หากใครกำลังมองหา Desktop PC ไว้ใช้งานสักเครื่องโดยที่เราไม่ได้มีงบอะไรที่มากมาย ประกอบกับโปรแกรมที่ใช้งานไม่ได้มีอะไรพิเศษ ไม่ได้เน้นไปที่การเล่นเกมหนักๆ อะไรมากมาย แต่ก็ไม่อยากที่จะไปประกอบหรือซื้อหามือสองเอาเองเพราะเป็นห่วงในเรื่องของสภาพและประกัน วันนี้ผมเลยอยากจะมานำเสนออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการ Desktop PC ขั้นพื้นฐานสำหรับการใช้งานทั่วๆไปกับ HP Pavilion 590
สำหรับ HP Pavilion 590 จะมาพร้อมกับสเปคการใช้งานที่เหมาะกับคนที่ต้องการอะไรขั้นพื้นฐานแต่ก็พร้อมที่จะอัพเกรดไปในตัว อย่าง AMD Ryzen 3 2200G มาพร้อมกับชิปประมวลผลภายในตัวอย่าง AMD Radeon Vega 8 การเล่นเกมออนไลน์สามารถทำได้ไม่มีปัญหา
Specification
HP Pavilion 590 จะมาพร้อมกับ CPU ยอดนิยมอีกรุ่นสำหรับการใช้งานแบบ Overall อย่าง AMD Ryzen 3 2200G ที่พิเศษสำหรับรุ่นนี้จะแตกต่างจากตัวอื่นๆตรงที่ภายในตัว CPU จะมีชิปเซ็ตสำหรับประมวลผลภาพภายในอย่าง AMD Radeon Vega 8 โดยจะให้แรมมาทั้งหมด 4 GB ความจุมีมาให้หนึ่งตัวกับความจุ 1 TB พร้อมกับ PSU 400W เพียงพอต่อการใช้งานแบบเหลือๆ ที่สำคัญยังมี Windows 10 Home แท้พร้อมใช้งาน
- CPU: AMD Ryzen 3 2200G (3.50 GHz 2M Cache, up to 3.70 GHz)
- RAM: 4GB DDR4 2400MHz
- Harddisk: 1TB
- Graphic: Onboard (AMD Radeon Vega 8)
- Optical: DVD
- PSU: 400W 80 Plus
- OS: Windows 10 Home
Hardware / Design
สำหรับตัวเครื่องของ HP Pavilion 590 จะมาพร้อมกับเคสขนาด 15L โดยขนาดไม่เล็กและไม่ใหญ่ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย โดยการออกแบบด้านหน้าจะมีทรงแบบรูปเลขาคณิต โดยมุมทั้ง 4 ด้านจะเป็นแบบโค้ง ภายในส่วนที่เว้าเข้าไปด้านหน้าจะมีการลงลวดลายแบบ 2-tone เอาไว้เมื่อมองจะเห็นสีออกมา 2 รูปแบบ
ด้านหน้าของตัวเครื่องจะมีการวาง Layout ไว้สองฝั่งด้านซ้ายจะเป็นช่องสำหรับ DVD ส่วนฝั่งขวาจะเป็นพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ ด้านล่างจะมีโลโก้ HP กำกับเอาไว้ โดยด้านหลังของเคสจะมีการวางพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆเอาไว้ครบครัน
ส่วนด้านในของตัวเครื่องเมื่อเปิดออกมาจะเห็นรายละเอียดภายในได้อย่างชัดเจน เนื่องจาก HP Pavilion 590 ไม่ได้มีการ์ดจอแยกมาด้วย หากคนที่ใช้งานต้องการอัพเกรดการ์ดจอก็สามารถทำได้แต่ขนาดของการ์ดจอที่จะทำการเพิ่มต้องมีขนาดไม่เกิน Half-length ช่องแรมมีมาให้ 2 slot โดยแรมที่ให้มา 4 GB สามารถเพิ่มได้สูงสุดที่ 32 GB ส่วนของ HDD ที่ให้มาจะมีขนาด 1 TB เป็นแบบขนาด 2.5 โดยเราสามารถหาซื้อ SSD แบบ M.2 มาใส่เพิ่มได้เช่นกันเนื่องจากบอร์ดตัวนี้รองรับ อีกจุดที่น่าสนใจคือ Desktop PC ตัวนี้รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi แบบ ac ด้วย ทำให้ใครที่ต้องการใช้งานสัญญาณ Wi-Fi ที่แรงๆก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
Connector
พอร์ตการเชื่อมต่อด้านหน้าของตัวเครื่องจะมาพร้อมกับช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5mm Combo Jack ไล่ลงมาเป็นช่องสำหรับ Card Reader ต่อมาคือ USB-Type A 2 พอร์ต สุดท้ายเป็น USB-Type A จำนวน 1 พอร์ต ด้านหลังเริ่มแรกเป็นรูสำหรับ Audio 3 ช่อง ต่อมา VGA ถัดจากนั้นเป็น HDMI พอร์ต USB 2.0 Type-A 2 พอร์ต Lan RJ-45 1 พอร์ต และ USB 3.1 Type-A 4 พอร์ต โดยตัวเครื่องจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 5.15 kg และขนาดกว้างยาวสูง 170mm x 277mm x 338mm
I/O (Front)
- 1 x USB 3.1 Type-C
