Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Lenovo

รีวิว Lenovo Yoga Slim 7 Pro ตัวบางพกง่าย หัวใจ AMD Ryzen 9 5900HX ราคา 37,990 บาท

Lenovo Yoga Slim 7 Pro คือคำตอบว่าถ้าเครื่องบางเบาใส่ซีพียูตัวท็อปมาแล้วจะดีขนาดไหน?

lenovo yoga slim 7 pro cover

ถึง Lenovo Yoga Slim 7 Pro จะใช้ชื่อร่วมกับ Yoga รุ่นอื่นที่มีขายภายในบริษัทก็ตาม แต่สำหรับรุ่นที่มีคำว่า Slim ห้อยตามมาด้วยจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมงานประกอบดี แข็งแรงและให้สเปคระดับพร้อมทำงานเอกสารยาวไปจนงานเขียนโค้ดที่ต้องใช้ซีพียูประสิทธิภาพสูงช่วยประมวลผลก็สามารถทำได้สบาย ๆ แค่แลกกับการพับหน้าจอกลับเป็นแท็บเล็ตไม่ได้เท่านั้น ซึ่งใครที่มองหาโน๊ตบุ๊คกลุ่มพรีเมี่ยมที่งานประกอบดีสเปคคุ้มค่าราคาช่วง 3-4 หมื่นบาทล่ะก็ นี่คือรุ่นที่เป็นตัวเลือกที่ดีมากรุ่นหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามแม้แต่น้อย

Advertisement

นอกจากสเปคและงานประกอบจะดีในระดับเทียบชั้นกับโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมหลาย ๆ แบรนด์ได้สบาย ๆ แล้ว ฟีเจอร์ที่ทาง Lenovo ใส่มาให้ในเครื่องก็ถือว่าคุ้มเกินตัวและช่วยให้ทำงานได้สะดวก เช่น การปลดล็อคเครื่องด้วยใบหน้า, มี Windows 10 Home พร้อมกับ Microsoft Office Home & Student 2019 รวมทั้งหน้าจอขนาด 14 นิ้วก็มีความละเอียดสูงสวยคมมาก ระดับ 2.8K (2880×1800 พิกเซล) เป็นจอ Dolby Vision กับลำโพง Dolby Atmos ที่ให้เสียงดังและมิติเสียงถือว่าดีทีเดียว นับว่าเป็นโน๊ตบุ๊คเพียงไม่กี่รุ่นที่ให้ฟีเจอร์คุ้มอัดแน่นมาเต็มเครื่องระดับนี้

Lenovo Yoga Slim 7 Pro

NBS Verdict

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05886

สำหรับ Lenovo Yoga Slim 7 Pro ที่สเปคใส่มาให้แบบจัดเต็มทั้งซีพียูตัวท็อปของ AMD, M.2 NVMe ความจุ 1TB พร้อม Windows 10 Home และ Microsoft Office Home & Student 2019 กับหน้าจอความละเอียดสูงสุดคมนั้น จะคุ้มกับราคา 37,900 บาทหรือเปล่า ณ จุดนี้ผู้เขียนสามารถพูดได้เต็มปากว่าถ้าคุณตั้งใจจะซื้อโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมโดยมีงบประมาณ 3-4 หมื่นบาทอยู่ในมือ และรู้กันว่าในระดับราคานี้นอกจากแก๊งค์โน๊ตบุ๊ค Windows 10 ด้วยกันกับคู่แข่งต่างระบบปฏิบัติการอีกรุ่นหนึ่งที่ราคาไล่เลี่ยกัน ก็อาจจะให้สเปคได้ไม่สุดเท่าเครื่องนี้ก็ได้ ซึ่งถ้าใครอยากได้โน๊ตบุ๊คเครื่องที่คุ้มแบบหายห่วงล่ะก็ Lenovo เครื่องนี้จัดว่าน่าสนใจมาก

ต่อให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จะคุ้มและดีแค่ไหนก็ยังมีจุดสังเกตเหมือนกัน แต่เป็นแค่เพียงส่วนเล็กน้อยที่ยังพอแก้ไขได้ โดยหลัก ๆ คือหน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro ตัวนี้จะเป็นหน้าจอกระจก ไม่ได้เป็นจอกันแสงสะท้อนเหมือน Yoga Slim 7i Pro ที่เป็นหน้าจอด้าน ซึ่งถ้าใครนั่งทำงานในที่ที่มีแสงสะท้อนหน้าจอได้ง่าย ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่าให้หาที่นั่งใหม่เพื่อหลบแสงสะท้อนสักหน่อย จะลดปัญหาเรื่องแสงสะท้อนจากหน้าจอเข้าตาได้ อีกจุดคือเรื่องการลดแสงหน้าจอให้น้อยที่สุดแทนที่จะพอมีเงาให้พอเห็นภาพบนหน้าจอบ้าง แต่กลายเป็นหน้าจอมืดเหมือนสั่ง Shutdown เครื่องไปแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจได้ง่าย ๆ แต่ถ้าทำความเข้าใจกับส่วนนี้ได้ล่ะก็ ต้องถือว่า Yoga Slim 7 Pro เครื่องนี้น่าใช้งานมาก

จุดเด่นของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro
  1. ซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX กับการ์ดจอ AMD Radeon Graphics มีสเปคที่แรงมาก สามารถรันโปรแกรมที่กินทรัพยากรต่าง ๆ ได้สบาย ๆ ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
  2. หน้าจอมีความละเอียดสูงมากถึง 2.8K และมีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB อีกด้วย ทำให้ภาพบนหน้าจอคมชัดสวยงามมาก
  3. ลำโพง Dolby Atmos ให้เสียงที่ดีมิติเสียงและเบสฟังเพลงกำลังสนุก มีซอฟท์แวร์ของทาง Dolby ที่ปรับแต่ง Equalizer ได้ตามความชอบ
  4. พอร์ตเป็น USB-C 3.2 Gen 2 Full-Function ใช้รับส่งข้อมูล, ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่กลับให้ตัวเครื่องได้ทั้ง 2 พอร์ต และมี USB-A 3.2 Gen 1 ติดตั้งมาให้ใช้อีก 1 ช่อง ทำให้ต่ออุปกรณ์ที่ต้องใช้ USB-A ได้โดยไม่ต้องใช้สายแปลง
  5. การจัดการพลังงานทำได้ค่อนข้างดี แม้จะเป็นซีพียูแบบประสิทธิภาพสูงรหัส HX แต่ก็ใช้ทำงานต่อเนื่องได้นานสุดร่วม 9 ชั่วโมง
  6. ติดตั้งกล้อง IR Camera มาให้ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่อง ช่วยให้ปลดล็อคเครื่องได้สะดวก และระบบสแกนหน้าทำงานได้รวดเร็วมาก
  7. ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม แข็งแรง งานประกอบแน่นหรูหราและเบาเพียง 1.32 กิโลกรัม พกพาง่าย
  8. มี Microsoft Office Home & Student 2019 ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานทันที ไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟท์แวร์ทำงานมาติดตั้งเพิ่ม
  9. การ์ดจอออนบอร์ดของ AMD Ryzen 9 5900HX มีประสิทธิภาพสูง เล่นเกมออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างลื่นไหลไม่มีปัญหา
  10. ปุ่ม Fn ตรง F1-F12 ติดตั้งฟีเจอร์สำคัญมาให้ครบครัน เอื้อกับการทำงานทั้งปุ่มกดเปิด Settings หรือปุ่มแคปภาพหน้าจอ หรือแม้แต่ปุ่มเรียกเครื่องคิดเลข เอื้อการทำงานเป็นอย่างมาก
  11. ตัวเครื่องระบายความร้อนได้ดีมาก แม้จะติดตั้งซีพียูรุ่นประสิทธิภาพสูงของ AMD มาให้แต่ยังคุมอุณหภูมิสูงสุดได้ไม่เกิน 85 องศา สามารถทำงานหนักต่อเนื่องได้สบาย ๆ
ข้อสังเกตของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro
  1. เวลาลดแสงหน้าจอให้น้อยสุดแล้วหน้าจอค่อนข้างมืดเกินไปจนมองเห็นได้ลำบาก แนะนำให้เปิดความสว่างต่ำสุดเอาไว้เล็กน้อยจะดีกว่า
  2. หน้าจอเป็นกระจกเลยสะท้อนแสงไฟได้ง่าย เวลาทำงานแนะนำให้หามุมที่แสงไม่ตกกระทบหน้าจอเพราะอาจจะสะท้อนเข้าตาแล้วรบกวนการทำงานได้
  3. พอร์ตค่อนข้างน้อยและไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอโดยเฉพาะเช่น HDMI ติดตั้งมาด้วย ต้องต่ออแดปเตอร์แยกให้ต่อกับสายหน้าจอต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
  4. ไม่มีปุ่มล็อคการทำงานทัชแพด ทำให้เวลาทำงานแล้วบางครั้งเมาส์เลื่อนเองโดยไม่ตั้งใจ

รีวิว Lenovo Yoga Slim 7 Pro

Specification

yoga slim 7 pro

Lenovo Yoga Slim 7 Pro รุ่นนี้จะมีจุดเด่นหลัก ๆ คือตัวเครื่องขนาด 14 นิ้ว แต่ความละเอียดสูงถึง 2.8K, ลำโพง Dolby Atmos ที่ให้เสียงแน่นกระหึ่ม และมี Windows 10 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2019 ติดตั้งมาให้ในตัว ใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 รุ่นใหม่ ซึ่งจัดว่าแรงมาก และโน๊ตบุ๊คในระดับราคานี้จะไม่ค่อยได้เจอรุ่นที่ใช้ซีพียูระดับสูงสุดแบบนี้บ่อย ๆ นัก

สเปคใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX รุ่นประสิทธิภาพสูงแบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.6 GHz สามารถรันโปรแกรมที่กินทรัพยากรเครื่องหนัก ๆ ได้สบาย ๆ ใช้การ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics 8 คอร์ ซึ่งประสิทธิภาพดีสามารถทำงานกราฟฟิคและเล่นเกมได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว มี SSD แบบ M.2 NVMe 1TB ติดตั้ง Windows 10 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2019 มาให้ใช้ทำงาน ส่วนแรมเป็นออนบอร์ด ความจุ 16GB DDR4 บัส 3200 MHz ส่วนหน้าจอมีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800 พิกเซล) เป็นจอ Dolby Vision ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 90 Hz อัตราส่วน 16:10 ซึ่งเวลาทำงานหรือเล่นเกมจะให้ภาพลื่นไหลต่อเนื่องกว่าจอทั่วไป เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax กับ Bluetooth 5.1 น้ำหนักตัวเครื่องเพียง 1.32 กิโลกรัมเท่านั้น

สเปคของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro
  • ซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.6 GHz
  • การ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics 8 คอร์
  • SSD แบบ M.2 NVMe 1TB
  • แรมออนบอร์ดความจุ 16GB DDR4 บัส 3200 MHz
  • หน้าจอมีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 2.8K (2880×1800 พิกเซล) เป็นจอ Dolby Vision ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 90 Hz อัตราส่วน 16:10
  • ติดตั้ง Windows 10 Home กับ Microsoft Office Home & Student 2019 มาให้
  • เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax กับ Bluetooth 5.1
  • น้ำหนักเครื่อง 1.32 กิโลกรัม
  • ราคา 37,900 บาท (Advice)

Hardware & Design

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05847

ดีไซน์ของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro จะใช้ดีไซน์แชร์ร่วมกันในซีรี่ส์ Yoga Slim ทั้งรุ่นซีพียู Intel และ AMD ซึ่งดีไซน์รวม ๆ แล้วจะเหมือนกันแทบทั้งหมด ถ้าไม่เปิดหน้าจอขึ้นมาดูสติกเกอร์หรือดูตัวหน้าจอจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว วัสดุทำตัวเครื่องจะเป็นบอดี้อลูมิเนียมทั้งตัวเน้นความเรียบหรู ส่วนตัวเครื่องมีให้เลือกสองสีคือขาวหรือสีเทา สังเกตว่าที่ขอบตัวเครื่องด้านบนจะมีติ่งเลยขึ้นมาเล็กน้อย

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05902

โดยติ่งเหนือหน้าจอนั้นจะยิงเลเซอร์เป็นคำว่า Yoga 7 Series เอาไว้ เป็นราบละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ตัวเครื่องดูดีและใช้บอกซีรี่ส์ของตัวเครื่องอีกด้วย เป็นการใส่ใจรายละเอียดการออกแบบตัวเครื่องได้ดีทีเดียว ตอนกางหน้าจอเปิดเครื่องก็ใช้นิ้วเดียวเกี่ยวดึงจากติ่งยื่นตรงนี้ได้

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05853

ส่วนของฝาหลังตัวเครื่องจะเป็นดีไซน์เรียบ ๆ ติดโลโก้คำว่า YOGA เอาไว้ที่มุมบนซ้ายมือด้านหลังเครื่อง และมีแผ่นอลูมิเนียมติดคำว่า Lenovo เอาไว้ตรงมุมล่างขวา และมีอีกจุดที่มุมล่างขวาของตรงที่วางข้อมือฝั่งขวาด้วย 

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05857

 

ด้านใตัตัวเครื่องจะเป็นช่องดูดลมเข้าไประบายอากาศขนาดใหญ่ 1 แผงยาว มีแถบยางรองใต้เครื่อง 3 จุด คือแถบยาวด้านบนหนึ่งเส้นที่เว้าตรงกลางเข้าไประดับพอดีมือ ทำให้จับแล้วมั่นใจไม่หลุดมือง่าย ๆ กับด้านล่าง 2 ฝั่งซ้ายขวาใกล้ ๆ กับลำโพงทั้งสองข้าง ซึ่งการเว้นตรงกลางให้เว้าเข้าไปเล็กน้อยช่วยให้จับถือเครื่องได้ถนัดมือขึ้นจริง ดังนั้นถ้าใครชอบย้ายที่นั่งทำงานหรือต้องพกโน๊ตบุ๊คเข้าประชุมอยู่เป็นระยะ ๆ ก็สามารถยกเครื่องไปไหนมาไหนได้ง่ายขึ้น

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05851

ส่วนตัวเครื่อง Yoga Slim 7 Pro ถึงจะพับหน้าจอกลับระดับ 360 องศาไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ยังกางได้แบนราบ 180 องศา เหมือนกับโน๊ตบุ๊คของ Lenovo หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบัน ตอบโจทย์ทั้งกางเครื่องแชร์หน้าจอบนโต๊ะให้เพื่อนเห็นภาพบนหน้าจอด้วยกัน หรือจะวางบนที่วางโน๊ตบุ๊คแล้วต่อจอเสริมนั่งทำงานก็กางหน้าจอให้เข้ากับมุมการมองเห็นได้สะดวกทีเดียว

Keyboard & Touchpad

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05866

คีย์บอร์ดของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro จะเป็นไซซ์ปกติของโน๊ตบุ๊ค 14 นิ้ว เทียบกับคีย์บอร์ดแยกทั่วไปจะเท่ากับคีย์บอร์ดแบบ Tenkeyless ทรงของปุ่มจะเป็นแบบโค้งตรงส่วนด้านล่างของปุ่มแบบโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่นของทาง Lenovo และมีไฟ LED Backlit แบบลอดตัวอักษรและด้านข้างของปุ่ม สามารถกด Fn+Spacebar เพื่อปรับแสงสว่างได้ 3 ระดับ คือ ปิด, เปิดแบบสว่างน้อยและสว่างมาก โดยส่วนตัวผู้เขียนที่ใช้โน๊ตบุ๊ครุ่นนี้เป็นเครื่องหลักแต่เป็นสเปค Intel แนะนำว่าถ้าใช้งานในที่แสงน้อยก็เปิดความสว่างน้อยก็สว่างเพียงพอมองเห็นชัดเจนแล้ว

สัมผัสการพิมพ์ของปุ่มคีย์บอร์ดจะเป็นปุ่มแบบเตี้ยตามสไตล์โน๊ตบุ๊คบางเบา แต่ก็ตอบสนองได้เร็วทันใจ แค่กดพิมพ์แบบเบา ๆ ตัวปุ่มก็ทำงานแล้ว ถ้าใครพิมพ์สัมผัสได้และชอบกดคีย์บอร์ดเร็ว ๆ ล่ะก็ ปุ่มคีย์บอร์ดของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro ก็ถือว่าพิมพ์ได้สนุกดีทีเดียว

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05868

ส่วนการดีไซน์ตัวปุ่มนั้น จะมีไฟแสดงสถานะติดอยู่ 2 จุดเท่านั้น คือตรงปุ่ม Cap Lock ที่เป็นมาตรฐานหนึ่งจุดและปุ่ม Esc ที่ถ้ากดแล้วจะกลายเป็นปุ่ม FnLock คือ สลับการทำงานที่ปุ่ม Function ให้กลับมาเป็น F1-F12 ไม่ต้องกด Fn ค้างก่อนกดปุ่มที่ต้องการ ถ้าไฟดับอยู่จะเป็นปุ่ม Function เหมือนปกติ

ส่วนปุ่มฟังก์ชั่นตรงปุ่มลูกศรก็ออกแบบวางคำสั่งได้ดีทีเดียว โดยถ้ากดขึ้นลงซ้ายขวาก็จะทำงานตามปกติ แต่ถ้ากด Fn ร่วมด้วย ลูกศรขึ้นจะกลายเป็น Page Up และลงเป็น Page Down ส่วนลูกศรซ้ายเป็น Home และขวาเป็น End เอาไว้เลื่อนไปยังด้านบนหรือด้านล่างสุดของเนื้อหาที่หน้ากระดาษนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05870

ส่วนปุ่ม F1-F12 นั้นจะรวมกับปุ่ม Function อยู่เหมือนโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รุ่น แต่โดย Lenovo ตั้งค่าไว้ว่าถ้ากดลงไปตรง ๆ จะเป็นปุ่ม Function ที่ตั้งค่าเอาไว้ ส่วน F1-F12 ต้องกด Fn ค้างเอาไว้ก่อนค่อยกด ถ้าต้องการสลับค่าให้ปุ่ม Function ที่ตั้งค่าไว้ต้องกด Fn ค้างเอาไว้ก่อนกด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ กด Fn Lock ที่ปุ่ม Esc หรือไปสลับการตั้งค่าใน BIOS ก็ได้เช่นกัน

ส่วนปุ่ม Function ที่ทาง Lenovo ตั้งค่าเอาไว้ที่ F1-F12 จะมีฟังก์ชั่นการทำงานดังนี้

  • F1-F3 – ใช้ปิดเปิด, หรี่หรือเร่งเสียงลำโพง
  • F4 – ปิดหรือเปิดไมโครโฟน
  • F5-F6 – หรี่หรือเร่งความสว่างหน้าจอ
  • F7 – ปุ่ม Project เอาไว้ตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริม
  • F8 – Airplane mode
  • F9 – รูปเฟืองเอาไว้เปิด Windows Settings ขึ้นมาใช้
  • F10 – ปุ่ม Lock Screen ทำงานเหมือนกดปุ่ม Windows+L 
  • F11 – ปุ่มสลับแท็บเหมือนกด Alt+Tab แต่สะดวกกว่าเพราะกดปุ่มเดียวเท่านั้น
  • F12 – เรียกเครื่องคิดเลขของ Windows ขึ้นมาใช้งานทันที
  • Insert – โลโก้รูปดาวมีตัว S เป็นปุ่มเฉพาะของโน๊ตบุ๊ค Lenovo เรียกว่า “Super key” กดแบบปกติจะเรียก Lenovo Vantage ถ้าดับเครื่องแล้วกดจะเป็นปุ่ม Novo button เอาไว้กดเรียกตั้งค่าพื้นฐาน, ตั้งค่า BIOS หรือ Boot หน้า System Recovery ขึ้นมาใช้เมื่อเครื่องมีปัญหา
  • PrtScn – รวมคำสั่งบันทึกภาพหน้าจอ ถ้ากดตรง ๆ จะเรียก Snipping Tool ของ Windows ขึ้นมาแคปภาพบนจอได้ ส่วนถ้ากด Fn ไว้ด้วยจะเป็น Print Screen

ส่วนตัวผู้เขียนชอบการตั้งค่าคีย์บอร์ดที่เน้นเอื้อการทำงานของทาง Lenovo ที่เซ็ตให้ Lenovo Yoga Slim 7 Pro และในซีรี่ส์นี้ เพราะเซ็ตเป็นปุ่มที่ได้ใช้งานจริงบ่อย ๆ โดยเฉพาะปุ่มล็อคเครื่องที่กดปุ่มเดียวล็อคเครื่องทันที ทั้งสะดวกและช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดี และปุ่ม PrtScn ที่เซ็ตเป็นปุ่มลัดไว้เรียก Snipping Tool ขึ้นมา ถือว่าออกแบบปุ่มทางลัดให้เรียกใช้งานได้สะดวก 

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05877

ส่วนของทัชแพดจะเป็นดีไซน์ซ่อนปุ่มคลิกซ้ายขวา เป็นผืนขนาดใหญ่และกว้างทำให้ลากเคอร์เซอร์เมาส์ไปมาทั่วหน้าจอได้ทั่วและรวดเร็ว การตอบสนองต่าง ๆ ทำได้ดี แต่ผู้เขียนขอตั้งจุดสังเกตเอาไว้ว่าเครื่องนี้ไม่มีปุ่ม Function สำหรับเปิดปิดการทำงานของทัชแพด เวลาวางมือพิมพ์งานแล้วบางครั้งอุ้งมือนาบกับแป้นทัชแพดจนเผลอกดปุ่มโดยไม่ตั้งใจอยู่บ้าง ถ้า Lenovo จะเปิดตัว Yoga Slim 7 Pro Series รุ่นใหม่ แนะนำให้เพิ่มปุ่ม Function ล็อคทัชแพดมาด้วย 

Screen & Speaker

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05883

หน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro มีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียดสูง 2.8K (2880×1800 พิกเซล) อัตราส่วน 16:10 เป็นจอ Dolby Vision ที่ให้สีสันสวยงามและภาพคมชัดมาก เวลาเปิดเอกสาร, ดูหนังหรือเปิดเว็บทำงานแล้วจะได้ภาพคมชัด และ Lenovo เคลมไว้ว่าหน้าจอตัวนี้มีขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB อีกด้วย และขอบหน้าจอจะบางมาก ทำให้มีพื้นที่มองเห็นกว้าง

ขอบบนของหน้าจอที่มีติ่งตัวเครื่องเลยออกมาเป็นแผงกล้องหน้ากับกล้อง IR Camera เอาไว้สแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อคเครื่อง ทำงานกับ Windows Hello ซึ่งสามารถสแกนแล้วปลดล็อคเครื่องได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมาก แค่กางหน้าจอแล้วตัวกล้อง IR จะกระพริบไฟสีแดงหนึ่งดวงเพื่อสแกนหน้าปลดล็อคเครื่องได้เลย 

s1 5

ส่วนขอบเขตสีบนหน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro เมื่อทดสอบวัดค่าด้วย Spyder5Elite แล้ว ขอบเขตสีบนหน้าจอจะอยู่ที่ 92% sRGB, 74% AdobeRGB และ 77% DCI-P3 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับที่ Lenovo เคลมเอาไว้ที่หน้าเว็บไซต์ ซึ่งขอบเขตสีระดับนี้สามารถใช้ทำงานแต่งภาพทำสีต่าง ๆ ได้สบาย ๆ 

แต่จุดน่าสังเกต คือความสว่างบนหน้าจอเมื่อแบ่งพื้นที่เป็นตาราง 9 ช่อง จะเห็นว่าความสว่างของหน้าจอจะไล่จากมุมบนซ้ายสว่างสุดไปล่างขวาแล้วจะมืดสุด โดยพื้นที่ที่ค่อนข้างมืดบนหน้าจอจะอยู่ขอบล่างของหน้าจอทั้งหมดและมุมขวาล่างกับกลางของหน้าจอ ดังนั้นถ้าต้องการแต่งภาพทำสี แนะนำให้ระวังโซนดังกล่าวที่มืดกว่าปกติด้วย จะได้ไกด์สีได้ถูกต้องไม่เพี้ยนเกินไป

ส่วนการทดสอบค่า Delta-E จะได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.33 ซึ่งถ้ายิ่งน้อยก็ถือว่ายิ่งดี และถ้าใกล้เคียงหรือต่ำกว่า 2 ก็จัดเป็นหน้าจอสำหรับครีเอเตอร์ที่เอาไว้ทำงานอาร์ตและแต่งภาพได้เลย ซึ่ง Lenovo Yoga Slim 7 Pro ตัวนี้ก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว

ส่วนสรุปคะแนนของหน้าจอนี้ จะได้คะแนนรวมไป 4 จาก 5 คะแนน แต่ถ้าสังเกตแยกคะแนนแล้วจะเห็นว่าคะแนน Contrast จะดีที่สุดที่ 5 คะแนนเต็ม ตามด้วยคะแนน Gamut (ขอบเขตสี), Tone Response (การตอบสนองต่อโทนสี) และ Color Uniformity (ความสม่ำเสมอของสี) จะได้ 4.5 จาก 5 คะแนนเลยทีเดียว ดังนั้นเรื่องสีสันและความสวยงามก็ถือว่าไว้ใจได้เลย 

สำหรับลำโพงที่ติดตั้งมาให้ จะเป็นลำโพง 2W x 2 ตัว ของ Harman และทาง Dolby จัดการปรับแต่งเสียงให้ เป็นลำโพงแบบ Dolby Atmos ที่ให้มิติเสียงในระดับที่ดี มีเนื้อเสียงและเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้ในระดับที่ค่อนข้างดีทีเดียว เหมาะกับเพลงป็อบ, แจ๊ส และพอฟังเพลงร็อคได้ระดับหนึ่ง แต่เสียงเบสถือว่ามีในระดับหนึ่งแค่พอฟังเพลง EDM บีตหนัก ๆ ได้แบบเสียงไม่บางเกินไป โดยส่วนตัวถ้าอยากได้เสียงเบสที่หนักแน่นแนะนำให้ต่อลำโพงแยกดีกว่า แต่โดยส่วนตัวแล้ว ถือว่าลำโพงติดเครื่องของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro ก็เป็นลำโพงที่ดีชุดหนึ่ง

dolby atmos

นอกจากนี้ถ้าใครต้องการปรับจูนเสียงลำโพงให้มีมิติและเข้ากับสไตล์การฟังเพลงหรือเล่นเกมของเรา สามารถเปิดโปรแกรม Dolby Atmos ที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องเพื่อจูนเสียงได้ โดยตัวโปรแกรมจะมีแท็บด้านบนแยกเป็น Dynamic, Movie, Music, Game, Voice โดยเราสามารถเลือกเปลี่ยนโปรไฟล์เสียงได้ตามสื่อที่กำลังชมอยู่ได้ และเลือก Equalizer ที่ Dolby ตั้งค่ามาแล้วได้ 3 แบบ แยกเป็น Detailed ที่เก็บรายละเอียดเสียงได้ครบเครื่องและเยอะ, Balanced ที่ได้เสียงสมดุลย์และ Warm ที่โทนเสียงจะนุ่มอุ่นขึ้น ซึ่งถ้าใครแต่ง Equalizer เองไม่เก่งก็มากดเปลี่ยนโทนเสียงที่หน้านี้จะง่ายสุด ส่วนของหน้า Personalize จะเป็นหน้า Equalizer ที่ถ้าใครปรับเสียงเองเป็นก็ทำแก้ที่หน้านี้ได้เลย

Connector / Thin & Weight

ส่วนของพอร์ตรอบตัวของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro และในซีรี่ส์ด้วยกันต้องถือว่าให้พอร์ตมาค่อนข้างน้อย โดยด้านซ้ายของตัวเครื่องจะเป็น USB-C 3.2 Gen 2 Full-Function x 2 ช่อง รองรับการรับส่งไฟล์ด้วยความเร็ว USB 3.2 Gen 2 และ Power Delivery 3.0 และต่อหน้าจอแยกเป็น DisplayPort 1.4 ได้ แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้ซีพียู Intel จะเป็น Thunderbolt 4 x 2 ช่องแทน ซึ่งจริง ๆ แล้วนับว่าประสิทธิภาพกรใช้งานก็ไล่เลี่ยกัน

ด้านขวาของเครื่องจากซ้ายมือเป็นพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. กับ USB-A 3.2 Gen 1 และปุ่ม Power ซึ่งการมีพอร์ต USB-A ทำให้ต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แฟลชไดรฟ์หรือ External SSD ฯลฯ ได้สะดวกขึ้น แต่เพราะว่าเครื่องนี้ไม่มีพอร์ตสำหรับต่อหน้าจอเสริมติดตั้งมาให้ ดังนั้นถ้าใครอยากต่อจอเสริมหรือพอร์ตอื่น ๆ ล่ะก็ แนะนำให้ซื้อ USB-C Multiport adapter เตรียมเอาไว้ 1 อันเพื่อเพิ่มพอร์ตที่จำเป็นต้องใช้อันอื่น ๆ เอาไว้ใช้งาน

สำหรับมิติตัวเครื่องด้านหน้าและหลังจะดูเรียบ ๆ และตัวเครื่องดีไซน์ด้านใต้เครื่องให้เฉียงเข้าเพื่อความเรียวสวยจับถือง่าย เมื่อวัดความหนาด้วยเวอร์เนียดิจิตอลแล้ว ส่วนด้านหน้าเครื่องแถบเดียวกับทัชแพดจะหนาราว 14.5 มม. ส่วนด้านหลังเครื่องหนาราว 17.1 มม.

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05840

ส่วนน้ำหนักตัวเครื่องอย่างเดียว อยู่ที่ 1.41 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์หนัก 391 กรัม รวมทั้งหมดหนัก 1.80 กิโลกรัม ถ้าเทียบแล้วน้ำหนักตัวเครื่องเมื่อเทียบกับที่ Lenovo เคลมเอาไว้ว่า Lenovo Yoga Slim 7 Pro จะหนักราว 1.32 กิโลกรัมนั้น ถือว่าเครื่องนี้หนักกว่าที่เคลมไว้เพียง 0.09 กิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้นถือได้ว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่พกพาไปไหนมาไหนได้ง่ายรุ่นหนึ่ง

โดยส่วนตัว ผู้เขียนแนะนำว่าไหน ๆ เมื่อมีพอร์ต USB-C Power Delivery ติดตั้งเอาไว้ถึง 2 พอร์ตแล้ว แนะนำให้เอาอแดปเตอร์ที่มากับเครื่องวางไว้ที่ออฟฟิศแล้วหาซื้อปลั๊ก USB-C ที่กำลังวัตต์สูงราว 65 วัตต์กับสาย USB-C to C อีกเส้นหนึ่งเอาไว้ชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คแทน แล้วใช้ชาร์จมือถือได้ด้วย ช่วยให้เราไม่ต้องพกอแดปเตอร์ติดเครื่องให้หนักและพะรุงพะรังด้วย 

Performance & Software

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05874

สเปคของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro ต้องจัดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานที่แรงเหลือเฟือรุ่นหนึ่ง เพราะใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 5900HX แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 3.3-4.6 GHz และเป็นสถาปัตยกรรม AMD Zen 3 รุ่นใหม่ล่าสุดอีกด้วย โดยตัวซีพียูก็รองรับชุดคำสั่ง (Instructions) สำคัญครบถ้วน มีค่า TDP 45W เมื่อเช็คด้วย CPU-Z มีแรม 16GB DDR4 บัส 3200 MHz ใส่มาให้แบบออนบอร์ดเพื่อให้ตัวเครื่องบางที่สุด แต่ปริมาณแรมที่ติดตั้งมาให้ก็มีมากเพียงพอใช้ทำงานทั่วไปได้สบาย ๆ

การ์ดจอของ Yoga Slim 7 Pro จะเป็นการ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics แบบ 8 คอร์ ไม่มีการ์ดจอแยกติดตั้งมาให้เพื่อให้ใช้งานทั่วไปอย่างการตัดต่อแต่งภาพ ดูหนังฟังเพลงหรือพอเล่นเกมออนไลน์ได้บ้าง ไม่ได้เน้นเรื่องการเล่นเกมเป็นหลัก

part inside

เมื่อดูชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในเครื่อง จะมีชิป TPM 2.0 ที่จำเป็นกับการอัพเดทเป็น Windows 11 ติดตั้งมาให้แล้ว ใช้ Wi-Fi 6 การ์ด Intel AX200 คลื่น 160MHz มีเสาสัญญาณแบบ 2×2 รับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว และเชื่อมต่ออุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ ได้ด้วย Bluetooth 5.2 

ssd 6

ส่วน SSD แบบ M.2 NVMe ที่ติดตั้งมาในเครื่องจะเป็น SKHynix รุ่น HFS001TDE9X084N ซึ่งเป็นตัว OEM จากเกาหลีคุณภาพดี เมื่อวัดความเร็วด้วย CrystalDiskMark แล้ว ความเร็ว Sequential Read อยู่ที่ 3,565 MB/s และ Sequential Write ที่ 3,274 MB/s จัดว่าเร็วและรันเปิดโปรแกรมขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาสั้น ๆ โดยส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน M.2 NVMe ตัวนี้เลย เพราะมันรับส่งข้อมูลได้เร็วระดับแนวหน้าเทียบกับโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมหลาย ๆ รุ่นแล้ว เพียงแค่คอยระวังพื้นที่ใน SSD ไม่ให้เกิน 80% เพื่อถนอมอายุการใช้งานก็พอ

3dmark 1

ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพของการ์ดจอออนบอร์ดด้วย 3DMark Time Spy แล้ว จะได้คะแนนอยู่ที่ 1,387 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้วสำหรับการ์ดจอออนบอร์ดที่เน้นเรื่องการใช้งานทั่วไปอย่างการแสดงผล, ทำงานแต่งภาพทั่วไปหรือดูหนังความละเอียดสูงได้ ไม่เน้นการเล่นเกมนัก ซึ่งคะแนนต้องถือว่าอยู่ในระดับสูงจับกลุ่มกับการ์ดจอออนบอร์ดของ Intel รุ่นบน ๆ ได้สบาย ๆ

pcmark10

ส่วนการทดสอบ PCMark 10 ที่เช็คว่าเครื่องนี้สามารถใช้ทำงาน, เปิดเว็บไซต์, คลายไฟล์ Zip และแต่งภาพได้ดีหรือเปล่า ซึ่งคะแนนรวมที่ได้นั้นอยู่ที่ 5,520 คะแนน ซึ่งถ้าโน๊ตบุ๊คเครื่องไหนได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 5,000 คะแนนเมื่อไหร่ แปลว่าเครื่องนั้นสามารถทำงานได้ไหลลื่นแน่นอน

ถ้าดูคะแนนเฉลี่ยแยกทีละส่วนอย่าง Essential ที่เป็นการใช้งานหลักเช่นการท่องเว็บไซต์หรือเปิดปิดโปรแกรมต่าง ๆ จะได้สูงสุดถึง 8,984 คะแนน รองลงมาเป็นกลุ่ม Productivity อย่างการทำงานเอกสารอย่าง Word หรือ Excel จะได้ 7,986 คะแนน ซึ่งถือว่ายังสูงมากอยู่ ดังนั้นการทำงานออฟฟิศต้องนับว่า Lenovo Yoga Slim 7 Pro ถือว่าผ่านโดยไม่ต้องสงสัย อาจจะน้อยลงมาหน่อยหนึ่งในส่วนคะแนนรวมของ Digital Content Creation อย่างการแต่งภาพตัดต่อวิดีโอที่รวมได้ 6,361 คะแนน แต่ก็ยังถือว่าสูงและใช้โปรแกรมอย่าง Adobe Photoshop ได้สบาย ๆ

affinity photo

ส่วนการทดสอบด้วย Affinity Photo ที่เป็นโปรแกรมแต่งภาพเหมือนกับ Adobe Photoshop ดูแล้ว จะเห็นว่าคะแนน Vector (Multi CPU) นั้นทำได้ 1,892 คะแนน นับว่าซีพียูนั้นสามารถทำงานด้านการตัดต่อแต่งภาพได้สบาย ๆ อย่างแน่นอน ส่วนการทดสอบ Raster (Single GPU) ที่เอาไว้ทดสอบว่าการ์ดจอใช้ทำงานกราฟฟิคได้ดีหรือเปล่า ก็ได้ที่ 2,247 คะแนน ต้องนับว่าอยู่ระดับที่สูงแล้ว ดังนั้นถ้าเอาไปทำงานแต่งภาพอย่าง Photoshop หรือ Lightroom ก็สามารถทำงานได้เร็วลื่นอย่างแน่นอน

yoga slim 7 pro 1

ถึงจะเป็นการ์ดจอออนบอร์ด ผู้เขียนเองก็อยากทราบประสิทธิภาพของการ์ดจอออนบอร์ดของ AMD Ryzen ยุคใหม่ว่าประสิทธิภาพดีระดับไหน ก็ได้ทดสอบการเล่นเกมโดยปรับกราฟฟิคระดับ Low และลดความละเอียดหน้าจอลงมา 1080p แล้วทดลองเล่นเกมออนไลน์กับ Resident Evil Village เป็นตัวแทนของเกม AAA ในปัจจุบันดูด้วย

จากคะแนนทั้งหมด จะเห็นว่าเกมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้ง DotA 2, Valorant หรือแม้แต่ PUBG เองก็สามารถทำเฟรมเรทได้สูงทีเดียว แต่สำหรับ PUBG เวลาปะทะในบางช่วงจะเฟรมเรทลดลงมาเล็กน้อยแต่ก็ยังเฉลี่ยระดับ 38 เฟรมทีเดียว ส่วนจุดสังเกตนั้นจะอยู่ที่ Genshin Impact ที่เป็นเกม Open world ซึ่งเฟรมเรทจะเฉลี่ยช่วง 29 เฟรมต่อวินาที เพราะว่าตัวฉากจะมีรายละเอียดที่ต้องโหลดและเรนเดอร์อยู่ระดับหนึ่งบางจังหวะก็จะเฟรมเรทลดลงนิดหน่อย แต่ตอนเล่นจริงแล้วไม่เจอปัญหาเรื่องอาการกระตุกเลย ดังนั้นถ้าซื้อเครื่องนี้ใช้งานแล้วอยากลงเกมออนไลน์ไว้เล่นแก้เบื่อเล็กน้อยก็สามารถโหลดมาลงได้เลย ซึ่งสามารถเล่นได้แน่นอน

ส่วน Resident Evil Village ที่เป็นตัวแทนเกม AAA ในปัจจุบันนี้ เมื่อลองปรับกราฟฟิคลงมา Low และลดตัวลบรอยหยักลงไปบ้าง ก็ได้เฟรมเรทระดับที่เล่นเกมนี้ได้สบาย ๆ โดยต่ำสุดอยู่ที่ 26 เฟรม สูงสุด 51 เฟรมและเฉลี่ย 36 เฟรมต่อวินาที ถือว่าความลื่นนั้นอยู่ระดับที่เล่นเกมนี้ได้สบาย ๆ และภาพในเกมก็ถือว่าเห็นสวยคมชัด ซึ่งอาจจะลดรายละเอียดเรื่องแสงเงากับรายละเอียด Texture บางส่วนลงไปเล็กน้อยเท่านั้น แต่ตอนเปิดเกมเล่นจริงนั้นสามารถเล่นเกมได้ไหลลื่นดีไม่มีอาการกระตุกแบบกระตุกแบบเสี้ยววินาทีเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แนะนำให้เอาโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงเน้นเรื่องใช้ทำงานมาเล่นเกม AAA เท่าไหร่ เพราะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งผลการทดสอบเกมในบทความนี้ทำเพื่อให้เห็นประสิทธิภาพของการ์ดจอออนบอร์ดของ AMD เท่านั้น

vantage

สำหรับโน๊ตบุ๊คของ Lenovo แต่ละเครื่องในปัจจุบันนี้จะมีซอฟท์แวร์ Lenovo Vantage ที่เป็นซอฟท์แวร์ศูนย์รวมการปรับแต่งตัวเครื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะอัพเดทไดรเวอร์หรือแม้แต่ซื้อประกันตัวเครื่องเพิ่มเติมก็สามารถจัดการในนี้ได้ทั้งหมด รวมทั้งดูได้ด้วยว่าประกันติดเครื่องยังเหลืออยู่อีกนานหรือเปล่าได้ด้วย

User Experience

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05899

สำหรับประสบการณ์การใช้งาน Lenovo Yoga Slim 7 Pro เทียบกับ Yoga Slim 7i Pro เครื่องส่วนตัวของผู้เขียนต้องเรียกว่าให้สัมผัสและดีไซน์ทุกอย่างรวมทั้งน้ำหนักตัวเครื่องเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน นั่นเพราะทั้งสองเครื่องแชร์บอดี้เดียวกันนั่นเอง

แต่จุดแตกต่างแรกจะอยู่ที่สติกเกอร์บอกซีพียูในเครื่องที่เป็น AMD Ryzen กับการ์ดจอ AMD Radeon กับหน้าจอที่เปลี่ยนจากหน้าจอด้านลดแสงสะท้อนเป็นหน้าจอกระจกที่ความละเอียดสูงขึ้นจาก 2.2K ของซีรี่ส์ Intel ทั้งรุ่น Core i5 และ Core i7 เป็น 2.8K ที่ติดตั้งให้เฉพาะรุ่นที่เป็น AMD โดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อทดลองใช้งานแล้วให้ภาพที่คมชัดเป็นอย่างมากและสีสันที่สดใส เพราะว่าเป็นจอกระจกด้วยนั่นเอง

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05896 1

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพการทำงานนั้นให้ผ่านได้เลย เพราะ AMD Ryzen 9 5900HX กับ M.2 NVMe SSD ของ SKHynix นั้นทำงานได้ดีและรวดเร็วมาก ทำให้ประมวลผลงานต่าง ๆ ให้เสร็จได้เร็วและประหยัดเวลายิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าใครอยากได้โน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงเอาไว้ทำงานหนักอย่างการเขียนโปรแกรมแล้วคอมไพล์โค้ดหนัก ๆ หรืองานเอกสารไฟล์ Excel ที่มีจำนวนหน้าและเซลส์เยอะ ๆ ล่ะก็ เครื่องนี้สามารถรับมือได้ดีแน่นอน

นอกจากนี้ข้อดีคือพอร์ต USB-C 3.2 Gen 2 ที่ข้างซ้ายของเครื่องทั้ง 2 ช่อง มีฟังก์ชั่น USB Power Delivery ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ตนั้นกลับเข้าเครื่องได้ด้วย ถ้าใครมีปลั๊กมือถือหรือ GaN ที่มีกำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไป ก็ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องได้สบาย ๆ หรือจะชาร์จจาก Power Bank 65W ในนาทีจำเป็นก็ได้ ดังนั้นข้อจำกัดว่า Lenovo Yoga Slim 7 Pro ใช้งานได้นานสุดเพียง 9 ชั่วโมงนั้นกลายเป็นเรื่องที่รับรู้แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ผู้เขียนอยากแนะนำผู้ที่อยากซื้อ Lenovo Yoga Slim 7 Pro มาใช้งานว่า หน้าจอเครื่องนี้เป็นหน้าจอกระจก เวลาทำงานแนะนำให้หามุมที่นั่งดี ๆ เพื่อไม่ให้แสงอาทิตย์หรือไฟนีออนสะท้อนเข้าตาจนรบกวนตอนทำงาน ส่วนเวลาลดความสว่างหน้าจอลงไม่แนะนำให้ลดจนสุดเพราะจะมืดมากกว่าหน้าจอแบบด้านทั่วไป ให้ดีที่สุดควรตั้งเอาไว้ราว 10% จะได้พอมองเห็นภาพบนหน้าจอบ้าง เพราะตอนผู้เขียนทดลองกดลดความสว่างลงไปจนสุดนั้นจะมืดมากจนมองแทบไม่เห็นเลย 

Battery / Heat & Noise

ด้านการระบายความร้อนของตัวเครื่องนั้น จะมีช่องระบายอากาศที่อยู่ระหว่างฐานตัวเครื่องเหนือคีย์บอร์ดกับจออยู่ 1 ช่อง ใช้ระบายอากาศที่ดูดจากด้านใต้ตัวเครื่องขึ้นมาระบายความร้อนให้ชิ้นส่วนภายในเครื่อง ส่วนอแดปเตอร์ที่แถมมากับตัวเครื่องสามารถจ่ายไฟได้ 95 วัตต์

battmon

ส่วนแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะมีความจุที่ 61Wh ซึ่งถือว่ามีให้ใช้เยอะเพื่อจ่ายพลังงานให้ AMD Ryzen 9 5900HX ใช้งานต่อเนื่องได้นานที่สุด ซึ่งจากการทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยลดแสงสว่างให้น้อยที่สุดและเปิดเสียงลำโพงเพียง 10% จากนั้นเล่นคลิปบน YouTube นาน 30 นาทีด้วยเบราเซอร์ Microsoft Edge แล้ววัดระยะเวลาใช้งานด้วยโปรแกรม BatteryMon แล้ว ได้ผลว่า Lenovo Yoga Slim 7 Pro สามารถใช้งานได้นานสุด 8 ชั่วโมง 58 นาที หรือร่วม 9 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ในส่วนนี้ต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้งานโดยแบตเตอรี่อย่างเดียวได้นานแล้ว ซึ่งแม้จะยังไม่เกิน 10 ชั่วโมง เหมือนซีพียูบางรุ่นแต่ก็ต้องเข้าใจกันก่อนว่ารหัส HX ที่ตามหลังเลขรุ่นของ AMD Ryzen ตัวนี้เป็นรหัสของซีพียูประสิทธิภาพสูง ดังนั้นการใช้งานได้ร่วม 9 ชั่วโมงก็ถือว่าการจัดการพลังงานของซีพียูและตัวเครื่องทำได้ดี

hw monitor

ส่วนความร้อนเมื่อรัน PCMark 10 จำลองการทำงานจริงเพื่อดึงความร้อนให้ขึ้นสูงสุด แล้วเช็คด้วย HWMonitor ก็ได้ผลว่าที่ตัว AMD Ryzen 9 5900HX นั้นมีอุณหภูมิต่ำสุดที่ 41 องศาและสูงสุดเพียง 85 องศา อุณหภูมิเฉลี่ยที่ 66 องศาเซลเซียสเท่านั้น จัดว่าซีพียูและการออกแบบระบบระบายความร้อนภายในเครื่องของ Lenovo นั้นทำได้ดีมากน่าประทับใจ ลบคำติดปากว่า “AMD ร้อน” ไปได้เลย

ส่วนสถานการณ์จริงตอนรัน Benchmark ตัวเครื่องจะมีเสียงพัดลมระบายความร้อนดังขึ้นมาให้พอได้ยินแต่ตัวเครื่องไม่ร้อนขึ้นมาเลย มากสุดแค่ตัวเครื่องส่วนที่เป็นอลูมิเนียมไม่เย็นแล้วกลายเป็นอุณหภูมิห้องเท่านั้น ดังนั้นถ้าเอามาใช้ทำงานต่อเนื่องนาน ๆ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนจะลวกมือเลยแม้แต่น้อย

Conclusion & Award

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05900

โดยสรุปแล้ว Lenovo Yoga Slim 7 Pro นับเป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาแต่ประสิทธิภาพสูง สามารถใช้ทำงานหนัก ๆ ได้สบายไม่มีปัญหาอย่างแน่นอนด้วย AMD Ryzen 9 5900HX และแบตเตอรี่มีความจุสูง 61Wh จึงใช้งานต่อเนื่องได้นานร่วม 9 ชั่วโมง รวมทั้งชาร์จแบตเตอรี่ผ่านทาง USB-C Power Delivery ได้ จึงใช้ปลั๊กของสมาร์ทโฟนหรือจะใช้ Powerbank ชาร์จแบตเตอรี่ให้เครื่องก็ได้ทั้งนั้น จึงใช้งานต่อเนื่องได้สบาย ๆ 

กลับกัน เครื่องนี้ถ้าต่อปลั๊กกับจอเสริมให้กลายเป็นเครื่อง Desktop ก็ใช้รันโปรแกรมใหญ่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้ซีพียู AMD Ryzen 9 รุ่นเดียวกับที่เอาไปติดตั้งในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวท็อปหลาย ๆ รุ่น แต่พอเอามาใช้ในโน๊ตบุ๊คบางเบาก็จะเป็นรุ่นที่ประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานหนักได้อย่างไม่มีปัญหา จะซื้อเอาไปทำงานหนักรันโปรแกรมใหญ่ ๆ ก็ไม่มีปัญหา จะใช้เขียนโปรแกรมใหญ่ ๆ ก็ทำงานได้สบาย ๆ นอกจากนี้หน้าจอก็มีความละเอียดสูงคมชัดและขอบเขตสีกว้าง เอาไปทำงานอาร์ตเวิร์คหรือแต่งภาพได้แน่นอน

Lenovo Yoga 7 Pro AMD DSC05896

สำหรับข้อสังเกตเรียกว่าเป็นเพียงส่วนเล็กอย่างหน้าจอเป็นจอกระจกสะท้อนแสงง่ายและถ้าลดแสงจนสุดแล้ว จะมืดเกินไปจนมองได้ลำบาก หรือทัชแพดจะไม่มีปุ่มลัดไว้กดล็อคเลยต้องระวังเวลาวางมือพิมพ์ และพอร์ตที่ข้างตัวเครื่องค่อนข้างน้อย หลัก ๆ มีเพียง USB-C 3.2 Gen 2 Full-Function, USB-A 3.2 Gen 1 กับช่องหูฟัง 3.5 มม. อีกช่องหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครจะเอาไปต่อจอเสริมใช้ต่างพีซีตั้งโต๊ะล่ะก็ แนะนำให้ซื้อ USB Multiport adapter หรือสาย USB-C to HDMI เอาไว้ต่อหน้าจอแยกโดยเฉพาะด้วย จะทำให้ต่อคอมนั่งทำงานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

แต่ถ้าใครมองข้ามเรื่องจุดสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วโฟกัสเรื่ององค์รวมของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro เครื่องนี้เป็นหลักจะเห็นว่านี่คือโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงตัวบางน่าใช้มาก จ่ายเพียง 37,990 บาท แล้วแรงแบบไม่ต้องสืบตั้งแต่ออกจากกล่องเลยทีเดียว ซึ่งถ้าใครหาโน๊ตบุ๊คเอาไว้ทำงานเน้นความแรงหายห่วงสักเครื่องล่ะก็ นี่คือคำตอบที่ดีที่สุดเครื่องหนึ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ซื้อได้เลยโดยไม่ต้องลังเล

Award

award new performance

Best Performance

สำหรับโน๊ตบุ๊คบางเบาแต่ซ่อนความแรงเอาไว้แบบจัดเต็มอย่าง Lenovo Yoga Slim 7 Pro ที่ติดตั้งซีพียูตัวท็อปสาย AMD รุ่น Ryzen 9 5900HX กับสเปคภายในทั้งหมดโดยรวมแล้วถือว่าจัดเต็มแต่จ่ายแค่ 37,990 บาทนั้น จะใช้รันโปรแกรมที่กินพลังซีพียูหนักหน่อยก็ไม่มีปัญหาแล้วการ์ดจอออนบอร์ดอย่างเดียวก็เปิดเกมออนไลน์เล่นเวลาว่างได้สบาย ๆ ถือว่าราคาต่อประสิทธิภาพ (Price per performance) อยู่ในระดับที่ดีมากรุ่นหนึ่ง จัดเป็นโน๊ตบุ๊คที่เหมาะกับรางวัล Best Performance เป็นอย่างมาก

award new multi media

best multimedia

รางวัล Best Multimedia ของ Lenovo Yoga Slim 7 Pro นั้น ได้จากหน้าจอความละเอียดสูง 2.8K ที่ขอบเขตสีกว้างและเป็นจอ Dolby Vision กับลำโพงที่ปรับแต่งเสียงด้วย Dolby เป็นลำโพงแบบ Dolby Atmos พร้อมมีซอฟท์แวร์ปรับแต่งเสียงติดตั้งมาให้ใช้ด้วย ดังนั้นเรื่องดูหนังฟังเพลงเรียกว่าผ่านฉลุย ได้รับประสบการณ์ความบันเทิงอย่างเต็มที่แน่นอน

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว MSI

MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ในบอดี้เรียบหรูมีพลังของ AMD Ryzen AI ซ่อนอยู่ แรงทรงพลังลุยได้ทุกงาน! ถ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพสักครั้ง ก็จะไม่อยากลดระดับลงไปใช้ของรองลงไปง่ายๆ เพราะได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่ดีเป็นอย่างไร อย่าง MSI Prestige A16 AI+ A3HMG ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของคำพูดนี้และทางบริษัทก็ยังใส่ใจคุณภาพงานประกอบและรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงามไม่แพ้รุ่นก่อน ทั้งบอดี้อลูมิเนียมสีเงินและโลโก้อลูมิเนียมแสนเรียบง่ายแต่ดึงดูดสายตา แม้ไม่หวือหวาแต่ก็ดูได้ไม่เบื่อ ลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเอาไว้ได้พอเหมาะพอดีและสอดลูกเล่นเก่าผสมใหม่มาได้พอเหมาะพอดี...

รีวิว MSI

MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คจอใหญ่ รู้ใจคนทำงาน กาง 180 องศา Intel Core Ultra ราคาเบา เพื่อคนทำงานมีไลฟ์สไตล์ MSI Modern 15 H AI C1MG โน๊ตบุ๊คทำงานจอใหญ่ ที่มาพร้อมกับขุมพลัง...

CONTENT

ถ้าเรื่องน้ำหนักและดีไซน์เกมมิ่งไม่เป็นปัญหาและพร้อมลงทุนกับโน๊ตบุ๊คดีๆ สักเครื่อง ก็อยากแนะนำให้มาเลือกดูโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 เอาไว้ใช้เป็นคอมส่วนตัวสักเครื่อง เพราะนอกจากมันจะเล่นเกมได้ดีสมหน้าที่แล้ว ทางผู้ผลิตเองก็ติดตั้งซีพียู, จีพียูแยกพร้อมชุดระบายความร้อนประสิทธิภาพสูงมาให้ ทำให้ทำงานได้ทุกแบบตั้งแต่งานออฟฟิศทั่วไปจนงานระดับครีเอเตอร์อย่างตัดต่อภาพกับวิดีโอได้ดีมาก ถ้าห่วงเรื่องดีไซน์ว่ามันจะดึงดูดสายตาคนอื่นเกินไป ก็มีตัวเลือกเป็นรุ่นพรีเมี่ยมหน้าตาเรียบหรูให้เลือกซื้อ นอกจากนี้ข้อดีของการซื้โน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 นอกจากของแถมและส่วนลดแล้ว การได้เลือกดูสินค้าไอทีจากหน้าร้าน ได้จับตัวจริงเช็คว่าสินค้าไม่มีปัญหาก่อนรับเครื่องได้ไม่พอ ยังหาซื้อหน่วยความจำมาอัปเกรดเพิ่มก่อนกลับบ้านและรับของสมนาคุณได้อีกหลายชิ้นอีกด้วย Advertisement จะซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 ต้องดูเรื่องอะไรบ้าง? ข้อดีของการซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมคอมมาร์ท 2024 นอกจากมีตัวเลือกเยอะแล้ว...

AMD

ชิปเซ็ตของคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีตจะเป็นคอร์ประมวลผลอย่างเดียว จากนั้นจึงมีจีพียูเอาไว้ประมวลผลกราฟิคเพิ่มเข้ามา จนตอนนี้ AMD Ryzen AI ชิปเซ็ตยุคใหม่ได้เพิ่มคอร์ใหม่ที่เรียกว่า NPU หรือ Neural Processing Unit หรือคอร์ประมวลผล AI เสริมเข้ามาช่วยคอร์หลักประมวลผลให้ดีขึ้น สถาปัตยกรรมเป็น AMD XDNA ซึ่งตอนนี้เป็นเวอร์ชั่น 2 แล้ว มีกำลังประมวลผล AI สูงถึง...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก