กน้อย เพื่อให้ช่องระบายความร้อนใหญ่ขึ้นและระบายอากาศร้อนออกไปได้เร็วกว่าเดิมด้วย ซึ่งจากการใช้งานจริงนั้น ถ้าใช้งานทั่วไปถือว่า MSI Creator Z16 นั้นเย็นตลอดการใช้งาน ไม่มีอาการเครื่องร้อนมารบกวนเลย ยกเว้นเฉพาะตอนใช้งานกับโปรแกรมใหญ่ๆ อย่างโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือทำโมเดล 3 มิติที่เครื่องจะรีดประสิทธิภาพออกมาเต็มที่เท่านั้น แต่ก็ยังจัดการอุณหภูมิได้ดีอยู่ ดังนั้นเวลาใช้งานก็ไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะร้อนเกินไปก็ได้
User Experience
สำหรับประสบการณ์การใช้งาน ต้องถือว่า MSI Creator Z16 เป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ที่ดีเครื่องหนึ่งทั้งเรื่องงานประกอบที่ทำออกมาได้พรีเมี่ยม บอดี้ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมทั้งตัวให้ความสวยงามหรูหราแข็งแรงไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังได้เรื่องหน้าจอสัมผัส สแกนหน้าและลายนิ้วมือได้จึงทำให้ตอนเปิดเครื่องแล้วปลดล็อคมาใช้งานทำได้สะดวก ดังนั้นฟังก์ชั่นพื้นฐานของตัวเครื่องถือว่าครบเครื่องไม่มีอะไรขาดหรือตกหล่นตรงไหน
ถัดมาในส่วนของการพิมพ์งาน ต้องถือว่าทาง MSI ก็ไม่ทิ้งเอกลักษณ์เรื่องคีย์บอร์ดมีไฟ RGB ของตัวเอง ทำให้คีย์บอร์ดของ Creator Z16 ยังมีไฟ RGB ที่ปรับเพิ่มลดความสว่าง, กดตรงปุ่มไหนแล้วไฟจะติดทั้งแนวอีกด้วย ดังนั้นเรื่องความสวยงามถือว่าไม่มีปัญหา
การพกพาเครื่องถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นที่ใส่กระเป๋าเป้ขนาดมาตรฐานหลายๆ รุ่นแล้วพกเครื่องไปไหนมาไหนได้สะดวกไม่มีปัญหา และตัวเครื่องค่อนข้างบางจึงใส่กระเป๋าได้ง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วดีไซน์เครื่องบางทั่วไปหลายๆ รุ่น รวมทั้งน้ำหนัก 2-2.7 กิโลกรัมก็จัดว่าไม่หนักมาก พกง่ายน้ำหนักกำลังดีแต่ประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆ จัดว่าหายห่วง
ในส่วนของการทำงานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ อย่างตัดต่อวิดีโอหรือแต่งภาพก็ถือว่าไม่มีปัญหาและสามารถระบายความร้อนได้ดี และการจัดการช่องระบายความร้อนก็ถือว่าคิดถึงผู้ใช้ที่ต้องวางมือบนคีย์บอร์ดเครื่องและต่อเมาส์แยก เพราะโซนความร้อนหลักๆ จะเลื่อนไปอยู่บริเวณลำโพงเหนือแป้นคีย์บอร์ด เวลาเครื่องรันโปรแกรมหนักๆ หรือเล่นเกม AAA หลังเลิกงานแล้ว เรียกว่าไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนมารบกวนมาก และถ้าให้ดีเลยคือควรวางเครื่องบนที่วางโน๊ตบุ๊คแล้วต่อหน้าจอแยกเป็น Desktop Replacement ไป นอกจากจะเปิดช่องดึงอากาศเข้าให้ดึงอากาศไประบายความร้อนได้เต็มที่แล้ว ก็ตัดปัญหาเรื่องความร้อนจากตัวเครื่องส่งมาถึงมือของเราได้ด้วย
แต่เมื่อจะต่อหน้าจอแยก จุดสำคัญคือเครื่องนี้จะไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอแยกติดตั้งมาให้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องซื้อมาคู่กับตัวเครื่องเลย คือ USB-C Multiport adapter เอามาต่อกับ Thunderbolt 4 ด้านข้างตัวเครื่อง หรือไม่ก็ต้องซื้อสาย USB-C to DisplaPort มาอีกเส้นหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นจุดพิจารณาอย่างแรกสำหรับผู้ใช้ที่คิดจะใช้งานสองหน้าจอ
