Dell Inspiron 16 5625 จัดได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ปี 2022 มาพร้อมหน้าจอ 16″ FHD+ รุ่นแรกของ Inspiron Series ได้ประสิทธิภาพการทำงานที่สูง ใช้ชิปประมวลผลเป็น AMD Ryzen 5000U ซึ่งมีทั้ง Ryzen 5 5625U และ Ryzen 7 5825U เป็นตัวเลือก มาพร้อมมาตรฐานใหม่ในเรื่องของขนาดตัวเครื่อง น้ำหนักและดีไซน์การออกแบบที่เล็กกว่าโน๊ตบุ๊คในหน้าจอขนาดใกล้เคียงกัน ตัวเครื่องทั้งหมดทำจากโลหะให้ความพรีเมียม ให้ความสวยและแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน ส่วนงานประกอบก็ดีเยี่ยม โดดเด่นด้วยลำโพงที่เสียงดีเสียงดังเป็นพิเศษ ส่งผลให้เราได้พบประสบการณ์ใช้งานที่เหนือชั้นกว่าโน๊ตบุ๊คที่เน้นประสิทธิภาพทั่วๆ ไปในตลาด
โดยทีมงานขอแจ้งข้อมูลในเบื้องต้นว่า โน๊ตบุ๊ค Dell Inspiron 16 5625 รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบนี้ เป็นรุ่นที่ “รุ่นทดสอบส่งมาให้สื่อทำการทดสอบ” ดังนั้นข้อมูลบางอย่างกับโมเดลจริงที่วางจำหน่ายอาจคลาดเคลื่อนได้ แต่โดยพื้นฐาน โครงสร้าง ดีไซน์จะมาในรูปแบบนี้ ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 1920 x 1200 พิกเซล ได้หน่วยความจำแรมที่เครื่องมาขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz ส่วนที่เก็บข้อมูลเป็น SSD M.2 NVMe PCIe ความจุ 512GB ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home แท้ใช้งานได้ทันที สนนราคาที่ 2x,xxx บาท ไปจนถึง 3x,xxx บาท ที่สำคัญด้วยบริการ Dell Premium Support ระยะเวลา 2 ปีเต็ม ซ่อมตรงถึงที่ ทุกที่ ในอีก 1 วันทำการ (On-site Service) ทำให้มั่นใจได้เลย บริการหลังการขายของ Dell นั้นยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน ซึ่งจัดว่าเป็นรุ่นแรกๆ ของ Dell Notebook ที่ใช้หน้าจอมาตรฐานเป็น 16″ แทนที่ 15.6″ แบบเดิมๆ ตลอดเวลาหลายปี
NBS Verdict
Dell Inspiron 16 5625 จุดเด่นหลักๆ จะเป็นเรื่องของราคา ที่จัดว่าเป็น Dell Notebook ราคาย่อมเยาว์ แต่ได้ประสิทธิภาพการทำงานที่ยอดเยี่ยม อีกได้ยังเรื่องของดีไซน์และงานประกอบตามสไตล์ Dell ที่หลายๆ คนชื่นชอบกัน โดยตัวเครื่องมีเงินโทนสว่างอย่าง Platinum Silver หรืออีกตัวเลือกจะเป็นเขียว Pebble Green จากการที่สเปกภายในเป็นชิปประมวลผล AMD Ryzen 5000U Refresh ซึ่งให้ทั้งประสิทธิภาพที่เยี่ยมยอด ในราคาค่าตัวที่น่าสนใจสุดๆ ถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คช่วงต้นปี 2022 ที่น่าสนใจรุ่นหนึ่งก็ว่าได้ในช่วงราคานี้ก็ว่าได้ แล้วก็ยังเป็นรุ่นแรกๆ ที่ทาง Dell ทำตลาดด้วยหน้าจอ 16″ จากที่ผ่านมานั้นไม่เคยมีเลย กับซีรีส์ Inspiron ที่เน้นความคุ้มค่าต่อราคาเป็นหลัก ย้ำอีกครั้งว่า รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบนี้ เป็นรุ่นที่ “ส่งทดสอบ” เท่านั้น
ชิปประมวลผล Ryzen 5000 รุ่น Refresh แม้จะไม่ใช่รุ่นใหม่จริงๆ อย่าง Ryzen 6000U แต่ก็มาพร้อมกับประสิทธิภาพที่สูงเพียงพอ ซึ่งเหมาะกับการทำงานทั่วไป อาทิ งานเอกสาร ดูหนังฟังเพลง หรือหนักๆ อย่างตัดต่อวีดีโอ หรือถ้าจะเล่นเกมเบาๆ บ้างก็สามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง และจากการรูปลักษณ์และใช้งานจริงเป็นที่น่าพอใจ สมราคา 2x,xxx บาท สำหรับรุ่น Ryzen 5 5625U เหมาะกับคนที่ต้องการใช้งานโน๊ตบุ๊คที่ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีกว่ารุ่นเริ่มต้นทั่วไป หรือจะขยับเป็น Ryzen 7 5825U ในราคา 3x,xxx บาทก็ได้ ตามงบเลย แต่แนะนำว่าควรอัปเกรดเป็นแรมให้เป็นขนาด 16GB ด้วย ก็จะช่วยเรื่องของความลื่นไหลโดยรวมยิ่งขึ้นไปอีก