- 2 x USB 3.1 Type-A
- 1 x Card Reader
- 1 x 3.5 mm Combo Jack
I/O (Back)
- 1 x VGA
- 1 x HDMI
- 1 x RJ-45 Lan
- 2 x USB 2.0 Type-A
- 4 x USB 3.1 Type-A
- 3 x Audio Port
Performance / Software
ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนว่าสเปคพื้นฐานที่ทาง HP ได้ให้มากับ HP Pavilion 590 ถือว่าโดยรวมเพียงพอต่อการใช้งานพื้นฐานอยู่แล้ว หากใครที่ต้องการนำไปใช้งานที่สูงขึ้นกว่านี้ก็คงต้องแนะนำว่าควรจะนำไปเพิ่มแรมและใส่การ์ดจอเพิ่มก็จะติดปีกให้กับ HP Pavilion 590 ได้เลย
เริ่มด้วยการทดสอบของ CPU ด้วยโปรแกรมอย่าง Cinebench R15 โดยภายในโปรแกรมจะมีการทดสอบที่ทางผู้พัฒนาได้ออกแบบมาในการทดสอบการทำงานของตัว CPU ว่าสามารถทำงานได้เท่าไหร่ อีกส่วนเป็นการทดสอบเกี่ยวกับการรทำงานกราฟฟิค OpenGL ในการทำงานกับภาพ 2D และ 3D โดยสำหรับคะแนนที่ได้ในส่วน CPU อยู่ที่ 494 CB ส่วน OpenGL อยู่ที่ 31.42 FPS
ถัดมาเป็นการทดสอบกับโปรแกรม Unigine Valley โดยในการทดสอบนี้จะนำมาทดสอบกับการประมวลผล ของชิปกราฟฟิคว่าสามารถใช้งานได้เพียงใด ผมได้ตั้งค่าของโปรแกรมเป็นความละเอียด 1280 x 720 ด้วย Preset แบบ Ultra
ในเรื่องของการทดสอบเกี่ยวกับการเล่นเกม ผมได้เลือกเกมมาทดสอบทั้งหมด 2 เกม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเกมออนไลน์ทั้งสิ้น โดยจะมีการปรับความละเอียดของตัวเกมอยู่ที่ 2 แบบด้วยกันคือ 720p และ 1080p โดยจากการที่ได้เล่นก็ต้องบอกว่าการปรับความละเอียดแบบ 1920 x 1080 ต้องปรับความละเอียดแบบ Low ถึงจะสามารถเล่นได้แบบไม่มีอาการกระตุก
ต่อมาเป็นการทดสอบที่ความละเอียด 1280 x 720 ซึ่งความละเอียดตัวนี้ดูจะเหมาะสมกับการเล่นเกมของชิปกราฟฟิคอย่าง AMD Radeon Vega 8 ที่สุดแล้วเพราะตัวสเปคที่ให้มานี้มีแรมมา 4 GB ทำให้ระหว่างเล่นต้องมีการแชร์แรมกับตัวระบบยิ่งเราใช้ความละเอียดมากก็จะยิ่งทำให้แรมที่ให้มาไม่เพียงพอต่อการเล่นนั้นเอง
สำหรับผลการทดสอบเกมเราสามารถที่จะสรุปได้ว่า หากว่าคุณต้องการที่จะใช้งานในการเล่นเกมตามสเปคที่มีแบบไม่ซื้ออะไรเพิ่ม คงต้องปรับความละเอียดที่ 1280 x 720 เพราะความละเอียดเท่านี้จะใช้งานทรัพยากรของเครื่องไม่สูงมากทำให้สิ่งที่เครื่องมีมาให้ตั้งแต่ต้นสามารถ ดึงความสามารถและนำมาสู่ผู้ใช้งานได้ แต่หากว่าคุณสามารถที่จะเพิ่มแรมเข้าไปอีกสัก 4 GB จะทำให้ประสบการณ์การเล่นของคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน
Conclusion
ข้อสรุปสำหรับ HP Pavilion 590 หากคุณมีจุดประสงค์ในการเลือกซื้อเครื่อง Desktop PC สักเครื่องเพื่อนำมาใช้งานพื้นฐานเช่นงานเอกสาร ท่องเว็บ ดูยูทูป หรือเล่นเกมออนไลน์เบาๆ ก็ต้องบอกว่าเครื่องนี้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี แต่อาจจะไม่ได้เป็นที่สุดในการใช้งานแบบครอบจักรวาล จำพวกเกมกราฟฟิคแรงๆ ตัดต่องานแบบ 4K ถ้าทำแบบนี้อาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่ ฉะนั้น HP Pavilion 590 เหมาะกับการใช้งานพื้นฐานและพร้อมที่จะก้าวต่อไปกับเครื่องตัวนี้ในอนาคตกับราคาขายอยู่ที่ 12,990 บาท
ข้อดี
- อัตราการใช้พลังงานต่ำ
- เหมาะแก่การใช้งานเป็นเครื่องสำนักงาน
- ง่ายต่อการอัพเกรดอุปกรณ์ภายใน
- มาพร้อมกับ Windows 10 Home แท้
- มีเม้าส์และคีย์บอร์ดให้มาใช้งานด้วย
- รับประกัน 3 ปี มีบริการดูแลถึงที่
ข้อสังเกต
- มีราคาที่สูงกว่าพีซีแบบปกติในประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน
- ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องใช้งานเฉพาะด้าน