แน่นอนครับว่าอุปกรณ์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายๆ ที่เราๆ ท่านๆ ใช้งานกันอยู่นั้นต่างก็มีระยะเวลาในการใช้งานของมันอยู่ โดยเมื่อเวลาผ่านไปนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องมีการเริ่มเสื่อมสภาพลงครับ โดยถ้าเมื่อพูดถึงโน๊ตบุ๊คเองแล้วนั้นส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่จะเสื่อมสภาพก่อนใครก็คงจะหนีไม่พ้นแบตเตอรี่ครับ ทั่วไปแล้วนั้นแบตเตอรี่บนโน๊ตบุ๊คนั้นจะเป็นแบตเตอรี่แบบ lithium-ion ซึ่งวงจรการชาร์จนั้นจะอยู่ที่ราวๆ 300 – 500 รอบการชาร์จซึ่งหากนับตามเวลาและการใช้งานที่หนักๆ แล้วนั้นแบตเตอรี่ของโน๊ตบุ๊คจะเริ่มเสื่อมสภาพภายใน 1 – 2 ปีครับ
ทีนี้หากเราย้อนกลับไปในสมัยก่อนนั้นเรื่องการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่บนโน๊ตบุ๊คดูจะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไรครับเพราะโดยปกติแล้วนั้นแบตเตอรี่โน๊ตบุ๊คสมัยก่อนจะสามารถถอดออกจากตัวเครื่องได้ครับ อีกจุดหนึ่งนั้นก็คือเมื่อเราถอดแบตเตอรี่ออกจากตัวเครื่องแล้วเรายังสามารถที่จะทำการเสียบปลั๊กไฟเพื่อใช้ตัวเครื่องโน๊ตบุ๊คได้ตามปกติครับ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปนั้นกลายเป็นว่าในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมานี้ด้วยการออกแบบโน๊ตบุ๊คที่เปลี่ยนไปทำให้ตัวโน๊ตบุ๊คนั้นส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถถอดออกจากตัวเครื่องได้ครับ
แน่นอนครับเมื่อไม่สามารถที่จะทำการถอดออกมาได้แล้วนั้นทำให้ทุกครั้งที่เราเสียบปลั๊กไฟเข้ากับโน๊ตบุ๊คตัวก็จะมีการชาร์จแบตเตอรี่อยู่ตลอดเวลาครับ โดยถึงแม้ว่าโน๊ตบุ๊คหลายๆ ยี่ห้อนั้นจะมีการตัดไฟเมื่อแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ถึงระดับ 100% แล้ว ทว่าเมื่อเราใช้งานต่อไปโดยที่ยังคงเสียบปลั๊กไว้อยู่นั้นพอระดับแบตเตอรี่ลดลงถึงแม้จะแค่ 1% ตัวเครื่องก็จะกลับมาทำการชาร์จแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้งเพื่อให้ระดับแบตเตอรี่นั้นกลับมาที่ 100% เหมือนเดิมครับ
แน่นอนครับด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้เองทำให้แบตเตอรี่นั้นจะเข้าสู่การจบวงจรการชาร์จอย่างรวดเร็ว(เหมือนกันกับแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนหรือแท๊บเล็ตเช่นเดียวกัน) ซึ่งนั่นทำให้ระยะเวลาในการเสื่อมสภาพของตัวแบตเตอรี่ยิ่งเร็วมากขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนนั้นอย่างที่บอกไปครับว่าเรื่องดังกล่าวนี้นั้นอาจจะไม่เป็นปัญหามากเพราะผู้ใช้สามารถซื้อแบตเตอรี่ใหม่มาถอดเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง กลับกันแล้วด้วยดีไซน์โน๊ตบุ๊คแแบบใหม่นั้นทำให้เราไม่สามารถถอดแบตเตอรี่เองได้อีกต่อไปโดยหากต้องการเปลี่ยนก็ต้องเข้าศูนย์หรือไม่ก็ต้องเข้าร้านเพื่อเปลี่ยนครับ
ถามว่าทางผู้ผลิตรู้ปัญหาดังกล่าวไหมตอบเลยครับว่าพวกเขารู้กันอย่างแน่นอน ทว่าก็ยังคงมีผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คบางรายที่ใจดีอย่างเช่น Lenovo กับ Dell ที่จะให้ซอฟต์แวร์สำหรับกำหนดระดับการชาร์จแบบเตอรี่เอาไว้เพื่อทำให้ผู้ใช้สามารถที่จะทำการตั้งค่าการชาร์จแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่ต้องการเท่านั้นไม่จำเป็นต้องชาร์จเต็ม 100% ทุกครั้งซึ่งจะว่าไปแล้วก็จะเหมือนกับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่หลายๆ รุ่นในปัจจุบันที่เวลาชาร์จแบตเตอรี่ถึงระดับ 80% แล้วนั้นตัวเครื่องจะทำการสั่งให้ระบบไฟในการชาร์จแบตเตอรี่ช้าลงเป็นอย่างมากเพื่อเป็นการป้องกันการครบรอบของการชาร์จที่เร็วมากเกินไปครับ
จุดที่น่าสนใจมันอยู่ตรงที่ว่าเวลาที่แบตเตอรี่เริ่มเสื่อมแล้วนั้นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่แบบ lithium-ion แต่ไม่ได้ให้โปรแกรมสำหรับจัดการการชาร์จมาให้ด้วยนี่ล่ะครับเพราะว่าเมื่อแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมแล้วนั้นเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะทำการเข้าศูนย์เพื่อนำตัวเครื่องไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่อย่างแน่นอน หรือที่หนักไปกว่านั้นก็คือบางท่านอาจจะคิดว่าตัวโน๊ตบุ๊คถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนได่แล้วท่านก็จะทำการซื้อเครื่องใหม่ซึ่งผู้ผลิตก็จะได้รับเงินจากเราไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการใดๆ ครับ
ตามที่ทาง NotebookCheck ตรวจสอบมานั้นพบว่าแบรนด์ที่ให้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการการชาร์จนั้นจะมีอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นคือ Lenovo, Dell, Asus, Samsung และ Sony ครับ ส่วนแบรนด์ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คอื่นๆ นั้นยังคงไม่มีการสนับสนุนในด้านนี้ เอาเป็นว่าเราจะไม่เอ่ยชื่อแบรนด์แล้วกันนะครับแต่ว่าโดยส่วนใหญ่นั้นแบรนด์ที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลยจะเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมที่ราคาค่าอะไหล่รวมไปถึงตัวเครื่องนั้นมีราคาสูงกว่าชาวบ้านเขาครับ
วิธีป้องกันนั้นมันก็มีอยู่ครับนั่นก็คือเวลาที่เราๆ ท่านๆ ใช้งานโน๊ตบุ๊คแบบเสียบชาร์จไปด้วยนั้นก็ควรที่จะคอยดูระดับแบตเตอรี่ไม่ให้ชาร์จไปมากกว่า 80% -85% เพื่อเป็นการรักษาไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพมากเร็วมากเกินไป อีกวิธีทางหนึ่งนั้นก็คือท่านอาจจะต้องส่งเสียงไปทางผู้ผลิตเอง(ร่วมกันหลายๆ คนจะได้เสียงดังมากขึ้น) เพื่อที่จะให้ทางผู้ผลิตปล่อยซอฟต์แวร์จัดการการชาร์จออกมาให้ด้วย ทั้งนี้ถึงวิธีดังกล่าวอาจจะดูวุ่นวายนักทว่ามันก็อาจจะช่วยสามารถยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ออกไปได้อย่างน้อยก็อีก 1 – 2 ปี แต่หากท่านไม่มีปัญหากับการต้องนำตัวเครื่องเข้าศูนย์เพื่อไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่แล้วนั้นก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่ใจเรื่องดังกล่าวนี้ก็ได้ครับ
ที่มา : notebookcheck