Google services 7 บริการที่เคยมี แต่วันนี้หายไป มีอะไรบ้าง
ตามที่มีข้อมูลออกมา ก็นับเป็นเวลานานมากแล้วที่ Google services มีนโยบายค่อนข้างเปิดกว้างให้กับพนักงานของตนเองได้ลองเสนอไอเดีย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา เราจึงได้เห็นว่าจะมีบริการใหม่ออกมาอยู่เสมอ บางตัวก็ได้รับการใช้งานจนติดตลาดและกลายเป็นหนึ่งในบริการหลักไปเลย แต่บางตัวที่อาจจะได้รับความนิยมน้อยหน่อย หรือมีการปรับเปลี่ยนแนวทางภายใน เราก็มักจะเห็น Google ปิดบริการเหล่านั้น หรือยุบไปรวมกับบริการอื่นแทน ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีบริการใดบ้างที่ถูกปิดไปแล้ว ซึ่งบางตัวก็ต้องบอกว่ามันใช้งานได้ดีในยุคนั้น ๆ ซะด้วย
Google services บางส่วนที่หายไป
1. Google Podcasts
รายการแบบ Podcast เป็นอีกหนึ่งประเภทสื่อบันเทิงแบบเสียงลักษณะคล้ายรายการวิทยุ ที่กลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นมากนับตั้งแต่ช่วงราว 5-6 ปีก่อน โดยเฉพาะกับเนื้อหากลุ่มเพื่อการพัฒนาตนเองและเนื้อหาสายวาไรตี้ ประกอบกับฝั่งของแอปฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งก็มี Podcast ให้ฟังด้วย อย่าง Google services เองก็จะมีบริการ Google Podcasts แยกออกมาต่างหากตั้งแต่เมื่อปี 2018 เปิดให้บริการทั้งบนหน้าเว็บและมีแอปพลิเคชันแยก ลักษณะคล้ายกับฝั่ง Apple ที่แยกกันระหว่างแอป Music สำหรับฝั่งเพลงและแอป Podcasts สำหรับฟัง podcast โดยเฉพาะ
แต่ในช่วงหลังมานี้ บริการ YouTube Music สำหรับใช้ฟังเพลงเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มผู้จ่ายเงินสมัคร YouTube Premium ที่สูงขึ้นด้วย บางคนถึงกับเลิกเป็นสมาชิกแอปฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งรายอื่น แล้วใช้แต่ YouTube อย่างเดียวก็มี ทำให้ในท้ายที่สุด Google services ประกาศว่าจะปิดบริการ Google Podcasts ไป แล้วย้ายส่วนของการฟัง podcast ไปไว้รวมกับ YouTube Music ในเดือนเมษายนนี้แทน
ในทางหนึ่งก็จัดว่าช่วยทำให้การบริหารจัดการดู lean ขึ้น ด้านของผู้ใช้งานก็สามารถลงแค่แอปเดียวใช้ฟังสื่อทั้งสองแบบได้เลย แต่สำหรับใครที่อยากเน้นฟัง podcast โดยเฉพาะ ไม่เน้นฟังเพลง อันนี้คงต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วตัวแอปจะมีการออกแบบ UI/UX มาอย่างไร แต่ถ้าต้องการแยกแอปเหมือนเดิม คงต้องอาศัยแอปฟัง podcast แบบ 3rd party แทน หรือถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ Apple อยู่ ก็จะยังมีแอป Podcasts แยกให้ใช้งานแทนกันได้
2. Stadia
ชื่อของ Stadia กลายเป็นกระแสในโลกอินเตอร์เน็ตและสื่อสายไอทีกับสายเกมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์ม Google services สำหรับเล่นเกมระดับ AAA ที่นำเอาเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างมาทำงานร่วมกัน และน่าจะทำให้ผู้ใช้สามารถเล่นเกมกราฟิกสูง ๆ จากหน้าจออุปกรณ์ใดก็ได้ผ่านระบบคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นทีวี แท็บเล็ต มือถือ ไปจนถึงคอมที่สเปคไม่สูงมาก ขอแค่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงหน่อยก็เพียงพอ ทำให้หลายคนมองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่จะมาเขี่ยเครื่องเกมคอนโซลให้ตกยุคไปเลยก็มี เนื่องจากเกมที่มีการเปิดเผยว่าจะมีให้เล่นบน Stadia ก็เช่นเกมจากซีรีส์ Assassin’s Creed, FIFA รวมถึง Far Cry ที่เป็นเกมตัวเดียวกันกับบนพีซีและคอนโซลเลย แต่มีข้อดีคือราคาอุปกรณ์ย่อมเยากว่าเครื่องคอนโซล
