เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยก Refresh Rate สูงเอาไว้เล่นเกมเลือกยังไง ดูให้เคลียร์ ๆ เลย
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกเรียกว่าเป็นตัวเลือกใหม่ของเกมเมอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคการ์ดจอแพงเพราะถูกกว้านซื้อไปขุดเหรียญคริปโตกันเสียหมด และถึงหาซื้อได้ก็มีราคาแพงมาก หรือมีเงื่อนไขมากมายกว่าจะซื้อได้ ไม่สามารถซื้อแยกชิ้นส่วนได้เหมือนอดีตอีกแล้ว ทำให้เกมเมอร์บางคนเลือกขายเกมมิ่งพีซีของตัวเอง แล้วย้ายมาซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกเพื่อเล่นเกมแทนก็มีเช่นกัน
สำหรับเกมเมอร์ที่เคยมีพีซีอยู่ ก็น่าจะมีอุปกรณ์อย่างเมาส์และคีย์บอร์ดเกมมิ่งก็เอามาต่อกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องใหม่ได้เลย แต่หน้าจอแยกนั้น บางคนอาจจะสงสัยว่าพอร์ต HDMI ที่ติดมากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คนั้นสามารถต่อกับหน้าจอที่ค่า Refresh Rate สูง 144 Hz หรือ 165 Hz ได้ไหม? แล้วต้องทำอะไรบ้าง ถึงจะดึงประสิทธิภาพหน้าจอออกมาได้เต็มที่? ผู้เขียนได้รวบรวมวิธีการดูและตั้งค่าเอาไว้ในบทความนี้ให้ผู้อ่านได้ทำตามกันแล้ว
HDMI พอร์ตมาตรฐานสำหรับรับส่งข้อมูลภาพและเสียงที่ได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกหลายรุ่นในยุคนี้ย้ายพอร์ต HDMI มาติดไว้หลังเครื่องแล้ว
เรื่องของหน้าจอนั้นเป็นเรื่องสำคัญของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันทุกรุ่น ซึ่งผู้ผลิตหลายรายนั้นจะใส่หน้าจอของตัวเครื่องที่มีค่า Refresh Rate สูง ๆ มาให้ ไม่ว่าจะ 120 Hz, 144 Hz ไปจนถึง 165 Hz ในรุ่นราคาแพง ช่วยเกมเมอร์นั่งเล่นเกมแล้วได้ภาพที่ไหลลื่นนวลตา เห็นภาพได้ต่อเนื่องจนหลาย ๆ คนเน้นหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่ค่า Refresh Rate ของหน้าจอหลักสูง ๆ เอาไว้ก่อน
จริง ๆ แล้ว วิธีนั้นก็เป็นวิธีเลือกที่ดี แต่จริง ๆ แล้วเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเครื่องหนึ่งนั้นนอกจากแสดงผลได้ลื่นไหลบนหน้าจอติดเครื่องแล้ว เวลาต่อพอร์ต HDMI ที่เป็นพอร์ตมาตรฐานของโน๊ตบุ๊คทุกรุ่นในปัจจุบัน ก็ควรแสดงผลได้ลื่นไหลไม่แพ้กันหรือดีกว่า ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนอาจมองข้ามพอร์ตนี้ไปเพราะถือว่ามีติดตั้งมาก็พอแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้ว HDMI นั้นก็สำคัญมากสำหรับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยก เพราะพอร์ตนี้เรียกว่ามีรุ่นย่อยและรายละเอียดความแตกต่างอยู่พอควรทีเดียว
รู้จักพอร์ต HDMI กันก่อนว่าแต่ละเวอร์ชั่นแตกต่างกันอย่างไร?
HDMI (High-Definition Multimedia Interface) เป็นพอร์ตสำหรับรับส่งไฟล์ภาพและเสียงจากอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเกิดมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2002 โดยมี Hitachi Maxell, Sanyo, Koninklijke Philips, Silicon Image, Sony, Technicolor และ Toshiba เป็นผู้ก่อตั้ง มีบริษัทที่อยู่ใน HDMI Forum ร่วม 83 แห่ง
ปัจจุบันนอกจากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแล้ว HDMI ก็ถูกเอาไปติดตั้งไว้กับการ์ดจอ, ทีวี, โปรเจคเตอร์ ฯลฯ มากมาย รองรับมาตรฐานการส่งไฟล์ภาพและเสียง EIA/CEA-861 ซึ่งเกี่ยวกับ Video format ต่าง ๆ รวมทั้งรองรับสัญญาณ CEA-861 ที่พอร์ต DVI (Digital Visual Interface) ใช้งานด้วย ดังนั้นเวลาเดินร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จึงมีสายและหัวแปลง HDMI to DVI ขายด้วย
ส่วนขนาดของหัวพอร์ต HDMI นั้นมีทั้งหมด 5 แบบด้วยกันตามภาพ ได้แก่แบบ A ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน, แบบ B เชื่อมต่อ Dual-Link ได้ ทว่ายังมีแต่แบบและยังไม่ได้นำมาใช้, C เป็น Mini-HDMI กับ D เป็น Micro-HDMI ซึ่งจะเจอกับอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กแล้วต้องต่อพอร์ตแสดงผลหน้าจอ และพอร์ตแบบ E จะใช้งานในยานพาหนะและมีหัวต่อแบบพิเศษปิดล็อคเพื่อป้องกันความชื้นและฝุ่นรวมทั้งแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้พอร์ตหลวมและหลุดได้ด้วย
นอกจากนี้ พอร์ต USB-C ในโน๊ตบุ๊ค, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต บางรุ่นจะเป็น USB-C Alternative mode (บางครั้งเขียนย่อว่า Alt-mode) ก็ใช้รับส่งข้อมูลภาพและเสียงได้เหมือนกับ HDMI แบบหัวปกติได้ด้วย จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และข้อดีของ USB-C ก็ต่อหัวแปลงเป็นพอร์ตต่าง ๆ เช่น SD Card Reader, USB 3.0 Type-A, HDMI, DVI และมี USB-C เสริมอีกหัว ยิ่งถ้ารุ่นไหนเป็น Thunderbolt 4 หรือรองรับการชาร์จแบบ Power Delivery ก็ใช้ปลั๊ก Gallium Nitride (GaN) วัตต์สูงมาชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คได้อีกด้วย
ส่วนเวอร์ชั่นของพอร์ต HDMI นั้น ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 1.0, 1.1, 1.2, 1.3, 1.4, 2.0 และ 2.1 ที่เป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดตามเทคโนโลยีหน้าจอที่พัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีรุ่นย่อยแยกโดยมีรหัส a หรือ b ตามหลังเลขรุ่นนั้น ๆ ด้วย ซึ่งรายละเอียดจะมีดังนี้
- HDMI 1.0 – เปิดตัวปี 2002 สำหรับเชื่อมต่อรับส่งไฟล์ภาพและเสียง พื้นฐานพัฒนาจากพอร์ต DVI โดยมีค่า TMDS (Transition-Minimized Differential Signaling) หรือค่าการรับส่งข้อมูล 165 MHz (4.95 Gbit/s bandwidth ต่อ link) ซึ่งเท่ากับพอร์ต DVI รองรับขอบเขตสี Rec. 601 และ Rec. 709 และมาตรฐาน EIA/CEA-861-B แต่มีข้อจำกัดคือ ตัวพอร์ตยังรองรับไฟล์วิดีโอบางฟอร์แมตเท่านั้น ความละเอียดหน้าจอรองรับสูงสุด Full HD (1920×1080 หรือ 1920×1200 พิกเซล) Refresh Rate 60 Hz
