ASUS ExpertBook B7 Flip โน๊ตบุ๊คมี 5G ของตัวเอง ไม่ง้อ Wi-Fi ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา
เมื่อขึ้นชื่อว่า ExpertBook อย่าง ASUS ExpertBook B7 Flip เมื่อไหร่ คำจำกัดความของโน๊ตบุ๊คตระกูลนี้คือ เป็นโน๊ตบุ๊คเพื่อคนทำงานไม่ว่าจะสเปค, ระบบรักษาความปลอดภัยตัวเครื่องทั้งที่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าและบานสไลด์ปิดกล้อง Webcam และขึ้นชื่อเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวครบเครื่อง จะต่อกับอุปกรณ์ไหนก็ต่อได้ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริมอย่าง Multiport Adapter เลย ซึ่ง ASUS ExpertBook B7 Flip ก็ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของซีรี่ส์นี้และให้มาเยอะกว่ารุ่นอื่นด้วยซ้ำ เพราะมันรองรับ 5G และมีตัวอ่าน Smart Card ติดตั้งมาให้จากโรงงานเลย และใช้ปากกา ASUS Stylus Pen วาดเขียนบนหน้าจอได้อีก
ด้านของซอฟท์แวร์ ต้องถือว่ามาครบครันทั้ง Windows 11 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2021 และได้หน้าจอทัชสกรีน พร้อมดีไซน์แบบ Flip พับหน้าจอเป็นแท็บเล็ตได้และมีปากกา ASUS Stylus Pen ติดมาในกล่องพร้อมใช้งาน เรียกว่าครบเสียยิ่งกว่าครบ ถ้าใครหาโน๊ตบุ๊คทำงานสักเครื่องไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์เสริมอะไรเลยก็ได้ และยิ่งเหมาะกับข้าราชการที่ต้องสำรวจสำมะโนครัวประชากรหรือแพทย์ก็ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยาก แค่ติดตั้งซอฟท์แวร์เฉพาะก็สามารถอ่านข้อมูลบัตรแบบ Smart Card ได้แล้ว
*สำหรับรุนที่รองรับ 5G จะเป็นการสั่ง Customize to order เท่านั้น ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
ยิ่งไปกว่านั้น ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ก็เสริมฟังก์ชั่นคีย์ลัดกำหนดเองได้อย่าง ASUS ExpertWidget เอาไว้ที่ปุ่มหมายเลข 1-4 ด้วย สามารถเซ็ตคำสั่งหรือโปรแกรมใช้งานบ่อยเอาไว้แล้วเรียกคำสั่งหรือโปรแกรมนั้นขึ้นมาใช้ได้เลย และยังมี ASUS NumberPad แป้นตัวเลขไฟ LED บนแป้นทัชแพดสำหรับพิมพ์ตัวเลขติดตั้งมาให้ นับว่าครบจบในเครื่องเดียวจนหาคู่แข่งเปรียบแทบไม่ได้เลย
NBS Verdicts
ถ้าพูดถึง ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ ต้องถือว่าทางบริษัทออกแบบและใส่ฟีเจอร์มาแบบครบเครื่องจนแทบหาที่ติไม่ได้ ไม่ว่าจะพอร์ตรอบตัวครบเครื่อง, รองรับการเชื่อมต่อ 5G และมีตัวอ่าน Smart Card ฝังเอาไว้ในเครื่องแบบครบถ้วนพร้อมทำงานได้สบายๆ และยังรองรับ NFC อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้มีโน๊ตบุ๊คไม่กี่รุ่นเท่านั้นจะรองรับการเชื่อมต่อไร้สายเช่นนี้ได้ และยังปลอดภัยและเป็นส่วนตัวสุดๆ เพราะมีกล้องสแกนใบหน้าและเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาพร้อมใช้งานและยังมี ASUS NumberPad ให้พิมพ์เลขได้สะดวกขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ทาง ASUS ก็ตีโจทย์แตกเรื่องกลุ่มผู้ใช้ จึงให้โปรแกรมมาครบถ้วนทั้ง Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 เปิดเครื่องมาก็ทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟท์แวร์เพิ่มเติมให้เสียเงินใดๆ และดีไซน์รายละเอียดปลีกย่อยให้เอื้อคนทำงานสุดๆ ตอบโจทย์คนทำงานหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะข้าราชการสำมะโนประชากร, แพทย์หรือจะพนักงานออฟฟิศก็น่าซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปใช้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเล็กน้อยของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ คือ แบตเตอรี่ใช้งานได้นานสุดเพียง 8 ชั่วโมง 29 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยไปบ้าง เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานจากแบรนด์คู่แข่งหลายๆ รุ่นก้าวข้ามไประดับ 10 ชั่วโมงขึ้นไปแล้ว ถือว่าเรื่องแบตเตอรี่ยังไม่ได้ทนทานใช้งานได้นานเท่ากับโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ควรทำได้ และไม่มีช่อง MicroSD Card Reader ติดตั้งมา ถ้าใครต้องโอนไฟล์วิดีโอหรือภาพจากกล้องก็ต้องหาตัวอ่านมาใช้งานเพิ่มด้วย
ข้อดีของ ASUS ExpertBook B7 Flip
- ซีพียูเป็น Intel Core i5-1155G7 ประสิทธิภาพดี ทำงานต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
- ได้แรม 16GB DDR4 จากโรงงาน รองรับการอัพเกรดได้ 64GB
- มี Microsoft Office Home & Student 2021 ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งาน
- รองรับการเชื่อมต่อ 5G ใส่ซิมการ์ดแล้วต่ออินเตอร์เน็ตได้โดยไม่พึ่ง Wi-Fi ได้เลย
- มีหัวอ่าน Smart Card ติดตั้งมาให้ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม
- รองรับการเชื่อมต่อไร้สายด้วย NFC ทำให้รับส่งข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว
- มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือกับกล้องสแกนใบหน้าครบถ้วนทั้งสองแบบพร้อมบานชัตเตอร์ปิดกล้อง Webcam เวลาไม่ต้องการใช้งาน
- พอร์ตเชื่อมต่อครบครันและหลากหลาย ไม่ว่าจะ USB-A 3.2 Gen 2, Thunderbolt 4, Mini DisplayPort, HDMI, micro HDMI ใช้แทนพอร์ต LAN ด้วย
- หน้าจอทัชสกรีน ใช้ปากกา ASUS Stylus Pen เขียนบนหน้าจอได้สะดวก
- งานประกอบตัวเครื่องแข็งแรงทนทาน พับใช้งานเป็นแท็บเล็ตได้ด้วย
- มี ASUS NumberPad ใช้งานเป็น Numpad ได้ ตอบสนองรวดเร็วเหมือนแป้นจริง
- ตั้งค่าปุ่มลัดไว้ที่เลข 1-4 ด้วยฟีเจอร์ ASUS ExpertWidget ได้ เรียกโปรแกรมใช้งานบ่อยได้สะดวก
ข้อสังเกตของ ASUS ExpertBook B7 Flip
- ไม่มีช่อง MicroSD Card Reader ต้องหาซื้อตัวอ่านการ์ดมาต่อเพิ่มเติม
- แบตเตอรี่ใช้งานได้ 8 ชั่วโมง 29 นาที ซึ่งถือว่าน้อยไปบ้าง ควรได้ราว 10 ชม. ขึ้นไป
- ช่องแรมปิดผนึกไว้แน่นหนา ถ้าจะอัพเกรดควรให้ผู้เชี่ยวชาญของ ASUS เป็นคนจัดการ
รีวิว ASUS ExpertBook B7 Flip
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
สเปคของ ASUS ExpertBook B7 Flip ต้องถือว่าเป็นสเปคเพื่อคนทำงานมาก ทั้งซอฟท์แวร์ครบเครื่อง สเปคดีสามารถทำงานหนักๆ ได้แน่นอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- CPU : Intel Core i5-1155G7 แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.5-4.5GHz
- GPU : Intel Iris Xe Graphics
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- RAM : 16GB DDR4 3200MHz
- Display : ทัชสกรีน 14 นิ้ว ความละเอียด WQXGA (2560×1600) พาเนล IPS อัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB
- Ports : USB-A 3.2 Gen 2 x 2, Thunderbolt 4 x 2, Mini DisplayPort x 1, HDMI 2.0b x 1, micro HDMI x 1 (ใช้แทน RJ45 LAN), Smart Card Reader x 1, SIM Card x 1 รองรับ 5G, Audio Combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.2, NFC
- Webcam : 720p HD Camera
- Software : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 1.44 กิโลกรัม
- Price : 40,900 บาท (ราคากลาง)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ ASUS ExpertBook B7 Flip จะเป็นดีไซน์คล้ายคลึงกับ ASUS ExpertBook รุ่นอื่นๆ ในซีรี่ส์ ซึ่งหน้าตาจะเน้นความเรียบง่าย บอดี้ตัวเครื่องเป็นสีดำทำจากพลาสติกแข็ง ให้ความทนทานและผ่านมาตรฐานทดสอบความแข็งแรง MIL-STD 810H แล้ว มั่นใจเรื่องความทนทาน ไม่มีปัญหาตัวเครื่องเสียหายเมื่อตกกระแทกหรือถูกของแข็งอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัทก็ออกแบบให้แป้นคีย์บอร์ดกันน้ำหกได้ระดับหนึ่งอีกด้วย
เมื่อมีคำว่า Flip อยู่ในชื่อ ASUS จึงดีไซน์ให้ฐานหน้าจอเป็นโลหะแบบพับกลับเป็นแท็บเล็ตได้และมีขอบพลาสติกอยู่ 4 มุมของตัวเครื่องยื่นขึ้นมา ป้องกันหน้าแป้นคีย์บอร์ดรูดกับพื้นโต๊ะโดยตรง ป้องกันการเสียหายและริ้วรอยต่างๆ ถ้ากางใช้งานแบบโน๊ตบุ๊คแล้วขอบล่างตัวหน้าจอจะดันตัวเครื่องขึ้นเล็กน้อยให้แป้นพิมพ์เฉียงขึ้น ช่วยให้พิมพ์งานได้สะดวก เป็นการออกแบบ ErgoLift hinge และมีขอบพลาสติกเล็กๆ ป้องกันขอบล่างหน้าจอรูดกับพื้นโต๊ะเช่นกัน ส่วนโลโก้ชื่อซีรี่ส์จะติดอยู่ตรงกลางเหนือแป้นคีย์บอร์ด เขียนว่า ASUS ExpertBook
ส่วนบอดี้ขอบล่างตัวเครื่องใต้ทัชแพดจะตัดเว้นเฉียงเป็นแถบยาว ให้ผู้ใช้สามารถกางหน้าจอได้ด้วยนิ้วเดียว สามารถกางได้ง่ายและขาฐานหน้าจอแข็งแรงไม่มีอาการกระพือแต่อย่างใด รวมทั้งบาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องได้ดีจนบอดี้ตัวเครื่องไม่ยกตามหน้าจอขึ้นมาอีกด้วย
ด้านหลังของตัวเครื่องจะดีไซน์เรียบง่าย ไม่มีลวดลายอะไรเป็นพิเศษยกเว้นโลโก้ ASUS ตรงกลางเท่านั้น และมีโลโก้ ExpertBook ติดเอาไว้มุมบนซ้ายมือ ซึ่งโลโก้นี้มีฟังก์ชั่นพิเศษคือ ถ้ากด Fn+1 แล้ว จะมีไฟ LED สีแดงติดขึ้นมาเพื่อบอกคู่สนทนาที่ต้องการจะคุยกับเจ้าของเครื่องได้ ว่าตอนนี้กำลังติดประชุมหรือมีธุระอยู่ได้ด้วย จะได้ไม่ถูกรบกวนระหว่างติดสายประชุมสำคัญ
ด้านการออกแบบ ถือว่าเรียบง่ายสวยงามซ่อนช่องระบายความร้อนเอาไว้ ให้ความสวยเรียบร้อยไม่ประเจิดประเจ้อจนเกินไป แต่ถ้าพับเป็นแท็บเล็ตหรือพับจอกลับเป็นทรงเต็นท์ก็จะเห็นช่องระบายความร้อนอยู่ ถือว่าทางบริษัทออกแบบ ASUS ExpertBook B7 Flip ออกมาได้สวยเรียบร้อยดีมาก
ด้านใต้ตัวเครื่องจะออกแบบให้เรียบง่าย มีช่องอากาศเข้า 1 แถบใหญ่ตรงกลางด้านบนเครื่องและเจาะช่องลำโพงเอาไว้ด้านใต้แท่นพักข้อมือทั้งสองฝั่งเครื่อง พร้อมยางรองใต้ตัวเครื่อง 3 เส้นด้วยกัน แบ่งเป็นเส้นเล็กสองเส้นด้านใต้ที่วางข้อมือและเส้นยาวอีกเส้นหนึ่ง ป้องกันด้านใต้ตัวเครื่องไม่ให้ตัวเครื่องถูกกับพื้นโต๊ะโดยตรง ป้องกันตัวเครื่องเกิดรอยและความเสียหายได้
Screen & Speaker
หน้าจอของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ จะเป็นไซซ์ 14 นิ้ว ความละเอียด WQXGA (2560×1600) พาเนล IPS อัตราส่วน 16:10 ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB และดีไซน์กรอบหน้าจอให้บางเพื่อเพิ่มพื้นที่แสดงผล โดยมีอัตราส่วนหน้าจอต่อตัวเครื่อง (Screen-to-body ratio) อยู่ที่ 81% ด้วยกัน รองรับการทัชหน้าจอและใช้ ASUS Stylus Pen เขียนจดวาดได้ด้วย
ขอบด้านบนตัวเครื่องจะมีกล้อง Webcam และ IR Camera สำหรับสแกนใบหน้าติดตั้งไว้ รองรับการทำงานร่วมกับฟังก์ชั่น Windows Hello ถ้าไม่ต้องการใช้กล้องแล้ว ก็สไลด์บานปิดกล้อง Webcam มาปิดได้เลย และกล้องจะกลายเป็นจุดสีส้มเช่นในภาพ จัดว่าทาง ASUS ให้ฟังก์ชั่นมาครบเครื่องมาก เสริมความสะดวกและความเป็นส่วนตัวได้สูงสุด
ขอบเขตสีของหน้าจอหลังจากวัดด้วย Spyder5Elite แล้ว ได้ผลว่าหน้าจอของ ASUS ExpertBook B7 Flip นี้ แสดงผลสีได้ 92% sRGB, 71% AdobeRGB, 73% DCI-P3 และค่าความเบี่ยงเบนสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 1.47 เท่านั้น ในเมื่อค่านี้น้อยกว่า 2 ก็การันตีได้ว่าสีสันบนจอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เที่ยงตรง สามารถพรู้ฟสีงานอาร์ตได้ด้วยหรือจะเอาไว้แต่งภาพถ่ายจากกล้องก็ถือว่าใช้ทำได้เช่นกัน
ความสว่างของหน้าจอเมื่อวัดแล้ว ความสว่าง 100% จะสว่างถึง 367 nits ซึ่งทางบริษัทเคลมเอาไว้ว่าพาเนลจอนี้สว่างสุด 400 nits ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก สามารถนั่งทำงานกลางแจ้งอย่างชานร้านกาแฟหรือนั่งทำงานในห้องแล้วแสงอาทิตย์สะท้อนหน้าจอก็ไม่มืดไป แต่ถ้าใช้ในห้องอาคารสำนักงานก็ปรับลงมาราว 75% ก็สว่างถึง 227 nits ก็เพียงพอเช่นกัน หรือถ้าใครเน้นให้ประหยัดแบตเตอรี่ใช้งานได้หลายชั่วโมงก็ปรับลงมาราว 25% ก็จะใช้งานได้นานขึ้นแน่นอน
เมื่อแบ่งพื้นที่บนหน้าจอเป็น 9 ช่องแล้ววัดความสว่างแยกโซนกัน จะเห็นว่าหน้าจอของ ASUS ExpertBook B7 Flip จะสว่างแทบทุกโซนบนหน้าจอ และมีอัตราความสว่างลดลงเพียง 0-6% เท่านั้น ยกเว้นฝั่งขวามือส่วนกลางและล่างของหน้าจอที่ความสว่างลดลงเยอะเป็นพิเศษถึง 8% และ 12% ตามลำดับ ซึ่งคนที่ต้องการแต่งภาพถ่ายจากกล้องหรือต้องพรู้ฟสีควรเลี่ยงสองโซนนี้ไว้ก่อนจะช่วยลดโอกาสการไกด์สีจอเพี้ยนได้
สรุปแล้วหน้าจอของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ ได้คะแนนเฉลี่ยจากการวัดด้วย Spyder5Elite อยู่ 4 จาก 5 คะแนน ถ้าดูแยกเป็นส่วนๆ จะเห็นว่าหน้าจอนี้เด่นเรื่องค่า Contrast ซึ่งได้เต็ม 5 คะแนน ส่วน Gamut, Tone Response, Color Accuracy จะได้ 4.5 จาก 5 คะแนน ซึ่งถือว่าเยอะไม่แพ้กัน
ลำโพงของ ASUS ExpertBook B7 Flip จะมีทั้งหมด 2 ดอกด้วยกันและจูนเสียงด้วยบริษัทรับจูนเสียงลำโพงชั้นนำของโลกอย่าง Harman/Kardon ซึ่งเนื้อเสียงจัดว่าดีใช้ได้ ฟังเพลงได้หลากหลายแนวและเน้นเสียงเครื่องดนตรีกับเสียงนักร้องนำเป็นหลักและได้โทนเสียงค่อนข้างใส ส่วนเบสจะมีระดับหนึ่งพอให้ฟังเพลง EDM กับร็อคได้บ้าง แต่ไม่เด่นนัก จัดว่าถ้าใช้งานทั่วไปก็ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเน้นว่าอยากได้คุณภาพเสียงดีจะต่อลำโพงแยกก็ดีเช่นกัน
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ ASUS ExpertBook B7 Flip เป็นคีย์บอร์ดขนาด 75% พร้อมไฟ LED Backlit สีขาวไฟลอดตัวอักษร สามารถกดเปิดปิดไฟได้ และทางบริษัทจัดการ Mapping ปุ่มรวมไว้กับปุ่มต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นคีย์บอร์ดสำหรับคนทำงานโดยรวมเอาไว้กับปุ่มต่างๆ บนคีย์บอร์ดไว้ และจุดเด่นของ ExpertBook B7 Flip คือ ASUS ExpertWidget ตรงปุ่มเลข 1-4 โดยเซ็ตตั้งค่าได้ในโปรแกรม MyASUS เอาไว้เรียกโปรแกรมหรือคำสั่งลัดใช้งานบ่อยขึ้นมาใช้ได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่มีประโยชน์สำหรับคนทำงานแท้จริง เป็นจุดเด่นที่ส่วนตัวแล้วผู้เขียนชอบมาก ใช้งานได้จริงและสะดวก
ด้านของปุ่ม Function Hotkey ตรง F1-F12 จะถูกตั้งค่ามาจากโรงงานดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียง
- F4-F5 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F6 – ปุ่มปิดหรือเปิดทัชแพด
- F7 – ปิดหรือเปิดไฟ LED Backlit
- F8 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและจอเสริม
- F9 – ปุ่มล็อคตัวเครื่องกลับไปหน้า Log in
- F10 – ปุ่มปิดการทำงาน Webcam
- F11 – Snipping Tool
- F12 – เรียกโปรแกรม MyASUS
จะเห็นว่าปุ่ม F1-F12 ของ ASUS ExpertBook B7 Flip นี้จะถูกตั้งค่ามาคล้ายกับ ExpertBook รุ่นอื่นๆ ในซีรี่ส์ และมีปุ่มเรียกฟังก์ชั่นพิเศษเพิ่มเติมถัดจาก F12 ไปอีก 3 ปุ่มด้วยกันคือปุ่มปิด/เปิดไมค์, ปิดหรือเปิด AI Noise Cancellation เวลาประชุมงานออนไลน์, Print Screen, Delete/Insert ซึ่งถือว่าครบเครื่องทีเดียว แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าปุ่มลัดเรียก Snipping Tool นั้นน่าจะโยกไปรวมกับปุ่ม Print Screen แล้วใส่ Airplane Mode เข้ามาแทนเพื่อปิดหรือเปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะดีกว่า เนื่องจากบางโอกาสไม่ต้องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือ 5G ก็กดบล็อคการเชื่อมต่อได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีปุ่มลัดต่างๆ Mapping รวมเอาไว้กับปุ่มใช้งานทั่วไปด้วย เช่นปุ่มลูกศรขึ้นลงซ้ายขวา ถูกเซ็ตปุ่ม Page Up, Page Down, Home, End เอาไว้ครบถ้วน, Fn+Esc เพื่อล็อคการทำงานปุ่มฟังก์ชั่น กล่าวได้ว่ายกแบบของแป้นคีย์บอร์ดทำงานของโน๊ตบุ๊ค ASUS ExpertBook รุ่นอื่นๆ มาใช้งานตรงๆ เลย
ด้านทัชแพดที่อยู่ระหว่างที่วางข้อมือจะดีไซน์เป็นดีไซน์สี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมฟังก์ชั่น ASUS NumberPad เอาไว้ในตัว แต่ยังเป็นเวอร์ชั่นแรกอยู่จึงมีแต่คำสั่งเปิด Numpad ขึ้นมาใช้งานเท่านั้น ไม่มีฟังก์ชั่นรูปสามเหลี่มตรงฝั่งซ้ายที่ใช้ลดความสว่างหรือเรียกโปรแกรม Calculator ติดตั้งมาให้ ซึ่งแม้จะน่าเสียดายอยู่บ้างแต่ก็ถือว่ายังได้ฟังก์ชั่นใช้งานครบถ้วนอยู่ ด้านการใช้งานตัวทัชแพดรองรับ Gesture Control ของ Windows 11 ครบถ้วนใช้งานสะดวก
ด้านขนาดของทัชแพดตอนวางมือพิมพ์งานแล้ว ทั้งสองมือจะทาบลงริมทัชแพดทั้งสองด้านพอดี ซึ่งอาจจะมีโอกาสทัชแพดลั่นได้บ้าง แต่ถ้าไม่ต้องการก็กดคีย์ลัดปิดการทำงานทัชแพดทิ้งแล้วใช้เมาส์แทนก็ได้
Connector / Thin & Weight
พอร์ตและการเชื่อมต่อของ ASUS ExpertBook B7 Flip ต้องถือว่าให้มาครบเครื่องไม่แพ้รุ่นก่อนและยังให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากรองรับทั้ง NFC, 5G และมีช่องอ่าน Smart Card ซ่อนเอาไว้ด้านใต้ตัวเครื่องฝั่งขวามือด้วย ส่วนพอร์ตด้านข้างเครื่องจะมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – Thunderbolt 4 x 2 ช่อง, HDMI 2.0b, USB-A 3.2 Gen 2, mini HDMI สำหรับต่อแยกเป็น RJ45 LAN ด้วยหัวเชื่อมต่อเฉพาะ, Audio Combo
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 2, ปุ่มเพิ่มลดเสียง, ปุ่ม Power พร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ, ช่อง SIM Card รองรับ 5G, Mini DisplayPort, Kensington Lock, ตัวอ่าน Smart Card (ซ่อนอยู่ขอบด้านใต้เครื่อง)
ถ้าดูจากพอร์ตต้องถือว่าทาง ASUS อัพเกรดพอร์ตของ ExpertBook B7 Flip ให้เป็นพอร์ตใหม่ล่าสุดจนหมดแล้วและยังเพิ่มพอร์ตใหม่ๆ มาครบ โดยตัด VGA ทิ้งไปและลดความหนาของตัวเครื่องจากช่อง RJ45 LAN โดยเปลี่ยนให้ต่อผ่าน Mini HDMI แทน ก็ถือเป็นวิธีที่ดีมาก หากพอร์ตไม่พอใช้งานก็ซื้อ USB-C Multiport Adapter มาต่อกับ Thunderbolt 4 แปลงเป็นพอร์ตอื่นๆ เพิ่มได้ แต่น่าเสียดายว่า ASUS น่าใส่ MicroSD Card Reader เข้ามาให้อีกสักช่องจะครบเครื่องกว่านี้ ซึ่งถ้าใครต้องโอนไฟล์เข้าออก MicroSD card เป็นประจำก็หา USB Card Reader มาใช้เพิ่มเติมอีกหน่อยก็ได้และราคาของอุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวก็ไม่แพงมากอีกด้วย
ปากกา ASUS Stylus Pen ด้ามนี้จะเป็นด้ามสหกรณ์ใช้ร่วมกับโน๊ตบุ๊คจอทัชสกรีนรุ่นอื่นๆ ของทางบริษัท สามารถใช้วาดเขียนจดหรือทำมาร์กอัพบนเอกสารหรือภาพที่ต้องการได้ง่ายๆ ใช้ถ่าน AAAA x 1 ก้อนเท่านั้น เมื่อไม่ใช้งานก็นำมาดูดติดไว้กับขอบหน้าจอส่วนบนขวาใกล้เพลตโลหะ ExpertBook ได้ด้วย การวาดเขียนถือว่าตอบสนองได้ดี
นอกจากนี้ในกล่องจะมีหัวแปลง Mini HDMI เป็น RJ45 LAN แถมมาให้ 1 ชิ้น ไม่มีพอร์ต LAN แบบฝังเอาไว้กับตัวเครื่องเหมือน ExpertBook รุ่นก่อนหน้าอีกแล้ว ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนชื่นชมวิธีคิดแบบนี้ เพราะนอกจากทำให้เครื่องบางลงโดยการเปลี่ยนพอร์ตหนาออกแล้วใช้หัวแปลงขนาดเล็กไล่เลี่ยกับพอร์ตอื่นอย่างนี้ ทำให้ไม่เสียพอร์ตจำเป็นไป และถ้าใครต้องเชื่อมต่อกับวง Server หรือไดรฟ์ภายในองค์กร ก็นำหัวแปลงนี้สวมกับสาย LAN เส้นประจำแล้วต่อ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ได้ทันที แต่ถ้าให้ยิ่งขึ้น ผู้เขียนเสนอว่าน่าเติมช่อง Card Reader ทั้ง SD, MicroSD Card ไว้ตรงนี้ทีเดียวเลยจะได้ไม่ต้องเสียพอร์ตอะไรไป
น้ำหนักของ ASUS ExpertBook B7 Flip หลังชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้ว เฉพาะเครื่องจะหนัก 1.44 กิโลกรัม ตรงกับหน้าสเปคบนเว็บไซต์ พอรวมกับชุดอแดปเตอร์หนัก 301 กรัม หากชั่งรวมน้ำหนักอุปกรณ์เสริมทุกชิ้นรวมถึงเมาส์ด้วยจะขึ้นเป็น 436 กรัม พอชั่งรวมทุกชิ้นจะขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.87 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าไม่หนักมากนัก สามารถพกใส่กระเป๋าติดตัวไปทำงานได้สบายๆ
แต่เนื่องจาก ExpertBook เครื่องนี้มีพอร์ต Thunderbolt 4 ถึง 2 ช่อง ก็ไม่จำเป็นต้องเอาปลั๊กเฉพาะของตัวเครื่องติดไปไหนมาไหนเสมอก็ได้ เจ้าของเครื่องอาจจะปล่อยปลั๊กทิ้งไว้ที่ออฟฟิศแล้วพกปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์คู่กับสาย USB-C to C สักเส้นเอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ก็เพียงพอแล้ว ในแง่การพกพาใช้งานถือว่าไม่มีปัญหาและนับว่าเบาสบาย
Inside & Upgrade
หากเจ้าของเครื่องคนไหนต้องการเปิดฝาอัพเกรด ก็สามารถขันน็อตปลดล็อคแล้วเอาการ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์ไล่ตามขอบเครื่องเปิดฝาออกแล้วอัพเกรดเพิ่ม M.2 NVMe SSD กับแรมในเครื่องได้เลย โดยทางบริษัทแจ้งช่องอัพเกรดเอาไว้ว่า ASUS ExpertBook B7 Flip สามารถเติม M.2 NVMe SSD แบบ PCIe 3.0 x4 เสริมจากไดรฟ์หลักได้อีก 1 ช่อง รองรับความจุ 512GB และ RAM เป็น SO-DIMM ทั้ง 2 ช่อง รองรับได้สูงสุดถึง 64GB
เมื่อเครื่องแล้ว จะเห็นว่าตรงกลางเครื่องมีโครงโลหะครอบ M.2 NVMe SSD ตัวหลักเอาไว้และใกล้ๆ กันจะมีอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 อีกหนึ่งช่องเอาไว้ใส่ SSD อีกชิ้นได้ทันที แต่จุดน่าสังเกตคือแรมแบบ SO-DIMM อีกสองช่องนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่าจะซ่อนอยู่ใต้กรอบโลหะสีดำใกล้กับพัดลมระบายความร้อน ซึ่งพอพยายามแกะเปิดฝาดูแล้วจัดว่าแกะได้ยากมากจนไม่แนะนำให้ทำด้วยตัวเอง ถ้าต้องการอัพเกรดแนะนำให้ยกเครื่องไปให้ช่างผู้ชำนาญการประจำศูนย์บริการจัดการให้ดีกว่า
และสังเกตว่าตอนนี้ ASUS ExpertBook B7 Flip จะไม่มีช่องและอินเตอร์เฟสสำหรับ 2.5″ SATA III HDD/SSD ติดตั้งมาเหมือนรุ่นก่อนหน้านี้แล้ว หากใครมีไดรฟ์แบบ 2.5″ รุ่นเก่าอยู่ก็ต้องเปลี่ยนไปใส่กล่อง External SSD/HDD แทน
Performance & Software
ซีพียูของ ASUS ExpertBook B7 Flip เป็นรหัสพิเศษจากทาง Intel เป็นรุ่น Intel Core i5-1155G7 แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.5-4.5GHz สถาปัตยกรรม Tiger Lake ขนาด 10nm มีค่า TDP อยู่ที่ 28 วัตต์ ส่วนแรมในเครื่องเป็น SO-DIMM จำนวน 2 ช่อง ติดตั้งมาให้ 16GB DDR4 บัส 3200MHz ตั้งแต่เปิดเครื่องเริ่มใช้งาน ในฐานะโน๊ตบุ๊คเน้นการทำงานและพกพาต้องถือว่าเยอะเพียงพอใช้ทำงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การ์ดจอในเครื่องมีแต่ออนบอร์ดของ Intel รุ่น Intel Iris Xe Graphics สำหรับเรนเดอร์ภาพและงานต่างๆ ขึ้นหน้าจอได้อย่างดีไม่มีปัญหา รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะ OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan จึงรองรับการเรนเดอร์งานกับโปรแกรมกราฟฟิคต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
พาร์ทในตัวเครื่องเมื่อเช็คด้วย Device Manager จะมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือกับกล้อง IR Camera ติดตั้งมาให้ทั้ง 2 ชิ้น เลือกใช้งานได้ตามความสะดวก เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi PCIe Card รุ่น Intel AX201 คลื่น 160MHz พร้อมชิป TPM 2.0 สำหรับรักษาความปลอดภัยตัวเครื่องติดตั้งมาครบถ้วน
M.2 NVMe SSD ในเครื่องจะรองรับทั้งหมด 2 ช่อง ได้ช่องละ 512GB เป็นอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 โดยทางบริษัทเลือก SSD OEM เป็นรุ่น Samsung MZVL2512HCJQ-00B00 หรือ Samsung PM9A1 โดยตัว SSD จะเป็นอินเตอร์เฟส PCIe 4.0 x4 แล้ว มีความเร็ว Sequential Read 6,900MB/s และ Sequential Write 5,000MB/s ด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนคาดว่าที่ ASUS นำ SSD ที่อินเตอร์เฟสใหม่กว่าที่เมนบอร์ดของโน๊ตบุ๊ครองรับมาใช้ เพื่อให้ตัว SSD วิ่งได้เต็มความเร็วอินเตอร์เฟสรุ่นต่ำกว่าและลดต้นทุนในทางที่ดีไปในตัวก็เป็นไปได้
จากการวัดด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark จะเห็นว่า Samsung PM9A1 สามารถทำความเร็ว Sequential Read/Write ไปได้ 3,136/3,377MB/s ซึ่งถือว่าเร็วน่าประทับใจใช้ได้ ในมุมของผู้เขียนเห็นว่าเมื่อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ออกแบบมาเพื่อคนทำงานอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเปลี่ยน SSD รุ่นติดเครื่องนี้ก็ได้ แต่เพิ่มอีก 512GB เอาไว้เซฟงานหรือสไลด์ใช้ประจำเอาไว้ในเครื่องก็โอเคแล้ว
กำลังการเรนเดอร์ 3D CG ของ ASUS ExpertBook B7 Flip ถือว่าอยู่ในระดับพอใช้งานได้ พอเปิดพรีวิวตัวอย่างโมเดล 3D ได้อย่างลื่นไหลอยู่ ซึ่งเมื่อทดสอบโดยรวมด้วย CINEBENCH R15 จะได้คะแนน OpenCL 74.75 fps และ CPU อีก 724 cb และเมื่อทดสอบแบบเน้นเค้นกำลังของ CPU อย่างเดียวด้วย CINEBENCH R20 จะเห็นว่าทำคะแนน CPU ได้ 1,734 pts ด้วยกัน ซึ่งถือว่าสูงใช้ได้ สามารถนำไปเปิด Preview ตัวอย่าง 3D CG กับลูกค้าได้อย่างลื่นไหลแน่นอน
ส่วนการเล่นเกมซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นใจความของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้อยู่แล้ว ก็ถือว่าแค่พอใช้งานได้เท่านั้น ซึ่งผลการทดสอบจาก 3DMark Time Spy เอง ก็ได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 1,064 คะแนน แยกเป็น CPU score 3,482 คะแนน และ Graphics score อีก 948 คะแนนเท่านั้น จึงสรุปได้ทันทีว่า ExpertBook เครื่องนี้ไม่ได้เกิดมาพื่อการเล่นเกมอย่างแน่นอน แต่ถ้าจะหาเกม 8-bit ง่ายๆ เล่นพอแก้เบื่อ ก็ยังพอเล่นได้ระดับหนึ่ง
ผลการทดสอบกับโปรแกรม PCMark 10 ซึ่งเน้นทดสอบว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้สามารถทำงานได้ดีเท่าไหร่ ซึ่งผลสรุปของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ทำคะแนนเฉลี่ยจบ 4,477 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คทำงานรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังการประมวลผลของ Intel Core i5-1155G7 สามารถเรียกเปิดโปรแกรมหรือเบราเซอร์เพื่อท่องเว็บและทำงานกับ Web app ต่างๆ รวมถึงประชุมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี ส่วนของการทำงานกับโปรแกรม Word, Excel และแต่งภาพจัดว่าใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง เรียกเปิดโปรแกรมทำงานเอกสารและตัดต่อแต่งภาพได้ดี
นอกจากนี้ ASUS ExpertBook B7 Flip ก็ติดตั้งโปรแกรม MyASUS สำหรับตั้งค่าตัวเครื่องมาให้เหมือนโน๊ตบุ๊คสายทำงานรุ่นอื่นๆ ของทาง ASUS เอง นอกจากตั้งค่าแล้วยังมีส่วนของการอัพเดทเฟิร์มแวร์, มอนิเตอร์อุณหภูมิและส่วนต่างๆ ของตัวเครื่องและติดต่อกับทาง ASUS เพื่อนัดคิวซ่อมหรือเรียกช่างเข้ามาให้บริการ Onsite service ได้ด้วย เพราะมีประกัน Perfect Warranty ติดเครื่องมา 1 ปีเต็ม และถ้าต้องการต่อประกันอีก 1 ปีก็ชำระเงินเพิ่มอีก 1,990 บาท ก็ขยายระยะรับประกันออกไปได้ด้วย
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ จะมีขนาดใหญ่ 63Wh เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมโพลีเมอร์ มีความจุแบบ Typical Capacity 5,427mAh และ Rated Capacity 5,260mAh ด้วยกัน จัดว่ามีความจุเยอะกว่า ExpertBook รุ่นก่อนๆ ราว 10Wh ด้วยกัน
ถึงความจุเพิ่มขึ้น แต่เมื่อวัดด้วย BatteryMon ตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอให้ต่ำสุด, เปิดเสียงลำโพง 10%, ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด เปลี่ยนโหมดตัวเครื่องเป็น Battery Saver แล้วใช้ Microsoft Edge ดู YouTube นาน 30 นาที ก็ยังใช้งานได้นานสุด 8 ชั่วโมง 29 นาทีเท่านั้น จัดว่าใช้ได้ไม่นานเท่า ExpertBook รุ่นอื่นๆ ที่แบตเตอรี่น้อยกว่าแต่จัดการพลังงานได้ดี ซึ่งผู้เขียนคาดหวังว่าถ้าแบตเตอรี่อยู่ระดับ 63Wh แล้ว ก็ควรได้ราว 10 ชั่วโมงขึ้นไป แต่เครื่องนี้กลับได้น้อยกว่าที่คิดอยู่บ้างแม้จะรีเซ็ตการทดสอบไป 2-3 ครั้งก็ตาม สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัว BIOS ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ยังเซ็ตคำสั่งมาได้ไม่สมบูรณ์พอและคาดหวังว่าทางบริษัทจะปรับแต่งชุดคำสั่งเพิ่มเติมให้กินพลังงานน้อยกว่านี้
ส่วนพัดลมโบลวเวอร์ของ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้จะมี 1 ตัว พร้อมฮีตไปป์ 4 เส้น เดินจากซีพียูตรงเข้ามาระบายความร้อนออกด้านหลังเครื่อง ซึ่งตอนใช้งานปกติถือว่าเสียงเบามากระดับไม่เกิน 40 เดซิเบลเมื่อวัดด้วยเครื่องวัดเสียง แต่ถ้าใช้โปรแกรมใหญ่ กินทรัพยากรเครื่องเยอะๆ ก็จะเสียงดังขึ้นจนได้ยินเป็นเสียงหวีดแว่วจากตัวเครื่อง
ซึ่งอุณหภูมิของเครื่องตอนผู้เขียนรันโปรแกรมทดสอบรีดประสิทธิภาพตัวเครื่องแล้วจับด้วย CPUID HWMonitor จะได้อุณหภูมิอยู่ที่ 47~93 องศา เฉลี่ย 50 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอุ่นจนค่อนร้อนอยู่บ้าง แต่ถ้าใช้งานทั่วไปอย่างทำงานเอกสารและพรีเซนต์งานกับเปิดเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลง ก็ไม่มีโอกาสร้อนถึงระดับที่เห็นในรีวิวนี้อย่างแน่นอน
User Experience
ด้านการใช้งานจริง ผู้เขียนนับว่า ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้เป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานที่ครบเครื่องทั้งในแง่ของพอร์ตข้างตัวเครื่องและการเชื่อมต่อไร้สาย เพราะนอกจาก Wi-Fi, Bluetooth ก็ยังมี NFC และใส่ซิมการ์ดให้เชื่อมต่อ 5G ได้ในตัว ขอแค่ให้ซิมส่วนตัวใช้โปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตเยอะพอใช้งาน ก็ยื่นขอทำ Multi-SIM กับศูนย์บริการและนำมาใส่โน๊ตบุ๊คไปเลย ก็สามารถจะกางโน๊ตบุ๊คมาทำงานตอนไหนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องนั่งกังวลว่าจะหาสัญญาณ Wi-Fi เจอหรือเปล่าอีกต่อไป หากถ้าใครเป็นนักข่าวภาคสนามต้องลงพื้นที่ทำข่าวงานเปิดตัวหรือแถลงข่าวใดๆ ก็สามารถทำงานได้เร็วและได้เปรียบกว่าคนอื่นหลายขุม รวมถึงข้าราชการสำรวจสำมะโนประชากรหรือใครต้องเกี่ยวข้องกับการดึงข้อมูลเข้าออกบัตร Smart Card เป็นประจำ ASUS ExpertBook B7 Flip เครื่องนี้ก็ตอบโจทย์ ไม่ต้องซื้อเครื่องอ่าน Smart Card ให้เสียเงินเพิ่มเพิ่ม
ด้านการใช้งานไม่ว่าจะเรื่องทำงานเอกสาร พกไปประชุมงานหรือพับหน้าจอเป็นแท็บเล็ตและมีปากกา ASUS Stylus Pen ก็เป็นจุดได้เปรียบมาก เพราะเจ้าของเครื่องสามารถใช้เซ็นเอกสารสำคัญส่งแบบลายเซ็นดิจิตอลได้ทันที ดังนั้นคนอีกกลุ่มอย่างพนักงานกรมธรรม์ประกันชีวิต ก็สามารถทำเอกสารและให้ลูกค้าผู้เอาประกันเซ็นบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้เช่นกัน หรือแม้แต่พนักงานออฟฟิศฝ่ายทีมเซลส์ที่มักไปพบปะลูกค้าติดต่องานหรือพรีเซนต์งานบ่อยๆ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากพอร์ตหลากหลายแบบข้างเครื่องอย่างแน่นอน
ด้านการใช้งานจริง นอกจากพอร์ตครบ มีระบบยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกอย่างการสแกนใบหน้ากับลายนิ้วมือติดตั้งมาครบถ้วน เรียกวาเป็นจุดแข็ง ซึ่งผู้เขียนตอนทดสอบใช้งานโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็พอใจมาก สามารถเลือกสแกนปลดล็อคเครื่องได้สะดวก ยิ่งในยุค COVID-19 เช่นนี้ การมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือถือเป็นระบบยืนยันตัวตนที่ใช้งานได้ถูกสถานการณ์ที่สุด ไม่ต้องชักหน้ากากอนามัยลงให้เสี่ยงรับเชื้อโรคและยังปลดล็อคเครื่องใช้งานได้ทันที ไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านให้เสียเวลาและถูกแอบมองขโมยรหัสเครื่องอีก ดังนั้นถ้าใครมีข้อมูลสำคัญเก็บเอาไว้ในเครื่องนี้ก็สามารถใช้งานได้อย่างอุ่นใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องใส่ใจสักหน่อยคือระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ได้เพียง 8 ชั่วโมง 30 นาทีน่าจะเป็นจุดสังเกตหลักๆ เพียงจุดเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าประชุมไม่นานหรือพกเครื่องไปเปิดใช้พิมพ์งานไม่กี่ชั่วโมงก็ไม่น่าเป็นปัญหา แต่ให้ดีก็แนะนำให้เตรียม Powerbank ความจุสูงหรือปลั๊ก GaN พร้อมสาย USB-C ดีๆ สักเส้นติดกระเป๋าเอาไว้ด้วย เวลาแบตเตอรี่ใกล้หมดแต่งานยังไม่จบจะได้ทำต่อให้เสร็จได้โดยไม่ขาดตอน
Conclusion & Award
ASUS ExpertBook B7 Flip นับเป็นโน๊ตบุ๊คที่ตอบโจทย์การทำงานอย่างครบถ้วนกระบวนความ ทั้งการเชื่อมต่อไร้สายด้วย Wi-Fi 6 หรือ 5G ก็ได้ ทำให้นั่งทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาตามต้องการ มีพอร์ตใช้งานเยอะเหลือเฟือตั้งแต่ Thunderbolt 4, USB-A 3.2 Gen 2 หรือแม้แต่ตัวอ่าน Smart Card มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือกับกล้อง IR Camera ไว้ปลดล็อคเครื่องแบบไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่าน ได้ความปลอดภัยและสะดวกกว่าการพิมพ์รหัสผ่านแบบเดิมหลายเท่าอีกด้วย
ด้านน้ำหนักพกพาก็จัดว่ากำลังดีไม่มากไม่น้อย เพียง 1.44 กิโลกรัมแต่พับเป็นแท็บเล็ตไว้พรีเซนต์งานหรืออ่านหนังสือ E-Book ก็สะดวก และยังใช้ปากกา ASUS Stylus Pen เขียนเน้นหรือจดลงบนเอกสารชิ้นนั้นๆ ได้ทันที หรือจะเอาไว้เซ็นเอกสารสำคัญก็ได้ จัดว่าครบเครื่องตอบโจทย์คนทำงานจริงๆ ขอแค่เตรียม Powerbank หรือปลั๊ก GaN เอาไว้ในกระะเป๋าเอาไว้ซัพพอร์ตไว้ชาร์จแบตเตอรี่คืนให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เวลาต้องใช้งานนานกว่า 8 ชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว เท่านี้ก็ใช้งานได้สบายๆ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป
*สำหรับรุนที่รองรับ 5G จะเป็นการสั่ง Customize to order เท่านั้น ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
award
Best Design
นอกจากดีไซน์ให้ตัวเครื่องแข็งแรงจนผ่าน MIL-STD-810H แล้ว ASUS ExpertBook B7 Flip ก็ซ่อนฟีเจอร์ไว้เต็มเครื่องโดยไม่รกสายตา มีทั้ง ErgoLift hinge, NumberPad, ExpertWidget และยังใส่พอร์ตจำเป็นต้องใช้งานมาให้ครบถ้วนตามเอกลักษณ์ของตระกูล ExpertBook ควรเป็น
best mobility
แง่การพกพานอกจากน้ำหนักที่เบาเพียง 1.44 กิโลกรัม ไม่หนักลำบากไหล่ของเจ้าของเครื่องแล้ว การเชื่อมต่อใช้ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย 5G ก็สำคัญ เพราะ ASUS ExpertBook B7 Flip มีช่อง SIM ในตัว ไม่ต้องคอยกังวลวิ่งหา Wi-Fi ให้เสียเวลา นำเครื่องไปไหนก็เปิดมาทำงานได้ทุกที่ ราวกับแท็บเล็ตรุ่น LTE สามารถยกเครื่องไปไหนมาไหนก็ได้และใช้อินเตอร์เน็ตของตัวเองได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย