DEEPCOOL LS720 ชุดน้ำปิด 3 ตอน 360 เย็นเจี๊ยบ เสียงเงียบ RGB มาเต็ม ติดตั้งง่าย ได้ทุกซ็อกเก็ต
DEEPCOOL LS720 ชุดน้ำปิด 3 ตอน 360 ติดตั้งง่าย สีสันสดใส รองรับได้ทั้งซีพียู Intel รุ่นใหม่ล่าสุด LGA1700 สำหรับ Intel Gen 12 LGA1700 และ AMD AM4/AM5 จะกำลังมาถึงในไม่ช้านี้ พร้อมเทคโนโลยี Anti-Leak ที่เป็นระบบควบคุมแรงดันภายใน ไม่ให้เกิดการรั่วซึมภายใน ปั้มน้ำขนาดใหญ่ ให้ Radiator แบบ 3 ตอน หรือ 360mm รองรับการติดตั้งพัดลม 3 ตัว ที่อัตราการไหลของลมที่มาก สำหรับการระบายความร้อนให้กับซีพียูตัวโปรดของคุณ และพัดลมที่เสียงรบกวนน้อย แต่มีความทนทาน รองรับการเชื่อมต่อแสงไฟผ่านทาง ARGB ในการปรับแสงสีให้ชุดพัดลมและปั้มน้ำในแบบ Infinity pump face ผ่านทางซอฟต์แวร์การและซิงก์ร่วมกับเมนบอร์ดชั้นนำค่ายต่างๆ อาทิ ASUS, ASRock, GIGABYTE และ MSI เป็นต้น กับการติดตั้งที่มีความสะดวกมากขึ้น ด้วยขั้วต่อพัดลมแบบใหม่ เชื่อมโยงชุดพัดลมเข้าด้วยกัน กับดีไซน์ของปั้มน้ำ ที่ดูโดดเด่น เมื่อเปิดใช้งาน
จุดเด่น
- ติดตั้งสะดวก ชิ้นส่วนไม่เยอะ
- ระบายความร้อนได้ดี
- มีระบบ Anti-Leak Tech
- เสียงพัดลมเงียบ ต่อพ่วงกันแบบ Daisy Chain
- มีแสงไฟ RGB ทั้งพัดลมและปั้มน้ำ
- ท่อปรับหมุนได้ง่าย มีความยืดหยุ่น
- รองรับได้เกือบทุกซ็อกเก็ต Intel และ AMD
ข้อสังเกต
- ปรับแต่งแสงไฟร่วมกับซอฟต์แวร์เมนบอร์ด
- การติดตั้งปั้มน้ำ ต้องดูทิศทางและพื้นที่โดยรอบด้วย
DEEPCOOL LS720 ชุดน้ำ 3 ตอน สวยเย็นเงียบ
Specification
DEEPCOOL LS720 | |
รองรับซ็อกเก็ต | Intel LGA2066/2011-v3/2011/1700/1200/1151/1150/1155 AMD sTRX4/sTR4/AM5/AM4 |
น้ำหนัก | 1607g |
ขนาด Radiator | 402 x 120 x 27mm |
วัสดุของ Radiator | อะลูมิเนียม |
ความยาวท่อ | 410mm |
ขนาดของปั้ม | 86 x 74 x 57mm |
ความเร็วของปั้ม | 3100rpm |
เสียงขณะปั้มทำงาน | 19 dBA |
การเชื่อมต่อ | 3-pin |
แรงดันไฟของปั้ม | 12 VDC, 0.47A |
ค่าการใช้พลังงาน | 5.64W |
ขนาดพัดลม | 120 x 120 x 25mm |
ความเร็วรอบพัดลม | 550-2250 rpm |
อัตราลมไหลผ่าน | 85.85 CFM |
เสียงรบกวน | น้อยกว่า 32.9 dBA |
การเชื่อมต่อพัดลม | 4-pin |
รูปแบบพัดลม | Fluid Dynamic Bearing |
แรงดันไฟพัดลม | 12VDC |
LED Type | Addressable RGB LED |
รองรับการเชื่อมต่อ | ASUS AURA SYNC, RAZER Chroma RGB, GIGABYTE RGB FUSION, MSI MYSTICLIGHT, ASRock POLYCHROME SYNC และ Auto RGB |
Unbox
ในครั้งนี้กับแพ๊คเกจที่ดูแตกต่างออกไปจากกล่องของชุดน้ำหลายรุ่นที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นไปที่กล่องโทนสีเขียวอ่อน แต่สำหรับ LS720 รุ่นใหม่นี้ มาในแบบกล่องสีน้ำตาลด้านในแนว Earth tone และมีกล่องสีขาวครอบอยู่ด้านนอก พร้อมกับภาพกราฟิกของชุดน้ำ วางอยู่โดดเด่น และแถบด้านหลังก็จะเป็นรายละเอียดสเปคชุดน้ำ DEEPCOOL LS720 นี้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลแนะนำเกี่ยว Anti-Leak ที่เป็นไฮไลต์เด่นของชุดน้ำปิด ที่เป็น Liquid Cooling ของ DEEPCOOL รุ่นนี้อีกด้วย ขออธิบายคร่าวๆ ว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวช่วยในการปรับแรงดันภายในระบบชุดน้ำ ที่ทาง DEEPCOOL พัฒนาขึ้นมา เพื่อลดปัญหาการรั่วซึม ของน้ำหรือของเหลวในระบบชุดน้ำปิดหรือ AIO ด้วยการปรับช่องทางการไหลของน้ำ และมีช่องลมเล็กๆ ที่ช่วยระบายแรงดันที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะการไหลเวียนคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
และกราฟิกด้านหน้าแสดงให้เห็นว่า DEEPCOOL รุ่นนี้ ไม่เพียงแค่เป็นชุดน้ำ AIO 3 ตอนธรรมดา แต่ยังมาพร้อมแสงไฟที่สวยงาม ทั้งบนตัวปั้มน้ำและพัดลมทั้ง 3 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บน Radiator
เมื่อแกะกล่องออกมา จะเห็นกล่องแบบกระดาษลูกฟูกภายใน เพื่อกันกระแทกมาอีกชั้นหนึ่ง และมีอุปกรณ์มาให้อีกมากมาย เรียกว่าแน่นกล่องเลยทีเดียว มาแกะดูกันทีละชิ้นดีกว่าครับ
เริ่มที่พัดลมขนาด 120 x 120 x 25mm มาในแบบใบพัดสีขาวแบบ 9 ใบพัด อยู่ในกรอบพัดลมสีดำ ตรงกลางเป็นโลโก้ DEEPCOOL ตัวพัดลมออกแบบมาค่อนข้างดีทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องของเสียงรบกวนที่น้อยกว่า 32.9 dBA ในระดับ Full Load และมีรอบการทำงานสูงสุด 2,250 rpm เลยทีเดียว รวมถึงระยะการใช้งานในสเปคระบุมาที่ 50,000 ชั่วโมง แต่จุดที่สำคัญคือ การต่อพ่วงกันระหว่างพัดลมในแบบ Daisy Chain คือมีคอนเน็คเตอร์บนพัดลมแต่ละตัว เอาสายของพัดลมมาเชื่อมต่อกัน เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
ในกล่องสีน้ำตาลขนาดเล็กที่ใส่มาให้ เก็บอุปกรณ์สำคัญเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคู่มือแนะนำการใช้งาน ส่วนตัวมองว่า ยังคงมีความสำคัญกับการติดตั้งอุปกรณ์ประเภท AIO ที่มีชิ้นส่วนจำนวนมากอยู่พอสมควร แต่ถ้าใครชำนาญแล้ว ก็อาจจะใช้แค่การสังเกตชิ้นส่วนและสติ๊กเกอร์ ที่มักจะบอกหน้าซองว่า ใช้กับซีพียูอะไร นอกจากนี้ในกล่องยังมีส่วนประกอบอื่นเหล่านี้อีกด้วย
