เคสคอมแม้จะดูว่าเป็นอุปกรณ์ที่ถูกจัดวางเป็นอันดับหลังๆ และให้ความสำคัญน้อย เพราะบางคนอาจจะแค่มีไว้ ติดตั้งอุปกรณ์ได้ครบ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับคนที่อาจจะใช้เวลาอยู่กับคอมนานๆ รายละเอียดบางอย่าง ก็จะถูกนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อเคส ซึ่งเกมเมอร์หรือคนที่ชอบพีซีและหลงไหลกับการปรับปรุงเสริมแต่งคอมพิวเตอร์มากๆ แล้ว ก็มักจะยอมจับจ่ายเงิน ในการเลือกเคสที่ชื่นชอบและเหมาพกับไลฟ์สไตล์ของตนเองให้มากที่สุด เพราะนอกจากจะสวยงาม ถูกใจแล้ว ยังมีอีกหลายๆ ฟังก์ชั่น ที่จะตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่าการเป็นเคสธรรมดาทั่วไป วันนี้เรามาลองดูกันว่า เลือกเคสต้องดูจากอะไร และฟีเจอร์แบบไหนที่เหมาะกับคุณ
วิธีเลือกเคสคอม
- เคสทาวเวอร์แต่ละแบบต่างกันอย่างไร?
- เลือกเคสคอมอย่างไรดี?
- เลือกจากรูปลักษณ์
- เลือกที่ขนาดและบอดี้
- เลือกที่การติดตั้งอุปกรณ์
- เลือกข้างใสโชว์ด้านในสวย
- เลือกที่การระบายอากาศ
- เลือกที่ฟังก์ชั่นและลูกเล่น
เคสแบบทาวเวอร์ทั่วไป
เป็นเคสคอมที่เราเห็นกันโดยทั่วไป ลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งมีตั้งแต่ Mini-ITX, Mini-Tower, Mid- Tower และ Full Tower เป็นต้น ส่วนจะเปิดฝาได้กี่ด้าน ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละค่าย เช่น เปิดข้างซ้าย-ขวา สำหรับติดตั้งอุปกรณ์และเดินสายไฟ แต่บางรุ่นก็จะเปิดด้านบนได้ เพื่อตั้งชุดน้ำหรือ Radiator เพื่อระบายความร้อน หรือบางรุ่นเปิดด้านหน้าออกได้ สำหรับติดตั้ง Radiator ชุดน้ำ หรือการเพิ่มพัดลมในการดูดอากาศเย็นเข้ามาในเครื่องนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่ยิ่งเปิดได้หลายด้าน ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเหมือนเป็นการเพิ่ม Functional ให้มากกว่าเดิม
- Mini-ITX: เคสคอมสำหรับติดตั้งเมนบอร์ดขนาดเล็กในแบบ Mini-ITX เอาใจคนที่ชื่นชอบความเล็กกระทัดรัด ข้อดีคือ ประหยัดพื้นที่จัดวาง และยังสามารถใส่อุปกรณ์แรงๆ ได้แบบเดียวกับพีซีปกติ แต่อาจมีข้อจำกัดในการอัพเกรด และต้องเลือกใช้อุปกรณ์ได้เพียงบางรุ่นบางชิ้นเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ภายในค่อนข้างแคบ รวมถึงมีราคาค่อนข้างสูง เพราะบางรุ่นต้องทำจำกัดออกมาเพื่อการประกอบในเคส Mini-ITX เท่านั้น เช่น การ์ดจอหรือเพาเวอร์ซัพพลาย เป็นต้น ตัวอย่างเคสเหล่านี้ เช่น Fractal Design Node 304, LOUQE Ghost S1 MK3, Cooler Master MasterBox NR200P หรือ LIAN LI TU150 เป็นต้น
- Mini-Tower: เป็นเคสคอมขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาจาก Mini-ITX อีกระดับหนึ่ง แต่จะเป็นสไตล์ที่เรียกว่า Tower คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยม แนวสูงขึ้นไป จะขยับให้ใส่อุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยจำกัดการใช้งานอุปกรณ์มากนัก ใช้ติดตั้งเมนบอร์ดในแบบ ITX และ mATX ได้พอดีๆ แต่ยังพอเหลือพื้นที่ภายใน สำหรับการติดตั้งพัดลม หรือการจัดวางอุปกรณ์รุ่นปกติได้ เคสในแบบนี้เหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการประหยัดพื้นที่บนโต๊ะทำงาน แต่อาจมีงบจำกัด รวมถึงยังคงอัพเกรดได้ง่ายในอนาคต ที่สำคัญประกอบคอมได้แบบไม่แพงเกินไป ตัวอย่างเคสในแบบ Mini-Tower ก็คือ Cooler Master Elite 344, Antec NX310 และ NZXT H510 Elite เป็นต้น
- Mid-Tower: จัดว่าเป็นเคสในรูปแบบที่ได้รับความนิยม และมีให้เลือกมากมายในท้องตลาด เรียกว่าเริ่มตั้งแต่ไม่ถึงพันบาท ไปจนถึงระดับหมื่นบาท สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเคสเหล่านี้คือ มีให้เลือกมากมาย ดีไซน์ทันสมัย พื้นที่ภายในกว้างขวาง แต่ไม่ถึงกับใหญ่จนเกะกะหรือน้ำหนักมากจนเกินไป การติดตั้งง่าย รองรับการติดตั้งชุดน้ำปิดได้ รองรับได้ตั้งแต่เมนบอร์ดเล็กๆ อย่าง ITX มาจนถึง mATX ที่เป็นระดับพอดีๆ ส่วนถ้าใส่ ATX ก็จะเต็มสัดส่วนที่ตัวเคสจัดมาให้ ซึ่งบางครั้งเมื่อต้องติดตั้งเมนบอร์ดใหญ่ ฟังก์ชั่นเยอะ ก็ทำให้ใช้เวลามากเหมือนกัน แต่ข้อสังเกตคือ คุณอาจจะต้องเช็คพื้นที่ เช่นกว้างมากพอสำหรับติดตั้งฮีตซิงก์ขนาดใหญ่ หรือยาวพอมั้ยสำหรับการ์ดจอตัวท็อปๆ เป็นต้น
- Full Tower: เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เหมาะสำหรับผู้ใช้ ที่ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องของขนาดและพื้นที่จัดวาง แต่ต้องการฟังก์ชั่นและการติดตั้งที่ง่าย พื้นที่ภายในมากพอ รองรับการติดตั้งชุดน้ำและการเพิ่มอุปกรณ์เข้าไปในภายหลังได้สะดวกกว่า จุดที่น่าสังเกตก็คือ เคสในระดับ Full Tower เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเน้นที่ความพรีเมียม จัดเตรียมฟังก์ชั่นมาเยอะ วัสดุคุณภาพ และลูกเล่นภายในก็จัดเต็มมาให้ ไม่ว่าจะเป็น กรองฝุ่น พัดลมเคส ชุดค้ำการ์ดจอ หรือชิ้นส่วนในการติดตั้งชุดน้ำเปิดเป็นต้น สนนราคาก็จะสูงกว่าเคสทั่วไป น้ำหนักเยอะ ซึ่งบางครั้งเมื่อรวมกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในแล้ว อาจจะวางบนโต๊ะทำงานทั่วไปไม่ได้ ตัวอย่างของเคส Full Tower นี้ ก็เช่น Thermaltake View 91 TG, PHANTEKS ENTHOO 719, ASUS ROG STRIX HELIOS หรือจะเป็น Cooler Master Trooper SE เป็นต้น
เคสเปิด (Open Air)
สำหรับเคสคอมที่เป็นแนว Open Air นี้ จะเริ่มเห็นกันมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองการใช้งานให้กับเหล่านักโมดิฟาย หรือคนที่อยากได้ชุดน้ำเปิด และโชว์อุปกรณ์สวยๆ โดยเฉพาะในยุคที่อุปกรณ์ที่มาพร้อมแสงไฟ RGB ลักษณะของเคสแนวนี้ จะเป็นแบบเฟรมโลหะคล้ายกับผนังด้านเดียว และติดตั้งอุปกรณ์คอมลงไป ด้านหน้าที่ครอบปิด จะเป็นอะคลิลิคหรือกระจกเทมเปอร์ ตามแต่ยุคสมัย จุดเด่นนอกจากจะโชว์บรรดาชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างสวยงามแล้ว บางรุ่นยังมีให้เลือกทั้งไซส์ เล็ก กลางและใหญ่ ขึ้นอยู่กับสไตล์ของคุณ และยังช่วยให้การระบายอากาศทำได้ดีขึ้น เพราะไม่ได้ปิดทึบเหมือนกับเคสทาวเวอร์ทั่วไป แต่ก็มีข้อสังเกตก็คือ โอกาสที่ฝุ่นจะเข้ามาเกาะที่ชิ้นส่วนต่างๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการติดตั้งก็อาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สนนราคาถือว่าแพงกว่าเคสธรรมดาอยู่ไม่มาก ตัวอย่างเคสแนวนี้ก็คือ THERMALTAKE Core P5 TG, Thermaltake Core P3 TG เป็นต้น
เคสแบบเปิด Testbed
จัดว่าเป็นเคสที่มีไอเดียและเกิดขึ้นมาหลายรูปแบบ แนวทางการออกแบบก็มีให้เลือกมากมาย มีทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน โดยจุดเด่นของเคสแนวนี้ จะเป็นแบบเปิด สามารถติดตั้งและถอดอุปกรณ์ได้ง่ายดายกว่า เหมาะกับคนที่ขี้เบื่อ เปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย หรือคนที่ชอบการโมดิฟาย รวมไปถึงนักโอเวอร์คล็อก ที่ประกอบ ถอดเปลี่ยนหรือใสชุดระบายความร้อนได้ง่ายกว่าเดิม มีข้อดีในแง่ของความสะดวก แต่ก็มีจุดด้อยก็มีไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเคสเปิด โอกาสที่จะโดนฝุ่น น้ำหรือสัตว์ แมลงเข้ามาทำอันตรายกับอุปกรณ์ก็ง่ายขึ้น อาจเกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ราคาก็ถือว่าไม่ธรรมดา และผู้ใช้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานด้วยตัวเอง ตัวอย่างเคสแนวนี้ได้แก่ Lian Li Launches PC-T70, OCPC Hydra, IN WIN X FRAME
เลือกเคสคอมอย่างไรดี?
เลือกจากรูปลักษณ์:
หน้าตาของเคส จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคุณเป็นอันดับแรกๆ หลายคนจึงเลือกเคสจากความสวยงาม เห็นแล้วถูกใจ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ยิ่งเคสบางรุ่นไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่ยังมีลูกเล่นที่ดูแปลกตา เส้นสายส่วนโค้งเว้าที่ดูทันสมัย ยิ่งราคาไม่แพงอีกด้วยก็ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แทบไม่ต้องสนใจฟังก์ชั่นอื่นๆ ข้อดีคือ คุณจะได้เคสที่สวยถูกใจ แต่เรื่องฟังก์ชั่น กับการอัพเกรดใช้งานในอนาคต ก็ต้องไปลุ้นกันอีกที
Thermaltake AH T600
- Case type: Full Tower
- Case Dimensions: 628.3 x 337 x 763 mm
- Maximum CPU Cooler Height: 195mm
- Maximum GPU Length: 440mm
- Case Windowed; 5mm Tempered Glass x 2
- Material: SPCC
- Front panel: Type-C x 1, USB 3.0 x 2, USB 2.0 x 1, HD Audio x 1
- Drive Bays: 3.5″ x2 or 2.5″ x3
- Price: ประมาณ 7,300 บาท
ใครที่ชื่นชอบดีไซน์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ล้ำสมัยในทุกมุมมอง Thermaltake AH T600 ก็น่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของคุณ ด้วยบอดี้ภายนอกสไตล์คล้ายยานอวกาศ มาในไซส์ขนาด Full-Tower ใหญ่พิเศษ โครงสร้างภายนอกเป็น SPCC ให้ความแข็งแรง และทำเข้ารูปสวยงาม มาพร้อมกระจกเทมเปอร์ให้มองเห็นภายในได้ทั้ง 2 ด้าน รองรับการติดตั้งพัดลมขนาด 120mm และ 140mm ได้ รวมถึงการติดตั้งชุดน้ำเปิดและชุดน้ำปิดมาในตัว พื้นที่ภายในกว้างขวาง รองรับเมนบอร์ดได้ในระดับ ATX ขนาดใหญ่ รวมถึงการ์ดจอที่ยาวได้ถึง 44cm เลยทีเดียว พร้อมพอร์ตที่อยู่ด้านบนตัวเครื่อง ที่มีทั้ง Type-C x 1, USB 3.0 x 2, USB 2.0 x 1, HD Audio x 1 เคาะราคารุ่นอยู่ที่ 7,xxx บาท โดยประมาณ
เลือกที่ขนาดและบอดี้:
เรื่องของขนาดเคสคอม จะเป็นตัวกำหนดการจัดวางและพื้นที่การวางเคสของคุณ ซึ่งหากคุณเลือกเคสเล็ก ในสไตล์ Mini-ITX ก็แทบจะไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่จัดวาง เพราะเล็กกระทัดรัด แต่ก็มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น พื้นที่ภายใน และการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม แต่ถ้าเลือกเคสใหญ่ในแบบ Full Tower คุณก็มักจะได้ฟังก์ชั่นสำคัญต่างๆ และการติดตั้งอุปกรณ์ง่าย รองรับการอัพเกรดได้ดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พื้นที่บนโต๊ะทำงานที่ใหญ่มากพอ หรืออาจจะต้องเปลี่ยนโต๊ะ หรือไม่ก็ต้องวางบนพื้นแทน
NZXT H1 Mini-iTX
หากคุณมีความชื่นชอบในเคสเล็กๆ ประหยัดพื้นที่ แต่ดีไซน์ทันสมัยแล้ว H1 จาก NZXT รุ่นนี้ จะช่วยให้คุณสมหวังได้ไม่ยาก ด้วยบอดี้ในแบบ SGCC ที่แข็งแรงสวยงาม สามารถวางเคสในแนวตั้งได้ ด้านข้างมาพร้อมกระจกเทมเปอร์สวยใส โชว์อุปกรณ์ด้านในได้เกือบครบ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กแบบ Mini-ITX แต่พื้นที่ภายในสามารถติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ดขนาดเล็ก พื้นที่สำหรับการ์ดจอในแบบ 2 สล็อต ใส่ในแบบแนวตั้ง รวมถึงพร้อมสำหรับการติดตั้งชุดน้ำปิดแบบตอนเดียวได้อีกด้วย โดยมีการปรับทิศทางลมให้ผ่านด้านในตัวเคสได้เต็มที่ ตัวเคสสามารถแยกชิ้นส่วน เพื่อรองรับการใช้งานได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ราคาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ประมาณ 13,900 บาท
เลือกที่การติดตั้งอุปกรณ์:
หากคุณมีอุปกรณ์ที่จะต้องติดตั้งเยอะ หรือต้องใช้พื้นที่มาก เช่น มีการ์ดจอขนาดใหญ่ ฮาร์ดดิสก์+SSD จำนวนมาก หรือมีชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ รวมถึงต้องใช้ฮีตซิงก์ขนาดใหญ่ ก็ควรพิจารณาเคสที่อำนวยความสะดวกในการติดตั้งที่ดีและง่าย เช่น เคสบางรุ่นแทบจะไม่ต้องใช้เครื่องมือ เช่น ติดตั้ง HDD หรือ SSD ที่เป็นแบบตัวล็อค สลักที่ใช้ล็อคการ์ดด้านหลังเคส เคสที่มี Fan hub ติดตั้งพัดลมและคอนโทรลได้ทั้งหมดในที่เดียว ฝาข้างเปิดได้แบบไม่ต้องไขน็อต รวมไปถึงตัวยึดบางจุดที่เป็นแม่เหล็ก สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้คุณจัดการติดตั้งอุปกรณ์ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น
COOLER MASTER C700P
- Case type: Full Tower
- Case Dimensions: 639 x 306 x 651mm
- Maximum CPU Cooler Height: 198mm
- Maximum GPU Length: 490mm (w/o 3.5″ HDD cage)
- Case Windowed: 5mm Tempered Glass x 1
- Material: Steel, Plastic, Tempered Glass, Aluminum
- Front panel: 1x USB 3.1 Gen 2 Type-C, 4x USB 3.0, Fan Speed, RGB Control Buttons, Audio In & Out (supports HD audio)
- Drive Bays: 2 x 3.5’’ or 4 x 2.5″
- Price: ประมาณ 12,900 บาท
สำหรับใครที่มีอุปกรณ์จำนวนมาก และต้องการเคสที่ติดตั้งง่าย ฟังก์ชั่นการใช้งานครบครัน และระบายอากาศได้ดี COOLER MASTER C700P ที่มาพร้อมไซส์ Full-Tower ขนาดอลังการแบบนี้ น่าจะช่วยให้คุณใช้งานได้อุ่นใจขึ้น กับโครงสร้างที่สามารถแยกส่วนได้หลายชิ้น ทำให้การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ สะดวกมากขึ้น วัสดุโลหะแข็งแรง พร้อมช่องทางในการระบายอากาศได้ดี กระจกใสเทมเปอร์ด้านข้าง ช่วยให้เผยความสวยงามของสิ่งที่อยู่ภายในได้ชัดเจน พื้นที่การวางชิ้นส่วนต่างๆ มีอย่างครบครัน ด้วยการเพิ่ม Bracket สำหรับติดตั้งมาให้ รองรับชุดน้ำพร้อม Radiator ขนาดใหญ่ได้สบาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางด้านหน้าหรือด้านบนก็ตาม ด้านบนมาพร้อมแสงไฟ RGB ที่ลากยาวตั้งแต่ด้านหน้า ไปจรดด้านหลัง จุดที่น่าสนใจคือการรองรับฮาร์ดดิสก์ 3.5″ ได้ถึง 12 ตัวด้วยกัน ส่วนการติดตั้งการ์ดจอ รองรับได้ถึง 32cm ด้วยกัน นอกจากความใหญ่ ยังใส่ความพรีเมียมมาบนเคสรุ่นนี้อีกด้วย ส่วนราคาอยู่ที่ประมาณ 12,xxx บาท
เลือกข้างใสโชว์ด้านในสวย:
เรียกว่าเป็นเทรนด์ไปแล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ สำหรับเคสที่เป็นแบบด้านข้างใส สามารถโชว์ด้านในให้เห็น ซึ่งจะมีตัวเลือกอยู่ 2 แบบคือ อะคลิลิคใส จะเป็นเคสราคาค่อนข้างประหยัด คือเริ่มไม่ถึงพันบาท ก็เป็นเจ้าของได้ ซึ่งเป็นข้อดีของเคสใสแบบนี้ แต่ข้างใสอะคลิลิคนี้ ก็จะหม่นหรือไม่ใส เมื่อใช้ไปนานๆ หรือหากมีการเช็ดถูบ่อยๆ ก็จะเป็นรอยได้ง่าย ต่างจากเคสข้างใสที่เป็นแบบกระจกเทมเปอร์ ซึ่งมีความใสได้ยาวนาน เห็นแสงจากด้านในได้ชัดเจน และเป็นรอยยาก ความหนามีให้เลือกตั้งแต่ 3-5mm ที่น่าสนใจก็คือ เคสคอมกระจกเทมเปอร์แบบนี้ ราคาเริ่มต้นที่พันกว่าบาทเท่านั้น ทำให้ซื้อได้ง่ายกว่าในอดีต แต่ก็มีข้อควรระวังของกระจกแบบนี้คือ แตกหักเสียหายได้ แม้กระจกจะดูว่ามีความทนทานก็จริง แต่ถ้าไม่ระวังก็อาจจะแตกได้ ซึ่งหากเป็นรุ่นที่มีพาร์ทเสริมจำหน่ายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มี ก็คงต้องกาทางออกเอาเอง หรือไม่ก็ต้องซื้อเคสใหม่มาเปลี่ยน
ThermalTake Core P5
- Case type: Mid Tower
- Case Dimensions: 608 x 333 x 570 mm
- Maximum CPU Cooler Height: 180mm
- Maximum GPU Length: 570mm (w/o Water cooling)
- Case Windowed; 5mm Tempered Glass x 1
- Material: SGCC
- Front panel: USB 3.0 x 2, USB 2.0 x 2, HD Audio x 1
- Drive Bays: 3 x 3.5’’ or 2.5″
- Price: ประมาณ 6,990 บาท
ตัวอย่างของเคส ที่เน้นโชว์โชว์ของด้านใน สามารถเห็นได้ทุกอย่าง ThermalTake Core P5 น่าจะเป็นสไตล์ที่หลายๆ คนชอบ เพราะเป็นเคสในแนว Open Air เปิดรับลม ให้อากาศผ่านได้รอบด้าน พร้อมพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างลงตัว โดยผู้ใช้สามารถปรับรูปแบบการติดตั้งสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ ด้านหน้าเป็นกระจกเทมเปอร์ ซึ่งทำให้มองเห็นอุปกรณ์ภายในได้อย่างชัดเจน ด้วยพื้นที่ในแบบ Open จึงเปิดกว้างให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญยังมีฟังก์ชั่นติดตั้งการ์ดจอในแบบแนวตั้ง ให้เห็นตัวการ์ดได้เต็มๆ รองรับการ์ดจอได้ยาวถึง 52cm เลยทีเดียว ด้วยพื้นที่กว้างและการใช้งานที่ยืดหยุ่น ระบายความร้อนได้ดี จึงเป็นเคสอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ประมาณ 6,990 บาท
เลือกที่การระบายอากาศ:
น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่ซีเรียสเรื่องความร้อนภายในเคส เพราะบางคนเลือกฮาร์ดแวร์แรงๆ สเปคเกมเมอร์ หรือใช้กับซอฟต์แวร์เฉพาะที่ต้องเรนเดอร์กราฟิก การที่เครื่องร้อน จนแฮงก์หรือหยุดทำงาน ก็อาจจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น แล้วเคสที่จะช่วยลดความร้อนได้ดี ต้องดูอย่างไร?
- มีช่องทางลมเข้าออกได้อย่างสมดุล: แต่อาจจะไม่ต้องมีมากไป เพราะอาจมีฝุ่นที่ติดตามมากขึ้น และทำความเสียหายให้กับพัดลมหรือปิดกั้นการระบายอากาศ
- มีพื้นที่ติดตั้งพัดลมได้มากพอ: อย่างน้อยๆ ให้สามารถติดตั้งพัดลมดูดลมเย็นเข้ามาด้านหน้า และมีพัดลมด้านหลังดูดลมร้อนออก หรือถ้าให้ดีจะมีพัดลมด้านหน้ามากกว่า 1 ตัว และอาจจะมีพื้นที่ด้านบน ในการติดตั้งพัดลม Radiator ในกรณีที่ใช้งานชุดน้ำ Liquid Colling เป็นต้น
- ด้านในสามารถจัดเก็บสายได้ดี ไม่บังทางลม: การมีพัดลมเยอะ แต่ไม่สามารถหมุนเวียนอากาศภายในได้ ก็จะทำให้เกิดความร้อนสะสม ซึ่งอาจเกิดจากบรรดาสายสัญญาณหรือสายเพาเวอร์ซัพพลายไปบังไว้ ดังนั้นตัวเคสอาจจะต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บสายให้เรียบร้อยสวยงาม
Corsair 5000D
- Case type: Mid-Tower
- Case Dimensions: 520mm x 245mm x 520mm
- Maximum CPU Cooler Height: 170mm
- Maximum GPU Length: 420mm
- Case Windowed; Tempered Glass
- Material: Steel, Tempered Glass, Plastic
- Radiator Compatibility: 120mm, 140mm, 240mm, 280mm, 360mm
- Drive Bays: 3.5″ x2 and 2.5″ x4
- Price: ประมาณ 4,990 บาท
เคสที่ออกแบบให้มีความโปร่งสบายรอบด้าน พร้อมกับฟังก์ชั่นการระบายอากาศที่ดี ไม่ว่าจะเป็นตะแกรงด้านหน้าและด้านหลัง สามารถถอด ปรับเปลี่ยนที่เป็นพาร์ทด้านใน สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์แต่ละชิ้น เพิ่มพัดลมด้านหน้า 3 ตัว ด้านหลังและด้านบนรองรับ Radiator ทั้งแบบ 2 ตอนและ 3 ตอน สามารถเพิ่มพัดลมด้านหน้า เพื่อเป่าเข้าสู่การ์ดจอและฮีตซิงก์ซีพียูได้โดยตรง ด้านหลังของตัวเคสมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บสาย เพื่อไม่ให้บังทิศทางลมภายใน ที่สำคัญยังติดตั้งการ์ดจอแบบแนวตั้ง ให้โชว์ตัวการ์ดออกทางด้านข้าง ที่เป็นกระจกเทมเปอร์ได้แบบสวยๆ ใครที่ชื่นชอบความสวยงาม และการระบายความร้อนที่ดี พร้อมฟีเจอร์ในการติดตั้งอุปกรณ์ได้สะดวกแล้ว Corsair 5000D รุ่นนี้ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีทีเดียว ราคาอยู่ที่ประมาณ 4,990 บาท
เลือกที่ฟังก์ชั่นและลูกเล่น:
ปัจจุบันไม่ได้มีแค่เคสที่มีลูกเล่นแบบเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ยังมีเคสที่มีฟีเจอร์พิเศษ ซึ่งออกแบบมาเพื่อกลุ่มผู้ใช้ ที่ต้องการอะไรใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับฟังก์ชั่นเก่าๆ เช่น การเพิ่มตัวควบคุมไฟ RGB โดยไม่ต้องง้อลูกเล่นบนเมนบอร์ด หรือจะเป็นเคสที่มีองค์ประกอบปรับเปลี่ยนได้ ย้ายการจัดวางสิ่งของภายในแบบไม่จำกัด หรือวางการ์ดจอแนวตั้ง เพื่อโชว์สวยๆ รวมไปถึงแบบที่มีกระจกรอบด้าน ไปจนถึงการขนาดที่เล็กเป็นพิเศษ ซึ่งเคสแนวนี้ก็มีให้เห็นกันมากขึ้นในปัจจุบัน บางคนอาจเลือกเพราะความแปลกใหม่ หรือบางรายอาจจะใช้เพื่อความสะดวกในการทำงาน ก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละบุคคล
สรุปสุดท้าย สำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับเคสคอม อาจจะต้องเลือกหลายๆ สิ่งที่กล่าวมานี้ รวมกันให้ได้มากที่สุด ในงบประมาณที่คุณตั้งเอาไว้ เพราะทั้งเรื่องการระบายความร้อนที่ดี ติดตั้งง่ายหรือเคสที่จัดเก็บสายและ เปิดโชว์สิ่งต่างๆ ภายในได้ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ได้มีผลต่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสถียรภาพในการทำงาน ซึ่งจะมีผลในระยะยาว แต่ในกรณีที่คุณมีอุปกรณ์ไม่มาก สเปคไม่ได้แรงขนาดที่เรียกว่าจัดตัวท็อปมาเยอะ หรือแค่ใช้งานทั่วไปในบ้าน ไม่ได้เป็นนักโมดิฟาย หรือเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย เคสพื้นฐานราคาเริ่มต้นที่พันกว่าบาท กระจกข้างใส และมีพัดลมระบายความร้อนสัก 2 ตัวหน้า-หลัง ก็เพียงพอต่อการใช้งานและช่วยคุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกพอสมควร