Connect with us

Hi, what are you looking for?

Buyer's Guide

เลือกเพาเวอร์ซัพพลาย 2023 อัพเกรดคอมใหม่ ดูที่อะไร เลือกแบบไหนคุ้ม! ประหยัดไฟ 80 Plus คือ?

เพาเวอร์ซัพพลายปี 2023 เลือกแบบไหนคุ้ม จ่ายไฟดี ประหยัดไฟ ประกอบคอมเล่นเกมแรงๆ

How to choose power supply 2023 cov

เพาเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมในปี 2023 นี้ ยังถือเป็นอุปกรณ์สำคัญ ทำหน้าที่แปลงไฟและจ่ายไฟให้กับชิ้นส่วนต่างๆ บนเมนบอร์ด เช่นซีพียู แรม การ์ดจอ เรียกว่าถ้าไม่มี คอมก็ใช้ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เป็นระบบไฟ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง จึงทำให้หลายคนปวดหัวกับการเลือกใช้ เพราะดูยุ่งยาก บางคนเลือกที่ราคา แต่บางคนก็เน้นที่การจ่ายไฟ หรือบางคนชอบดีไซน์ ซึ่งในแง่ของการใช้งานจริง ก็ต้องดูองค์ประกอบเหล่านี้ไปพร้อมกัน เช่น จ่ายไฟพอ แรงดันไฟต้องได้ รองรับการอัพเกรด และต้องอยู่ในงบประมาณ แต่จะเลือกอย่างไรดี วันนี้เรามาดูวิธีการเลือกเพาเวอร์ซัพพลาย เพื่อมาใช้กับคอมสเปคใหม่ จะซื้อได้ตรงใจและเหมาะกับการใช้งาน


เพาเวอร์ซัพพลายรุ่นใหม่ 2023 เลือกแบบไหนดี


ทำไมเพาเวอร์ Watt เท่ากัน แต่ราคาต่างกัน

Advertisement

ช่วงนี้การ์ดจอราคาถูกลง หลายคนที่คิดจะอัพเกรดเปลี่ยนการ์ดจอใหม่ แต่ติดปัญหาอาจต้องซื้อเพาเวอร์ซัพพลายใหม่ด้วย เพราะตัวเก่าอาจไม่สามารถจ่ายไฟให้กับการ์ดตัวแรงๆ โหลดหนักไม่ไหว จ่ายไฟได้ไม่พอ ซึ่งถ้าคุณไม่มั่นใจ ว่าจะเลือกแบบไหน แล้วจะประกอบเองได้มั้ย ติดตามบทความนี้ เวลานี้ เพาเวอร์ซัพพลายดีๆ มี 80+ ก็ราคาถูกลงมามากแล้ว สามารถหาซื้อเพาเวอร์ระดับ 850W 80+ Gold ในราคาแค่ 3 พันกว่าบาทเท่านั้น ประเด็นในวันนี้เราจะมาแนะนำในเรื่องของการเลือกใช้ และข้อสงสัยที่ถ่มกันบ่อย เช่น เพาเวอร์ 80+ จำเป็นมากมั้ย, เช็คได้อย่างไร ว่าเราต้องเลือกเพาเวอร์กี่วัตต์และต่อสายเพาเวอร์ลงเมนบอร์ดและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไร

เพาเวอร์ซัพพลาย

ในเบื้องต้นหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมเพาเวอร์จ่ายไฟเท่ากัน แต่ราคาต่างกัน ตรงนี้ไม่ซับซ้อนครับ มีตัวแปรสำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง นั่นคือ เรื่องแรกการทำแบรนด์ เพื่อเป็นการโฆษณาทำตลาด เพื่อให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรด์ได้ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะมีอยู่ในทุกๆ วงการ แต่ไม่ใช่ว่าจะได้เพาเวอร์แพง เพราะเสียกับค่าสร้างแบรนด์ เพราะแบรนด์เพาเวอร์ซัพพลายของค่ายต่างๆ เหล่านี้ เค้าก็ต้องเลือกสินค้าที่ดี ทนทาน บริการตอบโจทย์ได้จริง เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียงที่สร้างมา ดังนั้นเรามักจะเห็นเพาเวอร์ซัพพลายของค่ายต่างๆ นี้ มักจะมีบริการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้า ให้คำแนะนำ หรือการเคลมเปลี่ยนเป็นต้น


