เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเอกฉันท์ ผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์แล้ว โดยสามารถให้อำนาจจนท.ค้นสถานที่-ยึดคอมได้ หากพบคุกคามโดยไม่ต้องมีหมายศาล เล็งประกาศใช้เป็นกฎหมายจริงในวาระถัดไป โดยการประชุมได้มีมติ 133 เสียงเห็นด้วย และงดออกเสียง 16 เสียง ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที
ซึ่งรายงานได้เผยว่า การประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. วาระ 3 ดังกล่าว ไม่มีกมธ.หรือสมาชิกสนช. คนใดติดใจสงวนคำแปรญัตติ ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกเป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด โดยไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขหรือปรับปรุงตามบทบัญญัติที่กมธ.เสนอแต่อย่างใด
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ
- นิยามภัยคุกคามไซเบอร์ตีความได้กว้างครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์
- เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน
- กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด-ค้น-เจาะ-ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ หากคิดว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
- เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ร้ายแรงขึ้นไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์
- ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้ โดยไม่ต้องขอหมายศาล
- การใช้อำนาจยึด ค้น เจาะ หรือขอข้อมูลใดๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้
- เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- ผู้ใดฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีโทษปรับและโทษจำคุก
เอาละครับงานนี้ความเป็นส่วนตัวของเราก็เริ่มหดหายไปทีละนิดๆ หากออกมาเป็นกฎหมายจริงๆ คงมีนักลงทุนไม่น้อยที่ไม่สบายใจถอยออกจากประเทศไทยไปลงทุนประเทศอื่นแน่ๆ ทำให้เกิดวิวาทะหนึ่งขึ้นมาคือ “ไม่ผิดจะกลัวอะไร” ไม่ได้กลัวผิด แต่มันเป็นกฎหมายที่เอาไว้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามชัดๆ แถมทำให้เราไม่มีความเป็นส่วนตัวเลยอีกต่างหาก