MSI Modern 15 รุ่นใหม่ปี 2021 จัดว่าเป็น Notebook สาย Content Creator เน้นทำงานสร้างสรรค์ ที่คุ้มค่าและน่าสนใจที่สุด ณ เวลานี้ ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการทดสอบเพิ่มแรมจากเดิม 8GB DDR4 Bus 3200MHz เป็น 16GB (8GB x 2 แถว) ซึ่งสเปกเดิมๆ ก็มาพร้อมประสิทธิภาพสูงแล้ว ตัวเครื่องบางเบาหน้าจอ 15.6″ ราคาไม่แพง มีการ์ดจอแยก จากทาง MSI ที่ได้หน้าจอใหญ่
มาในน้ำหนักตัวเครื่องที่เบามากๆ เพียง 1.6 กิโลกรัม เน้นพกพาใช้งานสะดวกพร้อมประสิทธิภาพสูงด้วยชิปประมวลผล Intel Core i Gen 11 Tiger Lake รุ่นล่าสุดทรงพลังอย่าง i5-1135G7 / i7-1165G7 โดยมีการ์ดจอออนชิปตัวแรงอย่าง Intel Iris Xe Graphics และมีการ์ดจอแยกรุ่นใหม่เป็น NVIDIA GeFroce MX450 (2GB GDDR5) ได้แรมขนาด 8GB จำนวน 1 แถว พร้อม SSD M.2 NVMe ความจุ 512GB ที่ใช้งานพื้นฐานได้ลื่นสบายๆ หรือถ้าเอาไปทำงานหนัก รวมไปถึงเล่นเกม 3 มิติ ออนไลน์ก็ยังสบายๆ
อย่างไรก็ตามด้วยแรมขนาด 8GB ในการใช้งานเล่นเกมจริงๆ อาจจะทำให้เครื่องยังลื่นไหลได้ไม่สุด แม้ในการใช้งานทั่วไปอย่างใช้งานเอกสาร เล่นอินเตอร์เน็ต ดูหนังฟังเพลง จะดูเหมือนว่าแรม 8GB จะพอเพียงแล้ว ในการเล่นเกมหรือประมวลผลหนักๆ เชื่อได้ว่าถ้าอัพเกรดแรมเป็น 16GB จะได้ต้องเฟรมเรทเพิ่มขึ้นแน่นอน
แต่จะเพิ่มขึ้นลื่นขึ้นมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวเราต้องไปติดตามกัน บทความนี้จะมาแนะนำกันตั้งแต่การแกะฝาล่างของเครื่อง MSI Modern 15 กันด้วย บอกเลยว่าไม่ยากๆ ส่วนแรมที่เรานำมาอัพเกรดนั้นเป็น Kingston ขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz ซื้อตามร้าน JIB / Advice ราคาราวๆ 1,200 บาท
MSI Modern 15 สเปกที่เรานำมาอัพเกรดแรม มาพร้อมกับชิปประมวลผล Intel Core i7-1165G7ทำงานแบบ 4 คอร์ 8 เธรด ให้ความแรงที่เหนือชั้นจาก AI ช่วยการทำงานในบางโปรแกรม ได้การ์ดจอรุ่นใหม่ที่มีความแรงพอประมาณอย่าง NVIDIA GeForce MX450 (2GB GDDR5) แรม 8GB DDR4 Bus 3200 MHz จำนวน 1 แถว (ใส่เพิ่มได้อีก 1 แถว) พร้อม SSD M.2 NVMe PCIe ความจุ 512GB พร้อม Windows 10 และโปรแกรม MSI Center ช่วยในการจัดการหลายๆ ส่วน
สเปกหน้าจอขนาด 15.6″ ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล Full HD ซึ่งให้ประสบการณ์การใช้งานที่ประทับใจอย่างสุดๆ โดยการใช้หน้า Desktop ปกติที่ตัวหนังสือหรือปุ่มต่างๆ มีความเรียบเนียนตาทำให้ใช้งานได้สะดวก ขอบจอบางเฉียบโดยมีพื้นที่แสดงผลกว่า 90% จอเป็นแบบด้านที่ให้เรื่องสีสันสดใส รองรับใช้การดูภาพ ดูวิดีโอ และเล่นเกมก็ทำได้อย่างเป็นอย่างดี ส่วนบานพับก็แข็งแรงกว่ารุ่นก่อนๆ พร้อมกางได้ 180 องศา ทำให้นำเสนองานได้อย่างเต็มที่และง่ายขึ้นกว่าเดิม
สเปกที่จัดเต็มตอบโจทย์การใช้งานแบบสุดๆ ด้วยพอร์ต Thunderbolt 4 ที่สำคัญยังเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายก็ครบครันด้วย Wi-Fi 6 AX และ Bluetooth 5.0 ส่วนพอร์ตการเชื่อมต่อก็มีทุกรูปแบบเป็นมาตรฐานที่รองรับกับทุกอุปกรณ์อีกด้วย ที่สำคัญมีซอฟต์แวร์ Creator Center ช่วยปรับแต่งการทำงาน พร้อมการรับประกัน 2 ปี ตามมาตรฐานของ MSI รวมถึงในชุดจัดจำหน่ายยังมีกระเป๋าขนาดกระทัดรัดที่ทำให้เราใส่ของหรืออแดปเตอร์ไปใช้งานได้อีกด้วย โดยสามารถดูรีวิวเต็มๆ ได้ ที่นี่
MSI Modern 15 A11SB-067TH ราคา 36,900 บาท (ดูสเปคทั้งหมดคลิ้ก)
-
CPU : Intel Core i5-1135G7
-
GPU : Intel Iris Xe Graphics + MX450
-
RAM : 8GB DDR4 3200 MHz
-
DISPLAY: 15.6″ Full HD IPS
-
STORAGE : 512GB GB SSD PCIe M.2
-
OS : Windows 10 Home (64 Bit)
MSI Modern 15 อัพเกรดเพิ่มแรมเป็น 16GB
ถ้าใครต้องการจะแกะทั้งฝาล่างทั้งหมดของ MSI Modern 15 เพื่ออัพเกรดหรือทำความสะอาดก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ไขน็อตทั้งหมด หลังจากนั้นก็ค่อยๆ แงะแกะทีละส่วนขึ้นอย่างช้าๆ เพียงเท่านี้ก็จะแกะฝาล่างได้ไม่ยากเย็น ส่วนประกอบภายในอื่นๆ ที่มีงานประกอบเรียบร้อยดี
ระบบระบายความร้อนเป็นพัดลม 2 ตัว ฮีตไปป์ 2 เส้น พร้อมช่องระบายความร้อน 2 ช่อง ซึ่งการทดสอบบอกได้เลยว่าน่าประทับใจ แม้สเปกจะไม่ได้แรงเท่ากับชิปประมวลผลรหัส H โดยได้มีการติดตั้งการ์ดจอแยกเข้ามาด้วย แต่ทาง MSI ก็ยังจัดเต็มเช่นเคย ด้วยระบบ CoolerBoots 3
เมื่อแกะออกมาแล้วก็จะเห็นช่องใส่แรมจำนวน 2 แถว โดยเป็นการติดตั้งแรมฝังบอร์ดมาแล้ว 8GB x 1 รองรับการอัพเกรดได้อีก 1 แถวทันที (รองรับ Dual Channel) และจะเห็นถึง SSD แบบ M.2 NVMe PCIe ความจุ 512GB (รองรับการอัพเกรด SSD M.2 เพิ่มอีก 1 ตัวด้วย) ให้การใช้งานเป็นไปอย่างลื่นไหลไร้คอขวด ที่ต้องบอกว่าสำหรับการใช้งานทั่วไปจนไปถึงทำงานตัดต่อวีดีโอที่ไม่ซับซ้อนมาก สำหรับสเปกฮาร์ดแวร์ภายในถือว่าเหลือเฟือในการใช้งานเลยล่ะ
MSI Modern 15 สเปก Core i Gen 11 เมื่อตรวจสอบข้อมูลของชิปประมวลผลด้วยโปรแกรม CPU-Z ก็พบว่าข้อมูลขึ้นมาครบถ้วนเลยครับ โดยเลือกใช้ชิป Intel Core i7-1165G7 ที่มี 4 คอร์ 8 เธรดสำหรับการประมวลผล ความเร็วที่ 2.40 – 4.70 GHz มีค่า TDP ในการปลดปล่อยความร้อนสูงสุดแค่ 12W – 28W เท่านั้น ซึ่งจัดว่าต่ำมากสำหรับชิป Core i7 ในโน๊ตบุ๊ค ทำให้ตัวเครื่องโดยรวมไม่ร้อนจนเกินไป ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการใช้สถาปัตยกรรมการผลิตที่ระดับ 10 นาโนเมตร อย่าง Tiger Lake เทคโนโลยีสุดล้ำ SuperFin Willow Cove
ที่ต้องบอกว่าสร้างมาตรฐานประสิทธิภาพที่มากกว่าชิปประมวลผลรุ่นก่อนๆ แรงเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปมากๆ หรือถ้างานที่ต้องประมวลผลจริงจังก็รองรับได้อย่างสบายๆ ส่วนแรมได้ขนาด 8GB รองรับการอัพเกรดอีก 1 แถวทันที เป็นมาตรฐาน Bus 3200 MHz ตามเทคโนโลยีของ Intel Core i Gen 11 ที่ผ่านการปรับแต่งให้เหนือชั้น พร้อมให้ที่เก็บข้อมูล SSD M.2 NVMe PCIe ความเร็วสูง ที่สามารถขับเคลื่อนระบบปฏิบัติการ Windows 10 แบบลื่นไหลอย่างที่สุด ในทุกๆ การทำงาน
RAM 8GB / RAM 16GB
สำหรับโปรแกรมทดสอบ CINEBENCH ทั้ง 15 และ 20 ที่เน้นในเรื่องของพลังชิปประมวลผล คะแนนก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เปรียบเทียบกับชิปประมวลผลที่เป็นรหัส U รุ่นก่อนหน้าแล้ว ก็ทำได้ดีกว่าพอตัว จากการติดตั้งแรมมาขนาด 8GB รวมไปถึงตัวกราฟิกการ์ดเองก็มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม เพราะยังใช้รุ่นเดิม เรียกได้ว่าตอบโจทย์ในส่วนของงานประมวลผลหนักๆ ได้อย่างสบายๆ ไม่น่าเป็นห่วงนัก ส่วนงาน 3 มิติ แค่เพียงพอรองรับการใช้งานพื้นฐานได้ ซึ่งคะแนนเทียบกันกับ 16GB ที่เราอัพเกรดแล้ว ถือว่าคะแนนขยับขึ้นมาเล็กน้อย
RAM 8GB / RAM 16GB
การ์ดจอเป็นแบบออนบอร์ดรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Intel Iris Xe Graphics ที่ให้พลังในการประมวลผลที่ดีในระดับที่ก้าวกระโดดกว่ารุ่นก่อนๆ อย่างในเรื่องของกราฟิก 2 มิตินั้นก็รองรับได้อย่างสบายๆ หรือถ้าเป็น 3 มิติก็ต้องบอกว่ารองรับการทำงานได้ในระดับเบื้องต้นหรือระดับสูง รองรับการทำงานกับหน้าจอความละเอียดสูงอย่าง 4K / 8K ได้แบบไม่มีปัญหา
เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเพิ่มพลังการสร้างสรรค์คอนเทนต์ มองหาความบันเทิง หรือการเล่นเกมเปี่ยมอรรถรส ประสิทธิภาพที่เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการ์ดจอแยกเลยทีเดียว ซึ่งสามารถเล่นเกม 3 มิติ พอได้บ้าง เดี๋ยวไปดูผลทดสอบกันอีกที
อีกทั้งมีการ์ดจอแยก NVIDIA GeForce MX450 มาพร้อมกับสถาปัตยกรรฐานอย่าง TU117 โดยตัวชิปจะมีความเร็วสัญญาณนาฬิกาฐานอยู่ที่ 540 MHz จุดที่น่าสนใจนั้นก็คือตัวหน่วยความจำสำหรับชิปกราฟิกรุ่นดังกล่าวนี้นั้นจะมาพร้อมกับหน่วยความจำแบบ GDDR5 ขนาด 2 GB ซึ่งนั่นทำให้ตัวชิปดังกล่าวจะมีแบนด์วิดธ์ในการโอนถ่ายข้อมูลอยู่ที่ 10 Gb/s เลยทีเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ระดับ 12nm เช่นเดียวกันกับชิปกราฟิกสถาปัตยกรรม Turing รุ่นอื่นๆ
ดูได้จากส่วนของ Setting > About ของ Windows ได้เลย ในส่วนของ Task Manager > Memory เราก็จะเห็นถึงขนาดของแรมที่เพิ่มขึ้นจาก 8GB เดิมๆ เป็น 16GB เช่นกัน ซึ่งแสดงถึงการใช้งานของแรมที่มีพื้นที่เหลืออยู่พอประมาณทีเดียว แน่นอนว่าย่อมดีกว่าการที่เราใช้แรมขนาด 8GB เดิมๆ ที่ดูแล้วจะแน่นไปหน่อย สำหรับการที่เราจะเปิดเกมเล่น เพราะเมื่อเปิดเครื่องพร้อมกับเปิดโปรแกรมต่างๆ อย่างเว็บบราวเซอร์ก็มีโอกาสกินแรมไปกว่า 4.5GB แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเล่นเกมจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะใช้แรม 8GB ทั้งหมดได้เลย
การทดสอบประสิทธิภาพกับโปรแกรม PCMark 10 Advance ด้วยแรมขนาด 8GB เดิมๆ สามารถทำคะแนนการทดสอบรวมได้มากถึง 4,828 คะแนน ถือได้ว่าในส่วนของการใช้งานทั่วไปโดยรวมนั้นสอบผ่านแบบสบายๆ ทั้งในส่วนของการเล่นเว็บไซต์ งานเอกสาร งานตกแต่งรูปภาพ รวมถึงงานตัดต่อวิดีโอ และจากการที่เป็นโน๊ตบุ๊คเล่นเกมมีการ์ดจอแยก ทำให้มีคะแนนพุ่งกว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไปอยู่แล้ว
แต่เมืออัพเกรดแรมเป็นขนาด 16GB จะเห็นถึงคะแนนว่ามีการขยับขึ้นมาในแต่ละส่วนการทดสอบ รวมเป็น 5,007 คะแนน ซึ่งดูแล้วก็ไม่เยอะเท่าไร สรุปก็คือ ถ้าเป็นงานที่ไม่เน้นพื้นที่การจองแรมที่มากอย่างการเล่นเกมหรือตัดต่อวีดีโอ การอัพเกรดจากแรม 8GB เป็น 16GB มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในการใช้งานจริง ให้ความรู้สึกที่ลื่นไหลขึ้นได้เลย กรณีเปิดใช้งานหลายๆ โปรแกรมพร้อมกัน
ทดสอบเกมสำหรับ MSI Modern 15 คะแนนและเฟรมเรมในการเล่นเกมทำออกมาน่าสนใจมากๆ โดยเฉลี่ยของเฟรมเรท (FPS) จากทั้ง 3 ออนไลน์ เกมที่ได้ทดสอบมีค่าเฟรมเรทเฉลี่ยค่อนข้างลื่นไหล น่าประทับใจทีเดียว เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คที่ไม่ได้เน้นเล่นเกมมาก ซึ่งตรงนี้ก็สามารถชี้วัดความสามารถในการเล่นเกมที่กราฟิกละเอียดๆ และภาพสวยๆ ได้ลื่นไหลเป็นอย่างดีเลย จากการที่สเปกภายในเป็นชิปประมวลผล Intel Core i7-1165G7 ที่สามารถรีดพลัง NVIDIA GeForce MX450 ประกอบกับยังใช้แรม 8GB DDR4 รวมไปถึง SSD ก็ส่งผลช่วยด้วย
เกมออนไลน์อย่าง PUBG / Overwatch / DOTA 2 ก็จัดการทดสอบแบบปรับสุดหมดให้ด้วยเช่นกัน โดยทั้งนี้การตั้งค่าความละเอียดของภาพก็อยู่ที่ 1920 x 1080 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดที่จะสามารถเล่นให้ลื่นได้ สำหรับรายละเอียดภาพอื่นๆ ก็เรียกได้ว่าเปิดทุกอัน ผลที่ได้ออกมาก็คือสามารถเรนเดอร์ได้อย่างไหลลื่นในระดับเฟรมเรทที่สูงสุด แม้กระทั่งฉากตะลุมบอนกันก็สบายๆ ค่าเฟรมเรทอยู่ที่ราวๆ 40 – 60 – 80 ขึ้นไปตลอด ซึ่งสรุปโดยรวมแล้วก็ถือว่าเล่นพอได้ทีเดียวในกรณีที่ปรับกราฟิกสุด
แต่เมื่อเราทดสอบ MSI Modern 15 ที่เมื่อเพิ่มแรมเป็น 16GB DDR4 Bus 3200 MHz แบบ 8GB x 2 แถว Dual Channel แล้ว ในลักษณะการทดสอบพื้นฐานเดียวกันทั้งหมด เห็นได้ชัดถึงเฟรมเรทความลื่นไหลที่มากขึ้นในเกือบทุกๆ เกม ทั้งเกมออนไลน์อย่าง PUBG / DOTA 2 / Overwatch เป็นทั้งในส่วนของเฟรมเรทเฉลี่ย ต่ำสุด และสูงสุดด้วย เรียกได้ว่าการอัพเกรดแรมจาก 8GB เป็น 16GB มีผลมากๆ สำหรับ MSI Modern 15 ซึ่งเราลองมาเทียบกันตามข้อมูลด้านล่างให้เห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยแต่ละเกมเพิ่มขึ้นมาแตกต่างเท่าไรกันบ้าง
- PUBG : 42 / 63 =เพิ่มมา 1 เฟรม
- DOTA 2 : 77 / 91 = เพิ่มมา 17 เฟรม
- Overwatch : 44 / 48 = เพิ่มมา 4 เฟรม
จากข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าในการเพิ่มแรมอัพเกรดแรมเข้าไป มีผลกับเฟรมเรทที่เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ว่าในแต่เกมก็จะมีเฟรมเรทความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้นไม่เท่ากันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเกมนั้นใช้พื้นที่แรมไปมากหรือน้อย รวมไปถึงขึ้นอยู่หลายๆ ปัจจัยของเกมขณะทดสอบนั้นด้วย อย่างเกมที่มีผลกับการเพิ่มแรมเป็น 16GB มากที่สุดก็จะเป็น DOTA 2 ที่เพิ่มขึ้นมาถึง 17 เฟรม ที่จัดได้ว่าเป็นเกมที่มีพื้นที่ฉากในเกมขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ส่วนเกมที่มีเฟรมเรทไม่ต่างกันก็จะเป็น PUBG ที่ตัวเกมเองมีปรับแต่งให้ใช้กับแรม 8GB ได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว
สรุปปิดท้ายกันแบบง่ายๆ ก็คือ ในส่วนของ MSI Modern 15 สเปก Core i7-1165G7 + GeForce MX450 ที่ให้แรมมาจากโรงงานขนาด 8GB พร้อมกับมี SSD มาให้เลยเช่นกัน เมื่อเราทำการอัพเกรดแรมเป็น 16GB ด้วยการใส่เพิ่ม 8GB อีก 1 แถวเป็น Dual Channel มีผลให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมเพิ่มขึ้นแน่นอน (แต่ละเกมไม่เท่ากัน)
ด้วยราคาแรมขนาด 8GB DDR4 Bus 3200 MHz มีราคา 1,190 บาท จัดว่ามีความคุ้มค่าที่จะซื้อเพื่อทำการอัพเกรดมากๆ จะซื้อเครื่องแล้วอัพเกรดทันทีที่ร้านก็ได้ หรือจะค่อยมาอัพเกรดด้วยตนเองทีหลังก็ได้ เพราะเครื่องนี้ก็แกะได้ไม่ยากเกินความสามารถแต่อย่างใด แลกกับประสบการณ์ใช้งานโดยรวมที่ดีขึ้นมากๆ นอกเหนือจากการเล่นเกมด้วย
หรือในกรณี Notebook รุ่นอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ว่าจริงๆ แล้วถ้าอยากให้เฟรมเรมเกมสูงขึ้น เล่นเกมได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น รวมไปถึงทำงานที่ประมวลผลหนักหรือมีการจองพื้นที่แรมไปใช้งานได้เยอะ รุ่นที่ให้แรมมาขนาด 8GB กับแรมขนาด 16GB มีผลต่อการใช้งานจริงๆ ไม่มากก็น้อย อย่างการใช้งานทั่วไปอาจจะไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนักว่ารุ่นแรม 16GB ดีกว่า
แต่ถ้าเมื่อไรเราเอาไปเล่นเกมหรือทำงานหนักๆ แล้วเทียบกับรุ่นแรม 8GB จะเห็นว่าลื่นกว่าพอสมควร ฉะนั้นสำหรับคนที่ใช้งาน Gaming Notebook รุ่นใหม่ๆ ที่ให้แรมมาขนาด 8GB ควรอัพเกรดเป็นแรมขนาด 16GB แบบไม่ต้องสงสัยเลยครับ คุ้มค่ากับราคาแรมพันบาทต้นๆ มากๆ อย่างไรก็ตามอย่างลืมเผื่อเงินไว้อัพเกรดนอกจากค่าเครื่องด้วย