ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่าในปัจจุบันนั้นมนุษย์เราพึ่งพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบไหนต่างก็ใช้พลังงานไฟฟ้ากันทั้งนั้น แน่นอนว่าการใช้ไฟฟ้าจากเต้าเสียบปลั๊กนั้นจะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากกว่า ทว่าด้วยความที่ในปัจจุบันนั้นชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ติดอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไปต้องมีการเดินทางไปในที่ต่างๆ มากมายดังนั้นแล้วหากเราสามารถที่จะได้รับพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายมาเติมให้กับอุปกรณ์ที่ติดตัวเราอยู่ตลอดเวลานั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยครับ
เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวนั้นนักคณะวิจัยจากทาง MIT โดยมีผู้นำคือ Professor Tomás Palacios(ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นผู้ร่วมทำเนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นของนิสิตทว่าในรายงานไม่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมา) ได้พัฒนาระบบการชาร์จไฟฟ้าผ่านทางสัญญาณ Wi-Fi ที่มีชื่อว่า Rectenna ซึ่งจะมีหลักการในการสร้างอุปกรณ์เชื่อมต่อที่มาพร้อมกับเสาสัญญาณแบบยืดหยุ่นที่สามารถจับคลื่นไมโครเวฟได้ในรูปแบบของ two-dimensional semiconductor capable ซึ่งความสามารถของมันนั้นก็คือการเปลี่ยนเอาสัญญาณ Wi-Fi มาเป็นกระแสไฟฟ้าแบบตรง(DC) ซึ่งสามารถที่จะใช้ในการชาร์จกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้เหมือนกับใช้ไฟบ้านเลยครับ
ในขั้นตอนของการทดลองนั้นพบว่าเจ้า Rectenna นี้นั้นสามารถที่จะสร้างกำลังไฟฟ้าได้ถึง 40 microwatts จากการเปลี่ยนสัญญาณ WiFi ที่เราๆ ท่านๆ ใช้งานกันอยู่ทั่วไป ซึ่งที่กำลังไฟฟ้าขนาดนี้นั้นสามารถที่จะทำให้เปิดไฟแบบ LED หรือชิปขนาดเล็กได้ครับ ทางทีมวิจัยนั้นได้บอกเอาไว้ว่าประโยชน์ในการดัดแปลงงานวิจัยดังกล่าวไปใช้งานจริงนั้นก็คือการเห็นมันอยู่ในอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับสวมใส่อย่างสมาร์ทวอทช์ ไม่ก็สามารถที่จะนำไปติดตั้งเอาไว้ในอุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องได้รับกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเป็นต้นครับ
อย่างไรก็ตามครับยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าหากเรานำสัญญาณ WiFi ทั่วไปมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าจริงๆ มันจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อกับอุปกรณ์รวมไปถึงมนุษย์หรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้นั้นก็ยังคงต้องวิจัยกันต่อไป ทว่างานวิจัยนี้นั้นก็ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตของเราๆ ท่านๆ รวมไปถึงลูกหลานได้สบายขึ้นในอนาคตต่อไปล่ะครับ
ที่มา : iflscience