อีกทั้ง Dell Inspiron 16 5625 เหนือกว่ารุ่นอื่นๆ ด้วยการที่ตัวเครื่องมีขนาดเล็กเทียบเท่าโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 15.6″ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเป็นโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 16″ ทำให้ในการใช้งานจริง มีความสบายตาเต็มตากว่าจอ 15.6″ แน่นอน แต่กลับมีน้ำหนักที่เบากว่าด้วย เพียง 1.87 กิโลกรัมและบางเพียง 17.95 มิลลิเมตรเท่านั้น ที่สำคัญรองรับการพกพาด้วยแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า 15 ชั่วโมงทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นมาตรมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คหน้าจอใหญ่ในปี 2022 นี้จริงๆ แม้ว่าหน้าจอจะเป็น IPS เกรดกลางๆ เรื่องสีสันไม่ได้ขอบเขตระดับ sRGB 100% แต่ก็ถือว่ายอมรับได้ เมื่อเทียบกับราคาและความเป็น Dell ที่เราได้
จุดเด่น Dell Inspiron 16 5625
- เป็นโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 16″ แต่มีขนาดตัวเครื่องเล็กเทียบเท่ารุ่นหน้าจอ 15.6″
- วัสดุเป็นอลูมิเนียมคุณภาพสูง งานประกอบดีเยี่ยม ดีไซน์พรีเมียมพรูหรา
- น้ำหนักเบาเพียง 1.87 กิโลกรัม ตัวเครื่องบางพิเศษ 17.95 มิลลิเมตร
- หน้าจอ 16″ สัดส่วน 16:10 ความละเอียด Full HD+ ได้ขนาดหน้าจอที่ใหญ่ และพื้นที่มากกว่า
- ขอบจอบางพิเศษกว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไป เพิ่มความโดดเด่น เล็กกระชับพกพาสะดวก
- ประสิทธิภาพดีด้วยชิปประมวลผล AMD Ryzen 5000U Refresh
- มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home และซอฟต์แวร์ใช้งานได้จริง
- มีสแกนลายนิ้ว ใช้งาน Windows Hello ได้ดีเยี่ยม
- แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานกว่า 15 ชั่วโมงทีเดียว
- ประกันถึง 2 ปี มาพร้อม On-site Service มาตรฐาน Dell
- เทียบกับการเป็น Dell Notebook รุ่นใหม่กับราคา ถือว่ามีความน่าซื้อ
ข้อสังเกต Dell Inspiron 16 5625
- หน้าจอสีสันอยู่ในระดับ sRGB จัดว่าเป็นเกณฑ์กลางๆ แต่ก็ใช้งานได้ดี
- เพื่อการใช้งานท่ีดีกว่า แนะนำให้อัปเกรดเป็นแรมขนาด 16GB ด้วย
Specification
สเปกภายในของตัว Dell Inspiron 16 5625 “ในรุ่นที่ได้รับมาทดสอบ” มีอยู่ 2 สเปก คือ AMD Ryzen 5 5625U ราคาคาดการณ์โดยประมาณ 2x,xxx บาท และ AMD Ryzen 7 5825U ราคา 3x,xxx บาท ที่เป็นชิปประมวลผลสถาปัตยกรรม Zen 2 โค้ดเนม Renoir มาพร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตที่ 7 nm ที่แรงขึ้นและร้อนน้อยกว่า พร้อมเพิ่มเติมด้วยแบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน การ์ดจอเป็นออนชิป Radeon 7 / 8 ที่เหมาะกับงานพื้นฐาน งาน 2 มิติ หรือ 3 มิติเบาๆ ได้แรม 8GB DDR4 Bus 3200MHz แบบปกติ (รองรับการอัปเกรดอีก 1 แถว) และ SSD M.2 NVMe PCIe ความจุ 512GB (รองรับการอัพเกรดอีก 1 ตัว)
หน้าจอขนาด 16″ เป็นพาเนล WVA พร้อม ComfortView ความละเอียด Full HD+ แบบจอด้านลดแสงสะท้อน พร้อมได้มุมมองที่กว้างและสีสันสดใส มีกล้องเว็บแคมและมีไมค์ดิจิตอลในตัว รองรับการใช้งาน VDO Call พร้อมปุ่ม Power ที่เป็น Fingerprint ในตัวใช้งานร่วมกับ Windows Hello ไว้สแกนนิ้วเพื่อเข้าใช้งาน ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home มาตรฐานการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E และ Bluetooth 5.2 ด้วย พร้อมการรับประกัน 2 ปี แบบ Dell Premium Support และ On-Site Service ซ่อมฟรีถึงบ้าน ตามมาตรฐานของ Dell ที่เราทุกคนในเรื่องของการบริการที่ประทับใจ
-
CPU : AMD Ryzen 5 5625U (6C/12T, 2.3 – 4.3GHz)
-
GPU : AMD Radeon 7 (1800 MHz)
-
RAM : 8GB DDR4 3200 MHz
-
DISPLAY: 16″ Full HD+ WVA
-
STORAGE : 256 GB SSD PCIe M.2
-
OS : Windows 11 Home
- Warranty : 2 Years Premium Support
-
CPU : AMD Ryzen 7 5825U (8C/16T, 2.0 – 4.5GHz)
-
GPU : AMD Radeon 8 (2000 MHz)
-
RAM : 8 GB DDR4 3200 MHz
-
DISPLAY : 16″ Full HD+ WVA
-
STORAGE : 512 GB SSD PCIe M.2
-
OS : Windows 11 Home
- Warranty : 2 Years Premium Support
Hardware / Design
ดีไซน์การออกแบบโดยรวมของ Dell Inspiron 16 5625 เป็นรุ่นหน้าจอ 16″ ซึ่งจะดูเล็กพอๆๆ กับโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 15.6″ ทีเดียว เนื่องด้วยมีการใช้ตัวเครื่องขนาดเล็กกระชับ กะทัดรัด เหมาะกับการพกพา จากขอบหน้าจอที่บางเฉียบลงทั้ง 4 ด้าน แต่ทั้งนี้ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะเล็ก แต่ก็ยังใส่จอขนาด 16″ สัดส่วน 16:10 มาได้ ทำให้ดีไซน์ออกมาได้ใช้พื้นที่หน้าจออย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนของตัวเครื่องจะใช้เป็นโลหะอลูมิเนียมที่ดูสวยงามและทนทาน โดยเป็นส่วนประกอบหลักตลอดทั้งตัวเครื่อง ทำให้ได้ข้อดีมาก็คือทั้งความแข็งแรงและน้ำหนักที่เบา ที่สำคัญส่งผลให้ภาพลักษณ์โดยรวมของตัวเครื่องดูหรูหรามากๆ ให้อารมณ์พรีเมียมสุดๆ
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Dell Inspiron 16 5625 จากการที่เป็นโน๊ตบุ๊คทรงประสิทธิภาพที่เน้นการพกพา เพราะมีน้ำหนักตัวที่เบามากๆ เมื่อเทียบกับขนาดหน้าจอ 16″ นับว่ามีความน่าสนใจในการใช้งานจริงๆ แถมตัวเครื่องยังบางสุดๆ โดยสามารถถือได้ด้วยมือเดียวอย่างสบายๆ ด้วยน้ำหนักเพียง 1.87 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนความบางอยู่ที่ 17.95 มิลลิเมตรโดยประมาณ ซึ่งแม้จะบางขนาดนี้ยังได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี เพราะสามารถถอดฝาหลังได้ ส่งผลให้ง่ายในการอัปเกรดตัวเครื่องเองของผู้ใช้ด้วยตนเอง ทั้งแรมที่ใส่สูงสุดสองแถวและะแบบ SSD M.2 ก็สามารถอัพเกรดเพิ่มได้อีก 1 แถว
ตัวเครื่องมีการออกแบบโดยรวมให้ดูทันสมัยและเรียบง่ายตามสไตล์ของ Dell ตั้งแต่โลโก้ Dell ตรงกลาง โดยที่มุมตัวเครื่องจะทำให้เป็นแบบโค้งมน แต่ว่าไม่ได้มนมากจนเกินไป ตามมาด้วยการใส่รายละเอียดในการทำให้ตัวเครื่องมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อย ที่ขอบอลูมิเนียมรอบของตัวเครื่อง ส่วนอลูมิเนียมอัลลอยด์จะถูกนำเอามาใช้ด้านในและด้านนอกของตัวเครื่องเป็นหลัก ส่งให้เวลาที่เราเอามือมาวางหรือจับถือจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่เหนือชั้นกว่าวัสดุทั่วๆ ไป รวมไปถึงมีการติดตั้งลำโพงไว้ที่ข้างๆ ของคีย์บอร์ดกูลงตัว สมกับเป็นโน๊ตบุ๊คระดับสูงของทาง Dell ที่เป็น Inspiron 5000 Series
ส่วนการออกแบบใต้ตัวเครื่อง Dell Inspiron 16 5625 มีการออกแบบยางรองใต้เครื่องก็เรียกได้ว่าไม่เหมือนใคร โดยใช้เป็นแถบยางยาวขนานไปกับแนวยาวของตัวเครื่อง พร้อมกับมีช่องดูดลมเย็นใต้ตัวเครื่องและโลโก้ Inspiron อยู่ อีกทั้งเมื่อเราเปิดฝาขึ้นมาขอบตัวเครื่องด้านหลังก็จะช่วยยกตัวเครื่องให้สูงยิ่งขึ้นด้วย รวมถึงมีการออกแบบภายในโดยใช้พัดลมระบายความร้อนข้างในเครื่องจำนวน 2 ตัว ในการท่ายเทความร้อนออกไปจากช่องทางใต้หน้าจอ ทำให้สเปกแรงแบบนี้ก็ยังถ่ายเทความร้อนได้อย่างรวดเร็วน่าประทับใจ อีกทั้งที่ขอบตัวเครื่องด้านหลังยังมีการทำยางรองพิเศษช่วยยกตัวเครื่องให้เอียงสูงขึ้นรับกับมือของเราด้วย
Keyboard / Touchpad
ส่วนของคีย์บอร์ดนั้นตัวปุ่มเป็นพลาสติกสีเงินสกรีนตัวอักษรสีเทา มีการออกแบบมาให้ปุ่มมีความโค้งรับกับนิ้วมือได้พอดี ทำให้สามารถพิมพ์ได้ง่ายขึ้น ก็ถือว่าทำไว้ดีอยู่แล้วเช่นกันตามสไตล์ของ Dell กับคีย์บอร์ด 4 แถวขนาด Full Size โดยมี Numpad หรือแป้นตัวเลขมาให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งด้านการใช้งานในการพิมพ์ ก็ยังตอบสนองได้เป็นอย่างดี ทั้งขนาดแป้นพิมพ์ที่รับกันนิ้วและช่องว่างระหว่างแป้นที่ทำให้มีความแม่นยำในการกด รวมทั้งแป้นก็เด้งกับนิ้วเมื่อกดลงไปอย่างพอดี ในส่วนของไฟ LED Backlit ก็สามารถใช้งานได้ดีทีเดียว
ส่วนปุ่มเปิดเครื่องจะไปอยู่ที่มุมขวาบน สีกลืนไปกับเครื่อง ซึ่งมาพร้อมกับระบบสแกนลายนิ้วมือในปุ่มเดียวกันอีกด้วย ช่วยเรื่องความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยกว่ารุ่นอื่นๆ อีกทั้งมีทัชแพดมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่มากๆ เมื่อเทียบกับขนาดตัวเครื่อง ส่วนดีไซน์นั้นก็ใช้เป็นแบบไม่มีปุ่มแยกออกมาเช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊คปัจจุบันหลายๆ รุ่น การใช้งานจัดได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ให้ความแม่นยำ ซึ่งเราสามารถใช้งานแทนเมาส์ได้แบบสบายๆ ตัวซอฟต์แวร์ควบคุมก็ช่วยจัดการได้ดี โดยใช้งานร่วมกับ Windows 11 Home แบบ Multi Gesture ได้เป็นอย่างดี
Screen / Speaker
หน้าจอของ Dell Inspiron 16 5625 นอกเหนือจากเรื่องความบางเฉียบทั้ง 4 ด้านด้วย InfinityEdge Display แล้ว พาเนล WVA ความละเอียด Full HD+ พร้อมด้วยฟีเจอร์ ComfortView และการรับรอง TÜV Rheinland certified ทำให้ลดแสงสีฟ้า ลดกระพริบจอ ทำให้สบายตาเวลาที่เราทำงานต่อเนื่อง เรียกได้ว่ารองรับทุกการทำงานหรือความบันเทิงแบบเต็มประสบการณ์อย่างสุดๆ จุดที่น่าชื่นชมของเครื่องนี้ ก็คือมีการใส่ยางขอบจอมาตลอดแนวของจอเลย ต่างจากโน๊ตบุ๊คอื่นๆ ที่มักจะติดตั้งมาเป็นจุดๆ ในบางตำแหน่งเท่านั้น ส่วนกล้องเว็บแคมและไมโครโฟนแบบคู่ยังติดตั้งปกติที่ขอบบนได้อย่างสวยงามลงตัว เพื่อใช้งาน VDO Call ประชุมออนไลน์
การทดสอบประสิทธิภาพหน้าจอของ Dell Inspiron 16 5625 ที่เป็นโน๊ตบุ๊คที่ใช้หน้าจอพาเนล WVA ทางทีมงานเลยถือโอกาสทดสอบหน้าจอแบบละเอียดๆ ด้วยเครื่องมือที่เป็นทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อย่าง Spyder X Elite พร้อมทั้งคาลิเบรทหน้าจอให้สีสันมีความตรงความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งเมื่อคาลิเบรตแล้วเราก็เลือกโปรไฟล์ที่เราได้คาลิเบรทเอาไว้ ผลที่ได้หลังจากที่คาลิเบรทก็คือคอนทราสต์มีการไล่โทนที่กว้างขึ้น รวมไปถึงมีสีสันและอุณหภูมิสีที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากโทนเย็นกลายเป็นโทนอุ่นเล็กน้อย เรียกได้ว่าในการคาลิเบรทนั้นช่วยเรื่องของหน้าจอให้ดีขึ้นในทุกๆ มิติ
โดยเมื่อทำการทดสอบกันต่อในส่วนของ Spyder Analysis ผลออกมาว่าให้ขอบเขตความกว้างของสีสันเทียบเท่ากับมาตรฐานขอบเขตสี sRGB ที่ 64% และ AdobeRGB ที่ 48% ส่วน DCI-P3 อยู่ที่ 47 เรียกได้ว่าให้ประสิทธิภาพเรื่องของสีสันธรรมดาในเกณฑ์ทั่วไป ความสว่างหน้าจอสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 250 nit ซึ่งจัดได้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีเลยทีเดียวสำหรับการใช้งานพื้นฐานทั่วไป เอาไปทำงานข้างนอกสบายๆ แต่ทำอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ใช้งานด้านตกแต่งภาพที่ต้องการความเที่ยงตรงของสีเป็นหลักมากนัก อาทิ การโปรเซสไฟล์ภาพ RAW หรือตัดต่อวีดีโอกับทีมงาน เพราะถือว่าค่าขอบเขตทีสันนั้นอยู่กลางๆ
ต่อกันที่วัดความสว่างของหน้าจอตามตำแหน่งต่างๆ โดยแบ่งเป็น 9 ช่อง เทียบจากช่องกลางที่ปกติแล้วจะให้ความสว่างที่มากที่สุด ที่จะเห็นได้ว่าช่องกลางหน้าจอมีค่า 0% ก็คือแสดงความสว่างได้เต็มที่ แต่สำหรับขอบจอด้านขอบมุมขวาบนที่ลดลงไปที่ระดับ 10% ทำให้ต้องใช้งานอย่างระมัดระวังสำหรับคนที่บังเอิญจำเป็นต้องใช้งานภาพถ่าย หรืองานกราฟิกอื่นๆ พร้อมค่า Delta-E คลาดเคลื่อนค่อนข้างสูงอยู่ที่ 3.96 ทีเดียว (ถ้าคลาดน้อยต้องต่ำกว่า 2) ปิดท้ายด้วยคะแนนรวม 4.0 คะแนนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วเมื่อเทียบกับหน้าจอมาตราฐานทั่วไปในยุคก่อนๆ เหมาะสำหรับคนเอามาดูหนังฟังเพลง เล่นเกม พอได้อยู่
ด้านของลำโพง Dell Inspiron 16 5625 เป็นสเตอรีโอ 2W x 2 มีเทคโนโลยี Wave Maxxaudio (ซอฟต์แวร์ปรับแต่งได้) นั้นอยู่บริเวณด้านล่างซ้ายขวาของชุดคีย์บอร์ด ที่ให้ดีไซน์ที่แตกต่างจาก Dell Notebook รุ่นอื่นๆ ในเรื่องของความดังของเสียงเรียกว่าทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วให้เสียงที่ดัวกว่ารุ่นอื่นๆ ชัดเจน ส่วนในเรื่องคุณภาพเสียงนั้น จัดว่ามีความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างเมื่อเทียบกับซีรีส์ ซึ่งถ้าหากว่าเราเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ก็ถือว่าดีเพียงพอแบบสบายๆ แล้ว ส่วนใครจะเอาไปต่อกับหูฟังหรือลำโพงเพิ่ม ก็สามารถทำได้หากว่าต้องการคุณภาพเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
Connector / Thin And Weight
Dell Inspiron 16 5625 มีมาตรฐานพอร์ตต่างๆ ของกลุ่มโน๊ตบุ๊คบางเบามาให้ค่อนข้างครบ เช่น USB 3.2 Type-A จำนวน 2 พอร์ตที่มาพร้อมฟีเจอร์ Sleep Charge ไว้สำหรับการเชื่อมต่อกับแฟลชไดร์ฟหรือฮาร์ดดิสก์ภายนอกไว้ถ่ายโอนข้อมูล รวมไปถึงชาร์จสมาร์ทโฟน และ USB 3.2 Type-C ถ่ายโอนไฟล์ได้ไว พร้อมต่อจอแยกเพิ่มได้ด้วยมาตรฐาน Display Port พร้อมรองรับการชาร์จไฟเข้าเครื่อง Power Delivery ด้วย นอกจากนี้ยังมีพอร์ตมาตรฐาน HDMI สำหรับเชื่อมต่อจอภายนอก และที่ชอบมากๆ คือมี SD Card Reader มาให้ด้วย แน่นอนว่ายังมีช่องเชื่อมต่อไมค์และหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร แต่ในส่วนของ LAN RJ45 ได้ถูกตัดออกไป
เมื่อเทียบกับขนาดของโน๊ตบุ๊ค 15.6″ ทั่วไปถือได้ว่ามีมิติที่ใกล้เคียงกัน แต่ได้จอ 16″ ส่วนน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 1.87 กิโลกรัม และเมื่อรวมกับอแดปเตอร์ที่ชาร์จเข้าไปด้วย กับขนาดที่เล็กกระทัดรัดจ่ายไฟที่ ก็จะมีหนักราวๆ 2.1 กิโลกรัมเท่านั้นเอง ก็จัดว่ามีน้ำหนักที่มีความเบามากๆ เลย เพราะปกติแล้วโน๊ตบุ๊ค 15.6″ มาตรฐาน จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป แน่นอนว่าตอบสนองในเรื่องของการพกพาไปนอกสถานที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเอาไปทำงานตามร้านกาแฟ หรือเล่นเกมที่บ้านเพื่อน สมกับเป็นโน๊ตบุ๊คเน้นประสิทธิภาพในยุคปัจจุบันปี 2022 ทีเดียว
Inside / Upgrade
ถ้าใครต้องการจะแกะทั้งฝาล่างทั้งหมดของ Dell Inspiron 16 5625 เพื่ออัปเกรดหรือทำความสะอาดก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ไขน็อตทั้งหมด หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แงะแกะทีละส่วนขึ้นอย่างช้าๆ เพียงเท่านี้ก็จะแกะฝาล่างได้ไม่ยากเย็น ส่วนประกอบภายในอื่นๆ ที่มีงานประกอบเรียบร้อยดี ระบบระบายความร้อนเป็นพัดลม 1 ตัว ฮีตไปป์ 2 เส้น พร้อมช่องระบายความร้อน 1 ช่อง ซึ่งดูแล้วอาจจะธรรมดา แต่คาดว่าน่าจะเป็นเพราะชิปประมวลผล AMD Ryzen 5000U เทคโนโลยีการผลิต 7 นาโนเมตรที่ร้อนน้อยแต่แรงลื่นอยู่แล้ว และในส่วนของตัวลำโพงติดตั้งไว้ที่ด้านซ้ายและขวาจะเห็นว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ทีเดียว
เมื่อแกะออกมาแล้วก็จะเห็นการติดตั้งแรมรูปแบบ SO-DIM มาแล้วขนาด 8GB ปกติ มาตรฐาน DDR4 Bus 3200MHz รองรับการอัปเกรดได้อีก 1 แถวทันที ซึ่งแนะนำให้อัปเกรดเป็น 16GB รวมไปถึงเราเห็น SSD แบบ M.2 2230 NVMe PCIe ความจุ 512GB กรณีที่ต้องการความจุเพิ่มเพื่อเก็บข้อมูลในอนาคต หรือความเร็วที่มากกว่า ก็สามารถอัปเกรดเป็น M.2 2280 NVMe PCIe ได้ สเปกทั้งหมดนี้ให้การใช้งานเป็นไปอย่างลื่นไหลไร้คอขวด ปิดท้ายด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่มีความจุประมาณ 4000mAh แน่นอนว่าเป็นส่วนให้ Dell Inspiron 16 5625 ใช้แบตเตอรี่ได้ต่อเนื่องยาวนานด้วย
Performance / Software
Dell Inspiron 16 5625 รุ่นที่นำมารีวิวนี้ เป็นรุ่นที่ทาง Dell “ส่งให้สื่อทดสอบ” ได้สเปกเป็นชิปประมวลผล AMD Ryzen 5 5800U ที่แรงกว่า AMD Ryzen 4000U และ H รุ่นก่อนหน้าแบบก้าวกระโดด ด้วยสถาปัตยกรรม Zen 3 มาพร้อมกับเทคโนโลยีการผลิตที่ 7 nm ความเร็ว 2.0 – 4.5 GHz แบบ 8 Core/ 16 Thread ร้อนน้อยกว่า ได้ L3 Cache ที่ 16MB มีค่าอัตราการใช้พลังงานสูงสุด (TDP) ที่ 25W
ที่ต้องบอกว่าสร้างมาตรฐานประสิทธิภาพที่มากกว่าชิปประมวลผลรุ่นก่อนๆ แรงเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปมากๆ หรือถ้างานที่ต้องประมวลผลจริงจังก็รองรับได้อย่างสบายๆ ส่วนแรมได้ขนาด16GB แบบออนบอร์ด เป็นมาตรฐาน DDR4 Bus 3200MHz ตามเทคโนโลยีของ AMD Ryzen 5000U ที่เหนือชั้นกว่า พร้อมให้ที่เก็บข้อมูล SSD M.2 NVMe PCIe ความจุ 512GB ที่สามารถขับเคลื่อนระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home แบบไร้กังวล
กราฟิกการ์ดเป็นแบบออนบอร์ดอย่าง AMD Radeon 8 มีความเร็วในการทำงานที่ 2000MHz มาตรฐานแรม DDR4 ขนาด 512MB ให้พลังในการประมวลผลที่ดีในระดับหนึ่ง อย่างในเรื่องของกราฟิก 2 มิตินั้นก็รองรับได้อย่างสบายๆ หรือถ้าเป็น 3 มิติ ก็ต้องบอกว่ารองรับการทำงานได้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ ก็สนับสนุนการเล่นเกมได้ในระดับนึงเหมือนกัน ซึ่งโดดเด่นจริงๆ จะเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงานเมื่อใช้งานเบาๆ ซึ่งถ้าใครจะคาดหวังเรื่องเกมบอกได้เลยว่าไม่เหมาะสม ยังไงสามารถดูกราฟทดสอบด้านล่างได้อีกที
สำหรับโปรแกรมทดสอบ CINEBENCH ที่เน้นในเรื่องของพลังชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 5825U คะแนนก็อยู่ในระดับสูงสุดๆ ที่น่าประทับใจสมกับเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เปรียบเทียบกับชิปประมวลผล AMD Ryzen 4000U / Intel Core i Gen 10U ก็ทำได้ดีกว่าแบบชัดเจนทีเดียว รวมไปถึงตัวการ์ดจอเองก็มีประสิทธิภาพพอใช้ได้ เรียกได้ว่าตอบโจทย์ในส่วนของงานประมวลผลหนักๆ ได้อย่างสบายๆ รวดเร็วทันใจแบบสุดๆ สมกับเป็นชิปประมวลผลตัวบนในรุ่นใช้งานเต็มกำลัง และการ์ดจอออนชิปที่เน้นการทำงาน 2 มิติเป็นหลัก
ตัวเก็บข้อมูลของเครื่องที่เลือกใช้ SSD ก็ทำคะแนนออกมาได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจบนขนาดความจุ 512GB แบบ M.2 NVMe ระดับกลางๆ แน่นอนว่าเร็วกว่า SSD M.2 SATA 3 แบบทั่วไป ยิ่งเมื่อนำไปใช้เทียบกับฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนแล้วละก็จะเห็นถึงประสิทธิภาพทั้งในด้านการทดสอบและในด้านการใช้งานจริงที่แตกต่างกันอย่างเห็นเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าเปิดอะไรปุ๊บก็ติดปั๊บ ที่ต้องบอกว่าความเร็วระดับการอ่านที่ราวๆ 2546 MB/s และเขียนที่ 1208 MB/s เป็นระดับความเร็วในการเขียนอ่านทำงานโดยรวมที่น่าประทับใจ
การทดสอบประสิทธิภาพกับโปรแกรม PCMark 10 Advance ซึ่งสามารถทำคะแนนการทดสอบรวมได้มากถึง 5365 คะแนน ถือได้ว่าในส่วนของการใช้งานทั่วไปโดยรวมนั้นสอบผ่านแบบสบายๆ ทั้งในส่วนของการเล่นเว็บไซต์ งานเอกสาร งานตกแต่งรูปภาพ รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ จากการที่เป็นโน๊ตบุ๊คใช้ชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 5825U ที่แม้ไม่มีการ์ดจอแยก แต่ด้วยชิปประมวลผลเทคโนโลยี 7 นาโนเมตรเองก็ยังแรงมากๆ ทำให้มีคะแนนพุ่งกว่าโน๊ตบุ๊คในสเปกใกล้เคียงกันกับ Gaming Notebook หลายๆ รุ่นเลยทีเดียว
สำหรับคะแนนจากการทดสอบด้วยโปรแกรม 3D Mark จากทาง Futuremark ที่พัฒนาและคิดค้นจากบริษัท AMD, Intel, Microsoft, NVIDIA ในส่วนของ Time Spy ทำออกมาน่าสนใจมากๆ ด้วยคะแนนรวม 785 เท่านั้น เน้นเรื่อง DirectX 12 เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเพื่อมาเสริมข้อบกพร่องทางด้านการทำงานต่างๆ ของการ์ดจอเป็นหลัก ซึ่งผลทดสอบนั้นจะดูว่าแต่ละการ์ดจอนั้นสามารถทำงานเข้าขากับ DirectX 12 ได้ดีขนาดไหน ซึ่งต้องบอกเลยว่า AMD Notebook รุ่นนี้ไม่ได้เหมาะกับการเล่นเกม หรือทำงาน 3 มิติเท่าไรนัก
ทดสอบเกมสำหรับ Dell Inspiron 16 5625 สเปก Ryzen 7 5825U ได้คะแนนและเฟรมเรมในการเล่นเกมทำออกมาน่าสนใจมากๆ โดยเฉลี่ยของเฟรมเรท (FPS) จากทั้ง 2 เกมออนไลน์ เกมที่ได้ทดสอบมีค่าเฟรมเรทเฉลี่ยค่อนข้างลื่นไหล น่าประทับใจทีเดียว เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คที่ไม่ได้เน้นเล่นเกมมาก ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชี้วัดความสามารถในการเล่นเกมที่กราฟิกละเอียดๆ และภาพสวยๆ ได้ลื่นไหลเป็นอย่างดีเลย จากการที่สเปกภายในเป็นชิปประมวลผลที่ทำงานร่วมกับการ์ดจอออนชิปอย่าง AMD Radeon 8 ได้ดี ประกอบกับใช้แรม 8GB รวมไปถึง SSD ก็ส่งผลช่วยด้วย
สำหรับเกมออนไลน์อย่าง DOTA 2 ก็จัดการทดสอบแบบปรับสุดหมด ซึ่งเป็นความละเอียดที่จะสามารถเล่นให้ลื่นได้ สำหรับรายละเอียดภาพอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเปิดทุกอัน ผลที่ได้ออกมาก็คือสามารถเรนเดอร์ได้อย่างไหลลื่นในระดับเฟรมเรทที่เฉลี่ยที่ 24 แต่ฉากตะลุมบอนกันก็เฟรมเรทลดลงไปที่ 18 (อยากลื่นกว่านี้ก็ปรับกลางๆ ได้) และในส่วนของเกม PUBG ที่ปรับ Low ทดสอบแล้วจะมีเฟรมเรทเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ซึ่งต่ำสุดอยู่ที่ 13 เท่านั้น อย่างไรก็ตามด้วยตัวเครื่องที่บางเบา และควบคุมความร้อนทำให้เป็นข้อจำกัด
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจของ Dell Inspiron 16 5625 ก็คือมาพร้อมซอฟต์แวร์บันเดิลอย่าง Dell SupportAssistant โดยเป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้เราดูแลคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสม ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และช่วยแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โปรแกรมนี้ยังระบุข้อมูลที่สำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นหมายรวมไปถึงการอัพเดทไดร์เวอร์ต่างๆ และ Windows ด้วย จัดได้ว่าดีและใช้งานได้จริง
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ของ Dell Inspiron 16 5625 เป็นแบบฝังไว้ในเครื่องเหมือนกับโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน ตัวแบตเตอรี่มีขนาด 4,000 mAh ทำงานต่อเนื่องยาวนานได้ราว 15 ชั่วโมงต่อเนื่องในการใช้งานแบบปกติ (ดูภาพยนตร์และเล่นอินเตอร์เน็ต) และคาดว่าจะทำได้นานยิ่งกว่านั้นปรับเปลี่ยนตามการใช้งานของแต่ละคน ดูแล้วอาจให้ระยะเวลาการทำงานที่ค่อนข้างสั้นกว่าเครื่องอื่นเล็กน้อย ส่วนช่องระบายความร้อนจะอยู่ด้านบนบริเวณข้อพับจอ โดยออกแบบให้ซ่อนตัวเอาไว้ด้านหลังติดกับฝาหลังของจอ แต่ก็เห็นช่องระบายความร้อนได้ง่ายๆ อยู่
อุณหภูมิปกติของเครื่อง ชิปประมวลผลจะอยู่ที่ 40 – 50 – 60 องศาเซลเซียส แต่พอรีดประสิทธิภาพเต็มที่จะเห็นว่าเครื่องในส่วนของ CPU จะร้อนที่สุดที่ 92.5 องศาเซลเซียส ด้วยการที่ระบบระบายความร้อนของ Dell Inspiron 16 5625 ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานทั่วไปเป็นหลักมากว่า จากการที่มีพัดลมเพียงตัวเดียว และชุดระบายความร้อนไม่ได้จัดเต็มเหมือนพวก Gaming Notebook ที่มี 2 พัดลม อย่างไรก็ตามก็ถือว่าความร้อนไม่ได้มีปัญหาต่อการใช้งานใดๆ แม้จะเอาไปเล่นเกมหรือตัดต่อวีดีโอ
Conclusion / Award
เรียกได้ว่าแม้จะเป็นรุ่นที่ส่งมาให้สื่อ “สำหรับการทดสอบ” ก็ตาม แต่ก็มีความน่าสนใจ สำหรับโน๊ตบุ๊คทรงประสิทธิภาพที่บางเบารุ่นล่าสุดสุดพรีเมียมจากทาง Dell Inspiron 16 5625 ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป เริ่มต้นที่ 2x,xxx บาทเท่านั้น ที่ต่อยอดความสำเร็จตระกูล Inspiron 5000 Series ได้เป็นอย่างดี กับการที่เป็นรุ่น Refresh เพราะมาพร้อมความสมบูรณ์แบบและความสดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์การออกแบบ ภาพลักษณ์ วัสดุ งานประกอบ รวมไปถึงประสิทธิภาพและประสบการณ์ใช้งาน เหมาะกับการใช้ทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พอใช้งานหนักๆ ได้ ด้วยชิปประมวลผลตัวแรงอย่าง AMD Ryzen 5000U ทั้ง Ryzen 5 5625U / Ryzen 7 5825U
Dell Inspiron 16 5625 เป็นโน๊ตบุ๊คหน้าจอ 16″ ความละเอียด Full HD+ ดีไซน์บางเบาที่จัดได้ว่ามีความครบครันในการใช้งานหลายๆ ด้าน ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งในกลุ่มที่เป็นผู้ใช้งานทั่วๆ ไปหรือผู้ที่รักความบันเทิงทั้งในส่วนของเมัลติมีเดีย อาทิ นักเรียนนักศึกษา คนทำงาน ด้วยสเปคภายในที่ครบครัน แม้ว่าตัวเครื่องจะบางเบาแล้ว แต่ด้วยชิปประมวผล AMD Ryzen 5000U ตัวแรงลื่นแห่งปี 2022 อีกทั้งมีแรม 8GB ที่เราสามารถเลือกอัปเกรดได้ รวมถึง SSD M.2 NVMe 512GB มาให้พร้อมใช้งาน ซึ่งความเร็วและความจุนั้นก็เพียงพอกับการใช้งานทันที
เอาเป็นว่าเพื่อนๆ คนไหนกำลังมองหาโน๊ตบุ๊คที่เน้นประสบการณ์ใช้งานที่เหนือระดับจากจอที่ใหญ่กว่า ลำโพงที่ดีกว่าดังกว่า ซึ่งครบครันทั้งประสิทธิภาพสูงระดับคอมพิวเตอร์พีซีสำหรับงานพื้นฐานหรือความบันเทิง ในขนาดตัวเครื่องที่เล็กกระทัดรัด ในราคาที่ไม่แพงเลย ที่สำคัญคือได้ความเป็น Dell ทั้งเรื่องงานประกอบ งานดีไซน์ และบริการหลังการขาย Dell Inspiron 16 5625 น่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดีทีเดียว ที่โดดเด่นคือ มีการรับประกันถึง 2 ปีแบบ On-site Service คือมารับมาส่งถึงบ้านเลย นอกจากนี้ยังมี Call Center ช่วยบริการตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
แม้จะเป็นรุ่นที่ส่งมาเฉพาะการทดสอบ ยังไม่ได้เป็นการวางจำหน่ายจริง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดบางส่วน รวมถึงราคาคาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของมิติ รูปลักษณ์และการใช้งาน รวมถึงประสิทธิภาพ ต้องถือว่าทาง Dell ยังคงใส่รายละเอียดรอบด้าน เพื่อเอาใจคนที่มองหาโน๊ตบุ๊คในมิติที่บางเบา แต่มีจอภาพขนาดใหญ่ รวมถึงประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดี ก็ต้องมาลุ้นกันว่า ในรุ่นที่วางจำหน่ายจริงนั้น จะมีความแตกต่างไปมากน้อยเพียงใด เชื่อว่าถ้าทำราคามาในระดับนี้ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่คุ้มค่าน่าสนใจไม่น้อยเลย
Award
โดยในครั้งนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการให้รางวัลกับเครื่องในกลุ่มของโน๊ตบุ๊คขนาดหน้าจอ 16″ ด้วยกัน ซึ่ง Dell Inspiron 16 5625 ก็ได้รางวัลต่างๆ ดังนี้
Best Design
เรื่องของรูปร่างหน้าตาก็เป็นหนึ่งในจุดเด่นที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ Dell ตระกูล Inspiron 5000 Series มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งจุดเด่นในข้อนี้ก็เห็นได้ชัดเจนใน Dell Inspiron 16 5625 ที่มีดีไซน์ของตัวเครื่องสวยงามโฉบเฉี่ยวเป็นเอกลักษณ์ ดูแล้วเรียบหรูตามสไตล์คนรุ่นใหม่ เหมาะมากๆ กับสาวๆ หรือหนุ่มๆ นักเรียนนักศึกษา คนทำงานที่อยากได้จอ 16″ แถมยังบางเบาสุดๆ ด้วย โดยติดตั้งสเปกที่สดใหม่และทรงพลัง ซึ่งในจุดของรูปร่างหน้าตาก็เป็นสิ่งที่หลายๆ คนยอมรับกันอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
Best Mobility
ส่วนของความสามารถในการพกพาก็ยังคงอยู่ในระดับที่ดีตามสไตล์ของโน้ตบุ๊ตที่เน้นความบางเบา ทั้งในความบางเพียง 17.95 มิลลิเมตร และน้ำหนักเบา 1.87 กิโลกรัม ที่ทำให้สามารถหิ้วไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจับถือมากนัก สามารถพับฝาจอลงแล้วเก็บเครื่องได้ทันที อแดปเตอร์ก็ทำออกมาให้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก พกพาสะดวก รวมน้ำหนักแล้วเพียง 2 กิโลกรัมนิดๆ เหมาะมากๆ กับคนที่ทำงานนอกสถานที่บ่อยๆ อีกทั้งแบตใช้งานได้ยาวนานกว่า 15 ชั่วโมงอีกด้วย