แต่หลังจากเริ่มเปิดให้ใช้งานจริง ก็เริ่มมีเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานในแง่ลบมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ
ต้องเสียเงินซ้ำซ้อน
การใช้งาน Stadia จริง ๆ แล้วสามารถใช้งานแบบฟรีได้ แต่จะเล่นได้เฉพาะเกมที่ซื้อไว้ สตรีมภาพได้สูงสุดที่ระดับ 1080p 60fps เท่านั้น แต่จะมีแพ็คเกจ Stadia Pro ที่จ่ายเดือนละ $9.99 (ประมาณ 360 บาท) รองรับการสตรีมภาพสูงสุดที่ระดับ 4K 60fps HDR เสียง 5.1 ที่จะมีคลังเกมหมุนเวียนให้เล่นอยู่ประมาณนึงคล้ายกับพวก Xbox Game Pass และ PlayStation Plus ซึ่งพวกเกมระดับ AAA ไตเติลดัง ๆ จะไม่รวมอยู่ในแพ็คนี้ ทำให้ถ้าอยากเล่นเกมพวก Assassin’s Creed, FIFA, Doom, RE7 ผู้ใช้จะต้องจ่ายเงินซื้อเกมเหล่านี้ในราคาเท่า ๆ กับแพลตฟอร์มอื่นอยู่ดี ทำให้ถ้าต้องการเล่นเกมดังระดับ 4K ภาพสวยลื่น ๆ ก็ต้องเสียเงินทั้งค่ารายเดือน Stadia Pro และจ่ายเงินค่าเกมอีก
นอกจากนี้ถ้าต้องการเล่นบนทีวี ลูกค้าจะต้องซื้อ Chromecast Ultra พร้อมกับคอนโทรลเลอร์เป็นชุด Founder Edition ในราคาราวเกือบห้าพันบาทเพิ่มอีก ทำให้สุดท้ายพอบวกไปบวกมา ถ้าต้องการใช้งานในระยะยาว ราคามันแทบจะไม่ต่างจากการซื้อคอนโซลบวกบริการ subscription เท่าไหร่เลย
ประเทศที่เปิดให้ใช้บริการมีจำกัด
อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดของ Google เอง เพราะการจะเปิดให้เล่นเกมแบบสตรีมภาพได้ ควรจะต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ประจำในแต่ละประเทศเลย เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่เหมาะสมที่สุด พร้อมทั้งจะต้องมีหน่วยที่ดูแลบริการหลังการขายอีก จึงไม่แปลกที่มีเปิดให้ใช้อยู่ไม่กี่ประเทศ
ความไม่จริงจังของ Google เอง
สังเกตจากการอัปเดตแนวทางการเติบโตของแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเงียบไป คลังเกมที่มีเข้ามาก็ไม่ดึงดูด โดยเฉพาะกลุ่มเกมระดับ AAA ที่ยังค่อนข้างน้อย ประกอบกับบริการที่เป็นคู่แข่งโดยตรงอย่าง NVIDIA GeForce Now เองก็ปักหลักได้ค่อนข้างแข็งแกร่งแล้วด้วย รวมถึงการเปลี่ยนแนวทางจากที่ประกาศไว้ตอนเปิดตัวว่าจะมีเกม exclusive สำหรับ Stadia โดยเฉพาะ แต่ภายหลังก็ประกาศยุบทีมทำเกม exclusive ไป แล้วโฟกัสแต่เกมจาก 3rd party แทน จึงทำให้ลูกค้าเลือกตัด Stadia ออกจากลิสต์ไป แล้วยังคงอยู่กับเครื่องคอนโซลและพีซีตามเดิม เพราะมั่นใจได้มากกว่าว่าจะมีเกมเล่นได้ไปยาว ๆ และมีเกม exclusive เฉพาะแพลตฟอร์มให้เล่นได้ด้วย
ปัญหาเชิงเทคนิค
นอกจากปัญหาที่พอคาดเดาได้อย่างเรื่องการสตรีมภาพที่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและเสถียร เพื่อให้สามารถสตรีมภาพความละเอียดสูง เฟรมเรตสูง ไปจนถึงการแสดงภาพแบบ HDR ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลต่อวินาทีเป็นปริมาณมาก ทำให้ประสบการณ์ใช้งานในบางครั้งก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง บางทีก็เกมแครชไปเลย สู้เล่นเกมจากเครื่องที่อยู่ตรงหน้าจะยังเสถียรกว่า ที่ถึงแม้จะมีเกมแครชบ้าง เฟรมเรตตกบ้าง แต่ก็ยังมั่นใจได้มากกว่าการเล่นเกมแบบสตรีมมิ่ง
อีกประเด็นของปัญหาทางเทคนิคที่พบก็คือ input lag ของแพลตฟอร์มเอง โดยเฉพาะเมื่อใช้เมาส์และคีย์บอร์ดในการเล่นเกม ขณะที่ถ้าใช้คอนโทรลเลอร์ของ Stadia ก็ยังพบอยู่บ้างเช่นกัน ทำให้ไม่เหมาะกับการเล่นเกมที่ต้องอาศัยการความเร็วในการตอบสนองที่สูง
พวกนี้คือเหตุผลหลักที่ทำให้ Stadia ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาด แม้จะเป็น Google services ที่มาพร้อมเทคโนโลยีสุดล้ำก็ตาม ส่งผลให้ Google ปิดบริการนี้ไปในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา ยังดีที่มีการอัปเดตให้สามารถใช้คอนโทรลเลอร์ของ Stadia เองมาใช้ร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นในแบบของจอยบลูทูธได้ด้วยในภายหลัง
3. Google+
ถ้าคุณเป็นผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต ท่องโลกออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คในช่วงยุค 2010 ต้น ๆ สิ่งที่ฮือฮามากในยุคนั้นก็คือ Google เปิดตัวแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คของตนเองในชื่อ Google+ ขึ้นมาแข่งกับ Facebook และ Twitter ที่ดังเป็นพลุแตกอยู่ในขณะนั้น โดยมาพร้อมกับข้อดีคือความใหญ่ของ Google เอง ที่สามารถนำเข้าไปผูกกับบริการต่าง ๆ ในเครือได้เยอะมาก จนมีผู้ใช้งานมากกว่า 500 ล้านคนในช่วงปลายปี 2012 ส่วนการสมัครก็ง่ายมาก เพราะใช้เพียงแค่บัญชีอีเมลของ Gmail เองก็สามารถใช้งาน Google+ ได้ทันที ซึ่งในยุคนั้น Gmail เองก็เป็นบริการอีเมลที่ติดตลาดไปเรียบร้อยแล้ว
ลักษณะสังคมของ Google+ เองก็มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นในขณะนั้นค่อนข้างมาก อย่างฝั่ง Facebook ก็จะเป็นรูปแบบของโปรไฟล์แยกรายบุคคล ยังไม่มีกลุ่มสังคมผู้ใช้ขึ้นมาแบบจริงจังแบบในปัจจุบัน ส่วน Twitter นั้น หลัก ๆ คือใช้บ่นครับ แต่ละคนสร้างโปรไฟล์ขึ้นมา แล้วก็บ่นเรื่องราวสัพเพเหระกันในนั้น มีพูดคุยตอบโต้กันผ่าน reply (แถมเมื่อก่อนไม่ค่อยมีดราม่าเหมือนสมัยนี้ด้วย)
แต่ Google+ จะเป็นแบบกลุ่มสังคมของคนที่สนใจเรื่องเดียวกันมารวมกัน พูดคุย แชร์เรื่องราวกัน โดยแต่ละคนก็สร้างโปรไฟล์ของตนเองขึ้นมา แล้วก็ค้นหาเรื่องราว หัวข้อที่ตนเองสนใจ แล้วเข้าไปอยู่ในวง (Circle) ของคนที่สนใจคล้าย ๆ กัน ที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในชีวิตจริงก็ได้ เรียกว่าจะค่อนข้างคล้ายกับ Facebook Group ในปัจจุบันก็ได้เช่นกัน ส่วนสัญลักษณ์การโต้ตอบที่เป็นที่จดจำเหมือนกับการ Like ของ Facebook ถ้าฝั่ง G+ ก็คือการ +1 นั่นเอง
แน่นอนว่าเราคงเห็นตอนจบกันไปแล้ว นั่นคือ Google services ปิดบริการ G+ ลงในปี 2019 สาเหตุมาจากยอดผู้ใช้งาน ยอดการมีปฏิสัมพันธ์ที่ต่ำ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการใช้งานที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องช่องโหว่ของแพลตฟอร์มอีก เหลือไว้แต่เพียงตำนานการ +1 เท่านั้น
4. iGoogle
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสการเอาตัว i ไว้หน้าชื่อมันบูมขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ของฝั่ง Apple หลายตัว โดยตัว i นี้อาจจะใช้สื่อความทางการตลาดได้หลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
- internet เพื่อบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำงานผ่านเน็ต
- intelligent เพื่อบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ
- i เพื่อบ่งบอกว่ารองรับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน (personalize)
ซึ่ง Google services เองก็เคยนำตัว i มาใช้นำหน้าชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเองเช่นกันนั่นคือ iGoogle เปิดตัวในปี 2005 โดยเป็นบริการที่ให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งหน้าโฮมเพจ Google ที่แสดงผลบนเว็บเบราเซอร์ในคอมได้ เช่น สามารถเลือกนำวิดเจ็ตพวกปฏิทิน นาฬิกา สภาพอากาศ ฟีดข่าวมาวางบนพื้นที่ว่างบนหน้าแรกของเว็บ Google ได้ตามที่ต้องการ ความรู้สึกจะคล้าย ๆ การแต่งหน้าโปรไฟล์ Hi5 นั่นเอง (เก่าได้อีก)
และก็เป็นไปตามนั้น Google ปิดบริการ iGoogle ลงในปี 2013 ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์การใช้คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นที่คนนิยมตกแต่งหน้าเดสก์ท็อปด้วยวิดเจ็ตต่าง ๆ ถ้าให้เห็นภาพมากขึ้น ยุคนั้นคือช่วงเวลาของ Windows XP มาจนถึง Windows 8.1 ที่ความนิยมของวิดเจ็ตตกแต่งจอพุ่งสูงมากในช่วงกลางยุค และลดลงไปตามกาลเวลา
5. Google Reader
ในช่วงยุคใกล้ ๆ กันกับ iGoogle วิธีการหาข่าว หาเรื่องราวที่น่าสนใจในโลกอินเตอร์เน็ตมาอ่าน มักจะมีอยู่สามแบบหลัก ๆ หนึ่งคือเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์โดยตรง สองคือเข้าผ่านเว็บท่า (portal web) ที่มักจะมีการนำประเด็นเด่น ๆ ของเว็บอื่นมาแสดงไว้ มีช่องทางให้เข้าไปอ่านเนื้อหากลุ่มที่สนใจบนเว็บอื่นอีกที ส่วนอีกแบบที่จะได้รับความนิยมในกลุ่มสาย tech ก็คือการใช้ RSS ช่วยดึงฟีดข่าวในกลุ่มที่สนใจมาแสดงรวมกันบนหน้าจอเดียว ลักษณะก็จะคล้าย ๆ ฟีด Facebook ในปัจจุบันนั่นเอง เช่นถ้าตั้งค่าไว้ว่าสนใจเนื้อหากลุ่มไอที คอมพิวเตอร์ ระบบก็จะไปดึงข่าวและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันของเว็บต่าง ๆ มาแสดงเป็นรายการลงมา ถ้าเราต้องการอ่านก็คลิกเข้าไปอ่านต่อได้เลย ช่วยเพิ่มความสะดวกตรงที่เราไม่ต้องคลิกไปตามเว็บต่าง ๆ เอง
ซึ่ง Google เองก็เปิดตัวบริการ Google Reader ที่ช่วยดึงฟีดข่าวแบบ RSS มาแสดงในปี 2005 และก็ปิดตัวไปในปี 2013 คาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความนิยมของแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีการแสดงข้อมูลผ่านฟีดให้ไถดูได้คล้าย ๆ กัน รวมถึงช่องทางการนำเสนอข่าวก็หลากหลายกว่าเดิมมาก เช่น วิดเจ็ตในหน้าจอมือถือ หน้าต่างเว็บเบราเซอร์ เป็นต้น ทำให้การอ่านข่าวผ่าน RSS ได้รับความนิยมลดลงไป
6. Picasa
Picasa คือบริการสำหรับใช้จัดการคลังรูป แต่งรูปที่ถือเป็นบรรพบุรุษของ Google Photos รวมถึงบริการเก็บภาพผ่านคลาวด์หลาย ๆ ตัวในปัจจุบันก็ว่าได้ เนื่องจากได้รับการเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งฟังก์ชันที่ทำได้ก็จัดว่าครบครันสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการเก็บภาพถ่ายขึ้นคลาวด์เลยทีเดียว จนสามารถใช้งานทดแทนโปรแกรมแต่งภาพหลาย ๆ ตัวในท้องตลาดอย่างพวก Lightroom ได้อยู่เหมือนกัน สำหรับคนที่ต้องการใช้แค่ปรับความสว่าง ปรับสีเล็กน้อย crop ภาพให้ได้แบบที่ต้องการ เป็นต้น ที่สำคัญคือ Picasa สามารถใช้งานได้ฟรี และมีโปรแกรมให้ติดตั้งไว้ใช้งานในเครื่องด้วย
แต่หลังจากที่ Google Photos ได้รับการเปิดตัวในปี 2015 ถัดจากนั้นมาในปี 2016 ทาง Google ก็ประกาศปิดบริการ Picasa อย่างเป็นทาง พร้อมกับให้ผู้ใช้ย้ายไปใช้ Google Photos ที่มีฟังก์ชันเทียบเท่ากันแทน
7. Google Cardboard
ถ้าเป็นช่วงซักเกือบสิบปีก่อน เทคโนโลยี VR จัดว่าเป็นของใหม่มาก ๆ สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่แว่น VR ยังมีราคาสูงอยู่ คอนเทนต์ก็มีน้อย รวมถึงถ้าต้องการใช้งานได้แบบเต็มระบบก็ค่อนข้างยุ่งยากซักนิดนึง ทำให้หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นภาพว่า VR เป็นอย่างไร และคิดว่าเป็นของเล่นคนมีเงินซะมากกว่า
ทำให้ในปี 2014 Google ประกาศเปิดตัวโครงการ Google Cardboard ให้เป็นแพลตฟอร์ม VR ราคาสบายกระเป๋า เพื่อให้คนได้ลองเล่นในวงกว้าง จะถือว่าเป็นหนึ่งในตัวจุดประกายของโลกเทคโนโลยี VR ก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ราคาจับต้องได้ก็คือการขายเป็นชุดสำหรับให้ลูกค้าประกอบแว่น VR เองตามรอยพับที่ทำมาสำเร็จแล้ว ตัวกรอบแว่นทั้งหมดจะเป็นกระดาษลัง ซึ่งก็สามารถหามาทำเองได้เช่นกัน ภายในก็จะใช้เลนส์พลาสติกใสสำหรับตาทั้งสองข้าง พร้อมกับมีช่องให้ใส่สมาร์ตโฟนเข้าไปภายในแว่น เพื่อใช้ในการเล่นคอนเทนต์ VR ออกจอ และเมื่อภาพจากจอส่องมาถึงเลนส์ ก็จะอยู่ในจุดที่พอดีกับสายตา และได้ออกมาเป็นภาพแบบ VR พอดี ส่วนราคาก็เริ่มต้นที่หลักร้อยกว่าบาทเท่านั้น
แต่ล่าสุด Google ก็ประกาศปิดโครงการ Cardboard ไปแล้วตั้งแต่เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา
สรุป 7 บริการดังที่ Google ปิดไปแล้ว
ทั้ง 7 หัวข้อก็คือตัวอย่างของบริการดัง ๆ ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งบางท่านอาจจะเคยใช้งาน เคยผ่านหูผ่านตาที่ Google ปิดไปตามแต่ละช่วงเวลา ได้แก่
- Google Podcasts
- Stadia
- Google+
- iGoogle
- Google Reader
- Picasa
- Google Cardboard
จะเห็นว่าหลาย ๆ ตัวเป็นการปิดบริการแบบที่มีตัวใหม่เข้ามาแทน พร้อมกับผนวกความสามารถของบริการเก่าเข้ามาไว้ในตัวเดียว ซึ่งจะได้ประโยชน์ในเรื่องการลดความซับซ้อนของทีมทำงานลง ลดต้นทุนแฝงของการดำเนินการลง เป็นต้น บางตัวก็เป็นการปิดไปตามเทรนด์ของผู้ใช้งานที่ลดลง หรือไม่ก็ Google มองว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการแล้วก็มี ใครเคยใช้งานบริการไหนบ้าง ลองคอมเมนต์บอกเราด้านล่างได้เลย
อ้างอิงและเรียบเรียงจากบทความของเว็บไซต์ MakeUseOf