ผู้จัดงานคอมเวิลด์ (ComWorld) แถลง 3 เหตุผลในการตัดสินใจงดการจัดงานในปีนี้
เพื่อลงแรงจัดงานไอทีไทยโฉมใหม่เต็มตัวในเดือนพฤษภาคมปีหน้าแทน เหตุผลที่หนึ่งคือสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจริง สองคือต้องการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานไอทีในประเทศไทย และสามคือวิกฤติการระบาดของไข้หวัด 2009
นายวิโรจน์ อัศวรังสี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดิแอสไพเรอร์ส กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดงานคอมเวิลด์ยอมรับว่า การงดจัดงานคอมเวิลด์ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคมปีนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้ ของบริษัทเล็กน้อย แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อความสบายใจของผู้บริโภคและกลุ่มผู้ค้า เพราะอาจหนักใจเรื่องการระบาดของไข้หวัด และการที่งานคอมเวิลด์ทิ้งช่วงจากคอมมาร์ตไม่ถึง 1 เดือน
“ถ้าปีหน้าสถานการณ์หวัดยังรุนแรงอยู่ ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันใหม่” วิโรจน์กล่าวติดตลก “เราเปลี่ยนมาจัดเดือนพฤษภาคมและสิงหาคมแทน ที่เลือกเดือนพ.ค.เพราะต้องการให้ห่างจากคอมมาร์ต 2 เดือน ขณะที่เดือนเมษายนก็ตรงกับเทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่นด้วย และเป็นช่วงที่มีเทคโนโลยีใหม่จากไต้หวันเข้ามาเยอะ สำหรับเหตุผลที่เป็นเดือนส.ค. เพราะช่วงปลายเดือนก.ค.มักจะมีงานเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ออกมามากเช่นกัน”
กำหนดการเดิมของงานคอมเวิลด์คือเดือนกุมภาพันธ์และตุลาคม โดยงานคอมมาร์ตครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้
นอก จากเหตุผลเหล่านี้ วิโรจน์บอกว่าต้องการออมแรงไว้จัดงานไอทีในรูปโฉมใหม่ โดยจะเน้นการจัดงานตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะชูความต่างเรื่องคอนเทนท์ของงานมากกว่าราคา
“เราอยากจะทำ Customize งานไอที ที่ผ่านมา โปรโมชันสินค้าคอนซูเมอร์ในร้านอย่างพาวเวอร์มอลล์หรือเทสโกโลตัส พวกนี้มีขายไอทีหมดแล้ว ถามว่าความต่างระหว่างงานที่มีไอทีอย่างเดียว กับงานที่มีทั้งไอทีและเอวี (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ด้านภาพและเสียง) ด้วยนั้นอยู่ตรงไหน ตรงนี้เราตั้งใจจะทำให้มันต่าง เหมือนกับขนมที่มีรสปูอัด รสเทอริยากิ อนาคตงานคอมเวิลด์อาจมีมากกว่า 2 งานต่อปีก็ได้”
วิโรจน์ ย้ำว่าบริษัทได้กำไรจากการจัดงานคอมเวิลด์ทุกครั้ง และไม่ได้มีปัญหาการขาดแรงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ค้า เพราะจุดแข็งที่คอมเวิลด์มีทั้งในเรื่องสถานที่และพันธมิตร ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการงดจัดงานจะไม่มีผลกับยอดขายของผู้ค้าสินค้าไอทีใน ปีนี้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีมาตรฐานรับมือไว้ทุกบริษัทแล้ว
“งดคอมเวิลด์ครั้งนี้ไปเราขาดรายได้ก็จริง แต่ก็ยังมีรายได้จากการจัดงานอีเวนท์อื่นมาชดเชย เรายังเอาตัวรอดได้ ขณะเดียวกันตลาดสินค้าไอทีขณะนี้ต่างจากเมื่อก่อน เวนเดอร์อยากเน้นทำตลาดที่ช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น คิดว่าการจัดงานจะไม่ดีในช่วงนี้”
สอดคล้องกับนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ที่ให้ความเห็นว่าน่าจะไม่มีผลกระทบกับแผนการตลาดของแต่ละบริษัท
“ปีนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าไอที หลายคนมองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อภายในงานแฟร์แล้ว ผู้ค้าแต่ละแบรนด์พยายามนำโปรโมชันที่ขายในงานส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่ว ประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าในราคาเดียวกันได้ ดูจากยอดจำหน่ายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังจากงานแฟร์ยอดขายกลับดีดตัวสูงขึ้นกว่าปกติ”
รูป แบบงานและช่วงเวลาใหม่ของงานคอมเวิลด์เชื่อว่าจะสามารถทำยอดขายทั้งปีไม่ต่ำ กว่า 4,000 ล้านบาท ผู้ชมงานทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน โดยงานคอมเวิลด์เคยจัดขึ้นรวมทั้งสิ้น 6 ปี 8 ครั้ง มียอดขายประมาณ 1,200 ล้านบาท ผู้เข้าชมงาน 7 แสนคน
“เชื่อว่าเป้าหมายนี้ไม่มากไป ปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นตัวแน่และไอทีจะเป็นส่วนที่ฟื้นตัวเร็วที่สุด เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่เทคโนโลยีอนาคตมีความชัดเจนมากขึ้นด้วย อีกอย่างคือกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เราจะทำ ยังมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่เราอยากให้มางาน แต่ไม่เคยมางานไอทีเลยสักงานเดียว ตรงนี้เรากำลังทำการบ้านอยู่ว่าเป็นเพราะอะไร”
วิโรจน์ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดคนกลุ่มนี้ “ยังบอกไม่ได้เดี๋ยวคู่แข่งเอาไปทำตาม”
ที่มา : manager.co.th/Cyberbiz/