- HDMI 1.1 – เปิดตัวปี 2004 เพิ่มการรองรับไฟล์ภาพและเสียง DVD-Audio เข้ามา
- HDMI 1.2 – เปิดตัวปี 2005 เพิ่มฟีเจอร์รองรับ One Bit Audio เข้าไป เอามาใช้กับ Super Audio CD รองรับไฟล์เสียง format เฉพาะ แต่รองรับความละเอียดภาพและค่า Refresh Rate ได้ยืดหยุ่นขึ้น แต่ความละเอียดสูงสุดยังเป็น Full HD (1920×1080 หรือ 1920×1200 พิกเซล) Refresh Rate 60 Hz เท่าเดิม แต่ 720p ได้ 100-120 Hz แล้ว
- HDMI 1.2a – เปิดตัวปี 2005 เหมือนกัน รองรับฟีเจอร์ Consumer Electronic Control (CEC) สำหรับควบคุมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน HDMI ด้วยรีโมตตัวเดียวได้เต็มรูปแบบแล้ว
- HDMI 1.3 – เปิดตัวปี 2006 เพิ่ม TMDS clock ไป 340 MHz (10.2 Gbit/s) เพิ่ม Bandwidth เป็น 8.16 Gbit/s รองรับความละเอียดหน้าจอ 1920×1080 พิกเซล 120 Hz และ 2560×1440 พิกเซลที่ 60 Hz ได้แล้ว และเพิ่มการรับรองขอบเขตสีเข้าไปมากขึ้น รองรับ Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio แล้ว
- HDMI 1.3a – เปิดตัวปี 2006 เช่นกัน มีการปรับแต่งส่วนของสายและ HDMI Sink ให้รองรับ Type-C แล้ว, ถอน rise/fall time limit ออก และเพิ่มขอบขอบเขตการรองรับ CEC ให้ดีขึ้น
- HDMI 1.4 – เปิดตัวปี 2009 แต่เริ่มขายและใช้งานจริงในไตรมาส 2 ปีเดียวกัน รองรับความละเอียดสุงสุด 4K (4096 × 2160 พิกเซลได้ 24 Hz ส่วน 3840 × 2160 ได้ 30 Hz) เพิ่ม HDMI Ethernet Channel (HEC) แต่ต้องใช้สาย HDMI แบบเฉพาะที่รับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงถึงจะใช้งานได้, Audio Return Channel (ARC), 3D Over HDMI โดยความละเอียดเป็น 720p50 กับ 1080p24 หรือ 720p60 กับ 1080p24 ซึ่งใช้สาย High Speed HDMI ที่ใช้ใน HDMI 1.3 ได้ รวมทั้งรองรับการเชื่อมต่อกับยานพาหนะได้แล้ว
- HDMI 1.4a – เปิดตัวปี 2010 เวอร์ชั่นนี้จะเพิ่ม 3D format สำหรับการถ่ายทอดสด, เล่นเกมและหนังเข้ามาให้ด้วย
- HDMI 1.4b – เปิดตัวปี 2011 เพิ่มข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เข้าไปในเอกสารของเวอร์ชั่น 1.4a และเป็นเวอร์ชั่นสุดท้ายที่ทางองค์กร HDMI เป็นผู้ให้ใบอนุญาต ซึ่งการปรับแต่งฟีเจอร์ทั้งหมดในเวอร์ชั่นหลังจากนี้ทั้งหมด HDMI Forum จะเป็นผู้กำหนดแทน
- HDMI 2.0 – เปิดตัวปี 2013 โดยเพิ่ม bandwidth ให้มากขึ้นเป็น 18.0 Gbit/s และความเร็วเข้ารหัส TMDS ให้ bandwidth สูงขึ้นเป็น 14.4 Gbit/s รองรับความละเอียด 4K 60 Hz และขอบเขตสี 24bit/px, รองรับขอบเขตสี Rec. 2020, แชนแนลเสียง 32 แชนแนล 1536 kHz มี Dual video stream, รองรับอัตราส่วนหน้าจอ 21:9, มาตรฐานเสียง HE-AAC กับ DRA, ปรับปรุงด้าน 3D ให้ดีกว่าเดิม รวมทั้งเพิ่มฟังก์ชั่น CEC ให้มากขึ้น
- HDMI 2.0a – เปิดตัวปี 2015 โดยรองรับวิดีโอขอบเขตสีกว้างแบบ HDR ที่มี static metadata ในตัวแล้ว
- HDMI 2.0b – เปิดตัวปี 2016 รองรับ HDR10 รวมทั้งเพิ่มการรองรับฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เข้ามาหลายอย่างและ Hybrid Log-Gamma (HLG) ด้วย
- HDMI 2.1 – เปิดตัวปี 2017 ที่ผ่านมา โดยรองรับความละเอียดหน้าจอและได้ค่า Refresh Rate สูงขึ้น โดย HDMI 2.1 จะรองรับความละเอียด 4K, 8K ค่า Refresh Rate 120 Hz แล้ว รวมทั้งเพิ่ม HDMI Ultra High Speed เข้ามาเป็นหัวแบบใหม่ ทำให้รับส่งข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม และรองรับ HDMI เวอร์ชั่นเก่าทั้งหมดด้วย ส่วนฟีเจอร์หลัก ๆ จะมีดังนี้
- รองรับความละเอียดสูงสุด 10K 120 Hz
- Dynamic HDR
- รองรับ Display Stream Compression (DSC) 1.2 สำหรับวิดีโอความละเอียดสูงกว่า 8K 4:2:0 chroma subsampling
- High Frame Rate (HFR) โดยจอ 4K, 8K กับ 10K ถ้าใช้สายที่รองรับจะได้ค่า Refresh Rate 120 Hz
- เพิ่ม Enhanced Audio Return Channel (eARC) สำหรับ audio format ที่เน้นวัตถุเช่น Dolby Atmos กับ DTS:X เป็นต้น
- ปรับแต่งให้เพิ่ม Refresh Rate ลดค่าความหน่วง (Latency) ได้แก่
- Variable Refresh Rate (VRR) สำหรับภาพที่เคลื่อนไหวเร็วในเกม
- Quick Media Switching (QMS) ช่วยลดอาการฉากดำก่อนหนังเล่น
- Quick Frame Transport (QFT) ลดความหน่วงเวลาเปิดภาพอย่างรวดเร็วผ่านสาย HDMI
- Auto Low Latency Mode (ALLM) ถ้าเล่นภาพหรือวิดีโอบนหน้าจอที่ออกแบบมาให้การทำ pixel processing ต่ำ จะทำให้ความหน่วงต่ำลง
จากภาพด้านบน จะเป็นตัวอย่างแพ็คเกจสาย HDMI รุ่นใหม่ล่าสุดหรือ Ultra High Speed HDMI ที่ใช้ฟีเจอร์ของ HDMI 2.1 ได้เต็มที่ยิ่งขึ้น โดยสังเกตที่หน้ากล่องจะมีการเขียนชื่อเวอร์ชั่นเอาไว้ชัดเจน ส่วนขอบด้านล่างใต้คำว่า HDMI จะบอกความละเอียดและ Refresh Rate เอาไว้ เช่น 8K@60 คือต่อหน้าจอความละเอียด 8K ได้ 60 Hz ถ้าเป็น 4K ได้ 120 Hz ซึ่งค่า Hz ก็คือค่า Refresh Rate นั่นเอง ส่วนค่า Refresh Rate ที่ HDMI รุ่นต่าง ๆ สามารถทำได้ มีดังนี้
เวอร์ชั่นของ HDMI | 1.0-1.2 | 1.3-1.4 | 2.0 | 2.1 |
Bandwidth สูงสุด |
4.95 Gbit/s
(3.96 Gbit/s)
|
10.20 Gbit/s
(8.16 Gbit/s)
|
18.00 Gbit/s
(14.40 Gbit/s)
|
48.00 Gbit/s
(42.67 Gbit/s)
|
ความละเอียด | ค่า Refresh Rate สูงสุดที่ทำได้ | |||
2K
1920 × 1080 (16:9)
1920 × 1200 (16:10)
|
60 Hz 60 Hz |
144 Hz 120 Hz |
240 Hz 200 Hz |
480 Hz ขึ้นไป 480 Hz ขึ้นไป |
2.5K
2560 × 1080 (21:9)
2560 × 1440 (16:9)
2560 × 1600 (16:10)
|
50 Hz 30 Hz
30 Hz
|
100 Hz
85 Hz
75 Hz
|
180 Hz
144 Hz
120 Hz
|
480 Hz ขึ้นไป 360 Hz
300 Hz
|
3.5K
3440 × 1440 (21:9)
|
30 Hz |
60 Hz |
100 Hz |
300 Hz |
4K
3840 × 1600 (21:9)
3840 × 2160 (16:9)
4096 × 2160 (19:10)
|
24 Hz ไม่รองรับ ไม่รองรับ |
50 Hz 30 Hz
30 Hz
|
85 Hz
60 Hz
60 Hz
|
240 Hz
180 Hz
180 Hz
|
5K
5120 × 2160 (21:9)
5120 × 2880 (16:9)
|
ไม่รองรับ ไม่รองรับ |
24 Hz ไม่รองรับ |
50 Hz
30 Hz
|
144 Hz
100 Hz
|
8K
7680 × 4320 (16:9)
|
ไม่รองรับ |
ไม่รองรับ |
ไม่รองรับ |
50 Hz |
จะเห็นว่า HDMI แต่ละเวอร์ชั่นก็มีผลต่อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกมากทีเดียว เวลาซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คมาสักเครื่องนั้น ผู้เขียนแนะนำว่าให้ทำการบ้านโดยเอาชื่อรุ่นย่อยไปค้นหาแล้วดูในส่วนของ Tech spec เพื่อดูเวอร์ชั่นของ HDMI สักนิด จะทำให้เราเลือกเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกเครื่องใหม่มาเล่นเกมได้คุ้มที่สุด ตัวอย่างเช่น
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้ของแบรนด์ A แสดงว่ามีพอร์ต HDMI ติดตั้งเอาไว้ แต่ไม่มีเลขเวอร์ชั่นหรือรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับพอร์ตนี้ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหน้าเว็บไซต์ของร้านค้านั้น ๆ แทน
ด้านเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้ของแบรนด์ B จะติดตั้งพอร์ต HDMI 2.0 มาให้ ดังนั้นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้ตัวนี้จะต่อหน้าจอแยกความละเอียด 4K ได้ Refresh Rate 60 Hz แต่ถ้าความละเอียดน้อยกว่านี้เช่น 2560×1600 พิกเซล จะได้ Refresh Rate 120 Hz และถ้าเป็นจอ Full HD (1920×1080 พิกเซล) ได้สูงสุด 240 Hz ซึ่งถ้าเป็นหน้าจอ Full HD 165 Hz ก็ต่อแล้วแสดงผลได้สบาย ๆ แต่จะยังไม่รองรับหน้าจอแบบ HDR เพราะไม่ใช่พอร์ต HDMI 2.0a, 2.0b นั่นเอง
นอกจากนี้พอร์ต USB-C 3.1 (DisplayPort) ถ้ามีสาย USB-C ที่ปลายสายอีกฝั่งเป็นพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอเช่น DisplayPort ก็ต่อหน้าจอเสริมได้ด้วย
ส่วนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้ของแบรนด์ C นั้นจะติดตั้งพอร์ต HDMI 2.0b มาให้ ดังนั้นจึงต่อหน้าจอเกมมิ่งแบบ HDR, HDR10 และได้ฟีเจอร์ Hybrid Log-Gamma (HLG) ด้วย นอกจากนี้ พอร์ต USB-C อีกพอร์ตก็เป็น Thunderbolt 4 นอกจากชาร์จไฟให้เครื่อง, รับส่งข้อมูลตามมาตรฐาน USB 3.2 Gen2 ได้แล้ว ยังเป็น DisplayPort ได้อีกด้วย ดังนั้นถ้ามี USB-C to DisplayPort ก็เอามาต่อหน้าจอเสริมผ่านพอร์ตนี้ได้เลย
วิธีปรับ Refresh Rate ของหน้าจอเกมมิ่ง
และเมื่อซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้มาพร้อมกับหน้าจอเกมมิ่งค่า Refresh Rate สูง ๆ แล้ว ตัวหน้าจอหลาย ๆ รุ่นจะมีค่า Refresh Rate อยู่ 2 ระดับด้วยกัน คือ Native Refresh Rate และ Overclock Refresh Rate ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็น ACER VG240YSBMIIPX ที่มีค่า Refresh Rate 144 Hz และ Overclock Refresh Rate 165 Hz
ในตัวอย่างนี้จะขอยกตัวอย่างการปรับค่า Refresh Rate ให้สูงขึ้นด้วยการ์ดจอ NVIDIA ซึ่งเป็นการ์ดจอในเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายรุ่นในปัจจุบัน เริ่มต้นโดยคลิกขวาบนพื้นที่วางบน Desktop เลือก NVIDIA Control Panel เลือก Change Resolution จากนั้นคลิกเลือกที่หน้าจอเกมมิ่งที่ต่อเข้ากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกของเรา จากนั้นเลื่อนมาที่คำว่า Refresh Rate แล้วเลือกค่าที่ต้องการได้เลย ตัวอย่างเช่นผู้เขียนเลือกเป็น 165 Hz จากนั้นกดปิดหน้าจอทิ้งแล้วเล่นเกมได้เลย กลับกันหน้าจอเกมมิ่งรุ่นไหนปรับ Refresh Rate ไม่ได้ จะแสดงเพียงค่า Refrsh Rate เดียว ตัวอย่างเช่น BenQ GL2450 จะมีแค่ 60 Hz เท่านั้น
4 เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยก สเปคแรงเอาอยู่ ราคา 3 หมื่นต้น-กลาง จัดได้ตามชอบ
- Lenovo Legion 5-82B50045TA (27,900 บาท)
- HP Pavilion Gaming 15-ec1072AX (28,690 บาท)
- Asus TUF Gaming Dash F15 FX516PE-HN004T (29,990 บาท)
- Acer Nitro 5 AN515-45-R313 (34,690 บาท)
1. Lenovo Legion 5-82B50045TA (27,900 บาท)
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้เครื่องแรกที่แนะนำให้เกมเมอร์เลือกซื้อไปเล่นเกมแนะนำเป็น Lenovo Legion 5 เครื่องนี้ที่ยังหาซื้อได้ตามเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ทั่วไปได้อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งสเปคนั้นถือว่าแรงและใช้เล่นเกมต่าง ๆ ได้อีก 2 ปีอย่างแน่นอน ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อหน้าจอจะมี HDMI 2.0 ติดตั้งมาให้คู่กับ USB-C 3.1 ที่เชื่อมต่อเป็น DisplayPort ได้ด้วย ดังนั้นเวลาต่อหน้าจอเข้ากับเครื่องนี้แนะนำให้ต่อเข้ากับพอร์ต HDMI เพื่อให้ได้ค่า Refresh Rate สูงเป็นพอร์ตแรก และถ้าต้องการต่อจอเสริมเอาไว้ดูคอมเมนต์ตอน Live Stream อยู่ อาจจะต่อผ่าน USB-C แทนได้เลย
สเปคเป็น AMD Ryzen 5 4600H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 3.0-4.0GHz จับคู่การ์ดจอแยก NVIDIA GEFORCE GTX 1650 Ti แรม 4GB GDDR6 ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB มี Windows 10 Home (64-bit) ติดตั้งมาให้กับแรม 8GB DDR4 บัส 3200MHz ซึ่งถ้าอัพเป็น 16GB จะดีมาก ส่วนหน้าจอตัวโน๊ตบุ๊คจะมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz ต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0 ด้วย
สเปคของ Lenovo Legion 5-82B50045TA
- ซีพียู AMD Ryzen 5 4600H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 3.0-4.0GHz
- การ์ดจอ NVIDIA GEFORCE GTX 1650 Ti แรม 4GB GDDR6
- ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- แรม 8GB DDR4 บัส 3200MHz
- หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz
- เชื่อมต่อหน้าจอแยกด้วย HDMI 2.0 และ USB-C 3.1 (DisplayPort) ได้
- เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0
- ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home (64-bit)
- ราคา 27,900 บาท (TopValue)
2. HP Pavilion Gaming 15-ec1072AX (28,690 บาท)
ถ้าชื่นชอบแบรนด์ HP แล้ว HP Pavilion Gaming 15-ec1072AX เครื่องนี้เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกรุ่นแนะนำตัวหนึ่ง โดยสเปคอยู่ในระดับไม่ต้องอัพเกรดก็แรงแล้ว นอกจากผู้ใช้อยากเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ M.2 เป็นรุ่นที่ประสิทธิภาพสูงและความจุมากขึ้นก็ได้ ส่วนพอร์ตต่อหน้าจอแยกมีเพียง HDMI 2.0 เพียงพอร์ตเดียวเท่านั้น พอร์ต USB-C จะเอาไว้ใช้รับส่งไฟล์เท่านั้น
สเปคใช้ซีพียู AMD Ryzen 7 4800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.9-4.2GHz กับการ์ดจอ NVIDIA GEFORCE GTX 1650 แรม 4GB GDDR6 ฮาร์ดดิสก์ M.2 NVMe ความจุ 512GB มี Windows 10 Home (64-bit) ติดตั้งมาในตัว มีแรม 16GB DDR4 บัส 3200MHz หน้าจอตัวเครื่องมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144Hz ต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0 ด้วย
สเปคของ HP Pavilion Gaming 15-ec1072AX
- ซีพียู AMD Ryzen 7 4800H แบบ 8 คอร์ 16 เธรด ความเร็ว 2.9-4.2GHz
- การ์ดจอ NVIDIA GEFORCE GTX 1650 แรม 4GB GDDR6
- ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- แรม 16GB DDR4 บัส 3200MHz
- หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz
- เชื่อมต่อหน้าจอแยกด้วย HDMI 2.0
- เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0
- ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home (64-bit)
- ราคา 28,690 บาท (Advice)
3. Asus TUF Gaming Dash F15 FX516PE-HN004T (29,990 บาท)
ASUS TUF Gaming Dash F15 เครื่องนี้เรียกว่าเป็นสเปคใหม่แกะกล่องเตรียมวางขายในเร็ว ๆ นี้ นอกจากราคาจะไม่แพงมาก แค่ 29,990 บาท ยังได้การ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti รุ่นใหม่ล่าสุดมาด้วย จึงสามารถเล่นเกมในยุคนี้ได้สบาย ๆ รวมทั้งต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอพร้อมกันด้วย HDMI 2.0b กับ DisplayPort ผ่าน USB-C 3.2 Gen2 ที่เป็น Thunderbolt 4 ในตัวได้อีกด้วย
สเปคใช้ซีพียู Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4GHz กับการ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6 ฮาร์ดดิสก์ M.2 NVMe ความจุ 512GB พร้อม Windows 10 Home (64-bit) และแรม 8GB DDR4 บัส 3200MHz ติดตั้งมาแบบออนบอร์ด ส่วนหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144Hz ต่ออินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1 ด้วย
สเปคของ Asus TUF Gaming Dash F15 FX516PE-HN004T
- ซีพียู Intel Core i5-11300H แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 3.1-4.4GHz
- การ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti แรม 4GB GDDR6
- ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- แรม 8GB DDR4 บัส 3200MHz ออนบอร์ด
- หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz
- เชื่อมต่อหน้าจอแยกด้วย HDMI 2.0b และ Thunderbolt 4
- เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
- ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home (64-bit)
- ราคา 29,990 บาท (Advice)
4. Acer Nitro 5 AN515-45-R313 (34,690 บาท)
สำหรับคนอยากได้เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกได้สเปคแรงหน่อย แนะนำเป็น Acer Nitro 5 AN515-45-R313 รุ่นนี้ที่นอกจากสเปคแรงด้วย AMD Ryzen สถาปัตยกรรม AMD Zen 3 กับการ์ดจอ GEFORCE RTX 3000 Series แล้ว ก็ต่อหน้าจอแยกได้ด้วยพอร์ต HDMI 2.0 อีกด้วย แต่ราคาจะขยับขึ้นมาระดับ 3 หมื่นกลางแทน ซึ่งถ้าผู้ใช้คนไหนคิดว่าราคานี้อยู่ในระดับที่รับได้ก็แนะนำรุ่นนี้มาก
สเปคใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 5600H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 3.3-4.2GHz ประกบการ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3060 แรม 6GB GDDR6 มีฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB ติดตั้งมาพร้อม Windows 10 Home (64-bit) และแรม 16GB DDR4 บัส 3200MHz ซึ่งสเปคภายในของ Acer Nitro 5 เครื่องนี้สามารถเพิ่ม M.2 และ SATA III SSD และแรมได้อีกอย่างละ 1 ช่อง ซึ่งถือว่าคุ้มและเหมาะกับเกมเมอร์ที่อยากเพิ่มฮาร์ดดิสก์เสริมไว้ลงเกมหรือทำ RAID ก็ได้ง่าย ๆ หน้าจอมีขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
สเปคของ Acer Nitro 5 AN515-45-R313
- ซีพียู AMD Ryzen 5 5600H แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 3.3-4.2GHz
- การ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3060 แรม 6GB GDDR6
- ฮาร์ดดิสก์แบบ M.2 NVMe ความจุ 512GB
- แรม 16GB DDR4 บัส 3200MHz
- หน้าจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ค่า Refresh Rate 144 Hz
- เชื่อมต่อหน้าจอแยกด้วย HDMI 2.0
- เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
- ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home (64-bit)
- ราคา 34,690 บาท (Advice)
สรุป – เทียบสเปคเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยก ต่อได้กี่จอ ตัวไหนน่าสนใจ
สำหรับสเปคโดยสรุปของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยกทั้ง 4 รุ่นที่แนะนำจะมีดังนี้
สเปคเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คต่อหน้าจอแยก | สเปค | พอร์ตต่อจอแยก | ราคา |
Lenovo Legion 5 | AMD Ryzen 5 4600H NVIDIA GEFORCE GTX 1650 Ti 4GB GDDR6 M.2 NVMe 512GB RAM 8GB DDR4 3200MHz Windows 10 Home (64-bit) จอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS 144 Hz Wi-Fi 6, Bluetooth 5.0 |
HDMI 2.0 USB-C 3.1 (DisplayPort) ต่อหน้าจอได้ 2 จอพร้อมกัน แนะนำให้ต่อจอเกมมิ่งกับ HDMI 2.0 |
27,900 บาท |
HP Pavilion Gaming 15 | AMD Ryzen 7 4800H NVIDIA GEFORCE GTX 1650 4GB GDDR6 M.2 NVMe 512GB RAM 16GB DDR4 3200MHz Windows 10 Home (64-bit) จอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS 144 Hz Wi-Fi 6, Bluetooth 5.0 |
HDMI 2.0 | 28,690 บาท |
ASUS TUF GAMING DASH F15 |
Intel Core i5-11300H NVIDIA GEFORCE RTX 3050 Ti 4GB GDDR6 M.2 NVMe 512GB RAM 8GB DDR4 3200MHz (On board) Windows 10 Home (64-bit) จอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS 144 Hz Wi-Fi 6, Bluetooth 5.1 |
HDMI 2.0b Thunderbolt 4 ต่อหน้าจอได้ 2 จอพร้อมกัน แนะนำให้ต่อจอเกมมิ่งกับ HDMI 2.0b |
29,990 บาท |
Acer Nitro 5 AN515 | AMD Ryzen 5 5600H NVIDIA GEFORCE GTX 3060 6GB GDDR6 M.2 NVMe 512GB RAM 16GB DDR4 3200MHz Windows 10 Home (64-bit) จอ 15.6 นิ้ว Full HD พาเนล IPS 144 Hz Wi-Fi 6, Bluetooth 5.1 |
HDMI 2.0 | 34,690 บาท |
ซึ่งเราจะเห็นว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายรุ่นในปัจจุบันนั้น จะมีพอร์ต HDMI 2.0 ติดตั้งมาแล้ว แต่ถ้ารุ่นไหนเป็น 2.0b นั้นจะได้ฟีเจอร์สำหรับใช้กับหน้าจอแยกแบบ HDR ได้ด้วย ซึ่งทำให้การแสดงสีสันบนหน้าจอสวยสดยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเกมเมอร์คนไหนมีงบประมาณและเห็นว่าพอร์ตต่อหน้าจอแยกตัวไหนตอบโจทย์การใช้งานที่สุดก็เลือกซื้อเครื่องรุ่นนั้นไปใช้งานได้เลย