HyperX Cloud III หูฟังนุ่มสวมสบาย 2023 เสียงรอบทิศทาง DTS X เพื่อคอเกมเล่นได้ทุกแนว
HyperX Cloud III ต้องเรียกว่าเป็นหูฟังเกมมิ่ง ที่นำเอาความสำเร็จจาก Cloud series มาต่อยอด โดยการเสริมความคล่องตัว และฟีเจอร์หลายจุดเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความนุ่มนวล สวมสบาย อันเป็นเอกลักษณ์ของค่ายนี้ มิติที่ดูกระชับ น้ำหนักเบาลง แต่จัดไดรเวอร์ขนาด 53mm ใหญ่ให้มิติที่ดีกว่ารุ่นที่แล้ว พร้อมการสนับสนุน DTS-X Headset กับระบบเสียงที่เร้าใจ เสียงรอบทิศทาง การปรับเลื่อนทำได้ง่าย ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน รับเสียงได้แม่นยำ และตอบสนองไว มีตัวเลือกการเชื่อมต่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 3.5mm หรือเป็น USB-A และ USB-C เพื่อใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์มเครื่องเล่นเกมต่างๆ ได้ ทั้ง PS4, Nintendo Switch รวมถึง Xbox และเกมบนมือถืออีกด้วย กับราคาที่เคาะมาประมาณ 3 พันกว่าบาทเท่านั้น ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับหูฟังระดับเดียวกันในท้องตลาด
HyperX Cloud III
จุดเด่น
- สวมสบาย ครอบหูฟังนุ่มกระชับ
- ปรับเลื่อนได้ง่าย
- ระบบเสียงรอบทิศทางทำได้ดี ทั้งเล่นเกมและดูหนัง
- รองรับการเชื่อมต่อหลากหลาย ใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม
- สนับสนุน DTS Headphone X
ข้อสังเกต
- คล้องคอไม่สะดวก ครอบหูฟังพับ 90 องศาไม่ได้
- ไม่มีให้ปรับฟีเจอร์ร่วมกับ HyperX NGENUITY
Specification
HyperX Cloud III | Description |
คาดศีรษะ | เมมโมรีโฟม หุ้มด้วยวัสดุแบบหนัง ให้ความนุ่มนวล |
ครอบหูฟัง | เมมโมโฟม หุ้มด้วยวัสดุแบบหนัง ให้ความนุ่มนวล |
โครงสร้าง | อลูมิเนียม และโลหะ |
Driver | ไดรเวอร์ 53mm |
ระบบเสียง | DTS Headphone X และ Spatial Audio |
ไมโครโฟน | 10mm Cardioid แบบถอดออกได้ |
ตัวกรอง | ตัวกรองเสียงปะทุแบบตาข่าย |
ปิดไมค์ | ปุ่มบนหูฟัง มาพร้อมแสงไฟ LED |
ชุดควบคุมเสียง | ปรับระดับเสียงได้บนหูฟัง |
การเชื่อมต่อ | Jack 3.5mm, USB-C และ USB-A |
สี | สีดำ/แดง และสีดำ |
น้ำหนัก | น้อยกว่า 300 กรัม |
ราคา | 3,090 บาท |
รายละเอียดเพิ่มเติม: HyperX
Unbox
ตัวกล่องของ HyperX Cloud III มาในสไตล์ของโทนแดง-ขาว แบบเดียวกับใน Cloud series หลายๆ รุ่น ไม่ว่าจะเป็น Cloud II หรือ Cloud II Wireless ก็ตาม
ด้านหน้ามีกราฟิกของตัวหูฟัง มาให้เห็นแบบชัดๆ พร้อมฟีเจอร์สำคัญที่แนะนำวางมาเต็มหน้ากล่อง ไม่ว่าจะเป็น dts X, Memory foam, โครงโลหะแข็งแรง หรือจะเป็นไดรเวอร์ 53mm หรือไมโครโฟนแบบ Ultra Clear ก็ตาม
ด้านหลังเปิดให้เห็นฟีเจอร์บนตัวหูฟังในจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไมโครโฟนถอดได้, Ear Crushion ที่เป็นเมมโมรีโฟม หรือจะเป็นหัวต่อในแบบต่างๆ 3.5mm, USB-C และ USB-A เข้ากันได้กับอุปกรณ์เกมมิ่งในแบบต่างๆ
เปิดกล่องออกมาจะเห็นตัวหูฟัง HyperX Cloud III อยู่ในกล่องกระดาษ ที่ทำเป็นแบบกันกระแทกเอาไว้อย่างดี แต่ไม่ได้มีถุงพลาสติกหรือถุงผ้ามาให้แต่อย่างใด
หากดูจากการจัดวาง ต้องถือว่ายึดกับตัวกล่องได่อย่างแน่นหนา เรียกว่าให้ผู้ใช้อุ่นใจได้ว่า สามารถลดแรงกระแทกหรือความเสียหายระหว่างการจัดส่งได้เป็นอย่างดี
ด้านในมีเอกสารแนะนำและคู่มือการใช้งานมาให้ ตรงนี้ทำเป็นผังออกมาได้ดี หัวต่อแบบใด ใช้ต่อกับอะไรบ้าง รวมถึงข้อมูลบางอย่าง ก็เป็นประโยชน์สำหรับเกมเมอร์ที่เป็นมือใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าทำออกมาให้เป็นภาพกราฟิกที่มีสีสัน ภาพใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยก็จะดีไม่น้อยเลย
เอกสารขอบคุณที่เลือกผลิตภัณฑ์ HyperX มาใช้ และกราฟิกของอุปกรณ์เกมมิ่งอื่นๆ ของค่าย
มาถึงกล่องปริศนาที่อยู่ด้านในกันบ้าง กล่องนี้ซ่อนอยู่ด้านใต้ของหูฟัง HyperX Cloud III รุ่นนี้
เปิดออกมาจะเห็นไมโครโฟนแบบถอดออกได้ ล็อคแน่นอยู่ด้านใน ซึ่งจัดเก็บไว้อย่างดี กันกระแทกได้
และอีกสิ่งที่มีมาในกล่องนี้ด้วย ก็คือ สายต่อที่เป็นทั้งหัวแปลงพอร์ต ความยาวประมาณ 1.40 เมตร และใช้ขยายระยะของหูฟัง ให้ไกลจากตัวพีซี หรือโน๊ตบุ๊ค และเครื่องเล่นเกมได้มากขึ้น เมื่อรวมกับสายเดิมที่ติดหูฟังมาอีก 1.20 เมตร ก็เท่ากับ 2.60 เมตรเลยทีเดียว
ไมโครโฟนแบบถอดออกได้ เชื่อมต่อเข้ากับแจ๊ค 3.5มม. ปรับโค้งงอได้ ให้เข้ากับรูปปาก ตรงจุดรับเสียง มีตัวกันเสียงปะทุมาด้วย ต่างจากในรุ่นก่อนหน้านี้ที่เป็นแบบหุ้มฟองน้ำมา
Design
ในการออกแบบ ถ้ามองกันแบบผ่านๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ หรือโทนสีแบบนี้ ก็แทบจะไม่ต่างไปจาก HyperX Cloud II มากนัก แต่ถ้าดูกันในรายละเอียดแล้ว จะมีหลายจุดที่ต่างกันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ดูกระชับ ไม่เทอะทะ
ตัวหูฟังมาพร้อมโครงโลหะ แข็งแรง และมีความยืดหยุ่นพอสมควร มีก้านที่ยึดตัวครอบหูฟังเป็นสีแดง มีขนาดที่เล็กลงกว่าในรุ่นก่อน แต่ยังคงรับหน้าที่ได้ดี ปรับมุมองศาของหูฟังให้เข้ากับศีรษะผู้ใช้ได้ง่าย
ด้านบน Head band เป็นฟองน้ำหุ้มด้วยวัสดุแบบหนังสีดำ ให้ความนุ่มนวลพอสมควร ตัวก้านกางได้แบบสุดๆ คนศีรษะใหญ่ขยับให้เข้าที่ได้ไม่ยาก ดีไซน์ดูจะเรียบง่ายกว่าแบบเดิม ที่ใช้เป็นลายถักเดินด้ายสีแดง
จุดรองบนศีรษะมาพร้อมฟองน้ำ หุ้มด้วยหนังนุ่มๆ เช่นกัน มีความหนาพอสมควร เมื่อรวมกับ Head band และครอบหูฟัง มีการกระจายน้ำหนักได้ดี มีส่วนช่วยให้ใช้ได้นานขึ้น
โดยก้านของหูฟังนั้น ปรับเลื่อนได้ถึง 9 ระดับ และมีความนุ่มนวลพอสมควร สามารถเลื่อนได้ตามสะดวก ในระหว่างการใช้งาน เล่นเกมอยู่ อยากปรับให้เข้าที่มากกว่าเดิมก็ทำได้
ปุ่มเปิด-ปิดไมโครโฟน เพิ่ม-ลดเสียง
จุดที่เป็นครอบหูฟังทั้ง 2 ด้าน จะมีจุดคอนโทรลหูฟังอยู่ด้วย ทางด้านซ้ายนั้น จะเป็นปุ่มเปิด-ปิดไมโครโฟน (Mute) และช่องต่อไมโครโฟน ส่วนทางด้านขวาจะเป็น Scroll ใช้เลื่อนเพิ่ม-ลดระดับเสียงของหูฟัง
ครอบหูฟังมีจุดของสายสัญญาณต่ออยู่ทางหูฟังด้านซ้ายตามมาตรฐาน ซึ่งหากเทียบมิติของ Earcup นั้นจะเรียวเล็กกว่า Cloud II อยู่เล็กน้อย ทำให้ดูเล็กกระชับมากขึ้น
ไฮไลต์ของหูฟัง HyperX Cloud III นี้ ยังอยู่ที่ Ear Crushion ที่เป็นเมมโมรีโฟม และหุ้มกับวัสดุแบบหนังสีดำ ที่มีความนุ่มนวล ทำให้รู้สึกโอบกระชับ สบายหูเมื่อสวมใส่ และยังระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้รู้สึกว่าใช้งานได้นานกว่า การเล่นเกมก็ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป
นอกจากนี้ Cloud III ยังมาพร้อมไดรเวอร์ขนาด 53มม. ที่เป็นแบบนีโอดายเมียม ซึ่งเป็นแบบแม่เหล็กประสิทธิภาพสูง ให้คุณภาพของเสียงที่ดี และลดความผิดเพี้ยนได้ดี ซึ่งถ้าเทียบกับหูฟังในระดับราคาเดียวกันในท้องตลาด HyperX รุ่นนี้ให้ไดรเวอร์ที่ขนาดใหญ่ในระดับแถวหน้าเลยทีเดียว
HyperX Cloud II HyperX Cloud III
เปรียบเทียบมิติในการใช้งานระหว่าง HyperX Cloud II ทางด้านซ้าย และ Cloud III ทางด้านขวา ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก ทั้งในเรื่องมิติ และรูปลักษณ์ แต่ในเรื่องความสบาย ผมให้ Cloud III ที่มีความนุ่มนวล และการกระจายน้ำหนักได้ดีกว่าเล็กน้อย กับโครงสร้างที่ดูกระชับมากขึ้น
Connector
การเชื่อมต่อสัญญาณของ HyperX Cloud III นี้ เป็นแบบใช้สาย (Wired) โดยตัวหลักจากหูฟัง จะเป็นแจ๊ค 3.5มม. ความยาวประมาณ 1.20 เมตร ต่อเข้ากับพีซี หรือโน๊ตบุ๊คได้โดยตรง หรือจะใช้ร่วมกับจอยสติ๊กของ Xbox ก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีหัวแปลงจาก 3.5มม. มาเป็นพอร์ต USB-A และ USB-C เพื่อใช้ต่อกับพีซี และโน๊ตบุ๊คได้ โดยเป็นสายต่อความยาวให้เพิ่มขึ้น มาเป็น 2.50 เมตร จึงสะดวก แม้จะต่อจากด้านหลังเครื่องคอม มายังเก้าอี้ที่นั่งห่างออกมาได้ไม่ยาก
การขยายหรือแปลงพอร์ตก็ไม่ยุ่งยาก สามารถต่อแจ๊ค 3.5มม. เข้ากับสายที่เพิ่มเติมมาให้ได้ทันที ในกรณีที่ใช้กับโน๊ตบุ๊คที่มีพอร์ต USB Type-A ค่อนข้างจำกัด ก็อาจจะเลือกเปลี่ยนเป็น USB-C มาต่อเข้าได้อีกด้วย เรียกว่าครอบคลุมการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายรูปแบบ โดยทาง HyperX แจ้งว่า รองรับได้ทั้ง พีซี โน๊ตบุ๊ค เครื่องเล่นเกมคอนโซล Xbox, PS4/ PS5 และ Nintendo Switch รวมถึงสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต หูฟังเดียวใช้งานได้แบบครอบคลุม
Performance
มาพูดกันถึงเรื่องความประทับใจกันก่อนครับ สิ่งที่สังเกตได้และดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ การออกแบบที่กระชับ และการสวมใส่ที่สบาย Cloud II ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ถือว่าทำได้ดีแล้ว ทั้งในเรื่องของน้ำหนัก ที่จัดว่าเบา ตำแหน่งที่ถ่ายน้ำหนักในส่วนต่างๆ ดูสอดคล้อง และมีความนุ่มสบายของ Ear crushion แต่พอมาลองสัมผัส Cloud III ผมว่ามันต่างออกไป แม้ว่าเรื่องของรูปลักษณ์จะมีความคล้ายคลึงกับรุ่นก่อนอยู่บ้าง แต่ถ้าสังเกตดีๆ มิติ มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ตั้งแต่โครงสร้าง HyperX Cloud III มีความเรียวเล็กลง ไล่มาจนถึงก้านจับครอบหูฟัง ที่ไล่ขนาดใหญ่ ไปจนเล็ก แต่ยังสามารถคอนโทรลให้ครอบหูฟัง ปรับมุมได้เข้ากับใบหู ทำให้รู้สึกไม่เทอะทะ และสบายมากขึ้น
และเมื่อใช้ร่วมกับ Ear Crushion ที่เป็นเมมโมรีโฟม ซึ่งมีความนุ่มสบาย ไม่บีบหรือกดทับบริเวณหูมากไป จึงทำให้ใช้งานได้นานขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเล่นเกมอย่าง DOTA2 หรือ Overwatch 2 ที่เป็นเกมใช้เวลานานในการเล่น ก็ยังไม่อึดอัด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวัสดุที่หุ้มด้วยหนังแบบนิ่มๆ ระบายอากาศได้ จึงรู้สึกสบายมากขึ้นนั่นเอง
ในแง่ของเสียง มีอยู่ 2-3 จุด ที่ทำให้ประทับใจ เรื่องแรกนั่นคือ คอเกมที่เล่นแนว Action หรือ Survival รวมถึง Battle Royale ที่เรื่องของเสียงมีบทบาทอย่างมาก ส่วนตัวผมชอบเล่นเกมอย่าง PUBG และแนวหลอนกึ่งแอ็คชั่นอย่าง Resident Evil และอย่างใน RE Village บอกเลยว่ามันพีคสุด เมื่อใช้หูฟัง Cloud III นี้ นั่นก็เพราะ ระบบเสียงรอบทิศทาง ทำให้การเล่นเกมเร้าใจ และตื่นเต้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ Lady Dimitrescu ไล่ตามอย่างไม่ลดละ พร้อมกับเล็บที่ยาวเฟื้อย และความสูงเกือบ 3 เมตร เสียงที่ใกล้เข้ามา ทำให้หลอน จนแทบจะหาที่วิ่งกลับไปแทบไม่ทัน
หรือจะเป็น Salvatore Moreau ที่เมื่อคุณเข้าไปในฉาก ที่มีแอ่งน้ำ และบ้านไม้เก่า รวมถึงซากปรักหักพัง แล้วคุณจะต้องจัดการมันให้เร็วที่สุด หูฟังนี้ พาคุณสู่ความหลอนได้อย่างเต็มที่ เพราะคุณจะสัมผัสเสียงที่มาซ้ายทีขวาที ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าข้อดีคือ มันจะช่วยให้คุณขยับตัวไปทางอื่น เพื่อหาจุดที่จะโจมตีได้ง่าย แต่ด้วยเสียงที่โหยหวนของมัน ก็ทำเอาขนลุกไปไม่น้อยเลย และระแวงมากขึ้น เมื่อเสียงใกล้เข้ามา และมันก็โผล่มากระแทกตัวคุณแบบประชิด ยอมรับเลยว่าหูฟัง HyperX รุ่นนี้ จะช่วยปลุกประสาทของคุณได้ในระหว่างเล่น
ส่วนเกม DOTA2 แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ส่วนของระบบเสียง DTS X จะแจ้งมากนัก แต่ผมชอบตรงไมโครโฟน ที่เวลาคุยกับเพื่อนๆ บอกข้อมูล หรือจังหวะที่เข้ากระทำ มันชัดเจน เสียงฟังแล้วเคลียร์ดีมาก แม้ในช่วงนั้นจะวุ่นๆ ชนกันหลายเสียง แต่โดยรวมถือว่าชัดเจน เช่นเดียวกับการนำไปคุย ประชุมออนไลน์ ก็ตอบโจทย์ได้ดี ไม่ต้องตะโกน รวมถึงลดเสียงที่เป็นจะหวะลมหายใจแรงๆ ก็หายไปอีกด้วย จัดว่าดูดีกว่า Cloud II ที่เป็นฟองน้ำหุ้มไมโครโฟนแบบเดิมๆ
ส่วนเรื่องการดูหนัง ฟังเพลง ก็คงต้องนำมาพูดด้วย เพราะบางคนคิดว่า หูฟังเกมมิ่ง จะเน้นเอฟเฟกต์ กับความแน่นๆ ของเสียงเท่านั้น แต่ผมว่า Cloud III เค้าทำออกมาได้ละเมียดทีเดียว โดยเฉพาะการฟังเพลง ที่แนว คลาสสิก และแจ๊สแบบนุ่มๆ ก็ทำได้กลมกลืน เสียงนักร้องเด่น ดนตรีกลางแน่น แม้จะไม่ทุ้มลึก แต่ด้วยคาแรกเตอร์ของหูฟัง ก็จัดว่าออกมาได้ดี มีเสียงแหลมให้ได้สัมผัส ทำให้เพลิดเพลินได้
เช่นเดียวกับการดูหนัง ใครที่ชอบแนวสนามรบ หรือรักออโตบอท รวมถึงเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มของ The Fast ล่ะก็ คุณจะได้อิ่มเอมไปกับเสียงเอฟเฟกต์ต่างๆ ได้อย่างสะใจ เก็บรายละเอียดของการระเบิด เศษกระจก และเศษหินที่ทะลายลงของฉาก Wall Battle ใน Saving Private Ryan มันสร้างความสะเทือนอารมณ์ได้ดีทีเดียว
ในเรื่องเสียงผมว่า HyperX Cloud III มีการปรับปรุงเพิ่มเติมขึ้นมาจากรุ่นก่อนอย่างรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานบนพีซี โน๊ตบุ๊ค หรือแท็ปเล็ตก็ตาม แต่ก็มีบางจุดที่จะขาดหายไปบ้าง นั่นคือ ในแง่ของลูกเล่น และการเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์อย่าง HyperX NGENUITY ที่มักจะให้เราเปิดใช้ฟีเจอร์ ปรับแต่งลูกเล่น ระบบเสียง และไมโครโฟน ซึ่งเท่าที่ลองสามารถใช้ USB ต่อเข้ากับพีซี โน๊ตบุ๊คได้ แต่ไม่สามารถตรวจพบในซอฟต์แวร์ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเด็นมากนัก แต่เมื่อมองไปที่หลายๆ รุ่นที่ใช้กับซอฟต์แวร์นี้ได้ ก็ช่วยให้ปรับแต่งง่าย ด้วยการคอนโทรลจากจุดเดียว รวมถึงการอัพเดตก็ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการมีค่า Preset ที่น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกมากขึ้นนั่นเอง
Conclusion
HyperX Cloud III เป็นหูฟังเกมมิ่ง ที่ถอดแบบจาก Cloud II มาอย่างเต็มเปี่ยม แต่เพิ่มฟีเจอร์ รวมถึงประสิทธิภาพของไดรเวอร์ใหม่ ทำให้คุณภาพเสียง และสัมผัสเปลี่ยนแปลงไป มีมิติ และสเตจเสียงที่กว้างมากขึ้น ตอบโจทย์ได้ทั้งการเล่นเกม และการชมภาพยนตร์ เหมาะสำหรับเกมเมอร์ ที่ชอบเล่นแนวเกม Action FPS หรือเกม Survivor ที่จะได้จับทิศทางเสียงในการเล่นเกมได้สนุก และมีความเร้าใจ มีมิติที่กระชับ สวมสบายกับเมมโมรีโฟม ที่หุ้มด้วยหนัง ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น ไม่รู้สึกอึดอัด ไมโครโฟนก็จับเสียงได้อย่างแม่นยำ ทำให้คุยกันระหว่างเกม การแคสเกม รวมถึงการสนทนาในการประชุมออนไลน์ก็ชัดเจนดีด้วย จากสนนราคาประมาณ 3 พันนิดๆ ก็ทำให้เป็นหูฟังเกมมิ่งที่น่าสนใจในท้องตลาดเวลานี้เลยทีเดียว ใครที่เป็นคอเกม ชอบความสนุกสนาน ไม่ควรพลาดหูฟังรุ่นนี้เลยครับ
หูฟังเกมมิ่ง Cloud III จะวางจำหน่ายในวันที่ 6 มิถุนายน ผ่านร้าน HyperX Flagship Store ในแพลตฟอร์มออนไลน์และช่องทางจำหน่ายต่าง ๆ ของ HyperX โดยมีราคาอยู่ที่ 3,090 บาท
HyperX Cloud III (สีแดง) – HyperX Flagship Store ใน Shopee | Lazada
HyperX Cloud III (สีดำ) – HyperX Flagship Store ใน Shopee | Lazada