สำหรับหลายๆ คนที่ติดตามเรื่องเครื่องพิมพ์ หรือบรรดาพรินเตอร์ในกลุ่มองค์กรมาบ้าง น่าจะพอทราบถึงข่าวการเปิดตัวของพรินเตอร์ใหม่ที่ทาง HP Printer ได้เปิดตัวไปในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา ในชื่อของเทคโนโลยี PageWide ที่เริ่มเปิดตัวออกมากันบ้างแล้วในบางซีรีส์ โดยชูจุดเด่นในเรื่องของการประหยัดน้ำหมึก ให้การพิมพ์จำนวนมากและความเร็วในการพิมพ์ที่เทียบได้กับเลเซอร์พรินเตอร์ และสนับสนุนการพิมพ์แบบ Duplex ที่ให้ความเร็วในการพิมพ์สูง กินไฟต่ำ ประหยัดพลังงาน จึงเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ถูกจับตามองในตลาดพรินเตอร์องค์กรปัจจุบัน
เทคโนโลยี PageWide คืออะไร และทำงานอย่างไร?
คีย์หลักของเทคโนโลยี PageWide อยู่ที่การนำเทคโนโลยีขั้นสูงในงานพิมพ์ มาใช้เพื่องานพิมพ์ในระดับงานธุรกิจและในเครื่องพิมพ์แบบมัลติฟังก์ชั่นที่ออกแบบมาให้รองรับกลุ่มงานที่มีขนาดเล็กและในระดับองค์กร ด้วยหัวฉีดขนาดเล็กจำนวนมากถึง 40000 หัวฉีด รวมกันทั้ง 4 สี โดยมีการเรียงหัวพิมพ์ในแบบ Array จัดเรียงหัวพิมพ์ต่อกันเท่ากับความกว้างของหน้ากระดาษ หัวพิมพ์แต่ละหัว จะมีรูฉีดน้ำหมึก 1200 หัวฉีดต่อนิ้ว (1200 nozzles-per-inch) และตรงกับ Resolution ทำให้ได้งานที่มีความละเอียดของ และใช้การพ่นหมึกลงบนกระดาษที่ความกว้างเท่ากับพื้นที่ของหัวพิมพ์ โดยหัวพิมพ์ของ PageWide นั้นจะอยู่กับที่ไม่ขยับ มีเพียงกระดาษเท่านั้นที่เลื่อนเข้าสู่หัวพิมพ์ จึงให้การทำงานที่เงียบและได้ความเร็วเทียบเท่ากับการทำงานของเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ ที่ประมาณ 70 – 75 แผ่นต่อนาทีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ด้วยการควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดาษได้อย่างแม่นยำ ด้วยระบบ ColorLok ที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบการเคลื่อนกระดาษของเครื่องพิมพ์ PageWide จะตรึงตำแหน่งของกระดาษ ตั้งแต่การเคลื่อนที่ของกระดาษเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ จนถึงจุดที่เป็นหัวพิมพ์ไว้อย่างแน่นหนา ทำให้ได้งานพิมพ์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้หมึกพิมพ์แท้ของทาง HP และระบบตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของหัวพิมพ์แบบอัตโนมัติ ก็ทำให้ควบคุมคุณภาพในงานพิมพ์ได้
การเคลื่อนที่หมึกพิมพ์จากหัวพิมพ์ไปยังกระดาษ
การทำงานของเทคโนโลยี PageWide จะต่างการพิมพ์จากโทนเนอร์บนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ ที่เป็นผงหมึกแห้งละเอียดแบบผงแป้ง สำหรับน้ำหมึกของ PageWide จะเป็นของเหลวที่บรรจุไว้ในที่ตลับหมึกและนำส่งไปยังกระบวนการของหัวพ่นหมึกจนถึงกระดาษ โดยจะยังเป็นของเหลวในระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่บนพื้นผิวของกระดาษ หมึกพิมพ์จะมีองค์ประกอบของสีและของเหลวใส ที่เรียกว่าตัวนำพาหรือ ink vehicle เพื่อทำการส่งสีไปยังกระดาษ โดยที่ ink vehicle นี้ ในส่วนของ HP pigment จะมีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก แต่ก็ยังมีส่วนผสมอื่นที่จำเป็นที่ผสมเข้ากันอย่างลงตัว เพื่อให้ควบคุมหมึกส่งไปถึงกระดาษได้ดี
พรินเตอร์เทคโนโลยี PageWide จากทาง HP ประกอบไปด้วยตลับหมึก 4 สี ตามรูปแบบพื้นฐานคือ Black, magenta, cyan และ yellow เมื่อเสียบตลับหมึกเข้ากับช่องใส่ที่อยู่ด้านบน ระบบก็จะปรับค่าแรงดันและจัดการตัวกรองของหมึกแต่ละตลับให้พร้อมสำหรับการใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบระดับหมึกในระบบและเปลี่ยนตลับหมึกได้ตามปกติ เช่นเดียวกับระบบของเครื่องพิมพ์ในระบบ Ink ทั่วไป