ฟังก์ชั่นการใช้งาน

ก็มีส่วนทำให้ราคาสูงขึ้น หรือถูกลงได้ ตัวอย่างเช่น เพาเวอร์ซัพพลายบางรุ่น ออกแบบให้ถอดสายได้ หรือที่เรียกว่า Modular หลายท่านน่าจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งข้อดีของเพาเวอร์ซัพพลายที่ถอดสายได้นี้อยู่ที่ ความสะดวกในการจัดเก็บ และทำให้ภายในเคส มีความเรียบร้อยสวยงามมากขึ้น โดยเฉพาะสายแต่งเคส และจัดการภายในให้ดูสบายตามากที่สุด ทำให้งานจัดเก็บสายด้านหลังทำได้ง่าย นั่นก็เพราะอุปกรณ์ชิ้นไหน ไม่ได้ใช้งาน ก็ถอดสายนั้นออกจากตัวเพาเวอร์ได้ โดยจะมีทั้งแบบถอดได้บางส่วน มีสายที่เป็น 24-pins อยู่เป็นหลัก ที่เหลือถอดได้หมด อีกแบบคือ ถอดสายได้ทั้งหมด เลือกใช้แต่ที่ต้องการเท่านั้น โดยแบบถอดได้หมดหรือ Full Modular ราคาก็จะสูงขึ้น

เพาเวอร์ซัพพลาย

แต่เรื่องของฟังก์ชั่น ยังมีมากกว่าการถอดสายได้ ตัวอย่างเช่น การมีแสงไฟ RGB บนตัวเพาเวอร์ซัพพลาย เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเคส และอุปกรณ์ภายใน ซึ่งเดิมเพาเวอร์จะเป็นอุปกรณ์ที่ดูเรียบง่าย ไม่ได้มีความโดดเด่น บางค่ายเลยติดตั้งลูกเล่นเสริมความสวยงามเข้าไปในตัว อย่างเช่น ASUS ROG STRIX Aura Edition รุ่นนี้มาพร้อมแสงไฟ RGB ด้านข้าง และยังสามารถซิงก์เข้ากับเมนบอร์ดใช้ซอฟต์แวร์ปรับแต่งได้ รวมถึงมีปุ่มสำหรับปรับรอบพัดลมให้ลดเสียงรบกวนอีกด้วย

เพาเวอร์ซัพพลาย

หรือจะเป็น Tt Toughpower GF3 ARGB ที่เป็นเพาเวอร์ระดับ 750W 80 Plus Gold มาพร้อมพัดลมแสงไฟ ARGB สวยๆ ปรับแต่งแสงไฟให้เข้ากับสเตปของไฟอื่นๆ ในเคสได้ ผ่านทางซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ดที่รองรับไฟ RGB นอกจากนี้ยังมีหัวต่อจ่ายไฟเลี้ยงให้กับการ์ดจออย่าง PCIe 5.0 แบบ 12VHPWR ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในเพาเวอร์ทั่วไปมากนัก มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่ใช้การ์ดจอ nVIDIA ตัวเทพๆ

ตัวอย่างเช่น CORSAIR HX1500I ที่เป็นเพาเวอร์ซัพพลายระดับ 1,500W เรียกว่าเป็นตัวท็อปๆ หัวแถวในสายของฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ มาพร้อมระดับการจ่ายไฟได้สูง แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องของแสงไฟ แต่อยู่ที่ระดับการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ สำหรับการ์ดจอตัวท็อปๆ และซีพียูระดับ Core i9 หรือ Ryzen 9 ได้สบาย และพัดลมขนาดใหญ่ ระบายความร้อนได้ดี มีฟีเจอร์ลดเสียงรบกวน โดยมีหัวต่อการ์ดจอให้ถึง 3 หัวด้วยกัน ให้ความทนทานระดับ 100,000 ชั่วโมง การรับประกัน 10 ปี ถ้าเกมมิ่งพีซีตัวล่าสุดแรงเหลือล้น เพาเวอร์รุ่นนี้ก็น่าลงทุนไม่น้อยเลย


