ในงาน Lenovo Legion Asia Pacific Tour 2023 รอบนี้ ผลิตภัณฑ์ที่จัดว่าเป็นไฮไลท์เด่นสุดในงานก็คือ Lenovo Legion Go ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเครื่องคอมพีซีพกพาที่ออกแบบมารองรับการเล่นเกมระดับ AAA ได้สบาย ๆ ผ่าน Windows 11 ซึ่งในบทความนี้ก็จะเป็นการพรีวิวตัวเครื่องภายนอกเป็นหลัก พร้อมด้วยอุปกรณ์เสริมอย่างแว่น Lenovo Legion Glasses ไปด้วยเลย ก่อนที่จะเปิดวางจำหน่ายในไทยเร็ว ๆ นี้
พรีวิวเครื่องเกมพกพา Lenovo Legion Go
พูดถึงมิติตัวเครื่องกันก่อน ภายนอกก็ต้องบอกว่าจะเป็นในรูปแบบใกล้เคียงกับเครื่องอื่นในกลุ่มเดียวกัน เช่น Steam Deck, ROG Ally และที่หลายท่านอาจจะมีกันอยู่แล้วอย่าง Nintendo Switch คือหน้าจอจะอยู่ในแนวนอน ขนาบข้างด้วยจอยปุ่มกดด้านข้าง
ตัวเครื่องมาในสีดำด้าน ให้ความดุดัน แต่ตรงฝาหลังก็อาจจะมีคราบรอยนิ้วมือติดง่ายนิดนึง ตัดกับบริเวณปุ่มกดที่เป็นสีมันแวววาว
หน้าจอสัมผัสมีขนาด 8.8″ อัตราส่วนภาพแบบ 16:10 ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่และมีความละเอียดสูงกว่าเครื่องรุ่นอื่นในกลุ่มเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเทียบสเปค ต้องบอกเลยว่าตัวนี้จัดเต็มมาก ๆ และเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์เด็ดในงานนำเสนอครั้งนี้เลย
- Lenovo Legion Go จอ 8.8″ 16:10 QHD+ IPS 144Hz
- ASUS ROG Ally หน้าจอ 7″ 16:9 FHD IPS 120Hz
- Steam Deck จอ 7″ 16:10 1280×800 IPS 60Hz
- Nintendo Switch (OLED) จอ 7″ 16:9 1280×720 OLED
ซึ่งหน้าจอของเครื่องจริง ต้องบอกว่าสีสันดูสวย สดใส ภาพคมชัด มุมมองของจอก็กว้างดีมาก ซึ่งหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ นอกเหนือจากภาพในเกมที่ดูเต็มตากว่าแล้ว ตอนใช้ในหน้าจอ Windows 11 ก็ดูง่ายกว่า และสามารถแตะหน้าจอเพื่อสั่งงานได้สะดวกกว่าด้วย
จุดที่ดูจะเหนือกว่าคู่แข่งในกลุ่มพีซีพกพาในสไตล์ handheld ก็คือความสามารถในการถอดจอย Legion TrueStrike Controller แยกออกมาได้ในรูปแบบคล้ายกับ Nintendo Switch เลย ซึ่งแต่ละข้างก็จะมีแบตเตอรี่ในตัวมาให้ และมีเซ็นเซอร์ gyro ภายใน สามารถใช้งานแบบถือไว้ในมือได้
ในจุดนี้ Lenovo ก็ออกแบบฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า FPS mode มาให้ใช้งานด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถวางจอยข้างขวาลงบนแท่นแม่เหล็กที่แถมมาในชุด เพื่อใช้ลากกับพื้นแทนการใช้เมาส์ ซึ่งจะให้ลักษณะเหมือนกับกำลังถือปืนอยู่จริง ๆ ตอบโจทย์การเล่นเกมแนว FPS มาก ๆ
นอกจากความสามารถในการถอดจอยมาใช้ใน FPS mode แล้ว จอย Legion TrueStrike ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกเยอะเหมือนกันครับ อาทิ
- มีการออกแบบปุ่มให้มีขนาดใหญ่ กดง่าย
- มี hall effect มาให้ ช่วยป้องกันปัญหาจอยดริฟท์ และช่วยลดพื้นที่ dead zone ในการควบคุม เพื่อการใช้งานที่แม่นยำยิ่งขึ้น
- มีแทร็กแพดมาให้ใช้งานแบบเมาส์ได้ที่จอยข้างขวา
- มีวงล้อ scroll ให้ที่จอยข้างขวา
โดยด้านล่างของจอยขวา จะมีสวิตช์สำหรับเปิด/ปิด FPS mode อยู่ ซึ่งก่อนจะนำจอยขวาไปตั้งบนแท่นวาง ก็ต้องมาสับสวิตช์ที่ตรงนี้ก่อนด้วย ถึงจะสามารถใช้งานจอย Legion Go ในแบบโหมด FPS ได้
ที่วงแหวนรอบก้านอนาล็อกก็จะมีไฟ RGB ที่ใช้แสดงสถานะการทำงาน และใช้แสดงว่ามีการแจ้งเตือนเข้าได้ด้วย
ที่น่าสนใจอีกข้อก็คือแต่ละข้างจะมีปุ่มเสริมมาให้รวมถึง 6 ปุ่ม (ไม่รวมพวกปุ่ม LB, LT, RB, RT) ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งค่าการทำงานได้ตามต้องการผ่านโปรแกรม Legion Space ส่วนการล็อกจอยเข้ากับหน้าจอ ก็ทำได้แข็งแรงดี ถ้าต้องการถอดจอยออกมา ก็ต้องกดปุ่มปลดล็อกก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่าจอยไม่น่าจะหลุดออกจากตัวเครื่องได้ง่าย ๆ
ทั้งหมดนี้ทำให้จอยของเครื่องนี้รองรับทั้งการเล่นเกมและการใช้งานทั่วไปได้ดีเลย จะใช้เป็นเมาส์แนวตั้งก็ยังได้
ทีนี้กลับมาที่ส่วนของจอกันบ้างครับ ตามสเปคจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 640 กรัม ถ้ารวมจอยทั้งสองข้างด้วยก็มีน้ำหนักรวม 854 กรัม ซึ่งจะหนักกว่าเครื่องในกลุ่มเดียวกันอยู่นิดนึง แต่ก็เป็นจุดที่เข้าใจได้ เพราะหน้าจอใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัดเลย
ด้านหลังเครื่องมีช่องสำหรับระบายอากาศขนาดใหญ่อยู่ตรงฝั่งด้านบน ส่วนด้านล่างที่มีคำว่า LEGION อยู่ จริง ๆ แล้วเป็นขาตั้งในแบบ kickstand ที่สามารถกางออกมาเพื่อตั้งเครื่องบนโต๊ะได้ สามารถกางออกมาได้กว้างสุดประมาณ 90 องศา และจะมีตัวช่วยล็อกให้ ซึ่งเมื่อลองวางแล้วคือจะอยู่ในมุมที่พอดีกับสายตาเลย กลไกการพับจัดว่าค่อนข้างแข็งนิดนึง แต่ก็มั่นใจว่าจะมั่นคงดีขณะใช้งาน
ด้านบนของเครื่องมีช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. พอร์ต USB-C และช่องใส่การ์ด MicroSD
ด้านล่างก็มีพอร์ต USB-C อีกหนึ่งช่อง ซึ่งที่น่าสนใจคือ USB-C ทั้งสองช่องนี้รองรับการถ่ายโอนข้อมูลตามมาตรฐาน USB 4.0 รองรับการต่อภาพออกจอผ่านโปรโตคอล DisplayPort 1.4 และยังรองรับการชาร์จเร็วแบบ PD 3.0 ด้วย เท่ากับว่าเราสามารถวางเครื่องแบบตั้งกับพื้น แล้วต่อภาพออกจอแยกผ่านพอร์ตด้านบน หรือจะถือเครื่องเล่นในมือ แล้วต่อสายชาร์จที่พอร์ตด้านล่างก็ได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกได้มาก และน่าจะเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่โดนใจผู้ที่กำลังเล็งเครื่องแนวนี้อยู่ได้เลย
ภายในมาพร้อมกับลำโพงกำลังขับ 2W อยู่สองตัว มีไมโครโฟนให้ด้วย ติดนิดนึง ถ้ามีกล้องเว็บแคมมาให้ด้วย น่าจะสามารถใช้เป็นคอมสำหรับทำงานได้สมบูรณ์แบบเลย
ส่วนการเชื่อมต่อ ก็รองรับ WiFi 6E และ Bluetooth ทำให้สามารถโหลดไฟล์ได้เร็ว และใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ Bluetooth ที่มีอยู่ได้สบายเลย ไม่ว่าจะเป็นหูฟัง คีย์บอร์ด หรือเมาส์
ด้านของซอฟต์แวร์ ตัวเครื่องมาพร้อมกับ Windows 11 Home ตัวเต็ม สามารถใช้งานได้เหมือนกับเดสก์ท็อป พีซีทั่วไปเลย รองรับการติดตั้งโปรแกรม เกมได้ตามที่ต้องการ
ซอฟต์แวร์อีกตัวที่ติดตั้งมาให้ก็คือ Legion Space ซึ่งจะมีหน้าที่เป็นโปรแกรมสำหรับควบคุมการทำงานแทบทั้งหมดของ Lenovo Legion Go เลย ตั้งแต่การตั้งค่าการเชื่อมต่อ การจัดการพื้นที่เก็บข้อมูล การปรับระดับประสิทธิภาพ ไปจนถึงการปรับตั้งค่าความละเอียดหน้าจอและการสเกลภาพ
ซึ่งการปรับค่าใน Legion Space ที่น่าสนใจก็เช่น การปรับระดับประสิทธิภาพ ความแรงพัดลม ระดับการสเกลภาพ รวมถึงรีเฟรชเรตของจอด้วย
สำหรับสเปคเต็ม ๆ สามารถเข้าไปดูได้จากหน้าเว็บของเลอโนโวเองครับ ก่อนจะพบกับรีวิวเต็มจาก NotebookSPEC ในเร็ว ๆ นี้
ส่วนสเปคคร่าว ๆ ของ Lenovo Legion Go ก็ตามนี้เลย
- ชิปประมวลผล AMD Ryzen Z1 Extreme มี 8 คอร์ 16 เธรด TDP 9-30W
- กราฟิก AMD RDNA มี 12 คอร์ รองรับ Super Resolution
- จอ 8.8″ QHD+ IPS 144Hz 97% DCI-P3 ความสว่างสูงสุด 500 nits
- แรม LPDDR5X 7500MHz 16GB
- SSD แบบ PCIe 4.0 NVMe M.2 2242 มีความจุทั้งแบบ 256GB, 512GB และ 1TB
- แบตเตอรี่ในตัว 49.2 WHr รองรับการชาร์จเร็ว Super Rapid Charge
สำหรับการวางขาย Legion Go ในไทย อันนี้บอกได้เลยว่ามาแน่นอนครับ รอติดตามข้อมูลอัปเดตกันได้เลย ทั้งกำหนดการวางจำหน่ายและราคาที่น่าจะได้เห็นความคืบหน้ากันในเร็ว ๆ นี้
พรีวิวแว่น Legion Glasses
ต่อมาคืออุปกรณ์เสริมอย่างแว่น Lenovo Legion Glasses ซึ่งออกแบบมาเพื่อการแสดงผลแบบ AR เป็นหลักครับ ทำหน้าที่เป็นจอภาพขนาดใหญ่เพื่อใช้ทั้งสำหรับเล่นเกมและใช้งานทั่วไปได้เลย ที่น่าสนใจคือสามารถใช้ได้กับหลากหลายแพลตฟอร์มมาก ไม่ว่าจะเป็น Legion Go เอง ไปจนถึงใช้ร่วมกับ Windows, Android, macOS ไปจนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่รองรับการส่งภาพออกทางพอร์ต USB-C Alt mode
หน้าตาของ Lenovo Legion Glasses ก็คือแว่น AR แบบที่หลายท่านคุ้นเคยกันดี
ตัวเลนส์จะเป็นหน้าจอที่ให้ภาพโดยพาเนล Micro OLED ความละเอียดภาพต่อข้างอยู่ที่ระดับ Full HD (1920×1080) 60Hz ภาพที่ได้เมื่อสวมใส่ ต้องบอกว่าทำออกมาได้ดีเลย ทั้งความสว่าง สีสัน คอนทราสต์และความคมชัด โดยภาพจะแสดงก็เมื่อเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ด้านใน จับได้ว่ากำลังถูกสวมใส่อยู่เท่านั้น
ในการพรีวิว ผมลองเล่นเกมผ่านแว่น Legion Glasses กับหลายเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น Legion Go เอง รวมถึง iPhone 15 Pro พบว่าสามารถเสียบสายแล้วใช้งานได้แทบจะทันที
Lenovo Legion Glasses มาพร้อมลำโพงในตัว ทำให้สามารถใส่เพื่อเล่นเกม ดูหนัง หรือรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้ทันที แต่ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัว ก็อาจต้องใช้การต่อหูฟังจากเครื่องต้นทางแทน อย่างถ้าใช้ร่วมกับ Legion Go ก็คือสามารถใช้หูฟัง Bluetooth หรือหูฟังแบบมีสาย ต่อกับพอร์ต 3.5 มม. หรือ USB-C ก็ได้เช่นกัน
ในการใช้งานแว่น Legion Glasses จะอาศัยการรับส่งข้อมูล และการจ่ายไฟผ่านสาย USB-C เส้นเดียว โดยสายจะมีความยาวอยู่ที่ 1.2 เมตร เหลือเฟือสำหรับการเล่นเกมกับเครื่อง handheld เล่นเกมกับโน้ตบุ๊ก หรือถ้าจัดสายดี ๆ ก็สามารถใช้กับเครื่องเดสก์ท็อปก็ยังได้
สำหรับใครที่ใส่แว่นสายตาอยู่ ก็สามารถใช้งาน Legion Glasses ได้แน่นอน เพราะในชุดจัดจำหน่ายจะมาพร้อมตัวแปลงค่าสายตาให้เหมาะสมกับแต่ละระดับให้หยิบมาใช้งานได้ตามสะดวก
ซึ่งในงานนี้ก็จะมีการจัดโซนสาธิตการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ให้ได้เข้าไปลองกัน ทั้งแบบเป็นโซนตั้งเครื่องเดโมตามปกติ โซนการใช้งานในบ้าน ไปจนถึงการจำลองว่ากำลังนั่งเครื่องอยู่ ก็สามารถหยิบ Legion Go มาเล่นเกม โดยใช้แว่น Legion Glasses ก็ยังได้เลย