ในงาน Lenovo Legion AP Tour 2023 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นไฮไลท์ นั่นคือเครื่องเกม (หรือจะเรียกว่าเป็นคอม) ขนาดพกพาในไซซ์ handheld อย่าง Lenovo Legion Go ไป ในงานนี้ก็มีการนำเสนอข้อมูลของทางฝั่ง AMD ด้วย ซึ่งทำให้เราพอจะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดพีซีเกมมิ่งในอนาคตอยู่เหมือนกัน ว่าน่าจะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มของ handheld ออกมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับบทความนี้ ก็จะเป็นการพูดถึงเทคโนโลยีของ AMD อย่างชิป Ryzen Z1 series ที่มีการ recap ข้อมูลภาพรวมอีกครั้งในงานนี้ รวมถึงเจาะลึกพวกรายละเอียดตัวเครื่อง การออกแบบของ Legion Go ด้วย ว่ามีจุดใดที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่เลอโนโวให้ความสำคัญในการพัฒนาเป็นพิเศษบ้าง
ชิป AMD Ryzen Z1 series ใน Legion Go
เทรนด์ของเครื่องพีซีสำหรับการเล่นเกม ตอนนี้มีกลุ่มหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็คือเครื่องประเภท handheld ที่สามารถพกพาได้สะดวก สามารถใช้งานในลักษณะเครื่องเกมพกพาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังใช้สถาปัตยกรรมชิป x86 และระบบปฏิบัติการ Windows ตัวเต็มอยู่ นั่นจึงทำให้เป็นปัจจัยหลักที่มีส่วนในการตัดสินใจซื้อคอมเครื่องใหม่ในรูปแบบ handheld เพราะผู้ใช้เองก็มองว่าเป็นเครื่องที่ให้อิสระในการใช้งาน สามารถเล่นเกมโปรดได้ในทุกที่ ทุกเวลา
ฝั่งของแพลตฟอร์มคลังเกมเองก็แน่นอนว่าต้องมีการสนับสนุนการใช้งานบนพีซีเป็นหลัก ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเกมต่าง ๆ ผ่านเครื่องไหนก็ได้ ขอแค่ล็อกอินด้วยไอดีของตนเอง รวมถึงยังมีฟังก์ชันการซิงค์ไฟล์เซฟเกมขึ้นคลาวด์ ทำให้สะดวกมากสำหรับคนที่มีเครื่องสำหรับเล่นเกมหลายเครื่อง เพราะสามารถเล่นต่อจากเซฟของตนเองได้เสมอ ไม่ต้องคอยโยนไฟล์ไปมา หรือเซฟข้อมูลลงอุปกรณ์สื่อกลางอื่น ๆ อีกต่อไป
ส่วนฝั่งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในมือมากมาย ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะให้สูงขึ้น พร้อมกับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เคย ส่งผลให้ได้ชิปประมวลผล ชิปกราฟิกที่มีค่าประสิทธิภาพต่อวัตต์พลังงานที่ใช้ที่เหมาะสมสำหรับนำมาใส่ในเครื่องประเภท handheld กว่าในอดีต
ซึ่งผู้นำในด้านของชิปเพื่อเครื่องพีซีแบบ handheld ในปัจจุบันก็จะเป็นฝั่งของ AMD Ryzen Z1 series ที่มีหลายเครื่องเลือกใช้ รวมถึง Lenovo Legion Go ด้วย โดยในขณะนี้ก็มีออกมาด้วยกันสองรุ่นย่อยคือ AMD Ryzen Z1 ตัว 6 คอร์ 12 เธรด และก็ AMD Ryzen Z1 Extreme ที่มีสเปคสูงกว่า คือมี 8 คอร์ 16 เธรด กราฟิก RDNA 3 ทั้งหมด 12 CU ซึ่งประสิทธิภาพด้านการใช้งาน แน่นอนว่ารองรับการใช้งานพีซีทั่วไปได้ ส่วนในด้านการเล่นเกม ก็เพียงพอสำหรับการเล่นเกมในเครื่องขนาดพกพา ที่ภาพก็จะสวยประมาณหนึ่ง แต่เน้นในเรื่องการใช้พลังงานที่เหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในตัว
ส่วนในด้านของความสวยงามของภาพ ความลื่นไหล อันนี้ต้องบอกว่า Integrated GPU ของ AMD เองคือหนึ่งในผู้นำของตลาดมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นจากทั้งใน CPU สำหรับเครื่องพีซี และที่เห็นภาพชัดสุดคือเครื่องเกมคอนโซลในยุคหลัง ๆ ต่างก็ใช้ชิปจาก AMD ทั้งฝั่ง Sony และ Microsoft เลย นั่นจึงทำให้ชื่อของชิป AMD มีภาพในเชิงบวกเมื่อพูดในแง่ของการเป็นชิปประมวลผลเพื่อเครื่องเกม
สำหรับใน Lenovo Legion Go ก็จะเลือกใช้ชิป AMD Ryzen Z1 Extreme ที่เป็นรุ่นท็อปสุดในขณะนี้ ทำให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสถึงประสิทธิภาพในแบบที่แทบไม่แตกต่างกับพีซีเดสก์ท็อปเครื่องใหญ่มากนัก โดยเฉพาะในแง่ของการเล่นเกม เพราะเป็นเครื่องที่ใช้ Windows 11 Home นั่นจึงทำให้สามารถติดตั้งเกมจากแพลตฟอร์มคลังเกมต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ตัวอย่างเช่น PC Game Pass, Steam, EA, Epic Store, และ GOG เป็นต้น หรือถ้ามีไฟล์ .exe สำหรับติดตั้งเกมอยู่แล้วก็สามารถเลือกลงเองได้เช่นกัน เพราะตัวระบบปฏิบัติการมันคือ Windows เวอร์ชันเต็ม ที่ไม่มีข้อจำกัดในการติดตั้งเกมหรือแอปพลิเคชันใด ๆ
ประสบการณ์ที่ผู้ใช้จะได้สัมผัสจาก Legion Go ก็จะมี 3 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ประสิทธิภาพของเครื่องที่ยอดเยี่ยม จากการใช้ชิปประมวลผลที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการทำงานบนเครื่องแบบ handheld ได้อย่างลงตัว ข้อที่สองคือระยะเวลาการเล่นเกมโดยใช้แบตเตอรี่ที่ทำได้ดี ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสนุกกับเกมที่ต้องการได้ตลอด แม้จะอยู่นอกบ้าน หรือไม่ได้เสียบสายชาร์จก็ตาม และข้อที่สามคือความสวยงามของกราฟิกในเกม ที่มีความคมชัด สมจริง มีชีวิตชีวา ทั้งยังรองรับเทคโนโลยี Super Sampling ที่ใช้ AI ช่วยในการสร้างเฟรมภาพขึ้นมา ทำให้ได้ภาพในเกมที่มี FPS สูงขึ้น ให้ความรู้สึกในขณะเล่นที่ดีกว่า
ในเมื่อเป็นการยกพลังกราฟิกระดับพีซีเดสก์ท็อปมาลงในชิป Ryzen Z1 แน่นอนว่าหลาย ๆ ฟังก์ชันก็ตามมาด้วย อาทิ Radeon Super Resolution ซึ่งทำหน้าที่ในการ sampling ภาพดังที่กล่าวไปข้างต้น Radeon Chill ซึ่งช่วยจัดการเรื่องการใช้พลังงาน ให้สามารถใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนานยิ่งขึ้น Radeon Anti-Lag ช่วยลดระยะเวลาการตอบสนองที่อาจเกิดขึ้นจากการประมวลผลภาพลง ทำให้ผู้เล่นรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับตัวเกม เป็นต้น
นอกจากนี้ Legion Go ที่มาพร้อมกับชิป AMD Ryzen Z1 Extreme ยังรองรับการเล่นเกมผ่านคลาวด์ การสตรีมภาพเกมจากพีซีในซีรีส์ Legion เอง ไปจนถึงยังรองรับการเล่นเกม Android ผ่านอีมูเลเตอร์ได้ในตัว นั่นจึงทำให้ Lenovo Legion Go น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องเกม handheld ที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการเล่นเกมในเวลาผ่อนคลาย ไปจนถึงระดับเกมเมอร์ที่อาจต้องการเล่นเกมโปรดของตนเองแม้จะอยู่นอกสถานที่ก็ตาม รวมถึงยังมีความอิสระในการใช้งานที่สูง อันเกิดมาจากความสามารถในการรองรับการทำงานที่หลากหลายของสถาปัตยกรรม x86 ของ CPU นั่นเอง
นอกจาก Legion Go แล้ว เลอโนโวเองก็มีโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปประมวลผล AMD อีกหลากซีรีส์ หลายช่วงราคา ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่ม Gaming อย่าง Legion Pro, Legion Slim, Legion 5, LOQ และ IdeaPad Gaming
- กลุ่มเครื่องราคาระดับเริ่มต้น เช่น IdeaPad Slim 1/3/5
- กลุ่มเครื่องระดับเมนสตรีม ที่เน้นการใช้งานแบบอเนกประสงค์ เช่น IdeaPad Flex, Yoga 6/7
- กลุ่มเครื่องระดับพรีเมียม เช่น Yoga Slim 6/7 และ IdeaPad Pro
จะเห็นว่าเลอโนโวเองก็มีโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD ค่อนข้างครอบคลุมทั้งด้านช่วงราคาและรูปแบบการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำหรับใช้งานพื้นฐาน เครื่องสำหรับงานครีเอทีฟ เครื่องใช้ทำงานที่สามารถเล่นเกมสนุก ๆ ได้ เครื่องเกมมิ่งระดับเริ่มต้น ไปจนถึงเกมมิ่งโน้ตบุ๊กระดับท็อปที่ใส่ฟีเจอร์และความแรงมาแบบจัดเต็ม ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของเลอโนโวเองที่ต้องการเจาะตลาดเกมมิ่งในแทบทุกประเภทของผลิตภัณฑ์เลย
ไฮไลท์ของ Lenovo Legion Go
ย้อนกลับมาที่ Legion Go กันบ้างครับ ต้องบอกก่อนว่าปรัชญาการออกแบบเครื่องนั้นเกิดมาจากการที่เลอโนโว อยากจะได้เครื่อง handheld ซักรุ่นที่เสริม quality of life ให้กับผู้ใช้งานได้ครอบคลุมในหลาย ๆ ด้าน เทียบจากทั้งผลิตภัณฑ์รุ่นอื่นที่ใกล้เคียงกันในตลาด รวมถึงความนิยมของเกมเมอร์ในการเล่นเกมในยุคนี้ เพื่อให้ได้ดีไวซ์ซักเครื่องที่ตอบโจทย์ได้ครบครัน และเป็นเครื่องเกมแบบ handheld ที่ครองใจผู้เล่นได้
พลังความแรงของ Lenovo Legion Go ก็มาจากชิป AMD Ryzen Z1 Extreme อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นชิปที่ลงตัวมาก ๆ สำหรับการใช้กับเครื่องพกพาในปัจจุบัน เพราะเป็นชิปที่ผลิตด้วยสถาปัตยกรรม Zen 4 ระดับ 4nm ที่มีจุดเด่นในด้านการจัดการพลังงาน ประสิทธิภาพต่อวัตต์จัดว่าลงตัว จำนวนคอร์และ CU ของฝั่งกราฟิกก็รองรับการเล่นเกมได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งสิ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพ ก็คือเรื่องการจัดการความร้อนภายในเครื่อง ที่ต้องมีทั้งการพาความร้อนออกได้เร็ว ตัวเครื่องก็ต้องไม่หนา ไม่หนักจนเกินไป ความแรงก็ต้องเพียงพอสำหรับการเล่นเกม และที่สำคัญคือเสียงรบกวนก็ต้องไม่ดังจนถึงขั้นรบกวนการเล่นเกมและการใช้งานทั่วไป โดย Legion Go เลือกใช้การระบายความร้อนโดยพัดลมภายในหนึ่งตัว เพื่อดึงลมเย็นจากข้างนอกเข้าไปเป่าผ่านภายใน แล้วดันออกทางช่องระบายอากาศด้านบน
สำหรับชื่อเรียกฟังก์ชันนี้โดยรวมจะใช้ว่าเป็น Active Cooling ที่มีการออกแบบพัดลมให้มีประสิทธิภาพสมดุลกับการให้เสียงรบกวนที่ต่ำ ทำให้สามารถใช้ไฟเพื่อเร่งประสิทธิภาพได้ถึง 25W และสามารถบูสต์สุด ๆ ได้ถึงระดับ 30W ด้วย ในขณะที่เสียงรบกวนในระหว่างการทำงานเบา ๆ ก็ต่ำมาก หรือในขณะเล่นเกมเอง แน่นอนว่าได้ยินเสียงพัดลมแน่ ๆ แต่ก็อยู่ในระดับที่รับได้ ถ้าต่อลำโพงหรือใช้หูฟังอยู่ ก็คงไม่สร้างความกวนใจขณะเล่นเกมมากนัก เพื่อให้ Legion Go เป็นเครื่องเกมพกพาที่พร้อมใช้งานได้ในทุกสถานการณ์
สิ่งที่ Lenovo ให้ความสำคัญในการออกแบบ Legion Go ก็คือการที่ผู้ใช้จะต้องได้รับประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม จากการแสดงผลที่เหนือกว่า จึงเลือกใช้จอในชื่อทางการตลาดว่า PureSight Gaming Display เหมือนกับในโน้ตบุ๊กซีรีส์ Legion ซึ่งจุดที่ได้เปรียบกว่าเครื่องเกมพกพาแบรนด์หลักอื่น ๆ ในท้องตลาดก็คือหน้าจอที่ใหญ่ถึง 8.8″ ต่างจากรุ่นอื่นที่มักให้มาเป็นจอขนาด 7″ ทำให้ภาพที่อยู่บนจอจะดูใหญ่ คมชัด และมอบประสบการณ์ให้เต็มอิ่มกว่าคู่แข่งในแง่ของขนาดหน้าจอ รวมถึงยังน่าจะเหมาะกับการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ มากกว่าด้วย เพราะ UI จะมีขนาดใหญ่กว่า ใช้นิ้วสัมผัสเพื่อสั่งงานก็สะดวกกว่าด้วย
นอกจากขนาดจอที่ใหญ่แล้ว ตัวเครื่องยังเลือกใช้จอสเปคระดับสูงเพื่อการแสดงผลที่คมชัด สวยงามด้วย โดยเลือกใช้จอ IPS ความละเอียดระดับ WQXGA 2560×1600 QHD+ ที่สูงมากสำหรับกลุ่มเครื่องเกมพกพา อัตราส่วน 16:10 เพื่อการแสดงผลในแนวกว้างที่เต็มตากว่า รองรับการสัมผัสได้ 10 จุดบนจอพร้อมกัน รีเฟรชเรตสูงสุด 144Hz รวมถึงยังมีค่าสีระดับ 97% DCI-P3 ด้วย จึงทำให้จอของ Legion Go เหมาะสำหรับการเล่นเกม ไปจนถึงทำงานกราฟิกก็ยังได้สบาย ๆ นอกจากนี้ยังมีสเปคเรื่องความสว่างจอที่ทำได้สูงสุดถึง 500 nits ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับสมาร์ตโฟนเลย จึงทำให้ผู้ใช้สามารถนำเครื่องออกไปเล่นเกมนอกบ้านได้
แต่ด้วยสเปคจอที่มีความละเอียดสูง จึงอาจจะทำให้หลายท่านสงสัยว่ามันจะสูงไปสำหรับการเล่นเกมด้วยกราฟิกแบบ iGPU หรือเปล่า ตรงจุดนี้ Lenovo ก็คิดมาแล้วเช่นกัน ทำให้ Legion Go สามารถปรับสเกลการเรนเดอร์ภาพบนจอ และปรับระดับรีเฟรชเรตสูงสุดได้ ซึ่งที่น่าสนใจคือมันสะดวกมาก เพราะผู้ใช้งานสามารถกดปุ่มบนจอยข้างขวา เพื่อเรียกหน้า quick settings ที่จะแสดงขึ้นมาจากขอบจอฝั่งขวา และสามารถปรับสเกลภาพไปมาได้ 3 ระดับ ได้แก่ระดับ 2560×1600 (native) เพื่อภาพที่สวยที่สุด ระดับ 1280×800 ในเวลาที่ต้องการลดการใช้แบต และเพื่อให้เครื่องทำเฟรมเรตได้สูงขึ้นเพราะประมวลผลภาพน้อยลง รวมถึงยังมีระดับ 1920×1200 ที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างทั้งสองฝั่งอีกด้วย ด้านของรีเฟรชเรตสูงสุดของจอก็จะมีให้เลือกระหว่าง 60Hz และ 144Hz ด้วย ซึ่งลดขั้นตอนในการปรับได้เยอะพอสมควร เพราะปกติจะต้องเข้าไปตั้งค่าที่เมนูของ Windows เองที่ใช้หลายขั้นตอนมากกว่า
อีกปัจจัยที่ Lenovo ให้ความสำคัญมาก ๆ กับการออกแบบตัวเครื่อง Legion Go ก็คือเรื่องหลักการยศาสตร์ โดยเฉพาะจอย Legion TrueStrike ที่สร้างมาให้มีความโค้งมน จับได้ถนัดมือ แม้จะดูมีขนาดใหญ่นิดนึง แต่ต้องบอกว่ามันได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้มากกว่าการใช้เป็นจอยประกบกับหน้าจอเท่านั้น ประกอบกับมีปุ่มเสริมต่าง ๆ ที่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการทำงานให้กับแต่ละปุ่มเพิ่มเติมได้ผ่านทางซอฟต์แวร์ Legion Space หรือถ้าอยากตั้งค่าแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากที่โปรแกรมให้มา ด้วยการใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ทำให้ผู้ใช้มีอิสระในการติดตั้งโปรแกรมและการตั้งค่าต่าง ๆ มาก หรือจะตั้งค่าแยกจากในแต่ละเกมก็ได้เช่นกัน
อีกข้อของด้านดีไซน์ที่น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ Legion Go ไม่น้อยเลยก็คือน้ำหนักตัวเครื่อง เพราะเฉพาะส่วนของหน้าจอจะมีน้ำหนักมาที่ 640 กรัมแล้ว และถ้าประกบจอยทั้งสองข้างเข้าไป น้ำหนักรวมจะเท่ากับ 854 กรัม ซึ่งถามว่าหนักมั้ย ตอนหยิบขึ้นมาครั้งแรก ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันก็ไม่แย่ครับ เมื่อมองว่ามันเป็นพีซีเต็ม ๆ เครื่องนึงที่มีหน้าจอ 8.8 นิ้วในตัว สามารถใช้งาน Windows ได้เต็ม ๆ แบบแทบไม่ต่างจากเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเลย น้ำหนักส่วนใหญ่จะไปรวมอยู่ที่หน้าจอ แน่นอนว่าการถือเล่นแบบลอย ๆ อาจจะไม่สะดวกนัก เพราะยอมรับว่าเมื่อถือไปซักพัก มันก็รู้สึกหนักมือจริง ๆ
แต่ด้วยความที่หน้าจอมีขนาดใหญ่ UI ก็มีการปรับสเกลให้ใหญ่ตามจอไปด้วย จึงเหมือนเป็นการบังคับกลาย ๆ ว่าผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องยกเครื่องขึ้นมาใกล้สายตามากนัก สามารถถือเครื่องออกไปห่าง ๆ ได้ แล้วพอถือเครื่องห่างออกไป การจัดท่าทางในการถ่ายน้ำหนักก็ทำได้ง่ายกว่าด้วย เช่นถ้านั่งเล่นบนเก้าอี้ บนโซฟา ก็อาจจะถือเครื่องแบบวางมือหรือแขนลงทั้งบนตักและที่พักแขนได้พร้อมกัน โดยที่หน้าจอก็ยังห่างจากดวงตาถึงประมาณ 1 ฟุตกว่า ๆ ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับการดูหน้าจออยู่แล้วพอดี หรือถ้านอนเล่นเกม ก็พอจะสามารถวางเครื่องบนท้องได้อยู่ ช่วยถ่ายเทน้ำหนักเครื่องลงได้เยอะมาก
ในขณะที่เครื่องที่มีขนาดเล็กกว่า อาจจะทำให้ผู้ใช้ต้องถือเครื่องเข้ามาใกล้ตามากขึ้น และต้องใช้แรงในการยกเครื่องเยอะกว่าเพื่อให้ได้จุดที่มองภาพได้สะดวก อันนี้จึงอาจจะช่วยลบจุดอ่อนเรื่องน้ำหนักตัวเครื่องของ Legion Go ลงไปได้บ้าง อีกอย่างคือ Legion Go ให้แบตมาเยอะกว่าเครื่องอื่นด้วยคือ 49.2 WHr ไม่รวมแบตของจอย ส่วนคู่แข่งรุ่นอื่นมักจะให้มาที่ 40WHr รวมทั้งระบบ
สิ่งที่เป็น killer feature ของ Lenovo Legion Go ก็คือจอยที่สามารถถอดแยกจากหน้าจอได้ ถ้าให้เห็นภาพแบบง่ายสุดก็คือสามารถถอดมาใช้เล่นเกม ใช้ควบคุมได้คล้ายกับใน Nintendo Switch เลย นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ Gyro ในตัว 6 แกน ทำให้ผู้ใช้สามารถจับจอยในมือแล้วโยกไปมา เพื่อควบคุมเกมได้ ถ้าให้ยกตัวอย่างการใช้งาน ก็อาจจะเป็นพวกเกมแนว FPS ที่รองรับ หรือจะเป็นพวกเกม VR ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ขยับมือไปในองศาต่าง ๆ เพื่อควบคุมเกม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบสั่น HD haptics ในตัว ช่วยเพิ่มสีสันให้กับการเล่นเกมขึ้นไปอีก
นอกจากการนำจอยมาถือในมือเพื่อเล่นเกมได้แล้ว ยังมีฟังก์ชันเสริมที่น่าสนใจมากอย่าง FPS Mode ของจอยข้างขวา ที่เมื่อถอดจอยออกมา แล้วกดเปิดโหมด FPS ที่ด้านล่างของจอยขวา จากนั้นก็นำจอยมาวางบนแท่นที่แถมมาในกล่อง ที่จะมีแม่เหล็กอ่อน ๆ ช่วยยึดอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นไว้ด้วยกัน ทีนี้ผู้ใช้ก็สามารถลากจอยไปมากับพื้นในแนวตั้ง (ตามภาพด้านบน) เพื่อใช้ควบคุมเกมได้เลย ซึ่งท่าทางการจับก็จะมีลักษณะคล้ายกับการใช้ปืน เพราะเมื่อจะกดยิง ก็จะใช้เป็นการกดนิ้วชี้ลงไปตรงปุ่ม M1 ซึ่งเป็นปุ่มคลิกซ้ายอยู่แล้ว ทำให้ท่าทางคล้ายกับการเหนี่ยวไกปืน ซึ่งเหมาะมากสำหรับการเล่นเกมแนวยิงที่แสดงภาพแบบ FPS
ในการออกแบบฟีเจอร์ FPS Mode คุณ Clifford ให้ข้อมูลว่าทางทีมงานได้ไอเดียมาจากการเล่นเกม PUBG ในยุคปัจจุบัน ที่หลายคนนิยมเลือกที่จะเล่นเกมบนแท็บเล็ต แบบต่อเมาส์กับคีย์บอร์ด หรือถ้าต้องการภาพที่เต็มตาขึ้น ก็จะมีการต่อจอนอกเสริมด้วย ทำให้แทบจะเป็นเหมือนพีซีเครื่องหนึ่งแล้ว ซึ่งถ้าเกมเมอร์ชอบการเล่นเกมในลักษณะนี้ ตัว Legion Go น่าจะตอบโจทย์ได้ดี เพราะจอที่ใหญ่ในระดับใกล้เคียงกับแท็บเล็ตหลายรุ่นอยู่แล้ว จอยก็สามารถถอดออกมาใช้งานในแบบเมาส์ได้เลย ส่วนถ้าต้องการต่อคีย์บอร์ด ก็สามารถต่อได้ทั้งผ่าน Bluetooth และพอร์ต USB-C ของตัวเครื่อง
ในด้านของการควบคุม การใช้งานเครื่อง Lenovo Legion Go ก็สามารถใช้ได้ทั้งผ่านก้านอนาล็อกและปุ่ม D-pad บนจอย และการสัมผัสหน้าจอในรูปแบบของทัชสกรีนที่หลายท่านคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือจอยฝั่งขวาจะมีทัชแพดมาให้ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่มีอยู่ใน Steam Deck ทำให้สามารถใช้งานหน้าจอ Windows ได้สะดวกกว่าการมีแค่จอยและจอสัมผัสเท่านั้น ซึ่งน่าจะตรงโจทย์ของหลายท่าน ที่บางเวลาก็ต้องการนอนดูหนังแบบสบาย ๆ โดยใช้การต่อ Legion Go กับมอนิเตอร์ ทีวี หรือแว่น Legion Glasses เองก็ตาม โดยถอดเฉพาะจอยแยกออกมาไว้ข้างตัว เผื่อไว้ใช้คุมระบบอีกที ซึ่งในบางสถานการณ์ การใช้ทัชแพดก็สะดวกกว่าการโยกก้านอนาล็อกจริง ๆ
ซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมกับ Legion Go ก็คือ Legion Space ทำหน้าที่เป็นฮับของการเล่นเกม และการตั้งค่าตัวเครื่องในหลาย ๆ จุด ซึ่งจะมองว่าเป็นเหมือน launcher ในมือถือ Android ก็ว่าได้ เพราะมันเป็นหน้าจอครอบ ที่ช่วยดึงโปรแกรม/เกมที่ติดตั้งไว้ ไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Game Pass, Steam, EA Play ไปจนถึงการติดตั้งผ่านไฟล์ .exe มาแสดงรวมกันให้สามารถเรียกใช้หรือเปิดเกมเล่นได้ง่าย รองรับการเล่นเกม Android ผ่าน Nox รวมถึงหน้าตาของเมนูตั้งค่าต่าง ๆ ก็จะดูใกล้เคียงกับมือถือ แท็บเล็ตที่หลายท่านคงคุ้นเคยกันอยู่แล้วด้วย
ส่วนถ้าต้องการสลับไปใช้หน้าจอ Windows 11 ตัวเต็ม ก็ทำได้ด้วยการกดปุ่ม Legion ตรงมุมขวาบนสุดของจอยซ้ายได้ทุกเวลา
Lenovo Legion Go จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาเติมเต็มไลน์อัพกลุ่มเกมมิ่งของเลอโนโว ด้วยการเป็นเครื่อง handheld ที่รองรับทั้งการเล่นเกมและการใช้งานได้ใกล้เคียงกับการเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งมาก ๆ และถ้าต่อเมาส์ คีย์บอร์ด จอ ก็เท่ากับว่าผู้ใช้จะได้พีซีขนาดพกพาที่สเปคแรงเพียงพอสำหรับการเล่นเกมได้ในแทบทุกสถานการณ์เลย เช่นอาจจะพกไปต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องทำงานที่ออฟฟิศ เวลาเลิกงานก็ถอดเฉพาะเครื่องแล้วพกกลับมา ระหว่างเดินทางก็สามารถหยิบมาเล่นเกมเบา ๆ ฆ่าเวลาได้ พอกลับถึงบ้านก็มาต่อจอเพื่อใช้เล่นเกมแบบเต็ม ๆ ได้ในเครื่องเดียว
สเปคสูงสุดของ Legion Go ก็จะเป็นตามภาพข้างบนครับ คือใช้ชิป AMD Ryzen Z1 Extreme (ในบ้านเราก็น่าจะได้ตัวนี้ รออัปเดตกันอีกครั้งก่อนวางขาย) แรม 16GB ที่เพียงพอสำหรับการเล่นเกมในช่วง 1-2 ปีนี้ได้อยู่ ส่วนความจุ SSD อันนี้ตามสเปคแล้วจะมีตั้งแต่ 256GB, 512GB และ 1TB ที่คงต้องรอสเปคอย่างเป็นทางการของรุ่นที่จะเข้าไทยอีกทีนึงครับ แต่ก็คาดว่าน่าจะมาที่ 512GB นะ เพราะถ้า 256GB คงน้อยไป ส่วน 1TB อาจจะดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก เพราะถ้าดูราคาต่างประเทศที่ออกมาในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า Legion Go จะเปิดราคามาสูงกว่าคู่แข่งเล็กน้อย ตัวอย่างที่ซัดกันตรง ๆ สุดก็คือ ASUS ROG Ally ที่มีเข้ามาขายอย่างเป็นทางการในไทย และคาดว่าสเปคน่าจะชนกันเต็ม ๆ ด้วย (Z1 Extreme/16/512)
- Ally ราคาสิงคโปร์ 949 SGD (24,800 บาท) ราคาไทย 24,990 บาท
- Legion Go ราคาสิงคโปร์ 1,149 SGD (30,000 บาท) ส่วนราคาไทยต้องรอลุ้นกันอีกที
ส่วนกำหนดการวางจำหน่าย Lenovo Legion Go อย่างเป็นทางการในแบบเครื่องศูนย์ไทย น่าจะมาอย่างเร็วสุดคือช่วงต้นปีหน้า (หรือเร็วสุด ๆๆๆๆ คือปลายปีนี้) ถ้ามาปลายปีนี้ก็จัดว่าเร็ว เผื่อได้เอาเครื่องไปใช้เล่นเกมช่วงวันหยุดยาว ส่วนถ้ามาต้นปีหน้า ก็พอให้หลายท่านได้เงินโบนัสก่อน แล้วค่อยมาซื้อได้พอดี ยังไงก็รอการอัปเดตกันอีกทีครับ สำหรับใครที่รอซื้อเครื่องเกมพีซีพกพาอยู่