ใครๆ ก็รู้ ว่าแรงงานจีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นแรงงานที่มีปริมาณมากและราคาถูกจนบริษัทข้ามชาติหลายๆ เจ้า ไม่ว่าจะ Apple หรือเจ้าไหนๆ ก็มุ่งหน้าตรงไปยังประเทศจีนเพื่อลดต้นทุนการผลิตลงไป HP ก็เป็นอีกบริษัที่กระโดดเข้าสู่ประเทศจีนเช่นกัน แต่เมื่อพี่ใหญ่อย่าง Apple โดนประณามเรื่องการใช้แรงงานเด็กในโรงงานจีนแล้ว ก็เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับบริษัทอื่นๆ ที่จะเข้าไปสร้างงานในประเทศจีนด้วยเช่นกัน
สำหรับ HP ที่ได้เห็นบทเรียนของ Apple เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กมาแล้วจนในตอนนี้ได้เข้าร่วมกับ Fair Labour Association นั้น ก็จัดการตรงเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายโรงงานในจีนเกี่ยวกับการใช้แรงงานของเด็กในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ของตนด้วย โดยฝ่ายของ HP เองก็ยื่นคำกับโรงงานในจีนว่า “นักเรียนควรจะนั่งเรียนหนังสือมากกว่าจะมานั่งทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างนี้” และจะปรับให้นักเรียนเปลี่ยนจากหน้าที่เป็นงานประจำในโรงงานเป็นงานแบบพาร์ทไทม์แทน และกำหนดขอบเขตเวลาการทำงานเอาไว้ว่า จะสามารถเข้ามาทำได้ในช่วงวันหยุดปีใหม่หรือช่วงปิดเทอมหน้าร้อนเท่านั้น
ด้านกฏหมายแรงงานในประเทศจีนนั้นค่อนข้างรุนแรงพอควรทีเดียว ดังนั้นทาง HP เองก็เห็นว่าไม่คุ้มค่าจะเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมาไปเสี่ยงกับเรื่องอย่างนี้ ดังนั้น Mr.?Tony Prophet รองประธานบริษัทฝ่าย Supply Chain ทั่วโลกได้ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาคิดว่าจะคุมปริมาณนักเรียนที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมของพวกเขาให้ลดลงและไม่ให้เกิน 20% จากองค์รวมทั้งหมด แม้จะเป็นช่วงที่ต้องการแรงงานมากสุดและเกิดการขาดแคลนแรงงานอยู่บ่อยครั้งก็ตามที รวมทั้งจะพยายามลดปริมาณแรงงานให้ไม่เกิน 10% จากปริมาณพนักงานทั้งหมดในโรงงานด้วย
วิธีการแก้ไขที่ทาง HP เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีนั้น คือการพัฒนาคนงานเข้ามาในโรงงานของตัวเองด้วยการเทรนงานภายในของตัวเองให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดปริมาณนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาทำงานในโรงงานเช่นในตอนนี้ และเมื่อมีแรงงานที่เกิดจากการเทรนงานภายในบริษัทด้วยตัวเองแล้วนั้น จะทำให้เพิ่มมาตรฐานของสินค้าให้ดียิ่งขึ้นได้อีก รวมทั้งจะสามารถทำนายปริมาณสินค้าในอนาคตได้ ว่าจะมีปริมาณสินค้าออกจากโรงงานมากเท่าไหร่ และจะได้ผลกำไรรวมเท่าใด
ด้านของสวัสดิการพนักงานที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่จะเข้ามาอาสาทำงานนั้น HP เองก็จะปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำเพิ่มให้, ให้สวัสดิการเหมือนกับพนักงานธรรมดา คือมีอาหารและที่พักสวัสดิการในโรงงานเช่นคนอื่นๆ รวมทั้งจะควบคุมเวลาการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยจะไม่อนุญาตให้ทำงานในกะกลางคืนรวมทั้งทำงานเกินเวลา (OT) อีกด้วย ถือว่าเป็นการจัดการป้องกันเอาไว้ก่อนที่จะเกิดเรื่องตามมาในภายหลังอย่างนี้ ถือว่า HP เองก็ดำเนินเกมด้านนี้ได้ดี อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” เหล่าเด็กๆ ที่จะทำงานหาเงินในโรงงานก็สบายใจได้ระดับหนึ่งแล้ว ว่าจะไม่เกิดปัญหาสุดเครียดเหมือนในเคสของ Apple หรือจะมีน้อยลงอีกมาก
ที่มา :?nytimes