เป็นเวลาหลายปีแล้วครับที่ยอดขายของสมาร์ทโฟนนั้นเติบโตขึ้นด้วยความรวดเร็วเป็นอย่างมาก อย่างในปี 2014 และ 2015 ที่ผ่านมานั้นสมาร์ทโฟนจากประเทศจีนอย่างยี่ห้อ Xiaomi และ Huawei นั้นสามารถที่จะทำยอดขายในตลาดทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ทุกราย(แล้วแต่ภูมิภาคแต่ส่วนใหญ่แล้วโดยรวมยอดขายของทั้ง 2 ยี่ห้อดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเกินเลข 2 หลักเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น) ทว่าจากรายงานงานวิจัยตลาดสมาร์ทโฟนล่าสุดของทาง Kantar Worldpanel ComTech ดูเหมือนในอนาคตนั้นคงจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วครับ
Kantar Worldpanel ComTech นั้นได้ทำการวิจัยการเจาะตลาดสมาร์ทโฟนในหลายๆ ภูมิภาคด้วยกันพร้อมกับได้นำเสนอตัวเลขของจำนวนสมาร์ทโฟนที่ผู้คนมีกันในแต่ละภูมิภาคใหญ่ๆ ประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกาและยุโรป(เฉพาะ 5 ประเทศใหญ่ใน EU) รวมกันถึง 91% และเมืองใหญ่ๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีจำนวนสูงถึง 97% หากเจาะลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าประชากรภายในสหรัฐอเมริกามีสมาร์ทโฟนรวมกันทั้งหมดมากถึง 65%, ประชากรชาวยุโรปมีสมาร์ทโฟนรวมกันทั้งหมดมากถึง 74% และประชากรในเมืองใหญ่ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีสมาร์ทโฟนแล้วมากถึง 72% ครับ
ตามที่ทาง Kantar Worldpanel ComTech ได้วิเคราะห์เอาไว้นั้นพบว่าจำนวนของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้พุ่งไปถึงจุดสูงสุดของมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง Carolina Milanesi ผู้นำเสนองานวิจัยชิ้นนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าภายในปี 2016 นั้นยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนจะไม่พุ่งมากแบบก้าวกระโดดหรือมีตัวเลขของยอดขายเพิ่มขึ้นไปจากเดิมมากกว่า 2 ตัวเลขเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของยอดการจำหน่าย(หรือง่ายๆ ก็คือยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนของแต่ละยี่ห้อนั้นจะไม่มีทางเพิ่มขึ้นเกิน 10% นั่นเองครับ)
Milanesi ได้กล่าวเอาไว้ว่าสมาร์ทโฟนที่จะสามารถทำยอดขายได้ดีในปี 2016 นั้นจะต้องมาพร้อมกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 2 สิ่งดังต่อไปนี้
- มาพร้อมกับฟีเจอร์เดนตายที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องการมันมากจริงๆ
- สมาร์ทโฟนนั้นๆ จะต้องมีแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอยากจะได้และต้องการ “next big thing”
ทั้งนี้ทาง Milanesi นั้นไม่ได้พูดเปล่าๆ นะครับเพราะทางเขาและ Kantar Worldpanel ComTech เองนั้นได้มีข้อมูลยอดจำหน่ายของสมาร์ทโฟนในปี 2013 – 2015 ของแต่ละประเทศใหญ่ๆ มาให้ดูกันด้วย(ตามตารางด้านบน) ซึ่งจะเห็นได้ครับว่ายอดจำหน่ายของสมาร์ทโฟนในประเทศใหญ่ๆ นั้นถึงแม้ว่าในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น แต่ที่เพิ่มขึ้นนั้นเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์รวมแล้วก็ไม่ได้มากอะไรเท่าไรนัก ที่หนักไปกว่านั้นบางประเทศที่โดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานนั้นยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนประจำปีกลับลดลงอีกด้วยต่างหาก(อย่างเช่นอิตาลีเป็นต้น)
อีกจุดหนึ่งที่ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนจะไม่เพิ่มขึ้นไปจากนี้มากกว่า 10% นั้น ทาง Milanesi ได้ให้สาเหตุเอาไว้ครับว่าเป็นเพราะผู้ใช้มือถือแบบธรรมดา(feature phone) หลายๆ คนไม่ได้มีความอยากจะได้สมาร์ทโฟนมาใช้งานสักเท่าไรนัก สาเหตุหลักที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากว่าราคาของสมาร์ทโฟนที่เมื่อเทียบกับมือถือธรรมดาแล้วถือว่าสูงกว่ากันพอควร
ตัวอย่างเช่นในประเทศเยอรมันนั้นมือถือแบบธรรมดาทั่วไปกว่า 79% จะมีราคาต่ำกว่า €60 หรือประมาณ 2,340 บาท ส่วนสมาร์ทโฟนนั้นจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ €276 หรือประมาณ 10,770 บาท ซึ่งทำให้ในเยอรมันนั้นมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ยอมเปลี่ยนจากการใช้มือถือแบบธรรมดาแค่ประมาณ 19% เท่านั้นครับ(นี่คือตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าใช้บริการรายเดือนที่มากขึ้นตามไปด้วยเพราะมีการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายมาเกี่ยวข้องด้วยนะครับ)
จริงๆ แล้วนั้นยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเลยทีเดียวครับจากงานวิจัยของทาง Milanesi ที่นำเสนอออกมาผ่านทาง Kantar Worldpanel ComTech อย่างไรก็ตามแต่แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือในตลาดสมาร์ทโฟนที่อิ่มตัวแล้วอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ 5 ประเทศใหญ่ๆ ใน EU รวมไปถึงในเมืองใหญ่ๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมักจะมองสมาร์ทโฟนในระดับสูงกันทั้งนั้นซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ซื้อในกลุ่มดังกล่าวนี้จะมีกำลังซื้อมากกว่า $500 หรือประมาณ 18,000 บาทขึ้นไป
ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นสมาร์ทโฟนราคาสูงกว่า $500 ถูกซื้อจากผู้บริโภคมากกว่า 48% คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2014 มาปี 2015 ที่ 9% ส่วน 5 ประเทศใหญ่ใน EU นั้นมีอัตราการเติบโตของสมาร์ทโฟนราคาสูงมากจากปี 2014 มาปี 2015 อยู่ที่ 6% คิดเป็นยอดขายของสมาร์ทโฟนระดับสูง(ที่ราคาเมื่อเทียบแล้วมากกว่า $500) อยู่ที่ 27% เท่านั้น
Milanesi บอกว่าในปี 2016 นั้นสถานการณ์การจำหน่ายของสมาร์ทโฟนจะแย่ลงไปจากเดิมอีกพอสมควรแถมสมาร์ทโฟนที่จะยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 และ 2 ได้ในตลาดนั้นก็จะยังคงเป็น Apple และ Samsung โดยอาจจะมีในบางตลาดบ้างที่ผู้ผลิตรายอื่นแทรกเข้ามาอย่างเช่นในตลาดสหรัฐอเมริกานั้นผู้ใช้ส่วนใหญ่กว่า 40% จะเลือกสมาร์ทโฟนของ Apple และ 35% จะเลือกสมาร์ทโฟนของทาง Samsung โดยส่วนต่างนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 5% แต่ถ้าไปดูที่สมาร์ทโฟนอันดับที่ 3 และ 4 ที่ผู้ใช้ต้องการอย่าง Motorola และ LG นั้นจะอยู่ที่ 6% และ 5% ตามลำดับเท่านั้นซึ่งถือว่าต่ำมากครับ(ตามตารางทางด้านบน)
ทั้งนี้สรุปโดยรวมแล้วตลาดสมาร์ทโฟนนั้นคงจะไม่ทได้พบเจอกับยอดจำหน่ายที่สูงขึ้นอย่างมากไปอีกนานต่อเนื่องกันหลายปี(เหมือนกับที่เคยผ่านมาในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้) ทว่าตลาดสมาร์ทโฟนนั้นก็จะยังคงสามารถที่จะทำการขายได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลกว่าที่เราคาดไว้เปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ๆ ออกมาและมีแรงจูงใจมากพอให้เราๆ ท่านๆ ต้องการมันได้หล่ะครับ
ที่มา : kantarworldpanel