สำหรับหัวพิมพ์ของ PageWide จะมีชิป HP Thermal Inkjet ที่เรียกว่า ดาย ซึ่งจะวางอยู่ในระนาบเดียวกัน เพื่อเป็นอินเทอร์เฟสในการจัดเตรียมหมึกก่อนพ่นออกมาจากหัวฉีด โดยให้ความละเอียดที่มากถึง 1200 nozzel/inch ต่อสี ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมของคนเรามาก และสิ่งที่สำคัญบอกถึงความสามารถของเทคโนโลยี PageWide นี้คือ เมื่อดูจากหัวพิมพ์ของเครื่องปรินต์ เราจะเห็นดายทั้งหมดที่ปรากฏวางเรียงอยู่ในทางยาว สลับแถวกันอย่างเป็นระเบียบ ระยะเท่ากับหน้ากว้างของกระดาษพิมพ์ แต่ละดายจะมีหัวฉีด (nozzle) 1056 หัว รวมทั้งหมด 4 สี จึงรวมแล้วเท่ากับ 4224 หัวฉีดต่อดาย และเมื่อรวมกันทั้งหมด 10 ดายบนหัวพิมพ์ก็จะเท่ากับ 42,240 หัวฉีด (nozzles) เลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าจำนวนหมึกที่หยดลงบนกระดาษจะมากพอที่จะให้ความละเอียดและความเร็วในการทำงาน
หัวฉีดหมึกแต่ละชุด จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แถว และในแต่ละแถวจะมีอยู่ด้วยกันทั้ง 4 สี โดยที่หัวหยดของแต่ละสีจะมีด้วยกัน 2 แถว และมีตัวทำความร้อนในการที่จะทำให้หมึกอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เมื่อเริ่มพิมพ์งานหมึกจะผ่านความร้อนออกมา อยู่ที่ nozzle สำหรับการหยดหมึกและฟีดออกมาลงบนหน้าสัมผัสของกระดาษพร้อมๆ กัน และด้วยชุดเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมแยกในแต่ละดาย ทำให้สามารถควบคุมการฉีดน้ำหมึกได้อย่างสม่ำเสมอและใช้พลังงานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดไม่ให้หัวฉีดพิมพ์ออกไปนอกเกินขอบเขตที่ดายกำหนดไว้ เช่นเดียวกับหมึกพิมพ์ pigment Ink รุ่นใหม่นี้ ยังกันน้ำได้ดีทีเดียว
เทคโนโลยี HP PageWide จะมีระบบการทดสอบประสิทธิภาพของหัวฉีดเป็นระยะ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพการพิมพ์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นไปแบบอัตโนมัติ และจะรายงานหัวฉีดที่ทำงานผิดพลาด และตรวจสอบเพื่อแก้ไข เมื่อเกิดความปัญหาในการพิมพ์ในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เพื่อส่งกระทบต่อคุณภาพงานพิมพ์ให้ลดลง
สำหรับเครื่องพิมพ์เช่นใน OfficeJet Pro X series จากทาง HP มีเซ็นเซอร์แสงในการปรับหัวพิมพ์และวัดประสิทธิภาพในการทำงานของหัวฉีด รวมถึงการเคลื่อนที่ของกระดาษ เซ็นเซอร์เหล่านี้จะสแกนกระดาษและหัวพิมพ์ โดยสแกนรูปแบบการพิมพ์และวิเคราะห์ เพื่อชดเชยในกรณีที่มีการคลาดเคลื่อนของกระดาษไปจากตำแหน่งเดิมให้ผิดเพี้ยนลดลง นอกจากนี้เซ็นเซอร์ยังตรวจขอบกระดาษที่เคลื่อนที่เข้าไปในบริเวณการพิมพ์ เมื่อรวมกับคุณภาพการหยดสีที่แม่นยำของเครื่อง ก็ให้การพิมพ์ในแต่ละครั้งมั่นใจได้ว่าจะได้งานที่ออกมาครบถ้วน ถูกต้องไม่บิดเบี้ยว
ที่สำคัญเครื่องพิมพ์ในแบบ PageWide นี้ ยังใช้พลังงานน้อยลงกว่าเครื่องพิมพ์ในระดับปกติอยู่มากทีเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการใช้งานในองค์กร เพราะในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ไฟดับหรือมีปัญหาด้านระบบไฟ ก็ยังสามารถต่อพ่วงกับ UPS หรือระบบไฟสำรองที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำงานพิมพ์ได้ต่อเนื่อง ไม่ติดขัดหรือบางกรณีที่ต้องย้ายไปยังไซต์งานที่ไม่พร้อมเรื่องของระบบไฟ ก็ยังสามารถใช้งานเครื่องพิมพ์ PageWide นี้ได้ด้วยชุดไฟสำรอง
ที่มา : HP Printer