Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

Review ASUS Vivobook Pro 15 OLED จอเทพสีตรงติดการ์ดจอแยกพร้อมทำงานและเล่นเกมได้ในงบ 32,900 บาท

ASUS Vivobook Pro 15 OLED เรียกว่าเกิดมาเพื่อฝ่ายกราฟฟิคแบบเน้นๆ ด้วยหน้าจอ OLED คุณภาพสูง เหมาะกับงานอาร์ตสุดๆ !

asus vivobook cover

ASUS Vivobook Pro 15 OLED เป็นอีกรุ่นย่อยในซีรี่ส์ VivoBook รุ่นใหม่ที่ใช้หน้าจอพาเนล OLED คุณภาพสูง และได้รับการการันตีคุณภาพสี Pantone Validated ว่ามีความแม่นยำและขอบเขตสีกว้างและการการันตี VESA DisplayHDR TRUE BLACK 600 ว่าสีดำบนหน้าจอนี้เป็นสีที่ดำสนิทมาก เรียกว่าเป็นอีกรุ่นที่น่าสนใจไม่แพ้ ASUS VivoBook 15 OLED ที่ได้รีวิวไปก่อนหน้านี้เลย

Advertisement

ซึ่งจุดแตกต่างอย่างดีไซน์ตัวเครื่องที่เปลี่ยนจากปุ่ม Enter ล้อมกรอบเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ประจำซีรี่ส์เป็นลายคาดและออกแบบป้ายชื่อด้านหลังเครื่องเป็นแบบใหม่ ASUS VivoBook Pro 15 OLED รุ่นย่อยนี้จะเป็นรุ่นที่ติดตั้งซีพียู Intel Tiger Lake-U กับการ์ดจอแยกจาก NVIDIA มาช่วยเรื่องเรนเดอร์กราฟฟิคตอนทำงานตัดต่อแต่งภาพให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าเอาไปตัดต่อคลิป Vlog หรือแต่งภาพที่ถ่ายจากกล้องใหญ่ก็ทำได้สบายๆ อย่างแน่นอน

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08922

NBS Verdict

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08929

สำหรับจุดเด่นหลักๆ ของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED เครื่องนี้ที่แตกต่างจากรุ่นที่ผู้เขียนได้รีวิวไปแล้ว อย่างแรกคือซีพียูที่อัพเกรดจาก Intel Core i5-1135G7 ที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงานแต่ก็ยังประมวลผลได้ดี เป็นรุ่นใหม่ขึ้นอย่าง Intel Core i5-11300H ซึ่งเป็น Intel Tiger Lake-U เหมือนกัน แต่มีความสดใหม่กว่าและจับคู่กับ NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q เข้ามาช่วยเรนเดอร์ภาพตอนตัดต่อคลิปหรือแต่งภาพให้เสร็จเร็วขึ้นซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่ ASUS นำการ์ดจอแยกมาติดตั้งให้ใช้ หรือถ้าใครไม่พอใจก็เพิ่มเงินอีกหน่อยไปเอารุ่นที่ติดตั้ง Intel Core i7-11370H กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 ที่รองรับไดรเวอร์ NVIDIA Studio ก็ได้

นอกจากเรื่องสเปค ส่วนเสริมต่างๆ รอบตัวเครื่องก็น่าสนใจ ไม่ว่าพอร์ต Thunderbolt 4 ที่ติดตั้งมาให้ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ด้วย หากมีหน้าจอแยกที่เป็น USB Hub หรือมี USB-C Multiport adapter มาต่อก็เพิ่มพอร์ตใช้งานให้เยอะขึ้นอีกหลายช่อง และยังเสริมบานสไลด์ปิดหน้ากล้อง Webcam มาให้ปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวและมี Microsoft Office Home & Student 2019 ติดตั้งมาให้ใช้ครบถ้วน ไม่ต้องเสียเงินซื้อเพิ่มเลย เรียกว่าแค่ Sign in เครื่องให้เสร็จก็พร้อมทำงานทุกอย่างได้ทันที

แต่จุดสังเกตของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ที่คิดว่า ASUS ไม่น่าเตะตัดขารุ่นนี้ที่มีศักยภาพในตัวอย่างการบังคับให้เจ้าของเครื่องใช้เป็นแรมออนบอร์ดอย่างเดียวและมีความจุเพียง 8GB ซึ่งถึงจะเยอะพอใช้ทำงานทั่วไปได้ก็ตาม แต่พออัพเกรดแรมไม่ได้ก็กลายเป็นว่าถ้าต้องใช้เครื่องนี้ทำงานหนักๆ อย่างเรนเดอร์ไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงหรือทำ Batch process รูปภาพจำนวนมากก็จะกินเวลามากขึ้น

นอกจากนี้จุดที่น่าสังเกต คือ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ยังต้องพิมพ์รหัสผ่านเพื่อปลดล็อคเครื่องอย่างเดียว ไม่มีระบบยืนยันตัวอย่างการสแกนหน้าหรือนิ้วมือติดตั้งมาให้ทั้งที่โน๊ตบุ๊คระดับราคาใกล้เคียงกันนี้หลายๆ รุ่นจะมีฟังก์ชั่นขั้นต่ำอย่างการสแกนหน้าหรือนิ้วสักอย่างหนึ่งติดตั้งมาให้ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็สำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลในเครื่องและความสะดวกตอนปลดล็อคเครื่องมาใช้งานมาก นอกจากนี้ยังมีพอร์ต USB 2.0 ติดตั้งมาให้ 2 ช่อง ซึ่งดูจะให้เยอะเกินจำเป็นไป อย่างน้อยถ้าเป็น USB 2.0 กับ 3.0 อย่างละช่องก็ยังดี

ข้อดีของ ASUS Vivobook Pro 15 OLED
  1. ซีพียู Intel Core i5-11300H ที่ติดตั้งมาให้มีประสิทธิภาพดี ทำงานหนักได้สบายๆ 
  2. ติดตั้งการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q มาเสริมให้เรนเดอร์กราฟฟิคได้เร็วขึ้น
  3. หน้าจอพาเนล OLED ได้รับการการันตี Pantone Validated กับ VESA DisplayHDR TRUE BLACK 600 ว่าเป็นหน้าจอคุณภาพสูง ทำงานอาร์ตเวิร์คต่างๆ ได้แน่นอน
  4. หน้าจอติดบานสไลด์ปิดกล้อง Webcam มาให้ เพิ่มความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยขึ้น
  5. ติดตั้งพอร์ต Thunderbolt 4 มา 1 พอร์ต สามารถต่อแปลงเป็นพอร์ตต่างๆ หลายแบบ
  6. มี Microsoft Office Home & Student 2019 แถมมาในเครื่องด้วย จึงไม่ต้องเสียเงินซื้อโปรแกรมเพิ่ม
  7. ตัวเครื่องขนาด 15.6 นิ้ว แต่หนักเพียง 1.6 กิโลกรัมเท่านั้น สามารถพกพาได้สะดวก
  8. ระบบระบายความร้อนจัดการอุณหภูมิตัวเครื่องได้ดี ถึงใช้งานหนักก็ไม่มีความรู้สึกร้อนแผ่ขึ้นมาถึงมือ
  9. หน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB และค่าความแม่นยำสีสูงมากที่ Delta-E <2 
ข้อสังเกตของ ASUS Vivobook Pro 15 OLED
  1. แรมเป็นออนบอร์ดอย่างเดียว ไม่มีช่องแรมแบบ SO-DIMM ให้อัพเกรดเพิ่ม
  2. ยังให้พอร์ต USB 2.0 มาถึง 2 พอร์ต เพราะถ้าเป็น USB 3.0 ก็จะดีกว่านี้มาก
  3. ยังไม่ติดตั้งที่สแกนลายนิ้วมือหรือกล้องสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อคเครื่องมาให้ ต้องพิมพ์รหัสผ่านอย่างเดียว

รีวิว ASUS Vivobook Pro 15 OLED

Specification

ASUS Vivobook Pro 15 OLED S3500PH

ASUS Vivobook Pro 15 OLED เป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานเน้นคุ้มค่าในซีรี่ส์ VivoBook ซึ่งรุ่นใหม่ล่าสุดนี้อัพเกรดหน้าจอเป็นพาเนล OLED คุณภาพสูงขอบเขตสีกว้างและแม่นยำ ได้รับการการันตีจาก Pantone Validated และ VESA DisplayHDR TRUE BLACK 600 ด้วย นอกจากนี้พอร์ตที่ติดตั้งมาให้ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะมี Thunderbolt 4 ติดตั้งมาให้อีก 1 พอร์ตให้เอาไว้ต่อหน้าจอ, ตัวแปลงเพิ่มพอร์ตหรือชาร์จแบตเตอรี่คืนให้ตัวเครื่องก็ได้

สเปคของเครื่องนี้ใช้ซีพียู Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4 GHz จับคู่กับการ์ดจอแยก NVIDIA GeFroce GTX 1650 Max-Q แรม 4GB GDDR6 มี SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB ติดตั้ง Windows 10 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2019 มาให้พร้อมแรมออนบอร์ด 8GB DDR4 บัส 3200 MHz ส่วนหน้าจอมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล OLED มีพอร์ต USB 2.0 x 2, USB-A 3.2 x 1, Thunderbolt 4 x 1, HDMI x 1 เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.0 ด้วย เรียกว่าทางบริษัทก็จัดสเปคให้ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ได้น่าสนใจมากและเหมาะกับคนที่อยากเอาเครื่องไปทำงานต่างๆ

สเปคของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED
  • ซีพียู Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4 GHz
  • การ์ดจอแยก NVIDIA GeFroce GTX 1650 Max-Q แรม 4GB GDDR6
  • SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
  • แรมออนบอร์ด 8GB DDR4 บัส 3200 MHz
  • หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล OLED
  • ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home มี Microsoft Office Home & Student 2019
  • พอร์ต USB 2.0 x 2, USB-A 3.2 x 1, Thunderbolt 4 x 1, HDMI x 1
  • เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.0
  • ราคา 32,900 บาท (Advice, BaNANA)

Hardware & Design

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08919

ดีไซน์ของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED เครื่องนี้ จะเป็นดีไซน์โน๊ตบุ๊คแบบที่แชร์กันในซีรี่ส์ ASUS VivoBook ด้วยกัน แต่จุดแตกต่างของรุ่นที่มีคำว่า Pro ตามท้าย อย่างแรกที่สังเกตภายนอกได้ทันที คือปุ่ม Enter กรอบสีเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ของซีรี่ส์นี้เปลี่ยนเป็นปุ่มแบบปกติแต่มีลายพาดสลับขาวดำเป็นลายคำเตือนตรงปุ่ม Enter และเพลทฝาหลังเครื่องด้วย ซึ่งถ้าเลือกเครื่องสีขาวเงินก็จะเป็นลายพาดเส้นสีดำแทน

ด้านบอดี้ตัวเครื่องของรุ่น Pro ก็ต่างจากรุ่นธรรมดา คือรุ่นธรรมดาจะเว้นขอบตัวเครื่องเข้ามาเล็กน้อยให้ใช้นิ้วกางหน้าจอได้ง่ายๆ แต่รุ่นนี้เป็นตัวเครื่องขอบเรียบเสมอกันทั้งตัว แต่ทำให้ปลายขอบบนของหน้าจอยืดออกมาเล็กน้อยให้ใช้นิ้วเกี่ยวเปิดหน้าจอได้เหมือนกัน ถือว่าเปิดหน้าจอได้ง่ายไม่แพ้กันกับการเว้นขอบตัวเครื่องเข้าไป 

ขอบตัวเครื่องด้านหลังจะเห็นว่า ASUS ก็เว้นตรงขอบบนมุมซ้ายและขวาเอาไว้เพื่อให้กางหน้าจอออกมาได้กว้างและฝาหลังตัวเครื่องจะปิดขอบเครื่องด้านหลังได้สนิทพอดี และก้านบานพับหน้าจอจะเป็นแบบก้านเดียวยาวเกือบสุดขอบตัวเครื่อง ซึ่งดีไซน์ก้านบานพับหน้าจอแบบนี้จะกางหน้าจอได้กว้างแต่ไม่ราบสนิท และสลักคำว่า “Sound by harman/kardon” ไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งขวามือ

ส่วนฝาหลังตัวเครื่องจะเป็นสีเดียวแบบเรียบ โดย ASUS ทำ VivoBook Pro 15 OLED รุ่นนี้ออกมาทั้งหมด 2 สีด้วยกันคือสีน้ำเงิน Quiet Blue กับสีเงินขาว Cool Silver โดยทั้งสองรุ่นจะมีแถบเส้นอยู่ขอบบนของหน้าจอ ติดเพลททรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดเฉียง เขียนชื่อซีรี่ส์ ASUS VivoBook เอาไว้ฝั่งขวาและลายคำเตือนฝั่งซ้ายมือ นอกจากนั้นไม่มีลวดลายอะไรเป็นพิเศษ

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08892

และดีไซน์คานบานพับหน้าจอนี้ จะทำให้กางหน้าจอได้ราว 130 องศาเป็นมุมป้าน เวลากางเครื่องทำงานบนโต๊ะทำงานหรือวางบนที่วางโน๊ตบุ๊คก็สามารถกางจัดองศาการมองเห็นได้สะดวกเซ็ตมุมให้เข้ากับสายตาของเราได้ง่ายด้วย

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08870

ส่วนด้านใต้ของตัวเครื่องจะมีช่องดึงอากาศเย็นเข้าเป็นแถบยาวที่ส่วนครึ่งบนของตัวเครื่อง มีช่องลำโพงส่วนล่างสองฝั่งซ้ายขวาและล็อคฝาหลังเอาไว้ด้วยหัวน็อตแบบ Torx ทั้งหมด 10 ตัว แยกเป็น 2 ขนาด 3 แบบด้วยกันคือ น็อตแบบสั้น 4 ตัวที่ขอบล่างสุดของตัวเครื่อง, น็อตแบบยาวทำเกลียวจนสุดน็อตตรงมุมบนซ้ายขวาและตรงกลางเครื่อง 3 ตัว ส่วนที่เหลือจะเป็นน็อตยาวเหมือนกันแต่ทำเกลียวแค่ปลายน็อตเอาไว้สั้นๆ เวลาขันน็อตเปิดฝาเครื่องแนะนำว่าให้หาถาดใส่และเรียงน็อตเอาไว้ตามลำดับที่ขันออกมาด้วย เวลาขันกลับเข้าที่จะได้ไม่หลงขันผิดลำดับ

Screen & Speaker

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08913

หน้าจอของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ตัวนี้มีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล OLED ได้รับการการันตีขอบเขตสี Pantone Validated และ VESA DisplayHDR TRUE BLACK 600 ซึ่งสีสันบนหน้าจอตอนใช้งานตามปกติจัดว่าสดใสจัดจ้านและสว่างมาก ถ้าปรับความสว่างเอาไว้ 100% จะสว่างเกินจนออกจะแสบตามากกว่า ส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าเปิดแค่ 60-70% ก็สว่างเพียงพอแล้ว

กรอบหน้าจอของตัวเครื่องส่วนบนจะมีกล้อง Webcam กับบานสไลด์สำหรับปิดตัวกล้องเมื่อไม่ใช้งาน พอเลื่อนปิดแล้วกล้องจะมีจุดสีส้มและขอบหน้าจอทั้ง 4 ด้านจะเป็นแบบขอบบางพิเศษช่วยให้พื้นที่หน้าจอกว้างขึ้นแต่บอดี้ตัวเครื่องใหญ่เท่าเดิม และสังเกตว่า VivoBook รุ่นใหม่นี้ขอบจอส่วนบนและล่างจะบางโน๊ตบุ๊คทั่วไประดับหนึ่ง

gamut 1

ด้านขอบเขตสีของหน้าจอพาเนล OLED ของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ตัวนี้ เมื่อวัดด้วย Spyder5Elite แล้วจะเห็นว่าขอบเขตสีของหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มีคุณภาพสูงมาก ได้ผลคือ 100% sRGB, 99% AdobeRGB และ 92% DCI-P3 และค่า Delta-E ที่ใช้วัดว่าขอบเขตสีบนหน้าจอนั้นเที่ยงตรงสมจริงหรือเปล่า ซึ่งถ้าค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 2 จะถือว่าสีสันบนหน้าจอเที่ยงตรงและแม่นยำ ซึ่งตัว Spyder5Elite ตัวนี้วัดค่าของหน้าจอ ASUS รุ่นนี้ได้ที่ 0.82 เท่านั้น เรียกว่าเป็นหน้าจอเกรดเดียวกับโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์หลายๆ รุ่นทีเดียว

ด้านความสว่างหน้าจอเมื่อปรับความสว่าง 100% จะอยู่ที่ 297 nits ซึ่งถือว่าสว่างมาก ซึ่งถ้านั่งทำงานในอาคารสำนักงานแนะนำว่าเปิดไว้แค่ 60-70% ก็เพียงพอ แล้วค่อยเพิ่มความสว่างไป 100% สู้แสงแดดตอนนั่งทำงานกลางแจ้ง เช่น โต๊ะคาเฟ่หน้าร้านกาแฟหรือริมหน้าต่างที่แสงแดดตกกระทบจอ เป็นต้น  และเมื่อแบ่งความสว่างเป็นตาราง 9 ช่องแล้ว จะเห็นว่าค่าความสว่างของหน้าจอนั้นสว่างไล่เลี่ยกันหมดทั้งจอ มีอัตราความสว่างลดลงตั้งแต่ 0-6% เท่านั้น ไม่มีโซนไหนมืดกว่าโซนไหนเป็นพิเศษจนต้องระวังตอนแต่งภาพเลย ดังนั้นถ้าจะวาดหรือแต่งภาพบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องต่อหน้าจอแยกที่ออกแบบมาเพื่อทำงานอาร์ตก็ได้ 

สรุปผลคะแนนต่างๆ แล้ว จะเห็นว่าคะแนนรวมทุกหมวดหมู่ทำได้สูงถึง 4.5 จาก 5 คะแนน ซึ่งจัดว่าสูงไล่เลี่ยกับจอโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์หลายๆ รุ่น โดยเฉพาะส่วนของ Gamut, Tone Response, Contrast ได้เต็ม 5 คะแนน จัดเป็นจุดเด่นของพาเนล OLED อยู่แล้ว ส่วน Luminance Uniformity, Color Uniformity และ Color Accuracy เก็บไป 4.5 คะแนน จัดว่าเป็นหน้าจอที่คุณภาพสูงมากจอหนึ่ง

สำหรับคนที่เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นพิเศษ ซื้อไปใช้ก็ไม่ผิดหวังแน่นอนเป็นคนที่หาโน๊ตบุ๊คหน้าจอคุณภาพสูงไปทำงานอาร์ต เช่น งานแต่งภาพที่ถ่ายจากกล้องมือโปร, ตัดต่อแต่งภาพและทำงานอาร์ตเวิร์ค, งานวาดภาพต่างๆ รวมไปถึง AE ของบริษัทที่ต้องพรีเซนต์งานอาร์ตหรือคอนเซปท์ต่างๆ กับลูกค้า ก็เหมาะกับโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มาก

ส่วนลำโพงด้านใต้ตัวเครื่องที่ทาง harman/kardon ปรับแต่งเสียงให้ นับเป็นลำโพงที่ให้เสียงดังระดับหนึ่ง โดยเนื้อเสียงที่ได้จะเด่นที่เสียงนักร้องกับเสียงเครื่องดนตรีแต่เบสบางเกินไปจนไม่ค่อยมีแรงปะทะ จากที่ลองฟังเพลงด้วยลำโพงนี้แล้ว คิดว่าลำโพงนี้เหมาะกับการดูคลิป YouTube, ฟัง Podcast, ฟังเพลงแนวแจ๊ส ป็อบ เป็นหลัก อาจจะพอฟังร็อคได้บ้างแต่ไม่แนะนำให้เอาไปฟัง EDM เนื่องจากเบสจากลำโพงไม่ค่อยหนักแน่น และก็ยังแนะนำให้ต่อลำโพงที่มี Woofer ดอกใหญ่กำลังขับดีๆ ไปเลย จะฟังเพลงได้อรรถรสกว่า

Keyboard & Touchpad

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08897

คีย์บอร์ดของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED เป็นคีย์บอร์ดแบบ Full-size ติด Numpad มาให้ใช้ มีไฟ LED Backlit แสงสีขาวไฟลอดตัวอักษรและขอบด้านข้างตัวปุ่ม กดปรับความสว่างได้ 3 ระดับ ช่วยให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกขึ้น ส่วนสัมผัสการพิมพ์นั้นจัดว่าเป็นปุ่ม Rubberdome แบบตัวปุ่มอ่อนกดง่าย ไม่ต้องลงน้ำหนักเยอะและเสียงเบาไม่รบกวนเพื่อนร่วมงานมากแต่ถ้าใครชอบคีย์บอร์ดพิมพ์งานที่ปุ่มออกแข็งและมีแรงต้านพอดันนิ้วเรากลับได้หน่อย อาจจะรู้สึกว่าปุ่มบนคีย์บอร์ดนี้เบาไปบ้าง

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08901

ส่วนการ Mapping ปุ่ม Hotkey เอาไว้บนคีย์บอร์ด ทาง ASUS ก็จัดมาได้เหมาะกับการใช้ทำงานได้ดี เรียกใช้งานโดยกด Fn ค้างไว้ก่อนแล้วกดเรียกใช้งานได้เลย โดยรวมปุ่มหลักๆ อย่าง Page up, Page down, Home, End ไว้ที่ปุ่มลูกศรครบถ้วน ส่วนปุ่ม Enter ของ Numpad ก็เรียกเครื่องคิดเลขออกมาใช้งานได้และรวบเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ไว้เป็นหมวดหมู่เหนือชุดปุ่ม Numpad ด้วย ทำให้กดเลือกใช้งานได้ง่าย และแยกปุ่ม Function สำคัญอย่าง Print screen, Insert, Delete เอาไว้เป็นเอกเทศ

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08908

ด้าน Function hotkey บนปุ่ม F1-F12 ถูกเซ็ตค่ามาตรฐานเอาไว้ให้กดตามปกติเป็น Hotkey แล้วกด Fn ค้างไว้ถึงจะเป็น F1-F12 หรือถ้าใครใช้งานไม่สะดวกก็กด Fn+Esc เพื่อเปิด Function Lock สลับการทำงานได้ด้วย ส่วนคำสั่งต่างๆ มีดังนี้

  • F1-F3 – ปิด, ลด, เพิ่มเสียงลำโพง
  • F4-F5 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
  • F6 – ปิดเปิดการทำงานทัชแพด
  • F7 – ปรับความสว่างไฟ LED Backlit คีย์บอร์ด
  • F8 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอแยก
  • F9 – ปุ่มปิดเสียงไมค์ ถ้าปิดอยู่ไฟสีส้มจะติด
  • F10 – ปุ่มปิด Webcam ถ้าปิดอยู่ไฟสีส้มจะติด
  • F11 – ปุ่มเรียกโปรแกรม Snipping Tool
  • F12 – ปุ่มเรียกโปรแกรม MyASUS สำหรับตั้งค่าตัวเครื่องด้านต่างๆ และติดต่อ Call Center ได้

จัดว่าปุ่มที่ ASUS Mapping เอาไว้บนปุ่มคีย์บอร์ดได้ครบถ้วนทีเดียว แต่ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าถ้าทางบริษัทย้ายปุ่ม Snipping Tool จาก F11 ไปรวมกับปุ่ม Print Screen แล้วเอา F11 ใส่ฟังก์ชั่นอื่นเช่นปุ่มล็อคหน้าจอ, ปุ่มสลับแท็บโปรแกรม (Aero Flip) ของ Windows ฯลฯ ก็น่าสนใจเช่นกัน แต่จากที่ ASUS เซ็ตค่ามาให้ก็ถือว่าทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08900

ส่วนทัชแพดที่ติดตั้งไว้ขอบด้านล่างตัวเครื่องจะเป็นดีไซน์ซ่อนปุ่มคลิกและมีขนาดใหญ่ สามารถคลิกลากเคอร์เซอร์เมาส์ได้ง่าย ตอบสนองเร็วและรองรับ Gesture Control ของ Windows 10 ครบถ้วน แต่จากขนาดตัวที่ใหญ่สักหน่อยเลยทำให้อุ้งมือฝั่งขวาพาดลงแป้นทัชแพดเสมอเวลาพิมพ์งานด้วยแป้นคีย์บอร์ดของโน๊ตบุ๊ค ซึ่งถึงจะมี Palm rejection ป้องกันอาการทัชแพดลั่นไว้แล้วก็ตาม แต่จากที่ทดลองใช้งานดูก็มีทัชแพดลั่นบ้างในบางโอกาส ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าทัชแพดนั้นเหมาะกับตอนนั่งทำงานแล้วไม่มีโต๊ะทำงานให้วางเครื่องก็ใช้งานได้สะดวกพอควร แต่ถ้าทำงานบนโต๊ะควรปิดทัชแพดทิ้งแล้วใช้เมาส์ดีกว่า 

Connector / Thin & Weight

มิติตัวเครื่อง ASUS VivoBook Pro 15 OLED เครื่องนี้อยู่ที่ 359.8×235.3×18.9 มม. ซึ่งดูจากด้านข้างตัวเครื่องถือว่าไม่หนามากและพกใส่กระเป๋าเป้ไปใช้งานตามสถานที่ต่างๆ ได้ค่อนข้างสะดวกทีเดียว ส่วนพอร์ตจะติดอยู่ด้านข้างตัวเครื่องทั้งสองฝั่ง แยกเป็น

  • ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – USB 2.0 x 2 ช่อง, ไฟแสดงสถานะการทำงานและการชาร์จแบตเตอรี่ตามลำดับ
  • ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม., พอร์ต Micro SD card reader, Thunderbolt 4, HDMI 1.4, USB-A 3.2 Gen 1 x 1, ปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่
  • การเชื่อมต่อไร้สาย – ชิป MediaTek MT7921 เชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และรองรับ Bluetooth 5.0 ด้วย

จะเห็นว่าพอร์ตของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED นี้ ถึงจะให้มาเยอะและครบถ้วนพร้อมใช้งานก็ตาม แต่ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าทาง ASUS ยังมีอาการกั๊กของอยู่บ้างจากพอร์ต USB 2.0 ด้านซ้ายที่ใส่มาถึง 2 พอร์ต ทั้งที่จะใส่เป็น USB 3.0 มาตรฐานแรกสุดหรือเป็น USB 3.0+2.0 อย่างละช่องก็ได้ เพื่อให้มีพอร์ตรับส่งข้อมูลได้เร็วยิ่งขึ้นเพิ่มอีกพอร์ตในกรณีที่ผู้ใช้คนนั้นๆ มีอุปกรณ์อย่าง External Harddisk ที่ต้องโอนไฟล์หรือต้องต่อแบ็คอัพเครื่องเอาไว้ตลอดเวลาจะได้จัดการข้อมูลได้เร็วขึ้น

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08867

น้ำหนักของตัวเครื่องเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้ว เฉพาะตัวเครื่องอย่างเดียวอยู่ที่ 1.67 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์อยู่ที่ 421 กรัม สุทธิรวมทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 2.09 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คทำงานขนาด 15.6 นิ้วหลายๆ รุ่นในปัจจุบันที่ปัจจุบันน้ำหนักเริ่มลงมาอยู่ช่วง 1.8 กิโลกรัมหรือต่ำกว่านี้แล้ว ถือว่าน้ำหนักของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ไม่หนักไม่เบาเกินไป สามารถพกไปไหนมาไหนได้สะดวก รวมทั้งมีพอร์ต Thunderbolt 4 ติดตั้งมาให้ จึงใช้ปลั๊ก GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปต่อพอร์ต USB-C ด้านข้างของตัวเครื่องเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน USB Power Delivery ได้ทันที

Inside & Upgrade

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08873

ด้านการอัพเกรดตัวเครื่อง เมื่อขันน็อต Torx ด้านใต้ตัวเครื่องออกมาแล้ว เราสามารถใช้การ์ดแข็งเสียบเข้าช่องว่างของตัวเครื่อง โดยเริ่มจากขอบมุมบนของตัวเครื่องแล้วไล่ตามขอบมาเรื่อยๆ ให้ฝาด้านล่างกับตัวเครื่องแยกออกจากกันแล้วเปิดออกได้เลย

ด้านในจะเห็นว่า ASUS จัดพื้นที่ให้เมนบอร์ดเอาไว้ครึ่งบน ส่วนครึ่งล่างจะเป็นแบตเตอรี่เต็มแนวตัวเครื่องแล้วขนาบด้วยลำโพงทั้ง 2 ตัว จัดว่าบาลานซ์น้ำหนักได้ดีและตอนลองกางหน้าจอใช้งานสามารถใช้นิ้วเดียวเกี่ยวที่ขอบหน้าจอแล้วดึงเปิดออกมาได้เลย

แต่เรื่องการอัพเกรดตัวเครื่อง จะเห็นว่าทางบริษัทติดตั้งแรมออนบอร์ดมาให้ ไม่มีสล็อต SO-DIMM เลย และมีพอร์ต PCIe 3.0 x4 ที่ติดตั้ง SSD แบบ M.2 NVMe เป็นไดรฟ์ C:\ มาให้เท่านั้น โดยรวมแล้วนับว่า ASUS VivoBook Pro 15 OLED อัพเกรดได้น้อย ผิดกับ ASUS VivoBook 15 OLED ที่ยังใส่แรมเพิ่มได้อีกช่องหนึ่ง ดังนั้นถ้าใครเอาเครื่องนี้ไปตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงหรือต้อง Process ภาพจำนวนมากด้วยโปรแกรมประเภท Adobe Lightroom ก็อาจจะต้องรอเวลาทำงานนานขึ้นกว่าเดิม

Performance & Software

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08898

ด้านซีพียูใน ASUS VivoBook Pro 15 OLED ติดตั้ง Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4 GHz มาให้ เป็นซีพียูสถาปัตยกรรม Intel Tiger Lake-U ใช้ทำงานหนักได้และประหยัดพลังงานด้วยและรองรับชุดคำสั่งต่างๆ ครบถ้วน มีแรมออนบอร์ดติดตั้งมาให้ 8GB พอใช้งานทั่วไปได้อย่างแน่นอน

การ์ดจอที่ติดตั้งมาให้จะมีทั้งหมด 2 ตัว คือการ์ดจอออนบอร์ด Intel Iris Xe Graphics ที่ตัวเครื่องจะสลับมาใช้งานเมื่อใช้งานทั่วไป เน้นการประหยัดพลังงานและรองรับความละเอียดหน้าจอสูงได้ด้วย รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานทั้ง OpenCL, DirectCompute, DirectML, Vulkan, PhysX, OpenGL 4.6 ครบถ้วน

ส่วนการ์ดจอแยกเป็น NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q แรม 4GB GDDR6 รองรับ DirectX 12 และชุดคำสั่งพื้นฐานอย่าง OpenCL, DirectCompute, DirectML, Vulkan, PhysX, OpenGL 4.6 เหมือนกัน แต่เพิ่ม CUDA ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ NVIDIA เข้ามาด้วย โดยเป้าหมายหลักของ ASUS ที่เลือกเอาการ์ดจอรุ่นนี้มาติดตั้ง คาดว่าเพื่อใช้ช่วยเรนเดอร์งานกราฟฟิคต่างๆ ไม่ให้ภาระตกอยู่กับการ์ดจอออนบอร์ดของ Intel อย่างเดียว และซีรี่ส์ NVIDIA GTX ก็มีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าซีรี่ส์ NVIDIA MX อีกด้วย ส่วนการเล่นเกมได้อาจจะดูเป็นผลพลอยได้ของการติดตั้งการ์ดจอแยกรุ่นนี้มาให้มากกว่า

devicemgr

เมื่อเปิด Device Manager มา จะเห็นว่า ASUS VivoBook Pro 15 OLED ตัวนี้ ติดตั้ง SSD แบบ M.2 NVMe รุ่น Intel 670p ความจุ 512GB มาให้ ส่วน Wi-Fi PCIe card เป็น MediaTek MT7921 รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.0 ด้วย ซึ่งทาง ASUS มักเอามาติดตั้งกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานและเกมมิ่งของทางบริษัทหลายรุ่น และมีชิป TPM 2.0 ที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้อัพเดทเป็น Windows 11 ติดตั้งมาด้วย ดังนั้นถ้าใครต้องการอัพเกรดระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชั่นใหม่ขึ้นก็สั่งอัพเกรดได้ทันที

as ssd

ความเร็วการทำงานของ Intel 670p ความจุ 512GB นั้น ถ้าอิงจากหน้าสเปคที่ Intel เผยแพร่เอาไว้ที่หน้าเว็บไซต์ จะเห็นว่าความเร็วสูงสุดที่ทำได้ของ Sequential Read อยู่ที่ 3,000 MB/s และ Sequential Write อยู่ที่ 1,600 MB/s สามารถเขียนไฟล์ได้ 185 TBW 

ส่วนผลที่ได้จากการทดสอบด้วย AS SSD จะได้ Sequential Read 2,349.4 MB/s และ Sequential Write 1,026 MB/s จัดว่าทำงานได้เร็วระดับหนึ่งพอใช้เรียกโปรแกรมใหญ่ๆ ขึ้นมาได้รวดเร็วอย่างแน่นอน แต่ถ้าใครอยากอัพเกรดแล้วเปลี่ยน M.2 NVMe SSD ให้ทำงานเร็วขึ้น จะเลือกเป็น WD Blue SN550, WD Black SN750, Samsung 970 Evo Plus ฯลฯ ที่อินเตอร์เฟสเป็น PCIe 3.0 ก็เพียงพอ

ส่วนการทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 จะเห็นว่า OpenGL ที่ทดสอบความไหลลื่นของการเรนเดอร์ภาพบนหน้าจอทำได้ 121.87 fps และคะแนนซีพียูทำได้ 993 cb จัดว่าแรงเพียงพอใช้ทำงานสามมิติต่างๆ ได้อย่างแน่นอน ส่วนผลทดสอบกำลังการเรนเดอร์ของซีพียูอย่างเดียวด้วย CINEBENCH R20 จะได้คะแนน 2,463 pts จัดว่ากำลังการประมวลผลนั้นสูงพอใช้ทำงานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรตัวเครื่องหนักๆ และเน้นซีพียู (CPU Intensive) ได้อย่างแน่นอน

3dmaRK 1

ด้านการเล่นเกม เมื่อทดสอบด้วย 3D Mark Time Spy แล้ว จะได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,075 คะแนน แยกเป็น CPU score 2,470 คะแนน และ Graphics score 3,214 คะแนน ซึ่งถ้าดูในช่อง Estimated game performance จะเห็นว่า 3D Mark ประเมินเอาไว้ว่าการ์ดจอ NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q ตัวนี้สามารถเล่นเกม Battlefield V ความละเอียด 1440p ปรับ Preset เป็น Ultra ยังทำได้ 35 fps ซึ่งถ้าทำงานเสร็จแล้วอยากเล่นเกมก็ถือว่าเล่นได้อย่างแน่นอน 

pcmark10 1

ส่วน PCMark10 ที่จำลองการใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานออฟฟิศต่างๆ ได้ผลคะแนนเฉลี่ยออกมาที่ 5,391 คะแนน ซึ่งจัดว่าสูงทีเดียวในกลุ่มโน๊ตบุ๊คสายทำงานด้วยกัน ถ้าดูแยกเป็นแต่ละหัวข้ออย่าง Essential ที่ทดสอบการเปิดปิดแอพ, เปิดเว็บและประชุมออนไลน์ จะทำได้ 8,501 คะแนน ส่วน Productivity ที่ทดสอบการทำงานกับไฟล์ Microsoft Word, Excel ทำได้ 8,684 คะแนน ส่วน Digital Content Creation ที่เน้นเรื่องงานตัดต่อคลิปและแต่งภาพจะอยู่ที่ 5,761 คะแนน 

จากผลที่ได้ก็เห็นชัดเจนว่า ASUS VivoBook Pro 15 OLED เครื่องนี้นอกจากทำงานหลักๆ อย่างการประชุมทำงาน เรียกโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาใช้รวมทั้งงานเอกสารได้สบายๆ แล้ว เรื่องตัดต่อคลิปแต่งภาพต่างๆ ก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน ดังนั้นถ้าใครซื้อเอาไปทำงานออฟฟิศและมีทำภาพสำหรับอัพเดทโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กัน

affinity 1

ส่วนการทดสอบการแต่งภาพด้วย Affinity Photo ที่เป็นโปรแกรมประเภทเดียวกับ Adobe Photoshop แล้ว จะเห็นว่ากำลังการประมวลผลของ CPU นั้นจัดว่าแรงเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเอามาทำงาน Vector, Raster ก็ทำได้ดีทั้งคู่ ส่วนกราฟฟิคการ์ด ถึงจะเป็น NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q ก็ตาม แต่ผลการทำงานทั้งการทำงานเดี่ยวด้วยตัวการ์ดเองหรือประสานงานกับ Intel Iris Xe Graphics ก็ถือว่าทำคะแนนออกมาได้หลัก 3 พันปลาย เรียกว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า NVIDIA GeForce RTX 3050 ที่เพิ่งเปิดตัวมาใหม่เลย ดังนั้นใครเอาไปตัดต่อแต่งภาพเรียกว่าแรงหายห่วงแน่นอน

asus game benched

ส่วนการทดสอบเล่นเกม แม้สเปค Intel Core i5-11300H จับคู่การ์ดจอ NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q ที่เปิดตัวมาหลายปีแล้วและมีแรมแค่ 8GB DDR4 แต่ก็ถือว่ายังพอเล่นเกมในปี 2021 ได้อยู่ และจากที่ทดลองเล่นเกมโดยปรับกราฟฟิคในระดับสูงสุดทุกเกมแล้ว ผู้เขียนคิดว่าแม้จะเป็นการ์ดจอ Max-Q แต่ก็ยังเล่นเกมได้ดีและภาพบนหน้าจอไหลลื่นต่อเนื่องไม่มีปัญหา ถ้าใครซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นพีซีประจำตัวเครื่องเดียว ใช้งานทุกอย่างทั้งทำงานและเล่นเกมเพื่อความบันเทิงก็ถือว่ามันทำหน้าที่ได้ดีไม่มีปัญหาเลย

จากกราฟจะเห็นว่าเฟรมเรทโดยเฉลี่ยของทุกเกมนั้นอยู่ช่วง 60 เฟรมต่อวินาทีขึ้นไปทั้งหมด แต่ยกเว้น Genshin Impact ที่ผู้พัฒนาล็อคเฟรมเรทไว้ไม่ให้เกิน 60 fps และ SCUM ที่ยังพัฒนาไม่เสร็จ จะเห็นว่า Resident Evil Village ที่ผู้เขียนปรับกราฟฟิคระดับ High (0.5 GB) ตัว ASUS VivoBook Pro 15 OLED ก็ยังทำเฟรมเรทเกาะระดับเฉลี่ย 59-60 fps และผู้เขียนทดสอบโดยเล่นช่วงสู้บอส Lady Dimitrescu แล้ว ถือว่าการ์ดจอสามารถเรนเดอร์ภาพได้ไหลลื่นต่อเนื่องสบายๆ ดังนั้นเกมออนไลน์อย่าง PUBG หรือ DotA 2 ก็เล่นเกมได้ดีไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าใครซื้อเครื่องนี้ไปทำงานแล้วกลับบ้านมาอยากนั่งเล่นเกมให้สนุก ก็ต่อหน้าจอแยกผ่านพอร์ต HDMI เข้าหน้าจอเกมมิ่งแยกอีกตัว ปรับกราฟฟิคลงมาระดับ Medium-High ก็น่าจะได้เฟรมเรทสูงกว่านี้

Battery & Heat & Noise

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08881

แบตเตอรี่ใน ASUS VivoBook Pro 15 OLED มีขนาด 63Wh แบบลิเธียมโพลิเมอร์ มีความจุ 5,427 mAh (Typical) และ 5,260 mAh (Rated) จัดว่าความจุอยู่ในระดับที่ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานขนาด 15.6 นิ้ว หลายๆ รุ่น

battmon 1

เมื่อทดสอบระยะเวลาใช้งานตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยเปลี่ยนเป็นโหมดประหยัดพลังงาน, ลดความสว่างจอต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit บนคีย์บอร์ด, เปิดเสียงลำโพงเพียง 10% และดูคลิป YouTube ต่อเนื่อง 30 นาที ด้วย Microsoft Edge แล้ว แบตเตอรี่ขนาด 63Wh ใน ASUS VivoBook Pro 15 OLED เครื่องนี้ จะใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 10 ชั่วโมง 15 นาที ถือว่าถ้าเอาติดตัวไปทำงานนอกสถานที่, ประชุมกับลูกค้าหรือเข้าคลาสเรียนก็ไม่มีปัญหาไม่ต้องพะวงเรื่องแบตเตอรี่หมดกลางคันได้เลย

ซึ่งจริงๆ แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นโน๊ตบุ๊ค Intel แล้วทั้งทีและแบตเตอรี่ก็เยอะระดับ 63Wh ด้วย ควรจะมีหลัก 11-12 ชั่วโมงให้เห็นบ้าง แต่เครื่องนี้ยังมีตัวแปรเรื่องการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce ติดตั้งมาอีกตัวหนึ่งด้วย ดังนั้นจะใช้งานได้ระดับ 10 ชั่วโมงก็ถือว่าทำได้ดีมากแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มาก เพราะถ้าแบตเตอรี่เริ่มน้อยใกล้หมดก็เอาปลั๊กมือถือที่เป็น GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปเสียบชาร์จเข้าพอร์ต Thunderbolt 4 ก็ใช้ต่อได้อีกหลายชั่วโมงแล้ว

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08874

ด้านระบบระบายความร้อนในเครื่องของ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ตัวนี้เป็นพัดลมโบลวเวอร์คู่ “ASUS IceCool Plus” แยกเป็นพัดลมตัวเล็กและใหญ่ที่ดูดอากาศเย็นจากด้านใต้เครื่องเข้ามาแล้วระบายความร้อนออกทางฮีตซิ้งค์ด้านหลังเครื่อง 2 ช่อง ส่วนฮีตไปป์จะมี 2 เส้น พาดระหว่างซีพียูและการ์ดจอแยก ซึ่งทาง ASUS เคลมว่าพัดลมคู่นี้ช่วยระบายความร้อนตัวเครื่องได้ดี ถึงร้อนก็ยังใช้งานได้ต่อเนื่องไม่มีปัญหาตัวเครื่องลดประสิทธิภาพการทำงาน (Throttle down) อย่างแน่นอน

hwmonitor 1

การทดสอบ คือผู้เขียนเปิด CPUID HWMonitor ค้างเอาไว้แล้วทดลองเล่น Resident Evil Village เพื่อเอาผล Benchmark ว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ถ้าใช้ทำงานหนักๆ อย่างการเล่นเกม AAA แล้ว ได้ผลว่าอุณภูมิตัวเครื่องจะวิ่งอยู่ช่วง 46-96 องศา เฉลี่ยที่ 65 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การใช้งานจริงแล้ว หลายคนอาจจะกังวลเรื่องอุณหภูมิตัวเครื่องติดตัวแดงไปก็ตาม แต่ตอนใช้งานจริงต้องถือว่าตัวเครื่องนั้นเย็นตลอดการใช้งานถ้าไม่ได้เปิดเกมหรือรันโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนักๆ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ก็ง่ายเช่นกัน เพียงแค่วางเครื่องเอาไว้บนแท่นวางโน๊ตบุ๊คให้ช่องนำอากาศเข้ากว้างและไม่มีอะไรมาขวาง จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน

User Experience

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08931

ถ้าถามว่าที่ใช้เวลาอยู่กับ ASUS VivoBook Pro 15 OLED เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าในแง่การใช้งานพื้นฐานอย่างการเปิดอ่านไฟล์เอกสาร ท่องอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่เล่นเกมต่างๆ มันสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่รองรับการทำงานรอบด้าน ตอบโจทย์ทั้งคนทำงาน, นักเรียนนักศึกษาก็ใช้ได้ทั้งหมด แต่กลุ่มคนที่ใช้งานได้คุ้มค่าที่สุดจะเป็นทีมงานฝ่ายศิลป์หรือช่างภาพฟรีแลนซ์ที่ต้องวาดภาพหรือแต่งภาพบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คเป็นประจำหรือแม้แต่ AE บริษัทฝ่ายศิลป์ที่ต้องเอาโน๊ตบุ๊คไปพรีเซนต์งานลูกค้าบ่อยๆ จะใช้ประโยชน์จากพาเนล OLED ที่ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำ การันตีด้วย Pantone Validate, VESA DisplayHDR TRUE BLACK 600 อย่างแน่นอน

อนึ่ง ผู้อ่านบางคนที่เห็นว่าพาเนล OLED แล้วกังวลเรื่องหน้าจอเบิร์น (Burn-In) นั้น ต้องเข้าใจกันก่อนว่าปัญหาจอเบิร์นนั้นเกิดจากการที่เจ้าของสมาร์ทโฟนเครื่องนั้นๆ เปิดความสว่างสูงสุดแทบจะตลอดเวลา, เปิดภาพใดภาพหนึ่งค้างบนหน้าจอต่อเนื่องนานๆ หรือไม่ยอมพักหน้าจอไม่ยอมใช้ Screen Saver จึงเกิดปัญหานี้ได้ง่ายๆ แต่จากที่ใช้ ASUS VivoBook Pro 15 OLED มาแล้ว ผู้เขียนไม่เจอปัญหานี้เลย เพราะส่วนตัวจะปรับความสว่างลงมาช่วง 60-70% เป็นประจำ เพราะพาเนล OLED นั้นสว่างมากและจากวัดได้ก็สูงเกือบ 300 nits ถ้าลดความสว่างลงมาสักหน่อยก็จะสว่างกำลังดีไม่จ้าเกินไปจนแสบตาและตัดกังวลเรื่องหน้าจอเบิร์น (Burn-In) ทิ้งได้เลย

เรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานต่อเนื่องได้สูงสุด 10 ชั่วโมงที่โปรแกรม BatteryMon โชว์นั้น จริงๆ แล้วถ้าใครพกเครื่องไปติดต่องาน, ไปนั่งทำงานแบบฉาบฉวยตามร้านกาแฟต่างๆ ถือว่าไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะจากที่ผู้เขียนพกเครื่องไปนั่งเขียนงานเล็กๆ น้อยๆ โดยเปิด Google Chrome เขียนงานที่ร้านกาแฟรอทำธุระ ก็ถือว่าแบตเตอรี่ 63Wh สามารถใช้งานได้สบายๆ แต่ถ้าใครอยากเผื่อสักนิดไม่ให้กลุ้มเรื่องแบตเตอรี่หมดก่อนหมดวันล่ะก็ แนะนำให้เตรียม Powerbank ที่ชาร์จโน๊ตบุ๊คได้หรือปลั๊ก GaN ที่กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์ใส่กระเป๋าเอาไว้จะสบายใจขึ้นอย่างแน่นอน

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08924

ส่วนจุดที่ผู้เขียนออกจะเสียดายและคิดว่า ASUS ไม่น่ากั๊กของแบบนี้ คือช่องแรม SO-DIMM ที่ถ้าใส่มาให้อีกช่องเอาไว้เสริมกับแรมออนบอร์ดด้วยก็จะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เนื่องจากลูกค้าสักคนจะซื้อโน๊ตบุ๊คไปใช้งานก็ไม่มีทางจบแค่เอามาใช้งานทั่วไปแน่นอน ยิ่งเป็นโน๊ตบุ๊คพาเนล OLED คุณภาพสูง มีตัดต่อคลิป แต่งภาพเป็นจำนวนมา (Batch process) รวมไปถึงเปิดเบราเซอร์หลายๆ แท็บ เช่น กระดานหุ้นและหาข่าวจากหลายๆ แหล่งมาอ่านด้วยก็ต้องกินแรมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้เมื่อมีการ์ดจอแยกซีรี่ส์ NVIDIA GTX ติดตั้งมาด้วย แม้จะเป็นรุ่นเก่าอย่าง GTX 1650 Max-Q ก็ตาม ผู้ใช้ก็ต้องมีสลับมาเล่นเกมกันแน่นอน และแรม 8GB สำหรับเกมหลายๆ เกมในปัจจุบันก็กลายเป็นสเปคที่ต้องการในขั้นต่ำแล้ว (Minimum Requirement) ดังนั้นการเตะตัดขาโน๊ตบุ๊ครุ่นที่น่าจะมีศักยภาพเช่นนี้ก็ดูจะน่าเสียดายไม่น้อย

อีกจุดที่ ASUS ควรใส่มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน คือ ระบบการสแกนนิ้วมือหรือใบหน้าเพื่อปลดล็อคตัวเครื่อง แม้บางคนหรือผู้เขียนเองจะไม่มีปัญหาเรื่องพิมพ์รหัสผ่านหรือกรอกรหัส PIN เพื่อปลดล็อคเครื่องก็ตาม แต่จากที่ผู้เขียนเลือกซื้อโน๊ตบุ๊คที่มีระบบสแกนใบหน้าเอาไว้ใช้งานเป็นเครื่องหลักก็รู้สึกได้ว่าฟีเจอร์ Biometric Authentication ควรมีเป็นอุปกรณ์พื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของเครื่อง โดยโน๊ตบุ๊คที่เปิดตัวตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมาควรมีติดมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานได้แล้ว และอาจจะใส่มาให้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้เพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้ามีโมเดลปรับอุปกรณ์รอบเล็ก (Minor change) อาจจะเพิ่มสแกนลายนิ้วมือเข้ามาที่ปุ่ม Power หรือทำแยกออกมาเป็นอีกพอร์ตที่ทัชแพดก็ได้ หรือถ้าให้ดีก็แนะนำว่าใส่มาทั้งสองอย่างให้ผู้ใช้เลือกใช้งานได้ตามความสะดวก จะช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ตัวนี้ได้อีกมาก

Conclusion & Award

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08923

โดยสรุปแล้ว ต้องถือว่า ASUS VivoBook Pro 15 OLED เองก็เป็นโน๊ตบุ๊คที่ครอบคลุมการใช้งานรอบด้านรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเอามาทำงานอาร์ตต่างๆ ด้วยหน้าจอ OLED ที่ขอบเขตสีกว้างและแม่นยำระดับเทียบชั้นกับโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์ได้สบายๆ ใช้งานตามปกติก็ได้เพราะ Intel Core i5-11300H ก็มีกำลังการประมวลผลสูง รันโปรแกรมหนักๆ ได้ดีหายห่วง และพองานเสร็จจะสลับไปเล่นเกมก็ทำได้สบายๆ เพราะการ์ดจอ GTX 1650 Max-Q เองก็ถือว่าเล่นเกมได้ดีระดับหนึ่ง แม้เฟรมเรทจะไม่ถึงกับรุ่นใหม่ล่าสุดอย่างตระกูล GeForce RTX 3000 Series แต่ก็เล่นเกม AAA ปรับ Medium-High ได้ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้จุดที่ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างนอกจากหน้าจอ OLED แล้ว คือพอร์ต Thunderbolt 4 ที่ทางบริษัทติดตั้งมาด้วย ทำให้ผู้ใช้ต่อหน้าจอแยก, ชาร์จแบตเตอรี่หรือจะต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ต USB-A หลายๆ ชิ้นพร้อมกันก็ได้ จัดเป็นพอร์ตสารพัดประโยชน์ที่ควรมีติดมาให้กับโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันนี้อย่างแท้จริง และไม่ต้องเสียเงินซื้อโปรแกรมอะไรเพิ่มมากนักเพราะมี Windows 10 Home ติดตั้งมาให้ในเครื่องพร้อม Microsoft Office Home & Student 2019 แบบครบๆ แค่เปิดเครื่องมา Sign In ก็จบพร้อมใช้งานได้เลย

ASUS VivoBook Pro 15 OLED DSC08932

อย่างไรก็ตามจุดที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างการอัพเกรดเพิ่มแรมไม่ได้ และไม่มีระบบ Biometric Authentication อย่างการสแกนใบหน้าหรือลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ในโน๊ตบุ๊คระดับราคา 32,900 บาท ยังถือเป็นจุดที่ต้องคำนึงก่อนซื้อสักหน่อย เนื่องจากโน๊ตบุ๊คระดับราคานี้หลายรุ่นอย่างน้อยจะมีที่สแกนลายนิ้วมือหรือกล้อง IR Camera ติดตั้งมาให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วยเพิ่มความสะดวกเวลายืนยันตัวปลดล็อคเครื่องและความเป็นส่วนตัวขึ้นมากหลายเท่า แต่ถ้าเรื่องการพิมพ์รหัสผ่านไม่ใช่ประเด็นหลักก็อาจจะมองข้ามส่วนนี้ไปก็ได้

ถ้ามองแพ็คเกจตัวเครื่องโดยรวมแล้ว สุดท้าย ASUS VivoBook Pro 15 OLED ก็จัดเป็นโน๊ตบุ๊คที่มีดีในฐานะโน๊ตบุ๊คที่รองรับการทำงานได้รอบด้าน ตอบโจทย์ผู้ใช้หลากหลายกลุ่มได้สบายๆ และมีประกันตัวเครื่องจาก ASUS ที่ดูและหลังการขายได้ดีเคลมได้ง่ายซัพพอร์ตอยู่ด้วย เรียกว่าเป็นข้อดีที่เป็นแต้มต่อให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้อีกส่วนหนึ่งเลย  

Award

award new performance

Best Performance

รางวัล Best Performance สำหรับ ASUS VivoBook Pro 15 OLED ในฐานะที่ ASUS จัดสเปคมาได้ดี จับคู่ Intel Core i5-11300H กับ NVIDIA GeForce GTX 1650 Max-Q ใช้งานได้ดีรอบด้านทั้งทำงานหรือจะเล่นเกมก็โอเคทั้งนั้น รวมทั้งมีพอร์ต Thunderbolt 4 มาให้ใช้ต่ออุปกรณ์เสริมได้อีกด้วย เรียกว่าครบเครื่องระดับหนึ่ง

award new Graphic

Best Graphics

หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล OLED ที่ได้ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB, 99% AdobeRGB และ 92% DCI-P3 ความแม่นยำสี Delta-E <2 อีก จัดเป็นจอที่เหมาะกับงานกราฟฟิคมาก เทียบชั้นโน๊ตบุ๊คสำหรับครีเอเตอร์หลายๆ รุ่นได้เลยจะตัดต่อแต่งภาพหรือเอาไปพรีเซนต์งานอาร์ตก็ทำได้สบายๆ 

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว MSI

MSI Prestige 13 AI+ EVO A2VMG ในบอดี้สุดบาง น้ำหนักสุดเบา มี Intel Core Ultra 200V ให้ทำงานใหญ่เล็กได้อย่างยอดเยี่ยม! การลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ทำงานให้มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไรก็คุ้มค่า ยิ่งเป็นยุคของ AI แล้ว จะซื้อโน๊ตบุ๊คใหม่อย่าง MSI Prestige 13 AI+...

CONTENT

ปัจจุบัน โน้ตบุ๊กกลุ่มที่เน้นดีไซน์บางเบามักจะมาพร้อมจุดเด่นคือแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนาน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นประหยัดพลังงาน และอาจมีหน้าจอขนาดเล็กลงมาหน่อย เพื่อให้มีอัตราการกินไฟที่ลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่นชิป AMD Ryzen AI 9 HX 370 ที่เป็นชิปสมรรถนะสูง แต่ก็มีค่า TDP ที่ทำได้ต่ำกว่าชิปรุ่นก่อน ทำให้ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในบทความนี้เราจะมาลองว่าใน 1 วัน ผมจะสามารถใช้งาน ASUS...

รีวิว hp

HP OmniBook Ultra Flip 14 โน๊ตบุ๊คพลัง Intel® Core™ Ultra 200V Series Processors ให้ AI ทำงานได้ดีสุดบน Intel! HP OmniBook Ultra Flip 14 เป็นผลลัพธ์จากการรีแบรนด์สินค้าทั้งไลน์อัพของ HP ใหม่ทั้งหมดให้รับกับยุคสมัยที่...

COMMART

รวมโปรคอมมาร์ท Commart TechXPro ครบเครื่องก่อนเข้างาน เช็คก่อนช็อปคุ้มกว่าเดิม!! ก่อนจะไปช็อปในงานขายสินค้าไอทีครั้งใหญ่สุดประจำปีอย่างงาน Commart TechXPro หลายคนก็มองหาหน้ารวมโปรคอมมาร์ทเก็บข้อมูลก่อนไปงานว่าสินค้าที่ต้องการขายอยู่บูธไหนซื้ออย่างไรถึงจะคุ้มก่อนไปงานเสมอ ซึ่งทางผู้จัดงานจะรวบรวมข้อมูลเอาไว้ให้บนหน้า Facebook กับเว็บไซต์ Commart เป็นประจำ ซึ่งปีนี้ก็ยังจัดงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เช่นเดิม สามารถเดินทางได้หลายวิธีไม่ว่าจะขับรถมา, นั่งรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ก็ได้จึงมาร่วมงานได้สะดวกมาก รวมโปรคอมมาร์ทและข้อดีของการไปงาน Commart TechXPro...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก