DELL XPS 13 Plus 9320 รุ่นใหม่ล่าสุด ดีไซน์เหมือนหลุดจากหนัง Sci-Fi ได้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ล้นตัว!
DELL XPS 13 Plus 9320 น้องใหม่ในตระกูล DELL XPS ที่ย่อจาก “eXtreme Performance System” ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มโน๊ตบุ๊คระดับ High-End ที่โฟกัสกลุ่มองค์กรและบริษัทเป็นหลัก แต่กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ถวิลหาโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยม งานประกอบแข็งแรงสวยหรูหราและผ่านมาตรฐาน ได้ตรา Intel Evo มาประดับบนตัวบอดี้เพื่อการันตีว่ามันเกิดมาเพื่อตอบโจทย์คนทำงานอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นรุ่นใหม่แกะกล่องแล้ว ทาง DELL ก็ไม่ได้แค่เปลี่ยนสเปคสเปคในเครื่องเป็น Intel 12th Gen เท่านั้น แต่ยกเครื่องปรับดีไซน์และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้ DELL XPS 13 Plus 9320 ได้ความล้ำสมัยกว่าเดิมหลายอย่างจนโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ดูเหมือนหลุดจากภาพยนตร์ Sci-Fi สักเรื่อง ไม่ว่าจะคีย์บอร์ด Zero-Lattice ดีไซน์ใหม่ราบเรียบ ดีไซน์ปุ่มจากขอบสุดขอบ ตอบสนองไวและเป็นมิตรต่อนิ้วของผู้ใช้, Capacitive Touch Function แถบ Function Key ถูกดีไซน์เป็นปุ่มแบบทัชและมีไฟ LED แสดงสถานะตัวปุ่มให้เห็นชัดเจน รวมถึง Haptic Touchpad ซึ่งดีไซน์เป็นเนื้อเดียวกับตัวเครื่อง เรียบเนียนไม่มีขอบให้เห็น ได้ความสวยงามแตกต่างอย่างชัดเจน และก็ยังไม่ลืมฟีเจอร์รักษาความเป็นส่วนตัวอย่างกล้อง IR Camera สแกนหน้าปลดล็อคเครื่องและเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือซึ่งรวมกับปุ่ม Power อีกด้วย เรียกว่าได้ความแตกต่างและได้ความสวยงามยิ่งกว่ารุ่นก่อนชัดเจน
NBS Verdicts
DELL XPS 13 Plus 9320 นับเป็นการปรับดีไซน์ตัวเครื่องครั้งใหญ่ของทาง DELL ที่คงความสวยหรูพรีเมี่ยมของตระกูล XPS เอาไว้ครบถ้วน ได้รับการรับรองเป็นโน๊ตบุ๊ค Intel Evo พร้อมซีพียู Intel 12th Gen พร้อมสเปคตอบโจทย์คนทำงานและต้องการโน๊ตบุ๊คดีไซน์ระดับพรีเมี่ยมไว้เสริมบุคลิคและการใช้งานอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้านดีไซน์นับว่าโดดเด่นล้ำสมัยเหมือนหลุดจากภาพยนตร์ Sci-Fi ก็ไม่ผิด ด้วย Capacitive Touch Function, คีย์บอร์ด Zero-Lattice ซึ่งแบนราบและใช้แรงกดเพียงเล็กน้อยก็ตอบสนองการทำงานแล้วไม่พอ Haptic Touchpad ที่เรียบเนียนไปกับบอดี้ตัวเครื่องก็ได้ความสวยงามไม่มีขอบให้รกสายตาแม้แต่น้อย เมื่อองค์ประกอบทั้ง 3 นี้รวมกันก็ทำให้ DELL XPS 13 Plus 9320 มีความสวยโดดเด่นกว่าโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมรุ่นอื่นอย่างชัดเจน ไม่พอ บอดี้อลูมิเนียมรวมกับงานประกอบของทาง DELL แล้ว ยิ่งให้ความแข็งแรงทนทาน จับถือได้ความรู้สึกหนักแน่นเป็นที่สุด ดียิ่งกว่าโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมทุกเครื่องที่ผู้เขียนเคยจับและได้รีวิวอย่างหาที่เปรียบได้ยาก แม้แต่ MacBook รุ่นใหม่ๆ ก็ให้สัมผัสแบบนี้ไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่พบเจอเมื่อนำ DELL XPS 13 Plus 9320 ไปใช้งานจริงก็มีเช่นกัน อย่างแรก คือ พอร์ตของตัวเครื่องมีแต่ Thunderbolt 4 เพียง 2 ช่อง ไม่มีพอร์ตอื่นเลย แม้จะมีหัวแปลง USB-C to 3.5 mm. Jack กับ USB-C to A แถมมาให้ในกล่องก็ไม่พอใช้งานอย่างแน่นอน ต้องมี USB-C Multiport Adapter ไว้แปลง Thunderbolt 4 เป็นพอร์ตอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถัดมาเป็นคีย์บอร์ด Zero-Lattice ที่แม้จะใช้แรงกดพิมพ์น้อยจนแทบจะแตะพิมพ์ได้ ทว่าตัวแป้นที่แบนราบและตัวปุ่มเหยียดสุดจากปุ่มต่อปุ่มทำให้แยกแต่ละปุ่มได้ค่อนข้างลำบาก ต้องใช้เวลาปรับตัวระดับหนึ่งรวมถึง Haptic Touchpad ที่เป็นเนื้อเดียวกับตัวเครื่องแต่ไม่มีเครื่องหมายบอกระยะความกว้างและสูงของตัวแป้น แม้จะสวยงามแต่ใช้งานจริงก็จับระยะความกว้างได้ยากอีกด้วย แม้จะเป็นนวัตกรรมใหม่ก็ตาม ผู้เขียนก็อยากให้ทางบริษัทปรับดีไซน์อีกเล็กน้อยเพื่อให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นมิตรกับผู้ใช้อีกสักหน่อยก็จะดีมาก
ข้อดีของ DELL XPS 13 Plus 9320
- งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรงทนทาน จับถือได้หนักแน่นสมความพรีเมี่ยม
- ดีไซน์ได้ความเรียบร้อยแต่สวยหรูหรา เหมือนโน๊ตบุ๊คจากภาพยนตร์ Sci-Fi
- น้ำหนักตัวเครื่องเบาพกพาง่าย เพียง 1.26 กิโลกรัมเท่านั้น ไม่หนักกระเป๋าเกินไป
- คีย์บอร์ด Zero-Lattice ออกแรงพิมพ์น้อยและได้ความสวยงามล้ำสมัย
- แป้น Capacitive Touch Function แสดงฟังก์ชั่น F1~F12 และ Function Hotkey ได้ชัดเจน ดูเข้าใจง่ายมาก
- อัพเกรดซีพียูเป็น Intel 12th Gen มีประสิทธิภาพสูงและจัดการพลังงานได้ดี
- ติดตั้งหน้าจอทัชพาเนล OLED ความละเอียดสูงมาให้ แต่ขนาดกะทัดรัดเพียง 13.4 นิ้ว
- มีพอร์ต Thunderbolt 4 ติดตั้งมาให้ใช้งานถึง 2 ช่อง ใช้ต่อแยกเป็นพอร์ตอื่นได้
- ได้ Windows 11 Home และ Microsoft Office 2021 แท้ ติดตั้งมาให้ใช้จากโรงงาน
- มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือกับกล้อง IR Camera ใช้ปลดล็อคเครื่องแบบ Biometric ได้
- ระบบระบายความร้อนทำงานได้ดี เย็นตลอดการใช้งานแม้รันโปรแกรมใหญ่ก็ไม่ร้อนมาก
- ลำโพงตัวเครื่องได้มิติเสียงดี สเตจเสียงกว้างและเก็บรายละเอียดดีมีเบสซัพพอร์ตดี
ข้อสังเกตของ DELL XPS 13 Plus 9320
- ตัวเครื่องมีแต่พอร์ต Thunderbolt 4 ต้องพึ่งอุปกรณ์ต่อพ่วงเมื่อต้องการใช้พอร์ตอื่น
- ดีไซน์ทัชแพดเป็นเนื้อเดียวกับตัวเครื่อง แม้จะสวยงามแต่ใช้งานจริงยากเกินไป
- คีย์บอร์ด Zero-Lattice แม้จะสวยงามแต่พิมพ์สัมผัสยาก ใช้เวลาปรับตัวมากกว่าปกติ
รีวิว DELL XPS 13 Plus 9320
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
DELL XPS 13 Plus 9320 จัดเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานระดับพรีเมียมซึ่งสเปคได้มาครบถ้วนพร้อมใช้งาน มีซอฟท์แวร์ครบเครื่องทั้ง Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 อีกด้วย ซึ่งมีรายละเอียดสเปคดังนี้
สเปคของ DELL XPS 13 Plus 9320
- CPU : Intel Core i7-1260P แบบ 12 คอร์ 16 เธรด (4P+8E) ความเร็ว 3.4-4.7GHz
- GPU : Intel Iris Xe Graphics
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4
- RAM : 16GB LPDDR5 บัส 5200 MHz
- Display : จอทัช 13.4 นิ้ว ความละเอียด 3.5K (3456×2160) พาเนล OLED
- Ports : Thunderbolt 4 x 2
- Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
- Webcam : 720p HD IR Camera
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 1.26 กิโลกรัม
- Price : 73,990 บาท (ราคากลาง)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ DELL XPS 13 Plus 9320 จะเน้นความเรียบง่ายไม่มีลูกเล่นดีไซน์อะไรมาก แต่จุดเด่นซึ่งสังเกตเห็นได้ทันที คือ กรอบบานหน้าจอ 13.4 นิ้วของตัวเครื่องจะเป็นแบบบาง 4 ด้าน ทำให้เห็นคอนเทนต์บนหน้าจอได้เต็มตายิ่งขึ้น เมื่อมองลงมาอีกหน่อยจะเห็นว่ามีสติกเกอร์ Intel Evo ติดเอาไว้เพียงอันเดียวเท่านั้น และไม่มีการเจาะบอดี้ตัวเครื่องให้ช่องของไมโครโฟนเลย แต่ DELL เลือกติดตั้งเอาไว้ตรงขอบด้านบนหน้าจอเพื่อหลบสายตาแทน โดยติดเอาไว้ 2 ช่อง ซึ่งดีไซน์นี้ทำให้กรอบหน้าจอไม่มีช่องเจาะให้สะท้อนแสงเห็นด้วย ถือว่าสวยเรียบร้อยดี
ก้านบานพับหน้าจอจะเป็นก้านโลหะยึดขอบริมข้างตัวเครื่อง 2 ฝั่ง ให้ความรู้สึกแน่นไม่มีอาการพานพับกระพือแม้แต่นิดเดียว เมื่อพับจอแล้วตัวบานจะดูดติดเข้ากับตัวเครื่องด้วยแม่เหล็ก ซึ่งแรงดูดดีและติดแน่นจนเอานิ้วเกี่ยวเปิดเล่นค่อนข้างยาก ตัวเครื่องจัดบาลานซ์เอาไว้ได้ดี ใช้นิ้วเดียวได้และตัวเครื่องไม่กระดกตามขึ้นมาเลยแต่ก็แน่นจนควรใช้มืออีกข้างช่วยจับเครื่องไว้ด้วย ส่วนองศาการกางหน้าจออยู่ราว 120 องศา ซึ่งถือว่ากว้างพอจัดองศาการมองเห็นได้สะดวก ทั้งตอนวางบนโต๊ะทำงานหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ตาม
ฝาหลังตัวเครื่องยังคงเอกลักษณ์เดิมของทางบริษัทเอาไว้ โดยเป็นโลโก้ DELL ทรงกลมเพียงอันเดียวตรงกลางฝาหลังอลูมิเนียม โดยทำเป็นแบบเซาะบอดี้ตัวเครื่องเข้าไป ทำให้โลโก้ไม่หลุดหายง่ายๆ อย่างแน่นอน
ส่วนโลโก้ XPS ของ DELL XPS 13 Plus 9320 ถูกเอามาติดไว้ด้านใต้ตัวเครื่อง มีแถบยางรองตัวเครื่องติดไว้ 2 เส้นเป็นแถบยาว ด้านข้างมีช่องลำโพงเป็นแถบยาวติดเอาไว้ 2 ฝั่ง พร้อมน็อตขันล็อคบอดี้แบบหัว Trox ทั้งหมด 6 ดอกเท่านั้น ซึ่งบอดี้อลูมิเนียมโดยรวมต้องถือว่าแข็งแรง แน่นมาก จับถือแล้วให้ความรู้สึกหนักแน่นแข็งแรงเป็นพิเศษ ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้จับโน๊ตบุ๊คมาหลายรุ่น ต้องถือว่า DELL ประกอบ XPS 13 Plus 9320 มาได้แน่นแข็งแรงมาก จับถือแล้วได้ความรู้สึกหนักแน่นเป็นที่หนึ่ง ให้ความรู้สึกพรีเมี่ยมอย่างแท้จริง
Screen & Speaker
หน้าจอทัชสกรีนขนาด 13.4 นิ้ว ความละเอียด 3.5K (3456×2160) พาเนล OLED เป็นหน้าจอกรอบบาง 4 ด้าน ทำให้เห็นคอนเทนต์บนหน้าจอได้กว้างยิ่งขึ้น ไม่มีกรอบหน้าจอมากวนสายตาไม่พอ ทาง DELL ยังติดกล้อง IR Camera เอาไว้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องไว้ตรงขอบบนของหน้าจอด้วย และเมื่อลองพับหน้าจอลงมาแล้วมองจากมุมอื่นนอกจากหน้าตรง จะเห็นว่าพาเนล OLED ก็สามารถแสดงสีสันได้สวยสดเที่ยงตรง ไม่มีอาการสีเพี้ยนแม้แต่น้อย
สำหรับขอบเขตสีหน้าจอ เมื่อทดสอบด้วย Calibrite และใช้โปรแกรม DisplayCal 3 จะเห็นว่า Gamut coverage ที่เป็นขอบเขตสีหน้าจอจากโรงงานได้ขอบเขตสีกว้างมากถึง 99.9% sRGB, 93.5% Adobe RGB, 99.4% DCI-P3 และเมื่อคาลิเบรตเสร็จแล้ว จะเห็นว่าฝั่ง Gamut Volume นั้นดีขึ้นชัดเจนถึงระดับ 165.9% sRGB, 114.3% Adobe RGB, 117.5% DCI-P3 ซึ่งขอบเขตสีนี้นับว่ากว้างเทียบชั้นโน๊ตบุ๊คสายครีเอเตอร์หลายๆ รุ่น สามารถใช้พรู้ฟสีงานอาร์ตก็ทำได้สบายๆ อย่างแน่นอน
ด้านความสว่างหน้าจอวัดได้ 396.33 nits จัดว่าสว่างมากจนไม่ต้องกังวลเรื่องแสงแดดจะสว่างจนทำหน้าจอมืดไป สามารถปรับความสว่างหน้าจอสู้แสงได้หากนั่งทำงานชานร้านกาแฟหรือที่ที่มีแสงส่องกระทบหน้าจอ หากนั่งทำงานในอาคารหรือออฟฟิศแนะนำให้ปรับความสว่างลดลงเหลือสัก 50% ก็สว่างเพียงพอใช้งานแล้ว
ลำโพงของ DELL XPS 13 Plus 9320 มีทั้งหมด 2 ดอก กำลังขับรวม 4 วัตต์ แต่ทางบริษัทจะทำช่องลำโพงขนาดใหญ่มาให้เหมือนกับลำโพงของ XPS รุ่นอื่นๆ คาดว่าเพื่อใช้ระบายความร้อนตัวเครื่องร่วมกันไปเลย ความดังของลำโพงจัดว่าดังมาก เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดความดังแล้วจะอยู่ราว 85dB และได้สเตจเสียงกว้างฟังชัด รายละเอียดเนื้อเสียงจัดว่าครบถ้วนฟังเพลงได้ดีและมีเสียงเบสซัพพอร์ตได้ดี เนื้อเบสไม่บางเลย เรียกว่าไม่แพ้กับ DELL XPS 15 ซึ่งได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ เป็นลำโพงของโน๊ตบุ๊คที่ได้เสียงดีมากอีกรุ่นหนึ่ง
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ DELL XPS 13 Plus 9320 จะเป็นคีย์บอร์ดรุ่นใหม่แกะกล่องจากทางบริษัท โดยใช้ชื่อดีไซน์ว่า “Zero-Lattice” ซึ่งทรงตัวปุ่มเป็นสี่เหลี่ยมที่ออกแบบให้ขอบชิดขอบและตัวปุ่มราบเป็นระนาบเดียวกันไม่มีปุ่มไหนสูงหรือเตี้ยกว่ากันแม้แต่นิดเดียว หากหลับตาใช้มือลูบดูก็จะไม่รู้สึกถึงรอยต่อระหว่าปุ่มแม้แต่นิดเดียว จะรู้สึกเพียงขีดมาร์กกิ้งที่ติดเอาไว้ตรงปุ่ม F, J เท่านั้น ส่วนไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดจะเป็นแบบไฟเรืองที่สว่างลอดตัวอักษรบนปุ่มขึ้นมาเท่านั้น ไม่สว่างรอบคีย์แคปเลย ในแง่การใช้งานจริงถือว่าสว่างมองเห็นชัดเจน
