Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

อยากประกอบ External SSD ต่อภายนอก เลือก SSD และกล่องแบบไหนดี ให้เร็วคุ้มค่า

ประกอบ External SSD ด้วยตัวเองปี 2024 ทำได้ง่ายนิดเดียว เลือกของได้เองถูกใจ ประหยัดค่าใช้จ่าย

ประกอบ external ssd

External SSD เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลภายนอกแบบที่นำไปใช้ต่อกับคอม ซึ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยความจุต่อราคาที่ถูกลง รวมถึงความแพร่หลายของอุปกรณ์ที่มีให้เลือกมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจก็คือการหา SSD และกล่อง enclosure box มาเพื่อประกอบ external เอง แต่จากการที่ SSD ในยุคนี้ก็มีให้เลือกหลากหลายแบบ ในบทความนี้จะมาดูกันครับว่าควรเลือกมาประกอบเป็นแบบ External อย่างไรดี ถึงจะเหมาะกับคอมที่ใช้ หรือความต้องการใช้งานแต่ละแบบบ้าง

  • เลือก SSD และประกอบ External SSD ด้วยตัวเอง ลดค่าใช้จ่าย
  • วิธีการเลือก SSD แต่ละแบบ มีความเร็ว และประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร
  • การเลือกกล่อง Enclosure เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
  • การระบายความร้อนที่ดี ก็มีส่วนสำคัญ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน


External SSD ประกอบใช้เองอย่างไร ต้องดูอะไรบ้าง?


รู้จักสเปคคอม และอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้งาน

อันดับแรกคือควรตรวจสอบคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ใดก็ตามที่จะนำ External SSD ไปใช้งานด้วย จะได้เลือกระดับของ SSD และความสามารถในการเชื่อมต่อของกล่อง enclosure ที่จะนำมาใส่ SSD ได้เหมาะสม เพราะปัจจัยเรื่องความเร็วและความสามารถของกล่อง ส่งผลโดยตรงกับราคาของฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นด้วย แต่ถ้าหากงบประมาณไม่ใช่ปัญหา ข้อนี้ก็ตัดไปได้เลยครับ ซื้อแบบจัดเต็มสุดได้สบาย ๆ ขอแค่พอร์ตตรงกันก็พอ

Advertisement

จุดประสงค์หลักคือเพื่อให้ทราบว่าพอร์ตเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็น USB-A หรือ USB-C ก็ตาม รองรับความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลได้สูงสุดเท่าไหร่

แต่ในกรณีที่ต้องการจะประกอบ External SSD ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีในราคาคุ้มค่า ก็ให้เช็คสเปคของคอมหรืออุปกรณ์ก่อนเลย ดังนี้

  • มีพอร์ต USB-A และ USB-C อยู่บ้าง และใช้ถ่ายโอนข้อมูล (data transfer) ได้หรือเปล่า หรือใช้ได้แค่จ่ายไฟอย่างเดียว
  • พอร์ต USB แต่ละช่อง เป็นพอร์ตเวอร์ชันอะไร รองรับความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดตามสเปคได้เท่าไหร่
  • พอร์ต USB-C รองรับ Thunderbolt หรือไม่
External SSD

หาก USB เป็นแบบที่ถ่ายโอนข้อมูลได้ทั้งหมด ปกติแล้วในแง่ของความเร็ว ตัวพอร์ต USB-C มักจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า USB-A ดังนั้นถ้าหากต้องการประกอบ external แบบที่เน้นความเร็ว รวมถึงถ้าเน้นนำไปใช้กับคอมรุ่นใหม่ ๆ ใช้กับแท็บเล็ตที่มีช่อง USB-C อยู่แล้ว ก็ควรจะมองหากล่องที่ใช้ USB-C ไว้ก่อน แต่ถ้าต้องนำไปใช้กับคอมรุ่นเก่าบ่อย ๆ ใช้กับสมาร์ตทีวี ใช้กับกล่องทีวี แบบนี้ก็ควรเลือกกล่อง enclosure ที่มี USB-A แล้วพกหัวแปลงจาก USB-A เป็น USB-C ติดไว้ก็ได้ ส่วนในกรณีที่อาจต้องใช้หลายแบบ หรืออยากใช้งานไปยาว ๆ แนะนำว่าควรเลือกแบบ USB-C ที่อนาคตไกลกว่า ส่วนสายเชื่อมต่อก็หาสายแปลงจาก USB-C เป็น USB-A เผื่อไว้

External SSD

ส่วนเวอร์ชันโปรโตคอลของพอร์ต USB เอง หนึ่งในสิ่งที่ทำให้มีความแตกต่างกันก็คือความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล โดยพอร์ตที่มีในปัจจุบัน และมักเจอได้บ่อยจะมีความเร็วสูงสุดตามความกว้างแบนด์วิธในทฤษฎีดังนี้

  • USB 2.0 = 0.48 Gb/s
  • USB 3.0 = 5 Gb/s
  • USB 3.1 = 10 Gb/s
    • USB 3.1 Gen 1 = 5 Gb/s
    • USB 3.1 Gen 2 = 10 Gb/s
  • USB 3.2 = 20 Gb/s
    • USB 3.2 Gen 1×1 = 5  Gb/s
    • USB 3.2 Gen 1×2 = 10 Gb/s
    • USB 3.2 Gen 2×1 = 10 Gb/s
    • USB 3.2 Gen 2×2 = 20 Gb/s
  • USB4 = 40 Gb/s
  • USB4 v2.0 = 120 Gb/s

ทั้งนี้ เวอร์ชันของพอร์ตต่อพ่วงจะไม่ได้หมายถึงรูปร่างหน้าตาพอร์ตเสมอไปนะครับ อย่างถ้าเป็นแบบ USB-C แต่โปรโตคอลการรับส่งข้อมูลอาจจะมีได้หลากหลาย โดยอาจมีทั้งเป็น USB 2.0, 3.x ไปจนถึง 4 และ Thunderbolt ก็ได้ ส่วน USB-A จะเป็นได้ตั้งแต่ USB 1.0, 2.0 และ 3.x เลย จึงควรตรวจสอบสเปคสูงสุดของพอร์ตจากผู้ผลิตเครื่องให้ดี แต่ในทางกลับกัน หากที่พอร์ตระบุว่าเป็น USB4 หรือ Thunderbolt 3 ขึ้นมา อันนี้การันตีได้เลยว่าเป็น USB-C แน่นอน แต่ราคาจะสูงแบบกระโดดมาก เมื่อเทียบกับ USB 3.x ลงมา ส่วนตารางสรุปภาพรวมที่น่าสนใจ ลองคลิกไปชมจากในเว็บไซต์ของ Silverstone ได้เลย

สำหรับความสามารถในการใช้งานร่วมกับ USB เวอร์ชันก่อนหน้า อันนี้ทำได้แบบไม่มีปัญหาครับ อย่างถ้าพอร์ตระบุว่าเป็น USB 3.2 Gen 2×2 เวลาใช้งานจริงถ้าอุปกรณ์ที่นำมาต่อรองรับแค่ USB 3.0 ก็ยังสามารถใช้งานได้แบบไม่มีปัญหา เพียงแค่ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลและความสามารถต่าง ๆ จะทำได้ตามมาตรฐานของโปรโตคอลต่ำสุดในการเชื่อมต่อนั้น ซึ่งก็คือทำได้แค่เท่ากับ USB 3.0 กล่าวคือใช้งานได้ แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพที่ระบบทำได้

ทีนี้พอทราบความเร็วสูงสุดที่รองรับได้แล้ว ก็ถึงเวลาเลือก SSD ต่อเลย

External SSD

ประเภท และความเร็ว SSD ที่เหมาะสม

แนวคิดหลักของข้อนี้คือเพื่อการเลือก SSD ที่มีความเร็วในระดับที่พอเหมาะกับพอร์ต USB ของเครื่อง อย่างถ้าคอมที่ใช้มีแค่พอร์ต USB 3.0 การจะซื้อ SSD PCIe ที่เร็วมาก ๆ มาใช้ สุดท้ายความเร็วที่สูงกว่ากันหลายเท่าตัวก็จะถูกจำกัดอยู่ที่ความสามารถของ USB 3.0 เท่านั้นเอง กลายเป็นว่าเสียเงินเยอะเกินความจำเป็น แต่ก็ย้ำเช่นเดิมว่าถ้างบไม่ใช่ปัญหา จะจัดตัวแรงสุดก็ไม่ว่ากัน (แต่ระวังเรื่องความร้อนถ้าต้องใช้งานติดต่อกันนาน ๆ)

SSD ที่มีให้เลือกในปัจจุบันจะมีหน้าตาหลัก ๆ อยู่สองแบบ คือ SSD SATA แบบ 2.5 นิ้วที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบน ๆ ขนาดประมาณ 10 ซม. x 7 ซม. กับอีกแบบที่เป็นแท่งขนาดเล็ก มีขนาดค่อนข้างบาง โดยเราจะมาดูรายละเอียดของ SSD แบบ 2.5″ กันก่อน

External SSD

SSD 2.5″ SATA

ปัจจุบัน SSD หน้าตาลักษณะนี้จะมีโปรโตคอลการทำงาน การรับส่งข้อมูลแบบ SATA 3 ทั้งหมด ซึ่งความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุดจะอยู่ที่ราว 550 MB/s หรือแปลงหน่วยก็คือได้เท่ากับ 4.4 Gb/s เท่านั้น ทีนี้หากเรามองย้อนไปดูที่ความเร็วสูงสุดของพอร์ต USB แต่ละเวอร์ชัน จะเห็นว่ามันค่อนข้างใกล้เคียงกับ USB 3.0 (5 Gb/s) ทำให้ถ้าหากต้องการประกอบ External SSD หรือเลือกใช้กล่อง enclosure แบบแบน ๆ ขนาดใหญ่กว่าบัตรเครดิต นำมาใช้กับเครื่องที่มีพอร์ต USB 3.0 ขึ้นไป ก็ควรเลือกใช้ SSD 2.5″ SATA เป็นขั้นต่ำไว้ก่อน ส่วนถ้าเครื่องมี USB ที่ใหม่กว่านี้ ก็ยังสามารถใช้ SSD 2.5″ SATA ได้เช่นกัน แต่ความเร็วก็จะตันที่ระดับ 550 MB/s อยู่ดี

จุดเด่นของการประกอบ external โดยเลือกใช้ SSD แบบ 2.5″ คือราคาจะย่อมเยากว่า

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของการประกอบ external โดยเลือกใช้ SSD แบบ 2.5″ คือราคาจะย่อมเยากว่า อย่าง SSD 128GB หรือ 120GB มือหนึ่งก็จะมีราคาอยู่ในช่วงประมาณ 500-600 บาท ด้านของกล่อง enclosure USB 3.0 ก็ราคาเริ่มที่ประมาณ 200 กว่าบาท รวมแล้วคือสามารถประกอบ external ได้ในราคาไม่ถึงพันเท่านั้น

ส่วนกล่องที่รองรับ USB 3.1 อันนี้ถ้าเป็น 3.1 Gen 1 อันนี้โอเค เพราะยังมีความเร็วเท่ากับ 3.0 อยู่ จะซื้อมาใช้ก็ได้ครับ ในเชิงการใช้งานทั่วไปคือแทบไม่แตกต่างกัน

รูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับการนำ SSD 2.5″ SATA มาใช้ทำ external ก็จะเป็นพวกการสำรองข้อมูลแทน External HDD จานหมุนที่มีความเร็วสูงสุดแค่ราว ๆ 0.15 – 0.2 Gbps เท่านั้น โดยใช้ร่วมกับทีวีหรือกล่องทีวีเพื่ออัดรายการไว้ดูภายหลัง ใช้ลงเพลง เก็บคลิป เก็บไฟล์งานต่าง ๆ ในคอม ส่วนงานที่ต้องใช้ความเร็วสูง มีการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่อยู่บ่อยครั้ง อาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ด้วยข้อจำกัดด้านความเร็วของตัว SSD และพอร์ตเชื่อมต่อของกล่อง enclosure เอง

External SSD

SSD M.2 SATA

ยังคงเป็น SSD ที่ทำงานและรับส่งข้อมูลผ่านโปรโตคอล SATA เช่นกัน แต่เปลี่ยนหน้าตามาเป็นแบบแท่งเล็ก ๆ แทน โดยที่ความเร็วอ่าน/เขียนสูงสุดก็จะอยู่ที่ระดับ 550 และ 450 MB/s เช่นเดิม ทำให้ในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้เป็น External ก็จะไม่แตกต่างกับ SSD SATA ขนาด 2.5″ มากนัก แต่จะได้เปรียบในเรื่องขนาดที่กะทัดรัดกว่ามาก

ด้านของราคาก็จัดว่าดูคุ้มกว่าด้วย ของใหม่มือหนึ่งหน้าร้านในปัจจุบันจะอยู่ที่ความจุ 240 หรือ 250 หรือ 256GB ราคาราว 700 กว่าบาทขึ้นไป (บวกจาก 2.5″ แค่สองสามร้อยบาท แต่ได้ความจุมากกว่าเป็นเท่าตัว) ส่วนกล่อง enclosure ก็จะมีราคาเริ่มต้นที่ 200 กว่าบาทขึ้นไป แต่การเลือกจะต้องตรวจสอบดี ๆ ด้วยว่าต้องเป็นกล่องที่ระบุว่ารองรับ M.2 SATA ด้วยเท่านั้น เนื่องจากบางกล่องจะรองรับแค่ M.2 NVMe อย่างเดียว หากซื้อ SSD M.2 SATA มาใส่ มันจะไม่สามารถใช้งานได้ หรือถ้ากล่องไหนรองรับทั้ง SATA และ PCIe NVMe ได้ก็สบายเลย

ลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมก็จะคล้ายกับแบบ 2.5″ เลย เนื่องจากความเร็วในการทำงานที่เท่า ๆ กัน แต่จะมีจุดเด่นเรื่องขนาดที่เล็ก พกพาง่ายกว่ามาก เหมาะกับคนที่มี SSD M.2 SATA ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ ก็ซื้อแค่กล่อง enclosure มาใช้ได้เลย แต่ถ้าต้องการประกอบ External SSD ใหม่ แนะนำว่าข้ามมาข้อถัดไปเลยจะดีกว่า

External SSD

SSD M.2 NVMe

เป็น SSD แบบแท่ง (Stick) ที่หน้าตาคล้ายกับ M.2 SATA มาก ๆ ถ้าวางอยู่ข้างกันอาจจะต้องดูรายละเอียดปลีกย่อยกันซักพักถึงจะแยกออก แต่ในแง่ของประสิทธิภาพนั้นสูงกว่ากันมาก มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลหลักพัน MB/s ทำให้กลายเป็น SSD ที่เหมาะมากสำหรับใช้เป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลหลักของคอมพิวเตอร์ ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการและโปรแกรมต่าง ๆ ได้ดี รวมถึงถ้านำมาใช้เป็น External SSD ก็จะได้ความเร็วสูงด้วย สามารถใช้ใส่ไฟล์วิดีโอที่เป็นฟุตเทจเพื่อใช้กับโปรแกรมตัดต่อได้สบาย ๆ แบบไม่จำเป็นต้องลากฟุตเทจลงเครื่องเลย

External SSD

สำหรับความเร็วการอ่านไฟล์ของ SSD M.2 NVMe ก็จะมีแบ่งระดับตามเวอร์ชันของโปรโตคอล PCI Express (PCIe) ที่ใช้อีก ดังนี้

  • SSD NVMe PCIe Gen 3 ความเร็วอยู่ในช่วง 1,000 – 3,500 MB/s (8 – 28 Gb/s)
  • SSD NVMe PCIe Gen 4 ความเร็วอยู่ในช่วง 3,500 – 7,500 MB/s (28 – 60 Gb/s)
  • SSD NVMe PCIe Gen 5 ความเร็วอยู่ในช่วง 10,000 MB/s ขึ้นไป (มากกว่า 80 Gb/s)

จากความเร็วการอ่านสูงสุดของ SSD กลุ่มนี้ จะเห็นว่าขั้นต่ำก็ราว 8 Gb/s แล้ว ซึ่งเหมาะกับการใช้เป็น external ที่ทำงานร่วมกับพอร์ต USB ที่ความเร็ว 10 Gb/s ขึ้นไป ได้แก่ USB 3.1 Gen 2 / 3.2 Gen 1×2 ขึ้นไป รวมถึง USB4 และ Thunderbolt เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้เต็มระบบ เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนเป็นพอร์ตที่พบได้บ่อยในโน้ตบุ๊ก เมนบอร์ดคอมในยุคปัจจุบัน ทำให้ถ้าต้องการหา SSD M.2 NVMe มาทำ External SSD การเลือกแบบ PCIe 3.0 ก็เพียงพอแล้ว ส่วน SSD PCIe 4.0 ไว้ค่อยไปใช้ตอนที่เครื่องและ enclosure ที่มีพอร์ต USB4 ออกวางขายแพร่หลายมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้น ราคา ของอุปกรณ์ต่าง ๆ คงลดจากตอนนี้ลงไปอีก

External SSD

ราคา SSD M.2 NVMe ของใหม่มือหนึ่งในปัจจุบันจะเริ่มต้นที่ประมาณ 600 บาทกับความจุ 128GB ขยับขึ้นมา 250GB ก็จะราว 800 ถึงพันต้น ๆ ส่วนกล่อง enclosure ก็ต้องเลือกแบบที่ระบุว่ารองรับ NVMe ด้วยเท่านั้น ราคาก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 700 บาทขึ้นไป ทำให้ทุนรวมของการประกอบ External SSD ถ้าใช้แบบ M.2 NVMe นี้จะสูงสุดเมื่อเทียบกับอีก 2 แบบข้างต้น จึงเหมาะกับ

  • ผู้ที่ต้องการความเร็วแรงในการเข้าถึง และจัดเก็บข้อมูลจริง ๆ ต้องใช้กับงานที่ใช้ไฟล์ขนาดใหญ่ หรือมีไฟล์จำนวนมาก
  • มี SSD NVMe ที่ไม่ได้ใช้อยู่ แล้วอยากเอามาใช้งานดีกว่าวางไว้เฉย ๆ แบบนี้ก็แค่ซื้อกล่อง enclosure มาเพิ่มได้เลย
  • คอมมีพอร์ต USB-C ความเร็วสูง เป็นแบบ USB 3.1 Gen 2 ขึ้นไป
  • มีงบ แล้วอยากจัดเต็มเผื่ออนาคต

อย่างไรก็ตาม ความเร็วที่สูงก็มาพร้อมความร้อนระหว่างการทำงานที่สูงด้วย จะเห็นว่า SSD NVMe PCIe 5.0 หลายรุ่นมักมาพร้อมกับฮีตซิงค์แปะหน้ามาให้เลย ดังนั้นถ้าต้องการนำ SSD NVMe ที่ความเร็วตามสเปคสูงมาก ๆ มาใช้ทำ external ก็ควรเลือกกล่อง enclosure ที่มีการออกแบบให้ระบายความร้อนได้ดีด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป

ค้นหา SSD ที่ต้องการได้ที่นี่


External SSD

กล่อง Enclosure ก็สำคัญ

นอกจากสเปค SSD จะเป็นปัจจัยหลักของการใช้งาน external แล้ว ตัวกล่อง enclosure ที่ใช้ใส่ SSD เองก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสำหรับกล่องแบบพกพาก็จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักตามขนาดของ SSD คือกล่อง enclosure สำหรับติดตั้ง SSD แบบ 2.5″ SATA และกล่องสำหรับ SSD แบบแท่ง M.2

กล่อง Enclosure สำหรับ SSD แบบ 2.5″

กลุ่มนี้จะไม่ซับซ้อนครับ เพราะมีอยู่แบบเดียวคือเป็นกล่องแบน ๆ ขนาดใหญ่กว่าตัว SSD เล็กน้อย มีแผงวงจรอยู่ภายในกล่อง ซึ่งจะมีขั้วต่อ SATA + ขั้วจ่ายไฟสำหรับติดตั้งกับ SSD มาให้ ส่วนอีกฝั่งก็จะเป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับคอมหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบถอดสายได้ โดยมักเป็นพอร์ต USB ที่มีให้เลือก 2 แบบ

Screenshot 2024 05 05 at 11.34.39 AM

หลัก ๆ เลยจะพบเป็น USB แบบ Micro-B ที่รองรับ USB 3.0 เป็นหลัก ซึ่งก็ตรงตามความสามารถของ SSD ที่ต่อผ่าน SATA โดยหน้าตาของพอร์ตแบบ Micro-B จะเป็นแบบแถบยาว ๆ ที่ช่องหนึ่งจะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูแบบเดียวกับหัว Micro USB ส่วนอีกช่องจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า อีกแบบที่เป็นส่วนน้อยคือเป็นช่อง USB-C มาให้เลย ที่จะอยู่ในกล่องราคาสูงขึ้นมานิดนึง

ส่วนอีกด้านของปลายสายก็จะมักจะให้มาเป็น USB-A หรือในบางรุ่นก็จะให้ USB-C มาเลย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกได้เลย หรือถ้าใช้กล่องแบบถอดสายได้ แล้วต้องการซื้อสายใหม่เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานก็ทำได้เช่นกัน เช่น สาย Micro-B to USB-C ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาหลักร้อย

Lexar E10 DSC01249

กล่อง Enclosure สำหรับ SSD แบบแท่ง M.2

จากที่กล่าวถึงไปในช่วงข้อมูล SSD ว่าถ้าเป็นแบบแท่ง M.2 จะมีการเชื่อมต่อสองแบบคือแบบ SATA และ NVMe PCIe ซึ่งตัวกล่อง enclosure ก็จะมีแยกประเภทด้วยเช่นกัน ทำให้ถ้าหากต้องการความแน่นอนในการใช้งาน ก็ควรเลือกกล่องให้ตรงกับประเภทของ SSD ที่ใช้งาน ซึ่งปกติจะมีการระบุชัดเจนเลยว่ากล่องแต่ละรุ่นรองรับ SSD แบบใด แม้หน้าตาภายนอกจะดูเหมือนกันเป๊ะก็ตาม หรือบางรุ่นก็อาจจะรองรับได้ทั้งสองแบบเลย อันนี้ก็สะดวกดี การันตีว่าซื้อมาใช้ได้แน่นอน แต่ตัวเลือกก็จะน้อยกว่าหน่อย

Screenshot 2024 05 05 at 10.35.34 AM

ปกติแล้วในหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ก็จะมีบอกให้ค่อนข้างครบว่าสามารถนำ SSD M.2 แบบใดมาใช้ได้บ้าง ส่วนเรื่อง key ของขั้วหน้าสัมผัส ถ้าเป็นกล่องใหม่ ๆ หน่อยจะสามารถใช้ได้ทั้ง key M และ key M+B อยู่แล้ว อีกจุดที่ต้องตรวจสอบหน่อยก็คือเรื่องความยาวของ SSD ที่กล่องรองรับ เพราะมันจะหมายถึงว่าตัวกล่องมีจุดให้ขันน็อตยึด SSD ที่ขนาดไหนได้บ้าง เช่นในภาพด้านบนคือจะรองรับ M.2 ทั้งขนาด 2230, 2242, 2260 และ 2280 เลย โดยตัวเลขจะหมายถึงชุดความกว้างกับความยาวของแท่ง SSD เช่น 2280 จะหมายถึง SSD นี้มีความกว้าง 22 มม. และความยาว 80 มม. นั่นเอง

สำหรับ SSD ทั้งแบบ M.2 SATA และ M.2 PCIe NVMe ที่วางขายทั่วไป หาซื้อได้ง่ายสุดในปัจจุบันจะเป็นแบบขนาด 2280 นะครับ ส่วนขนาดอื่นที่อาจคุ้นหูคุ้นตาบ้างก็เช่น 2230 สำหรับใส่ในอุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างพวกเครื่องเล่นเกมพกพา ส่วนที่เหลือก็มักเป็น SSD ที่ติดมากับโน้ตบุ๊ก ด้วยพื้นที่บนบอร์ดที่มีขนาดเล็ก ทางผู้ผลิตเลยต้องใช้ SSD ขนาดเล็กกว่า 2280 แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการทำกล่อง enclosure สำหรับใช้ร่วมกับ SSD ที่เล็กกว่า 2280 ด้วย เพื่อตอบโจทย์การพกพาที่เน้นความสะดวกขึ้นไปอีก

ปัจจัยอีกข้อที่สำคัญสำหรับการเลือกกล่อง enclosure มาทำ external ก็คือความจุ SSD สูงสุดที่กล่องรองรับได้ ปัจจุบันมักจะพบอยู่ที่ตั้งแต่ 2TB ขึ้นไป แล้วแต่ความสามารถของชิปคอนโทรลเลอร์บนบอร์ดของกล่องเอง หรือถ้าเป็นกล่องที่ใส่ SSD M.2 ได้สองแท่ง ก็จะมีบอกไว้เช่นกันว่าแต่ละช่องรองรับได้สูงสุดเท่าไหร่

ORICO SSD ENCLOSURE 17

ทีนี้ด้วยความที่เป็นกล่องสำหรับ SSD แบบ M.2 ที่มักมีความร้อนสูงขณะใช้งาน โดยเฉพาะตอนถ่ายโอน เข้าถึงข้อมูล ทำให้ปัจจัยเรื่องการระบายความร้อนก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าต้องนำมาใช้งานหนัก ๆ นาน ๆ ยิ่งต้องระวัง เพราะความร้อนสะสมที่สูงจะส่งผลถึงประสิทธิภาพ SSD ด้วย ส่งผลให้ควรเลือกกล่อง enclosure ที่ได้รับการออกแบบมาช่วยถ่ายเทความร้อนจากชิป SSD ได้ดี เช่น การเลือกใช้วัสดุของกล่องเป็นโลหะแบบที่มีครีบในด้านบนของกล่อง มักตรงกับฝั่งที่มีชิป SSD อยู่ เพื่อให้กล่องช่วยดึงความร้อนออกมาถ่ายเทสู่ภายนอก

นอกจากนี้บางรุ่นยังแถมแผ่นซิลิโคน thermal pad ให้ใช้แปะหน้าชิป SSD ก่อนติดตั้งลงกล่องด้วย ซึ่ง thermal pad ก็จะทำหน้าที่ช่วยเสริมการถ่ายเทความร้อนจากชิปให้ออกมาหากล่องโดยตรง ลักษณะเดียวกับซิลิโคนสำหรับทา CPU และแผ่น thermal pad ที่แปะหน้าเม็ดแรมเลย

1

สรุป ก่อนจะประกอบ External SSD ต้องดูอะไรบ้าง

จากทั้งหมด จุดสำคัญคือควรตรวจสอบสเปคคอมและอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ก่อนว่ารองรับ USB ที่ความเร็วระดับไหน หัวเชื่อมต่อเป็นแบบไหนบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเลือก SSD และกล่อง enclosure ที่เหมาะสมได้ จากนั้นก็มาเลือก SSD ว่าจะเป็นแบบกล่อง 2.5″ หรือแบบแท่ง M.2 หากเลือกแบบหลังก็จะมีย่อยลงมาอีกว่าเป็นการเชื่อมต่อแบบ SATA ที่ราคาย่อมเยากว่า กับแบบ NVMe PCIe ที่ราคาสูงกว่า แต่ก็มาพร้อมความเร็วที่เหนือกว่าด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการเลือกกล่อง enclosure ต่อไป

ซึ่งถ้าเลือกอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นได้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว การประกอบ External SSD ก็ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่เปิดฝาครอบออก เสียบ SSD เข้าไปในช่อง โดยให้ขั้วเสียบเข้าไปแบบแน่นสนิท จากนั้นขันน็อตยึดและแปะแผ่น thermal pad (ถ้ามี) แล้วก็ปิดฝาให้สนิท จากนั้นก็สามารถใช้งานได้ทันที หรืออย่างมากก็ต้องทำการฟอร์แมต SSD ผ่านระบบปฏิบัติการของเครื่องก่อน แต่อย่าลืมเลือกไดรฟ์ที่จะฟอร์แมตให้ถูกต้องนะครับ

Acasis Ssd Enclosure 14

การทำ External SSD แบบนี้จะมีจุดเด่นที่สำคัญคือราคารวมถูกกว่าการซื้อ external แบบสำเร็จรูปจากแบรนด์ดัง รวมถึงเป็นการนำ SSD ที่ไม่ได้ใช้งานมาใช้ให้เป็นประโยชน์กว่าวางเก็บไว้เฉย ๆ ทั้งยังสามารถเลือกความจุได้เองตามต้องการ การรับประกันก็จะเป็นแบบแยกแต่ละชิ้น ส่วนไหนเสียก็แยกเคลมไป หรือซื้อใหม่มาแทนได้ตามต้องการ ในขณะที่แบบประกอบสำเร็จก็จะมีจุดเด่นกว่าในเรื่องซอฟต์แวร์ที่ให้มาร่วมกัน ซึ่งมักจะเป็นพวกเครื่องมือสำหรับตรวจสอบประสิทธิภาพ สุขภาพของ SSD ซอฟต์แวร์ช่วยในการสำรองข้อมูล ไปจนถึงซอฟต์แวร์สำหรับกู้ข้อมูลกลับมาก็มี แลกมาด้วยราคาที่สูงกว่า และการรับประกันแบบเหมารวมยกชิ้น ถ้าแกะออกมาก็อาจทำให้หมดประกันได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและงบประมาณที่มีเลย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

ถ้าประกอบคอมหรือซื้อโน๊ตบุ๊คมาสักเครื่อง นาทีนี้เป็นใครก็อยากได้ SSD 1TB มาใส่ในเครื่องสัก 1~2 ชิ้นแน่นอน จะได้ติดตั้งโปรแกรมทำงาน, เกมและเก็บไฟล์งานเรียกใช้บ่อยได้สะดวก เพราะตอนนี้จะเกมหรือโปรแกรมไหนก็กินพื้นที่กันหลัก 50~100GB กันทั้งนั้น ยังไม่รวมส่วนเสริมอีกร้อยแปดสำหรับเพิ่มลูกเล่นให้งานเสร็จเร็วหรือน่าสนใจยิ่งขึ้นซึ่งอาจใช้พื้นที่เพิ่มอีกพอควร ยิ่งตอนนี้โน๊ตบุ๊คทำงานขนาดปกติกับเกมมิ่งส่วนใหญ่ก็ติดตั้ง SSD ตัวเสริมเข้าไปได้แทบทุกรุ่นอยู่แล้ว ดังนั้นจะซื้อมาใส่ในเครื่องตั้งแต่ก่อนเริ่มใช้งานก็ดี เปิดเครื่องมาตั้งค่าอีกหน่อยก็ใช้งานได้เลย อย่างไรก็ตาม SSD ในปัจจุบันจะมีอินเทอร์เฟสให้เลือกหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ PCIe 3.0...

Accessories review

ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ Lexar Portable SSD SL400 คือไอเท็มสำคัญควรมีติดกระเป๋า! ในวงการหน่วยความจำแล้ว Lexar ก็เป็นผู้ผลิตหน่วยความจำระดับโลกซึ่งมีสินค้าหลากหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น Lexar Portable SSD SL400 สำหรับครีเอเตอร์ยุคใหม่เจ้าของ iPhone 15 Pro และ 16 Pro Series ได้ถ่ายคลิปเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ทำงานต่อได้หรือพกคู่มือถือ Android...

PC Review

WD Blue SN5000 1TB เปิดเครื่องไว ก็อปปี้ไฟล์ ย้ายข้อมูลรวดเร็ว SSD เพื่อสายทำงาน สาย AI และงานที่เร่งด่วน WD Blue SN5000 เป็นหนึ่งในซีรีย์ของ SSD ระดับเพาเวอร์ยูสเซอร์และเกมเมอร์ของทาง WD ที่ออกแบบมาให้กับผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใช้งานด้านความเร็ว ในการอ่านและเขียนข้อมูล บนมาตรฐาน M.2 NVMe...

REVIEW

Kingston NV3 2TB ความจุเยอะ อ่านเขียนไว ตอบโจทย์คนทำงาน คอเกมและครีเอเตอร์ Kingston NV3 เป็น SSD M.2 NVMe รุ่นใหม่ล่าสุด ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานเริ่มต้นกับ SSD M.2 ไม่ว่าจะเป็นบนคอมพิวเตอร์พีซี โน๊ตบุ๊ค ในชีวิตประจำวัน กับความจุที่มากสุดถึง 2TB ทำให้รองรับได้ทั้งการติดตั้งระบบปฏิบัติการ ไปจนถึงการลงโปรแกรม...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก