Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo Yoga 6 พกง่าย มีปากกา ฝาหลังผ้ายีนส์ สวยเก๋เรียบหรูและแรงด้วย AMD Ryzen ราคาแค่ 34,990 บาท

Lenovo Yoga 6 รุ่นใหม่ดีไซน์เก๋ขึ้น ฝาหลังผ้ายีนส์และรันด้วย AMD Ryzen งานไหนก็เอาอยู่

yoga6 cover

เมื่อเอ่ยชื่อ Lenovo Yoga 6 แล้ว นอกจากจะเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาพกพาง่ายแล้ว ยังเป็นหน้าจอทัชสกรีนพับหน้าจอกลับ 360 องศา เปลี่ยนเป็นแท็บเล็ตแล้วใช้ Lenovo Pen เขียนจดไอเดียหรือวาดสิ่งที่คิดออกมาเป็นรูปร่างให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจได้สะดวกแถมยังเป็นหน้าจอ Dolby Vision แสดงผลได้สวยคมชัดกับลำโพง Dolby Atmos ให้เสียงดังฟังชัดมีมิติ พร้อกล้อง IR Camera ไว้ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องและบานชัตเตอร์ปิดกล้อง Webcam เพิ่มความเป็นส่วนตัวและป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีเจาะระบบเข้ามาใช้กล้องโดยพลการและยังติดเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแยกไว้ให้โดยเฉพาะอีกด้วย ส่วนบอดี้ตัวเครื่องก็เสริมความสวยงามมีสไตล์ด้วยผ้ายีนส์สีน้ำเงินจับถนัดมือไม่ลื่นหลุดมือง่ายๆ เหมือนบอดี้อลูมิเนียมอย่างเดียวแล้ว

Advertisement

ด้านซีพียูเป็น AMD Ryzen 5 และ Ryzen 7 ตระกูล 5000 Series และเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน ประสิทธิภาพดี ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่ทำงานเอกสารทั่วไปจนกระทั่งงานวาดสเก็ตภาพก็ดี เพราะมีการ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics พร้อมใช้เรนเดอร์งานกราฟฟิคและแต่งภาพได้ดีไม่มีปัญหา มันจึงเหมาะกับผู้ใช้หลากหลายกลุ่มตั้งแต่คนทำงานออฟฟิศ, ตัวแทนกรมธรรม์ประกันภัยที่ต้องให้ลูกค้าเซ็นแบบฟอร์มเอกสารหรือแม้แต่ครีเอทีฟกับมัณฑนากรก็น่าซื้อมาใช้งานทั้งนั้น

Lenovo Yoga 6

NBS Verdicts

DSC09573

Lenovo Yoga 6 เป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานดีไซน์สวยมีสไตล์ด้วยฝาหลังผ้ายีนส์กับดีไซน์แบบพับหน้าจอเป็นแท็บเล็ตได้ มีปากกา Lenovo Pen สำหรับเขียนวาดบนหน้าจอเหมือนแท็บเล็ต ใช้ง่ายและสะดวกตามสไตล์ Windows ซึ่งมั่นใจว่าผู้ใช้ส่นใหญ่รู้จักระบบปฏิบัติการนี้ดี สเปคของ Yoga 6 ก็แรงและใช้งานได้ดีด้วย AMD Ryzen 5 และ Ryzen 7 จะทำงานใหญ่หรือเล็กก็ใช้ได้ดีไม่มีปัญหา ได้แรมอีก 8~16GB แยกตามรุ่น มี M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ติดตั้งมาให้ แสดงผลขึ้นหน้าจอ 13.3 นิ้ว ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รองรับ Dolby Vision อีกด้วย

ด้านฟีเจอร์ก็จัดเต็มไม่แพ้สเปคข้างต้น อย่างแรก คือ กล้อง Webcam ความละเอียด HD พร้อมกล้อง IR Camera ใช้สแกนหน้ายืนยันตัวก่อนใช้งานและมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแยกเฉพาะให้อีกด้วย เผื่อเวลาพกเครื่องไปใช้ในที่สาธารณะ เช่น Co-Working Space หรือร้านกาแฟแล้วไม่สะดวกถอดหน้ากากอนามัยก็สแกนลายนิ้วมือแทนได้ เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยไปในตัว ไม่ต้องเสี่ยงรับเชื้ออีกเข้าร่างกายและยังได้พอร์ต USB-A 3.2 x 2 ช่อง ใช้ชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ด้วย จึงไม่ต้องพกอแดปเตอร์ติดตัวเสมอก็ได้ ใช้อแดปเตอร์สมาร์ทโฟนกำลังชาร์จเกิน 45 วัตต์กับสาย USB-C แบบรับกำลังชาร์จได้สูงสุด 100 วัตต์สักเส้นก็พอแล้ว

กลับกัน เรื่องน่าเสียดายของ Lenovo Yoga 6 คือระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ในเครื่องจะใช้ได้นานสุดเพียง 5 ชั่วโมง 39 นาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าที่ผู้เขียนคาดเอาไว้พอควร คาดว่าต้องรอทาง Lenovo อัพเดท BIOS เป็นเวอร์ชั่นใหม่ถึงจะใช้งานได้นานกว่านี้ และจุดที่ผู้เขียนกังวลเป็นส่วนตัว คือฝาหลังแบบผ้ายีนส์เมื่อใช้งานไปนานๆ อาจมีร่องรอยความสกปรกไม่ว่าจะคราบของเหลว, เหงื่อไคลจากมือตอนถือเครื่องติดตัวไปมาอาจจะฝากร่องรอยเอาไว้ได้ ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้หมั่นดูแลรักษาความสะอาดตัวเครื่องมากขึ้นสักหน่อยน่าจะช่วยได้ ส่วนจุดเล็กน้อยแต่อยากให้ทาง Lenovo พิจารณา คือหน้าจอความละเอียดสูงระดับ 2.2K หรือ 2.8K ซึ่งติดตั้งมาใน Lenovo Yoga Slim Series น่านำมาทำเป็นพาเนลทัชสกรีนติดตั้งให้ Yoga Series ด้วย จะทำให้โน๊ตบุ๊คซีรี่ส์นี้น่าใช้งานขึ้นเป็นอย่างมาก