สัมผัสการพิมพ์ของคีย์บอร์ด Zero-Lattice ต้องถือว่าขนาดปุ่มใหญ่รับกับระยะนิ้วได้เป็นอย่างดี ลดโอกาสกดผิดพลาดไปได้มากและใช้แรงกดน้อยมาก เกือบจะเป็นการแตะเพื่อพิมพ์เสียด้วยซ้ำ แต่ในส่วนนี้ผู้ใช้ที่พิมพ์สัมผัสได้อาจจะต้องปรับน้ำหนักนิ้วตอนซื้อมาใช้งานในช่วงแรกๆ เพราะระยะความห่างระหว่างปุ่มและน้ำหนักกดของตัวปุ่มจะแตกต่างจากโน๊ตบุ๊คทุกรุ่นที่เคยใช้งานมาอย่างแน่นอน แต่เมื่อคุ้นชินแล้วผู้เขียนมั่นใจว่าผู้ใช้หลายๆ ท่านน่าจะชื่นชอบคีย์บอร์ดนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน
ด้านปุ่มใช้งานและคีย์ลัดที่ถูก Mapping ไว้บนคีย์บอร์ดของ DELL XPS 13 Plus 9320 มีน้อยมาก เพียงแค่ Page Up, Page Down ตรงปุ่มลูกศรขึ้นลงและปุ่มเสมือนคลิกขวาของปุ่ม Ctrl ขวามืออีกคำสั่งเดียวเท่านั้น และถ้าสังเกตจะเห็นว่าข้างปุ่ม Backspace จะมีปุ่มสีดำซึ่งเป็นปุ่ม Power พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดเอาไว้อีกปุ่มเท่านั้น
ดีไซน์อีกส่วนซึ่งแตกต่างจากโน๊ตบุ๊คทั่วไป คือ Capacitive Touch Function เป็นปุ่ม Function แบบทัช ติดอยู่ขอบบนเหนือคีย์บอร์ดและมีคำสั่ง Function Lock ติดอยู่กับปุ่ม Esc ด้วยและพอกดปุ่ม Fn แล้ว Capacitive Touch Function จะสลับแสงไฟไปมาระหว่าง Function Hotkey และ F1~F12 ให้โดยอัตโนมัติและสามารถกดล็อคสลับเลเยอร์ไปมาได้อีกด้วย ซึ่งการดีไซน์นี้ถือว่าดีมากและเข้าใจง่าย เมื่อมองก็ทราบทันทีว่าตอนนี้ใช้ปุ่มเซ็ตไหนอยู่
อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตในภาพจะเห็นว่า Capacitive Touch Function ถูกเซ็ตเป็นปุ่มบังคับไว้บนชุดแป้นคีย์บอร์ด พอสังเกตในภาพตรงข้างปุ่มที่ไฟติดจะเห็นเงาของชุดคำสั่งอีกปุ่มอยู่ด้วย เมื่อเรากด Fn Lock จะเห็นว่าไฟของชุดคำสั่งหนึ่งจะดับลงแล้วไฟของอีกชุดคำสั่งจะติดขึ้นมาเท่านั้น เป็นชุดคำสั่งแบบล็อคการตั้งค่าเอาไว้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ส่วนของ Function Hotkey ที่ Capacitive Touch Function จะเซ็ตเพียงแต่คำสั่งทั่วไปที่ต้องใช้งานเท่านั้น อย่างเช่น ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง, ปิดไมค์, เล่นหรือหยุดสื่อและคลิปที่ดูอยู่, ปรับความสว่างไฟ LED Backlit และความสว่างหน้าจอและคำสั่ง Project ที่ใช้ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริมกับ Function Key อีกเล็กน้อยเท่านั้น หากนับในแง่การใช้งานจริงต้องถือว่าแป้น Capacitive นี้เป็นแป้นที่แนวคิดและดีไซน์ล้ำสมัยแต่ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ค่อนข้างจำกัด
ด้านทัชแพดของตัวเครื่องถูกดีไซน์ให้เป็นเนื้อเดียวแบบไร้ขอบแป้นโดยเรียบเป็นเนื้อเดียวกับตัวเครื่อง โดยทาง Dell ตั้งใจออกแบบให้ดูเรียบง่าย แต่ยังคงฟังก์ชั่นของทัชแพดไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเริ่มต้นใช้งานใหม่ๆ อาจจะไม่ทราบว่าขอบซ้ายและขอบขวาไปสุดอยู่ที่ตรงไหน แต่จากการลองลากเคอร์เซอร์เมาส์แล้วจะเห็นว่าขอบฝั่งซ้ายจะสุดเท่ากับตัวริมซ้ายของปุ่ม Spacebar แล้วฝั่งขวาไปสุดริมปุ่ม Alt และสูงเท่าระยะที่วางข้อมืออีกด้วย
ตัวแป้นรองรับ Gesture control ของ Windows ครบถ้วน สามารถปัดนิ้วเลื่อนใช้งานได้ตามปกติ ตอบสนองรวดเร็วเหมือนกับทัชแพดของโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น และการกดคลิกตัวแป้นจะตอบสนองแบบ Haptic Touch หรือเป็นการสั่นจากมอเตอร์ขนาดเล็กในตัวเครื่อง แต่สัมผัสนั้นเหมือนการกดปุ่มตัวเครื่องจริงๆ
Connector / Thin & Weight
พอร์ตของ DELL XPS 13 Plus 9320 ถือว่าน้อยเกินไปจนใช้งานค่อนข้างลำบาก เพราะมี Thunderbolt 4 เพียง 2 ช่อง ติดตั้งไว้ฝั่งซ้ายและขวาด้านละพอร์ตเท่านั้น ส่วนการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเป็น Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและเสถียรทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็น Thunderbolt 4 แต่เมื่อมีพอร์ตเช่นนี้ จึงทำให้ผู้ใช้หลายๆ คนต้องมี USB-C Multiport Adapter ติดกระเป๋าเอาไว้ต่อพ่วงแยกเป็นพอร์ตอื่นๆ เพื่อใช้งาน หรือถ้านั่งทำงานในออฟฟิศ ก็ต้องซื้อหน้าจอแบบ Port Hub มาใช้งานแล้วต่ออุปกรณ์เสริมต่างๆ ผ่านทางหน้าจอแทน แม้จะได้พอร์ตที่ล้ำสมัยมาใช้และได้บอดี้บางเบาก็ตาม แต่ก็ขาดพอร์ตที่จำเป็นอย่าง USB-A, HDMI และอื่นๆ ไปจนหมด
ในแพ็คเกจสินค้า ทาง DELL ก็แถมสาย USB-C to 3.5 mm. กับหัวต่อ USB-C to A มาใช้ต่ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ แก้ขัดแล้วก็จริง แต่ก็แค่เบื้องต้น ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าถ้าทาง DELL ตั้งราคาตัวเครื่องมา 73,990 บาททั้งที ก็น่าแถม DELL Mobile Adapter MH3021P หรือไม่ก็ DELL USB-C Mobile Adapter DA310 มาให้สมราคาไปเลยจะดีกว่ามาก
น้ำหนักตัวเครื่องจากสเปคบนหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ DELL USA ให้ข้อมูลไว้ว่า DELL XPS 13 Plus 9320 จะหนัก 1.23 กิโลกรัม เมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้วจะหนัก 1.26 กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับหน้าสเปคเป็นอย่างมาก ส่วนชุดอุปกรณ์เสริมและอแดปเตอร์จะหนัก 259 กรัม เมื่อพกใส่กระเป๋าแล้วจะได้น้ำหนักสุทธิ 1.52 กิโลกรัม จัดว่าไม่หนักมาก สามารถพกพาไปทำงานได้สะดวกพอสมควร และจะใช้อแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์ มาชาร์จแบตเตอรี่แทนอแดปเตอร์ในกล่องก็ได้ด้วย
Inside & Upgrade
การอัพเกรด DELL XPS 13 Plus 9320 ทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่ขันน็อตหัว Trox ทั้งหมด 6 ดอกออก แล้วเอาการ์ดไล่ขอบตัวเครื่องเพียงเล็กน้อยก็เปิดฝาได้แล้ว แต่เนื่องจาก XPS 13 Plus นั้นถูกออกแบบให้บางเบาพกสะดวก ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวเครื่องถูกปรับเปลี่ยนเป็นออนบอร์ดแทบทั้งหมด ซึ่งข้อดีเป็นแง่ประสิทธิภาพที่สูงกว่าแบบ SO-DIMM ที่ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ แต่คนมีความสามารถชอบปรับแต่งตัวเครื่องอาจจะออกอาการ “คันไม้คันมือ” อยู่บ้าง
Performance & Software
สเปคของ DELL XPS 13 Plus 9320 ติดตั้งซีพียู Intel 12th Gen รุ่น Intel Core i7-1260P แบบ 12 คอร์ 16 เธรด (4P+8E) ความเร็ว 3.4-4.7GHz มาให้ใช้งาน รองรับชุดคำสั่งต่างๆ ครบถ้วนและมีค่า TDP 28 วัตต์ ใช้การ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics สำหรับเรนเดอร์ภาพขึ้นหน้าจอและใช้ทำงานกราฟฟิคอย่างการตัดต่อแต่งภาพและวิดีโอก็ใช้งานได้ รองรับชุดคำสั่งจำเป็นอย่าง OpenCL, Open GL, DirectCompute, DirectML, Vulkan ครบถ้วน
แรมออนบอร์ดในเครื่องมีความจุ 16GB LPDDR5 บัส 5200 MHz ซึ่งความจุนี้ถือว่าเยอะเพียงพอใช้ทำงานต่างๆ ได้สบายๆ ไม่ว่าจะทำงานเอกสารไปจนงานตัดต่อแต่งภาพก็ทำได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องแรมไม่พอใช้งานอย่างแน่นอน
เมื่อเช็คพาร์ทภายในตัวเครื่องด้วย Device Manager จะเห็นว่า DELL XPS 13 Plus 9320 ติดตั้งทั้งกล้องสแกนใบหน้าและเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Goodix มาครบถ้วน สามารถสลับใช้งานตามความสะดวก และรองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2 ในตัวแบบครบถ้วนด้วยชิป Intel AX211 ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล รวมทั้งมีชิป TPM 2.0 ติดตั้งมาให้ใช้รักษาความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่องคู่กับ Windows 11 อีกด้วย
M.2 NVMe SSD จากโรงงานของ DELL XPS 13 Plus 9320 ผลิตโดย Western Digital รหัส SN810 ความจุ 512GB ถ้าอิงจากหน้าสเปคแล้วจะเห็นว่ารุ่นนี้ใช้อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 แล้ว มีความเร็ว Sequential Read 6,000 MB/s และ Sequential Write 4,000 MB/s และค่าความทนทานการอ่านเขียนไฟล์ที่ 300 TBW เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 แล้วได้ความเร็ว Sequential Read สูงถึง 6,554.99 MB/s และ Sequential Write 4,461.94 MB/s ซึ่งถือว่าดีกว่าข้อมูลเคลมเอาไว้หน้าสเปคเสียอีก ซึ่งถ้าใช้ทำงานทั่วไปอย่างเปิดเว็บไซต์, ทำงานเอกสารและประชุมงานถือว่าเพียงพออย่างแน่นอน
หากผู้ใช้คนไหนคิดว่า M.2 NVMe SSD ที่ติดตั้งมาให้มีความจุน้อยเกินไปไม่พอใช้งาน ส่วนตัวผู้เขียนไม่แนะนำให้เปิดเครื่องมาเปลี่ยน SSD เพราะดูจะไม่คุ้มกันเท่าไหร่ แนะนำให้ซื้อ External HDD/SSD ความจุสูงระดับ 2~4TB มาต่อเพื่อเซฟงานแยกออกไปจะดีกว่า
ด้านการทดสอบเรนเดอร์ไฟล์โมเดล 3D CG ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 จะเห็นว่าซีพียู Intel Core i7-1260P ในตัวเครื่องก็มีประสิทธิภาพดีพอสมควร สามารถพรีวิวโมเดล 3D ให้เห็นและเลื่อนโมเดลดูได้ โดยทำคะแนน OpenGL ไป 84.01 fps และคะแนน CPU 1,111 cb ซึ่งถือว่าแรงพอใช้ทำงานได้แน่นอน ด้านของ CINEBENCH R20 ซึ่งเน้นทดสอบการประมวลผลต่อคอร์ของซีพียู จะได้คะแนน CPU 2,721 pts จัดว่าสูงทีเดียว ช่วยการันตีว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้ทำงานกราฟฟิคเบื้องต้นต่างๆ อย่างตัดต่อภาพหรือแต่งรูปก็ได้ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม เมื่อทดสอบการเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy จะเห็นว่า DELL XPS 13 Plus 9320 ทำคะแนนเฉลี่ยได้เพียง 1,691 คะแนน แยกเป็นคะแนน CPU score 5,181 คะแนน และ Graphics score 1,512 คะแนนเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องยนี้ไม่เหมาะจะเอามาเล่นเกมอย่างแน่นอน อย่างมากอาจจะเล่นเกม 8-bit ทั่วไปพอฆ่าเวลาได้เท่านั้น ไม่เหมาะจะใช้เล่นเกมฟอร์มยักษ์อย่างแน่นอน
เมื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานด้วย PCMark 10 จะเห็นว่า DELL XPS 13 Plus 9320 ทำคะแนนรวมเฉลี่ยไปได้ 4,550 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทั่วไปที่โน๊ตบุ๊คสายทำงานทำคะแนนได้ และถ้ามองแยกเป็นหมวดหมู่แล้วจะเห็นว่า XPS 13 Plus 9320 ทำคะแนนในหมวดการใช้งานทั่วไป (Essential) ได้ดีไม่มีปัญหา ส่วนงานเอกสารกับไฟล์ Word, Excel และงานตัดต่อแต่งภาพก็ทำได้ดีไล่เลี่ยกันทั้งคู่
ถ้าอิงจากคะแนน ก็สามารถสรุปได้ว่า XPS 13 Plus 9320 จะเหมาะกับกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่หาโน๊ตบุ๊คสายทำงานระดับพรีเมี่ยมเอาไว้ใช้งานสักเครื่อง เน้นการทำงานเอกสารและประชุมออนไลน์และแต่งภาพบ้างเป็นระยะๆ ก็สามารถใช้งานได้ดีอย่างแน่นอน
ด้านโปรแกรม My Dell เป็นโปรแกรมตั้งค่าตัวเครื่อง ซึ่งใช้อัพเกรดเฟิร์มแวร์ของตัวเครื่องหรือแม้แต่ตั้งค่าการทำงานตัวเครื่องก็ได้ ทั้งการแสดงผลหน้าจอ, การจัดการแบตเตอรี่รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยของตัวเครื่องอีกด้วย นอกจากนี้ทาง DELL ยังมีซอฟท์แวร์ปรับโหมดการทำงานตัวเครื่องให้เลือกเปลี่ยนโหมดได้ด้วย ว่าต้องการให้ DELL XPS 13 Plus 9320 ทำงานเต็มที่หรือเน้นประหยัดพลังงานเอาไว้ก่อนก็ได้ ซึ่งใช้งานได้ดีและสะดวกมาก
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ DELL XPS 13 Plus 9320 เป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียม ไอออน ความจุ 55Wh มีขนาดใหญ่โดยกินพื้นที่ยาวจากขอบสู่ขอบตัวเครื่องติดลำโพงทั้งสองข้าง ซึ่งขนาดของมันใหญ่จนกินพื้นที่ในตัวเครื่องไปครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ระยะเวลาใช้งานเมื่อทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ ปิดไฟลดแสงสว่างจนต่ำสุด เปิดเสียงลำโพง 10% และเปิดโหมดประหยัดพลังงาน ใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube ต่อเนื่อง โดยครั้งนี้จะทดสอบนานราว 1 ชั่วโมง จะเห็นว่าแบตเตอรี่ 55Wh สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานราว 10 ชั่วโมง 39 นาที ซึ่งถ้าต้องการพกโน๊ตบุ๊คไปทำงานตามร้านกาแฟ, พกเข้าห้องประชุมคุยงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ใช้ได้ดีไม่มีปัญหา และผู้เขียนเชื่อว่าถ้าปิดเสียงลำโพงก็น่าจะใช้งานได้นานกว่านี้มาก
ระบบระบายความร้อนของ DELL XPS 13 Plus 9320 จัดว่าเรียบง่าย มีฮีตไปป์เส้นเดียวพาดยาวจากซีพียู Intel Core i7-1260P ออกไปยังฮีตซิ้งค์สองฝั่งด้านหน้าพัดลมระบายความร้อนที่เป่าออกด้านหลังตัวเครื่อง ซึ่งชุดระบายความร้อนเซ็ตนี้จัดว่าพอใช้งานอย่างแน่นอน เนื่องจากซีพียูตระกูลนี้ไม่ได้สร้างความร้อนมากหากใช้งานทั่วไป ซึ่งจากการใช้งานตามปกติอย่างเปิดเว็บไซต์, ดูหนังฟังเพลงตัวเครื่องก็ไม่ร้อนเกินไปจนรบกวนการใช้งานเลย
ด้านอุณหภูมิสูงสุดจากการทดสอบด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor จะเห็นว่าทั้งแพ็คเกจนั้นมีอุณหภูมิอยู่ระหว่างช่วง 43~100 องศาเซลเซียส ซึ่งเกิดเฉพาะตอนรันโปรแกรมทดสอบตัวเครื่องเท่านั้น เวลาใช้งานจริงต้องถือว่า XPS 13 Plus 9320 ก็เย็นต่อเนื่องไม่มีอาการตัวเครื่องร้อนหรือเร่งความเร็วพัดลมกะทันหันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นถ้าใครต้องการซื้อโน๊ตบุ๊คนี้ไปใช้งานก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิเลยก็ได้
User Experience
DELL XPS 13 Plus 9320 เป็นโน๊ตบุ๊คมาตรฐาน Intel Evo เน้นการพกพาง่าย ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง ซึ่งจากการทดลองใช้งานจริงถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คพกพาง่ายและน้ำหนักเบาทีเดียว แต่ทีเด็ดคือบอดี้อลูมิเนียมนั้นแข็งแรง งานประกอบแน่นหนามากจนผู้เขียนเองยกให้เป็นเครื่องที่งานประกอบดีที่สุดในหมู่โน๊ตบุ๊คบอดี้อลูมิเนียมอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้านการล็อคอินเข้าใช้งานเครื่องนั้นง่ายมาก จะสแกนใบหน้าหรือนิ้วเพื่อปลดล็อคเครื่องก็ได้ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านและไม่ต้องเปิดหน้ากากเพื่อสแกนใบหน้าเลยก็ได้ ตอนพกโน๊ตบุ๊คไปทำงานในร้านกาแฟจึงเปิดใช้งานได้สะดวกไม่ต้องเสี่ยงกับ COVID-19 สักนิดเดียว และระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ในตัวเครื่อง ถ้าปิดลำโพงแล้วลดแสงลงสัก 50% ก็จะใช้งานได้นานขึ้น ไม่ต้องคอยมองหาหรือต้องนั่งใกล้ปลั๊กก็ทำงานภายในวันนั้นๆ เสร็จได้อย่างแน่นอน
หน้าจอทัชสกรีนก็เป็นอีกจุดเด่นที่ผู้เขียนชอบเช่นกัน นั่นเพราะหากเราใช้งานจนถนัดแล้วก็ไม่ต้องพกเมาส์ติดกระเป๋าไปคู่กับโน๊ตบุ๊คก็ได้ สามารถใช้นิ้วแตะหน้าจอเพื่อสั่งให้โน๊ตบุ๊คทำงานได้ทันที ช่วยลดอุปกรณ์ที่ต้องพกใส่กระเป๋าไปได้อีกชิ้นซึ่งสะดวกและประหยัดพื้นที่อีกด้วย
สำหรับคีย์บอร์ด Zero-Lattice นับเป็นคีย์บอร์ดที่ใช้แรงกดปุ่มน้อยมาก เบาจนแทบจะเป็นการแตะสัมผัสเพื่อพิมพ์งานได้เลยและระยะกดปุ่มก็ลึกกำลังดีเลยทำให้พิมพ์งานได้สะดวกมาก ไม่เหมือน Butterfly keyboard ของ Apple ซึ่งระยะกดสั้นเกินไป แม้จะใช้แรงกดน้อยเหมือนกันก็จริงแต่ระยะกดสั้นมากจนผู้เขียนซึ่งเคยใช้ MacBook Pro รุ่นดังกล่าวมาก่อนปวดนิ้วเป็นประจำ แต่กับคีย์บอร์ด Zero-Lattice ไม่พบอาการนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว และการดีไซน์ให้แป้นทัชแพดเรียบเป็นเนื้อเดียวกับที่วางข้อมือ ก็ได้ความเรียบร้อยสวยงามไปด้วย
ในทางกลับกัน คีย์บอร์ด Zero-Lattice ที่พิมพ์งานได้ดีกลับต้องใช้เวลาปรับตัวมากกว่าคีย์บอร์ดแบบอื่น เนื่องจากตัวแป้นที่เหยียดจนแต่ละปุ่มแทบจะชิดกันและเรียบเหมือนผ้าขาวบางขึงตึงนั้นไม่มีขอบปุ่มช่วยไกด์ว่าแต่ละปุ่มสุดขอบตรงไหน จึงกะระยะของแต่ละปุ่มลำบาก ตอนทดลองใช้งานในช่วงแรกก็พิมพ์ผิดอยู่บ่อยครั้ง ส่วนแป้นทัชแพดที่ไม่รู้ว่าขอบของทั้งสองฝั่งอยู่ตรงไหนก็เช่นกัน ต้องปรับตัวเล็กน้อยถึงจะรู้ระยะเริ่มและสุดขอบ ซึ่งผู้เขียนใช้วิธีว่าถ้าแตะลงไปตรงขอบตัวเครื่องในระยะห่างไม่เกินขอบ Spacebar ทั้งสองข้าง ก็ใช้ทัชแพดได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ เมื่อทางบริษัทติดตั้งพอร์ตมาให้เพียงแค่ Thunderbolt 4 เพียง 2 ช่อง ทำให้เวลาต้องการใช้งานพอร์ตอื่นๆ เช่น HDMI, LAN ก็ต้องหา USB-C Multiport Adapter มาต่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ และทาง DELL ก็แถมหัวแปลงมาเพียง 2 หัว เพื่อแปลง USB-C เป็นแจ็คหูฟัง 3.5 มม. กับ USB-A เท่านั้น ในแง่การใช้งานจริงถือว่าค่อนข้างลำบากและมีข้อจำกัดอยู่พอควร ยิ่งถ้าใครต้องพกโน๊ตบุ๊คไปพรีเซนต์งาน ก็จำเป็นต้องหาตัวแปลงมาต่อเสริมด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงมองว่าในเมื่อ DELL XPS 13 Plus 9320 ตั้งราคาและวางตัวเป็นโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมแล้วทั้งที ก็น่าแถมอุปกรณ์เสริมมาให้เท่าเทียมกัน อย่าง DELL USB-C Mobile Adapter DA310 หรือ Dell Mobile Adapter Speakerphone MH3021P ด้วยเลยจะเหมาะสมที่สุด
Conclusion & Award
ถ้านับในกลุ่มโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมแล้ว DELL XPS 13 Plus 9320 นั้นโดดเด่นทั้งเรื่องงานประกอบที่แข็งแรงทนทานมาก ซึ่งผู้เขียนยกให้โน๊ตบุ๊คยบอดี้อลูมิเนียมนี้เป็นเครื่องที่บอดี้แข็งแรงที่สุดเท่าที่เคยได้ทดสอบมา ซึ่งถ้าใครหาโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมและถนัดใช้งานโน๊ตบุ๊ค Windows เป็นหลักแนะนำให้ดูโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้งานได้เลย เพราะความหรูหราสวยงามจัดว่าไม่แพ้แบรนด์อื่นอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก XPS 13 Plus 9320 มีราคา 73,990 บาท ทำให้มีตัวเลือกในตลาดอยู่มาก ซึ่งหลายๆ รุ่นก็ได้สเปคไล่เลี่ยกันแต่ราคาถูกกว่าราวครึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้เขียนจึงมองว่ามันเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานที่เสริมบุคลิคของผู้ใช้ไปในตัว ถ้าชื่นชอบและมั่นใจคุณภาพของแบรนด์ DELL XPS ก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน
Award
best design
งานประกอบและความแข็งแรงของ XPS 13 Plus 9320 นั้นน่าประทับใจมาก นับเป็นโน๊ตบุ๊คบอดี้อลูมิเนียมที่แข็งแรงแน่นหนาที่สุดเท่าที่เคยใช้งาน ไม่ว่าจะบานพับก็แน่นแข็งแรง บอดี้ตัวเครื่องทนทานและจับถือก็รู้สึกแน่นไปทั้งเครื่องอีกด้วย
best multimedia
ลำโพงของ XPS 13 Plus 9320 ได้คุณภาพเสียงดี เนื้อเสียงมีมิติและสเตจเสียงกว้าง ฟังเพลงและดูหนังได้อารมณ์ไม่ต้องต่อลำโพงแยกก็ฟังเพลงได้อรรถรส เนื้อเสียงดีน่าประทับใจอีกด้วย จัดเป็นลำโพงติดโน๊ตบุ๊คเพียงไม่กี่เครื่องเท่านั้นที่คุณภาพเสียงดีน่าประทับใจเช่นนี้
best mobility
น้ำหนักของ XPS 13 Plus 9320 เบาเพียง 1.26 กิโลกรัม ตัวเครื่องบางทรงลิ่มทำให้ประหยัดพื้นที่ในกระเป๋าพอสมควร สามารถสอดเอกสารหรือแท็บเล็ตเพิ่มเข้าไปในกระเป๋าได้สบายๆ และยังใช้งานได้นานเกิน 10 ชั่วโมง และยังชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ผ่าน USB-C ได้อีก นับว่ามีคุณสมบัติของโน๊ตบุ๊คสายพกพาครบถ้วน