นอกจากการ์ดจอสายเกมมิ่งแล้ว NVIDIA ก็มีการ์ดจอสายทำงานรุ่นใหม่ ๆ เปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง โดย NVIDIA RTX A6000 รุ่นนี้เป็นรุ่นต่อจาก NVIDIA Quadro RTX 6000 ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารุ่นก่อนหน้ากว่า 2 เท่าพร้อมกับแรมการ์ดจออีก 48GB GDDR6 และมี ECC (Error-Correcting Code) อยู่ในตัว
จุดประสงค์ของ RTX A6000 จะเน้นเรื่องการประมวลผลการทำงานต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นหลัก ทำให้การทำงานกับโปรแกรมงานออกแบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Aided Design – CAD) และงานวิศวกรรมที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวน (Computer-Aided Engineering – CAE) เป็นหลัก ใช้ดีไซน์แบบเรียบง่ายและดึงลมเข้าระบายความร้อนให้การ์ดจอด้วยพัดลมแบบโบลเวอร์
สเปคของ NVIDIA RTX A6000
RTX A6000 รุ่นใหม่นี้ติดตั้งชิป GA102 สถาปัตยกรรม Ampere มี CUDA Core อยู่ 10,752 คอร์, Tensor Core 336 คอร์, RT Core อีก 84 คอร์ มี Memory bus อีก 384-bit ซึ่งเป็นชิปเดียวกันในการ์ดจอ NVIDIA GEFORCE RTX 3090 แต่สเปคของ RTX 3090 ในส่วนของ CUDA Core จะลดลงเหลือ 10,496 คอร์, Tensor Core 328 คอร์, RT Core 82 คอร์ แต่มี Memory bus 384-bit เหมือนกัน แต่แรมการ์ดจอจะมีเพียง 24GB GDDR6X ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
แต่ NVIDIA เองก็วางจุดเด่นของ RTX ทั้งสองรุ่นให้แตกต่างกันคนละทาง คือ RTX A6000 จะเด่นเรื่องการทำงานและประมวลผลงามสามมิติต่าง ๆ เพราะมีแรมการ์ดจอให้ใช้งานมากถึง 48GB แต่ด้านการเล่นเกมก็จะไม่เทียบเท่ากับ RTX 3090 ซึ่งมีประสิทธิภาพด้านการเล่นเกมสูงแต่งานกราฟฟิคก็จะยังแพ้ RTX A6000 เช่นกัน
ส่วนสเปคของ NVIDIA RTX A6000 รองรับการเชื่อมต่อหน้าจอผ่าน DisplayPort x 4 ช่องและการ์ดจอเป็น PCI Express x16 Gen 4 แล้ว เพื่อให้รันการทำงานได้ดียิ่งขึ้น รองรับ Quadro Sync, NVIDIA GRID, NVIDIA Quadro Virtual Data Center Workstation, NVIDIA Virtual Compute Server และใช้ไดรเวอร์ ISV-certified ที่ทำงานได้เสถียรกว่าไดรเวอร์เวอร์ชั่นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป เพื่อให้การรันงานทั้งหมดทำได้โดยไม่มีปัญหา แต่การ์ดจอรุ่นนี้ใช้พลังงาน 300 วัตต์ ดังนั้นต้องเตรียมพาวเวอร์ซัพพลายให้เพียงพอใช้งานด้วยเช่นกัน
ทางเว็บไซต์ Puget Systems นำ NVIDIA RTX A6000 ไปทดสอบเทียบกับการ์ดจอสายทำงานระดับเรือธงรุ่นก่อนอย่าง NVIDIA Quadro RTX 6000 แรมการ์ดจอ 24GB ชิป TU102 สถาปัตยกรรม Turing ที่มี CUDA Core 4,608 คอร์ดูแล้ว พบว่าประสิทธิภาพของ RTX A6000 เมื่อ Benchmark เทียบกับ RTX 6000 ในโปรแกรมงานสามมิติต่าง ๆ พบว่ามีประสิทธิภาพเหนือกว่าอย่างน้อย 46.6% และบางโปรแกรมอย่าง V-Ray ทำได้ดีกว่าเดิม 92.2%
แต่บางโปรแกรมเช่น Adobe After Effects และ Adobe Photoshop เอง ถึงจะรีดประสิทธิภาพของการ์ดจอออกมาได้ดีแต่ไปติดคอขวดอยู่กับซีพียูแทน แต่ก็ยังทำประสิทธิภาพได้เหนือกว่ารุ่นก่อนพอตัวทีเดียว ซึ่งจากผลทดสอบทั้งหมดนี้ Puget Systems ได้ยกให้ RTX A6000 เป็นการ์ดจอทำงานที่ประสิทธิภาพสูงสุดในโลกตอนนี้
สำหรับราคาของ RTX A6000 จะอยู่ที่ 4,650 ดอลลาร์ หรือราว 139,000 บาท แพงกว่ารุ่นก่อนอย่าง RTX 6000 ขายราคา 4,000 ดอลลาร์ หรือราว 120,000 บาท อยู่บ้าง แต่ประสิทธิภาพจัดว่าเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วการลงทุนเพิ่มร่วม 20,000 บาทเพื่อใช้ทำงานก็ดูจะเป็นมูลค่าเพิ่มเติมที่น่าสนใจอยู่เช่นกัน
ที่มา : NVIDIA, Tom’s Hardware