ส่วนต่อมา คือเรื่องการอัพเกรดตัวเครื่อง เนื่องจากบอดี้ถูกประกอบมาเป็นอย่างดีและหาช่องแกะเพื่ออัพเกรดได้ค่อนข้างยาก แม้จะเพิ่มแรมและ M.2 NVMe SSD ได้ก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ไม่แนะนำให้อัพเกรดด้วยตัวเอง เพราะถ้าแกะพลาดอาจจะทำให้บอดี้อลูมิเนียมเกิดรอยขีดข่วนเสียหายหรือไม่สวยงามได้ ดังนั้นถ้าใครอยากอัพเกรดแนะนำให้ซื้อชิ้นส่วนอัพเกรดจากนั้นยกไปให้ศูนย์บริการหรือเรียกช่างมาเป็นผู้จัดการอัพเกรดดีกว่า
Conclusion & Award
ในฐานะที่ MSI Creator Z16 นั้นเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ ก็ต้องถือว่าทั้งเรื่องสเปค, ประสิทธิภาพและเรื่องของดีไซน์นั้นก็อยู่ในระดับที่สมน้ำสมเนื้อกัน เป็นโน๊ตบุ๊คที่ได้ความสวยงามและเสริมบุคลิคผู้ใช้แล้ว ยังสามารถจัดการงานหนักๆ อย่างการตัดต่อวิดีโอ แต่งภาพหรืองานอาร์ตเวิร์คได้สบายๆ โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ ซึ่งถ้าใครเน้นเรื่องการทำงานสายครีเอเตอร์เป็นหลักและได้เรื่องความสวยงามด้วยล่ะก็ นี่คือโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม และหน้าจอที่เป็นใจความสำคัญของโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ก็เป็นพาเนลระดับสูงที่ได้ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำ ใช้ทำงานเรื่องอาร์ตเวิร์คได้เลย
ถัดมาในส่วนของพอร์ตที่ติดตั้งมาให้ก็ถือว่าไม่กั๊กเพราะพอร์ต Thunderbolt 4 นั้นสามารถต่อแยกเป็นพอร์ตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอหรือรับส่งข้อมูลต่างๆ ก็ทำได้ดีไม่มีปัญหาแค่มีอแดปเตอร์แปลงสักตัวหรือสาย USB-C ที่อีกด้านเป็นพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอก็ได้ เท่านี้เรื่องการเชื่อมต่อหน้าจอก็จะสะดวกยิ่งขึ้นมาก
สุดท้ายเรื่องของสเปคในระดับราคา 76,990 บาท แต่สเปคของตัวเครื่องถือว่าแรงแบบไม่ต้องอัพเกรดก็ได้ ไม่ว่าจะ Intel Core i7-11800H, การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 Max-Q ที่ประสิทธิภาพดีและประหยัดพลังงาน, M.2 NVMe 1TB และแรม 32GB ถ้าในหมู่โน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ด้วยกันถือว่าได้ราคาระดับที่สมน้ำสมเนื้อไม่แพงหรือถูกจนเกินไป และถ้าใครอยากเพิ่มแรมอีกนิดเพราะโปรแกรมที่ใช้งานเป็นประจำต้องใช้แรมพักข้อมูลเยอะ ก็อัพเกรดเพิ่มความจุได้ถึง 64GB อีกด้วย ดังนั้นถ้าครีเอเตอร์คนไหนที่ต้องการโน๊ตบุ๊คสายทำงานฝั่ง Windows ดีๆ สักเครื่องล่ะก็ MSI Creator Z16 ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย
Award
Best Performance
ในแง่ Best Performance เพราะ MSI Creator Z16 ให้สเปคมาแบบจัดเต็มไม่กั๊ก ทั้ง Intel Core i7-11800H, NVIDIA GeForce RTX 3060, M.2 NVMe SSD 1TB และแรม 32GB พร้อมอัพเกรดได้ถึง 64GB และไดรเวอร์ NVIDIA Studio ที่ Optimize มาเพื่อการทำงานสายครีเอทีฟโดยเฉพาะ เหมาะกับงานสายครีเอเตอร์ที่ครีเอทีฟควรมีไว้ใช้สักเครื่อง และมันสามารถเปิดโปรแกรมใหญ่ๆ เรนเดอร์คลิปวิดีโอหนักๆ ได้อย่างรวดเร็วจึงคาดหวังเรื่องประสิทธิภาพการทำงานจากโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เลย
Best Graphic
หน้าจอที่เป็นหัวใจสำคัญของโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ MSI Creator Z16 เครื่องนี้เป็นหน้าจอขอบเขตสีกว้าง ค่า Delta-E <2 มีสีสันที่สวยงามและแม่นยำ คมชัดเพราะเป็นหน้าจอระดับ QHD+ อัตราส่วน 16:10 อัตราส่วน Golden Ratio ซึ่งถ้าใครใช้ทำงานอาร์ตเวิร์คต่างๆ บนหน้าจอนี้ก็คาดหวังเรื่องสีสันที่แม่นยำระดับสตูดิโอแต่งภาพได้เลย เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่สายทำงานศิลป์ลงทุนเอาไว้แล้วคุ้มค่าเม็ดเงินที่จ่ายไปอย่างแน่นอน