วัสดุและคุณภาพชิ้นส่วน

เพาเวอร์ซัพพลาย

เรื่องของการแปลงไฟและจ่ายไฟ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัย บ่อยครั้งที่เพาเวอร์ซัพพลายราคาสูง ก็มาพร้อมความปลอดภัยและมั่นใจได้มากขึ้น ด้วยชิ้นส่วนที่รองรับแรงดันไฟได้ดี ตัวต้านทาน คาปาซิเตอร์และอื่นๆ มีคุณภาพ ที่เรามักได้ยินกันเสมอ อย่างเช่น Japanese electrolytic capacitors สามารถให้กระแสได้นิ่ง ซึ่งส่งผลต่อการใช้งานจริง โดยเฉพาะในช่วงโหลดหนักๆ เป็น Peak load ซึ่งจะเป็นการใช้ศักยภาพของเพาเวอร์อย่างเต็มที่ หากคุณภาพดี มีระดับ Watts ที่เพียงพอ คลื่นกราฟจะไม่แกว่ง ก็จะทำให้เราใช้งานได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อฮาร์ดแวร์อื่นๆ ภายในเครื่อง วงจร ตัวกรองแรงดันไฟ ชุดควบคุมแรงดันไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าเพาเวอร์ตัวแค่นี้ แต่มีชิ้นส่วนสำคัญๆ อยู่เพียบ ลองไปส่องตามช่องที่เป็นรูระบายอากาศกันได้


ระดับของกำลังไฟ

เพาเวอร์ซัพพลาย

ก็เป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งเห็นตัวเลข Watts หน้ากล่องเท่ากัน แต่ความสามารถในการแปลงไฟและจ่ายไฟ อาจไม่เท่ากัน หรืออย่างที่หลายคนเคยได้ยิน จ่ายไฟเต็ม จ่ายไม่เต็ม ซึ่งจริงอยู่ว่าโดยปกติ การแปลงไฟของเพาเวอร์ เป็นแบบกระแสสลับ (AC) เป็นแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง (DC) คือ แปลงจากไฟบ้าน มาใช้กับอุปกรณ์ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยปกติจะระบุ เช่น 750W, 850W, 1000W หรือมากกว่า แต่ถ้าเราเข้าไปดูรายละเอียดที่เป็นตารางข้างกล่อง หรือบนตัวเพาเวอร์จะเห็นได้ว่า จะมีช่องทางการจ่ายไฟ เช่น +12V, +5V หรือ +3.3V ต่างๆ เหล่านี้ แล้วรวมมาเป็น Max.Output แต่บางค่ายก็จะมีบอกเป็น Normal load หรือ Peak load บางครั้งการจ่ายได้เยอะๆ อาจจะอยู่ในช่วง Peak load แต่จะไม่ได้ต่อเนื่องยาวนาน อาจจะเป็นแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น จากนั้นก็จะลดลงมา ตามคุณภาพของชิ้นส่วนและตัวเพาเวอร์เอง แต่ส่วนใหญ่ ก็จะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานหรือการันตี 80 Plus ด้วยเช่นกัน


80 Plus Certified

80 Plus Certified คืออะไร ตรงนี้สำคัญมากๆ เพราะส่งผลต่อการใช้งานอยู่พอสมควร เพราะประสิทธิภาพการจ่ายไฟดีขึ้น คุ้มค่ามากขึ้น กับระดับของ 80+ ที่ต่างกันไป โดย 80 Plus Certified เป็นมาตรฐานกำหนดประสิทธิภาพของตัวจ่ายไฟแต่ละรุ่น พูดง่ายๆ คือ เพาเวอร์จะแปลงไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ AC มาเป็น DC กระแสตรง จะมีการสูญเสียไประหว่างกระบวนการแปลงนั้น เพาเวอร์ทั่วไป ที่ไม่ใช่ 80+ ก็จะมีการสูญเสีย การจ่ายไฟขาออกได้ไม่ถึง 80% ของขาเข้า นั่นก็หมายความว่า การจ่ายไฟที่อาจจะไม่ครอบคลุมกับระบบที่คุณใช้ หรือได้เฉพาะแค่ตอน Peak ต่อเนื่องนานไม่ได้ รวมถึงอาจจะเสียค่าไฟแบบที่ไม่คุ้มค่ากับการใช้งานนั่นเองครับ โดยสิ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียเหล่านี้ก็อย่างเช่น ความร้อน ชิ้นส่วนและวัสดุที่นำมาใช้ และอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

เพาเวอร์ซัพพลาย
source: MSI

ถ้าเป็นเพาเวอร์แบบ 80+ นั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะจ่ายไฟเต็มขาเข้า กับ ขาออกได้เท่ากัน แต่มีการสูญเสียน้อยที่สุด เช่น คุณซื้อเพาเวอร์ 750W มันก็มีด้วยกันหลายมาตรฐาน ว่ากันที่สภาวะการโหลดระดับ 100%

  • 80+ Bronze ทำได้ที่ 81%
  • 80+ Silver ทำได้ที่ 85%
  • 80+ Gold ทำได้ที่ 88%
  • 80+ Platinum ทำได้ที่ 91%
  • 80+ Titanium ทำได้ที่ 91%

หลายท่านน่าจะพอเคาะตัวเลขออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะส่วนต่างเหล่านั้น นั่นคือ การที่ระบบสามารถจ่ายไฟมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ระดับใกล้เคียงกับไฟขาเข้า และมีการสูญเสียน้อยที่สุด Platinum กับ Bronze ยังห่างกันระดับ 10% ถ้าไม่มี 80+ ก็จะยิ่งต่างมากขึ้น


รูปแบบหรือ Form Factor

เพาเวอร์ซัพพลาย

Form Factor ที่อาจจะเรียกว่ารูปแบบหรือมาตรฐาน ไม่ได้หมายความว่าเพาเวอร์จ่ายไฟได้เยอะจะราคาสูงเสมอไป เพราะเพาเวอร์แบบที่ใช้ใน MiniPC หรือมาตรฐาน SFX form factor ขนาดเล็กพิเศษ ก็มีราคาที่สูงกว่าเพาเวอร์ขนาดทั่วไปปกติได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ถึงจะเป็นเพาเวอร์ที่มีขนาดเล็ก แต่หลายรุ่นออกแบบมาให้มีพลังจ่ายไฟได้ในแบบเพาเวอร์รุ่นใหญ่ทำได้ อย่างเช่น Cooler Master V SFX PLATINUM เป็นเพาเวอร์ซัพพลายมาตรฐาน SFX เล็กมากๆ ประมาณครึ่งหนึ่งของเพาเวอร์มาตรฐานทั่วไป แต่สามารถจ่ายไฟได้ในระดับ 1,100W และที่สำคัญยังเป็นแบบถอดสายได้ทั้งหมด Full Modular รวมถึงได้การันตี 80 Plus Platinum อีกด้วย ซึ่งเพาเวอร์ขนาดเล็กนี้ เป็นที่ต้องการของนักประกอบคอมขนาดมินิ เช่น Mini-ITX เป็นต้น ด้วยพื้นที่ในเคสจำกัด แต่ต้องใส่อุปกรณ์ที่แรงๆ ได้นั่นเอง และกลุ่มของเพาเวอร์เล็กๆ แบบนี้ ก็มีตัวเลือกไม่เยอะมากนัก รวมถึงต้องใช้กระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่า จึงทำให้ราคาจำหน่ายไม่ธรรมดาเช่นกัน ตัวอย่างก็เช่น


การรับประกัน

เรื่องของการรับประกัน ก็มีส่วนที่ทำให้ราคาของเพาเวอร์ซัพพลายต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ผกผันไปตามความสามารถในการจ่ายไฟ และระดับของ 80 Plus อีกด้วย โดยทั่วไปเพาเวอร์ระดับพื้นฐาน หรือที่จ่ายไฟระดับ 500W-700W จะรับประกัน สิ่งนี้คือความอุ่นใจครับ Watt เท่ากัน แต่ประกันต่างกัน 5 ปีกับ 10 ปี บางทีจ่ายเพิ่มขึ้น 30% ได้ประกันนานขึ้นเท่าตัว ก็น่าลงทุนทีเดียว 2 ปีเป็นพื้นฐาน และถ้าขยับมาเป็น 600-650W ที่เป็น 80 Plus Bronze ก็จะขยับมาที่ 3 ปี ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในระดับพันกว่าบาทเท่านั้น และเมื่อมาที่เพาเวอร์ระดับ 750W ขึ้นไป และเป็น 80 Plus Bronze บางค่ายก็จะรับประกัน 3 ปี แต่บางโมเดลก็จะขยับไปที่ 5 ปี หรือถ้าเป็น 80 Plus Gold ส่วนใหญ่ก็จะเป็น 5 ปี ราคาจะไปอยู่ที่ประมาณ 3 พันบาท ส่วนบางรุ่นอาจจะจ่ายไฟได้สูงกว่า 800W แต่ยังเป็น 80 Plus Gold ราคาก็ขยับไปที่เกือบ 5 พันบาท แต่ก็มีประกัน 10 ปีให้ได้เห็นเช่นกัน ส่วนที่เป็น 1000W ขึ้นไป และเป็น 80 Plus Gold ก็จะมีตั้งแต่ประกัน 7 ปี ไปจนถึง 10 ปี และสุดท้ายกับ 1000W ขึ้นไป ที่เป็น 80 Plus Platinum และ Titanium ก็จะประกัน 10 ปี ราคาว่ากันที่ 15,000 บาทขึ้นไป

เพาเวอร์ซัพพลาย
  • Segotep BN650W, 80 Plus Bronze รับประกัน 3 ปี
  • Corsair CV750, 80 Plus Bronze รับประกัน 3 ปี
  • GIGABYTE P750GM, 80 Plus Gold รับประกัน 5 ปี
  • DeepCool PM750D, 80 Plus Gold รับประกัน 5 ปี
  • Corsair RM1000E, 80 Plus Gold รับประกัน 7 ปี
  • ASUS ROG-THOR-1600T, 80 Plus Titanium รับประกัน 10 ปี
  • Thermaltake TOUGHPOWER GF3 1650W, 80 Plus Gold รับประกัน 10 ปี
  • BE QUIET DARK POWER 12 – 850W, 80 Plus Titanium รับประกัน 10 ปี

หัวต่อแบบไหน ใช้ต่อกับอะไรบ้าง?

เพาเวอร์ซัพพลาย

20+4 pins หรือ 24-pins: เป็นหัวต่อขนาดใหญ่ ที่จะเด่นกว่าอันอื่นๆ หัวนี้ใช้ต่อเข้ากับ 24-pins บนเมนบอร์ด จะอยู่ข้างๆ สล็อตแรม ถือเป็นตัวหลัก เพื่อให้ระบบทำงานได้

ATX12V หรือ EPS12V: เป็นหัวต่อในแบบ 4+4 (8-pins) ต่างจาก 6+2 pins ของการ์ดจอ สิ่งนี้ใช้ต่อลงเมนบอร์ด โดยจะอยู่ทางด้านบนมุมซ้ายของเมนบอร์ด มีทั้งแบบ 4-pins, 8-pins หรือเป็น 8-pins 2 พอร์ต โดยปกติต้องต่อ 1 ช่อง เป็นอย่างน้อย

เพาเวอร์ซัพพลาย

6+2 pins: จะเป็นหัวต่อสำหรับไฟเลี้ยงการ์ดจอ ซึ่งการ์ดรุ่นเล็กๆ อาจจะไม่ต้องใช้ หรือใช้แค่ 6-pins แต่การ์ดจอรุ่นใหญ่ๆ ก็มักจะใช้ 6-pins คู่กับ 8-pins หรือบางรุ่นก็จะเป็น 8-pins แต่ก็จะมีบางรุ่นที่ใช้เป็น 12VHPWER หรือหัวต่อแบบ PCIe 5.0 เช่น GeForce RTX เป็นต้น

เพาเวอร์ซัพพลาย

Molex 4-pins: ใช้ต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟเลี้ยงแบบนี้ เช่น ปั้มน้ำ, พัดลมแยกบางรุ่น หรือใช้แปลงเข้ากับหัวต่อไฟอย่างอื่น ใช้งานได้หลากหลาย

SATA: เป็นหัวต่อที่ใช้กับบรรดาไดรฟ์ต่างๆ ได้มากมาย เช่น ฮาร์ดดิสก์ 2.5″, 3.5″ ไดรฟ์ ODD หรือจะเป็น SSD แบบ SATA รวมไปถึงต่อไฟเลี้ยงพัดลมของชุดน้ำในบางรุ่นอีกด้วย


Conclusion

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางในการเลือกเพาเวอร์ซัพพลายให้ถูกใจ เหมาะกับการใช้งานของคุณ โดยเฉพาะคนที่กำลังประกอบคอมใหม่ บางครั้งการทุ่มเงินไปกับฮาร์ดแวร์แรงๆ เช่น ซีพียูตัวท็อป การ์ดจอขั้นเทพ ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกเพาเวอร์ดีๆ สักรุ่นมารองรับอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ สรุปแนวทางเลือกก็คือ ถอดสายได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และความชอบ การจ่ายไฟได้เพียงพอกับฮาร์ดแวร์เป็นสิ่งสำคัญ หากต้องการได้เพาเวอร์ที่คุ้มค่า 80 Plus เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ แต่ถ้าเน้นใช้งานยาวๆ อุ่นใจ เพาเวอร์ในระดับไฮเอนด์ และมีการรับประกันระดับ 7-10 ปี ก็ทำให้คุณใช้งานได้นานขึ้น อย่าลืมค่า MTBF ที่ระบุเอาไว้บน PSU การคำนวณการใช้พลังงานสามารถไปยังเว็บไซต์คำนวณหลายๆ ที่ มีให้ใช้บริการกันแล้ว เพาเวอร์ซัพพลายอาจไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพเหมือนซีพียูและการ์ดจอ แต่ให้ความปลอดภัยและมั่นใจได้สูงสุด


FAQ

1.เพาเวอร์ใหญ่ กินไฟมากกว่าเพาเวอร์เล็ก

Ans. อยู่ที่โหลดการทำงาน ใช้เพาเวอร์ 600W ช่วงระหว่างนั้น เล่นเกม โหลดประมาณ 400W แม้ใช้เพาเวอร์ 1000W ก็ใช้พลังเท่ากัน กินไฟไม่ต่างกัน แต่การมี 80+ อาจประหยัดได้มากกว่า เพราะจ่ายไฟในช่วง Peak Load ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาจจะต้องมองว่าถึงแม้เพาเวอร์รองรับการจ่ายไฟได้สูงกว่า แต่สเปคคอมหรือการใช้งานช่วงปกติ ไม่ได้ใช้เต็มที่ แต่มีไว้เพื่อเผื่อสำหรับการโหลดแบบ 100% ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

2.คำนวณสเปคคอม เพื่อเลือกเพาเวอร์

เรื่องนี้ในเบื้องต้นคุณต้องทราบก่อนว่า ฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นในเครื่องหรือที่กำลังจะซื้อมาใหม่ ใช้ไฟเท่าไร ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู การ์ดจอ มี Storage กี่ตัว ฮาร์ดดิสก์หรือ SSD รวมถึงการ์ดต่อพ่วงอื่นๆ ซึ่งอาจจะดูวุ่นวายอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะต้องไปหาในเว็บไซต์ หรือข้างกล่องของผลิตภัณฑ์ แต่มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือ การใช้เว็บไซต์ในการคำนวณ ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แนะนำเว็บนี้ครับ newegg.com

3.เลือกเพาเวอร์เท่าไรดี

โดยพื้นฐานถ้าเป็นพีซีทั่วไป ดูหนัง ทำเอกสาร เพาเวอร์ระดับ 500-550W ก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นเกมมิ่งพีซีเริ่มต้น การ์ดจอ GTX หรือ RX series ซีพียูระดับกลาง 600W-700W ก็ดูจะเหมาะ ราคาไม่แรง ส่วนถ้าเป็นเกมมิ่งพีซีเริ่มเทิร์นโปร ลองดู 750W 80+ ขึ้นไป ราคาเริ่มที่ 2 พันปลายๆ ก็น่าใช้ และสำหรับ ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ ซีพียูท็อป การ์ดจอแรง i9 Ryzen 9 กับการ์ดจอ RTX3090, RTX4080 หรือ RX7900XT และ RX7900XTX ไปที่ 1000W ได้เลย ไม่ต้องแวะข้างทางให้เสียเวลา จ่ายคุ้มค่า เหลือให้ปรับจูนได้ด้วย

4.การ์ดจอรุ่นไหน ใช้ไฟเท่าไร

เพาเวอร์ซัพพลาย

หากคุณไม่แน่ใจว่าจะเช็คการใช้พลังงานของการ์ดจอในแต่ละรุ่น เพื่อนำมาคำนวณเลือก PSU ได้อย่างไร แนะนำว่าให้เข้าไปเช็คที่สเปคของการ์ดจอได้จากผู้ผลิตอย่าง nVIDIA หรือ AMD ได้เลยครับ โดยจะมีบอกตั้งค่าค่า TDP พื้นฐาน คือยังไม่ได้มีโหลดใช้งาน ไปจนถึง Gaming Power คือช่วงที่โหลดใช้งานเล่นเกม และบางทีก็มีแนะนเพาเวอร์ที่เหมาะกับการใช้งานอีกด้วย

5.เพาเวอร์จ่ายไฟไม่พอเป็นอย่างไร

สิ่งที่สังเกตได้ง่าย เมื่อเพาเวอร์ซัพพลายจ่ายไฟให้กับระบบไม่พอก็คือ เมื่อใช้งานแล้วมีโหลดหนัก เช่น การเล่นเกมแล้วอยู่ๆ คอมดับ รีสตาร์ทหรือบางทีค้างอยู่หน้าเกมเป็นเวลานาน ต้องรีสตาร์ทใหม่หรือบางครั้งเมื่อ Shutdown เครื่องไปแล้ว อาจเปิดไม่ติดหรือเข้าสู่ระบบได้ช้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของเพาเวอร์ว่าใช้งานมามากน้อยเพียงใด

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

5 ซีพียูประกอบคอมรุ่นใหม่ ที่เกมเมอร์ตัวจริงไม่ควรพลาด สำหรับการเล่นเกมในปี 2024 คุ้มค่า ราคาดี รีดพลังการ์ดจอรุ่นใหม่ได้เต็มที่ แม้ว่าจะผ่านช่วงงาน Commart ไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายท่านยังมีแผนจะประกอบคอม ไว้ใช้เล่นเกมช่วงหยุดยาวอย่างช่วงสงกรานต์กันอยู่บ้างแน่ ๆ ซึ่งการเล่นเกม นอกจากการ์ดจอที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว CPU เองก็มีผลไม่แพ้กัน ดังจะเห็นจากชิปหลายรุ่นที่มีผลทดสอบออกมาว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเล่นเกมอย่างเห็นได้ชัด ในบทความนี้เราจะมาแนะนำ CPU เล่นเกมที่น่าซื้อในช่วงต้นปี 2024 กัน...

CONTENT

รวมโปรโมชั่นคอมประกอบ Commart Comtech 2024 เริ่มไม่ถึงหมื่นบาท ส่วนลดเยอะ ของแถมเพียบ ผ่อนได้นาน รวมให้แล้ว โปรโมชั่นคอมประกอบ Commart Comtech 2024 ราคาเริ่มต้นแค่ 9 พันว่าบาท ก็ได้คอมใช้งานได้แล้ว หรือจะเลือกสเปคคอมเล่นเกม แค่ 20,000 บาทก็ได้สเปคแรงๆ การ์ดจอแยก ประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนที่เป็นคนทำงานตัดต่อวีดีโอ แต่งภาพและครีเอเตอร์...

PC Review

DarkFlash DS900 Air เคสคอมเย็นฉ่ำ โชว์ภายในได้ทุกอย่าง สวยอัพเกรดง่าย จ่ายเบาๆ DarkFlash DS900 Air เคสคอมสำหรับคอเกมและผู้ที่ชอบแต่งคอม ดีไซน์สวย เน้นการระบายลมได้ดี ติดตั้งพัดลมได้เยอะ โชว์ฮาร์ดแวร์ภายในได้เต็มที่กับกระจกเทมเปอร์ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง กับโทนสีขาวภายในตลอดทั้งบอดี้ มีฟังก์ชั่นสำหรับไฟ RGB กับพื้นที่ภายในกว้างขวาง เหมาะกับคนที่ใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ทั้งชุดน้ำ และ Liquid Cooling...

How to

ประกอบคอม 2024 อัพเดตใหม่ เพิ่มเติมขั้นตอนในการเซ็ตระบบ ติดตั้งฮาร์ดแวร์ใหม่ ทำได้ด้วยตัวเอง ประกอบคอม 2024 อัพเดตใหม่ สำหรับคอเกม เน้นประสิทธิภาพ ประกอบง่าย ทำตามได้ ระบายอากาศได้ดี ด้วยซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด Intel Core 14th และแรม DDR5 6000 การ์ดจอ GeForce RTX4070Ti...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก