การทำโน๊ตบุ๊คหาย หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่า เสียดายโน๊ตบุ๊คราคาไม่กี่หมื่น กลับกลายเป็นว่า บรรดาไฟล์ต่างๆ ที่อยู่ในเครื่อง รวมถึงล็อคอินและแอคเคาต์ที่ใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ นั้นอันตรธานหายไป ซึ่งหลายครั้งมีมูลค่ามากกว่าตัวโน๊ตบุ๊คเสียอีก ยิ่งบางคนใช้โน๊ตบุ๊คเป็นเครื่องประจำที่ใช้ในการเก็บบรรดาไฟล์สำคัญไว้มากมาย รวมถึงงานธุรกิจที่ทำอยู่พอเครื่องหายปุ๊บ ก็เรียกว่างานเข้ากันเลยทีเดียว แต่ถ้าเราระมัดระวังและเตรียมตัวไว้ดี ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป
ขั้นแรกเป็นไปได้ให้ล็อคเอาไว้ เป็นเรื่องค่อนข้างเบสิคมากสำหรับคนที่ยกโน๊ตบุ๊คหรือเคลื่อนย้ายไปมาบ่อยๆ การป้องกันในแบบง่ายๆ แต่ได้ผลค่อนข้างดี อย่างการใช้ตัวล็อคเอาไว้กับที่ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างที่คุณต้องเดินทาง การใส่กระเป๋าและคล้องกุญแจเล็กๆ ไว้ก็ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่งหรือเมื่อคุณต้องไปวางโน๊ตบุ๊คไว้ตรงจุดใด นอกสถานที่หรือในบริเวณที่ไม่น่าไว้ใจ การคล้อง Kensington Lock เอาไว้กับโต๊ะหรือชั้นวาง ก็ช่วยให้คุณอุ่นใจมากพอ เหมือนกับเวลาที่คุณใช้เครื่องมือในการล็อครถ แม้จะรู้ว่าป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่คนที่เห็นว่าล็อคก็ไม่อยากเข้ามายุ่งแล้ว
อย่าใช้เคสใส่โน๊ตบุ๊คแต่เพียงอย่างเดียว การใส่โน๊ตบุ๊คในเคสและเดินถือไปมา เหมือนเป็นการประกาศให้หลายคนได้ทราบว่าคุณนำโน๊ตบุ๊คมาด้วย ซึ่งมันต่างจากการที่คุณใส่กระเป๋าเดินทางหรือกระเป๋าเป้ ที่อาจจะมองไม่ออกว่ามีโน๊ตบุ๊คมาด้วยหรือไม่ อย่างน้อยก็ช่วยหลบสายตาจากบรรดามิจฉาชีพได้ไม่น้อย ไม่เหมือนกับการถือเคสใส่โน๊ตบุ๊ค นอกจากนี้ยังช่วยลดการถูกกระชากของไปจากมือได้ยากยิ่งขึ้นนั่นเอง
มองโน๊ตบุ๊คของคุณไว้อย่าให้คลาดสายตา เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและช่วยไม่ให้โน๊ตบุ๊คคุณหายไปได้ง่ายๆ เอาตั้งแต่ เมื่อกระเป๋าใส่โน๊ตบุ๊คของคุณ ต้องถูกโหลดกระเป๋าไปตามสายพาน ไม่ได้ถือขึ้นเครื่องไปด้วย เมื่อถูกลำเลียงออกมา ต้องพยายามสอดส่ายสายตาอย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งอาจมีมือดีมาฉวยไป ในระหว่างที่คุณยังมาไม่ถึงหรือเผลอไปมองอย่างอื่นก่อน เพราะมีโอกาสที่จะติดมือคนอื่นไป ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะบางทีกระเป๋าเหมือนกัน ก็อาจมีการเข้าใจผิดได้ การติดตามก็จะยากมากทีเดียว
สำรองข้อมูลเอาไว้ การทำ Backup Data หรือการทำสำเนาข้อมูลสำคัญที่คุณมีในโน๊ตบุ๊คเอาไว้อีกชุด เพราะอย่างน้อยการที่สูญเสียโน๊ตบุ๊คไป ก็ไม่เสียไปทั้งหมด เพราะยังมีข้อมูลสำรองเก็บเอาไว้ได้ทำงานบ้าง รวมถึงข้อมูลบางอย่างที่มีความเสี่ยง ก็จะไม่ได้เสียไปถาวร
เรียนรู้การตั้งพาสส์เวิร์ดอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อคุณตั้งรหัสป้องกันแบบง่ายๆ และคาดเดาได้ ไม่ได้เป็นทางออกที่ดีนัก เอาตั้งแต่การล็อคอินเข้าเครื่องหรือแอคเคาต์เมล์ รวมถึงบรรดาเว็บทำธุรกรรมต่างๆ ก็ควรจะต้องตั้งให้ปลอดภัยเช่นกัน ด้วยการวางแผนสำหรับตั้งรหัส ระยะเวลาการเปลี่ยนพาสส์เวิร์ด เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อย แม้จะได้เครื่องไป ต้องไม่สามารถเข้าใช้ได้ รวมถึงงดการใช้ Remember Password ซึ่งผู้ใช้เอง ควรจะต้องเรียนรู้การใช้งานอย่างเหมาะสม แต่หากไม่แน่ใจว่าตั้งได้ปลอดภัยหรือไม่ อาจลองติดตั้งโปรแกรมหรือเข้าเว็บไซต์บางแห่ง จะมีระบบตรวจสอบให้คุณได้ทันที
ใช้ระบบ Two Authentication หรือการใช้ระบบป้องกัน ด้วยการยืนยันตัวตนที่มากกว่า 2 รูปแบบขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่แค่การกรอกพาสส์เวิร์ดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การตรวจสอบด้วยวิธีอื่นเข้ามาเสริม ก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น อาทิเช่น ระบบตรวจสอบลายนิ้วมือหรือ Fingerprint scan หรือตรวจสอบโครงหน้า ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ง่ายและปลอดภัย แม้โน๊ตบุ๊คจะถูกฉกไป แต่ก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่า การจะนำข้อมูลไปใช้แบบไม่ถอดฮาร์ดดิสก์ออก ก็ไม่ได้ง่ายนัก
ในเรื่องของความปลอดภัย ไม่ได้มีเพียงป้องกันโน๊ตบุ๊คหายอย่างเดียว แต่เรื่องการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย ไม่โดนแฮก ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา การเชื่อมต่อ WiFi ต้องมั่นใจและตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นบริการจากสถานที่นั้นๆ จริงๆ เพราะมีหลายครั้งที่ผู้ไม่หวังดี ตั้งใจเปิด Hotspot และใช้ชื่อที่คลุมเคลือกับสถานที่หลอกไว้ เพื่อหวังล็อคอินจากผู้ที่หลงใส่ข้อมูลเข้ามา ดังนั้นควรต้องแน่ใจว่าเชื่อมต่อได้ปลอดภัยและมั่นใจได้