ข้อดีของ Lenovo Yoga 6
  1. งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรง พับจอได้ 360 องศาใช้เป็นแท็บเล็ตได้
  2. ฝาหลังเครื่องเป็นผ้ายีนส์ ดูดีมีเอกลักษณ์แตกต่างจากโน๊ตบุ๊คเครื่องอื่นๆ
  3. หน้าจอเป็นทัชสกรีน ใช้งานแบบแท็บเล็ตได้ทั้งแตะหน้าจอหรือวาดด้วย Lenovo Pen
  4. หน้าจอของรับ Dolby Vision ขอบเขตสี 100% sRGB พร้อมลำโพง Dolby Atmos
  5. ซีพียู AMD Ryzen 5 หรือ Ryzen 7 5000 Mobile ประสิทธิภาพดี ทำงานหนักได้สบาย
  6. มี USB-C รองรับการชาร์จแบบ Power Delivery ได้ ไม่ต้องพึ่งอแดปเตอร์เสมอไป
  7. USB-C ทั้งสองช่องรองรับการต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort Alt-mode
  8. Webcam เป็น IR Camera พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ปลดล็อคเครื่องได้สะดวก
  9. มีบานชัตเตอร์สำหรับสไลด์ปิดกล้องหน้าได้ ใช้งานสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น
  10. ระบบระบายความร้อนทำงานดี ใช้ทำงานหนักเครื่องก็ไม่ร้อนเกินไปจนใช้งานไม่ได้
ข้อสังเกตของ Lenovo Yoga 6
  1. แบตเตอรี่ความจุ 59Wh ใช้งานได้นานสุด 5 ชั่วโมง 39 นาทีเท่านั้น
  2. ไม่มีปุ่มปิดการทำงานทัชแพด ทำให้สันมือพาดทัชแพดและพิมพ์งานไม่สะดวกบ้าง
  3. ยังได้จอ Full HD เท่านั้น ไม่ใช่จอ 2.2K หรือ 2.8K แบบ Yoga Slim Series

รีวิว Lenovo Yoga 6

Specification

lenovo laptops yoga yoga c series 6 feature 1

สเปคของ Lenovo Yoga 6 จัดว่าเหมาะกับนักวาดและนักออกแบบอย่างแน่นอน ด้วยหน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB มีปากกาสไตลัส Lenovo Pen ไว้วาดเขียนบนหน้าจอได้ด้วย ส่วนสเปคเป็นดังนี้

สเปคของ Lenovo Yoga 6
  • CPU : AMD Ryzen 7 5700U แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 1.8~4.3GHz
  • GPU : AMD Radeon Graphics แบบ 8 คอร์
  • SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
  • RAM : 16GB LPDDR4 บัส 4266MHz
  • Display : 13.3 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 90Hz
  • Ports : USB-A 3.2 x 2, USB-C 3.2 x 2, HDMI x 1, MicroSD Card Reader x 1, Audio combo x 1
  • Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2
  • Webcam : IR Camera 720p 
  • Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
  • Weight : 1.37 กิโลกรัม
  • Price : 34,990 บาท (ราคากลาง)

นอกจากสเปคข้างต้นแล้ว Lenovo Yoga 6 ยังมีรุ่นย่อยพร้อมซีพียู AMD Ryzen รหัสอื่นให้เลือกด้วย ดังนี้

Lenovo Yoga 6
รุ่นย่อยอื่นๆ
CPU, GPU SSD, RAM, Software หน้าจอ,
น้ำหนัก
การเชื่อมต่อ ราคา (บาท)
Lenovo Yoga 6 13ALC6-82ND001FTA AMD Ryzen 5 5500U

AMD Radeon Graphics
M.2 NVMe
512GB

8GB DDR4
3200MHz

Windows
10 Home

Microsoft Office Home & Student 2019
13.3″ FHD IPS

1.31 กก.
USB-A 3.2 x 2

USB-C 3.2 x 2

HDMI x 1

MicroSD Card Reader x 1

Audio combo x 1

Wi-Fi 6

Bluetooth 5.0
26,990
Lenovo Yoga 6 13ALC6-82ND00DGTA AMD Ryzen 5 5500U

AMD Radeon Graphics
M.2 NVMe
512GB

8GB DDR4
3200MHz

Windows
10 Home

Microsoft Office Home & Student 2021
13.3″ FHD IPS

1.31 กก.
USB-A 3.2 x 2

USB-C 3.2 x 2

HDMI x 1

MicroSD Card Reader x 1

Audio combo x 1

Wi-Fi 6

Bluetooth 5.0
30,990
Lenovo Yoga 6 13ALC7-82UD004FTA AMD Ryzen 5 5500U

AMD Radeon Graphics
M.2 NVMe
512GB

16GB DDR4
4266MHz

Windows
11 Home

Microsoft Office Home & Student 2021
13.3″ FHD OLED

Refresh Rate 90Hz

1.31 กก.
USB-A 3.2 x 2

USB-C 3.2 x 2

HDMI x 1

MicroSD Card Reader x 1

Audio combo x 1

Wi-Fi 6

Bluetooth 5.0
31,990
Lenovo Yoga 6 13ALC6-82ND001ETA AMD Ryzen 7 5700U

AMD Radeon Graphics
M.2 NVMe
512GB

16GB DDR4
3200MHz

Windows
10 Home

Microsoft Office Home & Student 2019
13.3″ FHD IPS

1.31 กก.
USB-A 3.2 x 2

USB-C 3.2 x 2

HDMI x 1

MicroSD Card Reader x 1

Audio combo x 1

Wi-Fi 6

Bluetooth 5.0
32,990

Hardware & Design

DSC09563

ดีไซน์ของ Lenovo Yoga 6 เป็นโน๊ตบุ๊คแบบฝาพับเหมือนกับรุ่นก่อนหน้าแต่เก็บรายละเอียดในส่วนต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ขอบตัวเครื่องโค้งมนยิ่งขึ้นพร้อมติดสติกเกอร์แสดงสเปคและฟีเจอร์เด่นในแนวตั้งเหมือน Lenovo รุ่นอื่นๆ ในปัจจุบันนี้และสติกเกอร์ของ AMD ตรงตัวเครื่องฝั่งซ้าย มีเพลตอลูมิเนียมสลักชื่อบริษัทอยู่ฝั่งขวามือพร้อมยิงเลเซอร์ Dolby Vision.Atmos เอาไว้ใต้ Ctrl ฝั่งซ้ายมือ

ถ้าสังเกตขอบจอจะเห็นว่าฝาหลังผ้ายีนส์ไม่ได้ติดเอาไว้แค่ด้านหลังอย่างเดียว แต่คลุมขอบตัวเครื่องทั้ง 3 ด้านแล้วพับขอบผ้าเข้ามาด้านข้างหน้าจออย่างสวยงาม โดดเด่นกว่าโน๊ตบุ๊คสายทำงานฝาหลังโลหะอย่างเดียวอย่างชัดเจน นับเป็นเอกลักษณ์ประจำ Yoga รุ่นนี้เลยก็ว่าได้

DSC09558

ขาบานพับหน้าจอจะมีขนาดใหญ่ กางหน้าจอตั้งแบบโน๊ตบุ๊คทั่วไปหรือพับกลับ 360 องศา ใช้เป็นแท็บเล็ตก็ได้และรองรับปากกาสไตลัส Lenovo Pen เอาไว้เขียนบนหน้าจอได้อีกด้วย หรือจะใช้นิ้วแตะบนหน้าจอแทนเมาส์ก็ใช้งานได้สะดวกและตอบสนองได้รวดเร็วไม่แพ้แท็บเล็ตของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายๆ เจ้าอย่างแน่นอน

DSC09547

ฝาหลังของ Lenovo Yoga 6 จะเป็นผ้ายีนส์สีน้ำเงินสวยเรียบหรูดูดี ติดคำว่า Yoga อยู่มุมบนซ้ายและมีเพลต Lenovo อลูมิเนียมอีกชิ้นตรงมุมล่างขวา ถ้าหยิบขึ้นมาถือหรือวางแนวตั้งก็ดูไม่ออกว่านี่เป็นโน๊ตบุ๊ค มองเผินๆ อาจจะเข้าใจว่าเป็นสมุดโน๊ตดีไซน์เก๋สักเล่มก็ได้เช่นกัน ส่วนขาตั้งหน้าจอเมื่อเปิดดูด้านในเครื่องจะออกแบบเป็นก้านสั้นติดฐานบานพับหน้าจอ เวลาพับจอแล้วตัวก้านจะให้ตัวเล็กน้อยจึงพับจอกลับเป็นแท็บเล็ตได้

DSC09502

ด้านใต้เครื่องเป็นฝาพลาสติกมีช่องระบายอากาศแถบยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ขอบบน ฝั่งซ้ายมือมีรูพร้อมลูกศรถอยกลับหรือ Novo Hole ติดมาให้กดเวลาเครื่องมีปัญหาตอนบูตใช้งาน เมื่อเอาเข็มจิ้มซิมแทงช่องนี้จะทำให้โน๊ตบุ๊คบูตเข้าสู่หน้าต่างพิเศษ แยกเป็นหน้า BIOS, หน้าบูตหรือ Windows startup

ฝั่งซ้ายล่างสกรีนเครื่องหมายพร้อมตัวอักษรสีเขียวเพื่อบอกว่า Lenovo Yoga 6 ทำจากวัสดุรีไซเคิล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและล็อคฝาใต้เครื่องไว้ด้วยน็อต Trox จำนวน 6 ดอก แต่สังเกตว่าด้านใต้เครื่องไม่มีช่องลำโพงเพราะถูกย้ายไปติดด้านบนตัวเครื่องข้างแป้นคีย์บอร์ดแทน

Screen & Speaker

DSC09539

หน้าจอของ Lenovo Yoga 6 มีขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด WUXGA (1920×1200) พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 90Hz ถูกดีไซน์ให้ขอบจอบางทั้ง 3 มุมและพับขอบบนหน้าจอเหนือชุดกล้อง Webcam ให้ยื่นขึ้นเล็กน้อย ช่วยให้กางหน้าจอได้ง่ายยิ่งขึ้นและมีบานชัตเตอร์สไลด์ปิดเปิดกล้องเวลาไม่ต้องการใช้งานก็สไลด์ปิดให้กลายเป็นจุดสีส้มแดงแทน ด้านพาเนลจอของ Yoga 6 เป็นพาเนลที่มองเห็นได้ 178 องศาจากทุกมุมจอ ดังนั้นแม้จะพับจอลงเช่นในภาพตัวอย่างก็มองเห็นได้สะดวก ไม่มีเงาสะท้อนบนหน้าจอแบบพาเนล TN 

ขอบเขตสีหน้าจอ 100% sRGB จากการเคลมของทางบริษัทนั้น เมื่อจัดการ Calibrate ด้วย Calibrite รวมทั้งเซ็ตโปรไฟล์สีด้วย DisplayCal 3 แล้ว ได้ค่า Gamut coverage ระดับ 91.8% sRGB, 69.5% Adobe RGB, 73.2% DCI-P3 ส่วน Gamut Volume กว้างมาก ได้ 103.8% sRGB, 71.5% Adobe RGB, 73.5% DCI-P3 เท่ากับที่เคลมจากโรงงาน มีเทียบความเที่ยงตรงสีแสดงเป็นค่า Delta-E แล้วได้เฉลี่ย 0.14 เท่านั้น ถ้าใครต้องการเอาไว้แต่งภาพถ่ายจากกล้องหรือพรู้ฟสีงานอาร์ทเวิร์คก็ใช้จอนี้ทำงานได้เลย

ด้านความสว่างของหน้าจอวัดได้ 308.12 cd/m2 ซึ่งสว่างพอสู้แสงแดดได้สบายๆ ไม่ว่าจะนั่งทำงานในห้องแล้วแสงสะท้อนหน้าจอหรือกลางแจ้งตามชานร้านกาแฟก็ปรับความสว่างสู้แสงได้ แต่ถ้านั่งทำงานในออฟฟิศตามปกติ แนะนำให้ปรับความสว่างไว้ราว 60~70% จะสว่างพอดีไม่แสบตาเกินไปและไม่ใช้แบตเตอรี่มากเกินไปอีกด้วย

ลำโพงของ Lenovo Yoga 6 จะเป็นลำโพง 2 ตัวแบบแถบยาวติดอยู่ด้านข้างคีย์บอร์ด รองรับ Dolby Atmos ให้เสียงที่มีมิติและสเตจเสียงค่อนข้างกว้าง เสียงเครื่องดนตรีและนักร้องนำได้ยินชัดเจนและแชนแนลเสียงไม่ตีกันแต่เสียงเบสจะมีแค่พอซัพพอร์ตเสียงนักร้องและเสียงเครื่องดนตรีไม่ค่อยมีแรงปะทะมากนักควร

ดังนั้นลำโพงนี้จะดีเมื่อฟังเพลงแนวแจ๊ส, ป็อปหรืออะคูสติก พอฟังแนวร็อคหรือ R&B ได้บ้าง ส่วนเสียงแบบ Dolby Atmos จะเด่นที่สุดตอนดูหนังหรือสารคดีต่างๆ จะได้เสียงมีมิติดีชัดเจน กลับกัน เพลงเบสหนักอย่างฮิปฮ็อปหรือเมทัลจะรีดเสียงได้ไม่เต็มที่ หากใครชอบฟังเพลงสองแนวนี้ แนะนำให้ต่อลำโพงแยกหรือใส่หูฟังไปเลยจะได้อรรถรสมากกว่า

Keyboard & Touchpad

DSC09527

คีย์บอร์ดของ Lenovo Yoga 6 เป็นคีย์บอร์ดแบบ Tenkeyless ติดตั้งเฉพาะชุดปุ่มหลักมาให้และปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ อีกเล็กน้อย โดยอยู่ถัดจากปุ่ม F12 เป็นต้นไปอีก 3 ปุ่มด้วยกัน ได้แก่ Insert, Print Screen, Delete และผสาน Function Key เข้ากับปุ่มอื่นอีกเล็กน้อย ได้แก่ Page Up, Page Down, Home End อยู่กับปุ่มลูกศรทั้ง 4 ปุ่ม มี Fn Lock รวมอยู่กับปุ่ม Esc ไว้กดสลับระหว่างเลเยอร์ปุ่ม F1-F12 กับ Function Hotkey นั่นเอง

DSC09533

ไฟ LED Backlit ของ Yoga 6 เป็นไฟสีขาวแบบเรืองรอบปุ่มและลอดตัวอักษรทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สั่งเปิดหรือปิดโดยกด Fn+Spacebar และทำงานแบบ Toggle คือ กดปรับความสว่างลดลงจนดับไป ช่วยให้ผู้ที่พิมพ์สัมผัสไม่คล่องทำงานตอนมีแสงน้อยหรือมืดได้สะดวกขึ้น

DSC09528

สำหรับ Function Hotkey ในบรรทัด F1-F12 จะ Mapping เน้นการทำงานเป็นหลักโดยยกมาจากตระกูล Yoga Slim ทั้งหมด แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ก็ยังได้ปุ่มครบพร้อมใช้งานดี โดยมีคำสั่งดังนี้

  • F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • F4 – ปิด/เปิดไมโครโฟน
  • F5-F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
  • F8 – Airplane Mode
  • F9 – ปุ่มเรียกคำสั่ง Settings ของ Windows
  • F10 – ปุ่มล็อคหน้าจอให้กลับไปหน้าล็อคอิน
  • F11 – ปุ่มเรียกโปรแกรมทั้งหมดขึ้นมา เหมือนกด Windows+Tab
  • F12 – เรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข
  • Inset – User Define Key เซ็ตปุ่มลัดได้ตามต้องการ
  • Print Screen – เรียก Snipping Tool ขึ้นมาใช้งาน

DSC09583

ปากกาสไตลัส Lenovo Pen เป็นปากกาพร้อมปุ่มลัด 2 ปุ่ม ติดเอาไว้ใกล้โคนนิ้วโป้ง กดใช้งานได้สะดวก เหมาะใช้เขียนและวาดภาพหรือใช้แทนเมาส์ก็ได้เช่นกัน การ Tracking ปลายปากกาทำได้เร็วและต่อเนื่องดี จะใช้เขียนจดไอเดีย, วาดภาพหรือเซ็นเอกสารก็ใช้ได้สะดวก

ทัชแพดของ Yoga 6 จะมีขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างจนพอดีกับปุ่ม Alt ทั้งสองฝั่งบนคีย์บอร์ด รองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วน แต่เนื่องจากขนาดค่อนข้างใหญ่ สันมือเลยพาดอยู่บนแป้นคีย์บอร์ดอย่างเลี่ยงไม่ได้และไม่มีปุ่มปิดการทำงานทัชแพดอีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับตระกูล Yoga Slim เช่นกัน ดังนั้นผู้เขียนหวังว่าทาง Lenovo จะเพิ่มคีย์ลัดปิดทัชแพดมาให้ในอนาคตด้วย อาจจะ Mapping ปุ่มรวมเอาไว้กับ Ctrl, Alt ฝั่งขวามือก็ได้ 

Connector / Thin & Weight

DSC09557

พอร์ตของ Lenovo Yoga 6 ถูกติดตั้งเอาไว้ด้านข้างเครื่องทั้งสองฝั่งพร้อมปุ่ม Power ฝั่งขวามือ เมื่อเปิดเครื่องแล้วจะมีไฟ LED สีขาวติดขึ้นมาด้วย แต่จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ใช้ Lenovo Yoga Slim 7i Pro มานานร่วมปีแล้ว ถือว่าปุ่ม Power นี้ไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนักและมักกดก็ต่อเมื่อเครื่องรวนจนใช้งานไม่ได้หรือกดเปลี่ยนจากโหมด Hibernate ให้กลับมาพร้อมทำงานอีกครั้ง โดยปกติเมื่อกางหน้าจอ Lenovo Yoga, Yoga Slim จะสั่งบูตเครื่องเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่ฟีเจอร์กางหน้าจอเครื่องติดพร้อมใช้งานก็เป็นดาบสองคม อย่างบางโอกาสผู้เขียนดับเครื่องใส่กระเป๋าขึ้นรถ พอเจอลูกระนาดบางครั้งเครื่องก็ติดขึ้นมาและทำงานเองโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เครื่องร้อนและแบตเตอรี่หมดโดยไม่ตั้งใจ หากใครไม่ต้องการใช้ฟีเจอร์นี้ก็ไปปิดใน BIOS แล้วใช้วิธีกดปุ่มเปิดเครื่องตามปกติก็ได้

พอร์ตของ Lenovo Yoga 6 จะติดตั้งอยู่ด้านข้างเครื่องสองฝั่งซ้ายขวา มีทั้ง USB-A, USB-C ให้ใช้ครบถ้วน โดยมีพอร์ตดังนี้

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB-C 3.2 x 2 ช่อง รองรับ DisplayPort Alt-mode ทั้งคู่ ส่วนช่องซ้ายมือรองรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ด้วย, HDMI, Audio combo
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – MicroSD Card Reader, USB-A 3.2 Gen 1 x 2, ปุ่ม Power

จะเห็นว่าทางบริษัทติดตั้งพอร์ตหลักๆ มาให้ใช้งานครบจนแทบไม่ต้องพึ่ง USB-C Multiport Adapter ก็ได้ ไม่ได้ผลักให้ผู้ใช้พึ่งพา USB-C เสียอย่างเดียวเหมือนบางแบรนด์ แต่ถ้าใครยังต้องต่อ Network ภายในบริษัทผ่าน LAN ก็แนะนำให้หา USB-A to LAN มาเตรียมเอาไว้สักเส้นก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องซื้อ USB-C Multiport Adapter ก็ได้ 

DSC09497

น้ำหนักเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอล เฉพาะเครื่องอย่างเดียวหนัก 1.37 กิโลกรัมตามหน้าสเปค เมื่อรวมอแดปเตอร์กับปากกา Lenovo Pen อีก 290 กรัม จะหนัก 1.67 กิโลกรัมเท่านั้น จัดว่าเบาพกง่ายสบายไหล่แน่นอน จะใส่กระเป๋าเป้หรือกระเป๋าสะพายข้างก็พกพาได้ง่าย ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ก็ใช้ปลั๊ก GaN กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์กับสาย USB-C รับกระแสได้ 100 วัตต์อย่างละชิ้นก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้ Lenovo Yoga 6 ได้แล้ว

Inside & Upgrade

DSC09506

ส่วนภายในเครื่องเมื่อขันน็อตหัว Trox ทั้ง 6 ดอกออกแล้วไล่ขอบด้วยการ์ดแข็ง ก็เริ่มอัพเกรดเครื่องได้ทันที แต่อัพเกรดได้แค่ M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB ตัวหลักจากโรงงานเท่านั้นโดยติดตั้งเป็นไซซ์ M.2 2242 มาให้จากโรงงานแล้วเสริมเพลตเหล็กให้ยาวเท่ากับ M.2 2280 ส่วนแผ่นโลหะสีเงินบนเมนบอร์ดเป็นเพลตหุ้มเม็ดแรมออนบอร์ดทั้งหมด 4 ตัว คาดว่ามีเม็ดละ 4GB ซึ่งเพลตนี้ป้องกันเม็ดแรมได้เป็นอย่างดี

ในมุมของผู้เขียนเองมองว่าถ้าทางบริษัทเน้นประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดมาเป็นออนบอร์ดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดฝามาอัพเกรดแต่อย่างใด ยกเว้นกรณี SSD เสียหายค่อยเปิดออกมาซ่อมก็พอแล้ว ดังนั้นถ้าซื้อ Lenovo Yoga 6 มาก็ใช้แบบเดิมๆ แล้วซื้อ External SSD/HDD มาเซฟและแบ็คอัพงานสำคัญเอาไว้ดีกว่า

Performance & Software

CPU Z 6 16 2022 9 44 45 PM

ซีพียูใน Lenovo Yoga 6 เป็น AMD Ryzen 7 5700U แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 1.8~4.3GHz มาให้ รองรับชุดคำสั่งต่างๆ ที่ต้องใช้งานครบถ้วนและค่า TDP ต่ำมากเพียง 10 วัตต์เท่านั้นและใช้การ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics แบบ 8 คอร์สำหรับเรนเดอร์ภาพและใช้ประมวลผลกราฟฟิคร่วมกับโปรแกรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ถ้าเอาไปใช้กับโปรแกรมประเภท Photoshop ก็ทำงานได้ดีไม่มีปัญหา

อินเตอร์เฟส SSD บนเมนบอร์ดถูกอัพเกรดเป็น PCIe 4.0 x4 แล้ว ทำให้อ่านเขียนข้อมูลใน M.2 NVMe SSD ได้รวดเร็วและถ้าพื้นที่ในเครื่องมีไม่พอใช้งานก็อัพเกรดใส่รุ่นอ่านเขียนเร็วกว่านี้ได้เลย ด้านแรมในเครื่องมีความจุ 16GB DDR4 บัส 4266MHz มีความจุเยอะพอใช้ทำงานได้เป็นอย่างดี เปิดโปรแกรมและเบราเซอร์หลายแท็บพร้อมกันได้ไม่มีปัญหา

device mgr

ด้านพาร์ทในเครื่องเมื่อเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่าทาง Lenovo ติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือของ Goodix, กล้อง IR สำหรับสแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องมาให้ครบเครื่อง มีชิป TPM 2.0 กับ AMD PSP 10.0 มาให้รักษาความปลอดภัยไม่ให้ผู้อื่นเจาะระบบเข้ามาขโมยข้อมูลในเครื่องได้ ส่วน Wi-Fi PCIe Card เป็น Realtek RTL8852BE เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.2 อย่างครบถ้วน

ssd

SSD แบบ M.2 NVMe แบบ OEM ในเครื่องผลิตโดย SK Hynix รุ่น HFM512GD3HX015N มีความจุ 512GB เมื่อทดสอบความเร็วด้วย CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 3,386.30 MB/s และ Sequential Write 2,339.36 MB/s สามารถโหลดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาทำงานได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอนาน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าให้ใช้งานเดิมๆ ไปได้เลยไม่ต้องอัพเกรดและหันไปซื้อ External SSD/HDD เอาไว้เซฟงานหรือแบ็คอัพเครื่องก็ดีเช่นกัน

แต่ถ้าใครต้องเซฟงานเอาไว้ในเครื่องแล้วคิดว่าความจุ 512GB น้อยเกินไปอยากได้ M.2 NVMe SSD ความเร็วสูงและความจุเยอะกว่านี้ แนะนำให้ดู Kingston KC3000, WD Black SN850, Transcend 220s ความจุสัก 1TB จะได้โหลดงาน, โปรแกรมได้รวดเร็วขึ้น

ด้านการเรนเดอร์ 3D CG ต้องถือว่า AMD Ryzen 7 5700U ใน Lenovo Yoga 6 ก็ใช้ทำงานได้ดีระดับหนึ่ง สำหรับ CINEBENCH R15 ได้คะแนนการทดสอบ OpenGL 62.66 fps ส่วน CPU ได้ 1,074 cb สามารถรัน Preview โมเดล 3D ได้ลื่นระดับหนึ่ง และกำลังการเรนเดอร์ของซีพียู AMD ทำได้ 2,588 pts จัดว่าแรงพอใช้ตัดต่อแต่งภาพหรือเอาไปตัด Vlog ก็ยังไหว ดังนั้นถ้าใครเป็นช่างภาพหรือต้องการทำ Vlog สั้นๆ เป็นงานอดิเรกก็ใช้ Yoga 6 ทำงานได้เลย

3dmark 1

หลังจากทดสอบการเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy แล้ว จะเห็นว่า Lenovo Yoga 6 เองก็ไม่ได้โดดเด่นในด้านนี้นักเพราะถูกออกแบบมาเน้นความบางเบาและใช้ทำงานออฟฟิศเป็นหลัก โดยได้คะแนนเฉลี่ยไป 1,238 คะแนน แยกเป็น CPU score 5,108 คะแนนและ Graphics score 1,092 คะแนนเท่านั้น กล่าวคือตัวซีพียูมีประสิทธิภาพสูงพอรันเกมฟอร์มยักษ์ได้แต่การ์ดจอออนบอร์ดไม่ได้เน้นการเล่นเกมนัก ดังนั้นถ้าเล่นเกม 8-bit หรือใช้เล่นเกมมือถือในคอมพิวเตอร์ก็ยังพอเล่นได้บ้าง

pcmark10 2

ส่วนการทดสอบจำลองการทำงานด้วยโปรแกรม PCMark 10 ก็ถือว่า Lenovo Yoga 6 ทำคะแนนได้ดีพอควร สำหรับคะแนนเฉลี่ย 4,805 คะแนนถ้าดูแยกหมวดหมู่จะเห็นว่าด้านการใช้งานทั่วไปในหมวด Essential เช่น ประชุมออนไลน์, เปิดโปรแกรมหรือใช้เว็บเบราเซอร์ก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กับโปรแกรมสาย Microsoft Office อย่างแน่นอน แต่การตัดต่อแต่งภาพก็ถือว่าทำได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้างานของใครต้องแต่งภาพประกอบการนำเสนอก็ใช้ Yoga 6 ทำงานได้เลย

vantagemain

สำหรับโปรแกรมประจำโน๊ตบุ๊ค Lenovo อย่าง Lenovo Vantage ก็รวมการตั้งค่า, Optimize ตัวเครื่อง, อัพเดทเฟิร์มแวร์เอาไว้ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมอนิเตอร์การทำงานของ Yoga 6 ได้แบบ Real-time ทำให้รู้ว่าตอนนี้โน๊ตบุ๊คเหลือแรมเท่าไหร่และมีพื้นที่ใน SSD เอาไว้ติดตั้งโปรแกรมเยอะแค่ไหน ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้เปิดโปรแกรมนี้เช็คเฟิร์มแวร์และอัพเดทไดรเวอร์ของโน๊ตบุ๊คเป็นระยะๆ ด้วย

Battery & Heat & Noise

DSC09508

แบตเตอรี่ใน Lenovo Yoga 6 เป็นแบบลิเธียมไอออน มีขนาดใหญ่กินพื้นที่ถึงครึ่งตัวเครื่องและยาวสุดขอบชิดกับลำโพงทั้ง 2 ด้าน มีความจุแยกเป็น Typical Capacity 3,815mAh วัดได้ 59Wh และ Rated Capacity 3,705mAh วัดได้ 57.5Wh จัดว่าไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ พอให้เจ้าของเครื่องใช้ทำงานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง

battmon

ส่วนผลการทดสอบตามมาตรฐานของเว็บไซต์โดยปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด, ลดความสว่างหน้าจอลงต่ำสุด, เปิดเสียงลำโพง 10% ใช้โหมดประหยัดพลังงาน ดู YouTube ด้วย Microsoft Edge นาน 30 นาที จะเห็นว่าแบตเตอรี่ 59Wh ในเครื่องจะใช้งานได้นานสุด 5 ชั่วโมง 39 นาทีเท่านั้น จัดว่าน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ราว 3-4 ชั่วโมง เพราะโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายรุ่นในปัจจุบันนี้จะใช้งานได้ราว 9~10 ชั่วโมงขึ้นไปอยู่แล้ว คาดว่าต้องรอทาง Lenovo อัพเดท BIOS ให้จัดการพลังงงานได้ดีกว่านี้ ส่วนผู้ใช้คนไหนซื้อไปก่อนแนะนำให้พกแบตเตอรี่สำรองหรือหาปลั๊ก GaN กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์เตรียมเอาไว้ใช้งานด้วย

DSC09507

ระบบระบายความร้อนของ Lenovo Yoga 6 จัดว่าเรียบง่ายมาก เพราะใช้ฮีตไปป์เส้นเดียวขนาดค่อนข้างใหญ่เดินจากซีพียูไปติดฮีตซิ้งค์แล้วเป่าออกด้วยพัดลมโบลวเวอร์ด้านหลังเครื่องได้เลย เวลาใช้งานตามปกติจะไม่ได้ยินเสียงพัดลมเลยหรือได้ยินเบามากๆ ยกเว้นตอนแต่งภาพหรือใช้โปรแกรมขนาดใหญ่จะมีเสียงพัดลมดังขึ้นมาเล็กน้อย ไม่ได้รบกวนสมาธิตอนทำงานแต่อย่างใด

CPUID HWMonitor 6 16 2022 10 48 53 PM

แม้ระบบระบายความร้อนของ Lenovo Yoga 6 จะเรียบง่ายและมีฮีตไปป์เพียงเส้นเดียว ก็จัดการอุณหภูมิในตัวเครื่องได้อยู่หมัด แม้จะรันโปรแกรม Benchmark เพื่อรีดอุณหภูมิสูงสุดออกมาแล้วก็ตาม อุณหภูมิในเครื่องยังอยู่ในช่วง 53.5~91.9 องศา เฉลี่ย 71.4 องศาเซลเซียสเท่านั้น ต้องถือว่าทางบริษัททำระบบระบายความร้อนและจัดการพลังงานได้ดีมาก

User Experience

DSC09562

เชื่อว่าผู้ใช้หลายคนน่าจะไม่อยากพกโน๊ตบุ๊คกับแท็บเล็ตไปพร้อมกัน แต่ก็เลี่ยงอุปกรณ์ทั้งสองแบบไม่ได้เพราะแต่ละอุปกรณ์ก็ต้องใช้ทำงานคนละแบบกัน แต่สำหรับ Lenovo Yoga 6 ที่เป็นทั้งโน๊ตบุ๊คและพับจอเป็นแท็บเล็ตได้ในตัวก็แทนทั้งสองตำแหน่งได้หมด ไม่ว่าจะพิมพ์งานแบบโน๊ตบุ๊คตามปกติหรือจะใช้ปากกาวาด, เขียนหรือทำมาร์กกิ้งลงในเอกสารก็ง่าย จบในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวเลย

ด้านการพกพาก็สะดวก ใส่กระเป๋าสะพายข้างติดตัวไปไหนมาไหนได้เลยไม่หนักเกินไป เพราะตัวเครื่องอย่างเดียวรวมปากกาแล้วก็เบาเพียง 1.3 กิโลกรัมเท่านั้น ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ เครื่องในท้องตลาด ณ ตอนนี้ ยิ่งถ้าใครต้องพกโน๊ตบุ๊คไปทำธุระนอกออฟฟิศเป็นประจำ เช่น เป็นเซลส์, AE หรือแม้แต่นายหน้ากรมธรรม์น่าจะถูกใจอย่างแน่นอน

กล่าวถึงดีไซน์ เมื่อตัวเครื่องทำจากวัสดุรีไซเคิลรักษ์โลกและหุ้มฝาหลังด้วยผ้ายีนส์ก็ยังได้ความแข็งแรงทนทานเหมือนกับโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันแล้ว ยังได้ความสวยงามไม่เหมือนใคร เวลาหยิบออกมาใช้งานก็ได้ความสวยงามเสริมบุคลิคของผู้ใช้ก็ยังมีสไตล์เป็นของตัวเองไม่เหมือนใครและมองเผินๆ ก็ดูคล้ายสมุดโน๊ตระดับพรีเมี่ยมสักเล่มก็ไม่ผิด เชื่อว่าผู้ใช้ที่อยากได้โน๊ตบุ๊คแต่ขอดีไซน์ไม่เหมือนใครน่าจะชอบอย่างแน่นอน

ส่วนของพอร์ตการเชื่อมต่อก็ได้ครบเครื่อง ไม่ว่าจะ USB-C x 2 ช่อง รองรับ DisplayPort Alt-mode ทั้งคู่และรองรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ ก็ยังให้ HDMI กับ USB-A 3.2 มาอีก 2 ช่องพร้อมกับ MicroSD Card Reader ด้วย ช่วยให้เจ้าของเครื่องไม่ต้องหา USB-C Multiport Adapter มาต่อเพิ่มให้ลำบากเหมือนโน๊ตบุ๊คบางรุ่นที่ให้มาแต่ Thunderbolt อย่างเดียวถึง 2 ช่อง ไม่มีพอร์ตจำเป็นใช้ติดมาให้เลย ในส่วนนี้ถือว่าทาง Lenovo ใส่ใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

แต่สิ่งเดียวที่คาดหวังและต้องรอทางบริษัทจัดการด้วย คือ ระบบการจัดการพลังงานของ Lenovo Yoga 6 ซึ่งอยู่ได้ร่วม 6 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่ออิงกับความจุแบตเตอรี่ 59Wh แล้ว ควรใช้งานได้ราว 9~10 ชม. ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าเกิดจากชุดคำสั่งจัดการพลังงานของตัวเครื่อง ก็จำเป็นต้องรอ Lenovo ปรับแต่งเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นใหม่แล้วปล่อยให้เจ้าของเครื่องอัพเดทในอนาคตต่อไป ดังนั้นตอนนี้ผู้เขียนแนะนำให้พกปลั๊ก GaN กับสาย USB-C สักเส้นติดกระเป๋าเอาไว้ เผื่อกรณีต้องประชุมงานนานหลายชั่วโมงแล้วแบตเตอรี่จะหมด ก็ชาร์จคืนได้ทันท่วงทีนั่นเอง

Conclusion & Award

DSC09565

โดยรวมถ้าไม่ติดใจกับเรื่องแบตเตอรี่ใช้งานได้ร่วม 6 ชั่วโมงแล้ว Lenovo Yoga 6 เป็นโน๊ตบุ๊คน่าใช้รุ่นหนึ่งจากทาง Lenovo ได้ดีไซน์สวยไม่เหมือนใครด้วยฝาหลังผ้ายีนส์และบอดี้วัสดุรีไซเคิล ให้พอร์ตมาครบเครื่องและใช้ซีพียู AMD Ryzen 7 5700U ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานหนักได้สบายๆ แน่นอน

ด้านหน้าจอทัชสกรีนและปากกาสไตลัส Lenovo Pen ก็ใช้เขียนได้ลื่นไหล เอาไว้เขียนจดเนื้อหาใดๆ ได้ทันทีไม่ต้องต่ออุปกรณ์เสริมอย่างเมาส์ปากกาเลย ดังนั้นมันจึงใช้งานสะดวกตอบโจทย์ผู้ใช้หลากหลายกลุ่มแน่นอน และยังปลอดภัย เพราะมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและกล้องสแกนใบหน้าติดตั้งมาให้ครบถ้วน ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้วุ่นวายเหมือนในอดีตอีกต่อไป จัดว่าฟีเจอร์ประจำเครื่องนั้นครบเครื่องมาก

ข้อดีอีกอย่าง คือ เมื่อเป็นโน๊ตบุ๊คหน้าจอทัชพับกลับ 360 องศาเป็นแท็บเล็ตได้ ก็ไม่ต้องพกแท็บเล็ตคู่กับโน๊ตบุ๊คไปไหนมาไหนก็ได้ ซึ่งสะดวกสบายไหล่ไม่ต้องกังวลคอยห่วงว่าในกระเป๋ามีอุปกรณ์หลายชิ้นแล้วของจะหาย มีแค่ชิ้นเดียวครอบคลุมการใช้งานทั้งสองแบบไปเลยดีกว่าแน่นอน และราคาเครื่องก็สมเหตุผล เพียง 34,990 บาทก็ซื้อมาใช้งานได้แล้ว

award

NBS award 7 Design

best design

Lenovo Yoga 6 ยังคงเอกลักษณ์โน๊ตบุ๊คพับจอกลับได้ 360 องศาเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือฝาหลังผ้ายีนส์หุ้มเข้ามาถึงกรอบหน้าจอ ดูสวยมีสไตล์แตกต่างจากเครื่องอื่นในท้องตลาด ถ้าใครหาเครื่องดีทั้งสเปคและดีไซน์แตกต่าง เครื่องนี้จัดว่าน่าสนใจมาก

NBS award 4 Mobility

best mobility

ประสบการณ์การพก Lenovo Yoga 6 ไปไหนมาไหนก็ทำได้ยอดเยี่ยมแทนได้ทั้งโน๊ตบุ๊คและแท็บเล็ต มีปากกาให้ใช้งาน เครื่องเบาไม่หนักไหล่และได้เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือและใบหน้ามาครบเครื่อง เหมาะจะติดกระเป๋าไปทำงานตามร้านกาแฟหรือพบลูกค้าเป็นอย่างมาก ไม่ต้องกังวลว่าใครจะขโมยใช้เครื่องได้ง่ายๆ เหมือนโน๊ตบุ๊คทั่วไป

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

5 โน๊ตบุ๊ค AMD ดูหนัง เล่นเกม ทำงานจอใหญ่ การ์ดจอแยก แบตอึดน่าใช้ในงบ 25000 5 โน๊ตบุ๊ค AMD จอใหญ่ การ์ดจอแยกไม่เกิน 25000 สำหรับคอเกมในช่วงปลายปีแบบนี้ มีตัวเลือกค่อนข้างเยอะทีเดียว แต่สำหรับคนที่ต้องการคุมงบให้อยู่ในระดับ 20000-25000 บาทนี้ ถ้ายังไม่มีไอเดียหรือตัวเลือกที่อยู่ในใจ วันนี้เรานำมาเป็นแนวทางให้เลือก 5 รุ่นด้วยกัน...

รีวิว MSI

MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในบอดี้เรียบหรูมีพลังของ AMD Ryzen AI ซ่อนอยู่ แรงทรงพลังลุยได้ทุกงาน! ถ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้ง ก็จะไม่อยากลดระดับลงไปใช้ของรองลงไปง่ายๆ เพราะได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไร อย่าง MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของคำพูดนี้และทางบริษัทก็ยังใส่ใจคุณภาพงานประกอบและรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามไม่แพ้รุ่นก่อน ทั้งบอดี้อลูมิเนียมสีเงินและโลโก้อลูมิเนียมแสนเรียบง่ายแต่ดึงดูดสายตา แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ดูได้ไม่เบื่อ ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเอาไว้ได้พอเหมาะพอดีและสอดลูกเล่นเก่าผสมใหม่มาได้พอเหมาะพอดี...

CONTENT

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS...

รีวิว MSI

MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คจอใหญ่ รู้ใจคนทำงาน กาง 180 องศา Intel Core Ultra ราคาเบา เพื่อคนทำงานมีไลฟ์สไตล์ MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คทำงานจอใหญ่ ที่มาพร้อมกับขุมพลัง...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก