ASUS ROG Strix G15 เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คพลังเหลือ ทำงานก็ได้เล่นเกมก็เลิศ
ASUS ROG Strix G15 ถือเป็นซีรี่ส์เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมมากไม่แพ้กับซีรี่ส์อื่นที่ทาง ASUS วางจำหน่ายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทาง ASUS จะใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ มาให้แบบครบเครื่องแล้ว ดีไซน์ตัวเครื่องก็สวยงามและเก็บรายละเอียดเล็กน้อยที่บอกความเป็นซีรี่ส์ ROG ที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่เกมเมอร์หลายคนมักคิดถึงเป็นรุ่นแรกๆ เมื่อคิดจะซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมาใช้สักเครื่องหนึ่ง
และ ASUS ROG Strix G15 โมเดลปี 2021 นี้ ก็ได้รับการอัพเดทสเปคภายในตัวเครื่องให้ประสิทธิภาพดีขึ้นกว่ารุ่นที่แล้วมาก ซึ่งตอนนี้ทาง ASUS จัดสเปคจับคู่ระหว่าง AMD กับ NVIDIA ทำให้ราคาเครื่องไม่แพงเกินไป เริ่มจากช่วง 3 หมื่นบาทต้นๆ ไปจนเกือบ 6 หมื่นบาท และมีรุ่นที่เป็น AMD ล้วนให้เลือกได้ตามความชอบและงบประมาณ และมี Perfect Warranty 1 ปีแรก ที่รวมประกันอุบัติเหตุเอาไว้ให้เกมเมอร์อุ่นใจขึ้นอีกด้วย
NBS Verdict
ASUS ROG Strix G15 รุ่นใหม่ที่อัพเกรดสเปคในตัวเครื่องมาให้แบบจัดเต็ม โดยจับคู่ AMD Ryzen 9 5900HX กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti มาให้ เรียกว่าเป็นเครื่องที่จะทำงานก็ได้เล่นเกมก็ดีไม่แพ้รุ่นใหญ่เลย นอกจากนี้ยังใช้ระบบระบายความร้อน Liquid Metal กับพัดลมอีกสองตัวก็ทำให้เราใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงโดยไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะร้อนจนโอเวอร์ฮีตหรือมีปัญหาสักนิด เพราะตัวเครื่องนั้นเย็นตลอดเวลาแม้จะรันโปรแกรมหนักๆ หรือเล่นเกม AAA อยู่ก็ใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา
ด้านของความสวยงามก็ถือว่าสมกับความเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสาย ROG เพราะมีลวดลายโลโก้สวยงามกับไฟ RGB ทั้งที่คีย์บอร์ดและแถบ Aura Sync Light Bar ด้านหน้าตัวเครื่อง ซึ่งเกมเมอร์ที่ชื่นชอบไฟตกแต่งสวยงามก็น่าจะชื่นชอบดีไซน์นี้ของ ASUS ไม่น้อยเลย
แต่จุดสังเกตของ ASUS ROG Strix G15 จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างตัวเครื่องไม่มีระบบสแกนนิ้วหรือใบหน้าเพื่อปลดล็อคเครื่องติดตั้งมาให้ ในขณะที่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์ใกล้เคียงกันของ ASUS ก็มีสแกนนิ้วที่ปุ่ม Power ติดตั้งมาแล้ว, ไม่มีกล้อง Webcam และไม่ได้แถมกล้องเสริมที่ใช้ต่อผ่านพอร์ต USB มาให้ใช้ในยุคที่ต้องพึ่งการประชุมทางออนไลน์เป็นหลักและไม่มีพอร์ต SD Card Reader ทำให้คนที่ต้องการโอนไฟล์ภาพจากกล้องหรือสมาร์ทโฟนต้องหาอแดปเตอร์มาต่อเพิ่มแทน
จุดเด่นของ ASUS ROG Strix G15
- ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX เอาไว้ ใช้ทำงานกับโปรแกรมที่กินทรัพยากรตัวเครื่องหนักๆ ได้เป็นอย่างดี
- NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ใช้ทำงานกราฟฟิคและเล่นเกมได้ดีไม่แพ้การ์ดจอรุ่นอื่น
- พอร์ต USB-C รองรับการต่อหน้าจอแยกมาตรฐาน DisplayPort และใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery
- ใช้งานต่อเนื่องได้นาน 9 ชั่วโมง สามารถใช้ทำงานทั่วไปได้นานกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ และถ้าพกติดตัวไปทำงานก็ไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดกลางทางนัก
- พอร์ตรอบตัวเครื่องเป็น USB-A 3.2 Gen 1 Type-A ทั้ง 3 ช่องแล้ว จึงใช้รับส่งไฟล์ได้รวดเร็ว
- ระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องจัดการอุณหภูมิได้ดีมาก สามารถทำงานและเล่นเกมต่อเนื่องได้โดยตัวเครื่องไม่ร้อนเลยด้วยพัดลมสองตัวและ Liquid Metal และการออกแบบ 3D Flow Zone ทำให้เวลาเล่นเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมงเครื่องก็ไม่ร้อน
- งานประกอบแน่น แข็งแรงและออกแบบเก็บรายละเอียดตัวเครื่องส่วนต่างๆ ได้ดี มีลวดลายบอกความเป็น ROG อยู่ตามจุดต่างๆ ของตัวเครื่อง
- คีย์บอร์ดมีไฟ RGB และ Aura Sync Light Bar ให้ความสวยงาม ตั้งค่าได้ด้วยฟีเจอร์ AURA Sync ในซอฟท์แวร์ Armoury Crate
- สามารถอัพเกรดแรมและ M.2 NVMe ได้อย่างละ 2 ช่อง ทำให้พร้อมใช้งานหนักได้สบายๆ
- แยกปุ่ม Multimedia เอาไว้ที่ฝั่งขวาของตัวเครื่องโดยเฉพาะ ทำให้คุมการดูหนังและเล่นเพลงได้สะดวก ไม่ต้องกดปุ่ม Fn เหมือนโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่น
- มีปุ่ม Windows Lock ที่ใช้ล็อคไม่ให้ปุ่ม Windows ทำงานแทรกตอนกำลังเล่นเกม
ข้อสังเกตของ ASUS ROG Strix G15
- ต้องพิมพ์รหัสผ่านเพื่อปลดล็อคเครื่องเท่านั้น ไม่มีระบบสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าติดตั้งมาให้
- ไม่มีกล้อง Webcam ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในการประชุมออนไลน์ หากเป็นไปได้แนะนำให้แถมกล้อง ROG Eye มาให้ในกล่องจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
- ไม่มีช่อง SD Card Reader อยู่ที่ตัวเครื่อง ต้องต่ออุปกรณ์เสริม
- ปุ่ม F5 ที่เป็นปุ่มสลับระหว่าง Silent กับ Performance Mode นั้นซ้ำซ้อนกับปุ่มแยกเฉพาะที่ติดไว้ใกล้ๆ กัน คิดว่าควรเปลี่ยนฟังก์ชั่นของปุ่ม F5 ไปเป็นคำสั่งอื่นแทนจะดีกว่า
รีวิว ASUS ROG Strix G15
- Specification
- Hardware & Design
- Keyboard & Touchpad
- Screen & Speaker
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- User Experience
- Battery / Heat & Noise
- Conclusion & Award
Specification
สเปคของ ASUS ROG Strix G15 นั้นจะมีรุ่นย่อยอยู่ถึง 5 รุ่นด้วยกัน แยกเป็นรุ่นซีพียู AMD กับการ์ดจอ NVIDIA หรือเป็น AMD กับการ์ดจอ AMD Radeon ก็ได้ โดยแชร์บอดี้และดีไซน์ร่วมกันทุกรุ่น แต่จะต่างกันที่รายละเอียดอย่างลวดลายตกแต่งตัวเครื่องในส่วนต่างๆ แต่ให้ฟีเจอร์หลักอย่าง Aura Sync Light Bar กับคีย์บอร์ดมีไฟ RGB และเลือกรุ่นของการ์ดจอได้สูงสุดที่ NVIDIA GeForce RTX 3070 และรุ่นเริ่มต้นทุกรุ่นเป็น NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ทั้งหมด ซึ่งประสิทธิภาพดี ใช้ทำงานและเล่นเกมได้สบายๆ อย่างแน่นอน
โดยรุ่นที่ได้รับมาทดสอบจะเป็นซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.6 GHz สถาปัตยกรรม AMD Zen 3 จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 ใส่ SSD แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB พร้อมติดตั้ง Windows 10 Home มาให้ในเครื่องพร้อมแรม 16GB DDR4 บัส 3200 MHz ใส่เพิ่มได้อีก 1 แถว รองรับความจุสูงสุด 32GB และหน้าจอมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 และรองรับ Bluetooth 5.1 อีกด้วย ส่วนราคาเครื่องอยู่ที่ 39,990 บาท
- ASUS ROG Strix G15 GL543QE-HN040T : AMD Ryzen 5 5600H, NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti (4GB GDDR6), M.2 NVMe 512GB, RAM 16GB DDR4 3200 MHz, หน้าจอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz, Windows 10 Home, ราคา 32,990 บาท
- ASUS ROG Strix G15 GL543QE-HN131T : AMD Ryzen 9 5900HX, NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti (4GB GDDR6), M.2 NVMe 512GB, RAM 16GB DDR4 3200 MHz, หน้าจอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz, Windows 10 Home, ราคา 39,990 บาท
- ASUS ROG Strix G15 GL543QM-HF215T : AMD Ryzen 9 5900HX, NVIDIA GeForce RTX 3060 (6GB GDDR6), M.2 NVMe 1TB, RAM 16GB DDR4 3200 MHz, หน้าจอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 300 Hz, Windows 10 Home, ราคา 50,990 บาท
- ASUS ROG Strix G15 GL543QR-HF126T : AMD Ryzen 9 5900HX, NVIDIA GeForce RTX 3070 (8GB GDDR6), M.2 NVMe 1TB, RAM 16GB DDR4 3200 MHz, หน้าจอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 300 Hz, Windows 10 Home, ราคา 59,990 บาท
- ASUS ROG Strix G15 Advantage Edition GL543QY-HQ009T : AMD Ryzen 9 5900HX, AMD Radeon RX 6800M (12GB GDDR6), M.2 NVMe 1TB, RAM 16GB DDR4 3200 MHz, หน้าจอ 15.6 นิ้ว WQHD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 165 Hz ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3, Windows 10 Home, ราคา 59,990 บาท
Hardware & Design
ดีไซน์ตัวเครื่องของ ASUS ROG Strix G15 จะเป็นดีไซน์ที่คล้ายกับสไตล์ ASUS TUF Gaming F15 ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ โดยตัวเครื่องจะมีสันส่วนเหนือคีย์บอร์ดแบบทูโทนคือดำและเทา ส่วนขอบหน้าจอส่วนล่างจะตัดเว้นพื้นที่แบบ 40/60 ให้ฝั่งซ้ายที่มีคำว่า ROG Strix มีพื้นที่น้อยกว่าและเว้าส่วนใต้จอเอาไว้เพื่อให้เห็นไฟสถานะที่อยู่เหนือหน้าจอ ส่วนริมสองฝั่งจะเป็นขาจอโลหะที่ยึดระหว่างตัวเครื่องกับหน้าจอเอาไว้ และหน้าจอขอบบาง NanoEdge Display สามด้านคือขอบบนและซ้ายขวาที่ ASUS มักทำกับโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่หลายๆ รุ่นของทางบริษัท
ด้านขอบล่างด้านหน้าเครื่องจะเป็นแถบไฟ RGB “Aura Sync Light Bar” ที่เดินแนวตั้งแต่ข้างเครื่องจากฝั่งซ้ายไปขวาพาดตลอดแนวหน้าเครื่อง โดยสีไฟ RGB นี้จะเปลี่ยนตามการตั้งค่าไฟของคีย์บอร์ดของเรา ว่าจะให้เล่นไฟแบบไหน และกดตั้งค่าได้ในฟีเจอร์ Aura Sync
ตัวก้านหน้าจอจะเป็นโลหะแข็งที่จับระหว่างหน้าจอกับตัวเครื่องอยู่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งสามารถกางและพับหน้าจอกลับได้มั่นคงไม่มีอาการโยกหลวมเลยสักนิด จัดว่าทาง ASUS เก็บรายละเอียดในส่วนนี้ได้ดีมาก ส่วนขอบตัวเครื่องแถบซ้ายมือและและฝาหลังเครื่องจะมีลายตัวอักษร ROG เขียนพาดเอาไว้เป็นแนวเฉียง ให้ความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซีรี่ส์นี้ด้วย
ด้านของขอบหน้าจอส่วนที่ตัดเว้นเข้ามาจะถูกเว้นเอาไว้ให้เห็นไฟสถานะตัวเครื่องทั้ง 4 ดวงที่อยู่ตรงขอบบนเครื่อง ทำให้มองเห็นได้ง่ายทั้งตอนที่เปิดใช้งานและพับหน้าจออยู่และรู้ว่าตอนนี้เครื่องยังทำงานหรือเปล่าหรือดับไปแล้ว เป็นการออกแบบที่ได้ทั้งความโฉบเฉี่ยวและประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมๆ กัน
ด้านหลังของตัวเครื่องจะเป็นสีเทาเข้มกับดำ มีโลโก้ ROG สแตนเลสสีเงินที่ฝาหลังฝั่งขวามือและด้านซ้ายแถบหนึ่งจะสกรีนคำว่า ROG ไว้ ส่วนสันขอบด้านหลังเครื่องแบ่งเป็นสีเทาอ่อนกับดำที่สลักคำว่า ROG เอาไว้ด้วย แต่ ASUS ROG Strix G15 รุ่นนี้จะต่างจากเครื่องรุ่นบนที่สไลด์เปลี่ยนแถบพลาสติกตรงนี้เป็นสีอื่นได้ ส่วนรุ่นนี้จะเป็นแบบยึดติดกับตัวเครื่องไปเลย ซึ่งคนที่หวังว่าจะได้ถอดแถบพลาสติกตรงนี้เปลี่ยนเป็นสีอื่นได้นั้นก็ต้องผิดหวังกันไปเล็กน้อย
ถ้ามองจากด้านข้างเครื่อง จะเห็นว่าหน้าจอสามารถกางได้เป็นมุมป้านราว 100 องศา และขอบหน้าจอด้านล่างจะแตะติดกับสันขอบหลังเครื่องพอดี แต่การดีไซน์นี้ก็ถือว่าทำมุมกว้างได้กำลังดีทั้งวางใช้งานบนโต๊ะหรือบนแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็กางจอให้มองเห็นได้สะดวกทีเดียว
ส่วนด้านใต้เครื่องจะออกแบบเป็น 2 ขั้น ดีไซน์แยกส่วนและมีช่องดูดอากาศจากด้านใต้เครื่องให้เห็นชัดเจน ติดยางรองใต้เครื่องเอาไว้ขอบเครื่องทั้ง 4 จุด โดยขอบบนฝั่งซ้ายสีขาวจะเขียนคำว่า “For Those Who Dare” และสีดำด้านขวามือเขียนว่า “Back On Top” ซึ่งเป็น Wording ที่ทาง ASUS ใช้สื่อถึงความเป็นซีรี่ส์ ROG นั่นเอง
Keyboard & Touchpad
ถึง ASUS ROG Strix G15 จะเป็นโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้ว แต่คีย์บอร์ดจะเป็นแบบ Tenkeyless ตัดชุดปุ่ม Numpad ด้านขวามือทิ้งไปและโฟกัสที่ชุดปุ่มหลักแทน และตัวปุ่มเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่มาตรฐาน ตัวปุ่ม WASD จะเป็นปุ่มใสสกรีนตัวอักษรเอาไว้บนปุ่ม ส่วนปุ่มอื่นจะเป็นปุ่มทึบเจาะช่องให้ไฟ RGB ลอดตัวอักษรและขอบข้างเครื่องออกมาแทน
ด้านปุ่มฟังก์ชั่นด้านขวามือเป็นกลุ่มปุ่ม Multimedia Key ใช้กดเล่น, หยุดหรือข้ามเพลงได้ ส่วนด้านล่างถัดลงไปเป็นปุ่ม Print Screen ซึ่งแยกเป็นปุ่มเฉพาะ ไม่ได้รวมอยู่ในชุดปุ่ม F1-F12 ข้อดีคือกดง่ายและแยกชุดไว้ชัดเจน และใส่ปุ่ม Page Up, Page Down, Home, End รวมไว้ที่ปุ่มลูกศรซึ่งถ้าใช้งานให้กด Fn ค้างก่อนค่อยกด จัดเป็นการรวมปุ่มที่มีเหตุผลและหาไม่ยาก และถ้ากด Fn+Windows จะล็อคไม่ให้ปุ่ม Windows ทำงาน เวลาเผลอไปโดนระหว่างเล่นเกมก็ไม่มีการเปิดหน้า Start menu มากวนระหว่างเล่นเกมแน่นอน
ส่วนเหนือคีย์บอร์ดด้านบนซ้ายมือมีชุดปุ่มฟังก์ชั่นแยกพิเศษเอาไว้ เอาไว้ใช้ลดเสียง, เพิ่มเสียง, ปิดไมโครโฟน, สลับระหว่างโหมด Silent หรือ Performance และปุ่มเรียกซอฟท์แวร์ Armoury Crate สำรับตั้งค่าตัวเครื่องได้ทั้งหมด
ส่วนปุ่ม Power จะเป็นทรงหกเหลี่ยมติดอยู่มุมบนขวามือ แต่ไม่มีฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือติดมาให้ ซึ่งน่าเสียดายอยู่บ้างเพราะถ้าเทียบกับซีรี่ส์เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในค่ายด้วยกันอย่าง ROG Zephyrus ที่ปุ่ม Power สแกนลายนิ้วมือได้แล้วก็หวังว่าถ้าทาง ASUS จะเปิดตัว ROG Strix รุ่นปีถัดไปเปลี่ยนปุ่ม Power ให้สแกนลายนิ้วมือได้ด้วยจะสมบูรณ์แบบมาก ไม่ต้องเสียเวลามาพิมพ์รหัสผ่านแบบนี้
ส่วนปุ่ม Fn ตรงปุ่ม F1-F12 ตอนกด Fn ค้างแล้วกดจะมีฟังก์ชั่นดังนี้
- F1 – ปิดหรือเปิดเสียง
- F2, F3 – ลดหรือเพิ่มแสงไฟคีย์บอร์ด
- F4 – คำสั่ง Aura Sync เอาไว้เปลี่ยนสไตล์ของไฟ RGB
- F5 – ปุ่มสลับโหมดระหว่าง Silent หรือ Performance Mode แต่ตรงชุดปุ่มเหนือคีย์บอร์ดก็มีปุ่มนี้อยู่ด้วย ซึ่งคิดว่าถ้าทาง ASUS เปลี่ยนปุ่มนี้เป็น Function อื่นจะมีประโยชน์มากขึ้น
- F6 – ปุ่มเรียกคำสั่ง Snipping Tool ไว้เซฟภาพหน้าจอ
- F7, F8 – เพิ่มหรือลดความสว่างหน้าจอ
- F9 – ปุ่ม Project เอาไว้ตั้งค่าการแสดงผลหน้าจอหลักกับจอเสริม
- F10 – ปุ่มล็อคการทำงานของทัชแพด
- F11 – ปุ่ม Sleep Mode
- F12 – ปุ่ม Airplane Mode
นอกจากนี้ที่ปุ่ม Delete ถ้ากด Fn ค้างไว้ก่อนแล้วกดจะกลายเป็นปุ่ม Insert แทน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการรวมปุ่ม Function ที่ทาง ASUS ออกแบบนั้นทำได้ดี โดยการรวมปุ่มตรงข้ามกันหรือปุ่มที่ทำงานแบบเดียวกันไว้ด้วยกันแล้วใช้ปุ่ม Fn ไว้สลับฟังก์ชั่นไปมานั้น นับเป็นการออกแบบที่ใช้งานได้ง่าย
ด้านคีย์บอร์ดเป็นแบบแสงลอดตัวอักษรและด้านข้างปุ่ม ส่วนปุ่ม WASD จะเป็นปุ่มใสที่ไฟขึ้นทั้งปุ่มและสกรีนตัวอักษรเอาไว้ ซึ่งปรับความสว่างได้ 3 ระดับและแพตเทิร์นไฟได้ 4 แบบโดยการกด Fn+F4 เพื่อเปลี่ยนไฟด้วยฟังก์ชั่น Aura Sync และไฟ Aura Sync Light Bar ด้านล่างจะเปลี่ยนตาม และถ้ากดจากปุ่มลัดบนคีย์บอร์ดนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบไฟ RGB ได้ 5 แบบหลัก ๆ ได้แก่ Breathing, Strobing, Color Cycle, Rainbow, Static เท่านั้น แต่ถ้าใครอยากเปลี่ยนแบบไฟมากกว่านี้แนะนำให้เปิด Armoury Crate มาเปลี่ยนไฟและปรับความถี่ของไฟได้เยอะกว่า
ด้านของทัชแพดจะเป็นแบบซ่อนปุ่มคลิกซ้ายขวา โดยทาง ASUS เคลมว่าตัวทัชแพดรุ่นใหม่นี้ขยายขนาดให้ใหญ่กว่ารุ่นก่อนร่วม 85% ซึ่งการตอบสนองการลากเคอร์เซอร์เมาส์และการคลิกทำได้รวดเร็วและแม่นยำใช้ได้ เรียกว่าถ้าพกเครื่องออกไปทำงานนอกสถานที่แล้วไม่สะดวกใช้เมาส์ก็พึ่งทัชแพดได้
Screen & Speaker
ด้านหน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz ของ ASUS ROG Strix G15 จะเป็นหน้าจอแบบ NanoEdge Display ที่ขอบสามด้านคือบนและซ้ายขวาบาง โดยทาง ASUS ออกแบบหน้าจอให้ขอบบางเพื่อเพิ่มพื้นที่การมองเห็นและบีบขนาดตัวเครื่องให้เล็กกว่ารุ่นที่แล้วราว 7% ทำให้พกพาได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากการพกเครื่องไปกลับออฟฟิศแล้วถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊ค 15.6 นิ้ว ที่ขนาดกระชับกำลังดี รู้สึกว่าใหญ่กว่าเครื่องไซซ์ 14 นิ้วแค่เล็กน้อยเท่านั้น
ที่ขอบบนจะมีลิ้นพลาสติกเอาไว้ให้เอานิ้วเกี่ยวเปิดหน้าจอได้ และจากการทดลองใช้นิ้วเดียวดึงเปิดหน้าจอดู ไม่มีอาการเครื่องยกตัวตามหน้าจอขึ้นมาเลย จัดว่าทาง ASUS สามารถจัดบาลานซ์ตัวเครื่องได้ดีทีเดียว เพราะถ้าจัดแล้วน้ำหนักตกที่ส่วนเหนือคีย์บอร์ดก็จะทำให้เครื่องยกตัวขึ้นแล้วค่อยกางออก แต่ ROG Strix G15 ไม่มีอาการนี้ตอนใช้งาน
ส่วนจุดน่าเสียดายและคิดว่าถ้าทาง ASUS ปรับแก้ในรุ่นใหม่ล่ะก็จะทำให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ดีขึ้นมากๆ คือเพิ่มกล้อง Webcam กลับมาเพื่อเอาไว้ใช้ประชุมออนไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือถ้าอยากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้อาจจะจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายโดยทำส่วนลดเมื่อซื้อเครื่องนี้สามารถรับส่วนลดซื้อ ASUS ROG Eye ได้ถูกลงหรือแถมเป็นรุ่นพิเศษไปก็ถือว่าดีเช่นกัน
ด้านขอบเขตสีของหน้าจอ เมื่อทดสอบด้วย Spyder5Elite แล้ว ได้ผลว่าหน้าจอของ ASUS ROG Strix G15 จะมีขอบเขตสีกว้าง 60% sRGB, 45% AdobeRGB และ 44% DCI-P3 จัดว่าขอบเขตสีนั้นไล่เลี่ยกับหน้าจอของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจากแบรนด์อื่นๆ ซึ่งพอใช้แต่งภาพทำสีสำหรับโพสท์ขึ้น Social network ได้ แต่ถ้าอยากให้ดีกว่านี้แนะนำให้ต่อหน้าจอแยกที่ขอบเขตสีกว้างกว่านี้จะดีกว่า ตัวอย่างเช่น ASUS ProArt Series จะตอบโจทย์กว่ามาก
ส่วนความสว่างหน้าจอเมื่อแบ่งเป็นตาราง 9 ช่องแล้ว จะเห็นว่าตั้งแต่ส่วนกลางหน้าจอขึ้นไปและตรงกลางส่วนล่างของหน้าจอนั้นจะมีความสว่างที่ 0-8% ซึ่งถือว่าหน้าจอนี้ให้สีสันสว่างเกือบทั่วทั้งหน้าจอ แต่จะมีแค่ขอบล่างซ้ายและขวาเท่านั้นที่ความสว่าง 10%, 17% ซึ่งจะมืดกว่าส่วนอื่นอยู่บ้าง ดังนั้นถ้าแต่งภาพใช้ทั่วไปก็แทบไม่มีปัญหาเลย ใช้ได้เกือบทุกส่วนของหน้าจอเพราะความสว่างไล่เลี่ยกันหมด
สุดท้ายแล้ว คะแนนหน้าจอโดยรวมของ ASUS ROG Strix G15 เครื่องนี้จะอยู่ที่ 3.5 เต็ม 5 คะแนน ซึ่งถือว่าดีกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คทั่วๆ ไปที่ทำได้ 3 เต็ม 5 คะแนนอยู่เล็กน้อย โดยหน้าจอนี้จะเด่นเรื่องค่า Contrast ที่ได้เต็ม 5 คะแนนทีเดียว ลดหลั่นลงมาเป็น Color Uniformity และ Tone Response ที่ได้ 4.5 คะแนนทั้งคู่
ส่วนลำโพงของตัวเครื่องจะติดตั้งเอาไว้ด้านใต้เครื่อง 2 ตัว กำลังขับรวม 3 วัตต์ (ตัวละ 1.5 วัตต์) มีฟีเจอร์เสียง Dolby Atmos ที่ช่วยให้เสียงดังและมีมิติยิ่งขึ้น ซึ่งจากการทดลองฟังเพลงดูจัดว่ามีเบสในระดับที่ฟังกำลังสนุกและมีแรงกระแทกเบสออกมาระดับหนึ่งแบบพอฟังสนุกไม่เหนื่อยมาก ไม่มีอาการเบสบวม แต่เสียงจะเป็นแบบ Surround และหนักทุ้มหน่อย เสียงแหลมอาจจะไม่ถึงกับแหลมมาก ถือว่าใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว โดยแนวร็อคกับ EDM จะทำได้ค่อนข้างดี
Connector / Thin & Weight
ด้านพอร์ตของ ASUS ROG Strix G15 จะมีพอร์จเพียง 2 ด้านคือฝั่งซ้ายและด้านหลังเครื่องเท่านั้น ส่วนฝั่งขวามือจะมีแต่ช่องระบายอากาศอย่างเดียว และที่เครื่องจะไม่มีพอร์ต SD Card Reader ถ้าจะใช้ก็ต้องต่ออแดปเตอร์เพิ่มเอง ทำให้คนที่ต้องโอนไฟล์จากกล้องเข้าคอมมาทำงานทำงานไม่สะดวกนัก ถ้าให้ดี แนะนำให้ทาง ASUS เติมพอร์ตนี้เข้ามาในรุ่นต่อไป แม้จะเป็น Micro SD Card Reader ก็ยังดี ส่วนพอร์ทั้งสองด้านจะมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายมือจากซ้าย – USB 3.2 Gen 1 Type-A x 2 ช่อง, พอร์ตหูฟัง 3.5 มม. x 1 ช่อง
- ด้านหลังเครื่องจากซ้าย – USB 3.2 Gen 1 Type-A x 1 ช่อง, USB 3.2 Gen 2 Type-C x 1 ช่อง รองรับการต่อหน้าจอแบบ DisplayPort และชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องตามมาตรฐาน USB Power Delivery, HDMI 2.0b x 1 ช่อง, RJ45 LAN x 1 ช่อง, ช่องเสียบปลั๊ก x 1 ช่อง
ส่วนความหนาของตัวเครื่อง เมื่อวัดด้วยเวอร์เนียดิจิตอลแล้ว ส่วนด้านหน้าเครื่องใกล้ตัวผู้ใช้จะหนาราว 20.7 มม. ส่วนด้านหลังบริเวณใกล้สันเครื่องหนาราว 26 มม. จัดว่าหนากว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไประดับหนึ่งแต่เป็นความหนาระดับเดียวกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบรนด์อื่นๆ ในปัจจุบัน
น้ำหนักเมื่อชั่งด้วยตาชั่งแล้ว เฉพาะเครื่องอย่างเดียวหนักราว 2 กิโลกรัม อแดปเตอร์อีก 582 กรัม รวมสุทธิ 2.66 กิโลกรัม เรียกว่ามีน้ำหนักไล่เลี่ยกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คอื่นๆ ในท้องตลาด ซึ่งน้ำหนักระดับนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้เอาเครื่องใส่กระเป๋าเป้จะดีที่สุด ไม่แนะนำกระเป๋าสะพายข้างหรือย่ามเท่าไหร่
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องอแดปเตอร์ของ ASUS ROG Strix G15 นั้นนับว่ายืดหยุ่นระดับหนึ่งเลยเพราะว่าถ้าวันไหนที่เอาเครื่องไปออฟฟิศหรือเข้าเรียน ก็ใช้ปลั๊ก GaN ที่กำลังชาร์จ 65 วัตต์ ชาร์จเข้า USB-C ได้เลย และทิ้งอแดปเตอร์ตรงรุ่นเอาไว้ที่บ้านไว้ใช้เล่นเกมเป็นหลักจะดีที่สุด ทำให้เราไม่ต้องพกโน๊ตบุ๊คให้หนักอีกด้วย
Inside & Upgrade
ด้านการอัพเกรดในเครื่องถือว่าทำได้ง่าย แค่ไขน็อตหัวแฉก (Philip Head) 11 ตัวออก แล้วใช้ปิ๊กกีตาร์หรือการ์ดแข็งไล่ตามขอบตัวเครื่องได้เลย แต่ตอนเปิดฝาแนะนำให้แกะจากด้านหลังเครื่องตรงโซนช่องระบายอากาศแล้วไล่มาด้านหน้าเครื่องตรงส่วน Aura Sync Light Bar จะดีกว่า เพราะถ้าเริ่มแกะจากฝั่งหน้าเครื่องแล้วจะเป็นการแกะจากฝั่งที่มีสายแพโดยตรง และถ้าพลาดก็อาจจะทำให้สายแพเสียหายได้
ส่วนการอัพเกรดจะมีช่อง M.2 NVMe SSD กับแรม SO-DIMM DDR4 ว่างอยู่อย่างละ 1 ช่อง สามารถเติม M.2 NVMe ได้อีก 1 ตัว ความจุช่องละ 1TB และแรมรองรับสองช่องรวมกันสูงสุดได้ที่ 32GB ด้วยกัน แต่ในเครื่องจะมี M.2 NVMe มาให้ 512GB พร้อม Windows 10 Home แล้ว ส่วนแรมให้มา 16GB DDR4 บัส 3200 MHz ดังนั้นถ้าใครอยากอัพเกรดส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าเพิ่มแรม 1 ช่องให้เป็น 32GB เพื่อช่วยให้ AMD Ryzen ได้แรมแบบ Dual-Channel เสียก่อนแล้วค่อยมาเติม M.2 NVMe อีกช่องก็ได้ ทำให้เครื่องมีแรมพร้อมทำงานและเล่นเกมมากยิ่งขึ้น จะเปิดเกมโปรแกรมหนักๆ มาทำงานก็ไม่มีปัญหา
Performance & Software
ASUS ROG Strix G15 รุ่นที่ได้รับมาทดสอบจะใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX มี 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.6 GHz สถาปัตยกรรม AMD Zen 3 “Cezanne” ขนาด 7 นาโนเมตร มีค่า TDP 45 วัตต์ และรองรับชุดคำสั่งพื้นฐานทั้งหมดถ้วน มีแรมในเครื่องมา 1 แถว ความจุ 16GB DDR4 บัส 3200 MHz มีช่องว่างพร้อมอัพเกรดได้อีก 1 ช่อง รองรับความจุสูงสุด 32GB DDR4 ซึ่งถ้าใครใช้โปรแกรมที่กินแรมในเครื่องเยอะ แนะนำให้อัพเกรดเพิ่มความจุได้เลย จะได้มีพื้นที่แรมเอาไว้ทำงานได้มากและสะดวกขึ้น
การ์ดจอจะเป็น NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti มีแรม 4GB GDDR6 ชิป GA107 สถาปัตยกรรม Ampere รองรับ Ray Tracing และ DLSS ซึ่งสามารถเล่นเกมได้ดีอย่างแน่นอน และถ้าซอฟท์แวร์นั้นๆ สามารถเรียกใช้พลังงานของ Tensor Core หรือ DLSS ในการ์ดจอได้ ก็ยิ่งช่วยให้เรนเดอร์งานเสร็จเร็วยิ่งขึ้น
เมื่อเช็คใน Device Manager แล้ว ASUS ROG Strix G15 จะรองรับ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax โดยใช้การ์ด Wi-Fi ของ MediaTek รุ่น MT7921 ซึ่งเป็นชิป Wi-Fi 6 แบบ 2×2 ที่ทางผู้ผลิตเคลมว่าเป็นชิปรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานและรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วด้วย
สำหรับการทดสอบความเร็วการรับส่งข้อมูลด้วยเว็บไซต์ Ookla Speed Test ด้วย Wi-Fi ของ 3BB ด้วยเบราเซอร์ Microsoft Edge แล้ว ได้ความเร็ว Download 555.46 Mbps และ Upload 610.88 Mbps จัดว่าทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะความเร็ว Upload เมื่อเทียบกับชิป Intel AX201 ที่ติดตั้งในโน๊ตบุ๊คประจำตัวของผู้เขียนแล้วยังทำได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นใครที่เล่นเกมออนไลน์ด้วย Wi-Fi อย่างเดียวไม่ต่อสาย LAN ก็สามารถเล่นเกมได้ไหลลื่นอย่างแน่นอน
ส่วนของ M.2 NVMe SSD ที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องนั้น จะเป็นรุ่น Intel 670p ความจุ 512GB อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 แบบ QLC รองรับการอ่านเขียนข้อมูลได้มากสุด 185 TBW มีขนาด M.2 2280 พร้อมอินเตอร์เฟสเข้ารหัสรักษาความปลอดภัย AES-256 อีกด้วย ส่วนความเร็วที่ทาง Intel เคลมเอาไว้ที่หน้าเว็บได้ Sequential Read 3,000 MB/s และ Sequential Write 1,600 MB/s ซึ่งถือว่าเร็วระดับหนึ่ง
และจากการทดสอบด้วย CrystalDiskMark แล้ว ได้ค่า Sequential Read 2,953 MB/s และ Sequential Write 1,645 MB/s ซึ่งถือว่าทำได้ดีเท่ากับที่เคลมเอาไว้จากโรงงาน สามารถใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดีแน่นอน และส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าถ้าใครอยากเติม M.2 NVMe เข้าไปก็แนะนำให้ใส่เข้าช่องเสริมไว้ใช้ลงเกมหรือโปรแกรมดีกว่า ส่วนช่องหลักนั้นถือว่าทำงานได้ดีมากแล้ว โดย M.2 NVMe ที่เหมาะกับอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 นั้น อาจจะหา WD Black SN750, Samsung 970 Evo Plus, WD Blue SN550 หรือ ADATA XPG SX8200 PRO ความจุ 1TB มาใส่ ก็สามารถรันเกมและโปรแกรมได้ดีแน่นอน
ส่วนการทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 แล้ว ได้คะแนน OpenGL 146.70 fps คะแนน CPU 2295 cb และเมื่อทดสอบแบบเน้นประสิทธิภาพของซีพียูเมื่อใช้เรนเดอร์ 3D CG แบบเน้นๆ ด้วย CINEBENCH R20 แล้ว ได้คะแนน CPU ที่ 5305 pts เรียกว่าถ้าใครจะใช้ปั้นโมเดล 3 มิติในคอมล่ะก็ ASUS ROG Strix G15 เครื่องนี้ก็สามารถทำงานได้เป็นอย่างดีแน่นอน
ส่วนการทดสอบการเล่นเกมด้วย 3DMark ว่าเครื่องนี้เล่นเกมได้ดีระดับไหน ในส่วนของ Time Spy ทำคะแนนได้ 6,292 คะแนน และ Fire Strike รีดไปถึง 13,461 คะแนน ซึ่งจัดว่าได้คะแนนระดับสูงพอจะเล่นเกม AAA เปิดสุดที่ความละเอียด Full HD หรือ QHD แบบต่อหน้าจอแยกได้สบายๆ และถ้าสังเกตที่กราฟ Monitoring ด้านล่าง จะเห็นว่ากราฟของทั้ง Time Spy และ Fire Strike รันได้เสถียรต่อเนื่องมาก
ส่วน PCMark 10 ที่ใช้ทดสอบจำลองการทำงานในออฟฟิศว่าสามารถเปิดเบราเซอร์ทำงาน, พิมพ์งานเอกสาร, ประชุมงานออนไลน์และทำงานกราฟฟิคได้ดีหรือไม่ ได้คะแนนที่ 6,509 คะแนน นับว่าได้คะแนนสูงมาก เพราะโดยทั่วไปโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่นจะได้คะแนนอยู่ระดับ 5,000 คะแนนบวกลบเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นคะแนนระดับ 6,000 คะแนนขึ้นไปก็สามารถรับมืองานหนักๆ ได้สบาย
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพการแต่งภาพ, ตัดฉากหลังและ Export เป็นไฟล์ภาพด้วย Affinity Photo ที่เป็นโปรแกรมแต่งภาพแบบเดียวกับ Adobe Photoshop ที่คะแนน Vector (Multi CPU) จะได้ 1,836 คะแนน เรียกว่าไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คที่ใช้ AMD Ryzen 9 5900HX หลายๆ รุ่น ส่วน Raster (Multi GPU) ที่วัดการประสานงานระหว่างการ์ดจอแยกกับการ์ดจอออนบอร์ดนั้น ทำได้ 3,883 คะแนนทีเดียว เรียกว่าทำผลงานได้ดีระดับพร้อมทำงานแต่งภาพต่างๆ ได้แน่นอน
ส่วนเรื่องของเกมที่เป็นงานถนัดของ ASUS ROG Strix G15 นั้น เรียกว่าทำผลงานได้ดีไม่ต้องห่วง แม้จะเป็นการ์ดจอตัวเริ่มต้นอย่าง NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ที่มีแรมการ์ดจอ 4GB GDDR6 แต่ก็เปิดกราฟฟิคระดับความละเอียดสูงสุดทุกอย่างแล้วเล่นบนหน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD ได้โดยไม่มีปัญหา เครื่องไม่ร้อนไม่เกิดอาการกระตุกเลยสักนิด
สำหรับเกมออนไลน์ต่างๆ อย่าง Genshin Impact, Apex Legends, DotA 2, PUBG นั้น ไม่มีปัญหาอาการแล็คหรือหน่วงเลย ด้านของ SCUM นั้นยังเล่นแล้วได้ภาพต่อเนื่องมากแม้จะเปิดกราฟฟิคสุดก็ตาม ส่วน Resident Evil Village นั้น ผู้เขียนเปิดกราฟฟิคระดับ High (1GB) ให้สมกับปริมาณแรมการ์ดจอที่มี 4GB เท่านั้น ก็ได้ภาพในเกมสวยและลื่นมาก จังหวะยิงและพังฉากไม่มีอาการภาพกระตุกหรือหน่วงเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นถ้าใครชอบเล่นเกมแต่ยังกังขาว่า RTX 3050 Ti จะเล่นเกมได้ดีหรือเปล่า ก็ตอบได้เลยว่าดีแน่นอนที่ระดับความละเอียด Full HD แต่ถ้าต่อหน้าจอแยก QHD แนะนำให้ปรับกราฟฟิคบางส่วนลงสักหน่อยก็ช่วยได้มากแล้ว
ส่วนการตั้งค่าแสงไฟ Aura Sync Light Bar, อัพเดทซอฟท์แวร์และดูสถานะตัวเครื่องทั้งหมดนั้น จะรวมเอาไว้ในโปรแกรม Armoury Crate ที่กดเรียกได้ด้วยปุ่มเฉพาะเหนือคีย์บอร์ดที่เป็นโลโก้ ROG ได้เลย ซึ่งซอฟท์แวร์นั้นสามารถแสดงรายละเอียดต่างๆ ได้ละเอียดทีเดียว
User Experience
จากการทดลองใช้ ASUS ROG Strix G15 ทั้งในฐานะเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คและเครื่องทำงานดูแล้ว เรียกว่าเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่สมราคา 39,990 บาทมากเครื่องหนึ่ง ในแง่ของการทำงานด้วย AMD Ryzen 9 5900HX กับแรม 16GB ในเครื่องนั้นถือว่าประสิทธิภาพดีหายห่วง สามารถเปิดเบราเซอร์เข้าเว็บและเปิดโปรแกรมต่างๆ ไปพร้อมกันได้อย่างรวดเร็วไม่มีอาการหน่วงเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งการแต่งรูปเอาไว้ทำงานและอื่นๆ ก็ทำได้ดีมาก ส่วนเรื่องของการเล่นเกมก็ตามที่ได้กล่าวไปในส่วนของการ Benchmark ว่าการรีดเฟรมเรท, ความลื่นไหลต่อเนื่องนั้นไม่มีปัญหา ไม่มีอาการกระตุกเล็กน้อยตอนเล่นเกมหรือเรนเดอร์ฉากใหญ่ๆ ให้เห็นสักนิด
ส่วนสิ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้ประสิทธิภาพการทำงาน ก็คือการคุมอุณหภูมิระหว่างที่ใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะใช้งานออฟฟิศพิมพ์งานหรือเปิดเบราเซอร์หรือสลับไปเล่นเกม AAA ก็ตาม ตัวเครื่องนั้นเรียกว่าเย็นตลอดเวลาไม่มีอาการความร้อนแผ่ออกมาตรงที่วางข้อมือหรือแป้นคีย์บอร์ดเลย ซึ่งเกมเมอร์ที่ชอบเล่นเกมยิงยาวหลายๆ ชั่วโมงต่อวันเรียกว่าเล่นจัดเต็มได้เลย และยิ่งยุคนี้ที่การ์ดจอแยกแพงจะประกอบคอมก็ไม่คุ้ม จะซื้อเครื่องนี้ไปต่อจอแยกแทนพีซีสักเครื่องก็เป็นตัวเลือกที่ดีมากเช่นกัน
ส่วนเรื่องการพกพา ข้อดีคือตัวพอร์ต USB-C ด้านหลังเครื่องนั้นจะรองรับการชาร์จแบตเตอรี่แบบ USB Power Delivery ใช้อแดปเตอร์แบบ GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปชาร์จไฟให้เครื่องได้เลย เลยไม่ต้องพกอแดปเตอร์เฉพาะรุ่นใส่กระเป๋าก็ใช้ปลั๊กมือถือก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องได้สบายๆ แต่ระบบจัดการพลังงานของตัวเครื่องจัดว่าทำได้ดีกว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นแล้ว ดังนั้นถ้าไปติดต่องานหรือประชุมแค่ไม่กี่ชั่วโมง จะเอาไปแค่เครื่องแล้วเอากลับมาชาร์จที่บ้านหรือออฟฟิศภายหลังก็ไม่มีปัญหา
แต่เนื่องจากเครื่องมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม เวลาเอาเครื่องติดตัวไปไหนมาไหนแนะนำให้ใช้กระเป๋าเป้เป็นหลักจะดีต่อสุขภาพหลังและไหล่ของเราที่สุด ไม่แนะนำเป็นกระเป๋าย่ามหรือแบบสะพายข้างนักเพราะน้ำหนักอาจจะกดทับจนร่างกายมีปัญหาระยะยาวได้
Battery / Heat & Noise
ด้านของแบตเตอรี่ในตัวเครื่องจะเป็นแบตลิเธียมโพลิเมอร์ ความจุ 56Wh (3,620mAh (Typical), 3,515mAh (Rated) ติดตั้งมาให้ ส่วนอแดปเตอร์ชาร์จจะมีขนาดใหญ่พอควร มีกำลังจ่ายไฟ 200 วัตต์เลยทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าที่ใช้อแดปเตอร์ขนาดใหญ่นี้เพื่อจ่ายไฟให้ AMD Ryzen 9 5900HX และการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti ทำงานตอนรันโปรแกรมหนักๆ และกินกราฟฟิคได้อย่างไม่ติดขัดอย่างแน่นอน
และเมื่อทดสอบเปิดเว็บไซต์ด้วยเบราเซอร์ Microsoft Edge ดูหนังไป 20 นาที ปิดแสงไฟ RGB ทั้งหมด, ลดความสว่างหน้าจอต่ำสุดและเปิดเสียงเพียง 10% แล้ว ได้ผลว่าแบตเตอรี่ความจุ 56Wh ตัวนี้กับระบบจัดการพลังงานของ ASUS ROG Strix G15 เครื่องนี้สามารถใช้งานได้นานสุด 9 ชั่วโมง 24 นาที ในฐานะที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งได้ดีมาก เพราะโดยทั่วไปเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นนั้นจะใช้งานได้ราว 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น นับว่า ASUS เครื่องนี้จัดการพลังงานจากแบตเตอรี่ในเครื่องได้ดีมาก
ส่วนความร้อนเมื่อทดสอบเบิร์นซีพียูให้ทำงาน 100% ต่อเนื่องแล้ว อุณหภูมิที่ตัวซีพียูต่ำสุดอยู่ที่ 46 องศาและดีดไปสูงสุด 94-95 องศาเซลเซียสเท่านั้น นับแล้วประสิทธิภาพของพัดลมระบายความร้อน 2 ตัวบวกกับฮีตไปป์ 4 เส้น, การออกแบบภายในเครื่องแบบ 3D Flow Zone และ Liquid Metal ใน ROG Strix G15 ระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ
จากการทดลองเล่นเกมดูจริงๆ ร่วม 30 นาทีแบบไม่เปิดแอร์แล้ว ต้องถือว่าเครื่องจัดการอุณหภูมิได้ดีมาก ไม่มีอาการความร้อนไหลขึ้นมาถึงแป้นคีย์บอร์ดหรือที่วางข้อมือเลย ดังนั้นถ้าเกมเมอร์คนไหนอยากเล่นเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ตัดปัญหาโอเวอร์ฮีตทิ้งไปได้เลย
ส่วนการเดินแนวฮีตไปป์ทั้ง 6 เส้น จะเดินแนวเส้นพาดระหว่างการ์ดจอ, ซีพียูและส่วนสำคัญในเครื่อง ส่วนปลายไปจบที่ครีบระบายความร้อนแบบเป่าออกด้านหลังเครื่อง และนอกจากสองเส้นหลักแล้ว ที่การ์ดจอกับซีพียูจะมีฮีตไปป์เฉพาะตัวละสองเส้น เดินแนวไปที่ครีบระบายความร้อนด้านข้างและหลังอย่างละทางเพื่อระบายความร้อนให้เร็วที่สุดช่วยจัดการระบายความร้อนของชิ้นส่วนหลักๆ ได้ดีไม่มีปัญหาเลย ถึงจะวางมือบนคีย์บอร์ดแล้วต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ไม่มีปัญหา
Conclusion & Award
ถ้าให้สรุปแล้ว ASUS ROG Strix G15 นับเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่องค์ประกอบโดยรวมทั้งประสิทธิภาพ, แบตเตอรี่และฟีเจอร์ความสวยงามให้มาครบเครื่องมากรุ่นหนึ่ง ทั้งคุณภาพงานประกอบและเทคโนโลยีที่ ASUS ใส่เข้ามาให้ในเครื่องนี้ก็นับว่าจัดเต็มสมชื่อชั้นตระกูล ROG ที่เป็นระดับตัวท็อปเลย
ส่วนเรื่องของสเปคที่ ASUS ใส่ AMD Ryzen 9 5900HX กับ NVIDIA GeForce RTX 3050 Ti และแรม 16GB มาให้ในเครื่องถือว่าแรงระดับที่ทำงานกราฟฟิคหนักๆ ก็ได้ จะเล่นเกมก็ทำได้ดีไม่มีปัญหา และถึงหลายๆ คนจะมองว่ารุ่นเริ่มต้นใส่การ์ดจอมาไม่สมกับซีพีย ก็มีตัวเลือกให้ขยับไปเป็นรุ่น RTX 3060, RTX 3070 หรือชอบสาย AMD เต็มตัวก็มี Advantage Edition ให้เลือก ซึ่งใครที่เป็นคนทำงานแล้วจะลงทุนซื้อโน๊ตบุ๊คดีๆ สักเครื่องเอาไว้ทำงานหนักๆ ตอนเช้า กลับบ้านมาต่อปลั๊กเล่นเกมตอนเย็นหรือวันหยุดล่ะก็ นี่คือเครื่องที่ตอบโจทย์อย่างแน่นอน
แต่ถึงจะประสิทธิภาพดี ฟีเจอร์ครบ เล่นเกมทำงานหนักก็เย็น แต่ก็ยังขาดฟีเจอร์เสริมความสะดวกและควรใส่มาให้เป็นมาตรฐานอยู่บ้าง อย่างเช่นฟีเจอร์สแกนนิ้วที่ปุ่ม Power ที่ช่วยให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวกยิ่งขึ้น, กล้อง Webcam สำหรับใช้ประชุมหรือเรียนออนไลน์ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญของโน๊ตบุ๊คในยุคนี้ไปแล้ว และถ้าเป็นไปได้ถ้าเพิ่มพอร์ต SD Card Reader เข้ามาเพิ่มใน ASUS ROG Strix G15 โมเดลถัดไปด้วย จะเป็นส่วนช่วยให้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ครบเครื่องพร้อมใช้งานรอบด้านยิ่งขึ้น แต่ก็ยังพอแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้บ้างด้วยการต่อ USB-C Multiport adapter เข้าไปอีกสักตัวก็ช่วยได้มากแล้ว
Award
Best Battery Life
โดยทั่วไป เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งนั้นจะใช้งานด้วยแบตเตอรี่ได้เพียง 5-6 ชั่วโมง แต่จากการทดสอบด้วยมาตรฐานของทางเว็บไซต์แล้ว สามารถใช้งานได้นานต่อเนื่อง 9 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถือว่าไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คสายทำงานหลายๆ รุ่น ซึ่งถ้าใครอยากพกเครื่องติดตัวไปพบลูกค้าแล้วไม่อยากพกอแดปเตอร์ให้หนักกระเป๋าล่ะก็ ASUS ROG Strix G15 ก็เป็นตัวเลือกที่ดีมากรุ่นหนึ่ง รวมทั้งใช้ปลั๊กมือถือที่กำลังชาร์จ 65 วัตต์ชาร์จแบตเตอรี่กลับให้ตัวเครื่องได้อีกด้วย
Best Performance
สำหรับเรื่องประสิทธิภาพของ ASUS ROG Strix G15 เครื่องนี้เรียกว่าครบเครื่องรอบด้านเครื่องหนึ่ง เพราะว่าได้ทั้งเรื่องซีพีย, การ์ดจอ, M.2 NVMe SSD และแรมที่แรงแบบเปิดกล่องมาแล้วใช้งานได้เลย และรองรับการอัพเกรดเพิ่มแรมและ SSD ได้อีกอย่างละ 1 ช่องด้วย เลยทำให้เครื่องนี้มีประสิทธิภาพต่อราคาที่น่าสนใจ เหมาะกับคนที่อยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คดีๆ สักเครื่องเอาไว้ใช้เป็นอย่างมาก