Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

รีวิว ASUS ROG Strix Scar 18 เกมมิ่งตัวแรงสเปคทรงพลัง ดีไซน์อลังการ RGB จัดเต็ม เริ่มแค่ 107,990 บาท

ASUS ROG Strix Scar 18 จอใหญ่ สเปคโหดไม่เกรงใจใคร!

เชื่อว่าถ้าถามเกมเมอร์ตัวยงสักคนว่าจะซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสักเครื่อง ไม่จำกัดว่าจะถูกจะแพงแค่ไหนก็ได้ล่ะก็ ในปี 2023 นี้ก็ต้องมีชื่อของ ASUS ROG Strix Scar 18 อยู่ในใจกันบ้างอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่ดีไซน์ที่ดุดันทรงพลังและโลโก้อันเป็นเอกลักษณ์ที่เกมเมอร์เชื่อถือเท่านั้น แต่ทางบริษัทก็ใส่ฟีเจอร์ดีๆ และยังปรับแก้ดีไซน์บางส่วนให้ดีกว่า ROG Strix Scar ในรุ่นก่อนให้ดีขึ้นอีกด้วย

Advertisement

เริ่มต้นจากสเปคของ ASUS ROG Strix Scar 18 ต้องถือว่าทางบริษัทจัดเต็มกับเครื่องนี้มาก โดยซีพียูของทุกรุ่นจะใช้ Intel Core i9-13980HX ซึ่งเป็น Intel 13th Gen เหมือนกันทุกรุ่น ให้รีดประสิทธิภาพของการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce 4000 Series ได้หมดจดและยังสั่ง Overclock โดยปรับค่า TGP ของซีพียูและจีพียูได้สูงสุดถึง 240 วัตต์ แล้วระบายความร้อนด้วยชุดระบายความร้อน ROG Intelligent Cooling ซึ่งนอกจากใช้โลหะเหลว (Liquid Metal) ที่จับมือพัฒนาร่วมกับทาง Thermal Grizzly รุ่น Conductonaut Extreme นำความร้อนระบายออกจากตัวเครื่องผ่านทางฮีตไปป์ 7 เส้นและพัดลมหลักถึง 2 ตัวแล้ว ทาง ASUS ยังเสริมพัดลมระบายความร้อน VRAM โดยเฉพาะอีก 1 ตัว ให้อุณหภูมิชิปลดลง โดยทาง ASUS เคลมไว้ว่าชุดระบายความร้อนนี้ยังลดอุณหภูมิได้สูงสุดถึง 15 องศาเซลเซียส

หน้าจอ ROG Nebula Display ก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ในรุ่นใหม่นี้นอกจากขนาดจอใหญ่ 18 นิ้ว ทาง ASUS เลือกความละเอียดหน้าจอเป็น QHD+ (2560×1600) อัตราส่วน 16:10 ซึ่งเหมาะจะใช้ทำงานและเล่นเกม พาเนล IPS ค่า Refresh Rate สูงถึง 240Hz รองรับ NVIDIA G-SYNC ป้องกันภาพฉีกขาดเวลาเล่นเกมและเป็นจอ Dolby Vision HDR ให้ภาพเกมบนหน้าจอสวยงามขึ้นและยังใช้ทำงานได้สบายๆ เพราะขอบเขตสีหน้าจอกว้างถึง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงสีจาก PANTONE นับว่าครบเครื่องทั้งทำงานและเล่นเกมอย่างแน่นอน สำหรับลำโพงคู่ของ ASUS ROG Strix Scar 18 ตัวนี้สามารถจำลองเสียงได้ 5.1.2 แชนแนล ได้เสียงรอบทิศทางแบบ Dolby Atmos ได้รับการรับรอง Hi-Res Audio ด้วย ดังนั้นความบันเทิงเรียกว่าครบเครื่องไร้ที่ติ

ASUS ROG Strix Scar 18

นอกจากสเปคแรงทรงพลังแล้ว เกมเมอร์ที่ชื่นชอบไฟ RGB ก็ไม่ผิดหวังเพราะมีระบบไฟ RGB “AURA Sync” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทาง ASUS ติดมาให้รอบตัวจนถึงโลโก้ ROG หลังเครื่อง สามารถตั้งสีสันและเอฟเฟคไฟได้ตามใจชอบในโปรแกรมประจำเครื่องอย่าง ASUS Armoury Crate ได้รอบตัว ช่วยสร้างบรรยากาศของโต๊ะคอมให้สวยโดนใจเกมเมอร์ยิ่งขึ้น

NBS Verdicts

Strix Scar G18 DSC01156

ASUS ROG Strix Scar 18 เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับ Desktop Replacement แรงเทียบชั้นกับเกมมิ่งพีซีในปัจจุบันได้สบาย เอามาต่อหน้าจอแยก 2K QHD~4K UHD ปรับกราฟิคระดับกลางหรือสูงก็ยังลื่นไหลหรือจะเล่นบนจอ 18 นิ้ว ของตัวเครื่องก็ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ครีเอเตอร์ก็ซื้อเอาไปทำงานก็ได้เพราะขอบเขตสีหน้าจอกว้างระดับ 100% DCI-P3 ได้รับการรับรองจาก PANTONE ว่าสีเที่ยงตรงแม่นยำอีกด้วย ถือเป็นโน๊ตบุ๊คดีรอบด้านแถมยังครบเครื่องตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกคน

สเปคต่อราคาก็ถือว่าค่อนข้างลงตัว ยืนพื้นด้วยซีพียู Intel Core i9-13980HX เหมือนกันทั้งไลน์อัพ แต่จะต่างกันตามงบประมาณไป อย่างรุ่นเริ่มต้นราคา 107,990 บาท ก็ได้การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4080 และ M.2 NVMe SSD อีก 1TB หรือเพิ่มมาเป็น 139,990 บาท ก็อัพเกรดเป็น NVIDIA GeForce RTX 4090 และ M.2 NVMe SSD ถึง 2TB ซึ่งเยอะพอให้เกมเมอร์เอาไว้ลงเกมและโปรแกรมใช้งานต่างๆ ได้เต็มที่และยังอัพเกรดเพิ่มความจุไปได้มากสุด 64GB DDR5 ทีเดียว ถือว่าทาง ASUS ทำสเปคเผื่ออนาคตเอาไว้นานพอควร ลงทุนครั้งเดียวก็ใช้ได้ยาวๆ แค่อัพเกรดเพิ่มแรมไปตามระยะเวลาก็เหลือเฟือแล้ว

การเชื่อมต่อของ ASUS ROG Strix Scar 18 นอกจาก Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2 แล้ว ยังมีพอร์ต Thunderbolt 4, USB-C 3.2 Full Function และ HDMI 2.1 ที่รองรับจอ 8K 60Hz หรือ 4K 120Hz ติดตั้งมาให้ต่อหน้าจอแยกได้มากสุด 3 จอ มีพอร์ตใช้งานทั้ง USB-A 3.2 ไว้ต่อเกมมิ่งเกียร์และสาย LAN 2.5GbE ไว้ใช้ต่อต่อเข้ากล่องเราเตอร์ให้เล่นเกมและเน็ตได้ลื่นไหลไม่แล็คให้เสียจังหวะ ถือว่าทาง ASUS ให้ของดีมาล้นตัวก็ว่าได้

แต่จุดสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ลอง ASUS ROG Strix Scar 18 ได้แก่ ตัวเครื่องที่หนัก 3 กิโลกรัม ในฐานะโน๊ตบุ๊คก็ถือว่าหนักทีเดียว แต่ถ้าเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาดใกล้เคียงกันอย่าง 17.3 นิ้ว ก็ถือว่าไล่เลี่ยกันและแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้นานสุดเพียง 4 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น แม้จะพอใช้อแดปเตอร์แกลเลี่ยมไนไตรท์ (GaN) กำลังไฟ 100 วัตต์แทนก็พอได้แต่เล่นเกมหรือตัดต่องานหนักๆ ก็ต้องพึ่งอแดปเตอร์เฉพาะของตัวเครื่องถึงจะรีดได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ใช้ต้องรับน้ำหนักเพิ่มอีก 1 กิโลกรัม รวมเป็น 4 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าใครจะซื้อมาเผื่อพกพาไปไหนมาไหนคงไม่สะดวกเท่าไหร่แต่ถ้าวางโต๊ะเป็นหลัก พกติดตัวเป็นเรื่องรองก็ไม่มีปัญหา ซื้อมาใช้เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหลักเลยก็ดีมาก

ข้อดีของ ASUS ROG Strix Scar 18
  1. ติดตั้งซีพียูรุ่นที่แรงสุดจาก Intel อย่าง Intel Core i9-13980HX มาให้ใช้งาน
  2. การ์ดจอมีซีรี่ส์ตัวท็อปให้เลือกตามงบประมาณ ได้แก่ GeForce RTX 4080, RTX 4090
  3. เร่งค่า TGP ของซีพียูและจีพียูได้สูงสุดรวม 240 วัตต์ เพิ่มประสิทธิภาพตอนใช้งานได้สูงขึ้น
  4. ระบบระบายความร้อนทำงานได้ยอดเยี่ยมและใช้ Liquid Metal ระบายความร้อนซีพียูและจีพียู
  5. ติดตั้งฮีตไปป์ระบายความร้อนมาให้ 7 เส้น ช่วยระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
  6. มีพัดลมสำหรับระบายความร้อน VRAM โดยเฉพาะ ทำให้แรมการ์ดจอเย็น ทำงานได้เต็มที่
  7. ได้แรม 32GB DDR5 จากโรงงาน อัพเกรดได้มากสุด 64GB DDR5 ใช้งานได้นานหลายปี
  8. ได้ M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 รุ่นสูงสุดจะทำ RAID 0 จากโรงงานมาเลย
  9. มีพอร์ต Thunderbolt 4 และ USB-C 3.2 Full Function ให้ใช้ต่อหน้าจอและชาร์จแบตเตอรี่ได้
  10. หน้าจอขนาดใหญ่ถึง 18 นิ้ว ความละเอียด QHD+ พาเนล IPS ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3
  11. ค่า Refresh Rate สูงถึง 240Hz รองรับ NVIDIA G-SYNC ในตัว รองรับ Dolby Vision HDR
  12. มีปุ่ม Hotkeys สำหรับกดคีย์ลัดโดยเฉพาะ ตั้งค่าได้ในโปรแกรม Armoury Crate
  13. เวลาเล่นเกมหรือทำงานเต็มประสิทธิภาพแล้ว ความร้อนไม่แผ่ขึ้นคีย์บอร์ดมารบกวนตอนใช้งาน
  14. ระบบเสียง Dolby Atmos มิติเสียงดี ดูหนังฟังเพลงเล่นเกมได้ดี เสียงมีมิติมาก
ข้อสังเกตของ ASUS ROG Strix Scar 18
  1. น้ำหนักตัวเครื่องอย่างเดียว 3 กิโลกรัม รวมอแดปเตอร์เป็น 4 กิโลกรัม ถือว่าหนักมาก
  2. ใช้งานได้นานสุดราว 4 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าต้องพกไปทำงานนอกสถานที่ควรเอาอแดปเตอร์ไปด้วย

รีวิว ASUS ROG Strix Scar 18

Specification

g18 spec 1

ASUS ROG Strix Scar 18 เป็นหนึ่งในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับ Desktop Replacement แรงกว่าเกมมิ่งพีซีหลายๆ รุ่นในปัจจุบันทีเดียว โดยสเปคที่มีขายในประเทศไทยจะมี 2 รุ่น แยกตามการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4000 Series ภายในเครื่อง ส่วนเครื่องทดสอบในบทความจะเป็นอีกสเปคซึ่งยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

สเปคของ ASUS ROG Strix Scar 18 G834JY-N6035W
CPU Intel Core i9-13980HX แบบ 24 คอร์ 32 เธรด (8P+16E) ความเร็ว 4.0~5.6GHz
GPU NVIDIA GeForce RTX 4090 แรม 16GB GDDR6 ค่า TGP 175 วัตต์
SSD M.2 NVMe SSD 2TB
RAM 32GB DDR5 บัส 4800MHz รองรับสูงสุด 64GB
Display 18 นิ้ว ความละเอียด QHD+ (2560×1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 รองรับ NVIDIA G-SYNC, Dolby Vision HDR, PANTONE Validated
Connectivity Thunderbolt 4 x 1 รองรับ DisplayPort และ NVIDIA G-SYNC, USB-C 3.2 x 1 รองรับ DisplayPort / NVIDIA G-SYNC / Power Delivery, LAN x 1, USB-A 3.2 x 2, HDMI 2.1 x 1, Audio combo x 1

Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2
Software Windows 11 Home
Weight 3 กิโลกรัม
Price 139,990 บาท ชมสเปคที่นี่
สเปคของ ASUS ROG Strix Scar 18 G834JZ-N6020W
CPU Intel Core i9-13980HX แบบ 24 คอร์ 32 เธรด (8P+16E) ความเร็ว 4.0~5.6GHz
GPU NVIDIA GeForce RTX 4080 แรม 12GB GDDR6 ค่า TGP 175 วัตต์
SSD M.2 NVMe SSD 2TB
RAM 32GB DDR5 บัส 4800MHz รองรับสูงสุด 64GB
Display 18 นิ้ว ความละเอียด QHD+ (2560×1600) พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 240Hz ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 รองรับ NVIDIA G-SYNC, Dolby Vision HDR, PANTONE Validated
Connectivity Thunderbolt 4 x 1 รองรับ DisplayPort และ NVIDIA G-SYNC, USB-C 3.2 x 1 รองรับ DisplayPort / NVIDIA G-SYNC / Power Delivery, LAN x 1, USB-A 3.2 x 2, HDMI 2.1 x 1, Audio combo x 1

Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2
Software Windows 11 Home
Weight 3 กิโลกรัม
Price 107,990 บาท ชมสเปคที่นี่

Hardware & Design

Strix Scar G18 DSC01133

ดีไซน์ของ ASUS ROG Strix Scar 18 ยังคงใช้รูปร่างคล้ายกับตระกูล ROG Strix รุ่นอื่นๆ ในไลน์อัพอยู่ มีบอดี้สีเทาทึบตัดกับบอดี้กึ่งโปร่งใส มีสติ๊กเกอร์บอกสเปคติดไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งซ้าย ฝั่งขวาตรงข้ามเป็นโลโก้ ROG แถบยาวกับปุ่ม Power ทรงหกเหลี่ยมและมีแถบไฟ RGB “AURA Sync” ส่วนขอบหน้าเครื่องด้วย มีการย้ายไฟ LED แสดงสถานะตัวเครื่องมาไว้ตรงสันเครื่องถัดขึ้นไปจากคีย์บอร์ดให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนขอบเหนือหน้าจอมีก้านดึงเปิดหน้าจอติดตั้งมาให้ผู้ใช้กางหน้าจอได้ง่ายขึ้น

Strix Scar G18 DSC01096

ด้านหลังเครื่องส่วนฝาหลังหน้าจอจะเป็นพื้นเรียบสีเทาดำคาดลาย ROG พร้อมโลโก้ติดไฟ RGB และ AURA Sync Lightbar บริเวณขอบตัวเครื่อง สามารถเลือกปรับเอฟเฟคแสงสีได้ในโปรแกรม Armoury Crate ของ ASUS เช่นเดิม และสังเกตว่าตัว ASUS ROG Strix Scar 18 จะไม่มีแถบพอร์ตเชื่อมต่อติดเอาไว้ด้านหลังเครื่องเหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ แล้ว กลายเป็นช่องระบายความร้อนของ ROG Intelligent Cooling แทน ถัดเข้าไปในช่องระบายความร้อนจะเป็นชุดครีบฮีตซิ้งค์ความหนาแผ่นละ 0.1 มม. จำนวน 414 แผ่น วางแนวด้านหลังและข้างเครื่องทั้งสองฝั่งเพื่อช่วยนำความร้อนออกจากตัวเครื่องให้เร็วที่สุด

Strix Scar G18 DSC01162

บานพับของ ASUS ROG Strix Scar 18 จะเป็นก้านเหล็กต่อเข้าขอบล่างของหน้าจอทั้งสองฝั่งและตัวก้านจะสอดเข้าไปในกล่องฐานบานพับหน้าจอในตัวเครื่องด้านล่าง ซึ่งตัวบานแข็งแรงทนทานไม่มีอาการโยกคลอนไม่แน่นเลยแม้แต่น้อย แต่ก็กางได้มากสุดราว 100 องศา เพราะขอบล่างจอจะติดสันขอบเครื่อง แต่ก็กว้างพอใช้งานเข้ากับมุมสายตาได้สบายๆ จะวางเล่นเกมบนโต๊ะคอมตามปกติหรือวางแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็จัดองศาหน้าจอให้เข้ามุมสายตาได้ง่ายๆ มองเห็นชัดแน่นอน

Strix Scar G18 DSC01051

ฝาใต้ตัวเครื่องของ ASUS ROG Strix Scar 18 จะแบ่งพื้นที่เป็นแบบ 70:30 ให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโซนช่องระบายความร้อนตัดให้สังเกตเห็นคำว่า ROG และบางส่วนก็เป็นช่องนำลมเย็นเข้าไประบายความร้อนในเครื่องและส่วนขอบล่างจะยิงเลเซอร์คำว่า “Intelligent Cooling” เอาไว้พร้อมช่องนำลมเข้าโดยเฉพาะอีกช่องสำหรับพัดลมโบลวเวอร์ตัวที่ 3 ซึ่งทาง ASUS ติดมาเพื่อเป่าลมระบายความร้อนชุด VRAM โดยเฉพาะ ถัดลงมาจะเป็นลำโพงอีก 2 ฝั่ง แล้วยึดน็อตเอาไว้อีก 11 ตัวอย่างแน่นหนาและมีน็อตตัวมุมล่างขวาตัวเดียวที่เป็นแบบมีบ่ากันปลดให้เกลียวค้างเอาไว้ตัวหนึ่ง เวลาถอดอัพเกรดแนะนำให้หาภาชนะเล็กๆ มาเก็บน็อตโดยเฉพาะด้วยไม่ให้หล่นหาย

Screen & Speaker

Strix Scar G18 DSC01103

หน้าจอขนาด 18 นิ้ว ความละเอียด QHD+ (2560×1600) พาเนล IPS มีค่า Refresh Rate สูง 240Hz เป็นจอที่มีความละเอียดและอัตราความลื่นไหลของภาพสูงสุด ณ ตอนนี้ ตอบโจทย์เกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมแนว FPS อย่างแน่นอนและมีเทคโนโลยีป้องกันภาพฉีกขาด NVIDIA G-SYNC และรองรับ Dolby Vision HDR ด้วย และเคลมขอบเขตสีกว้างไว้ 100% DCI-P3 และได้รับการการันตีความเที่ยงตรงสีจาก PANTONE อีกด้วย ดังนั้นจอนี้จึงใช้ทำงานสายครีเอเตอร์ได้อีกด้วย

ตัวหน้าจอถูกออกแบบให้เป็นขอบจอบาง 3 ด้าน ได้แก่ขอบข้างทั้งสองฝั่งและขอบบนตัวเครื่ง แต่ตรงกลางของขอบบนจะมีสันหนาขึ้นเล็กน้อยเอาไว้เป็นก้านดึงเปิดหน้าจอและติดตั้งกล้อง Webcam กับไมค์พร้อมระบบ Two-way Ai Noise Cancelation เอาไว้ตัดเสียงรบกวนภายนอกให้ประชุมออนไลน์หรือไลฟ์สตรีมเกมได้สะดวกไม่มีเสียงแทรกตอนใช้งาน

display

มุมการมองเห็นของจอพาเนล IPS ก็ยังแสดงผลได้ดีเช่นเดิม สามารถแสดงภาพได้กว้างถึง 178 องศาโดยไม่มีเงาสะท้อนทาบบนหน้าจอและยังปรับค่า Refresh Rate ได้ 2 ระดับ คือ 60 หรือ 240Hz ในคำสั่ง Advanced display ส่วนขอบเขตสีเมื่อวัดด้วยเครื่อง Colorchecker ของ Calibrite คู่กับโปรแกรม DisplayCal 3 แล้วได้ค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอได้ขอบเขตสี 99.8% sRGB, 83.1% Adobe RGB, 98.8% DCI-P3 ด้าน Gamut volume ซึ่งเป็นขอบเขตสีโดยรวมได้ 144% sRGB, 99.2% Adobe RGB, 102% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E เฉลี่ยที่ 0.08~1.04 ซึ่งเมื่อน้อยกว่า 2 ก็ถือได้ว่าจอ ROG Nebula Display ของ ASUS ROG Strix Scar 18 มีขอบเขตสีตรงและดีกว่าที่เคลมเอาไว้เล็กน้อยด้วยซ้ำ ดังนั้นนอกจากใช้ดูหนังและเล่นเกมได้ดีแล้วก็นับเป็นครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คได้ด้วยเช่นกัน

พาเนลจอ IPS นี้เมื่อเช็คใน Profile Information จะเห็นว่าทาง BOE Technology บริษัทผู้ผลิตพาเนลหน้าจอชั้นนำของโลกเป็นผู้ผลิตขึ้น เมื่อตั้งความสว่างหน้าจอไว้ 100% แล้ว จะได้ค่าความสว่างสูงสุดถึง 463.01 cd/m2 ซึ่งสว่างมากจนสู้แสงแดดสะท้อนหน้าจอในห้องหรือนอกอาคารได้สบายๆ แต่จากการใช้งานจริงในห้องอาคารแนะนำให้ตั้งความสว่างจอเอาไว้ราว 50~60% ก็พอ ยิ่งถ้าใครชอบปิดไฟในห้องแล้วใช้ไฟจากโคมไฟ Lightbar เป็นหลัก อาจเปิดสัก 30% ก็สว่างมากแล้ว

ลำโพงของ ASUS ROG Strix Scar 18 เป็นลำโพงคู่ จำลองเสียงได้ 5.1.2 แชนแนล แบบ Dolby Atmos และได้รับการรับรอง Hi-Res Audio ซึ่งเนื้อเสียงจากที่ลองดูหนังและเล่นเกมจัดว่ายอดเยี่ยม สามารถจำลองทิศทางเสียงได้ยอดเยี่ยมเหมือนอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ ส่วนการฟังเพลงถือว่าเต็มอิ่ม พอตั้งเสียงดังสุดแล้ววัดด้วยเครื่องวัดความดังเสียงจะได้ราว 85dB เนื้อเสียงมีมิติดี สเตจเสียงกลางๆ แต่แยกทิศทางเครื่องดนตรีได้ง่ายและชัดเจน ไลน์เครื่องดนตรีไม่ทับเสียงนักร้องนำและมีเสียงเบสคอยซัพพอร์ตเสียงหลักได้ดีไม่บวมอีกด้วย แต่แรงปะทะจะมีระดับหนึ่งไม่ถึงกับกระแทกนัก ส่วนตัวถือว่าลำโพงของ ROG Strix Scar 18 เป็นลำโพงที่ใช้งานได้ดีรอบด้านตัวหนึ่ง

Keyboard & Touchpad

Strix Scar G18 DSC01116

คีย์บอร์ดของ ASUS ROG Strix Scar 18 เป็นคีย์บอร์ดแบบ Full-size ดีไซน์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้แทบทุกปุ่มอยู่ในระนาบกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่แยกชุดปุ่มลูกศรออกไปจากชุดคีย์บอร์ดหลัก แต่สังเกตว่าเมื่อเว้นระยะให้ปุ่ม Alt, Ctrl ฝั่งขวามือแล้วจะไปเบียดพื้นที่ของเลข 0 ในปุ่ม Numpad แทน ซึ่งตอนใช้งานใหม่ๆ อาจไม่คุ้นกับขนาดที่หดลงแต่พอชินแล้วก็ไม่มีปัญหานัก จุดน่าสนใจคือปุ่ม Print Screen มาแทรกไว้ตรงกลางระหว่าง Alt, Ctrl ขวามือด้วย คาดว่าเพื่อควมสวยงามได้ระนาบเป็นหลัก 

ดีไซน์ปุ่มคีย์บอร์ด ROG Strix Scar 18 ตัวปุ่มดีไซน์เป็นแบบ Overstroke คือทุกปุ่มบนคีย์บอร์ดโดนกดลงไปเล็กน้อยแล้วให้ระยะกดสั้นลงตอบสนองเร็ว กดไวทันใจเกมเมอร์ยิ่งขึ้น ตอนพิมพ์งานและใช้เล่นเกมแล้วถือว่าตอบสนองได้ค่อนข้างเร็วกว่าคีย์บอร์ดทั่วไปเล็กน้อย แต่ทีเด็ดของมันคือตัวปุ่มกดได้สนุกนิ้ว น้ำหนักของปุ่มกำลังดีไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป

จุดน่าสนใจอีกอย่าง คือปุ่มมาโคร M1~M5 ส่วนเหนือปุ่ม F1~F5 พร้อมคำสั่งพื้นฐานอย่างเพิ่มลดเสียง, ปิดเปิดไมค์, เปลี่ยนโหมดตัวเครื่องและเรียกใช้โปรแกรม Armoury Crate สามารถบันทึกมาโครเอาไว้เล่นเกมได้และใช้ทำงานได้ มีปุ่มฟังก์ชั่นติดตั้งมาให้ตามปุ่มต่างๆ ได้แก่ Windows Lock รวมอยู่กับปุ่ม Windows, ปุ่มลูกศร 4 ปุ่มกับคำสั่ง Page Up/Down, Home และ End มีชุด Function Key เหนือชุด Numpad โดยเซ็ตเป็นแบบ 2 เลเยอร์ รวมคำสั่งไว้ครบถ้วน แต่ก็ยังซ้ำซ้อนกันอยู่บ้าง อย่าง Home, End, Print Screen เป็นต้น ส่วนตัวคิดว่าถ้าเซ็ตเป็นปุ่ม Multimedia Key เช่น เล่น/หยุด, เปลี่ยนเพลงก็น่าสนใจแล้วย้ายเอา Function Key พื้นฐานเหล่านั้นไปรวมไว้กับชุดตัวเลขของ Numpad ก็ได้

Strix Scar G18 DSC01129

นอกจากนี้ปุ่ม F1~F12 จะมี Function Hotkey รวมเอาไว้กับชุดปุ่มหลักให้ผู้ใช้กดใช้งาน เวลาใช้งานให้กด Fn ค้างไว้ก่อน แต่สังเกตว่าทาง ASUS ไม่ได้ทำปุ่มสลับเลเยอร์ติดมาให้ใช้งานด้วย โดย Hotkey ทั้งหมดมีคำสั่งดังนี้

  • F1 – ปิดหรือเปิดเสียงลำโพง
  • F2~F3 – ลดหรือเพิ่มความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
  • F4 – ปรับเอฟเฟคไฟ AURA Sync
  • F5 – ปุ่มปรับโหมดของตัวเครื่อง 3 โหมด ได้แก่ Silent, Performance, Turbo
  • F6 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool
  • F7~F8 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F9 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
  • F10 – ปิดหรือเปิดทัชแพด
  • F11 – โหมด Sleep
  • F12 – Airplane Mode

ด้านของปุ่มมาโครชุดพิเศษของ ASUS ROG Strix Scar 18 ทั้ง 5 ปุ่มเหนือ F1~F5 เป็นปุ่มแบบพิเศษซึ่งเซ็ตเปลี่ยนปุ่มหรือเซฟมาโครเอาไว้ใช้งานก็ได้ แต่ค่าพื้นฐานจากโรงงานจะมีคำสั่งตามนี้ คือ

  • M1 – ลดเสียงลำโพง
  • M2 – เพิ่มเสียงลำโพง
  • M3 – ปิดหรือเปิดไมค์
  • M4 – ปรับโหมดตัวเครื่อง
  • M5 – เรียกโปรแกรม Armoury Crate

จะเห็นว่า Function Hotkey ของ ASUS ROG Strix Scar 18 จะให้คีย์ลัดมาครบถ้วนพร้อมใช้งาน แต่อาจมีปุ่มซ้ำกันอยู่บ้างอย่างเช่นปุ่มปรับโหมดตัวเครื่องและถ้าเซ็ตให้ปุ่มเพิ่มลดความสว่างไฟคีย์บอร์ดเป็นคำสั่งแบบ Toggle แทน น่าจะได้คีย์ลัดกลับมาใช้ 2 ปุ่มเอาไว้ตั้งค่าเป็นคำสั่งอื่นๆ อย่างปรับค่า Refresh Rate หน้าจอให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะใช้ 60 หรือ 240Hz ก็ดีเช่นกัน จะได้ตั้งค่าตัวเครื่องได้สะดวกและละเอียดขึ้น

Strix Scar G18 DSC01142

ข้อดีของปุ่มปรับโหมดตัวเครื่องแล้ว จะมีภาพแสดงโหมดตัวเครื่องขึ้นมาบนหน้าจอทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ Silent โหมดประหยัดพลังงานเน้นให้ใช้งานได้นานสุดด้วยแบตเตอรี่ในเครื่อง, Performance โหมดเน้นประสิทธิภาพให้ทำงานได้ไหลลื่นและไม่ร้อนมาก, Turbo รีดประสิทธิภาพตัวเครื่องให้ออกมาสูงสุด ซึ่งถ้าใช้งานด้วยแบตเตอรี่จะเปิดได้แค่ Silent และ Performance เท่านั้น ส่วนโหมด Turbo จะใช้ได้เฉพาะตอนต่ออแดปเตอร์ของตัวเครื่องเท่านั้นเพราะใช้พลังงานเยอะและอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าปกติ

ทัชแพดของ ASUS ROG Strix Scar 18 ถูกขยายขนาดจาก ROG Strix รุ่นก่อน 10% ให้กวาดนิ้วลากตัวเคอร์เซอร์ไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้นแต่ก็มีขนาดใหญ่พอสมควร เวลาวางมือแล้วสันมือซ้ายจะทาบไปบนตัวแป้นโดยเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่เกิดอาการทัชแพดลั่นหรือรบกวนตอนใช้งานและยังกดปิดทัชแพดทิ้งได้ถ้าจะใช้เมาส์แยกแทน ด้านการใช้งานตัวทัชแพดรองรับ Gesture Control ของ Windows 11 ครบถ้วน ใช้งานได้ง่ายและตอบสนองได้ดี

Connector / Thin & Weight

พอร์ตของ ASUS ROG Strix Scar 18 ย้อนกลับมาเป็นแบบคลาสสิค ไม่เหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ที่แยกบางพอร์ตไปติดเอาไว้ด้านหลังตัวเครื่องเนื่องจากถูกทำเป็นช่องระบายความร้อนของระบบ ROG Intelligent Cooling แทน โดยมีพอร์ตดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – ช่องต่ออแดปเตอร์, LAN, HDMI 2.1 FRL, Thunderbolt 4, USB-C 3.2 Full Function รองรับ DisplayPort / G-SYNC / Power Delivery 100 วัตต์, Audio combo
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 x 2 ช่อง
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.2

จะเห็นว่าพอร์ตเชื่อมต่อหลักๆ ที่ต้องใช้งานนั้นมีติดตั้งมาให้ครบถ้วน โดยเฉพาะ HDMI 2.1 นี้จะใช้ต่อหน้าจอแยก 8K 60Hz หรือ 4K 120Hz ได้ รวมถึงต่อผ่านทาง Thunderbolt 4 และ USB-C 3.2 Full Function ก็ได้ ทำให้ต่อจอแยกได้รวมกันมากสุด 3 จอ และยังมีพอร์ต USB-A 3.2 ให้ใช้อีกสองช่อง จะเอาไว้ต่อเมาส์คีย์บอร์ดใช้เล่นเกมเลยก็ได้เช่นกันแถมยังเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้รวดเร็วทันใจและเสถียรด้วย Wi-Fi 6E ได้อีกด้วย เรียกว่าครบเครื่องทันสมัยมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าใครจะใช้ ASUS ROG Strix Scar 18 ทำเป็นเกมมิ่งพีซีแทนการประกอบคอมสักเครื่องอาจเจอปัญหาว่าพอร์ต USB-A 3.2 ไม่พอใช้งานอย่างแน่นอน แค่เมาส์กับคีย์บอร์ดก็ใช้จนหมด 2 ช่องแล้ว ถ้าจะต่อลำโพง USB, External Harddisk, ปริ้นเตอร์หรือจะต่อสาย USB ของสมาร์ทโฟนค้างไว้ก็ไม่พอใช้งานแน่นอน ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้หา USB Hub หรือ USB-C Multiport adapter เตรียมไว้ใช้สักชิ้นจะได้ใช้งานได้สะดวกขึ้น

Strix Scar G18 DSC01045

น้ำหนักของ ASUS ROG Strix Scar 18 ทางบริษัทเคลมน้ำหนักเอาไว้ 3 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็เท่ากับที่เคลมเอาไว้ แต่ถ้ารวมอแดปเตอร์กำลังไฟ 330 วัตต์ น้ำหนัก 1.1 กิโลกรัมเข้าไปแล้วจะหนักถึง 4.2 กิโลกรัม มันจึงเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ทรงพลังและเหมาะจะวางติดโต๊ะแทนการประกอบเกมมิ่งพีซีมาก

หากจะพกติดตัวไปทำธุระต้องใส่กระเป๋าเป้ใบใหญ่พิเศษสำหรับโน๊ตบุ๊ค 17 นิ้วเท่านั้น โดยผู้เขียนได้ลองเอาเครื่องใส่กระเป๋าเป้สำหรับโน๊ตบุ๊ค 15 นิ้ว ไม่สามารถรูดซิปได้และขอบเครื่องยังเกยออกมาด้วย ส่วนใบสำหรับโน๊ตบุ๊ค 17 นิ้วยังพอใส่ได้ แต่พอรวมกับน้ำหนักอแดปเตอร์และข้าวของชิ้นอื่นๆ ในกระเป๋าอาจลำบากไหล่อยู่พอควร ส่วนตัวแนะนำให้หากระเป๋าเป้ที่มีซับไหล่ฟองน้ำหนาเป็นพิเศษมาใช้ สายสะพายจะได้ไม่บาดไหล่เกินไป

Inside & Upgrade

Strix Scar G18 DSC01060

การเปิดฝาอัพเกรด ASUS ROG Strix Scar 18 แค่ไขน็อต 11 ตัวออกและปล่อยให้น็อตมุมล่างขวาค้างติดเอาไว้กับฝาหลังไว้ได้แล้วเอาการ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์แกะตามขอบไปเรื่อยๆ ก็ดึงเปิดฝาได้เลย แนะนำให้เปิดให้เริ่มจากขอบล่างซ้ายมือก่อนแล้วไล่ขึ้นไปหาช่องระบายความร้อนจะปลดได้ง่าย

บนแผงเมนบอร์ดจะเห็นว่าตัวบอร์ดจะมีเมนบอร์ดตัวหลักและบอร์ดเสริมตรงฝั่งซ้ายมือหรือฝั่งขวาของตัวเครื่องที่เป็นพอร์ต USB-A 3.2 x 2 ช่อง มีช่องใส่ M.2 NVMe SSD x 2 ช่อง เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ทั้งหมดและมี SSD 1TB ติดตั้งมาให้หมดแล้วและทำ RAID เอาไว้ มีความจุ 2TB ให้ใช้งานและเป็นความจุสูงสุดที่เมนบอร์ดของ ASUS ROG Strix Scar 18 รองรับได้แล้ว ถือว่าจุมากพอควร

ส่วนแรมดีไซน์ช่องเป็นแบบซ้อนกันสองชั้น ติดตั้งมาให้ 32GB DDR5 บัส 4800MHz จากโรงงานและยังอัพเกรดได้มากสุดถึง 64GB DDR5 ถือว่าทาง ASUS ให้ความจุเผื่อไว้มากพอเผื่อผู้ใช้จะอัพเกรดเพิ่มเติมในอนาคตก็ยังได้ เผื่อผู้ใช้คนไหนไม่อยากซื้อเครื่องใหม่มาเปลี่ยนก็เปิดฝาเติมแรมไปอีกนิดก็สะดวกไม่แพ้กัน

Strix Scar G18 DSC01072

ส่วนจุดน่าชื่นชม คือสายไฟของ AURA Sync Lightbar ตรงขอบล่างตัวเครื่องถูกปรับดีไซน์จากรุ่นก่อนหน้าที่โยงติดกับฝาหลังตัวเครื่องเป็นแบบเดินตามช่องว่างในเครื่องแล้วตรงเข้าไปยังหัวรับสายบนบอร์ดแทน เป็นดีไซน์ที่ดีมากเวลาอยากเปิดฝาเพิ่มแรมเปลี่ยน SSD ก็ไม่ต้องกลัวเวลาเปิดฝาแล้วจะทำสายแพหลุดหรือขาดเหมือนรุ่นก่อนนับว่าทาง ASUS รัดกุมขึ้นมากและน่าเอาเป็นดีไซน์สำหรับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมี Lightbar รุ่นใหม่ๆ ก็ยึดแนวทางออกแบบนี้ได้เลย

สังเกตว่าตัวสายแพของ AURA Sync Lightbar ทั้งสองฝั่งจะมีหัวรับคนละตัว ส่วนตรงกลางมีสายแพอีกสองเส้นเดินเข้ามาต่อบนเมนบอร์ดด้วย คาดว่าน่าจะเป็นสายของ Lightbar ขอบหลังเครื่องกับโลโก้ ROG ตรงฝาหลังรวมกันเป็นหนึ่งเส้น อีกอันเป็นของคีย์บอร์ด

Performance & Software

cpu

ซีพียูใน ASUS ROG Strix Scar 18 ทุกรุ่นเป็น Intel Core i9-13980HX แบบ 24 คอร์ 32 เธรด (8P+16E) ความเร็ว 4.0~5.6GHz แต่จะต่างกันตรงการ์ดจอแยก, แรมและ M.2 NVMe SSD ในเครื่องแทน ซึ่งซีพียูนี้มีค่า TDP ตั้งต้น 55 วัตต์ สามารถบูสต์เพิ่มค่า TDP ไปได้มากสุด 65 วัตต์เพื่อเร่งประสิทธิภาพตอนทำงานได้ รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานครบถ้วนพร้อมใช้งาน

แรมเป็นแบบ SO-DIMM ทั้งหมด 2 ช่อง มีความจุ 32GB DDR5 บัส 4800MHz และรองรับความจุสูงสุด 32GB เช่นกัน ดังนั้นถ้าใครซื้อรุ่นการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 4070 มาก็ไม่ต้องอัพเกรดแรมเพิ่มก็ได้ โดยแรมของเครื่องทดสอบติดตั้งชิปแรมของ Samsung มาให้

4090 and tgp

กราฟิคการ์ดเป็น NVIDIA GeForce RTX 4090 แรม 16GB GDDR6 มี CUDA 9,728 Unified เป็นชิป Max-Q Technology รองรับ Dynamic Boost มีค่า TGP 175 วัตต์ รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing, PhysX, DirectX 12 และใช้งาน Resizable BAR ได้ด้วย จัดว่าครบเครื่องทรงพลังมาก

devicemgr strix scar 18

พาร์ทภายในเครื่องเมื่อเช็คใน Device Manager แล้ว จะมีชิป TPM 2.0 ติดตั้งมาให้ทำงานคู่กับระบบรักษาความปลอดภัยของ Windows 11 ตัว M.2 NVMe SSD เป็นของแบรนด์ Samsung ทำ RAID 0 มาให้จากโรงงาน มีความจุ 2TB พอร์ต LAN เป็นของ Realtek Gaming 2.5GbE รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว

การเชื่อมต่อไร้สายเป็น Wi-Fi 6E (Gig+) มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 เป็นการ์ด Wi-Fi PCIe รุ่น Intel AX211 แบนด์วิธ 160MHz รองรับเทคโนโลยี MU-MIMO, OFDMA, และ Intel vPro เป็น Wi-Fi เวอร์ชั่นล่าสุด ทำงานได้เสถียรรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วและเสถียรมาก ใช้งานได้เป็นอย่างดี

ssd

M.2 NVMe SSD ความจุ 2TB ของ Samsung ที่ทำ RAID 0 ไว้ เมื่อทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 แล้วได้ความเร็ว Sequential Read 13,268.72 MB/s และ Sequential Write 8,793.04 MB/s ถือว่ารับส่งข้อมูลได้เร็วทันใจมาก ไม่ว่าจะเปิด, รีสตาร์ทเครื่องก็ใช้เวลาเพียงอึดใจ เปิดโปรแกรมหรือโหลดไฟล์ใหญ่ๆ ขึ้นมาใช้งานก็ใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น จัดว่ารวดเร็วทันใจมาก

ด้านการอัพเกรด หากเช็คใน Device Manager ของ ASUS ROG Strix Scar 18 แล้วเป็น RAID 0 มาแล้ว ก็ไม่แนะนำให้อัพเกรดเพราะมันก็เร็วอยู่แล้ว แต่ถ้ารุ่นไหนเป็นแบบธรรมดาจะซื้อ SSD อีกตัวมาติดตั้งเสริมแล้วทำ RAID 0 จะได้รับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นก็ได้

3dmark

คะแนนจาก 3DMark Time Spy โปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพการเล่นเกมของพีซีเครื่องนั้นๆ เมื่อต่ออแดปเตอร์เปิดโหมด Turbo พอรันแล้วได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึง 17,097 คะแนน แยกเป็น CPU score 10,173 คะแนน กับ Graphics score อีก 19,431 คะแนน จัดว่าสูงมากโดยเฉพาะคะแนนการ์ดจอก็สูงจนแซงการ์ดจอแยกสำหรับพีซีหลายๆ รุ่นไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนคะแนนซีพียูหลักหมื่นคะแนนก็จัดว่าแรงพอรันเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันได้ทุกเกมอย่างแน่นอน

อธิบายคือ ASUS ROG Strix Scar 18 สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในปัจจุบันได้ทุกเกมบนจอความละเอียด QHD หรือ 4K ก็ได้และยังปรับกราฟิคได้สูงสุดได้ทุกเกมแล้วเฟรมเรทยังสูงและเสถียรอย่างแน่นอน เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเกมเมอร์ที่ชอบความง่ายแค่เปิดเครื่องลงเกมแล้วเริ่มเล่นได้ทันที จะเริ่มใช้จอ QHD ให้ภาพสวยคมชัดขึ้นเลยก็ได้หรือจะเป็นจอ 4K 144Hz ไปเลยก็ไม่มีปัญหาแน่นอน

scar18

 

เมื่อทดสอบเล่นเกม จะเห็นว่า ASUS ROG Strix Scar 18 ทำเฟรมเรทได้สูงเหลือเฟือแม้จะเป็นจอ QHD ของตัวเครื่องก็ยังรีดเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 120 เฟรมต่อวินาทีทั้งหมดและยังประคองเฟรมเรทต่ำสุดไว้ได้ดีมาก ไม่ต่ำกว่า 60 เฟรมต่อวินาทีเลยแม้แต่นิดเดียว กล่าวคือ Intel Core i9-13980HX และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4090 แรงจนเอาจอ QHD อยู่สบายๆ ถ้าใครมีงบประมาณพอซื้อจอ 4K 144Hz มาต่อแยกแล้วเล่นเกมได้สบายๆ ถึงปรับกราฟิคสุดมันก็ยังทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 60~80 เฟรมแน่นอน

ประสบการณ์ตอนเล่นเกมบนจอของเครื่อง ต้องถือว่ามันยอดเยี่ยมภาพลื่นไหลและไม่ฉีกขาดเลยแม้ภาพในเกมจะเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วก็ตาม ซึ่งถ้าจอไหนที่ไม่มี NVIDIA G-SYNC น่าจะเห็นอาการภาพฉีก (Picture tearing) แน่นอน ตอนผู้เขียนลองเล่น Forza Horizon 5, Apex Legends และ Call of Duty Modern Warfare II แล้ว ไม่มีอาการนี้เลยสักนิดเดียว และถ้าเป็นเกม RPG เสพย์ความสวยของฉากก็ต้องยกข้อดีให้ฟังก์ชั่นที่รองรับ Dolby Vision HDR ด้วย เพราะภาพสวยสีสันสดใสสมจริงมากๆ ใครชอบดูฉากในเกมสวยๆ น่าจะถูกใจแน่นอน

แง่การทำงาน ASUS ROG Strix Scar 18 ก็ทำได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน พอทดสอบด้วย CINEBENCH R15 ที่ใช้จำลองการทำงาน 3D และกราฟิคต่างๆ จะเห็นว่าคะแนน OpenGL ทำเฟรมเรทได้สูงถึง 296.69 fps และเก็บคะแนน CPU ได้ถึง 4,835 คะแนน และพอรัน CINEBENCH R20 เพื่อเจาะจงทดสอบพลังของซีพียูจะเห็นว่าได้คะแนน CPU 10,853 pts ซึ่งสูงสมเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงที่ใช้ทำงานครีเอเตอร์อย่างงานปั้นโมเดล 3D, ตัดต่อวิดีโอหรือเรนเดอร์ภาพก็ทำได้สบายๆ และยังเรนเดอร์งานเสร็จได้อย่างรวดเร็วแถมยัง Preview ตัวอย่างงานหมุนโมเดลไปมาได้ลื่นไหลต่อเนื่องอีกด้วย

pcmark10

คะแนนจาก PCMark 10 โปรแกรมทดสอบการทำงานกับการใช้ทำงานต่างๆ ก็ทำคะแนนได้สูงที่สุดเท่าที่ได้ทดสอบมา กวาดคะแนนเฉลี่ยไปได้สูงถึง 9,207 คะแนน ไม่ว่าจะดูหมวดหมู่ไหน ASUS ROG Strix Scar 18 ก็กวาดคะแนนได้สูงเกินหมื่นคะแนนทั้งหมด ซึ่งงานออฟฟิศไม่ว่าจะทำงานเอกสารต่างๆ หรือเปิดโปรแกรมและประชุมออนไลน์ก็ทำได้ดีมากๆ และจะเห็นว่าหมวด Digital Content Creation หมวดของงานกราฟิคและ 3D เรียกว่ายอดเยี่ยม โดยการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4090 ในเครื่องทำผลงานได้ดีมากๆ ถ้าเป็นงานตัดต่อแต่งภาพและปั้นงานโมเดล 3D และงานตัดต่อวิดีโอก็เรียกว่าดีไม่แพ้กัน สามารถตัดต่อไฟล์ 4K60Hz ได้ลื่นไหลและกดดูเล่นคลิปได้สบายๆ

จากผลการทดสอบทั้งหมด สรุปได้ง่ายๆ ว่า ASUS ROG Strix Scar 18 แม้หน้าตาจะเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์เรือธงก็ตาม แต่เพราะมีซีพียูและกราฟิคการ์ดตัวท็อปติดตั้งมาให้ มันเลยทำงานครีเอเตอร์ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แถมหน้าจอยังมีขอบเขตสีกว้างและเที่ยงตรงอีกด้วยดังนั้นถ้าใครเป็นศิลปินและชอบเล่นเกมด้วยจะลงทุนซื้อเครื่องนี้ไปใช้ทำงานและเล่นเกมก็คุ้มค่าและถอนทุนคืนได้เร็วแน่นอน

Screenshot 2023 03 08 121709

โปรแกรม Armoury Crate ประจำ ASUS ROG Strix Scar 18 นั้นนอกจากมอนิเตอร์การทำงานของซีพียูกับการ์ดจอ, อุณหภูมิ, รอบพัดลม ฯลฯ ได้อย่างละเอียดแล้ว ยังตั้งค่าตัวเครื่องได้ละเอียดมาก ไม่ว่าจะไฟ RGB “AURA Sync” ปรับทิศทางไมค์ว่าจะให้รับเสียงแบบไหนรวมทั้งเซฟมาโครที่ต้องการใช้งานเอาไว้ใช้ได้ด้วย ถือว่ามีฟังก์ชั่นให้ตั้งค่าตัวเครื่องได้ละเอียดมาก

ด้านจุดสำคัญสำหรับรีดประสิทธิภาพของเครื่องออกมาได้อย่างเต็มที่ ให้ดูตรงหน้าแรกของโปรแกรมกรอบ GPU Mode จะมีตัวเลือก 4 แบบด้วยกัน ได้แก่

  • Ultimate – เร่งประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้ออกมาสูงที่สุด ถ้าเลือกโหมดนี้แล้วเครื่องจะบังคับ Restart ใหม่ 1 ครั้ง ถึงจะใช้งานได้
  • Standard – โหมดใช้งานปกติ ประสิทธิภาพสูงแต่รองจาก Ultimate เน้นใช้งานทั่วไป
  • Eco Mode – โหมดประหยัดพลังงาน ใช้แต่การ์ดจอออนบอร์ดของซีพียูเท่านั้น
  • Optimized – โหมดปล่อยให้ตัวเครื่องจัดการเองว่าจะใช้กราฟิคการ์ดไหนทำงานอะไร

ซึ่งถ้าใครอยากให้เครื่องทำงานเต็มที่ เล่นเกมได้เฟรมเรทสูงสุดและทำงานได้ไหลลื่น ให้กดโหมด Ultimate จากนั้นเปลี่ยนโหมดตัวเครื่องเป็น Turbo ด้วย แต่เสียงพัดลมจะดังพอสมควร ถ้าอยากใช้งานง่ายๆ ก็เลือก Optimized ให้เครื่องตัดสินใจเลือกใช้การ์ดจอเองก็สะดวกเช่นกัน

Screenshot 2023 03 04 153443

อีกโปรแกรมประจำเครื่องอย่าง MyASUS เป็นโปรแกรมสำหรับมอนิเตอร์ตัวเครื่องและอัพเดทเฟิร์มแวร์ได้และเอาไว้ติดต่อกับทาง ASUS ได้กรณีเครื่องมีปัญหาต้องให้ช่างเข้ามาดูแล แต่คำสั่งตั้งค่าเครื่องส่วนใหญ่ถูกย้ายไปอยู่ในโปรแกรม Armoury Crate แทน ดังนั้นจะใช้โปรแกรมนี้ติดต่อทางบริษัทก็ได้

Battery & Heat & Noise

Strix Scar G18 DSC01071

แบตเตอรี่ใน ASUS ROG Strix Scar 18 เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลีเมอร์ (Li-Polymer) ความจุ 90Wh ถ้านับเป็น Typical Capacity จะมีความจุ 5,800mAh ส่วน Rated Capacity ได้ 5,630mAh ด้วยกัน เป็นแบตเตอรี่ขนาดค่อนข้างใหญ่พอจ่ายไฟเลี้ยงระบบให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คใช้งานได้นานพอสมควร

batt saving mode

หลังจากทดสอบตามาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยเปิดความสว่างหน้าจอ 50% และลำโพง 10% ใช้โหมด Silent และตั้งค่าในโปรแกรม Armoury Crate ให้เป็นการ์ดจอออนบอร์ดเท่านั้นแล้วดูคลิปใน Microsoft Edge นาน 30 นาทีเช่นเดิม พบว่าแบตเตอรี่ 90Wh ในเครื่องสามารถใช้งานได้นานสุด 4 ชั่วโมง 38 นาที ถือว่านานพอใช้จนประชุมหรือเข้าคลาสเรียนจบได้ ถ้าใช้งานทั้งวันควรพกอแดปเตอร์ไปด้วย ถ้าเทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระดับเรือธงสเปคไล่เลี่ยกันที่ให้แบตเตอรี่ 99Wh มาแล้วใช้ได้ราว 5 ชั่วโมงแล้ว ถือว่า ASUS ROG Strix Scar 18 แม้แบตเตอรี่น้อยกว่าก็ยังใช้ได้นานไล่เลี่ยกันถือเป็นเรื่องดีทีเดียว

Strix Scar G18 DSC01061

ชุดระบายความร้อน ROG Intelligent Cooling ในเครื่องจะมีฮีตไปป์ 7 เส้น นำความร้อนจากซีพียูและการ์ดจอแยกที่ทา Conductonaut Extreme โลหะเหลวนำความร้อน (Liquid Metal) ของ Thermal Grizzly มายังฮีตซิ้งค์แล้วระบายออกด้วยพัดลมโบลเวอร์ 2 ตัวออกด้านข้างและหลังเครื่อง มีจุดน่าสนใจอยู่ตรงพัดลมโบลวเวอร์ตัวเล็กระหว่างแรมและ M.2 NVMe SSD ซึ่งทาง ASUS ติดดมาเพื่อเป่าลมเย็นเข้าไประบายความร้อน VRAM โดยเฉพาะให้แรมการ์ดจอเย็นลงแล้วทำงานได้ดี อายุการใช้งานนานขึ้น

สำหรับชุดระบายความร้อนแบบ Liquid Metal แม้จะทำงานได้ดีมากแค่ไหนก็ตามแต่อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีคนใกล้ตัวใช้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คระบบ Liquid Metal นั้น เมื่อเกิดปัญหากับระบบนี้เมื่อไหร่จะซ่อมหน้างานไม่ได้ ต้องยกเครื่องกลับไปซ่อมโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นแม้ Liquid Metal จะระบายความร้อนดีแค่ไหน แต่ถ้าเกิดปัญหาเมื่อไหร่ก็เรื่องใหญ่เช่นกัน

เทียบอุณหภูมิเวลาใช้งานปกติและอุณหภูมิสูงสุดเวลาเปิดโหมด Turbo เล่นเกมหรือทำงานกราฟิคแล้ววัดด้วย CPUID HWMonitor แล้ว อุณหภูมิของชิ้นส่วนต่างๆ จะได้ผลตามตารางด้านล่างนี้ โดย SSD Samsung ทั้ง 2 ตัว ผู้เขียนจะอิงจากคู่ที่ถัดลงมาจากซีพียู Intel Core i9-13980HX จะได้ผลดังนี้

รูปแบบการใช้งาน / อุณหภูมิของอุปกรณ์ ใช้งานปกติ
(เซลเซียส)
ใช้งานปกติเฉลี่ย
(เซลเซียส)
อุณหภูมิสูงสุด
(เซลเซียส)
สูงสุดเฉลี่ย
(เซลเซียส)
CPU 54~79 56 53~100 93
กราฟิคการ์ด 47~50 49 47~59 58
Samsung SSD บน 46.3~46.5 46.5 44~58.8 54.3
Samsung SSD ล่าง 47~47.5 47.5 44.3~59.5 55

จะเห็นว่าอุณหภูมิของ ASUS ROG Strix Scar 18 ตอนใช้งานปกติก็เย็นใช้งานได้ดี แต่เวลาเล่นเกมแล้วอุณหภูมิโดยเฉพาะซีพียูจะขึ้นสูงไปแตะ 100 องศาเซลเซียส แต่ตอนใช้งานจริงประสิทธิภาพก็ไม่ลดลงและความร้อนก็ไม่แผ่ขึ้นจากช่องคีย์บอร์ดเลย แต่โซนเหนือคีย์บอร์ดนับตั้งแต่ปุ่ม M1~M5 จะอุ่นขึ้นจนรู้สึกได้และเสียงพัดลมก็ดังพอสมควร เมื่อวัดเสียงแล้วดังราว 60dB ซึ่งดังพอสมควรจนบางคนอาจไม่ชอบอย่างแน่นอน แนะนำให้ครอบเกมมิ่งเฮดโฟนตอนเล่นเกมจะพอช่วยแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง

User Experience

Strix Scar G18 DSC01160

ASUS ROG Strix Scar 18 เหมาะสมกับคำจำกัดความว่า “แรงเหลือเฟือ” มาก จากที่นำไปลองใช้งานมาราว 1 สัปดาห์ ในแง่ประสิทธิภาพตอนใช้งานเรียกว่าหายห่วง จะงานหนักเบาแค่ไหนมันก็ทำได้สบายๆ แถมยังเล่นเกมปรับกราฟิคสุดบนจอ QHD ของเครื่องได้ไหลลื่นมากๆ เรียกว่ามันเป็นเกมมิ่งพีซีสเปคเฉียดแสนบาทที่ใส่กระเป๋าติดตัวไปไหนมาไหนก็ไม่ผิด เหมาะกับคนมีงบอยากได้คอมแรงๆ เอาไว้ใช้แต่ไม่อยากประกอบคอมเองแล้วไม่อยากเหนื่อยแก้ปัญหาตอนเครื่องเสียก็ กำเงินมาซื้อ Strix Scar 18 ตัวนี้ไปเลย ซึ่งสเปคก็แรงใช้งานได้อย่างน้อยต้องมี 5 ปีขึ้นแน่นอน แถมมีประกัน ASUS Perfect Warranty ให้ด้วย เวลาเครื่องมีปัญหาก็เรียกช่างมาดูแลเอา

จุดที่ผู้เขียนชอบเป็นส่วนตัว ต้องยกให้พอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอ ได้แก่ HDMI 2.1, Thunderbolt 4 และ USB-C 3.2 Full Function เลยต่อจอแยกพร้อมกันได้หลายจอหรือจะเอาจอเดียวเต็มๆ ก็ต่อจอเกมมิ่ง 4K 144Hz เข้า HDMI 2.1 แล้วเล่นเกมไปก็ได้ ซึ่งพลังของ RTX 4090 นั้นเอาอยู่แน่นอน ถ้าพกไปทำงานแล้วในออฟฟิศมีจอแบบต่อสาย USB-C ได้ยิ่งดี เลือกได้เลยว่าจะต่อเข้า Thunderbolt 4 หรือ USB-C Full Function ใช้งานได้เลย แถมก็ไม่รกเกะกะมาก และถ้า USB-C ของจอรองรับ Power Delivery กระแสไฟ 100 วัตต์ ก็ทิ้งอแดปเตอร์ไว้บ้านไว้ใช้งานตอนเล่นเกมก็พอ และส่วนตัวคิดว่าถ้าเกมเมอร์หรือครีเอเตอร์คนไหนชอบปิดไฟในห้องตอนทำงานหรือเล่นเกม ไฟ RGB “AURA Sync” ตรงขอบหน้าและหลังเครื่องก็สร้างบรรยากาศเกมมิ่งได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

ด้านระบบระบายความร้อนถึงมันจะระบายความร้อนได้ดีมากๆ คุมอุณหภูมิได้ดีและไม่เจออาการร้อนจนประสิทธิภาพตกเลยก็จริง แต่ต้องแลกกับเสียงพัดลมที่ดังพอสมควร ถ้าใช้โหมด Performance และ Turbo ก็จะดังเอาเรื่องจนบางครั้งกลบเสียงเกมได้เลย เป็นจุดแลกเปลี่ยนหากอยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดีๆ เอาไว้ใช้สักเครื่อง ก็ต้องยอมกับระบบระบายความร้อนที่เสียงดังสักนิด

แง่น้ำหนักเฉพาะเครื่องอย่างเดียวก็หนักถึง 3 กิโลกรัมแล้ว ถึงจะหนักไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คขนาดจอเท่ากันก็ตาม แต่พอรวมกับอุปกรณ์เสริมและของใช้อื่นๆ ในกระเป๋าเชื่อว่าจะไม่อยากพกติดตัวเป็นประจำอย่างแน่นอน และ ASUS ROG Strix Scar 18 นี้ต้องใช้กระเป๋าสำหรับโน๊ตบุ๊ค 17.3 นิ้ว ถึงจะใส่ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าใครพกเครื่องไปไหนมาไหนแค่ระยะสั้นๆ ผู้เขียนคิดว่าไม่มีปัญหานัก แต่ถ้าแบกไปกลับออฟฟิศแล้วนั่งขนส่งสาธารณะเชื่อว่าไม่มีความสุขอย่างแน่นอน

Conclusion & Award

Strix Scar G18 DSC01159

ASUS ROG Strix Scar 18 นับเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบบ Desktop Replacement ตัวแรงประจำต้นปี 2023 ซึ่งถ้าใครกำเงินเอาไว้ประมาณ 85,000 บาท ก็เลือกได้เลยว่าถ้าเน้นทำงานครีเอเตอร์เป็นหลักก็ซื้อรุ่นเริ่มต้นการ์ดจอ GeForce RTX 4060 แล้วเอาเงินไปอัพเกรดแรมเป็น 32GB และซื้อเกมมิ่งเกียร์ก็ดี ถ้าเน้นเล่นเกมอย่างเดียวก็จบรุ่นการ์ดจอ GeForce RTX 4070 ก็ได้ ในส่วนนี้ต้องดูตามโจทย์การใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนว่าจะเอา ROG Strix Scar 18 ไปทำอะไรบ้าง แต่เชื่อว่าใครลงทุนซื้อมันไปใช้ไม่เสียใจภายหลังอย่างแน่นอน

award

award new Gaming

best gaming

การ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4000 Series ใน ROG Strix Scar 18 จัดว่าแรงเหลือใช้ พอรวมกับสเปคทั้งเครื่องแล้ว เกมเมอร์จะต่อจอแยกหรือเล่นบนจอ QHD ของเครื่องก็ปรับกราฟิคสูงสุดได้สบายๆ

award new performance

best performance

ผลจากการทดสอบทั้งหมดถือว่า ROG Strix Scar 18 นั้นทรงพลังมาก สามารถใช้โปรแกรมกินทรัพยากรมหาศาลหลายๆ โปรแกรมในปัจจุบันได้สบายๆ ไม่ว่าจะงานตัดต่อวิดีโอหรือทำโมเดล 3D ก็ไม่หวั่นแน่นอน

NBS award 7 Design

best design

ดีไซน์ของ ASUS ROG Strix Scar 18 ภายนอกก็ยังคงดีไซน์ตระกูล ROG เอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ในแง่รายละเอียด ทาง ASUS ก็ปรับปรุงในส่วนที่เคยมีปัญหาในรุ่นก่อนอย่างเก็บสายแพ Lightbar ได้สวยงามและปลอดภัยแถมยังเพิ่มพัดลมมาระบายความร้อน VRAM โดยเฉพาะด้วย ถือเป็นการแก้จุดบอดในรุ่นก่อนได้อย่างสวยงาม

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

Buyer's Guide

หน้าจอคอมในปัจจุบันเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 18.5 นิ้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน จนตอนนี้ก็มีจอคอม 32 นิ้ว ทั้งจอคอมทำงานและจอคอมเล่นเกมให้เลือกซื้อมากมายหลายรุ่น แม้บางคนอาจคิดว่ามันมีขนาดใหญ่จนเท่ากับจอทีวีรุ่นเล็กแล้วจะวางบนโต๊ะคอมก็คงใหญ่เกินไป แต่ในความเป็นจริงขนาดของมันก็ใหญ่กว่าจอ 27 นิ้ว ตรงหน้าไปอีกนิดเดียว ทำให้พื้นที่แสดงผลกว้างจนสุดขอบสายตายิ่งขึ้น ถ้าใครเล่นเกมเป็นประจำจะได้เห็นฉากหลังของเกมเต็มสายตาจนดื่มด่ำไปกับบรรยากาศได้เต็มอิ่มยิ่งขึ้น กรณีจอทำงานก็มีพื้นที่แสดงผลกว้างขึ้นทั้งมองเห็นตารางและหน้าเอกสารกว้างขึ้น รวมไปถึง Timeline เวลาตัดต่อคลิปยาวกว่าเดิม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผู้ผลิตหน้าจอแบรนด์ต่างๆ พากันใส่ฟีเจอร์มาให้หน้าจอขนาดนี้มากขึ้นจนกลายเป็นจอพรีเมี่ยมระดับเริ่มต้นกันแล้ว ไม่ว่าจะได้พาเนลคุณภาพขอบเขตสีกว้างใช้ทำงานกราฟิคได้, มีพอร์ต USB-C...

CONTENT

ในปัจจุบัน นอกเหนือจากโน้ตบุ๊กที่เป็นดีไซน์แบบฝาพับอย่างที่คุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานแล้ว ตัวเครื่องยังมีการพัฒนารูปทรงเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการพกพา และอรรถประโยชน์ในการใช้งานให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมก็คือการทำออกมาเป็นโน้ตบุ๊ก 2-in-1 โดยใช้หน้าจอสัมผัสที่สามารถพลิกจอได้ 360 องศา ทำให้สามารถใช้เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ในบทความนี้ก็เลยจะมาแนะนำโน้ตบุ๊กจอพับ AMD ในรูปแบบ 2-in-1 ที่น่าใช้กันครับ ตอบโจทย์ทั้งใช้ทำงาน ไปจนถึงการเล่นเกมได้เลยในบางรุ่น

AMD

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้แล้ว และโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ติดตั้งชิปเซ็ต AMD Ryzen AI NPU ก็เริ่มหาซื้อได้ง่ายขึ้น มีตัวเลือกมากมายแถมซอฟท์แวร์หรือส่วนเสริม AI จากบริษัทชั้นนำก็มีให้ใช้งานมากขึ้นรวมทั้ง Microsoft ก็รับลูก จับมือกับผู้พัฒนาซีพียูปรับแต่ง Windows 11 ให้ใช้งานกับซีพียูรุ่นใหม่มี NPU ได้ดีขึ้นและมีฟังก์ชั่นตรวจจับการทำงานเพิ่มเข้ามาใน Task Manager เป็นพิเศษ ทำให้ผู้ใช้ดูได้ว่าชิปเซ็ตใหม่นี้ทำงานตอนไหนบ้าง อย่างไรก็ตามชิปนี้ถูกออกแบบมาใช้ทำงานเฉพาะอย่าง ปกติมักไมเ่ห็นคอร์นี้ทำงานบ่อยนักจนบางคนเกิดกังขาว่าชิปเซ็ตตัวนี้มันสมคำโฆษณาหรือเปล่า?...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก