เรื่องของฮาร์ดดิสก์เต็มมีโอกาสเป็นไปได้เสมอ เมื่อต้องเจอกับสภาพการใช้งานอย่างจริงจังในปัจจุบัน สาเหตุก็เพราะ บรรดาข้อมูลที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ข้อมูลในการทำงาน ทั้งไฟล์ภาพ เอกสารหรือพรีเซนเทชั่น ก็มักจะมีขนาดใหญ่หรือจะเป็นเรื่องของความบันเทิง ไฟล์วีดีโอหรือไฟล์ภาพและเสียงก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ไฮเดฟหรือ 4k ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนเลือกซื้อฮาร์ดดิสก์ต่อภายนอกมาใช้ ถามว่าตอบโจทย์การใช้งานหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ ณ วันนี้ 1TB ในราคาแค่ 2 พันกว่าบาท เป็นการเพิ่มช่องทางในการจัดเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แถมยังเคลื่อนย้ายได้ด้วย อย่างไรก็ดี หากวันหนึ่ง คุณใช้งานอย่างเพลิดเพลิน แล้วฮาร์ดดิสก์ในเครื่องเต็ม แถมฮาร์ดดิสก์ต่อภายนอกก็เต็ม ณ เวลาที่สุดฉุกเฉินเร่งด่วน จะต้องทำอย่างไร
ยืมฮาร์ดดิสก์เพื่อน : เป็นวิธีที่เล่นกันแบบง่ายๆ เรียกได้ว่าถ้ามีเพื่อนรอบตัวอยู่ในขณะนั้น แต่ก็ต้องระวังเรื่องของระยะเวลาการใน Copy หรือพื้นที่คงเหลือ ว่าพอจะรับงานของคุณได้หรือไม่ แต่ปัญหาที่พบมากที่สุดในการยืมก็คือ เรื่องของข้อมูลสำคัญของเพื่อนในฮาร์ดดิสก์ที่ต้องระวัง รวมถึงการยืมกลับไปใช้ ที่เพื่อนอาจไม่สะดวกนัก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ส่วนตัวจริงๆ
แฟลชไดรฟ์พอไหวป่ะ : ก็พอไหวนะ ถ้าฉุกเฉินจริงๆ ก็น่าจะเหมาะสมที่สุด ด้วยความจุระดับ 8-16GB โดยพื้นฐาน ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งาน ณ เวลานั้น แถมความเร็วก็ไม่ได้ขี้เหร่ ถ้าไม่ใช่รุ่นที่เก่ามากนัก การถ่ายโอนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่หากข้อมูลมีมากกว่านั้น ก็คงต้องค่อยๆ คัดกรองในการจัดเก็บ สิ่งที่พึงระวังก็คือ คงต้องดูแลแฟลชไดรฟ์เอาไว้บ้าง เพราะอย่าลืมว่าไฟล์ที่เก็บไว้ ไม่ได้มีสำรองไว้ หากเกิดความเสียหายแล้ว ย่อมมีปัญหาใหญ่แน่นอน
ฝากบน Cloud รอไหวมั้ยล่ะ : เป็นอีกทางเลือกที่ดี หากเวลานั้นพร้อมทั้งเวลาและอินเทอร์เน็ต เพราะพื้นที่บน Cloud นั้น เป็นอะไรที่ง่ายและสะดวก ยิ่งเวลานี้มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Dropbox, Google Drive หรือ SugarSync ก็ตาม แค่ต่อเน็ตและคลิกลากไฟล์ก็ใช้งานได้แล้ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ความเร็วและเวลาในการอัพโหลด เนื่องจากพื้นที่ของผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะมีเพียงไม่กี่ GB รวมถึงถ้าอัพโหลดในความจุระดับนั้น หากอินเทอร์เน็ตไม่เร็วจริง ก็คงต้องเสียเวลากันไม่น้อยเลยทีเดียว
ไรท์ลงแผ่นสิ : ถ้าหาแผ่นเปล่าได้ ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเราในยามที่ฉุกเฉินได้ ในกรณีที่ต้องโยกย้ายข้อมูลบางส่วน เช่น จากเครื่องอื่นหรือจากฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นๆ ข้อจำกัดอาจจะมีอยู่บ้าง เช่น การบรรจุข้อมูลต่อแผ่นของ DVD จะได้อยู่ที่ 4.7GB ถ้ามีเยอะคงต้องใช้หลายแผ่น ต้องมีระยะเวลาในการเขียนแผ่น แต่เรื่องแผ่นแทบไม่ต้องห่วง เพราะร้านสะดวกซื้อมีจำหน่ายอยู่มากมาย เป็นอีกทางเลือกที่ยังคงให้ความสะดวกและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก
โยนเข้าไดรฟ์กลางในเน็ตเวิร์ก : เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกรณีที่อยู่ในออฟฟิศ เนื่องจากหลายแห่งจะมีพื้นที่ว่างสำหรับการโยนไฟล์หรือฝากไฟล์ในส่วนกลาง สำหรับแบ่งปันไฟล์การใช้งาน อีกทั้งพื้นฐานของเครือข่ายก็มีความรวดเร็วอยู่แล้ว อาจใช้วิธีการฝากเอาไว้ชั่วคราวก่อน เมื่อจัดการพื้นที่บนเครื่องตนเองได้แล้ว ค่อยมานำไฟล์เหล่านั้นกลับไปใช้ในภายหลัง เพียงแต่หากเป็นข้อมูลสำคัญ คงต้องมีการป้องกันในเบื้องต้น ป้องกันการเข้าถึง เช่นการใส่รหัสป้องกันโฟลเดอร์เอาไว้
ลบไฟล์บางอย่างในเครื่องออก : เป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำมากที่สุด แม้จะไม่สะดวกนักในเวลานั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน เพราะไม่ต้อง Copy file ไปมาจากเครื่องหรืออุปกรณ์อื่น อีกทั้งพร้อมต่อการใช้งานหรือการจัดเก็บข้อมูลครั้งต่อไปอีกด้วย
แต่สิ่งสำคัญนอกเหนือจากอุปกรณ์ที่มาเป็นตัวช่วยในยามฉุกเฉินก็คือ ควรหมั่นตรวจเช็คพื้นที่ว่างภายในเครื่องให้ว่างไว้บ้าง อย่างน้อย 30% เพื่อให้ระบบได้มีพื้นที่ได้หายใจหายคอ สำหรับการ Swap file เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน รวมถึงเอาไว้สำรองในการจัดเก็บข้อมูลในช่วงเวลาสำคัญ