ที่เห็นเป็นสายสัญญาณที่เห็นอยู่นี้ เป็นสายต่อเพาเวอร์ ที่เป็นหัวแบบ SATA โดยต่อไฟจากเพาเวอร์ซัพพลาย มายังตัวพัดลม ซึ่งในสายเดียวกันนี้ จะมีหัวต่อพัดลมแบบ 4-pin และ ARGB connector บนเมนบอร์ด ส่วนสายอีกเส้นหนึ่งใช้ต่อเข้ากับปั้มน้ำ ซึ่งสายต่อชุดนี้ ก็เกี่ยวข้องกับแสงไฟ RGB เป็นหลัก
และในแพ๊กเกจ ยังประกอบด้วยน็อตยึด ซึ่งมีขนาดต่างกัน แต่จะแยกถุงออกเป็น AMD และ Intel และมีขาล็อกเป็นชิ้นส่วนแยกออกมาให้ในแต่ละซ็อกเก็ต รวมถึงน็อตสำหรับยึดพัดลมเข้ากับ Radiator และยึดเข้ากับตัวเคสด้วย
ขาล็อคด้านใต้ที่ใช้ร่วมกับซีพียู Intel ในแบบซ็อกเก็ตต่างๆ ตั้งแต่แบบรุ่นเก่า LGA1155 มาจนถึงปัจจุบัน LGA1700 ได้ทุกซ็อกเก็ต แต่สำหรับ AMD สามารถใช้แบบของดั้งเดิมที่มีมาให้ในกล่องซีพียูได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น AMD AM4/ AM5 หรือจะเป็น sTRX4 หรือ sTR4 ก็ตาม
นอกจากนี้ก็ยังมีชิ้นส่วนคล้าย Belt ที่ใช้รัดท่อน้ำทั้งคู่ให้ขนานกันไป และดูสวยงาม เป็นลักษณะของพลาสติกแข็ง ที่มีโลโก้ DEEPCOOL ซึ่งมีให้ถึง 2 ชุดด้วยกัน
Design
ในเรื่องของการออกแบบ ถ้าเทียบกับในซีรีส์ของ GAMMAXX ที่เราเคยได้ทดสอบมาก่อนหน้านี้ ส่วนตัวมองว่า ลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกันมากทีเดียว จะต่างกันส่วนของรายละเอียดและรูปทรงของปั้มน้ำ ที่เดิมจะเป็นแบบกลม แต่ LS720 นี้ จะเป็นแบบเหลี่ยม และมีลูกเล่นอยู่ด้านแสงไฟด้านบนตัวปั้ม ที่เราจะมาแนะนำในรายละเอียดอีกที
สายที่้เป็นท่อน้ำ ความยาว 41cm เป็นแบบสายถักหุ้มบนท่อ ที่มีความแข็งแรง แต่ก็ให้ความยืดหยุ่น ในจุดนี้ ถือว่าใกล้เคียงกับใน GAMMAXX เลยทีเดียว แต่ที่สะดุดตาคือ ให้ตัวรัดท่อมาอีกด้วย
มาดูที่ตัวท่อกันใกล้ๆ จะเห็นได้ชัดว่า สายถักที่หุ้มท่อนี้ สามารถดัดโค้งได้ดี และมีตัวล็อคมายังปั้มน้ำและ Radiator ตัวท่อค่อนข้างยาว ช่วยให้มีระยะในการบิดตัวได้ดีขึ้น
Radiator เป็นแบบอะลูมิเนียมสีดำ มีครีบระบายความร้อนแบบแบบ แต่มีความถี่ ความหนาประมาณ 2.7cm พอติดพัดลม ก็จะพอดีๆ กับพื้นที่ด้านบนของเคส หรือจะติดด้านหน้าเคสก็สะดวกอยู่ไม่น้อย
การออกแบบท่อหรือ Tube ที่มีมาบน AIO รุ่นนี้ นอกจากจะใส่ท่อที่มีความยืดหยุ่นความยาว 41cm มาให้แล้ว ตัวหุ้มที่เป็นสายถัก ก็ยังมีตัวล็อค ให้สายวิ่งไปคู่กันแบบนี้ ทำให้ดูเป็นระเบียบสวยงามมากขึ้น
มาดูที่ตัว Water block และปั้มน้ำกันบ้าง โครงสร้างโดยรอบของปั้มนี้ เป็นโลหะ น้ำหนักพอสมควร อยู่ในโทนสีเทาเมทัลลิค และเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มิติประมาณ 86 (ย) x 74 (ก) x 57mm (ส) โดยมีสายต่อ 2 จากปั้ม 2 เส้น ประกอบด้วย สายต่อ RGB และ 3-pin สำหรับ Water pump connector สามารถเช็คดูจากเมนบอร์ดได้ หรือจะใช้คอนเน็คเตอร์พัดลม CPU Fan ก็ได้เช่นกัน
ความสูงโดยประมาณของตัวปั้ม ไม่รวมฐานที่เป็นหน้าสัมผัสทองแดง จะอยู่ที่ราวๆ 5cm ส่วนที่เหลือ ก็จะเป็นตัวโครงสร้างและฐานหน้าสัมผัส
เมื่อหงายออกมาจะเป็นแบบนี้ โครงสร้างโดยรอบจะเป็นโลหะ ครอบด้วยพลาสติกและเจาะรู สำหรับยึดขา และหน้าสัมผัสนี้ มีขนาดใหญ่มากพอสำหรับซีพียูอย่าง AMD sRTX4 ที่วางได้แบบพอดี ส่วนถ้าเป็น LGA หรือซ็อกเก็ตแบบ AM4 พื้นฐานแล้ว ครอบคลุมได้อย่างเต็มที่ โดยมีแผ่น Thermal compound มาใช้เป็นตัวเชื่อมหน้าสัมผัสให้แนบแน่น และถ่ายเทความร้อนได้ดี แต่โดยส่วนตัวมองว่า หากใครยังไม่พอใจในแผ่นช่วยระบายความร้อนนี้ ก็สามารถหาซิลิโคนคุณภาพดีๆ มาใช้แทนกันได้ แค่เช็ดออก แล้วป้ายซิลิโคนลงไปได้เลย
Install
มาดูที่การติดตั้งกันบ้าง จากที่เราได้ลองใช้งาน DEEPCOOL LS720 รุ่นนี้ มีขั้นตอนไม่มาก แต่อาจจะต้องเช็คพื้นที่และเตรียมเคสให้เหมาะสม โดยเริ่มจาก ลองนำ Radiator มาวัดพื้นที่แบบคร่าวๆ ว่าจะจัดวางลงจุดใด เพราะบางเคส อาจจะวางด้านบนได้ แต่บางรุ่นก็ติดตั้งได้แค่ด้านหน้าเคส ซึ่งก็อย่าลืมว่า ส่วนใหญ่จะติดตั้งพัดลมไว้ด้านหน้าเคสอยู่บ้างแล้ว คุณก็จะต้องถอดพัดลมออกก่อน
อย่างเช่นตัวอย่างของเคสที่เราใช้อยู่นี้ เป็นเคส DEEPCOOL CG540 มีพัดลมมาให้ด้านหน้า 3 ตัว ซึ่งถ้ามองกันตามความเหมาะสม การวางชุด Radiator ด้านหน้า ก็ทำให้จัดวางและเดินสายได้ง่ายขึ้น รวมถึงดูดลมเย็นเข้ามาที่ Radiator ได้คล่องตัวกว่า แต่ด้านบนก็พอมีพื้นที่ เพียงแต่ว่าจะแน่นไปหน่อย ทำให้ไปเบียดกับเมนบอร์ดมากเกินไป ทำให้การเดินสายหรือ Maintenance อาจไม่สะดวก ก็ต้องเริ่มถอดพัดลมเก่าของเคสออกก่อน
จากนั้นติดตั้งเมนบอร์ดและซีพียูลงไปให้เรียบร้อย แนะนำว่าอย่าเพิ่งใส่การ์ดจอ แรมหรืออุปกรณ์อื่นใด ที่จะเกะกะเวลาที่ติดตั้ง
นำพัดลมมาติดตั้งลงบน Radiator ให้เรียบร้อย โดยให้เช็คคอนเน็คเตอร์บนพัดลมแต่ละตัว ให้หันไปยังจุดที่คุณเก็บซ่อนสายได้สะดวก อย่างเช่น ที่เราทดสอบนี้ หันไปทางด้านในของเคส ซึ่งจะมีช่องลอดสายสัญญาณไปยังด้านหลังได้
จากภาพที่เห็นนี้ เราสามารถนำสายต่อพัดลมตัวแรก มาต่อตัวที่ 2 และพัดลมตัวที่ 2 มาต่อตัวที่ 3 ได้ ซึ่งทาง DEEPCOOL เรียกว่าเป็นแบบ Daisy Chain ด้วยการเสียบเข้ากับคอนเน็คเตอร์บนพัดลม ที่ทาง DeepCool ออกแบบมา ซึ่งข้อดีคือ ไม่ต้องวุ่นวายกับสายต่อให้ยุ่งยาก แต่คุณต้องติดตั้งให้เรียบร้อยก่อน เพราะถ้าไขน็อตล็อกเข้ากับเคสแล้ว ต้องรื้อกันใหม่เลยทีเดียว
เมื่อติดตั้งพัดลมและบรรดาสายต่างๆ เข้าไปแล้ว ก็ติด Radiator เข้ากับตัวเคส บริเวณด้านหน้าให้แน่น ด้วยน็อตที่ให้มาในกล่อง
เมื่อได้รูปร่าง พื้นที่ลงตัว ก็เริ่มจัดสายที่เป็นท่อน้ำให้ลงตัว ลองวัดมุมก่อนว่า จะดัดสายในแบบไหนดี แต่ด้วยความยาวสายที่มากถึง 41cm ก็ยืดหยุ่นมากพอให้กับการจัดวางในแบบที่ชอบได้ง่ายขึ้น
เมื่อได้รูปแบบของสายที่จะวาง ก็มาเตรียมตัว Water block หรือปั้มน้ำกัน สังเกตว่าจะมีรูเล็กๆ สำหรับติดตั้งตัวล็อคอยู่โดยรอบ 4 รูด้วยกัน
ให้เราใช้แผ่นเพลตแบบนี้ ที่มีมาให้ แยกการใช้งานระหว่างแพลตฟอร์มของซีพียู Intel และ AMD จากตัวอย่างนี้ เราใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 4500 ตัวล็อคอาจจะต้องลองเช็คดูด้วยว่า เมื่อล็อคแล้ว มุมที่ได้ตรงกับซ็อกเก็ตของซีพียูบนเมนบอร์ดหรือไม่
โดยรูปแบบที่ทาง DEEPCOOL แนะนำในการติดตั้งชุด AIO นี้ จะวางชุดที่เป็นข้อต่อท่อน้ำ ให้อยู่ด้านล่าง ซึ่งเท่าที่เราได้ทดสอบ ก็ค่อนข้างเหมาะจริงๆ เพราะถ้าหันไปทางด้านข้างขวา จะไปเบียดกับชุดแรมอยู่บ้าง แต่ถ้าใครใช้แรมแบบไม่มีซิงก์ ก็จะวางได้พอดีๆ แต่ถ้าหันข้อต่อไปด้านบน ส่วนใหญ่จะติดกับซิงก์ภาคจ่ายไฟนั่นเอง แบบนี้ถือว่าเหมาะที่สุด
หลังจากที่ติดตั้งและใช้ตัวล็อคที่มีมาให้หมุนเข้าไปด้วยมือ และใช้ไขควง 4 แฉกไขพอให้ตึงมือ เท่านี้เป็นอันเสร็จสิ้น ตัวแผ่นที่ติดอยู่ด้านบนนของปั้มน้ำ สามารถปรับหมุนได้ตามใจชอบ
เมื่อการติดตั้งเสร็จสิ้น ก็จะออกมาประมาณนี้สำหรับ DEEPCOOL LS720 ในจุดนี้ ลองเช็คสายสัญญาณหรือคอนเน็คเตอร์ที่ต่อกับเมนบอร์ดอีกครั้ง ซึ่งจะมี 3 จุดหลักคือ หัวต่อ SATA สำหรับไฟ RGB และ RGB connector รวมถึง หัวต่อพัดลมแบบ 3-pin บนเมนบอร์ด เพราะถ้าไม่ได้ต่อหรือหลุด พัดลมหรือแสงไฟอาจไม่ทำงาน
และเมื่อพร้อมแล้ว ก็เปิดคอมบูตเข้าสู่ระบบได้เลย และถ้าระบบน้ำไฟทำงาน ก็จะมีแสงไฟปรากฏอยู่บนปั้มน้ำ รวมถึงพัดลมครบทุกจุด ซึ่งหากไม่ทำงาน วูบดับ หรือไม่ติด ก็ให้เช็คสายต่อหรือขาล็อคว่าแน่นหนาดีหรือไม่ และเมื่อแสงไฟทุกอย่างติด พร้อมใช้งานแล้ว เราจะแนะนำวิธีการปรับแต่งแสงไฟกันต่อไปครับ
Lighting
เรื่องของแสงไฟ RGB ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชุดคอมของคุณโดดเด่นขึ้น โดยที่ DEEPCOOL LS720 มาพร้อมกับ LED RGB บนปั้มน้ำและพัดลมทั้ง 3 ตัว ที่ติดตั้งอยู่บน Radiator และผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อ ARGB Header ในแบบ 3-pins ที่มีมาให้กับ AIO ชุดนี้ เข้ากับคอนเน็คเตอร์บนเมนบอร์ดได้ แต่การควบคุมและปรับแต่งแสงสี จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกับฟีเจอร์บนเมนบอร์ดค่ายต่างๆ เช่น ASUS AURA SYNC, RAZER Chroma RGB, GIGABYTE RGB FUSION, MSI MYSTICLIGHT และ ASRock POLYCHROME SYNC เป็นต้น
จากตัวอย่างนี้ เราใช้เมนบอร์ด GIGABYTE AORUS B450 Elite ซึ่งมีคอนเน็คเตอร์ RGB อยู่บนเมนบอร์ด พร้อมฟีเจอร์ที่เรียกว่า RGB FUSION ซึ่งสามารถปรับแต่งแสงไฟ RGB ได้อย่างสวยงาม
อย่างเช่น ตัวอย่างของ RGB FUSION ที่สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ GIGABYTE มาติดตั้ง และระบบจะตรวจเช็คฮาร์ดแวร์ เมื่อพบข้อมูลของพัดลมและปั้มน้ำจาก RGB Header ที่ติดตั้งแล้ว ก็สามารถปรับแต่งแสงไฟได้ตามต้องการ
โดยเมื่อเข้าไปในซอฟต์แวร์แล้ว จะมีให้เลือกแบบโหมดใช้งานปกติ และ RGB FUSION โดยจะมีโพรไฟล์แสงไฟ RGB ให้เลือกมากกว่า 10 โพรไฟล์ รวมถึงบันทึกรูปแบบของโพรไฟล์ที่ปรับแต่งเก็บเอาไว้ใช้งานได้อีกด้วย
เนื่องจากเมนบอร์ด AORUS B450 รุ่นนี้ มีจุดแสงไฟ RGB และหัวต่อด้วยการหลายส่วน จึงสามารถเลือกปรับแต่งแสงไฟได้หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
มาดูที่ความสวยงาม เมื่อเปิดใช้งานแสงไฟ RGB ของชุดน้ำ AIO จากทาง DEEPCOOL รุ่นนี้กันบ้าง แสงไฟในโหมดต่างๆ ที่ผู้ใช้ปรับแต่ง สว่างเจิดจ้าขึ้นมาได้อย่างสวยงาม เอาใจคนที่ชอบแต่งคอมให้ดูเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบนซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการปรับแต่ง สามารถเลือกเพิ่ม-ลดระดับความสว่างได้ รวมถึงปิดแสงไฟก็ได้เช่นกัน ในภาพอาจจะยังดูไม่สดใสมากพอ เพราะในสภาวะจริงๆ แสงสว่างสดใส และสีสวยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปั้มน้ำหรือพัดลมก็ตาม
และนอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นมาบนตัวปั้มน้ำอีกด้วย นั่นคือ ชิ้นส่วนที่เป็นสี่เหลี่ยมครอบด้านบนปั้ม นอกจากจะหมุนได้รอบทิศแบบ 360 องศาแล้ว ยังถอดเปลี่ยนชิ้นงานสลับมาใส่ให้ดูสวยงามแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบของคุณเอง
ชิ้นพลาสติกเล็กๆ ที่ทาง DEEPCOOL ใส่มาให้ในกล่อง สามารถถอดเปลี่ยนได้ ด้วยการดึงออกมาแบบตรงๆ อาจจะแข็งนิดหน่อย แต่ค่อยๆ ขยับก็ดึงออกมาได้แล้ว ด้านในก็จะเป็นตัวล็อคพลาสติกแบบภาพด้านบนนี้เลย
ภาพนี้จะเป็นตัวอย่างกราฟิกแบบเก๋ๆ ที่ผู้ใช้นำไปปรินต์แล้วนำมาแปะไว้บนปั้มน้ำนี้ได้ โดยจะมีขนาด 42x42mm แต่ถ้าจะให้ดี ก็อยากให้ทาง DEEPCOOL จัดเป็นบันเดิลมาไว้ให้ในกล่องด้วยเลย จะได้ไม่ต้องไปหาทำเพิ่มก็จะดีไม่น้อย
อันนี้เป็นตัวอย่างกราฟิก ที่เรานำมาให้ได้ดูกัน โดยใช้เป็นโลโก้ NBS ของทาง Notebookspec ซึ่งภาพก็จะออกมาในสไตล์เช่นนี้ ส่วนใครจะออกแบบเป็นรูปใด หรือจะทำเป็นภาพจาก NFT ของตัวเอง ก็เลือกได้ตามใจชอบเลยครับ แต่ให้อยู่ในขนาดที่กำหนดไว้ และด้านหลังโปร่งแสงได้ ก็จะยิ่งดูสวยงาม
และเมื่อเซ็ตสิ่งต่างๆ เอาไว้พร้อมแล้ว เช่นเดียวกับการปรับแต่งแสงไฟของ DEEPCOOL LS720 ให้ลงตัวกับการจัดโต๊ะคอมของคุณ ก็ไปลุยทดสอบในด้านการระบายความร้อนกันได้เลย
Performance
ตัวปั้มน้ำทาง DEEPCOOL ออกแบบมาในซีรีส์ของ LS ใหม่ เป็นแบบปั้ม 3-phase บนเจเนอเรชั่นที่ 4 ซึ่งออกแบบมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างภายใน กับหน้าสัมผัสที่ใช้ร่วมกับซีพียูรุ่นใหม่ๆ ได้ และเมื่อดูจากความเร็วรอบของปั้มที่ทำได้ถึง 3,100 rpm เรียกว่าการไหลเวียนของน้ำภายใน ที่วิ่งผ่านเข้าออกได้ไวขึ้น สามารถนำพาความร้อนจากซีพียูได้รวดเร็ว และผ่าน Tube ไปถึง Radiator ได้ไว โดยมีลูกเล่นทั้งในเรื่องของแสงไฟ และสีสันที่ด้านบนของปั้มที่ปรับเปลี่ยนได้
มาเริ่มกันที่การทดสอบบนซีพียู AMD Ryzen 5 4500 ซึ่งเป็นซีพียูในแบบ 6 core/ 12 thread ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 4.2GHz ในโหมด idle นั้นความร้อนของซีพียู ที่มีโหลดอยู่ราวๆ 8-10% อุณหภูมิอยู่ที่ 31-37 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าเย็นสบาย และยังเย็นกว่าฮีตซิงก์เดิมๆ อยู่ไม่น้อยเลย
มาดูที่การทดสอบแบบ Full Load ด้วยการใช้โปรแกรม Furmark ในโหมด CPU Burner เพื่อเร่งการทำงานของซีพียูในทุกแกนหลัก ไม่ว่าจะเป็น Core/ Thread และความเร็วสัญญาณนาฬิกาให้ไปถึงขีดสุด ด้วยความเร็วที่ 4.2GHz เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ในห้องอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งผลที่ได้ค่อนข้างน่าประทับใจ เพราะอุณหภูมิไปสูงสุดเพียง 49 องศาเซลเซียสเท่านั้น เย็นกว่าการใช้ซิงก์ธรรมดาอยู่พอสมควร นอกจากนี้ยังแทบจะไร้เสียงรบกวน เมื่ออยู่ในเคส ที่ปิดฝาข้างแล้ว ซึ่งหากเป็นฮีตซิงก์ปกติ การมีโหลดที่สูงเช่นนี้ เสียงพัดลมก็จะดังตามไปด้วยอย่างแน่นอน
และมาดูที่การทดสอบด้วยเกมกันบ้าง สำหรับ Red Dead Redemption 2 ซึ่งใช้ซีพียูประมาณ 45-52% ในการทำงานบนสัญญาณนาฬิกา 4.20GHz เกมนี้ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในหลายๆ เกม ที่มีการใช้พลังซีพียูมากพอสมควร โดยอุณหภูมิในการทำงานอยู่ที่ประมาณ 32-37 องศาเซลเซียสเท่านั้น เรียกว่าสบายๆ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ยังทำงานอื่นๆ ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการสตรีมมิ่งหรือการเปิดโปรแกรมอื่นๆ ร่วมกันไปด้วย
และเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น เราได้ใช้โปรแกรม CINEBench R23 ที่เป็นหนึ่งในโปรแกรมตัวแทนการเรนเดอร์ไฟล์ 3D จากในส่วนของ CINEMA4D มารันแบบมัลติทาส์ก เพื่อเป็นการจำลองการทำงานจริง โดยซีพียูจะเร่งสปีดทั้งแกนหลักและสัญญาณนาฬิกาไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผลทดสอบการระบายความร้อนของ DEEPCOOL LS720 ก็ยังคงทำได้อย่างน่าประทับใจ เพราะอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 44-50 องศาเซลเซียสมีขยับขึ้นลงบ้างตามจังหวะ แต่ซีพียูก็ทำงานระดับ 100% ใครที่กำลังเซ็ตเครื่องทำเป็นเวิร์กสเตชั่น การระบายความร้อนที่ดี ก็ช่วยให้งานลื่นขึ้นได้
Conclusion
จุดเด่นที่ทาง DEEPCOOL จัดเตรียมไว้ให้พอสมควรบน AIO รุ่นนี้ ก็ตอบโจทย์การใช้งาน และการระบายความร้อนให้กับซีพียูรุ่นต่างๆ ไว้อย่างครบครัน ชนิดที่ว่าไม่ต้องหาอะไรมาเติม ไม่ว่าจะเป็นปั้มน้ำที่ ออกแบบมาได้ดี เสียงรบกวนน้อย และยังมีระบบ Anti-Leak ให้ความมั่นใจไม่รั่วซึมได้ง่าย พร้อมแสงไฟ RGB รวมถึงลูกเล่นที่สามารถถอดชิ้นส่วนด้านบนออกได้ และเปลี่ยนสีสันรูปภาพได้ตามใจ แต่ก็ติดตรงที่น่าจะทำชิ้นส่วนสำรองให้เปลี่ยนมาให้ในกล่องด้วยเลยน่าจะดี เช่นเดียวกับการติดตั้งที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และยังมีพัดลมเสียงเบา ลมแรง และมีไฟ RGB และยังเป็นแบบ Daisy Chain ที่ต่อพ่วงกันตัวต่อตัว ไม่ต้องวุ่นวายกับสายให้เกะกะ และแสงไฟที่ปรับแต่งได้ผ่านทางซอฟต์แวร์เมนบอร์ดค่ายชั้นนำต่างๆ ได้อีกด้วย สุดท้ายนี้ ในช่วงที่เราทำบทความ ก็ยังไม่มีเรื่องของราคาที่เคาะออกมาอย่างเป็นทางการ สำหรับ LS720 รุ่นนี้ อย่างไรก็ดีเราคาดการณ์ว่าน่าจะสูงจาก GAMMAXX L360 ที่เป็น Liquid Cooling แบบ 3 ตอน ที่เป็นซีรีส์รองลงไปอยู่ไม่มากนัก และคู่แข่งในท้องตลาดก็มีอยู่หลายรุ่นเลยทีเดียว สุดท้ายนี้ DEEPCOOL LS720 ดูจะเหมาะกับคนที่ประกอบคอมใหม่ แล้วใช้ซีพียูระดับกลางๆ ขึ้นไป เน้นระบายความร้อนดี และเสียงรบกวนน้อย ที่สำคัญติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน และเหมาะกับคนที่ต้องการชุดน้ำปิดที่แต่งคอมสวยได้เลยในตัว DEEPCOOL รุ่นนี้เหมาะอย่างยิ่ง