ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คหลาย ๆ รายในปัจจุบัน นิยมใช้โลหะ เช่น อลูมิเนียม เป็นวัสดุหลักของบอดี้ตัวเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโน๊ตบุ๊คบางเบา โน๊ตบุ๊คที่เน้นขายความพรีเมียมของรูปลักษณ์ภายนอก เนื่องจากโลหะนั้นมีข้อดีทั้งในด้านของรูปลักษณ์ที่ดูดี ความแข็งแกร่ง และยังรวมไปถึงยังเป็นอีกช่องทางในการช่วยระบายความร้อนจากภายในออกสู่ภายนอกอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดปัญหาโน๊ตบุ๊คไฟดูดด้วยเช่นกัน ในบทความนี้จะมาดูกันครับว่าสาเหตุของโน๊ตบุ๊คไฟดูดนั้นอาจเกิดจากอะไรได้บ้าง และจะมีวิธีหลีกเลี่ยงได้อย่างไร
โน๊ตบุ๊คไฟดูด เกิดจากอะไร
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาโน๊ตบุ๊คไฟดูดก็คือการเสียบปลั๊กของโน๊ตบุ๊คเข้ากับเต้ารับที่ไม่ได้มีการต่อสายดินเอาไว้ครับ แม้ว่าตัวเต้ารับ เช่น ปลั๊กพ่วงจะมีช่องสำหรับขาสายดินก็ตาม แต่ก็อาจจะเกิดจากเต้ารับต้นทาง หรือการวางระบบสายไฟภายในบ้านที่ไม่ได้ต่อสายดินเอาไว้ ซึ่งมักจะเกิดในบ้านที่สร้างมานานแล้วเป็นสิบ ๆ ปี แต่สำหรับบ้านที่เพิ่งสร้างใหม่ รวมถึงตามคอนโดที่เพิ่งสร้างภายในซักระยะ 10 ปีมานี้ ส่วนใหญ่น่าจะมีการต่อสายดินเอาไว้เรียบร้อยหมดแล้วครับ
แต่จากประสบการณ์ของผม แม้ว่าจะมีการต่อสายดินเอาไว้แล้วก็ตาม แต่บางครั้งก็ยังพบปัญหาโน๊ตบุ๊คไฟดูดแบบเบา ๆ อยู่บ้างเหมือนกันครับ ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดมาจากกระแสไฟเกินไหลกลับมาที่ตัวเครื่อง หรืออาจจะเกิดจากการต่อสายดินที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นแนะนำว่าถ้าเจอปัญหานี้ ควรติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบให้จะปลอดภัยที่สุดครับ
อีกหนึ่งกรณีที่พบกันบ่อยก็คือ ผู้ใช้ไปหักขากราวด์กลม ๆ (ขาที่สาม) ของปลั๊กจากตัวโน๊ตบุ๊คออก ถ้าเป็นกรณีนี้ ต่อให้ไปเสียบกับเต้ารับที่มีสายดิน ยังไงไฟก็ดูดอยู่ดี รวมถึงโน๊ตบุ๊คบางเครื่องที่ให้ปลั๊กแบบขาแบนสองขามา
โน๊ตบุ๊คไฟดูด มีวิธีหลีกเลี่ยงได้อย่างไรบ้าง
- วิธีแก้ไขที่ยั่งยืนสุด แต่ก็ต้องลงทุนหน่อยก็คือการติดตั้งสายดิน รวมถึงตรวจสอบระบบสายดิน ระบบไฟฟ้าในบ้านให้ปลอดภัยครับ
- หาพรม ผ้าเช็ดเท้า หรือใส่รองเท้าแตะระหว่างใช้งานโน๊ตบุ๊ค เพื่อกันไม่ให้ฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นโดยตรง
- หาเคส หรือแผ่นปิดต่าง ๆ มาปิดทับส่วนที่เป็นโลหะที่ต้องสัมผัสบ่อย เช่น แท่นวางมือ แต่วิธีนี้จะไม่แนะนำเท่าไหร่ครับ เพราะเป็นการอบความร้อนให้อยู่ในเครื่อง ซึ่งอาจส่งผลอื่น ๆ ต่อเครื่องในอนาคตได้