ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ภาคต่อของ ASUS Zenbook สองจอ อัพเดท Alder Lake และจอให้เทพกว่าเดิม
ASUS Zenbook ถือเป็นซีรี่ส์โน๊ตบุ๊คสายทำงานที่ทางบริษัทอัดสเปคและฟีเจอร์ต่างๆ มาให้มากมาย เช่นเดียวกับรุ่นเรือธงอย่าง ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED รุ่นนี้ซึ่งแม้ราคาเปิดตัวจะมาสูงถึง 109,990 บาท ก็ตาม แต่ทางบริษัทก็เติมเทคโนโลยีล้ำๆ มาให้เจ้าของเครื่องได้ใช้งานอย่างไม่หวงของเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะกล้องสแกนใบหน้า IR Camera, อัพเดทซีพียูเป็น Intel 12th Gen สถาปัตยกรรม Alder Lake แล้ว เพื่อให้รันโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างไหลลื่น ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถทำงานหนักได้อย่างลื่นไหล ติดตั้ง Windows 11 Home มาให้พร้อมหน้าจอ ASUS ScreenPad Plus เสริมเข้ามาให้มีพื้นที่ทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้พอร์ต Thunderbolt 4 มาถึง 2 ช่อง สามารถต่อโอนไฟล์และหน้าจอแยกได้ ช่วยให้ทำงานได้สะดวกยิ่งกว่าเดิมเป็นอย่างมากและยังใช้ปากกา ASUS Pen 2.0 วาดเขียนบนหน้าจอหลักและจอเสริมได้ด้วย รวมทั้งความแข็งแรงเรียกว่าไว้ใจได้ เพราะบอดี้ตัวเครื่องสีน้ำเงิน Celestial Blue ทำจากแม็กนีเซียมผสมอลูมิเนียมอัลลอยด์ จึงแข็งแรงทนทานทั้งน้ำหกใส่หรือจะตกกระทบพื้นก็ไม่เสียหายง่ายๆ แน่นอน การันตีด้วยการรับรอง MIL-STD-810H เป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นต่อให้ใช้งานสมบุกสมบันสักหน่อยก็ไม่เป็นไรแน่นอน
หน้าจอของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของตัวเครื่องขนาด 15.6 นิ้ว ถูกอัพเกรดเป็นพาเนลทัชความละเอียดสูง 4K (3840×2160) พาเนล OLED HDR ให้ความสวยสดคมชัดเป็นพิเศษ ได้รับการรับรอง PANTONE Validated และ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500 เป็นที่เรียบร้อย รองรับขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 รวมทั้งค่า Delta-E <2 อีกด้วย ดังนั้นสีสันบนหน้าจอจึงเที่ยงตรงแม่นยำอย่างแน่นอน และต่อให้ทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ไม่ล้าไม่เสียสายตาง่ายๆ อย่างแน่นอน เพราะได้รับการรับรองเป็นหน้าจอ Low Blue Light ลดแสงสีฟ้าถนอมสายตาผู้ใช้ยิ่งขึ้นจาก TUVRheinland เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และลำโพง ASUS SonicMaster ที่ติดตั้งมาให้ ก็ได้รับการปรับจูนเสียงจาก harman/kardon ให้คุณภาพเสียงยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ติดตั้งชิป Smart Amp ซึ่งเป็นชิป DSP ให้เสียงดังยิ่งขึ้นและลดอาการเสียงเพี้ยน (Distortion) ให้หายไปไม่สากหู รองรับเสียงแบบ Dolby Atmos ด้วย ดังนั้นครีเอเตอร์สายศิลปินจะวาดภาพหรือดนตรีก็ใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานได้ดีแน่นอน
จุดเด่นอีกส่วนของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือการออกแบบระบบระบายความร้อน AAS Plus (Active Aerodynamic System Plus) จับคู่กับระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Pro และพัดลมระบายความร้อนคู่ ช่วยให้การระบายอากาศของตัวเครื่องดีขึ้นกว่าเดิม 36% และพอผสานกับดีไซน์ ErgoLift hinge ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของทาง ASUS ก็ช่วยยกตัวเครื่องให้สูงขึ้น แป้นคีย์บอร์ดเบนเข้าหาตัวผู้ใช้ยิ่งกว่าเดิม ทำให้พิมพ์งานสะดวกขึ้นไปอีก นับได้ว่าทางบริษัทออกแบบโดยคำนึงถึงตัวผู้ใช้อย่างแท้จริงมาก
NBS Verdicts
หากครีเอเตอร์คนไหนกำลังอยากได้โน๊ตบุ๊คสายทำงานดีๆ ที่เปิดมาแล้วพร้อมใช้งานได้เลยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มให้เสียเวลา ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED นี้จัดเป็นตัวเลือกที่ดีมากไม่ควรมองข้าม เพราะได้ Intel Core i9-12900H จับคู่กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3060 ได้ M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 ติดตั้ง Windows 11 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2021 พร้อมแรม 32GB LPDDR5 บัส 4800MHz เรียกว่าเปิดเครื่องมาทำงานได้เลยไม่ต้องเสียเวลาอัพเกรดและยังใช้งานได้ดีอีกด้วย ซึ่งสเปคและโปรแกรมที่ติดตั้งมาให้ก็ถือว่าคุ้มค่าตัว 109,990 บาทอย่างแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น หน้าจอทั้งสองจอของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ก็ถูกอัพเกรดเป็นหน้าจอทัชสกรีนทั้ง 2 จอแล้ว สามารถใช้ ASUS Pen 2.0 เขียนบนหน้าจอหลักหรือเสริมเพื่อเซ็นหรือวาดไอเดียออกมาได้ทันทีซึ่งใช้งานได้สะดวก รวมทั้งความละเอียดหน้าจอก็สูงระดับ 4K (3840×2160) พาเนล OLED HDR ซึ่งได้ความสวยคม ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 รวมทั้งได้ค่า Delta-E <2 และการันตีคุณภาพสีสันบนหน้าจอด้วย PANTONE Validated และ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500 ด้วย ดังนั้นนักวาด, คนทำงานอาร์ตเวิร์คหรือแม้แต่ช่างภาพก็สามารถแต่งภาพทำสีด้วยหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เลย และยังมีหน้าจอ ASUS ScreenPad Plus เสริมเอาไว้อีกจอให้ใช้กับโปรแกรมต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น จะเอาหน้าต่างคำสั่งอะไรมาติดไว้ที่หน้าจอเสริมนี้ก็ได้ตั้งแต่ส่วนปรับตั้งค่าของโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือจะเอาแท็บของเบราเซอร์ที่ใช้งานบ่อยมาเก็บเอาไว้เผื่อเรียกใช้งานก็ได้เช่นกัน ซึ่งขนาดจัดว่ากำลังดีใช้งานสะดวก ตอบโจทย์คนทำงานและครีเอเตอร์แน่นอน
กลับกัน โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มีข้อสังเกตอยู่ 2-3 อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการอัพเกรดตัวเครื่องซึ่งถึงจะเปิดฝาด้านใต้เครื่องได้สะดวกพอควร แต่กลับมีช่อง M.2 NVMe SSD ที่เป็นไดรฟ์หลักเพียงตัวเดียว เพิ่มแรมหรือ M.2 NVMe SSD เสริมเข้าไปไม่ได้, ไม่มีช่องอ่าน MicroSD Card Reader ติดตั้งมาให้ใช้ดึงไฟล์ภาพและวิดีโอโดยตรงจากการ์ดเลย ต้องพึ่งตัวแปลงอีกชั้น และแนะนำว่า ถ้าต้องใช้งานหนักนั่งทำงานตัดต่อวิดีโอหลายชั่วโมงขอให้ทำในห้องแอร์เพื่อช่วยให้ตัวเครื่องสามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น เพราะถึงระบบระบายความร้อน AAS Plus จะระบายความร้อนได้ดีและเร็วแค่ไหน แต่ก็ควรให้อากาศเย็นจากภายนอกเข้าไปนำความร้อนจากภายในออกมาให้เร็วขึ้นด้วยจะดีที่สุด
ข้อดีของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED
- ซีพียูได้อัพเกรดเป็น Intel Core i9-12900H สถาปัตยกรรม Alder Lake แล้ว มีประสิทธิภาพสูงพร้อมทำงาน
- ติดตั้งการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3060 พร้อมไดรเวอร์ NVIDIA Studio ให้ทำงานได้เสถียรขึ้น
- รองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6E จึงต่ออินเตอร์เน็ตได้เร็วและเสถียรขึ้น
- หน้าจอหลักและจอเสริมเป็นหน้าจอทัช แตะใช้งานสะดวกพร้อมใช้ปากกา ASUS Pen 2.0 เขียนวาดบนหน้าจอได้
- หน้าจอหลักได้ความละเอียด 4K (3840×2160) พาเนล OLED HDR ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 และค่า Delta-E <2 ทำงานอาร์ตต่างๆ ได้อย่างดี ได้รับการการันตีจาก Pantone Validated และ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500
- หน้าจอ ASUS ScreenPad Plus ช่วยเพิ่มพื้นที่ให้ครีเอเตอร์ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ใช้งานดีมีความละเอียดสูง
- ติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 4 x 2 ช่อง รวม HDMI แล้วสามารถต่อหน้าจอแยกได้ 3 จอ
- มีกล้องสแกนใบหน้า IR Camera สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้สะดวกและปลอดภัย
- ระบบระบายความร้อน AAS Plus และ IceCool Pro สามารถระบายความร้อนได้ดี ช่วยให้ตัวเครื่องทำงานได้เสถียรขึ้น
- ดีไซน์ ErgoLift hinge ช่วยยกตัวเครื่องให้มีพื้นที่ดึงอากาศเย็นเข้ามากขึ้นและยกแป้นคีย์บอร์ดให้สูงขึ้นพิมพ์งานสะดวกและมีที่รองข้อมือให้ใช้ด้วย
- มีแป้น ASUS NumberPad 2.0 สลับระหว่าง Touchpad และ Numpad ได้สะดวก
- ดีไซน์บอดี้ตัวเครื่องแข็งแรงทนทาน ทำจากแม็กนีเซียมอัลลอยด์แข็งแรง งานประกอบแน่นหนา สามารถเปิดฝาอัพเกรดได้ง่าย
- ติดตั้งลำโพงมาให้ 4 ตัว พร้อมชิป Smart Amp จูนเสียงด้วย harman/kardon และรองรับ Dolby Atmos ด้วย ทำให้คุณภาพเสียงดีน่าฟัง
- ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้คู่กับ Windows 11
ข้อสังเกตของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED
- ตัวเครื่องอุณหภูมิค่อนข้างสูง ควรใช้ในห้องแอร์หรือวางบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คแบบมีพัดลม
- เป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์แต่ไม่มี MicroSD Card Reader ติดมาให้ใช้
- ภายในเครื่องถูกออกแบบมาเป็นออนบอร์ดแทบทั้งหมด อัพเกรดได้แต่ M.2 NVMe SSD เท่านั้น
- พอร์ต Thunderbolt 4 ยังไม่รองรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery
รีวิว ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์สเปคสูงพร้อมทำงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสริมฟีเจอร์เอื้อการทำงานเข้ามาให้ครบเครื่องพร้อมทำงานและใช้ปากกา ASUS Pen 2.0 เขียนบนหน้าจอได้อีกด้วย โดยสเปคมีดังนี้
- CPU : Intel Core i9-12900H แบบ 14 คอร์ (6P+8E) 20 เธรด ความเร็ว 3.8-5.0GHz
- GPU : NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 1TB อินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4
- RAM : 32GB LPDDR5 บัส 4800MHz
- Display
- จอทัช 15.6 นิ้ว ความละเอียด 4K UHD (3840×2160) พาเนล OLED HDR ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 และค่า Delta-E <2 ได้รับการการันตีจาก Pantone Validated และ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500
- จอทัช ASUS ScreenPad Plus 14 นิ้ว ความละเอียด 4K (3840×1100) พาเนล IPS
- Ports : USB-A 3.2 Gen 2 x 1, Thunderbolt 4 x 2, HDMI 2.1 x 1, Audio combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0
- Webcam : IR Camera 720p
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 2.34 กิโลกรัม
- Price : 109,990 บาท (Advice)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED หากมองผ่านๆ ก็จะเห็นว่าตัวเครื่องใช้ดีไซน์ร่วมกับตระกูล Zenbook Duo รุ่นก่อนหน้านี้ โดยบอดี้จะใช้วัสดุแม็กเนเซียมอลูมิเนียมอัลลอยด์ทำสีน้ำเงิน Celestial Blue ตัวเครื่องขนาด 15.6 นิ้ว ติดตั้งหน้าจอหลักและจอเสริม ASUS ScreenPad Plus เอาไว้ใต้หน้าจอและยกตัวเมื่อกางหน้าจอขึ้นมาใช้งานโดยกลไกก้านเหล็กที่ดันด้านหลังหน้าจอขึ้น ติดสติกเกอร์ Intel Core i9 เอาไว้มุมซ้ายของหน้าจอ ScreenPad Plus ลงชื่อซีรี่ส์ ASUS ZenBook เอาไว้ตรงกลาง มี ASUS NumberPad 2.0 ติดตั้งมาฝั่งขวามือของคีย์บอร์ดมีปุ่ม Power และปุ่มเปลี่ยนโหมดการทำงานตัวเครื่องอย่างละ 1 ปุ่ม และคีย์ลัดคุมการทำงานของ ScreenPad Plus อีก 2 ปุ่ม รวมเป็น 4 ปุ่ม
การดีไซน์ให้ตัวหน้าจอเสริมนี้ยกตัวขึ้น เพื่อให้เป็นช่องระบายอากาศนำลมเย็นจากภายนอกเข้าไปในเครื่องให้ระบบระบายความร้อน ASUS IceCool Pro กับระบบ AAS Plus ได้ระบายความร้อนออกตรงช่องขอบเหนือตัวเครื่องได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนลูกเล่นการออกแบบใหม่ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็นแถบ Light Bar เล็กๆ ซึ่งติดอยู่ตรงขอบใต้ที่วางข้อมือลากจาก Spacebar ไป Ctrl ขวา ยาวราว 3 นิ้ว สามารถเปลี่ยนสีไปมาได้ เมื่อแกะดูภายในจะเห็นว่าเป็นแถบบาร์แสงขันน็อตติดกับตัวเครื่องและซ่อนสายแพอย่างเรียบร้อย ทำให้ตอนแกะเปิดฝาเครื่องไม่ต้องกังวลว่าต้องเปิดจากฝั่งไหนก่อนฝั่งไหนทีหลัง ลดโอกาสที่เจ้าของเครื่องที่อยากอัพเกรดในเครื่องเปิดฝาแล้วทำสายแพขาดไปได้ และผู้เขียนเสนอว่าถ้าทาง ASUS จะทำ Light Bar ติดเอาไว้กับขอบตัวเครื่อง ไม่น่าทำเป็นบาร์แสงติดสายแพไว้ตรงขอบบอดี้ฝาหลัง แต่จัดพื้นที่ให้ติดตั้งแบบ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จะดีกว่ามากๆ นอกจากนี้ยังส่องแสงสะท้อนช่องอะครีลิคใสของที่วางข้อมือขึ้นมาให้เห็นได้อย่างสวยงามอีกด้วย
ส่วนไมโครโฟนของตัวเครื่องจะไม่ได้ฝังเอาไว้ข้างกล้อง Webcam เหมือนโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นช่องไมโครโฟน 4 ตัว เหนือขอบหน้าจอส่วนบนแทน ได้ความสวยงามไม่เกะกะสายตา และยังใช้ประชุมออนไลน์กับคู่สนทนาได้อย่างชัดเจน
ขอบด้านล่างของหน้าจอจะเป็นดีไซน์ ErgoLift hinge เวลากางหน้าจอแล้วตัวเครื่องจะยกเฉียงขึ้นเล็กน้อย ทำให้พื้นที่ด้านใต้ตัวเครื่องมีระยะห่างจากพื้นเพิ่มขึ้น ดึงลมเย็นจากภายนอกเข้าไประบายความร้อนได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งยกแป้นคีย์บอร์ดให้สูงขึ้นทำให้พิมพ์งานสะดวกกว่าเดิม และทาง ASUS ก็เสริมชิ้นพลาสติกเล็กๆ เอาไว้ช่วยป้องกันขอบอลูมิเนียมของตัวเครื่องถูกกับพื้นโต๊ะโดยตรง ทำให้คงสีสันความสวยงามเอาไว้ได้ไม่เกิดความเสียหายอีกด้วย และขาตั้งหน้าจอนี้ทำให้กางบานหน้าจอได้ราว 120 องศา ช่วยให้วางบนโต๊ะก็ยังใช้ทำงานได้สะดวก
ด้านหลังของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จะดีไซน์เรียบๆ ติดโลโก้ ASUS เอาไว้ตรงกลางฝั่งขวาและปัดเงาบอดี้แม็กนีเซียมอลูมิเนียมอัลลอยด์ให้สีน้ำเงิน Celestial Blue โดดเด่นขึ้น แต่ดีไซน์ก็ไม่เยอะจนดูเกะกะเกินไป ช่วยเสริมบุคลิคเจ้าของเครื่องให้ดูหรูหรามีระดับขึ้น
ด้านใต้ตัวเครื่องก็ถูกออกแบบให้เรียบร้อย ติดตั้งแถบยางรองใต้ตัวเครื่องไว้ 2 เส้นเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันบอดีใต้เครื่องมีรอยเสียหาย ตรงกลางฝาใต้ตัวเครื่องจะมีช่องลมเข้าอยู่ทั้งหมด 2 แถบ มีขนาดใหญ่และเหนือขึ้นไปเล็กน้อยเป็นช่องลมร้อนออกจจากตัวเครื่องคู่กับช่องระบายความร้อนด้านข้างซ้ายขวาเครื่องด้วย ขณะที่ช่องขอบล่างฝั่งซ้ายขวาเป็นลำโพงของตัวเครื่อง
ซึ่งสติกเกอร์ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED อื่นๆ นอกจากของ Intel จะถูกย้ายมาติดใต้เครื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะสติกเกอร์ NVIDIA Studio Driver, PANTONE Validated ฯลฯ และสังเกตจะเห็นว่าตัวเครื่องมีวงกลมที่ลึกลงไปเล็กน้อยด้านข้างสติกเกอร์ ASUS Perfect Warranty ซึ่งจุดนี้เป็นสติกเกอร์หัวน็อตแบบ Trox ซึ่งทาง ASUS ติดเอาไว้ 3 จุด ถ้าจะเปิดฝาซ่อมแซมหรืออัพเกรดส่วนใดภายในเครื่องให้เอาเข็มมาสะกิดสติกเกอร์ส่วนนี้ค่อยขันน็อตออก อย่าฝืนเปิดฝาด้านใต้เครื่องทันทีไม่อย่างนั้นอาจเกิดความเสียหายได้
Screen & Speaker
หน้าจอของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็นพาเนลทัชขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 4K UHD (3840×2160) พาเนล OLED HDR ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 และค่า Delta-E <2 ได้รับการการันตีจาก Pantone Validated และ VESA CERTIFIED Display HDR True Black 500 จัดเป็นหน้าจอที่เหมาะกับการทำงานศิลปะแบบต่างๆ มาก ไม่ว่าจะทำงานอาร์ตเวิร์คเป็นป้ายโฆษณา, ฝ่าย AE ที่ต้องขายงานอาร์ต, ฝ่ายศิลป์ประจำบริษัทหรือแม้แต่ช่างกล้องก็ได้ใช้ประโยชน์จากหน้าจอนี้อย่างแน่นอน ติดกล้อง IR Camera เอาไว้ส่วนขอบบนของหน้าจออีก 1 ชุด ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคตัวเครื่องได้สะดวกไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้เสียเวลาด้วย
ด้านขอบเขตสีหน้าจอเมื่อ Calibrate ด้วย Calibrite รวมทั้งเซ็ตโปรไฟล์สีด้วย DisplayCal 3 เสร็จแล้ว จะเห็นว่าพาเนล OLED HDR ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED มีคุณภาพสูงมาก มี Gamut Coverage ระดับ 100% sRGB, 94.7% AdobeRGB, 99.7% DCI-P3 ส่วน Gamut Volume อยู่ระดับ 169% sRGB, 116.4% AdobeRGB และ 119.7% DCI-P3 มีความเที่ยงตรงของสีบนหน้าจอวัดด้วยค่า Delta-E แล้วเฉลี่ยที่ 0.12 เท่านั้น เมื่อมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 2 ก็นับว่าพาเนลจอของ Zenbook เครื่องนี้ยอดเยี่ยมทั้งขอบเขตสีและเที่ยงตรงมาก
ความสว่างหน้าจอระดับ 100% ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จะเห็นว่าพาเนล OLED HDR สว่างถึง 390.21 cd/m2 จนสู้แสงแดดได้สบายๆ จะนั่งทำงานกลางแจ้งหรือทำงานในอาคารแล้วมีแสงแดดสะท้อนก็เร่งความสว่างสู้ได้สบายๆ หากนั่งทำงานในออฟฟิศ ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำให้ปรับความสว่างอยู่ราว 60~70% จะดีที่สุด ทั้งประหยัดแบตเตอรี่และไม่แสบตาเกินไปด้วย
ด้าน ASUS ScreenPad Plus ถัดลงมาจากหน้าจอหลักก็เป็นจอพาเนลทัช ขนาด 14.1 นิ้ว ความละเอียด 4K (3840×1100) พาเนล IPS เป็นจอด้านพร้อมแถบฟังก์ชั่นคำสั่งตรงขอบขวาของหน้าจอด้วย โดยมีคำสั่งต่างๆ ครบถ้วนตั้งแต่ปรับความสว่างหน้าจอ, เปิดแอพฯ สำหรับใช้งานบน ScreenPad Plus, สลับโปรแกรมระหว่างจอหลักและ ScreenPad, เปิดปิดกล้องหรือไมค์ก็ได้ รวมทั้งเปิดการตั้งค่าหน้าจอเสริมตัวนี้ได้อีกด้วย และหากใครต้องการจัดสรรแอพฯ โดยง่ายๆ แนะนำให้เปิด App Navigator ขึ้นมาแล้วโยกโปรแกรมนั้นๆ ไปยังหน้าจอหลักและจอเสริมตัวนี้ได้ตามชอบ
นอกจากนี้เจ้าของเครื่องยังกดปุ่มคีย์ลัดเหนือ ASUS NumberPad 2.0 เพื่อเปลี่ยนโหมดของ ASUS ScreenPad Plus ได้ 3 แบบด้วยกัน ทั้งเปิด, ซ่อนหรือจะปิด ScreenPad Plus ไปก็ได้ โดยทำงานแบบ Rotation Toggle กดแล้วเลือกวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้คำสั่งที่ต้องการ
สิ่งหนึ่งที่ทาง ASUS ไม่ได้ระบุเอาไว้สเปคแต่ใช้วิธีสกรีนบอกตรงขอบบอดี้ตัวเครื่อง คือหน้าจอ OLED HDR ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็นจอ Dolby Vision ซึ่งได้ความสวยคมชัดไม่พอ ลำโพงยังมีชิป DSP “Smart Amp” ช่วยลดอาการเสียงเพี้ยน (Distortion) ลงไปและได้ harman/kardon มาจูนเสียงให้ รองรับเสียงแบบ Dolby Atmos อีกด้วย โดยเสียงจะเล่นผ่านทางลำโพงซึ่งออกแบบประกบคู่กัน 4 ดอก
เนื้อเสียงของลำโพง 4 ดอก ซึ่งปรับจูนด้วย harman/kardon นั้นได้มิติเสียงที่ดี ฟังเพลงได้อรรถรสทีเดียว โดยเนื้อเสียงจะไม่แห้งและได้ความดังราว 80dB สเตจกว้างระดับกลางๆ และไลน์เสียงเครื่องดนตรีกับนักร้องก็ไม่กลบกันหรือแย่งกันเด่น ปรับเสียงดังสุดก็ไม่เกิดอาการเสียงพร่าหรือแตกจนฟังเพลงไม่เพราะอย่างแน่นอน ส่วนเสียงเบสยังถือว่าอยู่ระดับฟังได้ยินชัดแต่แรงปะทะหรือลูกเบสยังไม่หนักแน่นแบบโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ของแบรนด์คู่แข่งนัก ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนเห็นว่าถ้าทาง ASUS เสริมเสียงเบสของลำโพงติดตัวเครื่องให้หนักแน่นขึ้นอีกนิดจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งลำโพงของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED นั้นถึงจะฟังเพลงได้หลากหลายแนว แต่ถ้าเป็นเพลงเน้นเสียงเบสอย่าง R&B, EDM หรือร็อคหนักๆ และเมทัลยังได้เสียงไม่เต็มอรรถรสอย่างที่ควร แต่กลับกัน ลำโพงนี้จะเด่นเรื่องการดูหนังเพราะได้เสียงแบบ Dolby Atmos เลยทำให้มิติเสียงโดดเด่นยิ่งขึ้น
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ถ้ามองเผินๆ นอกจากได้ไฟ LED Backlit สีขาวแบบลอดตัวอักษรได้ จะเห็นว่าดีไซน์คีย์บอร์ดจะเป็น Tenkeyless แต่ถ้านับ Numpad ของทัชแพด ASUS NumberPad 2.0 ด้วยก็จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Full-size ทันที แต่ตัวปุ่มยังเป็นปุ่มแบบปกติ ไม่ใช่ Dished Keycaps แบบ ASUS ZenBook 14 OLED UX3402Z คาดว่าต้องรอทาง ASUS ออกรุ่นอัพเกรดมาในภายหลังหรือต้องรอโมเดลถัดไป แต่ตอนใช้งานตามปกติก็ถือว่าใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา
หากใครพิมพ์งานบ่อยๆ แล้วรู้สึกว่าตัวแป้นคีย์บอร์ดที่ถูกดันมาจนสุดขอบเครื่องจนไม่มีที่วางข้อมือพิมพ์ไม่สะดวกไม่ถนัด สามารถเอาที่วางข้อมือจากในกล่องของ ASUS มาต่อเข้ากับขอบตัวเครื่องเพื่อรองมือตอนพิมพ์งานได้ด้วย ช่วยให้พิมพ์งานได้สะดวกขึ้นมาก แต่น่าจะได้ใช้ตอนนั่งทำงานอยู่ที่ออฟฟิศหรือบ้านเป็นหลัก เพราะถ้ายกเครื่องไปทำงานร้านกาแฟหรือติดต่อลูกค้า ก็อาจจะต้องยกสันมือขึ้นเพื่อพิมพ์แทน แลกกับการได้หน้าจอ ScreenPad Plus เพิ่มเข้ามา
Function Hotkey และคีย์ลัดต่างๆ บนคีย์บอร์ด นอกจาก ASUS จะติดตั้งคำสั่งหลักๆ เอาไว้ให้ใช้ครบถ้วน มีคำสั่ง Fn Lock โดยกด Fn+Esc มีคำสั่ง Page Up/Down, Home, End อยู่ที่ปุ่มลูกศรอีกด้วย ส่วนคีย์ลัดที่ F1-F12 จะมีคำสั่งดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4-F5 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F6 – ปิดการทำงานทัชแพด
- F7 – ปุ่มปรับความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
- F8 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
- F9 – ปุ่มล็อคตัวเครื่องให้กลับไปหน้า Sign in
- F10 – ปุ่มปิดหรือเปิดการทำงานกล้อง Webcam
- F11 – เรียกโปรแกรม Snipping Tool
- F12 – เรียกโปรแกรม MyASUS
จะเห็นว่าคีย์ลัดบนคีย์บอร์ดของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ถูกเซ็ตมาให้ครบถ้วนและมี Function Key ใช้ทำงานบ่อยๆ อย่าง Pause, Print Screen, Insert, Delete เซ็ตเอาไว้ครบถ้วนด้วย แต่ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าคำสั่ง Snipping Tool ก็ยังน่าเอาไปรวมกับคำสั่ง Print Screen เลยดีกว่า แล้วเติมคีย์ลัดอื่น อย่างเช่น Airplane Mode หรือ Mute Microphone แทนก็ยังดีกว่า
ส่วนปุ่มคีย์ลัดทั้ง 4 เหนือแป้น ASUS NumberPad 2.0 จะมีปุ่ม Power ติดอยู่ตรงฝั่งขวาสุด โดยปุ่มซ้ายเป็นใช้เปลี่ยนโหมดการทำงานได้ 3 แบบ คือ Performance mode เวลาต้องใช้ประสิทธิภาพตัวเครื่องเต็มที่ เช่นตอนตัดต่อวิดีโอหรือเล่นเกม, Standard mode โหมดใช้งานทั่วไปสำหรับทำงานเอกสารและงานออฟฟิศทั่วไป สุดท้าย Whisper mode เพื่อลดเสียงให้เบาที่สุดและประหยัดแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น
ส่วนปุ่มถัดจากปุ่มปรับโหมดการทำงาน จะใช้สลับโปรแกรมบนหน้าจอหลักและ ScreenPad Plus เพียงกดปุ่มเดียวก็โยกโปรแกรมทั้งหมดสลับกันทันที และปุ่มสุดท้ายใช้คุม ScreenPad Plus ว่าจะใช้, ซ่อนหรือปิดหน้าจอเสริมตัวนี้ก็ได้
ส่วน ASUS NumberPad 2.0 จะดีไซน์เป็นแป้นแบบสัมผัสอย่างเดียว ไม่มีปุ่มคลิกซ้ายขวาติดตั้งมาให้พร้อมปุ่มฟังก์ชั่นเหนือตัวทัชแพด 2 แบบด้วยกัน ปุ่มขวาบนรูป Numpad ใช้สลับโหมด Numpad หรือใช้เป็นทัชแพดธรรมดาก็ได้ ส่วนโลโก้สามเหลี่ยมมุมบนซ้ายจะใช้ลดความสว่างของตัว Numpad และแตะค้างลากออกจะเรียกเครื่องคิดเลขขึ้นมาใช้งาน
การใช้งานต้องถือว่า ASUS ออกแบบตัวแป้นทัชแพดมาได้ดี รองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนตามที่ทัชแพดควรเป็นแล้ว ก็ยังตอบสนองตอนลากเคอร์เซอร์เมาส์ไปมาได้เร็ว คลิกง่ายใช้สะดวกด้วยการแตะหรือจะสลับโหมดเป็น Numpad ก็ตอบสนองเร็วเหมือนกดแป้น Numpad จริงๆ อยู่ ยิ่งถ้าต้องกดตัวเลขบ่อยๆ ก็ลากนิ้วคุมเคอร์เซอร์เมาส์ได้ทันทีไม่ต้องปิด Numpad ทิ้งไปก็ได้ เรียกว่าออกแบบมาเอื้อคนทำงานได้เป็นอย่างดี
Connector / Thin & Weight
ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED มีพอร์ตให้ใช้จำกัดพอควร ซึ่งฝั่งซ้ายมีพอร์ตอแดปเตอร์, HDMI 2.1 และ Audio combo กับไฟแสดงสถานะการทำงานของตัวเครื่องอีก 2 ดวงเท่านั้น ส่วนฝั่งขวามี Thunderbolt 4 x 2 กับ USB-A 3.2 Gen 2 x 1 ช่อง โดยเฉพาะ Thunderbolt 4 จะรองรับเฉพาะการโอนไฟล์เข้าออกเครื่องและต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort เท่านั้น ไม่สามารถชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery อย่างที่ควรเป็น ซึ่งน่าเสียดายที่ทางบริษัทไม่ใส่ฟังก์ชั่นมาให้ครบถ้วน จะได้ใช้งานได้เต็มที่
หากใครซื้อ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED มาใช้งาน ผู้เขียนแนะนำให้เตรียม USB-C Multiport Adapter เอาไว้ใช้อย่างน้อย 1 ตัวเอาไว้ต่อเสริมให้มีพอร์ตใช้งานเพิ่มขึ้น เพราะถ้าใช้เท่าที่มีก็น้อยเกินไปไม่สะดวกแน่นอน
อุปกรณ์เสริมอีกชิ้นของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED นอกจากที่วางข้อมือก็มี ASUS Pen 2.0 แถมมาให้อีกด้ามเพื่อใช้เขียนวาดบนหน้าจอ ที่ตัวด้ามมีปุ่มลัด 2 ปุ่มบริเวณนิ้วโป้งและปุ่มท้ายปากกาบริเวณยางลบดินสอจะเป็นปุ่มเรียกโปรแกรมวาดภาพของ Microsoft ขึ้นมาใช้ได้ ซึ่งการตอบสนองของปากกาถือว่าทำได้ดีทีเดียว โดยหัวปากการองรับแรงกดทั้งหมด 4,096 ระดับ ไม่แพ้กับปากกาสไตลัสสายอาร์ตหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้
น้ำหนักตัวเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้ว เฉพาะเครื่องจะหนัก 2.38 กิโลกรัม เมื่อรวมอแดปเตอร์ 730 กรัม จะมีน้ำหนักสุทธิ 3.1 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อ ASUS ติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ แต่ไม่มีฟีเจอร์ชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery มาด้วยจึงใช้ปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 100 วัตต์ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องนี้ไม่ได้ ดังนั้นขอแนะนำเจ้าของเครื่องให้หากระเป๋าเป้อย่างดีสักใบมาใส่โน๊ตบุ๊คและอแดปเตอร์เวลาพกเครื่องไปไหนมาไหน จะได้ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพไหล่และหลังในอนาคต
Inside & Upgrade
เจ้าของเครื่องที่อยากเปิดฝาอัพเกรด ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ให้ใช้ไขควง Trox ขันที่หัวน็อตจำนวน 11 ตัว ที่ขอบบนล่างทั้ง 8 ดอกแล้วสะกิดสติกเกอร์ปิดหัวน็อตกลางเครื่อง 3 ดอกออกแล้วเริ่มขันน็อตเปิดฝาเครื่องได้เลย โดยน็อตทุกตัวจะมีขนาดเท่ากันหมด เว้นตัวกลางเครื่องกลางหมู่สติกเกอร์จะเป็นหัวยาวพิเศษที่ต้องจำตำแหน่งไว้โดยเฉพาะ ตอนเปิดฝาก็ใช้ปิ๊กกีตาร์ไล่ตามขอบเครื่องแล้วดึงเปิดฝาได้เลย
ซึ่งถึง ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จะขันเปิดฝาได้ง่ายแค่ใด แต่ก็น่าเสียดายว่าชิ้นส่วนแทบทั้งหมดถูกออกแบบให้ฝังออนบอร์ดแทบทั้งหมด ยกเว้น M.2 NVMe SSD กับการ์ด Wi-Fi ของ Intel ที่ยังเชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เฟส PCIe อยู่ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเปิดฝาอัพเกรดก็ได้ ยกเว้นว่า Micron 3400 ความจุ 1TB ในเครื่องอ่านเขียนไฟล์ไม่ทันใจค่อยอัพเกรดก็ไม่เสียหาย
Performance & Software
ซีพียูใน ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็น Intel Core i9-12900H แบบ 14 คอร์ (6P+8E) 20 เธรด ความเร็ว 3.8-5.0GHz ใช้ทำงานสายครีเอเตอร์ได้เป็นอย่างดี มี L3 Cache 24MB ค่า TDP 45 วัตต์ และรองรับชุดคำสั่งต่างๆ ครบถ้วน ติดตั้งแรมแบบออนบอร์ดมาให้ 32GB LPDDR5 บัส 4800MHz สามารถประมวลผลงานต่างๆ ได้รวดเร็วและรับงานหนักได้เป็นอย่างดี
การ์ดจอในเครื่องจะมี 2 ตัว ได้แก่ Intel Iris Xe Graphics ใช้ทำงานทั่วไป เช่น เรนเดอร์ภาพขึ้นบนหน้าจอ, แต่งภาพทำกราฟฟิคและเขียนแบบได้ระดับหนึ่งกับการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3060 แรม 6GB GDDR6 มี CUDA 3,840 คอร์ สำหรับใช้เรนเดอร์โมเดล 3D หรืองานวิดีโอต่างๆ ได้อย่างลื่นไหล รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan, PhysX ทั้งคู่ แต่ NVIDIA จะรองรับชุดคำสั่ง CUDA, Ray Tracing ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 นี้ถึงจะใช้เล่นเกมได้ แต่เมื่อติดตั้งมาใน ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED แล้ว ทาง ASUS จึงไม่ได้ลงไดรเวอร์เป็น NVIDIA GeForce ตามปกติมาให้ แต่เป็น NVIDIA Studio ซึ่งเป็นไดรเวอร์เพื่อการทำงานสายครีเอเตอร์โดยเฉพาะ สามารถรันงานได้ดีและเสถียรเป็นพิเศษ สังเกตได้จากสติกเกอร์ที่ติดเอาไว้ด้านใต้เครื่องนั่นเอง
เมื่อเช็ค Device Manager จะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จะติดตั้งพาร์ทสำคัญต่างๆ มาให้ครบครัน ไม่ว่าจะกล้อง IR Camera ใช้ยืนยันตัวตนก่อนปลดล็อคเครื่อง, Wi-Fi PCIe Card รุ่น Intel AX211 มีแบนด์วิธสัญญาณ 160MHz พร้อมชิป TPM 2.0 สำหรับรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในเครื่องร่วมกับระบบปฏิบัติการ Windows 11
M.2 NVMe SSD ในเครื่องมีความจุ 1TB รุ่น Micron 3400 ทางบริษัทผู้ผลิตได้เคลมสเปคของ SSD รุ่นนี้เอาไว้หน้าเว็บว่า SSD นี้เป็นขนาด M.2 2280 ใช้ 176-Layer NAND รับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 มีความเร็วอ่านสูงสุด 6,600MB/s เมื่อทดสอบด้วย AS SSD Benchmark แล้วได้ความเร็ว Sequential Read 4,389.97MB/s และ Sequential Write 2,316.65MB/s ซึ่งถือว่ารับส่งข้อมูลเร็วใช้ได้ สามารถรันโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วทีเดียว ซึ่งถ้าใช้ทำงานเป็นหลักก็ไม่จำเป็นต้องอัพเกรด
กลับกันถ้าใครอยากเปลี่ยนเป็น M.2 NVMe SSD รุ่นที่อ่านเขียนข้อมูลได้เร็วกว่านี้ จะได้รันโปรแกรมและจบงานต่างๆ ได้ไวขึ้นจะมี WD Black SN850, Samsung 980 PRO, Kingston KC3000, Kingston FURY Renegade หรือหารุ่นที่สเปคใกล้เคียงกับที่ยกตัวอย่างและหาซื้อได้ง่ายมาอัพเกรดก็ได้
สำหรับประสิทธิภาพการเรนเดอร์กราฟฟิคและ 3D CG ด้วย ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เมื่อทดสอบด้วย CINEBENCH R15 แล้ว ได้คะแนน OpenGL 195.31 fps และคะแนน CPU 2,332 cb ซึ่งผลคะแนนนี้ช่วยการันตีว่าถ้านำ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ไปพรีเซนต์และเปิด Preview โมเดล 3D ให้ลูกค้าได้ดูก็สามารถรันได้ไหลลื่นมาก พอเค้นประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูแบบเน้นๆ ด้วย CINEBENCH R20 ได้คะแนน CPU 5,826 pts ซึ่งจัดว่าสูง ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาแน่นอน
ผลการทดสอบด้วย 3DMark Time Spy เพื่อจำลองการนำ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ไปเล่นเกมฟอร์มยักษ์แล้ว จะเห็นว่าผลคะแนนเฉลี่ยได้สูงระดับ 8,142 คะแนน แยกหมวดเป็นคะแนน CPU score 10,396 คะแนน ส่วน Graphics score 7,843 คะแนน ดังนั้นนอกจากจะทำงานสายครีเอเตอร์ตัดต่อแต่งภาพและวิดีโอได้อย่างลื่นไหล ก็เอามาเล่นและ Livestream เกมได้เหมือนกัน ดังนั้น Zenbook Pro Duo จึงเหมาะกับงานสายคอนเทนต์เป็นอย่างมาก
เมื่อรันโปรแกรมทดสอบ PCMark 10 สำหรับใช้จำลองการทำงานแบบต่างๆ กับ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED แล้วได้คะแนนเฉลี่ย 6,959 คะแนน จัดว่าสูงไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คซีพียู Intel 12th Gen รุ่นอื่นๆ หากดูแยกหมวดหมู่กันจะเห็นว่า Zenbook เด่นเรื่องการบูตและโหลดโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาทำงาน, ประชุมออนไลน์และอื่นๆ รวมถึงงานตัดต่อแต่งภาพ, วิดีโอและการทำ Virtualization ในหมวด Digital Content Creation ด้วย คาดว่าเป็นผลพลอยได้จากไดรเวอร์ NVIDIA Studio ที่ปรับจูนมาเป็นพิเศษ จึงรีดประสิทธิภาพของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ออกมาได้ดีขึ้น ส่วนการทำงานเอกสารก็จัดว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน
ส่วนการทดสอบเล่นเกมด้วย ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ครั้งนี้ ผู้เขียนได้ถอดเกม DotA 2, PUBG ออกจากการทดสอบไป ด้วยเหตุผลว่าถ้า Zenbook สามารถเล่นเกมฟอร์มยักษ์ในการทดสอบนี้ได้ก็สามารถเล่นทั้งสองเกมนั้นได้อย่างแน่นอน ส่วนการทดสอบจะเซ็ตตัวเครื่องเป็น Performance mode เพื่อเค้นประสิทธิภาพตัวเครื่องและปรับกราฟฟิคในเกมสูงสุดทั้งหมด
จากกราฟผลการทดสอบจะเห็นว่า Resident Evil Village, Death Stranding, Apex Legends สามารถทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 100 fps สบายๆ ส่วนของ Horizon Zero Dawn กับ Red Dead Redemption 2 (RDR 2) เมื่อรันฟังก์ชั่น Benchmark ในตัวเกมก็ทำเฟรมเรทเฉลี่ย 71 fps และ 55 fps ตามลำดับ ส่วน Elden Ring ที่ล็อค 60 fps สามารถทำได้เฉลี่ย 59 fps ซึ่งอยู่ในระดับลื่นไหลไร้สะดุด
ดังนั้นเจ้าของ Zenbook นั้น นอกจากใช้เครื่องทำงานกราฟฟิคตามเป้าหมายการใช้งานตัวเครื่องแล้ว ก็ยังเล่นเกมต่างๆ ได้ดีด้วย ซึ่งประสบการณ์การเล่นเกมด้วย ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED นั้น ถึงไดรเวอร์จะเป็น NVIDIA Studio ที่ถูกปรับแต่งมาเน้นการทำงานก็ตาม แต่ก็สามารถเล่นเกมได้ลื่นไหลไม่แพ้กับไดรเวอร์แบบ NVIDIA GeForce เลย ให้ความรู้สึกตอนเล่นเกมแทบไม่ต่างกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสักเครื่องหนึ่ง เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งงานและความบันเทิงส่วนบุคคลแบบครบทุกด้าน
ด้านโปรแกรม MyASUS สำหรับตั้งค่า, มอนิเตอร์และอัพเดทเฟิร์มแวร์ให้ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ได้เป็นอย่างดี ก็มีฟังก์ชั่นสำหรับพาเนลจอ OLED โดยเฉพาะอย่าง ASUS OLED Care ช่วยลดอาการหน้าจอเบิร์น โดยผู้เขียนแนะนำให้เปิดทุกฟังก์ชั่นให้หมดจะได้ถนอมพาเนลหน้าจอให้ใช้งานได้นานขึ้น, AI Noise-Cancelling ให้ AI ตัดเสียงรบกวนตอนใช้ไมค์ประชุมงาน รวมไปถึงฟังก์ชั่น Splendid ไว้ตั้งค่าการแสดงผลของหน้าจอ OLED ว่าต้องการให้แสดงสีสันหน้าจอเน้นความสวยสด, Eye Care หรือแม้แต่ตั้งโทนสีบนหน้าจอด้วยตัวเองก็ยังได้
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ถือว่ามีความจุมากทีเดียว มีขนาดความจุอยู่ที่ 92Wh แบบลิเธียมโพลีเมอร์ เทียบเป็น Typical Capacity อยู่ที่ 5,984mAh และ Rated Capacity 5,810mAh ด้วยกัน แบตเตอรี่เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางแนวยาวสุดขอบตัวเครื่องประชิดลำโพงทั้งสองฝั่งเครื่อง มีความจุเทียบเท่ากับแบตเตอรี่ของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นในเครือบริษัท
ด้านระยะเวลาใช้งานเมื่อทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ดและส่วนต่างๆ ให้หมด, เปิดเสียงลำโพงเพียง 10% และตั้งค่า Windows เป็น Battery Saver และตัวเครื่องเป็น Whisper mode แล้วใช้ Microsoft Edge ดูคลิป YouTube นาน 30 นาที จะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดถึง 11 ชั่วโมง 34 นาที จัดว่าใช้ได้นานมากเทียบชั้นโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่น
ซึ่งในกรณีเช่นนี้หากใครต้องการพกโน๊ตบุ๊คเข้าห้องเรียนแบบ On-site หรือเรียนออนไลน์, ประชุมงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ไม่มีปัญหา ใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งอแดปเตอร์เลย และสันนิษฐานว่าถ้าปิดลำโพงก็สามารถปรับความสว่างหน้าจอขึ้นเป็น 10-20% แล้วยังใช้งานได้นานราวนี้เช่นกัน แต่จากการใช้งานจริงต้องถือว่าพาเนล OLED ให้ความสว่างหน้าจอสูงมากจนไม่ต้องปรับความสว่างจนสุดก็ยังมองเห็นเนื้อหาบนหน้าจอได้สบายๆ ดังนั้นตอนใช้งานจริงคาดว่าระยะเวลาใช้งานอาจจะเฉียด 12-13 ชั่วโมงก็เป็นไปได้
ด้านระบบระบายความร้อน ทางบริษัทก็ใส่ใจไม่แพ้ฟีเจอร์อื่นโดยเติมฟีเจอร์ ASUS IceCool Pro กับ AAS Plus เข้ามา ส่วนภายในเครื่องจะเห็นว่า ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED มีฮีตไปป์เส้นหลัก 4 เส้น พาดแนวทั้งซีพียูและจีพียูตรงไปยังพัดลมโบลวเวอร์ทั้งสองข้างจองตัวเครื่องแล้วระบายความร้อนออกด้านข้างตัวเครื่อง และมีช่องระบายไอความร้อนออกด้านขอบบนตัวเครื่องเหนือแป้นคีย์บอร์ดอีกแถบหนึ่ง ช่วยให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานได้ต่อเนื่องโดยไม่ร้อนเกินไปและได้ดีไซน์ ErgoLift hinge มาช่วยเพิ่มระยะห่างระหว่างด้านใต้ตัวเครื่องกับช่องลมเข้าด้านใต้เครื่องอีกด้วย
ส่วนของอุณหภูมิตัวเครื่องที่ CPUID HWMonitor วัดได้ขณะกำลังทดสอบเล่นเกมอยู่ จะเห็นว่าภายในเครื่องมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 44~100 องศา เฉลี่ย 76 องศาเซลเซียสทีเดียว ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะกังวลว่าถ้าใช้ทำงานกับโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือทำ 3D CG แล้วเครื่องจะร้อนเกินไปหรือเปล่า ในมุมของผู้เขียนเสนอให้เจ้าของเครื่องเอา ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED วางใช้งานบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คแบบมีพัดลมเสริมและเน้นใช้งานในห้องแอร์เป็นหลักจะช่วยลดอุณหภูมิตัวเครื่องได้ระดับหนึ่ง ทว่าเวลาใช้ทำงานตามปกติ เช่น ทำงานเอกสาร, แต่งหรือวาดภาพกับโปรแกรมตระกูล Adobe ก็ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนสูงรบกวนอย่างที่คิด นอกจากนี้พื้นที่อุณหภูมิสูงก็ถูกเซ็ตเอาไว้เหนือชุดแป้นคีย์บอร์ดขึ้นไปอีกด้วย อย่างมากผู้ใช้อาจรู้สึกว่าตัวเครื่องอุ่นขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีอาการลวกมือรบกวนตอนใช้งานอย่างแน่นอน
User Experience
ประสบการณ์การใช้ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED เป็นโน๊ตบุ๊คทำงานเครื่องหลักราวสัปดาห์เศษต้องถือว่ามันเป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องที่รับมือได้ทั้งฝั่งงานออฟฟิศ, ครีเอทีฟตัดต่อแต่งภาพและใช้เล่นเกมได้ดีไม่แพ้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเลยเพราะทางบริษัทจัดสเปคมาได้ค่อนข้างลงตัว อาจติดใจเล็กน้อยว่าไม่มีช่องใส่ M.2 NVMe SSD เสริมอีกช่อง แต่ M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB ที่ติดมาในเครื่องก็ถือว่าเยอะพอใช้ทั้งทำงานและเล่นเกมอย่างแน่นอน
ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานโดยใช้ Web app เป็นหลัก ก็อาจจะไม่ได้ใช้ Zenbook Pro Duo 15 OLED ตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพหนักๆ เหมือนครีเอเตอร์หลายๆ คน แต่จะได้ใช้หน้าจอเสริม ScreenPad Plus แบบเป็นหน้าจอเสริมสำหรับพักหน้าต่างโปรแกรมหรือคอนเทนต์ที่จะนำมาใช้กับเนื้อหาที่ต้องการเขียนอยู่บ่อยๆ เวลาไปเขียนงานตามร้านกาแฟก็ทำงานได้สบายเหมือนนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะคอมพิวเตอร์ที่บ้านโดยไม่ต้องหาซื้อหรือหอบหน้าจอต่อแยกผ่านพอร์ต USB-C ติดกระเป๋าไปให้ลำบากชักเข้าออกกระเป๋าแม้แต่น้อย แค่กางหน้าจอออกก็มีหน้าจอเสริมให้ใช้ทำงานทันที และหน้าจอนี้ก็ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใช้หลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นดีเจ, สถาปนิก, ช่างภาพ, ฝ่ายศิลป์ที่สามารถเอาหน้าจอนี้ไปปรับใช้งานได้ตามความเหมาะสมกับงานของตัวเองได้ ใช้งานง่ายเพราะเป็นพาเนลทัชสกรีนจะใช้ ASUS Pen 2.0 หรือนิ้วมือแตะหน้าจอหลักหรือเสริมก็สะดวกไปหมด
ส่วนความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเรียกว่าสบายใจหายห่วง เนื่องจากกล้องหน้าเป็น IR Camera แค่สแกนใบหน้าของเจ้าของเครื่องไว้ ตอนกางหน้าจอขึ้นมาระบบก็สแกนหาใบหน้าเจ้าของเครื่อง ยืนยันความถูกต้องเสร็จแล้วก็ปลดล็อคให้ใช้งานได้ทันที ตัดขั้นตอนการพิมพ์รหัสผ่านไปจนหมดและคนที่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องถ้าไม่รู้รหัสผ่านก็ปลดล็อคมาใช้งานโดยพลการไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นถ้าในสถานการณ์ที่ไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับโน๊ตบุ๊คของเราก็แค่กดล็อคหน้าจอเอาไว้ก็ปลอดภัยขึ้นมากแล้ว
Conclusion & Award
ถ้าจะกล่าวว่า ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED คือโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์และวิศวกรก็คงจะไม่ใช่การกล่าวเกินไปอย่างแน่นอน เพราะนอกจากดีไซน์หน้าจอทัชสกรีนเสริมด้วยปากกา ASUS Pen 2.0 ที่เขียนจดวาดเนื้อหาต่างๆ ลงไปได้ง่ายๆ ให้ครีเอเตอร์ทุกคนทำงานได้สะดวก และพอทาง ASUS อัพเดทให้ Zenbook รุ่นนี้เป็นซีพียู Intel 12th Gen “Alder Lake” และได้การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce RTX 3060 พร้อมไดรเวอร์ NVIDIA Studio ด้วย ก็รันโปรเจคใหญ่ได้สบายๆ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหน่วงช้าหรือทำไม่ได้อย่างแน่นอน
นอกจากกลุ่มวิศวกร, มัณฑนากรและครีเอเตอร์ ผู้ใช้กลุ่มนักบัญชีหรือฝ่ายธุรการก็ได้ประโยชน์จากจอ ScreenPad Plus ไปเต็มๆ เพราะมีพื้นที่ทำงานเพิ่มมาอีกจอหนึ่งเต็มๆ และข้อดีอีกส่วนซึ่งเกินความคาดหมาย คือ ระยะเวลาใช้งานโดยแบตเตอรี่ซึ่งอยู่นานถึง 11 ชั่วโมง 34 นาที ซึ่งผู้เขียนไม่ได้คาดหวังจากซีพียู Intel ที่ลงท้ายด้วยรหัส H ซึ่งเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED สามารถอยู่ได้นานเช่นนี้ ก็ถือว่าน่าชื่นชมมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคาดหวังว่ารุ่นปรับอุปกรณ์หรือรุ่นอัพเดทสเปค ทางบริษัทจะอัพเกรดส่วนต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ให้หมด ไม่ว่าจะปรับพอร์ต Thunderbolt 4 ทั้ง 2 ช่องให้เป็น Full Function รองรับการชาร์จแบบ Power Delivery, เพิ่ม MicroSD Card Reader เข้ามาซึ่งอาจจะซ่อนเอาไว้ตรงขอบด้านหน้าหันเข้าหาผู้ใช้ก็ได้ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอพอร์ต PCIe 4.0 x4 อีกสักช่องเพื่อเพิ่ม M.2 NVMe SSD เสริมเข้าไปในเครื่องอีกช่องหนึ่งจะสมบูรณ์แบบเกินค่าตัวอย่างแน่นอน
award
Best battery life
ระบบจัดการพลังงานของ ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED ถือว่าน่าประทับใจมาก สามารถใช้ทำงานต่อเนื่องได้นานสุด 11 ชั่วโมง 34 นาที ซึ่งนานเท่าโน๊ตบุ๊ค Intel Evo ทีเดียว สามารถพกเครื่องไปเรียน, ประชุมหรือทำงานตามร้านกาแฟได้ทั้งวันโดยไม่ต้องกลัวแบตฯ จะหมดกลางคันเลย จึงเหมาะกับรางวัล Best Battery Life โดยไม่มีข้อกังขาใดๆ
best design
ด้วยการออกแบบ ErgoLift hinge ผสานเข้ากับหน้าจอทัชสกรีนคู่และปากกาสไตลัส รวมทั้ง ASUS NumberPad 2.0 ซึ่งสลับระหว่างทัชแพดและแป้นตัวเลขได้สะดวกรวมทั้งใช้บอดี้แบบแม็กนีเซียมผสมอลูมิเนียมอัลลอยด์ให้ความแข็งแรงเป็นพิเศษ สวยงามเรียบหรูเสริมบุคลิคเจ้าของเครื่องอีกด้วย จึงคู่ควรกับรางวัล Best Design อย่างไม่ต้องสงสัย
best performance
การจับคู่ Intel Core i9-12900H, RAM 32GB LPDDR5, M.2 NVMe SSD 1TB กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3060 ไดรเวอร์ NVIDIA Studio ด้วย ช่วยรีดประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาได้สูงมาก ตอบโจทย์คนทำงานสายครีเอทีฟ ถูกใจครีเอเตอร์ทุกคนอย่างแน่นอน ดังนั้น ASUS Zenbook Pro Duo 15 OLED จึงเหมาะสมกับรางวัล Best Performance เป็นที่สุด