Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Notebook Others

รีวิว RedmiBook 15 โน๊ตบุ๊คสายทำงานสเปคดีน่าใช้ พกง่าย แบตทนอยู่ได้ทั้งวัน!

RedmiBook 15 โน๊ตบุ๊คสายทำงานน่าใช้จาก Xiaomi ผู้ผลิตสินค้าไอทีร้อยแปด!

remibook15 cover

ผู้ใช้ที่เห็นชื่อ Redmi ซึ่งเป็นอนุกรมย่อยของ Xiaomi เช่น RedmiBook 15 เครื่องนี้เมื่อไหร่ ก็ยังได้ความคุ้มค่าเหมือนเดิมด้วยสเปคที่ทางผู้ผลิตจัดสรรมาให้เป็น Intel Tiger Lake-U ซึ่งเป็นซีพียูกำลังประมวลผลสูง ทำให้เจ้าของโน๊ตบุ๊คสามารถรันงานหนักๆ เช่น งานตัดต่อแต่งภาพหลายเลเยอร์หรือจะเปิดเครื่องทำงานหลายๆ โปรแกรมพร้อมกันได้อย่างไม่มีปัญหา รวมทั้งให้พอร์ตมาค่อนข้างครบเครื่องไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมมาก ไม่ว่าจะ SD Card Reader, USB-A 3.0 และ HDMI 1.4 สำหรับต่อหน้าจอแยกหรือโปรเจคเตอร์เพื่อพรีเซนต์งานได้สบายๆ ทำให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เหมาะกับผู้ใช้หลากหลายกลุ่มตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ไปจนเด็กจบใหม่เพิ่งได้งานเป็นที่แรกและหาโน๊ตบุ๊คทำงานสเปคดีๆ เอาไว้สร้างเนื้อสร้างตัวสักเครื่อง พอทาง Xiaomi Redmi ทำโน๊ตบุ๊คออกมาขายก็ยังเอาเอกลักษณ์เรื่องความคุ้มค่าจากสมาร์ทโฟนในแบรนด์มาใช้กับโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ของทางค่ายอีกด้วย เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คแบรนด์ทางเลือกที่เด่นและน่าสนใจไม่แพ้กับแบรนด์เจ้าตลาดเลย และยังเทียบรุ่นกับโน๊ตบุ๊คจากแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเจ้าต่างๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรีทีเดียว

Advertisement

RedmiBook 15

NBS Verdict

Redmibook 15 DSC08911

RedmiBook 15 ถือเป็นโน๊ตบุ๊คอีกรุ่นจาก Xiaomi ซึ่งโด่งดังในตลาดสมาร์ทโฟนแล้วเปิดไลน์สินค้าเช่นโน๊ตบุ๊คมาให้เลือกซื้อไปใช้งานด้วย ซึ่งในแง่สเปคถือว่าคุ้มค่าน่าสนใจไม่แพ้รุ่นอื่นที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้เลย ยิ่งถ้าใครต้องรันโปรแกรมใหญ่ๆ พร้อมกันหลายโปรแกรมล่ะก็ ซีพียู Intel Tiger Lake-U รหัส i5-11300H ก็ยิ่งตอบโจทย์ เพราะประสิทธิภาพของมันสามารถรันโปรแกรมใหญ่ๆ ได้โดยไม่มีปัญหาและทำงานได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ด้านการพกพา ต้องถือว่า RedmiBook 15 มีน้ำหนักเบาพกพาสะดวก แม้ตัวเครื่องจะมีขนาด 15.6 นิ้ว แต่ตัวเครื่องก็บางและหนักเพียง 1.8 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้จะหนักราว 2 กิโลกรัมขึ้นไป จึงกลายเป็นโน๊ตบุ๊คพกพาง่าย นักเรียนนักศึกษาพกสะดวก ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ก็ดี พกเครื่องไปทำรายงานในห้องสมุดหรือจะเอาไปเข้าชั้นเรียนเลคเชอร์ก็ใช้งานต่อเนื่องได้นานเกิน 10 ชั่วโมงอย่างแน่นอน ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลว่าต้องพกอแดปเตอร์ติดไปไหนมาไหนเสมอก็ได้

แต่กลับกัน สิ่งที่ RedmiBook 15 ควรทำ คือ ควรใส่ช่องแรม SO-DIMM มาให้เหมือนเดิม ไม่ควรถอดออกจนเหลือแต่ลายวงจรเช่นนี้ เพราะนอกจากผู้ใช้อัพเกรดเครื่องเองไม่ได้, เหลือพื้นที่ว่างบนเมนบอร์ดอย่างน่าเสียดาย ยังเสียแต้มต่อเมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นที่ให้มาแต่แรมออนบอร์ดอย่างเดียวอีกด้วย และยิ่งเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาที่เปิดตัวในปี 2022 นี้แล้ว ควรใส่พอร์ต USB-C ที่รองรับ Thunderbolt 3 หรือ 4 มาสักช่องเพื่อให้ใช้โอนไฟล์เข้าออกเครื่อง, ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ในพอร์ตเดียว ช่วยลดปริมาณขยะอีเล็กทรอนิกส์ได้ไม่พอยังเอาอแดปเตอร์ของสมาร์ทโฟนในเครือที่กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์มาชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้อีกด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าทาง Redmi จะนำข้อสังเกตดังกล่าวไปปรับแต่งในรุ่นย่อยหรือโมเดลใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

ข้อดีของ RedmiBook 15
  1. ใช้ซีพียู Intel Core i5-11300H สถาปัตยกรรม Tiger Lake-U มาให้ ประสิทธิภาพและการจัดการพลังงานดี
  2. งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรง มีคุณภาพดีไม่แพ้โน๊ตบุ๊คจากแบรนด์เจ้าตลาด
  3. ตัวเครื่อง 15.6 นิ้ว น้ำหนักเบาเพียง 1.8 กิโลกรัม พกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก
  4. ให้พอร์ตที่จำเป็นต้องใช้งานมาครบทั้ง USB-A 3.0, HDMI 1.4 และ LAN ด้วย
  5. มี SD Card Reader ใช้ถ่ายโอนไฟล์ภาพและวิดีโอได้สะดวกไม่ต้องผ่านตัวแปลง
  6. ติดตั้ง M.2 NVMe SSD พร้อม Windows 11 Home มาให้ พร้อมใช้งานทันที
  7. ใช้งานต่อเนื่องได้นานเกิน 10 ชั่วโมง ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ติดตัวตลอดก็ได้
  8. ดีไซน์คีย์บอร์ดใช้งานได้ดี เน้นปุ่มที่ใช้งานบ่อยให้ยาว กดใช้งานสะดวก
  9. หน้าจอ 15.6 นิ้ว มีฟีเจอร์ DC Dimming ลดอาการจอกระพริบเวลาใช้งานในที่แสงน้อย
ข้อสังเกตของ RedmiBook 15
  1. ไม่มีพอร์ต USB-C แบบรองรับ Thunderbolt ติดตั้งมาให้ ควรมีให้ใช้อย่างน้อย 1 พอร์ต
  2. เพิ่มแรม SO-DIMM ในเครื่องไม่ได้เพราะผู้ผลิตจงใจถอดอินเตอร์เฟสติดตั้งแรมออกไป
  3. ไม่มีไฟ LED Backlit ที่คีย์บอร์ด ถ้าใช้งานในที่แสงน้อยต้องอาศัยการพิมพ์สัมผัสแทน

รีวิว RedmiBook 15

Specification

redmi

RedmiBook 15 โน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่จากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังเช่น Xiaomi ออกแบบให้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่แต่ไม่หนักมาก เลือกสเปคได้ 2 แบบด้วยกัน ทั้ง Intel Core i3-1115G4 และ i5-11300H ซึ่งรายละเอียดสเปคส่วนอื่นๆ จะแชร์กันแทบทั้งหมดโดยมีรายละเอียดดังนี้

  • CPU แยกเป็น 2 รุ่นย่อย
  • GPU แยกตามรุ่นซีพียู
    • Intel Core i3-1115G4 เป็น Intel UHD Graphics
    • Intel Core i5-11300H เป็น Intel Iris Xe Graphics
  • SSD : แบบ M.2 NVMe แยกตามรุ่นซีพียู
    • Intel Core i3-1115G4 ความจุ 256GB
    • Intel Core i5-11300H ความจุ 512GB
  • RAM : 8GB DDR4 บัส 3200MHz
  • Display : 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS มี DC Dimming 
  • Ports : USB-A 3.2 Gen 1 x 2, USB 2.0 x 1, HDMI 1.4 x 1, LAN x 1, SD Card Reader x 1, Audio Combo x 1
  • Wireless : Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac รองรับ Bluetooth 5.0
  • Webcam : 720p HD Camera
  • Software : Windows 11 Home
  • Weight : 1.8 กิโลกรัม

Hardware & Design

Redmibook 15 DSC08896

ดีไซน์ของ RedmiBook 15 จะเน้นความเรียบง่าย ใช้สีบอดี้ตัวเครื่องเป็นสีเทาดำควันบุหรี่ให้ความสวยเรียบหรูดูดี ไม่โดดเด่นเกินไป โดยตัวเครื่องมีขนาด 15.6 นิ้ว ติดสติกเกอร์ Intel แจ้งรุ่นซีพียูและการ์ดจอออนบอร์ดเอาไว้ตรงมุมล่างขวาของที่วางข้อมือฝั่งขวาจุดเดียว ทำให้สติกเกอร์ไม่รกเกินไป มีช่องระบายความร้อนถูกซ่อนเอาไว้ขอบบนของตัวเครื่องติดกับก้านบานพับจอ ทำให้ช่องระบายความร้อนไม่ประเจิดประเจ้อได้ความสวยงามเรียบร้อยไปในตัว ขอบล่างตัวเครื่องใต้ทัชแพดถูกตัดขอบเฉียงเพื่อให้ใช้นิ้วเปิดหน้าจอได้สะดวก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อลองใช้มือข้างเดียวเปิดหน้าจอจะสามารถกางได้ราว 50 องศาแล้วบอดี้ตัวเครื่องจะยกตามมา แนะนำให้ใช้สองมือช่วยกันจับเครื่องแล้วเปิดหน้าจอจะดีกว่า

Redmibook 15 DSC08868

การใช้ก้านบานพับหน้าจอแบบยึดปลายสองฝั่งไว้ริมด้านในเครื่อง ทำให้ RedmiBook 15 กางหน้าจอได้กว้างราว 120 องศา สามารถกางจอให้เข้ากับองศาและมุมสายตาของผู้ใช้ได้สะดวกไม่ว่าจะวางทำงานบนโต๊ะตามปกติในออฟฟิศ, ห้องเลคเชอร์หรือบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ดี ทำงานสะดวกอย่างแน่นอน

Redmibook 15 DSC08859

ตัวก้านบานพับหน้าจอเมื่อเปิดดูในเครื่อง จะเห็นว่าเป็นเหล็กก้านเส้นเดียวเดินแนวยาวตรงส่วนขอบล่างของหน้าจอและยึดฐานเอาไว้สองฝั่งด้านในเครื่อง ส่วนความแข็งแรงถือว่าไว้ใจได้ แต่ยังมีข้อจำกัดเพราะกดให้ราบ 180 องศาติดพื้นโต๊ะไม่ได้ แต่จากที่ทดลองใช้งานมาก่อนหน้านี้ก็ถือว่ากว้างพอใช้งานทั่วไปแล้ว

ฝาหลังของ RedmiBook 15 จะออกแบบให้เรียบง่าย ใช้สีเทาควันบุหรี่เหมือนตัวเครื่องและไม่มีลวดลายอะไรตกแต่งเป็นพิเศษ เพื่อให้ดีไซน์ตัวเครื่องดูเรียบง่ายและได้ความหรูหรา อย่างมากมีเพลตชื่อ Redmi ทำจากอลูมิเนียมพร้อมยิงเลเซอร์ใส่คำขวัญ “Power Your Creativity” เอาไว้เท่านั้น ช่วยยกระดับการดีไซน์ให้ได้ความเรียบหรู เหมาะกับการใช้งานทั่วไปเป็นอย่างมาก

Redmibook 15 DSC08846

ด้านใต้ตัวเครื่องนอกจากยางรองแท่นเครื่อง 4 มุมเพื่อยกบอดี้ไม่ให้ถูกพื้นโต๊ะโดยตรง จะมีช่องระบายความร้อนเป็นแผงแนวยาว 2 แถวสำหรับนำอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อนในเครื่องกับช่องลำโพง 2W x 2 ช่องติดเอาไว้ฝั่งซ้ายและขวาเท่านั้น และเป็นลำโพงแบบ DTS Audio ด้วย ช่วยให้ฟังเสียงพูดตอนประชุมหรือเรียนออนไลน์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Screen & Speaker

Redmibook 15 DSC08886

หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS เป็นหน้าจอดีไซน์ขอบซ้ายและขวาของตัวเครื่องบางลงเพื่อให้พื้นที่แสดงผลเยอะยิ่งขึ้น ติดกล้อง Webcam ความละเอียด 720p HD เอาไว้ขอบบนของตัวเครื่องพร้อมช่องไมค์อีก 2 ช่องสำหรับใช้ประชุมออนไลน์ได้ ส่วนขอบล่างของหน้าจอตรงสกรีนคำว่า Redmi เอาไว้กลางจอพอดีเหมือนกับโน๊ตบุ๊คแบรนด์ชั้นนำหลายๆ รุ่น ส่วนฟีเจอร์เด่นของจอ RedmiBook 15 เป็น DC Dimming ช่วยลดอาการกระพริบหน้าจอเวลาใช้งานในที่แสงน้อย จะนั่งเรียนหรือดูหนังฟังเพลงลดอาการปวดตาไปได้มาก

Redmibook 15 DSC08895

แต่จากที่ทดลองใช้งานจริงแล้ว พาเนล IPS ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ยังไม่ค่อยน่าประทับใจ เพราะนอกจากจะสว่างเกินไปจนทำสีบนหน้าจอชืดลงอย่างเห็นได้ชัด ยังออกอาการแสงขาวลอดจากขอบหน้าจออยู่บ้าง เมื่อพับหน้าจอลงจะยิ่งเห็นชัดว่าสีของวอลเปเปอร์บนเดสก์ท็อปจะชืดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นก็พอสรุปได้ว่าพาเนล IPS ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นเกรดกลางๆ พอใช้งานได้เท่านั้น

พอจัดการ Calibrate หน้าจอโดย Calibrite ด้วยโปรแกรม DisplayCal 3 แล้ว จะเห็นว่าพาเนล IPS ของ RedmiBook 15 มีขอบเขตสีกว้างระดับเทียบเท่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้เท่านั้น โดยได้ Gamut coverage 53.3% sRGB, 36.9% AdobeRGB, 38% DCI-P3 ส่วน Gamut volume อยู่ไล่เลี่ยกันที่ 53.6% sRGB, 36.9% AdobeRGB และ 38% DCI-P3 เทียบค่าความเที่ยงตรงสีสันบนหน้าจอ หรือ Delta-E จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.16~5.5 ซึ่งถือว่าสูงเกิน 2 ไปมาก ถ้าเอามาแต่งภาพเพื่อทำงานอาร์ตหรือแต่งภาพถ่ายจากกล้องแบบใช้ขายงานจริงจะไม่เหมาสมนักยกเว้นแต่งภาพอัพโหลดโซเชียลเน็ตเวิร์คยังพอทำเนา ถ้าจำเป็นแนะนำให้ต่อหน้าจอแยกจะดีกว่า ส่วนความสว่างหน้าจอสูงสุดวัดได้ 282.09 cd/m2 จัดว่าสว่างพอใช้ทำงานในห้องอาคารออฟฟิศหรือนั่งชานร้านกาแฟก็สว่างพอสู้แสงแดดได้อย่างแน่นอน

ลำโพงของ RedmiBook 15 จะเป็นลำโพง 2 วัตต์ จำนวน 2 ตัว เป็นลำโพง DTS Audio ติดตั้งเอาไว้มุมฝั่งซ้ายและขวาของตัวเครื่อง โดยทางผู้ผลิตเน้นออกแบบมาให้ใช้เพื่อใช้งานทั่วไปเพื่อการประชุมเป็นหลักและใช้ดูสื่อประกอบการทำงาน ซึ่งเนื้อเสียงของผู้พูดจะดังฟังชัดดี แต่กลับกันเมื่อเอาไปฟังเพลงแล้ว เสียงนักร้องนำและเครื่องดนตรีจะได้ยินชัดดีแต่เสียงเบสและมิติเสียงเรียกว่าไม่โดดเด่น เสียงออกแห้งและบางเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าจะฟังเพลงให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้นแนะนำให้ต่อหูฟังหรือลำโพงแยกไปเลยจะดีกว่า

Keyboard & Touchpad

Redmibook 15 DSC08874

คีย์บอร์ดของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จะเป็นขนาด Tenkeyless ไม่มี Numpad ติดตั้งมาให้เหมือนโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ แต่ก็ทำให้แต่ละปุ่มบนคีย์บอร์ดเป็นไซซ์ใหญ่ขนาดมาตรฐานทั้งหมดจนชุดปุ่มทั้งหมดบนคีย์บอร์ดเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีปุ่มที่เลยลงมากินพื้นที่ของที่วางข้อมือ สามารถกดใช้งานได้ง่าย ส่วนปุ่มแถว F1-F12 ด้านบนสุดให้เป็นปุ่มเล็ก เวลาพิมพ์งานจริงระยะกดปุ่ม (Key Travel) ระยะ 1.5 มม. ถือว่ากดได้ดี ตอบสนองทันใจและโอกาสกดปุ่มผิดน้อยลง คาดว่าเพราะขนาดตัวปุ่มที่ใหญ่เสมอกันทั้งหมดนั่นเอง

ฝั่งขวามือถัดจากแนวปุ่ม Enter จะเป็นปุ่ม Power และ Funtion Key ใช้งานประจำอย่าง Home, End, Page Up, Page Down ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานครบถ้วนอีกด้วย และจุดสังเกตคือ ทาง Redmi ออกแบบให้ปุ่ม Esc, Delete ยาวเป็นพิเศษ ช่วยให้ผู้ใช้กดปุ่มพลาดน้อยลง และจากการใช้งานจริงก็กดได้สะดวกขึ้นอย่างรู้สึกได้ และปุ่ม Esc ก็มีฟังก์ชั่น Fn Lock ติดตั้งมาให้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดน่าสังเกตของคีย์บอร์ด RedmiBook 15 คือ ไม่มีไฟ LED Backlit ติดมาให้ จึงใช้งานในที่แสงน้อยได้ลำบากขึ้นและต้องพึ่งการพิมพ์สัมผัสแทน ในส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่าทาง Xiaomi ควรใส่ฟีเจอร์นี้มาให้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ที่ยังพิมพ์งานไม่ถนัดสามารถพิมพ์งานได้สะดวกอีกสักนิด

Redmibook 15 DSC08880

สำหรับบรรทัด F1-F12 จะรวม Function Hotkey สำหรับตั้งค่าตัวเครื่องเอาไว้ให้ใช้งาน ซึ่งทาง Redmi ได้ Mapping ปุ่มมาค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว โดยมีคีย์ลัดดังนี้

  • F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
  • F4-F5 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F6 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
  • F7 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool
  • F8 – Windows Aero Mode เรียกหน้าต่างโปรแกรมทั้งหมดขึ้นมาโชว์ Preview
  • F9 – ปิด/เปิด Touchpad
  • F10 – Airplane Mode
  • F11 – Print Screen
  • F12 – Insert

จะเห็นว่าคีย์ลัดของ RedmiBook 15 ติดตั้งมาให้ค่อนข้างครบถ้วน แต่จุดสังเกต คือ เมื่อทำปุ่ม Esc, Delete ให้ยาวกว่าปกติเป็นพิเศษ ทำให้พื้นที่ติดตั้งปุ่มหายไปราว 1 ปุ่มด้วยกัน ซึ่งปุ่มนั้นอาจจะเอา Print Screen มารวมกับคำสั่ง Snipping Tool หรือเซ็ตเพิ่มคำสั่งอื่นเข้ามาก็ได้ ซึ่งผู้เขียนคาดหวังว่าหากทาง Redmi จะเปิดตัวรุ่นย่อยหรือโมเดลใหม่มาในอนาคต จะปรับแต่งส่วนของคีย์ลัดให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ด้านทัชแพดของ RedmiBook 15 จะเป็นทัชแพดขนาดใหญ่ดีไซน์ซ่อนปุ่มคลิกซ้ายและขวาไว้ใต้ตัวทัชแพด ใช้แรงกดน้อย รองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วน สามารถใช้ 2-3 นิ้วลากเปลี่ยนคำสั่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและตอบสนองได้รวดเร็ว แต่ตอนใช้งานจริงสันมือจะพาดลงขอบทัชแพดพอดี และมีอาการทัชแพดลั่นเล็กน้อย ดังนั้นถ้าใครใช้งานไม่สะดวกแนะนำให้ต่อเมาส์แยกจะดีกว่า

Connector / Thin & Weight

พอร์ตเชื่อมต่อที่ทาง Xiaomi ติดตั้งให้ RedmiBook จะอยู่ขอบด้านข้างตัวเครื่องทั้งสองฝั่งและมีพอร์ตค่อนข้างครบเครื่องโดยมีพอร์ตดังนี้

  • พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – ช่องอแดปเตอร์, USBA 3.2 Gen 1, HDMI 1.4, USB-A 3.2 Gen 1
  • พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Audio Combo, SD Card Reader, USB 2.0, LAN, Kensington Port
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac รองรับ Bluetooth 5.0

ด้านของพอร์ตต้องถือว่าทาง Xiaomi ติดตั้งพอร์ตใช้งานหลักๆ มาค่อนข้างครบถ้วนทีเดียว แต่สังเกตว่าไม่มีพอร์ต USB-C ซึ่งแบรนด์คู่แข่งจะติดตั้งแบบรองรับการต่อหน้าจอแยกได้และบางรุ่นก็รองรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ด้วย ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าเป็นพอร์ตจำเป็นและควรมีติดให้กับโน๊ตบุ๊คที่เปิดตัวในช่วงปี 2022 นี้เป็นมาตรฐานแล้ว ซึ่งอาจจะเอามาใส่แทนช่องอแดปเตอร์ไปเลยก็ได้

Redmibook 15 DSC08842

น้ำหนักของตัวเครื่องอย่างเดียวเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลจะหนัก 1.77 กิโลกรัม เมื่อรวมกับอแดปเตอร์น้ำหนัก 365 กรัม จะอยู่ที่ 2.14 กิโลกรัม ซึ่งในฐานะโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วแล้ว ถือว่าค่อนข้างเบา พกพาสะดวกใช้ได้ แม้จะรวมกับอแดปเตอร์ก็ยังอยู่ช่วง 2 กิโลกรัมต้นๆ เท่านั้น จะใส่กระเป๋าเป้หรือสะพายข้างก็ไม่หนักเกินไปจนลำบากไหล่แน่นอน

ส่วนตัวผู้เขียนเสนอว่าหากทาง Xiaomi เปิดตัว RedmiBook รุ่นใหม่ ก็คาดหวังว่าทางบริษัทจะพิจารณาใส่ USB-C Full Function มาแทน จะได้ใช้ปลั๊กชาร์จไวของสมาร์ทโฟนในเครือแทนอแดปเตอร์แบบดั้งเดิมได้ ช่วยลดปริมาณอุปกรณ์ในกระเป๋าของผู้ใช้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนเรื่องอแดปเตอร์ได้ด้วย

Inside & Upgrade

Redmibook 15 DSC08855

หากต้องการอัพเกรด RedmiBook 15 สามารถขันน็อตเกลียวหัวแฉกทั้ง 9 ตัวด้านใต้เครื่องแล้วเอาการ์ดแข็งไล่กรอบรอบตัวเครื่องเปิดฝาได้เลย แต่เมื่อดูที่เมนบอร์ดจะเห็นว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้อัพเกรดได้แต่ M.2 NVMe SSD ตัวที่ติดมากับเครื่องเท่านั้นและไม่มีช่องใส่ M.2 NVMe SSD เสริมอีกช่องเลย

ยิ่งไปกว่านั้น ด้านข้างของ SSD จะมีลายวงจรของช่องแรมว่างอยู่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าถ้า Xiaomi ให้ช่องแรม SO-DIMM มาคู่กับแรมออนบอร์ดล่ะก็ มันจะเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าโน๊ตบุ๊คจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นๆ อย่างแน่นอน แต่พอถอดออกแล้วใช้แต่แรมออนบอร์ดอย่างเดียวก็ขาดจุดแข็งที่เป็นแต้มต่อไปอย่างน่าเสียดาย

Performance & Software

cpu 5

ซีพียูของ RedmiBook 15 ทั้งสองรุ่นจะแตกต่างกัน โดยรุ่นสูงสุดในรีวิวนี้ติดตั้ง Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4GHz มาให้ มีค่า TDP 35 วัตต์ เป็นสถาปัตยกรรม Tiger Lake-U ซึ่งรันโปรแกรมกินทรัพยากรตัวเครื่องหนักได้เป็นอย่างดีแล้วยังจัดการพลังงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว

เมนบอร์ดของ RedmiBook เครื่องนี้จะผลิตโดย TIMI รองรับอินเตอร์เฟสแบบ PCIe 3.0 และมีแรมติดตั้งมาใาห้แบบออนบอร์ด ความจุ 8GB DDR4 บัส 3200MHz ซึ่งถ้าใช้ทำงานเอกสารและเรียนออนไลน์ทั่วไป ต้องถือว่าใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นนักบัญชีที่ต้องเปิดไฟล์ Excel ที่มีตารางข้อมูลเยอะหรือคนที่ทำงานกับเว็บแอพฯ เปิดเบราเซอร์หลายแท็บก็จำเป็นต้องบริหารโปรแกรมและแท็บบ้างเพื่อให้แรม 8GB ในเครื่องพอใช้งาน

integrated gpu 1

การ์ดจอของ RedmiBook เป็นแบบออนบอร์ดติดตั้งมากับซีพียู รุ่น Intel Iris Xe Graphics สามารถใช้ทำงานกราฟฟิคแบบตัดต่อแต่งภาพและเรนเดอร์ภาพต่างๆ ขึ้นหน้าจอได้เป็นอย่างดี รองรับ DirectX 12 และชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan ซึ่งมีให้ใช้งานเป็นพื้นฐานครบถ้วนระดับหนึ่ง

device manager

ส่วนพาร์ทในตัวเครื่องเมื่อเช็คผ่าน Device Manager จะเห็นว่าทาง Xiaomi ติดตั้งชิป TPM 2.0 มาให้รองรับ Windows 11 เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac และรองรับ Bluetooth 5.0 ด้วยชิป Realtek 8822CE เมื่อผู้เขียนทดลองเปิดเว็บไซต์และทำงานดูแล้ว ไดรเวอร์เวอร์ชั่นล่าสุดของทาง Realtek สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ต่อเนื่องไหลลื่นดี ไม่มีอาการความเร็วตกหรือเชื่อมต่อไม่เสถียรแม้แต่น้อย

ssd 6

SSD ของ RedmiBook 15 เมื่อเช็คใน Device Manager จะเป็นรุ่น Samsung MZVLQ512HBLU-00B00 หรือ Samsung PM991a เป็น M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ความจุ 512GB มีความเร็วอ่านเขียนข้อมูลสูงสุดที่เคลมจากโรงงานอยู่ที่ Sequential Read 3,100MB/s และ Sequential Write 1,800MB/s พอทดสอบด้วย AS SSD แล้ว จะได้ความเร็ว Sequential Read 1,426.63MB/s และ Sequential Write 902.91MB/s ซึ่งน้อยกว่าหน้าสเปคอยู่บ้างแต่ถ้าใช้ทำงานจริงก็ไม่ได้ถือว่าช้านัก แต่ถ้าใครต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มก็ขอแนะนำให้หา External Harddisk มาใช้คู่กันจะดีกว่า

ด้านประสิทธิภาพการเรนเดอร์โมเดล 3D CG ด้วยซีพียู Intel Core i5-11300H กับการ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics เมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R15 จะเห็นว่ากำลังการเรนเดอร์ก็ถือว่าพอใช้งานได้และทำคะแนน OpenGL ไป 63.86 fps และคะแนน CPU อยู่ที่ 654 cb ซึ่งถ้าเอามาเรนเดอร์ตัดต่อแต่งภาพทั่วไปก็สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี และกำลังประมวลผลของซีพียูก็ถือว่าอยู่ในระดับใช้งานได้ ซึ่งผลการทดสอบด้วย CINEBENCH R20 ตัว Intel Core i5-11300H ก็ทำคะแนน CPU ได้ 1533 pts จัดว่าสามารถเรนเดอร์ภาพในโปรแกรมตัดต่อได้อย่างแน่นอน

3dmark 3

กลับกัน ถ้าจะเอา RedmiBook 15 มาเล่นเกมก็ไม่ตรงจุดประสงค์การใช้งานนัก ซึ่งผลทดสอบจาก 3DMark Time Spy จะเห็นว่าคะแนนเฉลี่ยทำได้เพียง 917 คะแนนเท่านั้น แยกเป็นคะแนน CPU score อยู่ที่ 2,948 คะแนน และ Graphics score เพียง 818 คะแนนเท่านั้น นับว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไม่เหมาะจะเล่นเกมอย่างแน่นอน อย่างมากอาจจะเล่นเกมเล็กๆ น้อยๆ เป็นเกม 8-bit ทั่วไปหรือเกม RPG ยุคเก่าได้บ้างระดับหนึ่งพอคลายเครียดฆ่าเวลาได้บ้าง

pcmark10 4

ด้านการทำงาน เมื่อทดลองรันโปรแกรม PCMark 10 เพื่อจำลองการใช้ RedmiBook 15 ทำงานดู จะได้คะแนนเฉลี่ยรวมที่ 4,280 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้ถือว่าใช้ทำงานออฟฟิศทั่วไปได้ระดับหนึ่ง และถ้าดูผลคะแนนการทดสอบแยกหมวดแล้ว จะเห็นว่า RedmiBook 15 จะเด่นเรื่องการใช้งานทั่วไปอย่างการเปิดโปรแกรม, ประชุมออนไลน์หรือเปิดเบราเซอร์และทำงานผ่านเว็บแอพฯ ต่างๆ ส่วนงานเอกสารในหมวด Productivity จัดว่าพอใช้งานได้ระดับหนึ่งแต่ส่วนที่ดึงคะแนนเฉลี่ยลงยังเป็นงานสายกราฟฟิค ตัดต่อแต่งภาพหรือทำโมเดล 3D เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโน๊ตบุ๊คการ์ดจอออนบอร์ดอยู่แล้ว

โดยสรุปจากผลการทดสอบทั้งหมด จะเห็นว่า RedmiBook 15 จะเหมาะกับการใช้ทำงานเอกสารและพกพาไปไหนมาไหนเป็นหลัก อาจจะพอใช้แต่งรูปอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือประกอบการทำรายงานได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับใช้ทำงานสายอาร์ตโดยตรงแบบโน๊ตบุ๊คที่มีการ์ดจอแยกและติดตั้งพาเนลจอคุณภาพสูงมาให้ แต่ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องแรกสำหรับนักเรียนนักศึกษา, พนักงานบริษัทจบใหม่ (First Jobber) ที่หาโน๊ตบุ๊คสเปคดีและคุ้มเอาไว้ทำงานสักเครื่องก็จัดว่า RedmiBook เครื่องนี้น่าสนใจทีเดียว

Battery & Heat & Noise

Redmibook 15 DSC08854

แบตเตอรี่ของ RedmiBook เป็นแบบลิเธียมไอออน ความจุ 46Wh ฝังเอาไว้ในตัวเครื่องติดลำโพงฝั่งขวามือและยาวเกือบสุดถึงลำโพงฝั่งซ้าย มี Typical Capacity 3,220mAh ส่วน Rated Capacity 3,090mAh จัดเป็นความจุที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่โน๊ตบุ๊คสายทำงานเน้นบางเบาหลายๆ รุ่น ซึ่งความจุระดับนี้เมื่อจับคู่กับ Intel 11th Gen ก็มั่นใจว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงอย่างแน่นอน

battmon 4

จากการทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, เปิดเสียงลำโพงเพียง 10% และเปิดโหมด Battery Saver หรือโหมดประหยัดพลังงานแล้วใช้ Microsoft Edge เปิดดูคลิปใน YouTube นาน 30 นาทีแล้ว RedmiBook 15 สามารถใช้งานดูหนังฟังเพลงได้นาน 10 ชั่วโมง 21 นาที ซึ่งทาง Xiaomi ได้เคลมเอาไว้ว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานราว 10 ชั่วโมงก็ถือว่าไม่ได้เป็นการเคลมเกินจริงแต่อย่างใด และระยะเวลาใช้งานระดับนี้จะนำเข้าห้องเรียนหรือไปประชุมงานต่อเนื่องนานๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดกลางคันอีกด้วย และอาจจะปิดเสียงลำโพงแล้วเพิ่มความสว่างหน้าจอขึ้นเล็กน้อยก็เชื่อว่า RedmiBook เครื่องนี้ก็สามารถใช้งานต่อได้นานขึ้นอย่างแน่นอน

Redmibook 15 DSC08856

ด้านระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องจะเป็นฮีตไปป์ 1 เส้น เดินแนวจากซีพียู Intel ในตัวเครื่องตรงมายังฮีตซิงค์แล้วระบายความร้อนออกด้วยพัดลมโบลวเวอร์ออกที่ขอบด้านบนเหนือคีย์บอร์ดของตัวเครื่องเพื่อระบายความร้อน สามารถจัดการความร้อนจาก Intel Core i5-11300H ได้อย่างแน่นอน

cpuid hwmonitor

โดยอุณหภูมิที่วัดได้ตอนทดสอบกับโปรแกรม Benchmark โดย CPUID HWMonitor จะอยู่ช่วง 46~97 องศา เฉลี่ย 51 องศาเซลเซียส และ SSD มีอุณหภูมิ 46~77 องศา เฉลี่ย 46 องศาเซลเซียส ซึ่งหลายคนอาจจะกังวลว่าความร้อนตอน Full Load ของตัวเครื่องอาจจะร้อนจนรบกวนการใช้งานก็ขอแจ้งว่ามันเป็นอุณหภูมิที่สูงจากการรันโปรแกรมทดสอบเพื่อรีดอุณหภูมิให้อยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งจากการใช้งานตามปกติก็ไม่พบปัญหาความร้อนสูงหรือไอร้อนจากตัวเครื่องแผ่ขึ้นมาที่มือแต่อย่างใด

User Experience

Redmibook 15 DSC08898

จากการใช้งานจริง โดยผู้เขียนได้พก RedmiBook 15 ติดตัวไปทำงานพิมพ์บทความ, เปิดเว็บไซต์ต่างๆ และดูคลิปบน YouTube บ้าง ในแง่การใช้งานจริงมันก็สามารถใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงโดยไม่มีปัญหา เรียกว่าอยู่ได้จบวันได้สบายๆ ด้วยประสิทธิภาพของ Intel Core i5-11300H สามารถเอาไปรันงานหนักๆ เปิดเบราเซอร์หลายแท็บพร้อมกับโปรแกรมตระกูล Word Processing คู่กันก็ทำได้ดีไม่มีปัญหา ดังนั้นผู้ใช้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่หรือเพิ่งเรียนจบแล้วได้งานที่แรก ก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้สุดๆ ส่วนรุ่น Intel Core i3-1115G4 ผู้เขียนก็มั่นใจว่ามันสามารถทำงานทั่วไปได้ลื่นไหลไม่แพ้กันอย่างแน่นอน จะเอาไปเรียนออนไลน์หรือเข้าห้องเรียนตามปกติ, เข้าประชุมออนไลน์ต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็สามารถทำงานได้ดีไม่มีปัญหา

สำหรับน้ำหนักตัวเครื่อง 1.77 กิโลกรัมก็จัดว่าพกพาสะดวกใช้ได้ แม้รวมกับอแดปเตอร์แล้วหนักราว 2.14 กิโลกรัมก็ยังถือว่าเบากว่าโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ สามารถเอาใส่กระเป๋าไปไหนมาไหนได้สะดวกมากและอแดปเตอร์ก็มีขนาดค่อนข้างเล็กก็ไม่ได้กินพื้นที่ในกระเป๋านัก จึงพกอุปกรณ์เสริมชิ้นอื่นอย่างเมาส์, External HDD/SSD เพิ่มเข้าไปได้สะดวก และพอร์ตด้านข้างตัวเครื่องก็ติดตั้งมาให้ค่อนข้างครบ ไม่ว่าจะ USB-A 3.2 Gen 1 x 2 หรือจะ HDMI 1.4 ก็มีให้ใช้ เวลาต้องต่อหน้าจอแยกหรือโปรเจคเตอร์ก็ต่อได้ง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งอแดปเตอร์ใดๆ อีกด้วย เรียกว่าสะดวกและมีประโยชน์มาก

แต่ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าทาง Xiaomi น่าจะใส่พอร์ต USB-C Full Function เข้ามาให้สัก 1 ช่อง จะได้เอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่, ต่อหน้าจอแยกและโอนไฟล์ได้สะดวกยิ่งขึ้น และถ้ามีพอร์ตนี้ติดมาก็สามารถใช้อแดปเตอร์ชาร์จแบบ GaN หรือปลั๊กของสมาร์ทโฟนในเครือมาใช้งานได้อีก เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ ซึ่งผู้เขียนคาดหวังว่าทาง Xiaomi จะนำพอร์ต USB-C เข้ามาใส่ให้ในรุ่นย่อยหรือโมเดลรุ่นใหม่ด้วยจะดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคาดหวังว่าทางบริษัทจะเติมช่องแรมเข้ามาให้สักช่อง เผื่อให้ผู้ใช้ที่ต้องการใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานหนักๆ อัพเกรดแล้วใช้งานได้หลายปีไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องบ่อยด้วย

Conclusion & Award

Redmibook 15 DSC08897

ในหมู่โน๊ตบุ๊คจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟน RedmiBook 15 จัดเป็นโน๊ตบุ๊คน่าใช้อีกรุ่นซึ่งได้ซีพียูประสิทธิภาพสูงจาก Intel ซึ่งสามารถรันงานหนักๆ ได้เป็นอย่างดีรวมทั้งจัดการพลังงานตัวเครื่องให้ใช้งานต่อเนื่องได้นานด้วย ดังนั้นโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จึงใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 10 ชั่วโมงได้สบายๆ ดังนั้นบางโอกาสก็ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ไปด้วยทุกครั้งก็ได้หากไปติดต่อพรีเซนต์หรือประชุมงานกับลูกค้า หรือนำไปเข้าห้องเลคเชอร์ก็อยู่ได้สบายๆ ไม่ดับกลางคันอย่างแน่นอน นอกจากนี้หน้าจอยังมีฟีเจอร์ DC Dimming ปรับความสว่างหน้าจอได้อย่างเหมาะสม ทำให้ทำงานในที่แสงน้อยได้โดยไม่แสบตาอีกด้วย

ด้านน้ำหนักของตัวเครื่อง ถือว่าน้ำหนัก 1.77 กก. จัดว่าเบากว่าโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ และถึงจะพกอแดปเตอร์ใส่กระเป๋าไปก็หนักเพียง 2.14 กิโลกรัม ก็ยังถือว่าเบาพกพาง่าย นำติดตัวไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟหรือประชุมงานกับลูกค้าได้สะดวกอีกด้วย ผู้เขียนจึงค่อนข้างประทับใจน้ำหนักของเครื่องนี้ทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตมีเพียงเรื่องอแดปเตอร์แบบทั่วไป ยังไม่ใช่พอร์ต USB-C และไม่มีช่อง RAM แบบ SO-DIMM ติดตั้งมาให้ ดังนั้นจึงต้องใช้แรมออนบอร์ด 8GB เท่านั้น ซึ่งถ้าใครซื้อมาทำงานหนักๆ แนะนำให้บริหารพื้นที่การใช้งานสักหน่อยก็จะช่วยให้ใช้งานได้สะดวกสบายขึ้น ทว่าหากผู้ใช้เป็นนักเรียนนักศึกษาที่เน้นใช้ทำรายงานและเรียนออนไลน์เป็นหลักล่ะก็ RedmiBook 15 ก็ถือเป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นตอบโจทย์ที่ใช้งานได้นานจนเรียนจบและเริ่มทำงานเลยก็ยังได้

สนใจสั่งซื้อ : https://bit.ly/395i4Xg

award

NBS award 4 Mobility

best mobility

RedmiBook 15 เป็นโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้ว แต่น้ำหนักเพียง 1.77 กิโลกรัม และถึงรวมอแดปเตอร์เข้าไปแล้วก็ยังหนักเพียง 2.14 กิโลกรัมนับเป็นโน๊ตบุ๊คที่พกพาสะดวก ติดตัวไปไหนมาไหนได้สบายไม่ลำบากเกินไป นำไปประชุมหรือเรียนได้สบายไม่ลำบากมาก จึงเหมาะกับรางวัล Best Mobility เป็นที่สุด

award new Battery Life

best battery life

RedmiBook 15 แม้จะมีแบตเตอรี่ในตัวเพียง 46Wh ซึ่งน้อยกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาบางเครื่อง แต่เมื่อผสานกับ Intel Core i5-11300H แล้ว นอกจากทำงานได้ลื่นไหล ยังใช้งานต่อเนื่องได้เกิน 10 ชั่วโมงอีกด้วย จึงถือได้ว่าโน๊ตบุ๊คนี้เหมาะกับรางวัล Best Battery Life อย่างไม่ต้องสงสัย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

โน๊ตบุ๊คเล่นเกมรุ่นใหม่ก็มา รุ่นเก่าสเปคเด็ดก็มี ถ้าใครอยากเปลี่ยนเครื่องอยู่นาทีนี้มีรุ่นน่าโดนให้เลือกเพียบ! จะปี 2024 นี้หรือปีไหนโน๊ตบุ๊คเล่นเกมก็ยังคงเป็นตัวเลือกขวัญใจใครหลายคนเพราะประสิทธิภาพดี ทรงพลังเหลือเฟือไม่ว่าจะงานเบาๆ ทำเอกสารไปจนตัดต่อคลิปและงาน 3D ก็ไหว เล่นเกมก็ได้สบายๆ ยิ่ง 2~3 ปีมานี้ พอเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ซีพียูกับจีพียู็ยิ่งทรงพลังก็ทำให้เกมเมอร์และครีเอเตอร์ที่ไม่อยากเสียเวลาประกอบพีซีให้วุ่นวายเลือกตัดปัญหาทั้งหมดโดยซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมสเปคแรงมาใช้แทน แถมได้เปรียบว่าพกพาสะดวกหยิบไปทำงานได้ กลับบ้านต่อหน้าจอแยกก็เล่นเกมชั้นนำได้ดีพอตัว นอกจากสเปคแล้ว ในปี 2024 ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายแบรนด์ก็เสริม AI...

PC Review

Intel Core i7 14th Gen คู่ Arc A770 ประกอบคอมตัวจบสำหรับคอเกมและครีเอเตอร์ 2024 เพื่อผู้ใช้ระดับ Performance Intel Core i7-14700 จัดเป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมการเป็น Hybrid Core โดดเด่นทั้งประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน เมื่อจับคู่กับ Intel Arc A770...

Buyer's Guide

ตัวขยายสัญญาณ WiFi ราคาประหยัดแต่สเปคจัดหนัก บอกเลยว่าต้องโดน! ในบ้านหรือสำนักงานย่อมมีจุดอับสัญญาณซ่อนอยู่ตามส่วนต่างๆ แล้วมีข้าวของร้อยแปดวางขวางไว้จนสัญญาณอินเทอร์เน็ตส่งไม่ถึง แต่ก็แก้ได้ด้วยตัวขยายสัญญาณ WiFi ซึ่งติดตั้งใช้งานได้ง่ายและราคาก็ไม่แพงมากแล้ว เริ่มตั้งแต่ราคาหลักร้อยกลางกระจายสัญญาณ Wi-Fi AC ไปจนหลักพันรองรับ Wi-Fi AX รองรับอุปกรณ์มากขึ้นและมีระยะสัญญาณกว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะบ้าน, ออฟฟิศหรือโกดังของใครมีพื้นที่กว้างแล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตอ่อนรับส่งข้อมูลช้า แนะนำให้ซื้อมาติดสักตัวรับรองว่าช่วยได้แน่นอน แต่แม้ตอนนี้ WiFi 7 มาตรฐาน 802.11be...

Buyer's Guide

โน๊ตบุ๊ค 2024 เลือกสเปคแบบไหน คุ้มค่า ทำงาน เล่นเกม พกพา ตัดต่อวีดีโอ งบเท่าไร ดูอย่างไร โน๊ตบุ๊คเป็นหนึ่งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ได้รับความนิยม ทั้งการทำงานและความบันเทิงในชีวิตประจำวัน จัดว่าเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพา ที่นอกจากจะมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพใกล้เคียงกับพีซีตั้งโต๊ะหรือ Desktop PC ทั้งในเรื่องของหน่วยประมวลผล การเชื่อมต่อ และความสามารถในงานด้านต่างๆ แล้ว ยังมีจุดเด่นคือ สามารถพกพานำไปใช้งานนอกบ้าน โดยไม่ต้องต่อสายไฟเอาไว้ตลอดเวลา ต่างจากพีซีตั้งโต๊ะ...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก